จริยธรรมอิสลาม จริยธรรมอิสลาม
แปลและเรียบเรียงโดยเว็บไซต์อัชชีอะฮฺ
อารัมภบท
ปัจจัยต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของมนุษย์มีมากมาย มนุษย์เพียรพยายามทั้งกลางวันและกลางคืนเพื่อขวนขวายหาปัจจัยยังชีพ แรกเริ่มนั้นปัจจัยเหล่านี้มิได้เป็นกรรมสิทธิของมนุษย์ แต่เพราะการขวนขวายของมนุษย์ทีละเล็กทีละน้อยทำให้สิ่งเหล่านี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมนุษย์และเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม มนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์มีอารยธรรมนั้น ยังคงเคลื่อนไหวต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อการจัดหาปัจจัยในการดำรงชีพ เพราะสิ่งที่พิสูจน์ว่ามนุษย์ยังคงมีชีวิตอยู่ก็คือการเพียรพยายามของเขานั่นเอง ถ้าองคาพยพของมนุษย์หยุดนิ่ง มนุษย์ก็ไม่ต่างอะไรไปจากร่างที่ไร้วิญญาณ
จากจุดนี้เองจึงเห็นได้ว่ามนุษย์จำเป็นต้องขวนขวายและต่อสู้ต่อไป สติปัญญาและจิตใต้สำนึกก็กระตุ้นเตือนเสมอว่า ต้องทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จแม้จะด้วยวิธีใดก็ตาม จะต้องผลักดันตนเองให้มีความสุขและเจริญรุ่งเรือง ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงต้องขวนขวายต่อสู้เพื่อให้บรรลุความตั้งใจของตน อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ใดมีวิสัยทัศน์แคบอยู่เพียงเท่านี้ เท่ากับเขาปล่อยให้ชีวิตของเขาตกอยู่ในดงแห่งกิเลส วิสัยทัศน์ที่นิยมวัตถุเช่นนี้ส่งผลให้เขายินดีที่จะอยู่ในสังคมทุกประเภทโดยไม่คำนึงว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมที่มีกลิ่นอายของศาสนาหลงเหลืออยู่หรือไม่ เป็นสังคมที่มีกฎระเบียบหรือไร้ซึ่งกฎระเบียบ เป็นสังคมเมืองหรือชนบท รู้แต่เพียงว่าตนมีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ความหวังทางโลกเป็นจริงขึ้นมา และปณิธานสูงสุดของเขาก็คือการประสบความสำเร็จในชีวิต(ในแง่วัตถุ)
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่มนุษย์ได้ทุ่มเทและขวนขวายทุกอย่างมิใช่เพียงเพื่อความสำเร็จและความสุขของชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีเจตนาเพื่อยกระดับคุณค่าของการเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น สิ่งนี้เองถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตที่ไม่อาจมีสิ่งใดมาแลกเปลี่ยนหรือแทนที่ได้เด็ดขาด
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์ อันเป็นเหตุที่ทำให้ชีวิตของเขาประสบความสำเร็จก็คือ "การรู้จักหน้าที่ของตนเอง" การให้ความสำคัญต่อหน้าที่ก็เท่ากับการให้ความสำคัญต่อการเป็นมนุษย์ เพราะใครก็ตามที่ละทิ้งหน้าที่หรือแสร้งไม่ให้ความสำคัญ เท่ากับว่าเขาจงใจปล่อยความเป็นมนุษย์ของตนให้พุ่งดิ่งลงสู่ความตกต่ำ ยอมจำนนต่อความต่ำทราม เพราะเหตุนี้เองที่หากมนุษย์ละเมิดหรือละเลยหน้าที่ของตนมากเท่าใดก็เท่ากับได้ทำลายตนเองและสังคมมากเท่านั้น อัลลอฮฺตรัสว่า
"แท้จริงมนุษย์คือผู้ที่ขาดทุน ยกเว้นมวลผู้ศรัทธาและประพฤติคุณงามความดีเท่านั้น และพวกเขาตักเตือนกันในเรื่องความถูกต้องและพวกเขาตักเตือนกันในเรื่องความอดทน" (ซูเราะฮฺ อัล-อัศร :๓)
"ความชั่วได้ปรากฏขึ้นแล้วบนหน้าแผ่นดินและพื้นน้ำ เพราะการกระทำของมนุษย์" (ซูเราะฮฺ อัร-รูม : ๔๑)
ทรรศนะที่ขัดแย้งในการจำแนกหน้าที่
การให้ความสำคัญต่อหน้าที่ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนทราบดีอยู่แล้ว วิถีสังคมก็ดำเนินอยู่บนพื้นฐานของการรู้จักหน้าที่ของคนในสังคมโดยไม่มีใครปฎิเสธ เพราะหน้าที่ของมนุษย์เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสำเร็จในชีวิตของเขา ในประเด็นนี้เกิดความขัดแย้งกันอย่างชัดเจนระหว่างทัศนคติของผู้ที่นิยมสารธรรมศาสนากับผู้นิยมทางโลก เพราะโดยปกติแล้วความประพฤติของผู้มีศาสนากับผู้ไม่สนใจศาสนานั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างมาก ฝ่ายนิยมศาสนาเชื่อว่าแท้จริงแล้วชีวิตของมนุษย์นั้นเป็นอมตะและถือว่าความตายไม่ใช่จุดจบของมนุษย์ เพราะมนุษย์ยังต้องเดินทางต่อไป เสบียงและสัมภาระที่ต้องนำไปก็คือ ความศรัทธาที่ถูกต้องและคุณงามความดีที่เขาได้ขวนขวายในโลกนี้ ฉะนั้น การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของมนุษย์ตามครรลองศาสนานั้นจึงคำนึงถึงชีวิตในโลกนี้และโลกหลังจากตายด้วย
ศาสนาได้วางกฎเกณฑ์ให้มนุษย์รู้จักพระผู้เป็นเจ้าของตน หลังจากนั้นจึงเคารพสักการะพระองค์เพียงผู้เดียว ซึ่งผลของกุศลกรรมนี้จะปรากฏชัดเจนหลังจากที่มนุษยอำลาโลกนี้ไป จวบจนวันที่เขาฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อรอการสอบสวนและตอบแทนผลรางวัลหรือลงโทษไปตามผลกรรม
ส่วนแนวคิดและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ที่ไม่นิยมศาสนาและไม่เชื่อในการฟื้นคืนชีพนั้น จะยึดถือเฉพาะชีวิตบนโลกนี้เพียงอย่างเดียว ฉะนั้นเมื่อพวกเขาวางกฎเกณฑ์หรือกำหนดบาทหน้าที่ให้กับชีวิตจึงมีการกำหนดขอบเขตไว้เพียงชีวิตในโลกนี้ โดยมุ่งเน้นอยู่ที่ความสำราญทางวัตถุและผลประโยชน์และคำนึงแต่เพียงว่าพวกเขาต้องได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งกิเลสดังกล่าวเป็นมิไช่สิ่งที่สามารถจำแนกมนุษย์ออกจากสัตว์เดรัจฉานต่างๆได้เลย
ถ้ามนุษย์วางแผนชีวิตและกำหนดแนวทางของตนเองในแง่วัตถุแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพที่แท้จริงของมนุษย์อันประกอบด้วยจิตวิญญาณอันเป็นอมตะแล้ว มนุษย์จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร? ด้วยเหตุนี้จึงพบว่าวัฒนธรรมและอารยธรรมที่เจริญรุดหน้าของมนุษย์ในสังคมที่ไม่นิยมศาสนากำลังประสบกับวิกฤติการณ์รุนแรงที่ไม่อาจหาทางแก้ไขได้ แต่กลับเริ่มถดถอยสู่ความล้าหลังทางจริยธรรมแม้ว่าวิวัฒนาการทางวัตถุของพวกเขาจะเจริญก้าวหน้าและพัฒนาไปสูงแล้วก็ตาม ตัวอย่างเช่นกรณีที่อิสลามได้ห้ามเรื่องการรักร่วมเพศ เพราะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างมากและขัดต่อธรรมชาติของมนุษย์ แต่สำหรับสังคมที่ไม่นิยมศาสนากลับให้การสนับสนุนและส่งเสริม
บางทรรศนะกล่าวอ้างว่า วิธีของศาสนาก็คือการปลูกฝังให้ศาสนิกปฏิบัติตามโดยดุษณี ต้องไม่ถามว่าทำไม เพื่ออะไรและเพราะอะไร ศาสนาได้กำหนดกรอบหน้าที่ตายตัวไว้แล้วสำหรับมนุษย์
ผู้กล่าวเช่นนี้คงลืมประเด็นสำคัญไปประเด็นหนึ่งคือ โดยทั่วไปแล้ว กฎหมายที่ควบคุมสังคมต่างๆก็มิได้ขึ้นอยู่กับการที่ทุกคนในสังคมจะต้องรู้เหตุผลทุกแง่ทุกมุมจึงจะยอมปฎิบัติตาม รัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ในนานาประเทศต้องไม่ถูกวิพากษ์วิจารย์จากนักวิชาการเลยหรืออย่างไร แม้ประชาชนบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจแนวคิดพื้นฐานของรัฐธรรมนูญบางมาตรา แต่หน้าที่ของเขาคือการยอมรับและปฏิบัติตามหลังจากที่มีการบังคับใช้แล้ว จากจุดนั้นเอง สมมติว่ามนุษย์อาจจะไม่เข้าใจคำสอนบางประการของศาสนา แต่วิถีของสังคมที่ไม่นิยมศาสนาก็มีสภาพดังกล่าวเช่นกัน
แม้จะศึกษาค้นคว้าถึงสภาพแวดล้อมของสังคมต่างๆอย่างถี่ถ้วนแล้วก็ตาม แต่บางครั้งก็ไม่สามารถเข้าใจถึงปรัชญาของรัฐธรรมนูญของประเทศหรือสังคมนั้นๆอย่างละเอียดทุกมาตรา
ทำนองเดียวกับคุณลักษณะธรรมนูญของศาสนา สามารถศึกษาและค้นคว้าได้จากการสร้างและความต้องการทางธรรมชาติของมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์สามารถเข้าใจถึงปรัชญาโดยทั่วไปของคำสอนศาสนาเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะวิสัยความคิดของมนุษย์บางคนไม่อาจเข้าใจทุกคำสอนศาสนาได้
อัล-กุรอานและริวายะฮ์จำนวนมากมายที่เรียงร้องเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การตรึกตรองและการครุ่นคิด แม้ในบางครั้งบทบัญญัติบางประการระบุเหตุผลไว้กว้าง ๆ เท่านั้นโดยไม่มีรายละเอียดใด ๆ แต่ทั้งนี้ก็เพราะรายละเอียดและเหตุผลเชิงลึกนั้น ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) จะเป็นผู้อธิบาย
การรู้จักหน้าที่
ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ต้นว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่วางโครงสร้างเพื่อส่วนรวมและเพื่อทุกยุคทุกสมัยอย่างแท้จริง พระองค์ทรงแต่งตั้งศาสดาท่านต่าง ๆ เพื่อชี้นำมวลมนุษย์ให้ทราบว่าเขาต้องดำเนินชีวิตอย่างไรในโลกนี้และโลกหน้า และเพื่อนำพามนุษย์ให้หลุดพ้นจากความมืดบอดแห่งความโง่เขลาไปสู่โลกแห่งปัญญาอันสว่างไสว
อิสลามได้แสดงทัศนะว่า ศาสนานั้นก็คือแนวทางในการดำเนินชีวิตส่วนคำสอนของศาสนาเป็นครรลองในการเลือกสรรปัจจัยยังชีพที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของตน โดยศาสนาจะเป็นตัวกำหนดหน้าที่ให้กับมนุษย์และพึ่งหวังการปฏิบัติจากเขา ดังนั้น ศาสนาจึงกำหนดหน้าที่โดยกว้าง ๆ ของมนุษย์ไว้ ๓ ประการดังนี้
หน้าที่ของมนุษย์กับอัลลอฮฺ (ซบ.) ในฐานะที่พระองค์คือผู้ทรงสร้างเขาและประทานปัจจัยยังชีพแก่เขา ดังนั้น การเรียนรู้จักพระผู้เป็นเจ้าจึงมีความจำเป็นหนือความจำเป็นทั้งหลาย
หน้าที่ของมนุษย์กับตัวเอง
หน้าที่ของมนุษย์กับคนอื่น หรือกับสังคมส่วนรวมที่เขาอาศัยอยู่ ซึ่งในแต่ละสังคมต้องการความสัมพันธ์ การประสานงานและการร่วมมือต่อกัน ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ามนุษย์มีหน้าที่หลักโดยรวมอยู่ ๓ ประการ ดังกล่าวไปแล้วข้างต้นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
หน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)
การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า
หน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) คือการรู้จักพระองค์ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นหน้าที่อันดับแรกสำหรับมนุษย์ การเรียนรู้จักพระองค์ต้องมีใจสะอาดและเจตนาที่บริสุทธิ์ การมีอยู่ของพระองค์คือต้นกำเนิดของมวลสรรพสิ่งทั้งหลายและปัจจัยทั้งปวง การรู้จักพระองค์คือนูรรัศมีแห่งปัญญาที่ส่องผ่านจิตใจทั้งหลายที่ยังมืดมิดอยู่ในโลกของความจริง ส่วนการไม่ใส่ใจที่อยากจะรู้จักก็คือบ่อเกิดแห่งความโง่เขลาทั้งหลาย ที่ปิดบังจิตให้มืดมิดจากการรู้จักหน้าที่ของตน และใครก็ตามที่ไม่สนใจต่อการรู้จักพระองค์ ก็เท่ากับเขาได้ดับแสงแห่งปัญญาของตนให้มืดสนิทและหมดหนทางที่จะไขว่คว้าหาความสำเร็จและความสุขที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์มาไว้ในครอบครองได้
ดังที่เราได้ประสบพบอยู่ทุกวันนี้ว่า ประชาชนได้หันหลังให้กับการเรียนรู้จักพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงของตน และตลอดชั่วอายุไขก็ไม่เคยคิดที่จะใส่ใจในเรื่องนี้ ในความเป็นจริงแล้วเขาได้ละทิ้งธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนธาตุแท้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในตัวเขาคือธาตุแห่งความเป็นอมนุษย์ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรไปจากเดรัจฉาน อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตรัสว่า
"ดังนั้น เจ้าจงหันออกจากบุคคลที่หันเหออกจากคำเตือนของเรา เพราะเขามิได้มุ่งหวังสิ่งใดนอกจากชีวิตทางโลกนี้เท่านั้น และนั่นแหละเป็นความรู้ที่บรรลุที่สุดแล้วของพวกเขา " (ซูเราะฮฺ อัน-นัจมุ : ๒๙)
ในความเป็นจริง การรู้จักพระผู้เป็นเจ้าสำหรับมนุษย์แล้ว ถือเป็นธรรมชาติและเป็นสัญชาตญาณของพวกเขาที่ไม่ต้องการข้อพิสูจน์หรือหลักฐานใด ๆ เพียงมนุษย์พิจารณาหรือสังเกตธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัวเอง ก็จะพบหลักฐานอย่างดาษดื่นที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงเมตตา ปรีชาญาณและทรงอำนาจยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ความหมายของการรู้จักพระผู้เป็นเจ้ามิได้หมายถึงการที่มนุษย์ได้รู้จัก พระองค์เป็นการส่วนตัว แต่หมายถึงวัฏจักรแห่งชีวิตของสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ การตอบรับคำเชิญชวนของพระองค์ด้วยกับจิตใต้สำนึกและสลัดความสงสัยที่มีต่อพระองค์ออกจากจิตใจ
การเคารพสักการะต่อพระเจ้าองค์เดียว
หลังจากได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ลำดับต่อมาคือการเคารพภักดีต่อพระองค์ เพราะความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองซึ่งเป็นเป้าหมายเพียงประการเดียวของเรานั้น อยู่ที่การปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ผู้ทรงเมตตา ที่ได้กำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติและแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับพวกเราโดยผ่านบรรดาศาสดาและศาสนทูตของพระองค์ที่ได้มาทำหน้าที่เผยแผ่แก่เรา ฉะนั้น การภักดีและปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ถือเป็นหน้าที่เพียงประการเดียวของมนุษย์ที่ไม่มีหน้าที่อันใดจะมาเทียบเคียงหรือยิ่งใหญ่ไปกว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสว่า
"คำบัญชาของพระองค์ผู้อภิบาลของเจ้าคือ จงอย่างเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นนอกจากพระองค์" (ซูเราะฮฺ บนีอิสรออีล : ๒๓)
"ข้ามิได้สัญญากับพวกเจ้ามาก่อนหรือว่า โอ้ลูกลานของอาดัม พวกเจ้าทั้งหลายจงอย่านมัสการชัยฏอนมารร้าย เพราะเป็นศัตรูที่ชัดแจ้งสำหรับพวกเจ้า และพวกเจ้าจงนมัสการเฉพาะข้า และนี่คือแนวทางที่เที่ยงตรง" (ซูเราะฮฺ ยาซีน : ๖๐)
ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องรู้จักความเป็นบ่าว การภักดีและความต้องการของตัวเอง ขณะเดียวกันต้องรำลึกถึงความยิ่งใหญ่และความเกริกก้องเกรียงไกรของพระองค์เสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้พระองค์เป็นผู้ชี้นำการดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องไม่เคารพภักดีต่อสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์ และต้องไม่ปฏิบัติตามใครนอกจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และอิมามผู้นำผู้บริสุทธิ์ที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้กำชับและเตือนสำทับอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องปฏิบัติตามพวกเขาเท่านั้นและจงอย่าได้ปฏิบัติตามผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า
"จงภักดีต่ออัลลอฮฺ จงภักดีต่อรอซูลและผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้า" (ซูเราะฮฺ อัน-นิสาอ : ๕๙)
แน่นอน ผลพวงประการหนึ่งที่เกิดจากการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าและผู้นำนั้นก็คือ การให้ความเคารพต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมพันธ์ไปยังพระองค์ เช่น นามอันจำเริญของพระองค์และนามต่าง ๆ ของผู้นำที่ต้องจดจำด้วยความนอบน้อม ต้องแสดงความเคารพต่ออัล-กุรอาน อัล-กะอบะฮ มัสญิดต่าง ๆ และสถานที่ฝังศพของเหล่าบรรดาผู้นำศาสนาของพระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า
"ใครก็ตามที่ยกย่องสัญลักษณ์ของอัลลอฮฺ ดังนั้น การทำเช่นนี้เป็นลักษณ์ของผู้มีจิตใจยำเกรง" (ซูเราะฮฺ อัล-ฮัจญ์ : ๓๒)
หน้าที่ของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง
การที่มนุษย์ได้ขวนขวายหาวิธีการและแนวทางต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตของตนนั้น ซึ่งแก่นแท้ของมิใช่เพื่ออื่นใดนอกไปจากความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองของ ชีวิต และเนื่องจากว่าการได้รับความสำเร็จและรู้จักนั้น ถือเป็นกิ่งแขนงหนึ่งของการรู้จักตนเอง กล่าวคือ ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังไม่รู้จักตัวเอง เมื่อนั้นเขาก็ไม่มีวันรู้จักความต้องการที่แท้จริงของตนที่มีความสำเร็จ เป็นจุดหมายปลายทางได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก่อนอื่นใด คือการรู้จักกับตัวเองเพื่อให้สิ่งนี้เป็นบันไดก้าวขึ้นไปสู่การเรียนรู้และ เข้าถึงความสำเร็จ โดยใช้สื่อช่วยเหลือต่าง ๆ ที่มีอยู่ในมือเป็นเครื่องมือช่วยขจัดความต้องการขั้นพื้นฐานและความสงสัย ทั้งมวล อย่าปล่อยให้ชีวิตที่มีค่าซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนเพียงประการเดียวของตนต้องหลุดมือไป
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า "ใครก็ตามที่รู้จักตัวเองเท่ากับไดรู้จักพระผู้เป็นเจ้าของตน"
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวเช่นกันว่า "ใครก็ตามที่รู้จักตัวเองเท่ากับได้ถึงตำแหน่งที่สูงที่สุดของการหยั่งรู้"
เมื่อมนุษย์ได้รู้จักตัวเองจะทำให้เกิดความเข้าใจทันทีว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของเขาก็คือการให้เกียรติต่อคุณค่าสูงสุดในการเป็นมนุษย์ของตนซึ่งเขาต้องรักษาคุณค่าอันสูงส่งนี้ให้เจิดจรัสอยู่เสมอ หมั่นรักษาพลานามัยทั้งภายนอกและภายในให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อจะได้มีชีวิตที่มีความสุขตลอดกาล
อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า "ใครก็ตามที่ให้เกียรติตัวเอง อารมณ์ใฝ่ต่ำและจิตใจที่ต่ำทรามจะหมดความหมายไปทันที"
ดังกล่าวไปแล้วว่า การมีอยู่ของมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องปกป้องรักษาให้ทั้งสองสมบูรณ์แข็งแรงและ ปลอดภัยตลอดเวลา อิสลามจึงได้นำเสนอแนวทางในการรักษาสุขภาพอนามัยของร่างกายและจิตวิญญาณแก่ มนุษย์ เพื่อเป็นครรลองในการปฏิบัติ
พลานามัยของร่างกาย
จงออกห่างจากอันตรายต่าง ๆ
อิสลามแนวทางอันบริสุทธิ์ ได้วางกฎเกณฑ์ไว้เพื่อเป็นการสนับสนุนสุขภาพและอนามัยของมนุษย์ เช่น อิสลามห้ามรับประทานเลือด ซากสัตว์ เนื้อสัตว์บางประเภทและอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกาย ห้ามดื่มของมึนเมาทุกประเภท น้ำที่ไม่สะอาดหรือดื่มน้ำมากจนเกินไปจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย และคำสั่งห้ามอื่น ๆ อีกมากมายดังที่ระบุอยู่ในหนังสือริซาละฮ (ตำราที่ว่าด้วยศาสนบัญญัติภาคปฎิบัติ)
การรักษาความสะอาด
ความสะอาด ถือว่าเป็นหนึ่งในคำสอนที่มีความสำคัญยิ่งของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องอนามัย อิสลามได้ให้ความสำคัญไว้อย่างมาก โดยสามารถกล่าวได้ว่า ไม่มีแนวทางใดให้ความสำคัญยิ่งไปกว่าอิสลาม
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า "ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา" ซึ่งคำกล่าวของท่านศาสดาย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่า อิสลามได้ให้ความยิ่งใหญ่และให้ความสำคัญยิ่งต่อความสะอาดจริง
ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) ได้กล่าวแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการอาบน้ำไว้ดังนี้ว่า "การอาบน้ำทุกวันจะทำให้ร่างกายสมบูรณ์"
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า "การอาบน้ำทุกวันช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง"
อิสลาม นอกจากจะเน้นหนักความสะอาดของส่วนรวมแล้ว ยังเน้นหนักในเรื่องของส่วนตัวอีกต่างหาก เช่น แนะนำว่าต้องหมั่นดูแลตัดเล็บมือและเท้าอยู่เสมอ ต้องตัดผมและขนในที่ต่าง ๆ ให้สะอาดหมดจด ต้องหวีผมให้เรียบร้อย ต้องแปรงฟันทุกวัน ต้องล้างมือก่อนและหลังจากรับประทานอาหารทุกครั้ง ต้องล้างรูจมูกวันละหลาย ๆ ครั้ง ต้องเก็บกวาดเช็ดถูบ้านเป็นประจำ หมั่นรักษาความสะอาดทางเดินเข้าบ้าน ประตูบ้านและใต้ต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้าน
นอกจากนี้ อิสลามยังได้เน้นความสะอาดเกี่ยวกับหลักการศาสนาโดยตรง เช่น ร่างการและข้าวของเครื่องใช้ในการทำอิบาดะฮ (อุปกรณ์ประกอบการนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า) ต้องให้สะอาดอยู่เสมอ เช่น ต้องรักษาร่างกายและเสื้อผ้าให้สะอาดจากสิ่งโสโครกอยู่ตลอดเวลา (นะญิสต่าง ๆ ) ต้องทำวุฎูวันละหลายครั้งเพื่อทำนะมาซ ต้องทำฆุสล (การอาบน้ำตามหลักศาสนาหลังจากหมดรอบเดือนหรือหลังจากการร่วมหลับนอน) เพื่อทำนมาซและคือศีลอด ซึ่งการทำวุฎูและฆุสลนั้นจะต้องให้น้ำถูกผิวหนังด้วย ถ้ามีคราบไขหรืออื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรคกีดขวางน้ำมิให้ถูกผิวหนังจำต้องขจัดออกก่อน ฉะนั้น จึงเห็นว่าสิ่งที่อิสลามเน้นคือให้มุสลิมรักษาร่างกายให้สะอาดอยู่ตลอดเวลา
การรักษาความสะอาดเสื้อผ้า
เรื่องการรักษาความสะอาดเสื้อผ้าอาภรณ์ในอิสลามนั้น ได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มแรกของการประกาศอิสลาม ดังจะเห็นได้จากโองการของอัล-กุรอานที่ประทานลงมาในช่วงต้น ๆ ของการแต่งตั้งศาสดา ได้กำชับเรื่องการทำความสะอาดเสื้อผ้าไว้ดังนี้
"ส่วนเสื้อผ้าของเจ้านั้น เจ้าจงทำความสะอาด " (ซูเราะฮฺ อัล-มุดดัษษิร : ๔)
การรักษาเสื้อผ้าให้สะอาดช่วงทำนมาซนั้น หมายถึง เป็นวาญิบ (ข้อบังคับ) ในทางฟิกฮ แต่อย่างไรก็ตาม อิสลามถือว่าการรักษาเสื้อผ้าอาภรณ์ให้สะอาดอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นมุสตะฮับ (สิ่งที่ดีควรปฏิบัติ) ซึ่งบรรดามะอซูมีนได้กล่าวแนะนำไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอ้างจากคำพูดของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ที่ว่า "การสวมใส่เสื้อผ้า ต้องสวมใส่เฉพาะเสื้อผ้าที่สะอาดเท่านั้น"
อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า "การซักเสื้อผ้าให้สะอาดจะช่วยขจัดความทุกข์โศรกและเป็นเหตุให้นมาซถูกยอมรับ"
ได้มีรายงานจากท่านอิมามศอดิก (อ.) และท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) ว่า "การมีเสื้อผ้าหลายชุดเพื่อสับเปลี่ยนเวลาสวมใส่ ไม่ถือว่าเป็นการฟุ่มเฟือย"
นอกเหนือจากเสื้อผ้าต้องสะอาดแล้ว ยังต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและดูดีเมื่อเวลาสวมใส่ โดยเฉพาะเวลาที่จะออกไปพบปะกับผู้คนหรือแข็งผู้มาเยือนนั้น ตองงสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดและมีความสง่างาม
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าว่า "จงสวมใส่เสื้อผ้าที่มีราคา และจงตบแต่งตัวเองให้สวยงาม เพราะอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเป็นผู้สง่างามและทรงรักผู้ที่มีความสง่างาม แต่ต้องเป็นที่อนุมัติ" หลังจากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้อ่านโองการนี้
"จงบอกซิว่า ใครกล้าที่จะวางกฎห้างเครื่องประดับของอัลลอฮฺ ซึ่งพระองค์ไดทรงนำออกมาให้แก่ข้าทาสขอพระองค์" (ซูเราะฮฺ อัล-อะอรอฟ : ๓๒)
การบ้วนปากและแปรงฟัน
ปากเป็นเหมือนกับโรงงานย่อยอาหารเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารในระดับหนึ่ง และเนื่องจากว่าอาหารต้องผ่านไปทางปากจึงทำให้ปากสกปรกมีเศษอาหารติดอยู่ตาม ซอกฟันและในที่ต่างๆ ของปาก เป็นเหตุทำให้มีกลิ่นปาก และบางคนต้องหายใจทางปากประกอบกับปากมีกลิ่นเท่ากับเป็นการทำลายบรรยากาศและ สร้างความรบกวนแก่ผู้อื่น
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า "ถ้าฉันไม่เกรงว่าจะเป็นความยากลำบากสำหรับบรรดามุสลิมแล้วละก็ ฉันจะกำหนดให้การแปรงฟันเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) สำหรับพวกเขา" ในบางครั้งท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า "ญิบรออีลได้แนะนำเรื่องการแปรงฟันตลอดเวลา ซึ่งในบางครั้งฉันคิดว่าหลังจากนี้ต่อไปคงเป็นวาญิบ"
การล้างจมูก
การหายใจเป็นความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้วอากาศที่หายใจเข้าไปนั้นมีความแตกต่างกัน เพราะสถานที่อยู่อาศัยของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนอาศัยอยู่แถบที่มีฝุ่นละอองมาก มีอากาศไม่บริสุทธิ์หรือมีมลภาวะที่หนาแน่น ซึ่งการหายใจเอาอากาศจำพวกนี้เข้าไปมาก ๆ มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้ทรงสร้างมนุษย์ย่อมปรีชาญาณกว่าเสมอ พระองค์จึงไดสร้างระบบป้องกันเบื้องต้นให้กับมนุษย์ โดยให้มีขนขึ้นในรูจมูกเพื่อกลั่นกรองฝุ่นละอองมิให้เข้าไปถึงปอดได้ง่าย เมื่อเวลามนุษย์หายใจเข้าไป ในบางครั้งจึงพบว่า ภายในรูจมูกจะมีฝุ่นละอองจับตัวกันอยู่เป็นก้อน ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามจึงได้แนะนำบรรดามุสลิมทั้งหลายว่า ในวันหนึ่ง ๆ ก่อนทำวุฎูควรล้างจมูกเสียก่อน ซึ่งการล้างจมูกด้วยกับน้ำสะอาดนั้นเป็นการช่วยรักษาระบบทางเดินหายใจ