อรรถาธิบายนมาซ

เรื่องเล่า
ท่านบะหฺลูล ได้เห็นคนกลุ่มหนึ่ง กำลังก่อสร้างมัสญิด และพวกเขาพูดว่า “เราได้ทำเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” เมื่อท่านบะหฺลูลเห็นดังนั้นจึงได้เดินเข้าไปและเขียนจารึกว่า “ผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง คือ บะหฺลูล" หลังจากนั้นได้นำไปติดไว้ที่ประตูทางเข้า เมื่อข่าวรู้ไปถึงฮารูนรอซีด เขาจึงได้สั่งให้บะหฺลูลเข้าพบเป็นการด่วนและถามว่า “ทำไมจึงเขียนว่า ท่านคือผู้อุปถัมภ์การก่อสร้าง ทั้ง ๆ ที่ทุกคนก็รู้ดีว่าใครคือผู้อุปถัมภ์”

ท่านบะหฺลูลได้ตอบว่า ถ้าท่านทำเพื่ออัลลอฮฺจริง จะแปลกอะไรกับการที่จะเขียนชื่อใครลงไป เพราะอย่างไรเสียอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทราบดี และทรงตอบแทนผลรางวัลให้อย่างไม่ผิดตัว ท่านบะหฺลูลต้องการบอกกับฮะรูนรอซีดว่า แท้จริงแล้ว การงานของเขามิได้มีเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) เขาต้องการสร้างชื่อเสียงเพื่อให้คนอื่นชื่นชม อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงอุปมาการงานของพวกมุนาฟิกีนว่าเป็นเพียงภาพลวงตา อัล-กุรอานกล่าวว่า “และบรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย ผลงานของพวกเขาเปรียบประดุจดังภาพลวงตา ที่ปรากฏ ณ ทุ่งกว้าง โดยผู้กระหายคิดว่าเป็นน้ำ” (ซูเราะฮฺอันนูร :๓๙)

เรื่องเล่า
ครั้งหนึ่งที่ข้าพเจ้านั่งอยู่บนเครื่องบิน และเครื่องบินได้เตรียมพร้อมที่จะบิน ทันใดนั้นกัปตันได้ประกาศว่า ขอให้ผู้โดยสารทุกท่านลงจากเครื่องบินก่อน เที่ยวบินนี้ จะทำการบินล่าช้าไปกว่าเดิม ข้าพเจ้าได้ถามว่า เป็นเพราะอะไรหรือ ทำไมจึงบินล่าช้าออกไป ได้รับคำตอบว่า ในเครื่องมีแมลงสาบตัวหนึ่ง ข้าพเจ้าพูดด้วยความประหลาดใจว่า แค่แมลงสาบตัวเดียวนี่นะ ถึงกับต้องเลื่อนเที่ยวบินเชียวหรือ พนักงานตอบว่าา ใช่ครับ เพราะเจ้าแมลงสาบตัวนี้อาจจะไปกัดกินสายไฟเส้นใดเส้นหนึ่งให้ขาดได้ และเป็นเหตุให้ระบบควบคุมต้องสูญเสีย ถึงตอนนั้นพวกเราคงได้พบกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างแน่นอน

คุณงามความดีมากมายเท่าใดแล้วที่ควรจะส่งเสริมให้มนุษย์โบยบินสู่พระองค์ แต่เมื่อจิตใจเกิดจุดบอดแห่งราคะ นอกจากเขาจะไม่สามารถโบยบินต่อไปได้ ทว่าจะทำให้เขาร่วงลงสู่เหวลึกอีกด้วย

การตั้งเจตนาก่อนทำย่อมเพิ่มพูนคุณค่า
สมมติว่ามีคน ๆหนึ่งฆ่าคนตายโดยเจตนาประทุษร้าย ต่อมาทราบว่า คนที่ถูกฆ่าเป็นคนร้ายต้องโทษประหารเช่นกัน ในกรณีนี้ แม้ว่าการกระทำของฆาตรกรจะมีประโยชน์ต่อสังคม ทว่าประชาชนจะไม่สรรเสริญฆาตรกรอย่างแน่นอน เพราะว่าเบื้องแรกเขามีเจตนาฆ่าคนดี มิได้มีเจตนาฆ่าคนชั่วบนหน้าแผ่นดิน

ดังนั้นประโยชน์ของการกระทำเพียงอย่างเดียวถือว่า ไม่เพียงพอที่จะทำให้งานนั้นกลายเป็นงานที่ดีได้ (อมั้ลศอลิหฺ) ทว่าจะต้องมีเนียตและมีเจตนาที่บริสุทธิ์ด้วย

อัล-กุรอานพยายามเน้นให้เห็นว่า ภารกิจทุกอย่างต้องมีเจตนาเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด (กุรบะตัน)
ไม่ว่าจะเป็นการจ่าย คุมสฺ หรือซะกาตหรือการบริจาคทรัพย์สินส่วนอื่น ตลอดจนการทำสงครามเพื่อปกป้องศาสนา ดังนั้นถ้าสังเกตกุรอานจะพบว่าอัล-กุรอานได้กล่าวถึงภารกิจเหล่านี้ว่า..

“บนแนวทางของอัลลอฮฺ” (บะกอเราะฮฺ : ๑๙๐)
“บนความพึงพอพระทัยของอัลลอฮฺ” (อินซาน : ๙)
“เพื่อหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ” (บะกอเราะฮฺ : ๒๐๗)

สิงเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญของการ เนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ ฉะนั้น ใครก็ตามที่ได้อุทิศทรัพย์สินเพื่อสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล หอพักนักศึกษา มัสญิด หรือทำงานบริการด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่ไม่ได้เนียตเพื่ออัลลอฮฺ ถือว่าเขาได้กดขี่ตัวเอง เพราะอะไร เพราะว่าเขาไม่ได้รับประโยชน์อันใดเลยจากการกระทำของเขา แม้ว่าประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นก็ตาม

อัล-กุรอานได้กล่าวถึงอมั้ลศอลิหฺ (การงานที่ดี) พร้อมกับอีมานว่า “บรรดาผู้ซึ่งมีศรัทธาและปฏิบัติการงานที่ดี (อมั้ลศอลิหฺ)” หรือกล่าวว่า “ผู้ที่ปฏิบัติอมั้ลศอลิหฺทั้งบุรุษและสตรี เขาคือ มุอฺมิม (ผู้ศรัทธา)”

สรุปได้ว่า การงานที่ดีเพียงอย่างเดียวถือว่าไม่เพียงพอ ทว่า ผู้กระทำต้องดีด้วย

สองข้อเตือนใจ ๑. ท่านบิล้าล หะบะชีย์ หรือที่รู้จักกันในนามของคนอะซาน (มุอัซซิน) ของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ท่านบิล้าลจะมีลักษณะพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือ ออกเสียงตัว ชีน (ช) เป็นตัว ซีน (ส) ซึ่งประชาชนถือว่านั่นเป็นข้อบกพร่องประการหนึ่งของท่านบิล้าล ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวกับพวกเขาว่า “ซีน ของบิล้าลคือ ชีน ณ.เอกองค์อัลลอฮฺ” (มุสตัดร๊อกวะสาอิ้ล หะดีษที่ ๔๖๙๖)

แม้ว่าดูภายนอกจะพบว่ามีความบกพร่อง แต่เป็นเพราะว่า มีเนียตที่ดี เพื่อแสดงหาความใกล้ชิด และความโปรดปรานจากพระองค์ การกระทำนั้นจึงได้รับผลรางวัล

๒. อับดุลลอฮฺ อิบนฺ มักตูม เป็นหนึ่งในเศาะฮาบะฮฺของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) และเป็นคนตาบอด วันหนึ่งเขาได้เข้ามาในวงสนทนาที่ท่านศาสดากับชนอีกกลุ่มกำลังสนทนากันอยู่ แต่เนื่องด้วยเขาเป็นคนตาบอดมองไม่เห็นใคร เมื่อเดินเข้ามาจึงส่งเสียงดังกลบเสียงทั้งหมด บางคนที่นั่งอยู่ในกลุ่มได้หันไปมองด้วยความโกรธเคือง
แม้ว่าจะมิใช่เหตุการสำคัญแต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ประทานอัล-กุรอานลงมาเตือนว่า
“เขามีสีหน้าที่บึ้งตึงและผินหลังให้ เมื่อชายตาบอดได้เข้ามาหา และเจ้ารู้ไหมบางที่เขาอาจเป็นผู้ปลดเปลื้องมลทิน” (๘๐ / ๑-๓)

ฉะนั้น จะเห็นว่า รูปแบบของการกระทำ มิได้ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วจะมีประโยชน์หรือว่าเป็นอันตราย หมายถึงถ้ามีประโยชน์กับคนอื่น ถือว่าเป็นอมั้ลศอลิหฺ และถ้าเป็นอันตรายไม่ถือว่าเป็นอมั้ลศอลิหฺ ทว่า เขาต้องพิจารณาที่ตัวเองด้วยว่า เขามีจุดประสงค์อะไรในการกระทำ และการงานที่ไม่ให้คุณหรือให้โทษกับคนอื่นเป็นอย่างไร

แบบฉบับของบรรดาศาสดา (อ.) ถือว่า จริยธรรมนั้นมีคุณค่าในตัวของมันเอง มิใช่ว่าได้รับการตีค่าจากสิ่งอื่น ตรงข้ามกับหลักจริยธรรมในมุมมองวัตถุนิยมที่เชื่อว่าจริยธรรมมีไว้เพื่อเพิ่มผลผลิตและดึงดูดรายได้ทางเศรษฐกิจ

ซูเราะฮฺ อะบะสะ ถูกประทานลงมาในลักษณะของการท้วงติงถึงการกระทำดังกล่าวว่า ทำไมเจ้าต้องมองคนตาบอดที่เดินเข้ามาด้วยสีหน้าบึ้งตึงด้วย และแม้ว่าคนตาบอดเขาจะไม่เห็นมารยาทของเจ้าก็ตาม แต่การแสดงมารยาทเช่นนั้นกับมุอฺมิน ถือว่าเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจ

อย่างไรก็ตาม การเนียตเพื่อพระผู้เป็นเจ้า นั้นหมายถึง ภารกิจทั้งหมดของเราที่ทำมีเป้าหมายเพื่อ อัลลอฮฺ (ซบ.) มิใช่คนอื่นหรือเพื่อสิ่งอื่น ดังนั้น การเนียตเพื่อแสดงหาความใกล้ชิด คือการกระทำทั้งหมดเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) อัล-กุรอานได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้ศรัทธาที่แท้จริงว่า “พวกเขาออกต่อสู้ดิ้นรนบนแนวทางของอัลลอฮฺและพวกเขาไม่หวั่นกลัวต่อคำตำหนิ ของผู้ตำหนิตนใด” (๕ / ๕๔)

อีกความหมายหนึ่ง ของการเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดคือ การพูดความจริงหรือพูดในสิ่งที่เป็นสัจธรรม โดยไม่เกรงกลัวผู้ใดนอกจากอัลลอฮฺ (ซบ.) พระองค์ได้ตรัสถึงบรรดาผู้ประกาศสัจธรรมของพระองค์ว่า “บรรดาผู้ประกาศสารธรรมของอัลลอฮฺ พวกเขามีความเกรงกลัวต่อพระองค์ และมิเกรงกลัวผู้ใดทั้งสิ้นนอกจากอัลลอฮฺ” (๓๓ / ๓๙)

สัญลักษณ์ของการมีเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิดคือ ความบริสุทธิ์ใจและหนึ่งในสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ใจคือ การที่เราไม่ให้ความแตกต่าง ในเรื่องของขนาดหรือจำนวนเขตพื้นที่ ประเภทของงานและเงื่อนไขของมัน เพียงแต่หวังในความพึงพอใจของพระองค์เท่านั้น ไม่คำนึงว่าประชาชนจะเข้าใจหรือไม่ จะมีผู้ให้การสนับสนุนหรือเปล่า และจะมีผลประโยชน์ตอบแทนให้หรือไม่มีก็ตาม

ผลของการมีเนียตบริสุทธิ์ อัล-กุรอานและริวายะฮฺจำนวนมากได้กล่าวถึงผลและบาระกัตของการมีเนียตบริสุทธิ์เช่น

๑. หะดีษกล่าวว่า “ใครก็ตามมีเนียตดี ริซกีของเขาจะเพิ่มพูน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๙๙)
จุดประสงค์ของหะดีษอาจหมายถึงว่า การมีเนียตดีและประพฤติดีกับคนอื่น ย่อมเป็นที่รักใคร่และเอ็นดูของคน ซึ่งจะส่งผลให้หน้าที่การงานของเราดีไปด้วย

๒. หะดีษกล่าวว่า “ การมีเนียตดีเป็นการเพิ่มพูนเตาฟีก (ความสำเร็จ) ให้กับตนเอง” (ฆุรอรุ้ลหะกัม) ขณะที่ความเมตตาของพระองค์ ขึ้นอยู่กับเนียตที่ดี ดั้งนั้น ถ้ามีเนียตที่ดีและบริสุทธิ์ มากเท่าไร ความเมตตาของพระองค์ ก็จะทวีคูณขึ้นมากเท่านั้นตามลำดับ

๓. “การมีเนียตดีจะทำให้อายุยืน” ริวายะฮฺกล่าวว่า “ หากใครได้ไปทำหัจญ์ เมื่อกลับมาจากหัจญ์ ได้เนียตว่า ฉันจะไปทำหัจญ์อีกในปีหน้า อัลลอฮฺ (ซบ.) จะเพิ่มอายุให้กับเขา เนื่องจากเขามีความหวังและเนียตที่ดี” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๗)

๔. การมีเนียตดีสิ่งที่บกพร่องจะได้รับการตอบแทน ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “ถ้าคนทำความผิดบาป ได้ทำการสารภาพผิด โดยมีเนียตที่ดี อัลลอฮฺ (ซบ.) จะอภัยและไม่เอาโทษความผิด และหากเรามีอุปสรรค์ปัญหาในภารกิจการงาน พระองค์จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น” (นะญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๑๗๘)

๕. อัลลอฮฺ (ซบ.) จะตอบแทนผลรางวัลให้กับเนียตที่ดี แม้ว่าจะยังมิได้ปฏิบัติ ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “ถ้าหากว่ามุอฺมิน ได้พูดว่า ถ้าอัลลอฮฺ (ซบ.)ประทานปัจจัยแก่ฉัน ๆ จะทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ซึ่งหากเขามีเจตนาที่จะปฏิบัติดังเจตนาจริงๆ อัลลอฮฺ (ซบ.) จะตอบแทนผลรางวัลให้กับเรา” (วะซาอิ้ลุชชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๐) ถ้าเขามีความหวังอยากจะเป็นชะฮีต และวอนขอการเป็นชะฮีตนั้นจากอัลลอฮฺ (ซบ.) พระองค์จะเพิ่มพูนตำแหน่งชะฮีตให้กับเขา มาตรว่าเขาจะตายบนเตียงนอนก็ตาม (บิฮารุ้ลวันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๒๐๑)

ด้วยเหตุนี้หากเราจะพิจารณาถึง ความเมตตาของพระองค์ จะพบว่า มันมีมากมายเป็นล้นพ้นจนไม่อาจคำนวณนับได้ แค่เรามีเนียตดีพระองค์ก็ทรงตอบแทนความดีนั้น แต่ถ้าเนียตไม่ดี เช่น ต้องการทำความผิดบาป พระองค์จะไม่เอาผิด แต่จะประวิงการลงบันทึกจนกว่าเราจะทำผิดจริง และหลังจากทำผิด ถ้าเราสำนึกตัว และยอมสารภาพผิดกับพระองค์ ๆ ทรงยกโทษความผิดนั้นให้กับเรา (วาซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๔๐)

๖. เนียตที่ดีสามารถทำให้วัตถุปัจจัยในชีวิตประจำวันเป็นตัวสร้างสรรค์ความ ในขณะเดียวกัน จริยธรรมที่ดีที่สุดเช่น การสัจญะดะฮฺหรือการร้องไห้ที่กระทำเพื่อโอ้อวด กลับดึงมนุษย์ออกห่างจากอัลลอฮฺ (ซบ.) ริวายะฮฺกล่าวว่า “ร่างกายมั่นคงด้วยจิตวิญญาณ ศาสนามั่นคงด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๘ หน้าที่ ๓๑๒)
จิตใจที่สะอาดกับเนียตที่ดี ถือเป็นอัญมณีที่มีค่าที่สุด ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) และยิ่งเนียตดีเท่าไร อัญมณีย่อมมีค่าสูงไปตามลำดับ (ฆุรอรุ้ลหิกัม)

เนียต การตัดสินใจ และความปราถนา มีความจริงจังสูงเท่ากับเป็นการเพิ่มพลังให้กับร่างกาย ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ในวันกิยามะฮฺ อัลลอฮฺ (ซบ.) จะรวมประชาชนขึ้นตามพื้นฐานของเนียตของเขา” (กิศอรุ้ลญุมัล)

ใครก็ตามที่เป้าหมายของเขาคือ การปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ประเภทของงานและการบรรลุเป้าหมายจึงถือว่าไม่สำคัญ อัล-กุรอานกล่าวว่า

وَمَنْ يُقَاتِلْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ فَيُقْتَلْ أَوْ يَغْلِبْ فَسَوْفَ نُؤْتِيهِ أَجْرًا عَظِيمًا
“และใครต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) ถ้าเขาถูกฆ่าตายหรือพ่ายแพ้ แน่นอน เราจะให้รางวัลอันยิ่งใหญ่แก่เขา” (อัลนิสาอฺ / ๗๔)

สิ่งที่สำคัญคือการต่อสู้บนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) ฉะนั้น ไม่ว่าท่านจะปราชัยหรือได้รับชัยชนะถือว่าไม่มีผลอันใดต่อรางวัลของพระองค์ อัล-กุรอานยังกล่าวอีกว่า

وَمَنْ يَخْرُجْ مِنْ بَيْتِهِ مُهَاجِرًا إِلَى اللَّهِ وَرَسُولِهِ ثُمَّ يُدْرِكْهُ الْمَوْتُ فَقَدْ وَقَعَ أَجْرُهُ عَلَى اللَّه
“และผู้ใดได้ออกไปจากบ้านเรือนของเขา โดยมุ่งอพยพไปสู่อัลลอฮฺ (ซบ.) และศาสนฑูตของพระองค์ หลังจากนั้นความตายได้มาสู่เขา แน่นอน รางวัลของเขาปรากฎอยู่ ณ อัลลอฮฺ (ซบ.) (อันนิสาอฺ/๑๐๐)

จากโองการสามารถเข้าใจได้ว่า ใครก็ตามที่ได้เดินทางออกจากบ้านของตนโดยมีเป้าหมายเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) แม้ว่าเขาจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถือว่าเขาได้รับรางวัลแล้ว เพราะสิ่งสำคัญคือเนียตของการกระทำ มิใช่การกระทำ อีกนัยหนึ่ง การก้าวเดินไปบนหนทางมีความสำคัญมากกว่า การไปถึงเป้าหมาย

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวกับท่านอบูซัร ว่า “ท่านจงตัดสินใจทำในสิ่งที่ดีเสมอ แม้ว่าท่านจะไม่มีเตาฟีก ได้กระทำมันก็ตาม เพราะการตัดสินใจเช่นนั้นจะทำให้ท่านหลุดพ้นจากจุดของความหลงลืม” (วาซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๓๙)

อีกหะดีษกล่าวว่า “ กิจการงานใดก็ตามที่มีเนียตเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ถือว่ามีความยิ่งใหญ่แม้ว่างานนั้นจะเล็กก็ตาม” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑ หน้าที่ ๘๗)

ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ งาน ถ้าเนียตไม่ดีต่อให้งาน ดีแค่ไหน ก็ไร้ความหมาย ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า “ประชาชาติของฉันจำนวนมากมายได้นอนตายอยู่บนเตียงนอน มีจำนวนน้อยนิดเท่านั้น ที่เขาตายในสนามรบ แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงล่วงรู้ถึงเนียตของพวกเขา” (มะฮัจญะตุ้ลบัยฏอ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๓)

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้กล่าวในสงครามตะบูกว่า “ส่วนผู้ที่อยู่ในนครมะดีนะฮฺ แต่มีความหวังและปราถนาที่จะมาร่วมกับเราในสนามรบ ถือว่าเขาเป็นผู้หนึ่งที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการรบ เพราะเนียตของเขา (มะฮัจญะตุ้ลบัยฏอ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๐๔)

ริวายะฮฺได้กล่าวว่า “ใครก็ตามที่เข้านอนโดยมีเนียตว่า จะตื่นขึ้นเพื่อปฏิบัติเศาะลาตุ้ลลัยน์ แต่เขามิได้ตื่น ฉะนั้น ถือว่าการนอนหลับของเขาเป็นเศาะดะเกาะฮฺ ส่วนลมหายใจของเขาเป็นการตัสบีห์ และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบันทึกผลบุญของเศาะลาตุ้นลัยน์ให้กับเขา” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๒๐๖)

“ถือว่ามิใช่สิ่งไร้สาระ หรือปราศจากเหตุผล การที่อิสลามได้แนะนำว่า แม้เรื่องการนอนหรือเรื่องการกินก็จำเป็นต้องมีเนียตเพื่อพระผู้เป็นเจ้า เช่นกัน” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ)

“ถ้าเรารักใครสักคนเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) และคิดว่าเขาเป็นคนดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเขามิใช่คนดี ท่านก็จะไม่เปลืองตัวเปลืองใจแต่อย่างใด เพราะท่านมิได้รักเขาเพื่อเขา แต่ท่านรักเขาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” (มะฮัจญะตุ้ลบัยฎอ เล่มที่ ๔ หน้าที่ ๓๗๔)

ความพิเศษของเนียตต่อการกระทำ
ความแตกต่างระหว่างเนียต(เจตนา)และการกระทำก็คือ ในบางครั้งการงานที่ทำไปอาจจะมีสิ่งแปลกปลอมแอบแฝงอยู่ เช่น โอ้อวด (ริยาอฺ)แต่ทว่าเนียตคือการตั้งเจตนาขึ้นในจิตวิญญาณ ซึ่งไม่มีผลปรากฏภายนอกให้ผู้คนได้เห็น ฉะนั้นจึงปราศจากการโอ้อวดและเสแสร้ง ความพิเศษของเนียตอีกอย่างก็คือ สามารถเกิดได้ขึ้นทุกที่ทุกเวลา ไม่มีเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง ต่างจากการกระทำซึ่งต้องการเงื่อนไขที่เฉพาะเจาะจง ต้องการเวลา สถานที่และปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

มีริวายะฮฺประเภทหนึ่งเรียกว่า ริวายะฮฺ มันบะลัฆฺ ริวายะฮฺประเภทนี้กล่าวว่า ใครก็ตามได้ยินริวายะฮฺที่กล่าวว่าการกระทำบางอย่างมีผลบุญมากมาย หากเขาปฏิบัติตามริวายะฮ์นั้น อัลลอฮฺ (ซบ.)จะทรงตอบแทนผลบุญนั้นแม้ว่าริวายะฮฺดังกล่าวไม่ถูกต้องก็ตาม เพราะเขาได้ปฏิบัติตามหะดีษโดยมีเจตนา (เนียต)ที่ดี

ตำแหน่งของเนียต
๑. บางครั้งเป็นเพราะความหวาดกลัว หรือมุ่งหวังในพระเมตตาของพระองค์ มนุษย์จึงได้ปฏิบัติอะมั้ล อัล-กุรอานกล่าวว่า وَادْعُوهُ خَوْفًا وَطَمَعًا “และพวกเจ้าจงวอนขอพระองค์ด้วยความหวาดกลัว และความมุ่งหวัง” (อัล – อะอฺรอฟ ๕๖)

وَيَدْعُونَنَا رَغَبًا وَرَهَبًا
“พวกเขาได้วอนขอต่อเราด้วยความพิศมัยและหวาดกลัว” (อัมบิยาอฺ ๙๐)

๒. บางครั้งมนุษย์ได้ปฏิบัติอะมั้ล เพื่อเป็นการขอบคุณในความเมตตของพระองค์ ไม่ว่าจะมีผลรางวัล หรือการลงโทษหรือไม่ก็ตาม ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “มาตรว่าพระองค์มิได้ทรงสัญญาการลงโทษต่อการกระทำความผิดไว้ก็ตามมันก็ เป็นวาญิบสำหรับมนุษย์ที่ต้องไม่อกตัญญูในการขอบคุณต่อความโปรดปรานของ พระองค์” (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ ฮิกมะฮฺ ๒๙๐)

๓. บางครั้งมนุษย์ได้ปฏิบัติอะมั้ล โดยมิได้มุ่งหวังสิ่งตอบแทน หรือมีความหวังในสรวงสวรรค์ หรือหวาดกลัวต่อไฟนรก เพียงแค่ตระหนักว่า พระองค์นั้นคู่ควรต่อการแสดงความเคารพภักดี เขาจึงปฏิบัติ

๔. และในบางครั้งเป็นเพราะว่า ความรักที่มีต่อพระองค์ เขาจึงยอมปฏิบัติอมั้ลทุกอย่าง ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า “ความรักของฉันที่มีต่อความตาย และการได้กลับไปพบกับอัลลอฮฺ (ซบ.) มีความคุ้นเคยมากกว่าเด็กทารกที่มีความผูกพันอยู่กับเต้านมของมารดาเสียอีก” (นะฮฺญุ้ลบะลาเฆาะฮฺ คุฏบะฮฺที่ ๕)

ท่านกอซิม บุตรชายของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ได้กล่าวที่กัรบะลาว่า “การตายบนหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) สำหรับฉันแล้วมีความหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง”

อิทธิพลของเนียตต่อการลงโทษ
อิสลามได้แยกบทลงโทษสำหรับคนที่กระทำความผิดโดยเจตนากับไม่เจตนา ไว้ต่างหากดังนี้
การฆ่าคนอื่นตายตายโดยเจตนา และมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า การสอบสวนและบทลงโทษ ย่อมต่างไปจากบทลงโทษของคนที่ฆ่าผู้อื่นตายโดยมิได้เจตนา อัล-กุรอาน กล่าวว่า “ผู้ศรัทธาคนหนึ่งไม่มีสิทธิ์สำหรับผู้ศรัทธาอีกคนหนึ่งได้ นอกเสียจากว่าทำความผิด และใครสังหารผู้ศรัทธาอย่างผิดพลาด (เป็นวาญิบ) ต้องปลดปล่อยทาสผู้ศรัทธาอีกคนหนึ่งให้เป็นอิสระ และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับครอบครัวของเขา นอกเสียจากกว่า พวกเขาจะยกโทษให้ แต่ถ้าผู้ถูกสังหารเคยเป็นกลุ่มชนที่เคยเป็นศัตรูกับพวกเจ้า และเป็นผู้ศรัทธา ก็ให้ปล่อยทาสผู้ศรัทธาคนหนึ่งให้เป็นอิสระ และถ้าหากเขามาจากกลุ่มชนที่เคยมีสัญญากันระหว่างพวกเจ้ากับพวกเขา ก็ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวของเขา และปล่อยทาสผู้ศรัทธาคนหนึ่งให้เป็นอิสระ ฉะนั้น ผู้ใดมิอาจปฏิบัติได้ ให้ถือศีลอดติดต่อกันเป็นเวลาสองเดือน อันเป็นการลุกโทษ (เตาบะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ (ซบ.)” (อันนิสาอฺ ๙๒)

ส่วนคนที่ฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา เขาจะถูกลงโทษประหารชีวิตให้ตายตกไปตามกัน ซึ่งยังมีบทลงโทษอื่น ๆ อีกมากมายที่แตกต่างกันระหว่างการมีเจตนา กับไม่ได้มีเจตนา แต่ยกตัวอย่างมาพอสังเขปเพื่อให้รู้ว่า แท้จริงแล้ว เนียต (ตั้งเจตนา) นั้นมีอิทธิต่อการกระทำ และบทลงโทษมากน้อยเพียงใด

การรู้จัก คือปฐมบทของเนียตเพื่อแสวงหาความใกล้ชิด
ดีที่สุดของการแสวงหาความใกล้ชิด คือ เนียตที่สะอาดบริสุทธิ์ และการรู้จักในอาตมัน(ซาต)ของพระองค์อัลลอฮฺ อัล – กุรอาน กล่าวว่า ان القوة لله جميعا “แท้จริงพลัง ทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (ซบ.)” (อัล บะกอเราะฮฺ ๑๖๕)

فَاجْعَلْ أَفْئِدَةً مِنْ النَّاسِ تَهْوِي إِلَيْهِم
َْ“ขอพระองค์ทรงดล บันดาลให้จิตของมนุษย์มีความอ่อนโยนรักใคร่พวกเขาด้วยเถิด” (อิบรอฮีม ๓๗)

-มุนาญาตชะอฺบานี ได้รำพันว่า “พวกเรารู้ว่าผลประโยชน์ และความเสื่อมเสียของเรามิได้อยู่ในมือของคนอื่น”

-ถ้าหากเรารู้ว่า การงานที่ทำเพื่อพระองค์ บางครั้งมีผลบุญมากมายเป็นสองเท่า บางครั้งสิบเท่า และบางครั้งมากถึงเจ็ดสิบเท่า เราก็คงไม่กระทำมันเพื่อคนอื่นที่นอกเหนือไปจากพระองค์"

“จงรู้ไว้เถิดว่า ความสูงส่งทางสังคม มิได้ได้สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตน เพราะควันดำก็ลอยสู่เบื้องบนเหมือนกัน”
“จงรู้ไว้เถิดว่าการจ้องมอง ความสนใจ และคำสรรเสริญเยินยอของผู้คนมิได้มีค่าอันใดต่อเรา เพราะมาตรว่า มีช้างตัวหนึ่งเดินอยู่บนถนน ผู้คนก็จ้องมองเหมือนกัน”
“คนที่ประสบความสำเร็จ คือ คนที่อาศัยประสบการณ์ เอาใจใส่ต่อคำโจทย์ขาน เสียงวิพากษ์วิจารณ์และออกห่างจากการโอ้อวดต่าง ๆ”
“จงรู้ไว้เถิดว่า วันหนึ่งที่รออยู่ข้างหน้า ไม่มีใครสนใจและไม่สามารถช่วยเหลือกันและกันได้ ยกเว้น มวลผู้ศรัทธาที่มีจิตใจนอบน้อมและสงบมั่น”
ดังนั้น เมื่อทราบดีว่า เนียตที่ไม่ดีได้ทำลายคุณค่าการงานของเราไปมากมายแค่ไหน ก็จงกลับตัวกลับใจและสร้างเจตนาใหม่ เพื่อการงานที่บริสุทธิ์ และเพื่อความใกล้ชิดกับพระองค์

ผลของการมีเนีตยที่ไม่ดี
หากจะเปรียบเทียบเนียตที่ไม่ดี ก็คงจะไม่แตกต่างอะไรไปจากสนิม เพราะมันคือส่วนเกินของความสะอาดบริสุทธิ์ และทำลายคุณค่าของสิ่งนั้น ๆ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

๑. ทำให้ดุอาอฺไม่ถูกตอบรับ ท่านอิมามสัจญาด (อ.)กล่าวว่า “เนียตที่ไม่ดีคือสาเหตุที่ทำให้ดุอาอฺไม่ถูกตอบรับ” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๗๐ หน้าที่ ๓๗๕)
เนียตที่ไม่ได้มีเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ (ซบ.) นอกจากจะทำให้อะมั้ล และการงานต่าง ๆ มิได้ถูกย้อมสีด้วยสีของอัลลอฮฺ (ซบ.) แล้วยังทำให้ประสบกับอันตรายต่างๆ อีกมาก

อิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “ถ้าใครต้องการขอยืมเงินของคนอื่นโดยมีเจตนาว่าจะไม่ใช้คืน เขาอยู่ในฐานะของขโมย” (วะซาอิ้ลชีอะฮฺ เล่มที่ ๑๒ หน้าที่ ๘๖)
การแต่งงานโดยเจ้าบ่าวมีเจตนาว่าจะไม่จ่ายมะฮัรฺให้กับเจ้าสาวของตน ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เขาอยู่ในฐานะของคนทำซินา (ผิดประเวณี) (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๑๕ หน้าที่ ๒๒)

๒. ริซกีเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า “มาตรว่ามุอฺมินคนหนึ่งมีเจตนาว่าจะกระทำความผิด อัลลอฮฺ (ซบ.) จะไม่ประทานริซกีให้กับเขา”
ตัวอย่างของหะดีษนี้ดูได้จากเรื่องราวของ เรือกสวนหนึ่งที่อัล – กุรอานกล่าวไว้ในซูเราะฮฺ กอลัม โองการที่ ๑๖ – ๓๐ ว่า “มีชาวสวนกลุ่มหนึ่งได้เจตนาไปเก็บผลไม้ในตอนเช้าตรู่ เพื่อมิให้คนจนได้พบพวกเขา และพวกเขาจะได้ไม่ต้องแบ่งปันผลไม้ให้ เมื่อถึงตอนเช้าตรู่ พวกเขาได้เดินทางไปสวนของพวกเขา และพบว่าสวนนั้นได้แปรสภาพไปประดุจดังสวนที่ถูกเก็บผลผลิตไปแล้ว ขั้นแรกพวกเขาคิดว่า พวกเขาหลงทางมา เผอิญว่าในหมู่ของพวกเขามีคนที่มีสติอยู่บ้างได้พูดว่า “ฉันมิได้เตือนพวกท่านหรือว่า อย่าคิดและตั้งเจตนาเช่นนี้ ซึ่งพวกท่านมีเจตนาไม่เผื่อแผ่แก่คนยากจน ดังนั้น อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงได้ห้ามพวกท่านมิให้ได้รับผลผลิต

จากเรื่องราวของอัล – กุรอานทำให้รู้ว่า ในบางครั้งอัลลอฮฺ (ซบ.) จะลงโทษหรือกำราบมนุษย์ บนพื้นฐานของเจตนาที่ตั้งเอาไว้ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ทั้งหมดก็ตาม

๓. เป็นสาเหตุให้เกิดความทุกข์ อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “เนียตที่ไม่ดีเป็นสาเหตุให้เกิดควาทุกข์ทรมาน” (ฆอรฺรอรุ้ลหะกัม หะดีษ ที่ ๑๖๑๐)
๔. เป็นสาเหตุให้ชีวิตการเป็นอยู่ไม่มีบะรอกัต
ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงนำบะรอกัตออกจากชีวิตของคนที่มีเนียตไม่ดี โดยเขาไม่อาจใช้ประโยชน์จาก นิอฺมัตที่ดีของพระผู้เป็นเจ้าได้” (ฆุรอรุ้ลหะกัม หะดีษที่ ๑๖๑๕)

ได้มีคนกล่าวว่า “ มีคนกล่าวกับคนหนึ่งว่า เป็นเพราะการงานที่ดี เป็นสาเหตุทำให้ดุอาอฺของท่านสามต้นจะถูกตอบรับ เขาดีใจมากและพูดว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์ โปรดทำให้ภรรยาของข้าฯ เป็นคนที่สวยงามที่สุด และภรรยาของเขาก็กลายเป็นคนสวยงาม แต่ทว่าชีวิตของเขาได้แปรเปลี่ยนไป และมีแต่ความขมขื่นตลอดเวลา เนื่องจากว่า ไม่ว่าเขาจะไปที่ไหนมีแต่คนคอยจ้องมองภรรยาของเขา”

เขาจึงได้ขอดุอาอฺบทที่สองว่า “โอ้ ข้าแต่พระองค์ โปรดทำให้ภรรยาของข้า ฯ เป็นคนที่น่าเกียดและขี้เหร่ที่สุด” ดุอาอฺของเขาได้ถูกตอบรับ ทว่าเขาไม่อาจอดทนต่อสภาพชีวิตดังกล่าวได้ หลังจากนั้นเขาได้ขอดุอาอฺบทที่สามว่า “โอ้ ข้า ฯ แต่พระองค์โปรดทำให้ภรรยาของข้าฯเหมือนดังเดิม” ดุอาอฺของเขาถูกตอบรับ และภรรยาของเขาได้กลับมามีหน้าตาเหมือนเดิมเหมือนตอนแรก จะเห็นว่าชายผู้นี้ได้รับโอกาสทองในการขอดุอาอฺถึงสามครั้ง แต่โอกาสทองดังกล่าวมิได้บันดาลความจำเริญในชีวิตเขาแม้แต่น้อย และนี่คือความหมายของการถูกถอดถอนความจำเริญจากชีวิตของคนๆหนึ่ง ที่เขามิอาจได้รับประโยชน์ใดๆจากสิทธิพิเศษที่ได้รับ




โปรดติดตามต่อ

ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัช ชีอะฮ์