เจาะลึกหะดีษษะเกาะลัยนฺ เจาะลึกหะดีษษะเกาะลัยนฺ
ประพันธ์โดย อายะตุลลอฮ์ มุฮ์ซิน ค็อรรอซี
สิ่งที่เหมาะสมกับวิทยปัญญาแห่งพระเจ้า
หลังจากกล่าวสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกรียงไกรแล้วขอสดุดีต่อบรมศาสดา ท่านมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และลูกหลานผู้บริสุทธิ์ วิทยปัญญาของพระเจ้าผู้ทรงสัพพัญญูนั้นคือ การชี้นำมนุษยชาติไปสู่ความดีงามทั้งโลกนี้และโลกหน้า ด้วยการทำให้มนุษย์เป็นผู้มีความสามารถในการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีความสมบูรณ์ (อันเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการสร้าง) ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริง คือ การรู้จักพระผู้เป็นเจ้าและการสร้างความใกล้ชิดยังพระองค์
การชี้นำของพระผู้เป็นเจ้า ได้กระทำโดยผ่านการประทานพระราชโองการอัล-กุรอาน แต่งตั้งบรรดาศาสดาและเอาลิยาอฺผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา การชี้นำของพระเจ้าได้มีมาตั้งแต่เริ่มสร้างท่านศาสดาอาดัม (อ.) ผู้เป็นมนุษย์คนแรกตราบจนถึงปัจจุบัน โดยไม่มียุคใดสมัยใด ที่ประชาชาติไม่ปรารถนาการชี้นำของพระองค์สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะว่ามนุษย์มีสติปัญญาอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ไม่เพียงพอต่อการรับรู้และสร้างความเข้าใจต่อปัญหาทั้งหมดของโลกและปรโลก
ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงต้องการวะฮีย์และศาสดา เพื่อทำการชี้นำ อัล-กุรอานและศาสดาจึงไม่แยกออกจากกัน เป็นเสมือนฝาแฝดที่ทำหน้าที่ชี้นำมนุษย์ ดังนั้น ศาสดาทุกท่านจึงมีวะฮีย์ ทุกๆวะฮีย์จึงมากับศาสดา ขณะที่การประกาศสาส์นแห่งธรรมและนุบุวัตได้สิ้นสุดไปแล้ว แต่อัล-กุรอานซึ่งเป็นตัวแทนของท่านศาสดายังคงอยู่ เหตุเพราะว่าประชาชนมีความปรารถนาในอัล-กุรอาน พร้อมทั้งผู้ทำหน้าที่อธิบาย ผู้นำการขัดเกลาจิตใจและอบรมสั่งสอนตลอดเวลา(1)
แก่นแท้ของความต้องการประเภทนี้ มิใช่มีเหตุผลทางสติปัญญาเพียงอย่างเดียวที่บ่งบอกว่าสิ่งนี้เป็นความจำเป็น หากแต่ว่าโองการและริวายะฮฺจำนวนมากได้กำชับเอาไว้ อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงตรัสด้วยกับความประหลาดใจที่ว่าบรรดาผู้ปฏิเสธได้ทำตัวห่างเหินจากการศึกษาหลักศรัทธาว่า
وَكَيْفَ تَكْفُرُوْنَ وَاَنْتُمْ تُتْلَى عَلَيْكُمْ ءآيَتُ اللَّهِ وَفِيْكُمْ رَسُوْلُهُ وَمَنْ يَعْتَصِمْ بَاللّهِ فَقَدْ هُدِىَ اِلَى صِرَاطٍ مُسْتَقِيْمٍ
“และพวกเจ้าจะปฏิเสธได้อย่างไร ทั้งที่โองการของอัลลอฮฺได้รับการสาธยายให้พวกเจ้าฟัง อีกทั้งในหมู่พวกเจ้าก็มีศาสดาของพระองค์อยู่ และบุคคลใดยึดมั่นต่ออัลลอฮฺ แน่นอนเขาต้องได้รับการชี้นำสู่แนวทางอันเที่ยงตรง”(2)
คำอธิบาย : การปฏิเสธได้เกิดขึ้นกับพวกเจ้าได้อย่างไร ขณะที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้อ่านและสาธยายโองการต่างๆ ของอัลลอฮฺ (ซบ.) แก่พวกเจ้าแล้ว ท่านเคยอยู่ร่วมสังคมเดียวกันกับเจ้า ท่านได้ทำการแนะนำพวกเจ้าให้ประพฤติคุณงามความดีและละเว้นจากความชั่วทั้ง หลาย ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้ที่ยึดมั่นในศาสนาของอัลลอฮฺ (ซบ.) ย่อมได้รับทางนำ พวกเจ้าไม่ใคร่ครวญถึงการบ่งชี้ของโองการบ้างหรือ ที่ได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญไว้สองประเด็นกล่าวคือ
-การปฏิเสธและการออกห่างจากสัจธรรม
-อัล-กุรอานและการมีอยู่ของท่านศาสดา
ฉะนั้นผู้ใดที่ออกห่างจากทั้งสองเท่ากับเขาได้หลงทางออกไปจากสัจธรรม ต่างไปจากคนที่ยึดมั่นในอัลลอฮฺ (ซบ.) (หมายถึงมีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ยึดมั่นในอัล-กุรอานและปฏิบัติตามคำสอนของท่านศาสดา)แน่นอนบุคคลเหล่านี้คือ พวกที่ได้รับทางนำแล้ว
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ยืนหยัดอยู่บนสัจธรรม ทำการชี้นำแนวทางที่ถูกต้องแก่ประชาชาติ เพื่อให้พวกเขาดำรงอยู่บนทางนำที่ถูกต้องและไม่หลงทางออกไป ซึ่งภารกิจที่มีความสำคัญเช่นนี้ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ย้ำเตือนพวกเขาให้ยึดมั่นต่ออัล-กุรอานและปฏิบัติตามลูกหลานของท่าน เพื่อความเจริญผาสุกทั้งโลกนี้และโลกหน้าจะได้มีความมั่นคงถาวรสืบไป การชี้นำตักเตือนในภารกิจดังกล่าว ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ปฏิบัติหลายครั้งตามสถานที่และการเวลาที่แตกต่างกันและสิ่งนั้นคือการประกาศหะดีษษะเกาะลัยนฺ ซึ่งเป็นหะดีษที่รู้จักกันอย่างดีและมีความเห็นพร้องตรงกันทั้งสุนนีและชีอะฮฺ
จุดประสงค์ของท่านศาสดาจากหะดีษดังกล่าวคือ ท่านปรารถนาให้ประชาชาติได้รับทางนำตลอดไปตราบจนถึงวันกิยามะฮฺแม้ว่าท่านจะอำลาโลกนี้ไปแล้วก็ตาม บรรดาศาสดาทั้งหลายโดยเฉพาะท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ซึ่งเป็นบรมศาสดาและเป็นศาสดาท่านสุดท้ายที่มีความประเสริฐที่สุด
ท่านคือสื่อและเป็นตัวแทนของอัลลอฮฺ (ซบ.) ที่ทำหน้าที่ปกครองประชาชาติตามหลักชะรีอะฮฺ การปกครองดังกล่าวแม้ว่าศาสดาจะจากไปแล้ว แต่การปกครองยังคงดำรงอยู่โดยมีวะศีย์ผู้เป็นตัวแทนของท่านทำการปกครอง ทำนองเดียวกันเมื่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ดับขันธ์ลงอำนาจการปกครองของอัลลอฮฺ (ซบ.) ได้รำรงสืบต่อไปโดยผู้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา ซึ่งอัลลอฮฺทรงเลือกสรรและให้ท่านศาสดาแนะนำพวกเขาแก่ประชาชาติ การปฏิเสธตัวแทนท่านของศาสดาภายหลังจากท่าน เป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาสำคัญสองประการที่ไม่อาจมองข้ามได้กล่าวคือ
๑.เป็นการปฏิเสธผู้ปกครองตามหลักชะรีอะฮฺที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเลือกสรร
๒. เป็นการแสดงความพึงพอใจกับผู้ปกครองที่ไม่ได้เป็นมะอฺซูมและอัลลอฮฺไม่ได้เลือกสรร
ทั้งสองประเด็นด้วยกับเหตุผลทางสติปัญญาและชัรอีย์ ถือว่าเป็นโมฆะ(บาฎิล) เพราะผู้ปกครองตามชะรีอะฮฺของอัลลอฮฺนั้นเป็นแก่นแท้ของความเป็นจริง เป็นปรมัตถ์สัจมีไม่อาจปฏิเสธได้ มิใช่ข้อตกลงที่อาจยกเลิกได้ตามความเหมาะสมของใครคนใดคนหนึ่ง และมิได้เป็นตำแหน่งที่มีคนมอบให้กับเขาซึ่งไม่สามารถนำกลับคืนมาได้ ที่มาของผู้ปกครองตามหลักชะรีอะฮฺเป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากกฎตักวีนี (กฎสภาวะที่อัลลอฮฺทรงกำหนด) ส่วนโองการที่กล่าวว่า “การตัดสินเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ” เป็นการปฏิเสธการปกครองทั้งหลาย ยกเว้นการปกครองของพระองค์ หรือการปกครองที่ได้รับอนุญาตจากพระองค์เท่านั้น อัล-กุรอานกล่าวว่า “บุคคลใดที่ไม่ตัดสินไปตามที่อัลลอฮฺประทานลงมา บุคคลพวกนี้เป็นผู้ปฏิเสธเป็นผู้อธรรมเป็นผู้ละเมิด” (มาอิดะฮฺ: ๔๔,๔๕,๔๗)
หะดีษษะเกาะลัยนฺ
เป็นที่แน่ชัดว่าหะดีษษะเกาะลัยนฺ (ซึ่งมีความเห็นพ้องตรงกันทั้งสุนนีและชีอะฮฺ) ได้อธิบายไว้อย่างชัดเจนว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มิได้ปล่อยให้ประชาชาติอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากผู้นำ มิได้ปล่อยให้อิสลามและประชาชาติต้องดำเนินชีวิตไปเองภายหลังจากการดับขันธ์ของท่าน ทว่าท่านได้ประกาศฐานะของอัล-กุรอานและลูกหลานของท่าน ไว้อย่างชัดเจนในหมู่ประชาชาติ ซึ่งการยึดมั่นกับทั้งสองเป็นวาญิบสำหรับประชาชาติทุกคน ส่วนการรักษาฐานะภาพของการยึดมั่นกับทั้งสองจะช่วยให้รอดพ้นจากการหลงทาง อัล-กุรอานและอิตรัต (ทายาท) ได้เป็นหลักประกันการหลงทาง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า “แท้จริงการยึดมั่นทั้งสองไม่ทำให้เจ้าหลงทางตลอดไป ทั้งสองจะไม่แยกจากกันจนกว่าจะกลับคืนสู่ฉัน ณ. สระน้ำหลังจากนั้นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “อัล-กุรอานจะอยู่เคียงข้างกับอหฺลุลบัยตฺ และอหฺลุลบัยตฺจะอยู่เคียงข้างกับอัล-กุรอาน ท่านได้เตือนสำทับอีกว่า อัล-กุรอานและลูกหลานของฉันเท่าเทียมกัน ทั้งสองเป็นความสมบูรณ์ของกันและกันในการชี้นำประชาชาติ การยึดมั่นกับสิ่งหนึ่งโดยปราศจากอีกสิ่งเป็นสาเหตุให้หลงทาง
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ยังได้ทำการแต่งตั้งผู้เป็นที่ย้อนกลับของความรู้และการเมืองการปกครองภาย หลังจากท่าน เพื่อรับประกันภารกิจต่างๆที่ท่านได้กระทำเอาไว้ อีกทั้งเป็นการป้องกันมิให้ประชาชาติหลงทาง
นอกจากนี้แล้ว จะเห็นว่าหะดีษษะเกาะลัยนฺเป็นหะดีษที่ครอบคลุมเหนือกาลเวลาหมายถึงไม่มีเวลาเป็นเงื่อนไข ดังนั้น การยึดมั่นกับอัล-กุรอานและอิตรัตตามระบุในหะดีษ จึงเป็นข้อบังคับ (วาญิบ) สำหรับมุสลิมตลอดไป การพิจารณาตรึกตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงจุดประสงค์และเจตนารมณ์ที่แท้จริง ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เป็นประโยชน์กับสังคมมุสลิมอย่างยิ่งเพราะอย่างน้อยสุดความเข้าใจผิดที่เป็นสาเหตุของการแปลกแยกจะถูกลบล้างลงโดยปริยาย
ประเด็นที่จะทำการวิพากษ์เกี่ยวกับหะดีษษะเกาะลัยนฺ
๑. สายสืบและหลักฐาน (สะนัด) ของหะดีษ
๒. การประกาศหะดีษต่อหน้าสาธารณชน
๓. ตัวบทของหะดีษ
๔. ความหมายของหะดีษ
ประเด็นที่ ๑ สายสืบและหลักฐานของหะดีษษะเกาะลัยนฺ
หะดีษษะเกาะลัยนฺเป็นหนึ่งในหะดีษที่มีความเห็นพ้องตรงกันทั้งสุนนีและชีอะฮฺนักวิชาการได้อ้างอิงหะดีษบทนี้ไว้ในหนังสืออ้างอิงสุนันต่างๆ ตัฟสีรฺ และประวัติศาสตร์พร้อมทั้งมีการบันทึกหลักฐานสายรายงานและแหล่งที่มาของหะดีษที่ถูกต้องและเชื่อถือได้
หนังสือฆอยะตุ้ลมะรอมได้บันทึกหะดีษษะเกาะลัยนฺที่มีสายรายงานจากสุนนีไว้ ทั้งสิ้น ๓๙ หะดีษ และจากสายรายงานฝ่ายชีอะฮฺ ๘๒ หะดีษ(3)
ท่านอัลลามะฮฺ มีรฮามิด ฮุซัยนี เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ยิ่งใหญ่ประจำมัซฮับ ท่านได้บันทึกหะดีษบทนี้โดยมีสายสืบเป็นนักวิชาการฝ่ายอหฺลิซซุนนะฮฺถึง ๑๙๐ คนจากศตวรรษที่ ๒ จนถึงปลายศตวรรษที่ ๑๓(4)
ท่านมุหักกิกอับดุลอะซีซ ฏอบาฏอบาอีย์ได้บันทึกหะดีษจากสายรายงานของ ผู้รู้ฝ่ายอหฺลิซซุนนะฮฺถึง ๑๒๑ คนจากศตวรรษที่๒ จนถึงศตวรรษที่ ๑๔ (5)
ฉะนั้น เมื่อรวมรอวีแล้วจะพบว่ามีผู้รู้ฝ่ายอหฺลิซซุนนะฮฺมากถึง ๓๑๑คนเป็นผู้รายงานหะดีษษะเกาะลัยนฺ ท่านอิบนุหะญัรฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเศาะวาอิกว่า “หะดีษษะเกาะลัยนฺได้รายงานไว้หลายสายสืบด้วยกัน” (6)
หนังสืออ้างอิงต่างๆที่เชื่อถือได้ของอหฺลิซซุนนะฮฺจำนวนมาก ได้บันทึกหะดีษษะเกาะลัยนฺเอาไว้เช่นหนังสือเศาะฮีห์มุสลิม สุนันติรฺมีซี สุนันดารอมี มุสนัดอหฺมัด ฮันมัล ค่อซออิซุ้ลนะซาอีย์ มุสตัดร็อกอัลฮากิม อุสดุ้ลฆอบะฮฺ อัลอักดุ้ลฟะรีด ตัซกิรอตุ้ลคะวาศ ซะคออิรุ้ลอุกบา ตัฟสีรฺษุอฺละบี และหนังสืออื่นๆ อีกมากเป็นที่ประจักษ์ว่าบรรดาเศาะฮาบะฮฺ (สาวก) ที่รายงานหะดีษ-ษะเกาะลัยนฺนั้นมีจำนวนมาก ท่านอิบนุหะญัรฺได้กล่าวไว้ในหนังสือเศาะวาอิก ว่า “สะนัด(สายรายงาน)ของหะดีษบทที่ว่าให้ยึดมั่นกับอัล-กุรอานและอิตรัตนั้นมีจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนสะนัดเหล่านั้นบรรดาเศาะฮาบะฮฺเป็นผู้รายงาน(7)
หนังสืออับกอตุ้ลอันวารฺได้บันทึกไว้ว่าหะดีษษะเกาะลัยนฺมีผู้รายงานเป็นเศาะฮาบะฮฺทั้งหญิงและชายจำนวน ๓๔ คน ทั้งหมดเหล่านั้นได้คัดลอกมาจากหนังสืออหฺลิซซุนนะฮฺ(8)
หนังสืออิหฺกอ-กุ้ลหักและฆอยะตุ้ลมะรอมบันทึกไว้ว่า หะดีษษะเกาะลัยนฺมีเศาะฮาบะฮฺจำนวนมากเป็นผู้รายงานได้ซึ่งตรงนี้จะขอกล่าวนามของเศาะฮาบะฮฺบางท่านจากทั้งหมด ๕๐ คน อาทิเช่น
ท่านอิมามอะลี,
อิมามฮะซัน,
ซัลมานฟารซี,
อบูซัรฺ ฆิฟารี,
อินุอับบาส,
อบูสะอีดคุดรีย์,
ญาบีรฺอับดุลลอฮฺอันศอรีย์,
อบูฮัยษัม อิบนิตัยฮาน,
อบูรอฟิอฺ คนรับใช้ของรอซูลุลลอฮฺ,
หุซัยฟะฮฺ บินยะมาน,
หุซัยฟะฮฺ บินวะลีด ฆิฟารีย์,
หุซัยบะฮฺ บินษาบิต ซุชชะฮาดะตัยนฺ,
ซัยดฺ บิน ษาบิต,
อบูหุรอยเราะฮฺ,
อับดุลลอฮฺ บิน อันฎ๊อบ,
ท่านหญิงฟาฎิมะฮฺ อัซซะฮฺรอ,
ท่านหญิงอุมมุสะลามะฮฺ,
ท่านอุมมุฮาดี,
ญุเบรฺ บิน มุฏอิม,
บุรออฺ บิน อาซิบ,
อะนัสบินมาลิก,
ฏ็อลฮะฮฺ บิน อับดุลลอฮฺ ตัยมี,
อับดุรฺเราะฮฺมาน บินอาวฟ์,
สะอฺด์ บินสะอัด บินอันศอรีย์,
อุดัยย์ บินฮาตัม,
อุกบะฮฺ บินอามิรฺ,
อบูอัยยูบ อันศอรีย์,
อบูชุร็อยห์ คอซาอีย์,
อบูกุดามะฮฺอันศอรีย์,
อบูลัยลา อันศอรีย์,
เฏาะมีเราะฮฺ อัสละมี,
อามิร บินลัยลา,
ซัยด์ บินอัรฺกอม,
อิบนุ อบี ดุนยา,
ฮัมซะฮฺอัสละมี,
อับดุ บินหะมีด,
มุฮัมมัด บินอับดุรเราะหฺมาน บินฟุลาด,
อบูฏุฟัยล์ อามิร บินวาษิละฮ์,
อัมมาร บินมุรฺเราะฮฺ,
บุร็อยเราะฮฺ หะบะชีย์ บินญุนาดะฮฺ,
อุมัร บินค็อฏฏ็อบ,
มาลิก บินหุวัยริษ,
หะบีบบิน บัดลีล,
เกส บินษาบิต,
ซัยด์ บินชะรอฮีล อันศอรีย์,
อาอิชะฮฺ บินสะอฺด,
อุฟัยฟ์บินอามิรฺ,
อัลดุลลอฮฺ บินอุมัรฺ,
อุบัยย์ บินกะอฺบ์,
อัมมารฺ บินยาซิร
ดังนั้น จะเห็นว่าหะดีษษะเกาะลัยนฺเป็นหะดีษที่มีผู้รายงานทั้งสุนนีและชีอะฮฺจำนวน มากและมีการบันทึกไว้ในตำราอ้างอิงต่างๆ อีกทั้งยังเป็นหะดีษที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้นำเสนอในวาระต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขณะกล่าวคุฎบะฮฺที่เฆาะดีรฺคุม ดังนั้น สะนัดของหะดีษเฆาะดีรฺก็คือ สะนัดของหะดีษษะเกาะลัยนฺนั้นเองขณะที่หะดีษเฆาะดีรฺมีเศาะฮาบะฮฺเกินกว่า ๑๐๐ คนเป็นผู้รายงาน
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวถึงหะดีษษะเกาะลัยนฺท่ามกลางมวลชนมากมาย ซึ่งในนั้นมีเศาะฮาบะฮฺอยู่ด้วยและบางคนได้สาระภาพออกมาว่า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เป็นผู้กล่าวหะดีษดังกล่าว(9) ท่านอิมามอะลี (อ.)กล่าวว่า“โอ้ประชาชนเอ๋ย อัลลอฮฺ (ซบ.)เป็นผู้รู้ดีในหมู่ของพวกท่าน พวกท่านจำได้ไหมว่า... แท้จริงแล้วท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวคุฎบะฮฺขึ้นหลังจากนั้นท่านได้เงียบหายไป และได้กล่าวขึ้นว่าโอ้พวกท่านทั้งหลาย แท้จริงฉันได้ฝากสิ่งหนักสองสิ่งที่มีค่ายิ่งไว้ในหมู่ของพวกท่านซึ่งพวก ท่านจะไม่หลงทางตลอดไป ถ้ายึดมั่นกับทั้งสอง อันได้แก่ อัล-กุรอานและอิตรัต (ทายาทของฉัน) ญิบรออีล ได้กล่าวกับฉันว่าทั้งสองจะไม่มีวันแยกออกจากกันจนกว่าทั้งสองจะกลับคืนสู่ ฉัน ณ. สระน้ำ”
ประชาชนที่อยู่รายรอบท่านอิมามอะลี (อ.) ในขณะนั้นได้พูดขึ้นว่า “โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงพวกเราเคยได้ยินคำพูดเหล่านี้จากท่านศาสดา (ศ็อลฯ)” ขณะนั้นได้มีคน ๑๒ คนยืนขึ้นและพูดว่า “พวกเราขอยืนยันว่า แท้จริงท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวคำพูดนี้ในวันที่ประชาชนได้รายล้อมท่านอยู่” และท่านอุมัร บิน ค็อฎฎ็อบ ได้ลุกขึ้นด้วยความโมโหและพูดว่า “ยารอซูลัลลอฮฺ อหฺลุลบัยตฺของท่านทั้งหมดหรือเปล่า?”
ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ตอบว่า “ไม่ใช่ทั้งหมด ซึ่งหัวหน้าของพวกเขา คือ อะลี ลูกพี่ลูกน้องของฉัน เป็นตัวแทนและเคาะลิฟะฮฺของฉันในหมู่ของพวกท่าน และเป็นผู้ปกครองปวงผู้ศรัทธาทั้งชายและหญิงหลังจากฉัน อะลีเป็นคนแรก และเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในหมู่พวกเขา ซึ่งตัวแทนของฉันคนต่อไปหลังจาก อะลี คือ บุตรของฉัน ขณะนั้นท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ชี้ไปที่ท่าน อิมามฮะซัน และตัวแทนของเขาคือบุตรของฉันอีกคน ท่านได้ชี้ไปที่ท่านอิมามฮุซัยนฺ และตัวแทนของเขาคือ(บุตรของฮุซัยนฺจนถึงอิมามมะฮฺดี) พวกเขาจะไม่แยกออกจากอัล-กุรอานจนกว่าพวกเขาจะย้อนกลับคืนสู่ฉัน ณ. สระน้ำ พวกเขาได้เป็นชะฮีด เพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) บนหน้าแผ่นดิน อีกทั้งเป็นฮุจญัตของพระองค์ในหมู่ของประชาชน ใครที่ปฏิบัติตามพวกเขา เท่ากับปฏิบัติตามอัลลอฮฺ ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพวกเขา เท่ากับฝ่าฝืนอัลลอฮฺ
ขณะนั้นได้มีอาหรับเบดูอินจำนวน ๗๐ คน พร้อมกับพวกมุฮาญิรีนได้ยืนขึ้นและพูดว่า “พวกเรายังจำได้ พวกเราไม่เคยลืมและพวกเราขอยืนยันว่า แท้จริงพวกเราได้ยินคำพูดเหล่านี้จากท่านศาสดา ขณะนั้น อบูหุรอยเราะฮฺและอบูดัรฺดา ได้พูดว่า “มุอาวิยะฮฺได้บอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ อะลีได้พูด และมีคนยืนยันอย่านำไปเล่าต่อและอย่าฟังคำพูดของเขา”
เปิดหน้าต่อไป
--------------------------------------------------
เชิงอรรถ
1. การที่ประชาชนมีความปรารถนาต่อการชี้นำของพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา เป็นเพราะว่ามนุษย์มีความผูกพันกับพระผู้เป็นเจ้า ต้องอิงอาศัยและมีความต้องการ เช่นเดียวกันกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ การเจริญเติบโตและความสมบูรณ์ของเขาขึ้นอยู่กับชีวาตมัน (ซาต) ที่ต้องอิงอาศัยและสัมพันกับพระผู้เป็นเจ้า การชี้นำเช่นเดียวกันเป็นคุณลักษณะที่ต้องอิงอาศัยพระผู้เป็นเจ้าตลอดเวลา
2. อาลิอิมรอน ๑๐๑
3. ฆอยะตุ้ลมะรอม หน้าที่ ๒๒๑,๒๑๗ พิมพ์ที่เบรุต ดารู้ลกอมุส อัล-หะดีษ
4. นะฟะตุ้ล อัซฮารฺ ฟีคุลาศะติ้ล อะบะกอติ้ล อันวารฺ หน้าที่ ๑๑๙,๒๑๐พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ฮ.ศ. ๑๔๑๔ อะบะกาตุ้ลอันวารฺ เล่มที ๑ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีฮ.ศ ๑๓๙๘ กุม อิหร่าน หน้าที่ ๑๓,๒๕ บรรดารอวีทั้งหมดอยู่ในศตวรรษที่ ๒ จนถึงปลายศตวรรษที่ ๑๓ ซึ่งมีทั้งสิ้น ๑๘๖ คน
5. นะฟะหาตุ้ล อัซฮารฺ หน้าที่ ๘๗,๘๘
6. อัศเศาะวาอิกุ้ล มุหฺรอเกาะฮฺ หน้าที่ ๓๔๒ และ ๑๕๐-๒๒๘ พิมพ์ครั้งที่ ๒ อียิปต์
7. อัศเศาะวาอิกหน้าที่ ๓๔๒ อัศเศาะวาอิกุ้ลมุหฺรอเกาะฮฺ พิมพ์ที่อิยิปต์ ครั้งที่ ๒ ปี ฮ.ศ ที่ ๑๓๘๕ ค. ศ ที่ ๑๙๖๕ หน้าที่ ๒๒๘
8. นะฟะหาตุ้ลอัซฮารฺ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๒๒๗-๒๓๖
9. ฆอยะตุ้ลมะรอม หน้าที่ ๒๓๑
ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์