หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
ผู้ประพันธ์: สัยยิดมุจญ์ตะบา มูสาวีย์ ลารีย์
แปลและเรียบเรียงโดย อบูนัสรีน
เกริ่นนำ ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
ท่านผู้อ่านผู้มีเกียรติ
ไม่จำเป็นเสมอไปว่าคราใดก็ตามที่เราสนทนาหรือนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับอิมามะฮฺและวิลายะฮฺแล้ว จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยก และเกิดกรณีพิพาทกันระหว่างชีอะฮฺกับสุนนีย์ เพราะถ้าหากเราหลีกเลี่ยงปัญหาทางการเมือง และพยายามถกเถียงในขอบเขตทางวิชาการแล้ว ก็จะสามารถทำความเข้าใจในหลักศรัทธาและโลกทัศน์ของชีอะฮฺ ยิ่งถ้าเราได้ทำความรู้จักอย่างถ่องแท้และเจาะลึกมากเพียงไร ก็จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความเป็นภราดรภาพและถมช่องว่างที่เหินห่างระหว่างประชาชาติมุสลิมโดยปริยายอีกด้วย
โดยปกติ การแลกเปลี่ยนทางวิชาการเป็นการสำแดงให้เห็นถึงโลกทัศน์และอิสรเสรีทางความคิด เพราะแม้แต่ผู้นำมัซฮับทั้งสี่ก็ยังมีทัศนะและคำฟัตวาที่แตกต่างกัน ซึ่งนักปราชญ์มุสลิมทุกสำนักคิดถือว่าความแตกต่างในด้านแนวคิด มิใช่อื่นใด นอกจากผลลัพธ์แห่งทัศนะและมุมมองที่แตกต่างกันนั่นเอง เพราะถ้าหากผู้นำมัซฮับทั้งสี่มีความเห็นหรือคำฟัตวาที่สอดคล้องตรงกันแล้ว พวกเขาจะต้องมีมัซฮับเป็นหนึ่งเดียวกัน มิใช่ 4 มัซฮับดังที่เป็นมา อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความแตกต่างและทัศนะที่ขัดแย้งกันนั้น พวกเขาก็ยังแลกเปลี่ยนและร่วมกันพิจารณาในปัญหาที่ขัดแย้งโดยไม่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศแห่งความเป็นพี่น้องและภราดรภาพแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้ ทัศนะที่แตกต่างจึงหาใช่อุปสรรคขัดขวางมิให้ชีอะฮฺกับสุนนีย์ร่วมกันพิจารณาประเด็นที่ขัดแย้งบนพื้นฐานของความเพียรพยายามที่อิสรเสรีและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน
เป็นความจริงที่ว่าถ้าหากเอกภาพมิได้วางอยู่บนพื้นฐานของการเผยความจริง โดยพยายามปกปิดปัญหาและสารัตถะในทางประวัติศาสตร์แล้ว เอกภาพที่แท้จริงย่อมจะไม่มีวันบังเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ในอีกด้านหนึ่ง การพิจารณาทบทวนเหตุการณ์ที่เป็นจริงทางประวัติศาสตร์อย่างพิถีพิถัน จะช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างยิ่งขึ้น และมิได้มีอุปสรรคแต่อย่างใดที่สำนักคิดตะชัยยุอฺกับตะสันนุนจะอนุรักษ์หลักความเชื่อของตนด้วยการแลกเปลี่ยนทัศนะทางวิชาการที่ทั้งสองได้มีบทบาทและช่วยเสริมสร้างประชาชาติอิสลามให้เป็นเอกภาพ เอกภาพที่ช่วยเชิดชูอิสลามให้โดดเด่นและทำให้ศาสนาของพระผู้เป็นเจ้าดำรงอย่างมีเกียรติบนหน้าแผ่นดิน
เราจะต้องตื่นจากภวังค์แห่งการหลับใหลด้วยการละทิ้งปัญหาหรือความแตกต่างทางความคิดที่เป็นกระพี้หรือสิ่งปลีกย่อย แล้วหันมาทำความรู้จักและเจียระไนอัญญะมณีอันทรงคุณค่าของอิสลามและสารัตถะแห่งระบอบการปกครองของคัมภีร์อัลกุรฺอานด้วยการแลกเปลี่ยนและร่วมกันพิจารณาทางวิชาการอย่างเป็นระบบและด้วยความเสรีทางความคิด มิฉะนั้นแล้ว ความอคติที่เปลือยเปล่าและห่างไกลจากตรรกะ ทัศนะที่แข็งทื่อ และการยึดถือทัศนะของตนเป็นสรณะจะนำพาไปสู่วิถีแห่งความตีบตันต่อการศึกษาค้นคว้าและแลกเปลี่ยนความรู้และหลักวิชาการ
เอกภาพของประชาชาติจะบังเกิดขึ้นได้ มิได้หมายความว่าเราจะต้องหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงข้อเท็จจริงในทางประวัติศาสตร์ เอกภาพที่แท้จริงจะอุบัติขึ้นได้จะต้องไม่ปิดหูปิดตาจากสารัตถะที่แท้จริง แต่สิ่งที่จำต้องระมัดระวังให้จงหนักก็คือการสนทนาในนามแห่งวิชาการที่ในทางปฏิบัติแล้วเต็มไปด้วยการยั่วยุและสอดใส่อารมณ์โดยปราศจากเหตุผล การยุแยงตะแคงรั่วที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความขัดแย้ง แตกแยก ขาดความสมานฉันท์ และจุดไฟแห่งความอาฆาตพยาบาทและความเป็นศัตรูต่อกัน การถกเถียงทางวิชาการและประวัติศาสตร์ นอกจากจะไม่ส่งผลกระทบทางเซ็นซิทีฟ แต่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้เหตุผล ตรรกะ สติปัญญา การปกป้องความเชื่อและหลักการของตน และการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของเพื่อนร่วมศาสนา การเรียกร้องเชิญชวนให้อีกฝ่ายใช้หลักการและเหตุผลพิจารณาหลักการของตนอย่างถี่ถ้วนเที่ยงธรรมโดยหลีกเลี่ยงการกระทบกระทั่งและการเผชิญหน้าด้วยอารมณ์ แต่ด้วยการพยายามทำความเข้าใจและให้เกียรติในความคิดเห็นซึ่งกันและกันนั้น จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งใด ๆ ต่อเอกภาพของประชาชาติอิสลาม และการแลกเปลี่ยนทางวิชาการจะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการสร้างความสมานฉันท์และความเป็นพี่น้องในระหว่างประชาชาติอิสลาม
กุม
สัยยิดมุจญ์ตะบา มูสะวีย์ลารีย์
เดือนมิฮฺรฺ 1366
มีต่อ...