อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์และนิยายต่างๆ อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์และนิยายต่างๆ
ประพันธ์โดย อัลลามะฮ์ ซัยยิด มุรตะฏอ อัสกะรี
ผู้แปล อับดุลลอฮ์ บิน กอเซ็ม
คำนำผู้แปล
ถึงแม้การแปลหนังสือเรื่อง อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์ และนิยายต่างๆ จากต้นฉบับภาษาฟารซี (เปอร์เซีย) ซึ่งประพันธ์โดย ท่านซัยยิดมุรตะฎอ อัสการี ให้เป็นภาษาอังกฤษ โดยท่าน เอ็ม.เจ. มุก็อดดัส จะสิ้นเสร็จลงนับตั้งแต่ปี 2517 แล้วก็ตาม แต่หนังสือนี้ยังไม่เป็นที่แหร่หลายไปทั่วโลก จนกระทั่ง Islamic Thought Foundation แห่งเตหราน ได้เริ่มจัดพิมพ์เผยแผ่นับจากการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน ในปี 2522 เป็นต้นมา จึงทำให้หนังสือนี้ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาษาต่างๆ ของโลกอย่างมากมาย และภาษาไทยซึ่งถือเป็นภาษาหนึ่งของชาวอาเชี่ยน ก็ได้รับเกียรติถ่ายทอดหนังสืออันทรงคุณค่ายิ่งเล่มนี้ให้ชาวไทยได้ใช้ค้นคว้าศึกษาหาความรู้แจ้งเห็นจริงในประวัติศาสตร์อิสลาม ที่เคียงคู่อยู่กับมวลมุสลิมมานานนับพันกว่าปีแล้ว
ในฐานะที่ผู้แปลเคยได้ยินได้ฟังมาจากฝ่ายซุนนะฮ์ ตลอดสองสามทศวรรษที่ผ่านมา ดังว่าชีอะฮ์ มีต้นกำเนิดมาจากการเผยแพร่ของชาวยิวคนหนึ่งชื่อ อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์ เดินทางมาจากเยเมน และมาเข้ารับอิสลามในสมัยของคอลีฟะฮ์อุศมาน จากการเผยแพร่ลัทธิแนวคิดผิดๆที่เขาแทรกซึมเข้ามาในอิสลาม ทำให้สาวกชั้นนำของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)บางคน เช่น อบูซัร อัล กิฟารี เห็นดีเห็นงาม และใช้แนวคิดนี้เป็นแม่แบบเพื่อเผยแพร่แนวความเชื่อของชีอะฮ์ อะลี สืบต่อมา จนก่อให้เกิดสงครามอูฐขึ้นในที่สุด
เมื่อผู้แปลได้มีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่หนึ่งเมื่อประมาณปี 2532 ฉบับพิมพ์ครั้งที่หนึ่ง ปี 2521 โดย A Group Of Muslim Brothers ที่เตหราน และเมื่อได้ศึกษาอย่างจริงจัง จึงได้มารู้ความจริงว่า ข้อมูลฝ่ายซุนนะฮ์ ที่นำเสนอในเรื่องนี้มีความขัดแย้งกัน บ้างว่าชีอะฮ์ถือกำเนิดนับตั้งแต่วาระแรกที่ท่านนบี (ศ็อลฯ) ถึงแก่อสัญกรรม บ้างว่าเริ่มขึ้นในสมัยคอลีฟะฮ์อุศมาน ซึ่งมีเวลาห่างกันอยู่ถึงประมาณ 20 ปี
ด้วยแรงผลักดันที่ประสงค์จะได้เห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในมวลหมู่มุสลิมได้คลี่คลายสลายลง ผู้แปลจึงตัดสินใจที่จะแปลหนังสือนี้ให้สำนักพิมพ์ 14 พับลิเคชั่น สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม และในที่สุดงานแปลได้มาเสร็จสิ้นลงเมื่อต้นปี 2543 จึงถือเป็นการต้อนรับปีแห่งการรณรงค์ เพื่อการศึกษาของสังคมอิมามียะฮ์ เพื่อรอคอยการมาของอิมามมะฮ์ดี(อ.)ไปด้วยในตัว
ผู้แปลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า สัจธรรมความจริงที่ปราฏกอยู่ในเนื้อหาของหนังสือนี้ จะเป็นคำตอบให้กับฝ่ายซุนนะฮ์ ได้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์ เป็นตัวละครที่ท่านฏอบารี และนักประวัติศาสตร์มุสลิมท่านอื่นๆ นำมาบรรจุไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม อันมีชื่อเสียงของพวกท่านได้อย่างไร
ผู้แปลขอขอบคุณ สำนักพิมพ์ 14 พับลิเคชั่นของสถาบันฯ ที่ได้เอาเป็นธุระดำเนินการจัดพิมพ์ โดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยจนสำเร็จลุล่วงเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งในบรรณพิภพของสังคมมุสลิมไทยสืบไป ขอวิงวอนให้ปากกาทุกด้ามของมวลมุสลิม ได้เขียนพระดำรัสอันอมตะดังว่า มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ์(ซบ.) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงประสพแด่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ผู้เป็นศาสดาองค์สุดท้าย และครอบครัวอันบริสุทธิ์สะอาดของท่าน(อ.)
อับดุลลอฮ์ บิน กอเซ็ม 15 มิถุนายน 2543
12 รอบิอุลเอาวัล 1421 กรุงเทพมหานคร
คำนำสำนักพิมพ์
หนังสือที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ซึ่งทางสำนักพิมพ์ 14 พับลิเคชั่น สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลามจัดพิมพ์นั้น ขณะนี้มีด้วยกันสามแนวใหญ่ๆ คือ หนังสือที่เป็นตัวบทคำสอนของท่านศาสดา(ศ็อลฯ) และอะห์ลุลบัยต์(อ.) เช่น สุนทโรวาทอันตรึงใจของสิบสี่มะอ์ซูมีน(อ.) สนทโรวาทของอิมามอะลี(อ.) ช่อบุปผชาติฯ ที่เป็นประวัติศาสตร์อิสลามเชิงวิเคราะห์ เช่น ชีอะฮ์คือซุนนะฮ์ที่แท้จริง อบูฮุรอยเราะฮ์ อะลี อิบนิ อบีฏอลิบ มหาบุรุษของโลก ชำระประวัติศาสตร์อิสลามและมุสลิม และที่เป็นหนังสือค้นคว้าในเชิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ก็มี ดาราศาสตร์ อิสลาม มหานครมักกะฮ์ศูนย์กลางแห่งความมหัศจรรย์ของโลก เป็นต้น และในอนาคตอันใกล้นี้ อาจเพิ่มแนวปรัชญาอิสลามขึ้นอีกแขนงหนึ่ง (หากอัลลอฮ์(ซบ.) ทรงประสงค์)
ดังนั้น หนังสือ อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์ และนิยายต่างๆ ในภาคภาษาไทยเล่มนี้ จึงถูกจัดให้อยู่ในแนวประวัติศาสตร์อิสลามเชิงวิเคราะห์ ซึ่งผู้อ่านที่เคารพคงจะได้สังเกตเห็นถึงแนวใหญ่ๆ สามแนวดังกล่าวที่ผู้จัดพิมพ์ได้นำเสนอต่อท่านอย่างเป็นระบบ และนำสู่ตลาดหนังสืออย่างต่อเนื่องเพื่อความสะดวกของท่านในการศึกษาค้นคว้า และการสะสมหนังสือที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ 14 พับลิเคชั่น สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม
สำนักพิมพ์ตระหนักดีอยู่เสมอว่า หนังสือแนวประวัติศาสตร์อิสลามเชิงวิเคราะห์นี้ มักจะเป็นเผือกร้อนที่ไม่มีผู้ใดอยากแตะต้อง แต่เมื่อมันหายร้อนเมื่อใด ผู้คนจึงจะเห็นคุณค่าของมัน สิ่งนี้เป็นจริงกับหนังสือแนวดังกล่าวนี้ของสำนักพิมพ์ทุกเล่ม มาบัดนี้ผู้คนเริ่มถามหาทั้งๆที่เราได้จัดพิมพ์หนังสือแนวนี้มาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งบางเล่มจำเป็นจะต้องจัดพิมพ์เป็นครั้งที่สอง
เจตนารมณ์หลักของสำนักพิมพ์ ก็คือ ต้องการให้ท่านผู้อ่านที่เป็นนักศึกษาค้นคว้า ทั้งที่เป็นมุสลิมและผู้คนโดยทั่วไป ได้อยู่ใกล้ชิดกับความจริงซึ่งมีเพียงหนึ่งเดียว และห่างไกลจากความเท็จที่ปรากฏอยู่ตามบรรทัดต่างๆของหนังสือประวัติศาสตร์อิสลาม ทั้งนี้เพราะแหล่งที่มาของประวัติศาสตร์อิสลามบางแหล่งนั้นเป็นเท็จ เช่นของ ซัยฟ์ อิบนิ อุมัร อัตตะมีมี มันจะเป็นไปได้อย่างในเมื่ออิสลามกับความสัตย์จริงนั้นเป็นของคู่กัน แต่เรากลับได้เห็นว่าหนังสือที่ได้ชื่อว่า ประวัติศาสตร์อิสลามบางเล่มกลับใช้หลักฐานที่มาเป็นเท็จ ซึ่งไม่อาจทนทานต่อการถูกพิสูจน์ในเชิงวิชาการอย่างเข้มงวดกวดขันได้
ท่านอัลลามะฮ์ ซัยยิด อัสการี นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของโลกอิสลามที่มีชีวิตร่วมสมัยกับเรา ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงนี้อย่างไม่อาจโต้แย้งใดๆ ได้ ดังนั้นความปรารถนาของท่านที่ประสงค์จะได้เห็นพวกเราได้รับทางนำไปสู่ความสำเร็จ และปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ที่นำไปสู่ความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์(ซบ.) จึงถือได้ว่าสัมฤทธิผลไปส่วนหนึ่งแล้ว เมื่อหนังสือเล่มนี้และเล่มอื่นๆ ของท่านได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาษาต่างๆไปทั่วโลก
สำนักพิมพ์ขอขอบคุณต่อผู้แปล และทุกท่านที่มีส่วนช่วยเหลืออันสำคัญที่ทำให้หนังสืออันทรงคุณค่ายิ่งเล่มนี้สำเร็จลงได้ดังหมาย พระองค์เท่านั้นที่เราสรรเสริญ และพระองค์เท่านั้นที่เราแสวงหาความช่วยเหลือ และพระองค์เท่านั้น ที่ทรงตอบแทนรางวัลของพระองค์ให้กับข้อทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์อย่างไม่อาจคำนวณนับได้
สำนักพิมพ์ 14 พับลิเคชั่น สถาบันการส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม 15 มิถุนายน 2543 12 รอบิอุลเอาวัล 1421
ประวัติผู้เขียน : ซัยยิด มุรตะฏอ อัสการี
เกิดที่เมืองสมัรรออ์อันศักดิ์สิทธิ์(อิรัก) เมื่อวันที่ 8 ญะมาดิซซานี ฮ.ศ. 1332 ท่านได้รับการศึกษาในเฮาซะฮ์ (ศูนย์กลางการศึกษาศาสนาอิสลาม) และในเดือนมุฮัรรอม ฮ.ศ. 1350 ท่านได้ย้ายไปยังเมืองกุมอันศักดิ์สิทธิ์ ในประเทศอิหร่านและอยู่ที่นั่นจนถึงปี ฮ.ศ. 1353
ในเมืองกุม ท่านและมิตรสหายของท่านอีกสองท่านคือ อยาตุลลอฮ์ เชค มุรตะฎอ เฮรีและซัยยิด อะห์มัด ซัจญาดี ได้ร่วมกันศึกษาวิชานิติศาสตร์และหลักนิติบัญญัติอิสลาม จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ประสาทวิชาการศาสนาที่ยิ่งใหญ่ อาทิเช่น อยาตุลลอฮ์ ซัยยิด ชิฮาบุดดีน มัรอะชี นะญะฟี (รอ.) และอยาตุลลอฮ์ เชค มุฮัมมัด ฮูเซน ชารีอัต มะดารี เป็นต้น อัลลามะฮ์ซัยยิดมุรตะฏอ อัสการี ยังได้เคยเข้าศึกษาในชั้นเรียนเกี่ยวกับวิชาปรัชญาของอิมามโคมัยนี(รอ.) อยู่หลายครั้งเช่นกัน หลักสูตรการอรรถาธิบายอัล กุรอาน กับเชค มิรซา คอลีล คัมรี และวิชารหัสยศาสตร์กับอยาตุลลอฮ์ เชคมะฮ์ดี ชาฮิดี (ผู้บริหารสถานศึกษาริดวี) เป็นที่น่าสังเกตว่าอยาตุลลอฮ์ เชคมะฮ์ดี ชาฮิดี พำนักอยู่ในสถานศึกษาริดวีเป็นเวลาสองปี จากนั้นท่านเดินทางไปยังเฮาซะฮ์ซะฮ์ฟัยซิยะฮ์ ความจริงท่านได้แสดงบทบาทที่สำคัญในการสร้างบุคลิกภาพของ อัลลามะฮ์ อัสการี และเป็นที่ปรึกษาที่แท้จริงของท่าน
บุรุษแห่งความรู้และการปฏิวัติ นับตั้งแต่ท่านมีอายุ 15 ปี อัลลามะฮ์ อัสการีได้แสดงความสนใจอย่างแรงกล้าในวิชาประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยวไปในโลกของการสำรวจตรวจสอบ เนื่องแต่ผลลัพธ์แห่งความพยายามของท่าน ท่านได้เพิ่มพูนความรู้ในขอบข่ายนี้ ซึ่งมากกว่าความรู้ระดับขั้นธรรมดาในหมู่เพื่อนร่วมชั้นเรียนของท่าน ภายหลังการศึกษางานเขียนของลูกศิษย์อยาตุลลอฮ์ชิราซี เกี่ยวกับกฎหมายยาสูบ และข้อมูลที่ชาวตะวันตกเขียนเกี่ยวกับประเทศมุสลิมในบันทึกของพวกเขา ท่านสามารถวิเคราะห์วันที่นักล่าอาณานิคมเริ่มบุกรุกประเทศมุสลิมได้ ด้วยความสามารถพิเศษและความมีสติปัญญาของท่าน ทำให้ท่านประจักษ์ถึงเป้าหมายที่ชั่วร้ายของนักล่าอาณานิคม ที่จะแพร่กระจายการครอบงำทางสติปัญญาและวัฒนธรรมไปทั่วทั้งโลกอิสลาม และเปิดเผยหลักฐานของพวกเขา การรุกรานทางสติปัญญาไม่ได้สิ้นสุดยุติลง ด้วยจุดจบที่การยึดครองโดยตรงของนักล่าอาณานิคมเหนือประเทศมุสลิม แต่มันยังคงดำเนินต่อไปอย่างลับๆ ท่านยังค้นพบเกี่ยวกับความพยายามอย่างจงใจที่เป็นอันตราย ในการผสมผสานความคิดและทัศนคติอิสลามที่บริสุทธิ์กับความคิดตะวันตกสมัยใหม่ ตลอดจนผลที่จะติดตามมาภายหลัง ในการผันแปรข้อมูลที่เป็นจริงของอิสลามในหัวใจของผู้คนยุคอนาคตอีกด้วย
อัลลามะฮ์ อัสการี อยู่ในหมู่นักวิชาการอิสลามคนแรกๆ ของอิรักที่ตรวจพบเหตุผลที่แท้จริงของหลักสูตรการศึกษาที่ตระเตรียมโดยที่ปรึกษาชาวตะวันตกในโรงเรียนรัฐบาล สำหรับเยาวชนในประเทศมุสลิม หลังจากการศึกษาตรวจสอบอย่างระมัดระวัง ท่านได้อธิบายถึงความแตกต่างอย่างมากมาย ระหว่างหลักสูตรของประเทศต่างๆ อย่างเช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฯลฯ กับหลักสูตรการศึกษาของประเทศที่เคยถูกยึดครอง และการอรรถาธิบายตำราเรียนประกอบการศึกษาของพวกเขา
จากความแตกต่างเหล่านี้ ท่านพบว่าเหตุผลหลักประการหนึ่งของการถดถอยของประเทศมุสลิม อยู่ที่หลักสูตรและแนวความคิดทางการศึกษาเหล่านี้ นั่นคือ เหตุผลที่ท่านขนานนามโรงเรียนของเราว่า “โรงงานจัดเตรียมลูกจ้างในอนาคต” เพราะโรงเรียนต่างๆ ในเวลานั้นได้ผลิตเสมียนประจำสำนักงาน ซึ่งจะกระทำทุกอย่างเพื่อให้คำสั่งของมหาอำนาจเป็นผลสำเร็จ และปฏิบัติงานในสังคมเป็นขั้นเป็นตอน โดยปราศจากการโต้แย้งหรือปฏิกิริยาใดๆ
อัลลามะฮ์ อัสการี ยังได้ค้นพบการขาดความสัมพันธ์ระหว่างเฮาซะฮ์และมหาวิทยาลัยสมัยใหม่ อันเป็นเสาหลักทั้งสองที่สำคัญอย่างยิ่งนี้ของสังคมอิสลาม เฮาซะฮ์แยกตัวออกไปและหมกมุ่นอยู่กับการฝึกฝนนักเรียนเพื่อให้กลายเป็นผู้ทรงสิทธิ์ในความรู้และผู้ประสาทวิชาการในอนาคตของเฮาซะฮ์เพียงเท่านั้น มหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกันมีความโอนเอียงไปทางตะวันตก และเป็นคนแปลกหน้าในสังคมอิสลาม
เพราะฉะนั้น จึงมีความต้องการต่อการเคลื่อนไหวในอันที่จะปัดเป่าความเฉื่อยชา และกำจัดการแยกตัวออกไปและความอ่อนแอ อัลลามะฮ์ อัสการี เริ่มการเคลื่อนไหว ในช่วงที่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองกำลังเป็นอันตรายต่อประเทศและประชาชนอิรัก กิจกรรมแรกของท่านคือ การตระเตรียมการประชุม เพื่อให้ความรู้และให้การศึกษาแก่ประชาชน ในขณะเดียวกัน ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนเพื่อให้การศึกษาแก่เยาวชนและวางสารัตถะทางแนวความคิดสำหรับพวกเขาด้วยตัวท่านเอง จากนั้นท่านได้แนะนำโรงเรียนนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของแผนหลัก ในโรงเรียนนี้ นักวิชาการหลายคนอย่างเช่น เชคมิรซา นัจมุดดีน ชารีฟ อัสการี เชคฮาซัน กุเมลี ซัยยิดญะอ์ฟัร ชะฮ์ริสตานี และเชคมะฮ์ดี ฮากีม ร่วมสอนอยู่ด้วย เช่นเดียวกับนักปฏิรูปคนอื่นๆในศตวรรษที่ผ่านๆมา ในขณะที่ก่อตั้งและวางแผนงาน อัลลามะฮ์ อัสการีก็เผชิญกับการต่อต้านขัดขวางจากฝ่ายตรงข้ามที่อวิชชาและมีความคิดล้าสมัย ดังนั้นท่านจึงเห็นว่า ควรเขียนหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันตก และการรุกรานทางสติปัญญาในประเทศมุสลิม และวางโครงการต่างๆมากมายเพื่อเผชิญหน้ากับการรุกรานนี้ แผนงานบางอย่างเหล่านี้ คือ
ก) จัดตั้งโรงเรียนสมัยใหม่ เพื่อให้การศึกษาแก่คนรุ่นใหม่และให้การแนะนำพวกเขาสู่วัฒนธรรมและการศึกษาแบบอิสลาม
ข) จัดตั้งโรงเรียนที่ผลิตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในศาสนาอิสลาม ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้ของพวกเขาไปสู่สังคม
ค) จัดพิมพ์หนังสือและวารสารเกี่ยวกับอิสลาม
จากนั้นไม่นานท่านได้กลับไปยังอิรักและจัดตั้งโรงเรียน “มุนตะดา อัลนัชร์” ขึ้นที่กาซิมัยน์ร่วมกับ ดร. อะห์มัด อามีน เพื่อสอนวิชาการศาสนาและฝึกฝนวิชาการอย่างเป็นเอกเทศ ภายหลังจากเสร็จสิ้นแผนงานขั้นที่สองของโรงเรียนแล้ว อัลลามะฮ์ อัสการี ได้เริ่มชีวิตทางศาสนาระยะที่สองของท่าน ท่านกลับไปยังสะมัรรอฮ์ และใช้เวลาสองปีเพื่อศึกษาและได้รับความรู้ทางนิติศาสตร์อิสลาม อย่างเป็นการเฉพาะจากศาสนาจารย์ของท่าน คือ อยาตุลลอฮ์ อิชติฮารดี ขณะเดียวกันท่านได้เขียนและแก้ไขหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประวัติแนวความคิดอิสลาม ท่านแบ่งการสืบค้นของท่านออกเป็นหลายส่วน ประกอบด้วยระยะที่แตกต่างกันของการก่อรูปแบบแนวความคิดอิสลาม จากจุดเริ่มต้นระยะแรกๆของการปรากฏขึ้นของอิสลาม จนกระทั่งจบสมัยการปกครองของราชวงศ์อับบาสิยะฮ์
อุปสรรคสำคัญของความก้าวหน้าในการวิจัยของท่านคือ วจนะ(ฮะดิษ) จำนวนมากที่ได้รับการยอมรับโดยมุสลิมส่วนใหญ่ ขาดความน่าเชื่อถือหลังจากศึกษาในรายละเอียด ตัวอย่างเช่น วจนะที่รายงานโดยอุมมุลมุอ์มินีน (อาอิชะฮ์) อบูฮุรอยเราะฮ์ อิบนิอับบาส อนัส บินมาลิก และคนอื่นๆ ผลลัพธ์ของการวิจัยและศึกษานี้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่ง หลังจากอัลลามะฮ์ อัสการี ได้พบข้อผิดพลาดที่ไม่อาจโต้แย้งได้ในรายงานเหล่านี้ รายงานเกือบทั้งหมดที่ไร้หลักฐานคือฮะดิษของ “อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์” และ “ซอฮาบะฮ์ที่ถูกอุปโลกน์ขึ้นหนึ่งร้อยห้าสิบคน” ตามผลลัพธ์ของการสืบค้นวิจัยที่สำคัญนี้ ทำให้ข้อเท็จจริงอันเป็นที่รู้กันบางส่วน ซึ่งได้รับการยอมรับโดยประชาชนตลอดหลายศตวรรษ ได้สูญเสียความน่าเชื่อถือของมันลงไป และรากฐานข้อเขียนและการรายงานของฏอบารี และนักประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่คนอื่นๆ ไม่ได้รับการสนับสนุน หนังสือเล่มแรกของอัลลามะฮ์ อัสการี ที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับการวิจัยสืบค้นเหล่านี้ ในปี ฮ.ศ. 1375 คือ “อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์” และ “ร่วมมือกับ ด็อกเตอร์ อัล วัรดี”
ถึงแม้ว่า อัลลามะฮ์ อัสการี จะใช้เวลาเกือบทั้งหมดของท่านทำการศึกษาและเขียนหนังสือ ท่านก็ไม่เคยละทิ้งกิจกรรมทางศาสนาและสังคมของท่าน เพียงเวลาสั้นๆหลังจากนั้น ท่านตัดสินใจที่จะดำเนินกิจกรรมของท่านอย่างมั่นใจ และจัดตั้งโรงเรียนศาสนาและเฮาซะฮ์ที่พิเศษหลายแห่ง แต่แผนงานที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของอัลลามะฮ์ อัสการี คือ การจัดตั้งโรงเรียนศาสนาในแบกแดดในปี ฮ.ศ. 1384 เพื่อเปิดมหาวิทยาลัยอิสลามที่กว้างใหญ่ขึ้น ด้วยความชำนาญในขอบข่ายวิชาการทั้งหมด
หลังจากการปรากฏขึ้นของพรรคบาธ ซึ่งเป็นผู้ปฏิเสธและปกครองเหนือกิจการอิรัก อัลลามะฮ์ อัสการี ภายใต้การนำของ อยาตุลลอฮ์ ฮากีม(รอ.) และแนวร่วมอื่นๆ ได้แสดงการต่อต้านการปกครองของพรรคบาธ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ พรรคบาธได้ออกคำสั่งจับกุม อัลลามะฮ์ อัสการี และท่านต้องออกจากอิรักในปี ฮ.ศ. 1389 และเดินทางไปเลบานอน พร้อมด้วยผู้นำศาสนาคนสำคัญอื่นๆ ภายหลังเมื่อท่านพบว่าพรรคบาธต้องการจับกุมและลักพาตัวท่าน อัลลามะฮ์ อัสการี จึงตัดสินใจเดินทางมายังอิหร่าน
ปัจจุบันนี้ อัลลามะฮ์ อัสการี ได้อุทิศเวลาเกือบทั้งหมดของท่าน ให้กับการจัดการเกี่ยวกับการจัดพิมพ์หนังสืออันมีค่า ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างขวางของท่านจำนวนมากกว่า 53 เรื่อง โดยไม่คำนึงถึงวัยอันชราภาพของท่าน เพื่อให้หนังสือเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการปกป้องอิสลาม และทำให้ธงชัยอันสูงส่งของอิสลามโบกสะบัดไหวอยู่เหนือประเทศมุสลิมทั้งมวล
คำวิจารณ์โดย ดร. ฮามิด ฮัฟนี ดาวูด ศาสตราจารย์ภาษาอาหรับ มหาวิทยาลัยไคโร
สัจธรรมเบื้องหลังเรื่องอุปโลกน์
อิสลามได้รับการเฉลิมฉลองวันเกิดครบ 1300 ปีไปแล้ว ระหว่างเวลานี้นักเขียนผู้รู้บางส่วนของเราได้ใส่ไคล้ชีอะฮ์ว่า ไม่มีทัศนะแบบอิสลาม นักเขียนเหล่านั้นได้แผ่อิทธิพลความเห็นของตนต่อส่วนรวมต่อต้านชีอะฮ์และสร้างช่องว่างความแตกต่างระหว่างพี่น้องมุสลิม นอกจากผู้มีวิทยปัญญาและการศึกษาแล้ว บรรดาศัตรูของชีอะฮ์ได้ดำเนินตามความเชื่อที่นักเขียนเหล่านั้นคิดขึ้นเอง และปกปิดสัจธรรมความจริงบางส่วนและใส่ไคล้ชีอะฮ์ว่าเป็นพวกที่มีความเชื่อผิดๆ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้วิชาการอิสลามได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะทัศนะของชีอะฮ์ถูกปิดบังอำพราง
ตามผลลัพธ์ของการใส่ไคล้เหล่านี้ ความเสียหายของวิชาการอิสลาม มีมากกว่าความเสียหายที่ชีอะฮ์เองได้รับเสียอีก เพราะแหล่งของนิติศาสตร์ แนวความคิดที่มีค่าและทรงคุณประโยชน์ของแนวทางนี้ได้ถูกทอดทิ้ง เป็นผลให้ความรู้ถูกจำกัด
ในอดีตผู้รู้ของเราได้สร้างความเสียหายไว้ มิเช่นนั้นแล้วเราจะได้รับประโยชน์จากทัศนะจำนวนมากของชีอะฮ์ ใครก็ตามที่ต้องการทำงานวิจัยเกี่ยวกับนิติศาสตร์อิสลาม จะต้องถือว่าชีอะฮ์เป็นแหล่งข้อมูลเช่นเดียวกับของซุนนี
ไม่ใช่ อิมามญะอ์ฟัร อัซ ซอดิก (เสียชีวิต ฮ.ศ. 148) ผู้นำของชีอะฮ์ดอกหรือที่เป็นครูของอิมามซุนนีสองท่าน? คือ อบูฮะนีฟะฮ์ อัล นุอ์มาน บิน ซาบิต (เสียชีวิต ฮ.ศ. 150) และอบูอับดุลลอฮ์ มาลิก บิน อนัส (เสียชีวิต ฮ.ศ. 179) อบูฮะนีฟะฮ์กล่าวว่า “หากไม่มีสองปีนั้น นุอ์มานจะต้องพินาศแน่นอน” หมายถึงสองปีที่เขาได้รับประโยชน์จากความรู้ของอิมามญะอ์ฟัร อัซ ซอดิก
มาลิก ก็เช่นกันได้สารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่า “เขาไม่เคยพบเห็นใครมีความรู้ในนิติศาสตร์อิสลามมากกว่า อิมามญะอ์ฟัร อัซ ซอดิก(อ.)” โชคไม่ดีที่ผู้ที่เรียกกันว่า ผู้รู้ ไม่ถือกฏเกณฑ์สำหรับการวิจัยเหมาะสมต่อวัตถุประสงค์ของพวกเขา เนื่องจากความรู้ไม่ถูกเปิดเผยแก่พวกเขาทั้งหมด และพวกเขาได้สร้างช่องว่างที่กว้างใหญ่ระหว่างมุสลิมขึ้น อะห์มัด อามีนเป็นผู้หนึ่งที่ได้คร่าเอาแสงสว่างของความรู้ไป เหลือไว้เพียงความมืดมิด แต่กระนั้นเทียนของชีอะฮ์ก็ยังคงส่องสว่างอยู่เสมอและไม่มีแสงอื่นๆอีกแล้ว
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกรอยเปื้อนนี้บนเสื้อคลุมของอะห์มัด อามีน และพรรคพวกของเขา ซึ่งดำเนินรอยตามแนวทาง (มัศฮับ) หนึ่งโดยเฉพาะอย่างมืดบอด ในความผิดพลาดจำนวนมากที่เขาได้สร้างขึ้นที่ฉกรรจ์ที่สุดคือการเล่าเรื่องราวของ “อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์” นี่เป็นเรื่องโกหกที่เล่าเพื่อใส่ความชีอะฮ์ว่า เป็นพวกนอกรีตและเป็นเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว
ในหนังสือเล่มนี้ของนักค้นคว้าวิจัยที่ยิ่งใหญ่ในยุคปัจจุบัน ท่านซัยยิด มุรตะฎอ อัสการี ที่น่านับถือ ได้พิสูจน์ด้วยหัวข้อใหญ่ใจความที่ชัดเจนว่า “อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์” เป็นการอุปโลกน์ เพราะฉะนั้นจึงเป็นการโกหกที่ยิ่งใหญ่ที่จะกล่าวว่าเขาเป็นผู้ก่อตั้งแนวทางชีอะฮ์ ซัยยิด มุรตะฎอ อัสการี มีความเกี่ยวพันอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องประวัติศาสตร์ และได้พิสูจน์จากแหล่งข้อมูลซุนนีว่าศัตรูของชีอะฮ์เป็นผู้ผิดพลาด จากยุคสมัยแรกของอิสลามจนกระทั่งปัจจุบัน เรื่องราวที่เหมือนกันเกี่ยวกับ “อับดุลลอฮ์ อิบนะ สะบาอ์” ซึ่งเล่าโดยซัยฟ์ อิบนิ อุมัร ได้รับการเชื่อถือเหมือนกับมาจากแหล่งข้อมูลที่เป็นจริง แต่ในหนังสือเล่มนี้มีการศึกษาวิจัยที่กว้างขวางเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อให้ง่ายต่อการแสวงหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องทั้งหมด
พระเจ้าทรงบัญชาว่าผู้รู้บางคนจะเปิดเผยความจริง โดยไม่คำนึงถึงการกล่าวร้ายที่พวกเขาอาจจะได้รับ ผู้บุกเบิกในขอบข่ายนี้คือ ท่านผู้เขียนที่น่านับถือของหนังสือเล่มนี้ ผู้ที่ทำให้ผู้รู้ซุนนีที่ศึกษาวิจัย ต้องพิจารณาแก้ไขหนังสือประวัติศาสตร์ของฏอบารี (ประวัติศาสตร์ของประชาชาติและกษัตริย์) รวมทั้งเลือกเฟ้นเรื่องราวที่เชื่อถือได้ออกจากเรื่องราวที่ผิดพลาด เรื่องราวที่ยังคงไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขมานานหลายศตวรรษเสมือนเป็นวิวรณ์ของพระเจ้า
ท่านผู้เขียนอันทรงเกียรติ ได้ปลดเปลื้องม่าน หรือสิ่งเคลือบคลุมออกจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์เหล่านั้น ด้วยหลักฐานอย่างมากมาย และเปิดเผยความจริงในวิถีทางที่ดีที่สุด ในขอบข่ายที่ความจริงบางประการดูประหนึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจ แน่นอนบางเรื่องราวปรากฏออกมาว่า ขาดความน่าเชื่อถือ โดยที่เรื่องราวเหล่านี้ขัดแย้งกับความเชื่อในช่วงชีวิต และมรดกทางศาสนาในศตวรรษก่อนๆของเรา แต่เราต้องยอมรับสัจธรรมความจริง ไม่ว่ามันจะปรากฏขึ้นอย่างยากเย็นแสนเข็ญสักเพียงใด “สัจธรรมคือสิ่งที่ดีที่สุดที่จะดำเนินตาม”
เพื่อที่จะรู้เกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมด บุคคลผู้หนึ่งต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ และพินิจพิเคราะห์เหตุการณ์ที่มีความเห็นแตกต่าง อาทิเช่น “กองทัพของอุซามะฮ์” “การสิ้นชีวิตของท่านศาสดา” “เรื่องราวที่สะกีฟะฮ์” เรื่องราวทั้งหมดได้รับการตรวจสอบจากผู้เขียน
เมื่อท่านศาสนทูตของพระเจ้าใกล้สิ้นชีวิต มีคนบางคนผละออกจากกองทัพของอุซามะฮ์โดยปราศจากการอนุญาต และเดินทางกลับนครมะดีนะฮ์ ด้วยความหวังว่าจะได้รับตำแหน่งที่ได้รับสิทธิพิเศษ ผู้เขียนได้แนะนำบุคคลเหล่านี้แก่เรา เมื่อใกล้สิ้นชีวิตท่านศาสดาต้องการเขียนคำสั่งเสีย แต่มีคนบางคนเมินเฉยต่อความต้องการนี้ และเรียกมันว่าเป็นอาการเพ้อของคนใกล้สิ้นชีวิต บางทีพวกเขาอาจหวั่นเกรงความเป็นไปได้ต่อการแนะนำอิมามอะลีในฐานะผู้สืบทอดของท่าน
ผู้เขียนได้เปิดเผยความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์เหล่านี้ อุมัรมีอะไรอยู่ในหัวใจของเขา ในการปฏิเสธการสิ้นชีวิตของท่านศาสดา ? ทำไมเขาจึงคุกคามจะสังหารบรรดาผู้ที่แพร่กระจายข่าวการสิ้นชีวิตของท่านศาสดา ? ระหว่างเวลาที่ท่านอิมามอะลี ญาติของท่านศาสดา อับบาสลุงของท่านและผู้อาวุโสหลายคน กำลังอาบน้ำให้ร่างของท่านศาสดาอยู่นั้น อุมัร และอบูอุบัยดะฮ์รีบเร่งไปยังสะกีฟะฮ์ (ห้องที่หลังคาเป็นเพิง) และเรียกร้องให้ประชาชนให้สัตยาบันแสดงความภักดีต่อ อบูบักร กระนั้นหากพวกเขารอจนกระทั่งการฝังร่างของท่านศาสดาเสร็จเรียบร้อย อะลีก็เป็นผู้ที่น่าจะได้รับตำแหน่งผู้สืบทอดของท่านศาสดาเพียงผู้เดียว และบนีฮาชิมก็รู้ว่าไม่มีใครเลยแม้สักคนเดียว
ผู้เขียน ได้เลือกเฟ้นความจริงออกมาจากความผิดพลาด สิ่งที่ดีออกจากสิ่งที่เสียหาย ในสามหัวข้อที่กล่าวมาแล้ว จนกระทั่งท่านสามารถเข้าถึงความจริงที่ชัดแจ้ง และเป็นเพราะการศึกษาวิจัยของท่าน ประตูของความเข้าใจผิดและการหลอกหลวงได้ถูกปิดไปตลอดกาลสำหรับผู้วางแผนทั้งหลาย เนื้อหาอื่นๆในหนังสือเล่มนี้ เผยให้เห็นถึงสัจธรรมอย่างชัดเจนยิ่งว่า ในอนาคตอันใกล้การปฏิรูปอย่างกว้างขวางในประวัติศาสตร์อิสลามจะเกิดขึ้น
ข้าพเจ้าขอเสนอคำถามสามข้อแก่ท่านผู้อ่านก่อนจบข้อวิจารณ์ของข้าพเจ้า สาวกผู้ใกล้ชิดของท่านศาสดาสามารถทำความผิดได้หรือไม่ ? เราสามารถวิจารณ์ผลงานของเขาได้หรือไม่ ? เราสามารถกล่าวว่า สาวกที่น่าเคารพของท่านศาสดาเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอกหรือไร้ศรัทธาได้หรือไม่ ?
คำตอบของสองข้อแรกเป็นบวก แต่คำตอบข้อสุดท้ายเป็นลบ ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้ามีใจอคติ และกล่าวบางสิ่งบางอย่างค้านต่อตรรกะ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ข้าพเจ้ามีเหตุผลที่ชอบและสมเหตุสมผล สำหรับการปฏิเสธและความกลับกลอกนั้นมาจากหัวใจ และไม่มีใครนอกจากอัลลอฮ์ที่รู้รายละเอียดในหัวใจของเรา และความลับของผู้คน ข้าพเจ้ายินดีที่จะให้การยกย่องอย่างมากมายแก่หนังสือเล่มนี้และแก่ซัยยิดมุร ตะฎอ อัสการี ผู้เขียนที่ทรงเกียรติ ซึ่งเป็นนักศึกษาวิจัยผู้ทรงความรู้ ข้าพเจ้ายังขอแสดงความยินดีต่อคุณมุรตะฎอ ริดวี กิชมิรี (ผู้จัดพิมพ์) ซึ่งผลิตหนังสือนี้ออกมาในรูปแบบที่น่าประทับใจ ท่านได้บรรลุภาระหน้าที่ของท่านแล้วในการรับใช้อิสลาม ความรับผิดชอบนี้นำไปสู่ความมีน้ำหนักอย่างมากมายในการกลับคืนมาของประวัติศาสตร์อิสลามที่แท้จริง ดร. ฮามิด ฮัฟนี ดาวูด 12 ตุลาคม ค.ศ. 1961 ไคโร อียิปต์
คำวิจารณ์โดย เชค มะฮ์มูด อบู รอยยะฮ์
เชค อบูรอยยะฮ์ นักวิชาการคนหนึ่งของอียิปต์ได้ส่งจดหมายต่อไปนี้ไปยัง อัลลามะฮ์ มุรตะฎอ อัสการี และถามถึงหนังสือ อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์
ศาสตราจารย์เชค มุรตะฎอ อัสการี นะญัฟ อิรัก
ขอความสันติและความเมตตาจาก อัลลอฮ์(ซบ.)จงมีแด่ท่าน
เมื่อเร็วๆนี้มีการอภิปรายถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการมุสลิม ด้วยหัวข้อที่หลากหลาย รวมทั้งข้อเขียนที่มีประโยชน์ของนักวิชาการ และนักเขียนซึ่งเป็นที่สนใจของบรรดามุสลิม ผู้แทนคนหนึ่งได้กล่าวถึงหนังสือที่มีคุณค่าชื่อ “อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์” ซึ่งท่านเป็นผู้เขียนและในหนังสือดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกที่ท่านได้พูดอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับแนวความคิดที่เป็นนิยาย ซึ่งเป็นเหตุให้ข้าพเจ้ามีความสนใจที่จะศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้นเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ และหวังว่าคงได้รับต้นฉบับโดยตรงจากท่าน ข้าพเจ้าจะเป็นหนี้ต่อท่านอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าท่านสามารถส่งต้นฉบับมายังข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจมาล่วงหน้า ขอความสันติและความเมตตาจากอัลลอฮ์(ซบ.) จงมีแด่ท่าน มะฮ์มูด อบู รอยยะฮ์ อียิปต์ อัล กอบิเราะฮ์ 20 รอญับ ฮ.ศ. 1380 11 มิถุนายน ค.ศ. 1960
หลังจากเขาได้รับ และศึกษาหนังสือตามจดหมายที่ส่งให้อยาตุลลอฮ์อัสการี และรับรองข้อมูลของหนังสือดังนี้
ศาสตราจารย์มุรตะฎอ อัสการี ที่รัก ความสันติและความเมตตาจากอัลลอฮ์(ซบ.) และความโปรดปรานของพระองค์จงมีแด่ท่าน
ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้กล่าวคำพูดสักเล็กน้อยเกี่ยวกับหนังสือของท่านชื่อ “อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์” ข้าพเจ้าได้อ่านหนังสือนี้ครั้งหนึ่งจบแล้ว และตั้งใจว่าจะอ่านซ้ำอีกครั้งในเร็ววัน
ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า ท่านได้ใช้วิธีการเริ่มต้นแนวใหม่และเป็นวิชาการเกี่ยวกับหัวข้อในการศึกษาวิจัยนี้ และการอภิปรายถกเถียงของท่าน ซึ่งไม่เคยมีผู้ใดเลยที่ใช้มาก่อนหน้านี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดีด้วยความจริงใจและอย่างแท้จริงต่อท่าน ที่อัลลอฮ์(ซบ.)ทรงจัดเตรียมโอกาสให้ท่านในการสืบค้นการอภิปรายถกเถียงนี้ และนำทางไปสู่การเปิดเผยความจริงที่ไม่มีใครเคยพูดมาก่อนตลอด 14 ศตวรรษที่ผ่านมา
การค้นพบในการศึกษาวิจัยของท่านรับรองการยืนยันของเวลส์นักวิชาการตะวันตก ที่กล่าวว่า “ประวัติศาสตร์คือความต่อเนื่องของการโกหกอย่างสมบูรณ์” โชคไม่ดีที่เข้ากันพอดีกับประวัติศาสตร์อิสลามที่เขียนโดยอคติและโอนเอียงไปตามความต้องการของยุคสมัยที่แตกต่างกัน นี่เป็นความจริงต่อขอบข่ายที่ว่า บัดนี้ทำให้เกิดความจำเป็นที่จะเริ่มการศึกษาประวัติศาสตร์อย่างจริงจังและลึกซึ้ง
อันที่จริง หนังสือ “อับดุลลอฮ์ อิบนิ สะบาอ์” ของท่านคือ จุดเริ่มต้นสำหรับความพยายามในการศึกษาวิจัยดังกล่าว มวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮ์(ซบ.)ที่ท่านมีโอกาสเช่นนี้ และข้าพเจ้าขอวิงวอนต่ออัลลอฮ์(ซบ.)ให้ประทานความมั่นคง และการผูกมัดที่จะดำเนินไปบนแนวทางนี้โดยปราศจากความหวาดกลัว เพื่อนำเสนอความจริง โดยไม่มีการสงวนไว้ และทรงนำทางท่านเพื่อใช้ข้อผูกมัดและความลึกซึ้งในการอภิปรายถกเถียงของท่าน และขอแนะนำให้ผู้อ่านหนังสือของท่านกระทำอย่างเดียวกัน ในการทำความเข้าใจประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับอบูบักรและอุมัร โดยเหตุที่เราไม่สามารถอดรนทนอยู่ได้ เมื่อได้เห็นความจริงอันแจ่มแจ้งของมันแล้ว
ในที่สุดนี้ ขอให้ข้าพเจ้าได้มอบการแสดงความยินดีที่จริงใจที่สุดต่อท่าน ความสันติและความเมตตาจากอัลลอฮ์(ซบ.)จงมีแด่ท่าน
ด้วยความจริงใจ มะฮ์มูด อบู รอยยะฮ์ อียิปต์ อัล กอฮิเราะฮ์