50%
หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม

1 อิมามะฮฺ และวิลายะฮฺ ฐานภาพของผู้นำในทัศนะอิสลาม “อิมาม” คือผู้นำ แบบฉบับ และผู้ประสานสัมพันธภาพระหว่างประชาชาติ พวกเขาจะได้รับประโยชน์จากการชี้นำทางการปกครอง ความคิด การปฏิบัติตามแบบอย่างการดำเนินชีวิตและคำบัญชาของอิมาม

“อิมามะฮฺ” มีนัยและความหมายที่กว้าง เป็นทั้งศูนย์รวมแห่งความคิด และเป็นทั้งผู้แบกรับภารกิจทางการเมือง การปกครอง สังคม เศรษฐกิจ อิมามคือผู้สืบสานเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของท่านศาสดาให้ธำรงสืบไป อิมามคือผู้ที่ถ่ายทอดสารธรรมคำสอนแห่งคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้า และชี้นำประชาชาติในทุก ๆ มิติ

ภารกิจในการชี้นำประชาชาติจะดำเนินไปตามครรลองคลองธรรมอย่างแท้จริงได้จะต้องอยู่ภายใต้สารธรรมคำสอนและอุดมการณ์อิสลามเท่านั้น อุดมการณ์ที่ท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ศ) ได้สถาปนา วางรากฐานทางสังคมและกฎหมาย บางครั้ง นัยและคำจำกัดความของอิมามะฮฺและวิลายะฮฺอาจให้ความหมายที่เฉพาะผู้ที่มีภารกิจรับผิดชอบทางสังคมและการเมืองเท่านั้น แต่สำหรับบุคคลที่แบกรับภารกิจในการชี้นำมนุษยชาติทั้งมิติทางจิตวิญญาณด้วยสาสน์และสารัตถะแห่งคำสอนทางศาสนา อีกทั้งเป็นผู้นำในทางการเมือง การปกครอง และเป็นศูนย์รวมทางความคิด และตัวเขาเองยังขับเคลื่อนอยู่ในท่ามกลางประชาคมอิสลามเพื่อวางรากฐาน กฎชะรีอะฮฺและแบบแผนของพระผู้เป็นเจ้า พร้อมทั้งเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้เคารพเชื่อฟังปฏิบัติตามชะรีอะฮฺและแบบแผนแห่งฟากฟ้าในทุกมิติเต็มกำลังความสามารถ และให้การพิทักษ์เกียรติยศแห่งความเป็นมนุษย์มิให้ตกไปสู่ความเป็นเดรัจฉาน

ผู้ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมสูงส่งดังกล่าวนี้ เขาคืออิมามผู้สัตย์จริงในทุก ๆ มิติ และคือผู้ชี้นำประชาชนทั้งทางโลกและทางธรรม กล่าวโดยสรุป “อิมาม” คือผู้สำแดงแบบฉบับและมาตรฐาน และมิติแห่งพระผู้เป็นเจ้าและเอกภาพของพระองค์ และภารกิจของเขาต่ออัลลอฮฺและต่อสิ่งถูกสรรสร้างของพระองค์ และการดำเนินตามพระบัญชาในมิติแห่งการเคารพภักดี จริยธรรม สังคม ภายใต้บทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และคือผู้ที่สามารถชี้นำมนุษยชาติให้เคลื่อนไปสู่ทิศทางและเป้าหมายแห่งความสมบูรณ์นั้น ในขณะเดียวกัน ศรัทธาชนจะต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามคำบัญชาของเขาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ เนื่องจากอิมามคือแบบอย่างและบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการเสริมสร้างและพัฒนาตนเองและสังคม และวิถีและแบบฉบับในการดำเนินชีวิตของเขาก็เพื่อพัฒนาและสร้างสรรค์ประชาชาติอิสลามนั่นเอง

นักวิชาการอะฮฺลิสสุนนะฮฺส่วนใหญ่มีความเข้าใจว่าคำว่า “คิลาฟะฮฺ” มีความหมายและคำจำกัดความเดียวกับคำว่า “อิมามะฮฺ” กล่าวคือเมื่อประชาชนได้มอบความไว้วางใจเลือกเคาะลีฟะฮฺให้เป็นผู้รับผิดชอบภารกิจอันยิ่งใหญ่ในทางสังคม โดยวิถีที่จะได้มาซึ่งตำแหน่งผู้ปกครองนั้นก็ด้วยการเลือกตั้งจากมุสลิม หมายถึงเคาะลีฟะฮฺจะเป็นทั้งผู้ที่เข้ามาแก้ปัญหาทางศาสนาให้แก่ประชาชนและเสริมสร้างกองทัพให้เข้มแข็งเพื่อรักษาความสงบสุขของสังคมและรัฐอิสลามจากการรุกรานของเหล่าศัตรู ด้วยเหตุนี้ อิมามจึงเป็นเพียงหัวหน้ารัฐบาลหรือผู้ปกครองทางสังคมที่มีภารกิจสูงสุดเเค่เพียงการสถาปนาความยุติธรรมและรักษาความมั่นคงของรัฐอิสลามเท่านั้น และนี่คือเจตนารมณ์ที่ประชาชนได้เลือกเขาขึ้นมา

ดังนั้น คุณสมบัติหรือเงื่อนไขของผู้นำหรือผู้ปกครอง ณ ที่นี้ก็คือจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความพร้อมและเหมาะสมที่จะนำชะรีอะฮฺของพระผู้เป็นเจ้ามาจัดการลงโทษผู้ฝ่าฝืนและกระทำความผิด ให้การคุ้มครองพลเมืองดีจากการละเมิดสิทธิของทุจริตชนคนพาล ในขณะเดียวกัน ยังมีภารกิจในการตระเตรียมกองกำลังทหารให้พร้อมสรรพเพื่อพิทักษ์เขตแดนและอาณาจักรอิสลามจากเหล่าผู้รุกราน และเผชิญหน้ากับการตั้งภาคีทุกรูปแบบ และขจัดอุปสรรคขวากหนามที่ขวางกั้นการเรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ไปสู่เอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า การญิฮาดและต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธเพื่อทำลายการทรยศฝ่าฝืนและความอวิชาที่เป็นอุปสรรคขวางกั้นมิให้การดำเนินภารกิจเพื่อสัจธรรมก้าวหน้าและประสบความสำเร็จด้วย

ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าผู้นำหรือผู้ปกครองจะไม่มีความรู้หรือไม่ประสีประสาต่อบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้า หรือแม้กระทั่งไม่มีความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า ฝ่าฝืนหรือทำความผิดบาปเพียงไรก็ตาม ก็ไม่ถือเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการทำหน้าที่แต่อย่างใด กล่าวอีกนัยหนึ่ง ทัศนะดังกล่าวถือว่าตัวแทนของท่านศาสดา (ศ) ที่จะเป็นผู้แบกรับภารกิจสืบต่อจากท่านนั้น ไม่จำเป็นว่าเขาผู้นั้นจะเป็นผู้กดขี่ ฉ้อฉล อธรรม ละเมิดต่อสิทธิของผู้อื่น หรือใช้อำนาจทางทหารกดขี่บีฑาและหลั่งเลือดผู้บริสุทธิ์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของตนและต่อประชาคมมุสลิม ดังนั้น นักการเมืองที่เต็มไปด้วยเล่ห์เพทุบายก็สามารถจะได้รับฉันทานุมัติให้เป็นตัวแทนของท่านศาสดา (ศ) ได้ ด้วยมาตรฐานทางศีลธรรมและจริยธรรมดังกล่าว เมื่อไรก็ตามที่เขาชี้นำและปกครองประชาชนให้เฉไฉออกจากวิถีแห่งสัจธรรมและความยุติธรรมแล้ว ไม่เพียงแต่ประชาชนจะไม่มีสิทธิคัดค้านและต่อต้านเขาเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น วาญิบที่จะต้องอิฏออะฮฺ (เชื่อฟังปฏิบัติตาม) เขาอีกด้วย

บรรทัดฐานจากโลกทัศน์ดังกล่าวนี้เองที่ได้มีนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺไว้ว่า “ประชาชาติอิสลามไม่มีสิทธิถอดถอนเคาะลีฟะฮฺออกจากตำแหน่งด้วยสาเหตุที่เขาได้ล่วงละเมิดบทบัญญัติและพระบัญชาของอัลลอฮฺ และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายชะรีอะฮฺของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้น วาญิบที่ประชาชนทุกคนจะต้องตักเตือนชี้นำเขาให้หันมาสู่หนทางที่เที่ยงธรรมด้วย” (อัตตัมฮีด กอฎีย์บากิลานีย์ หน้า 186)

ผู้ปกครองที่อธรรมและฉ้อฉลโดยไม่แยแสและมีความรับผิดชอบต่อประชาคมมุสลิมเยี่ยงนี้ จะให้ประชาชนคอยระแวดระวังและตักเตือนพฤติกรรมอันโฉดชั่วของเขาได้อย่างไร และจะมีวิธีการใดที่จะตักเตือนและปรับปรุงเขาให้ไปสู่วิถีทางอิสลาม ? ลำพังแค่การตักเตือนจะช่วยฉุดรั้งให้เขากลับคืนสู่วิถีทางที่ถูกต้องกระนั้นหรือ ?

โดยสารัตถะแล้ว มาตรว่าพระองค์ทรงประสงค์จะปล่อยให้ประชาชาติต้องตกอยู่ภายใต้เงื้อมมือของผู้ปกครองที่ไม่มีคุณสมบัติคู่ควร ไม่มีความสำรวมตนจากความชั่ว เห็นแก่ตัว และกดขี่บีฑาแล้ว ย่อมไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่พระองค์จะทรงแต่งตั้งศาสดาให้ทำหน้าที่ผู้สื่อสาสน์แทนพระองค์ และประทานวิวรณ์เพื่อเป็นบทบัญญัติบังคับใช้ในสังคม มิฉะนั้น การที่เสรีชนผู้ศรัทธา มีจิตสำนึก และเสียสละได้ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจของผู้ปกครองที่อธรรมตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา แสดงว่าพวกเขาได้ฝ่าฝืนต่อพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้ากระนั้นหรือ ?

ดร.อับดุลอะซีซ อัดเดาวะรีย์ นักวิชาการ และนักคิดนักเขียนสุนนีย์ได้ให้ทัศนะไว้ว่า :-
“เมื่อมีบุคคลหนึ่งขึ้นดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺแล้ว ทฤษฎีทางการเมืองของอะฮฺลิซซุนนะฮฺถือว่าไม่เพียงแต่จะยึดมั่นในคัมภีร์อัลกุรฺอานและหะดีษเท่านั้น แต่ยังจะต้องคำนึงถึงเหตุการณ์ที่อุบัติมาภายหลังว่าสอดคล้องกับกุรฺอานและหะดีษหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ อาจกล่าวได้ว่าทฤษฎีทางการเมืองของคิลาฟะฮฺมีผลกระทบโดยตรงต่อคนทุกรุ่น ทั้งนี้เนื่องจากตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺจะผันแปรไปตามสถานการณ์และอุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือกรณี “กอฎี อบุลหะสัน มะวารฺดีย์” ผู้พิพากษาศาลสูงสุดของเคาะลีฟะฮฺที่ได้เขียนตำราชื่อ “อัลอะหฺกาม อัสสุนฎอนียะฮฺ” ซึ่งตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺก็เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของเขาเช่นกัน กล่าวคือในยุคเสื่อมทรามที่สุดของเคาะลีฟะฮฺ เขาได้พยายามใช้ความคิดและทรรศนะส่วนตัวเพื่อประยุกต์ทัศนะต่าง ๆ ของบรรดาฟุเกาะฮาอ์ในยุคสมัยก่อนหน้าเขาให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางการเมืองในยุคของเขา จุดเด่นของกอฎีผู้นี้ก็คือความพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าในการนำเสนอทรรศนะเอกเทศของตนกับทรรศนะของอุละมาอ์รุ่นก่อน โดยเขาได้ให้ทัศนะไว้ดังนี้คือ

“อนุมัติให้ประชาชนยอมจำนนอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองที่ไม่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมคู่ควร ถึงแม้ว่าจะมีผู้ปกครองที่ดีกว่าก็ตาม และเมื่อบุคคลหนึ่งได้รับการเลือกตั้งแล้ว กลไกลทางการเมืองทุกชนิดไม่มีสิทธิที่จะถอดถอนเคาะลีฟะฮฺอันเนื่องจากมีผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและดีกว่าเขา ด้วยเหตุนี้ กอฎีย์อบุลหะสัน มะวารฺดีย์ จึงเห็นด้วยกับทฤษฏีดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อต้องการที่จะหาเหตุผลและข้ออ้างมาลบล้างการปกครองของเคาะลีฟะฮฺที่ไร้คุณสมบัติ และอาจจะเพื่อต้องการลบล้างทฤษฏีและหลักความเชื่อของชีอะฮฺ ดังนั้น เราจะพบว่าประเด็นวิภาษวิธีและหลักความเชื่อที่เขาได้นำเสนอตามทัศนะของชาวอะฮฺลิสสุนนะฮฺนั้น ก็เพียงเพื่อจะหาเหตุผลและความชอบธรรมให้กับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคเท่านั้น และในความเป็นจริงแล้ว พวกเขามิได้มีเป้าหมายอื่นใดนอกจากเพียงเพื่อที่จะหาข้ออ้างมาประกอบกับสิ่งที่เรียกว่า “อิจญ์มาอฺ” นั่นเอง ( อันนัซมุลอิสลามียะฮฺ เล่ม 1 หน้า 72 – 84 )

นี่คือพื้นฐานทางความคิดและทฤษฏีของกลุ่มชนที่ขนานนามตนเองว่าเป็นผู้ที่ดำเนินรอยตามสุนนะฮฺหรือแบบฉบับของท่านศาสดา และเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาและชะรีอะฮฺของท่าน ในขณะเดียวกัน พวกเขากลับกล่าวหานักปราชญ์และปัญญาชนมุสลิม และผู้ฟื้นฟูสังคมด้วยการดำเนินรอยตามแบบอย่างของบรรดาอิมามผู้ทรงคุณธรรม ผู้เป็นหลักฐานและข้อพิสูจน์ของอัลลอฮฺ และเป็นผู้ชี้นำมนุษย์สู่วิถีทางที่เที่ยงธรรมว่าเป็นพวก “รอฟิฎีย์” (พวกปฏิเสธ) และละทิ้งสุนนะฮฺของท่านรอสูลุลลอฮฺ (ศ)

ถ้าปล่อยให้อำนาจการปกครองต้องตกอยู่ในกำมือของผู้ปกครองที่ขาดไร้วิสัยทัศน์อิสลาม และยังเหยียบย่ำทำลายชะรีอะฮฺของอัลลอฮฺ และประชาชาติอิสลามจะต้องเชื่อฟังคำสั่งของเขาอย่างเคร่งครัดโดยไม่มีสิทธิทักท้วงหรือขัดขืนคำสั่งของเขา เพื่อผลประโยชน์ของผู้มีสิทธิอันชอบธรรมแล้ว ศาสนาของอัลลอฮฺจะประสบกับชะตากรรมเช่นไร ?
นี่หรือคือโลกทัศน์และจิตสำนึกแห่งอิสลาม นี่หรือคือการสำแดงความจงรักภักดีต่อชะรีอะฮฺที่ท่านนบีย์ (ศ) ได้นำมา ?
บทสรุปของทฤษฎีดังกล่าวมิใช่การยอมจำนนต่ออำนาจอธรรมของผู้ปกครองที่ทุจริตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดหรอกหรือ ?
แต่อิมามะฮฺตามโลกทัศน์แห่งสำนักตะชัยยุอฺ หมายถึงอำนาจการปกครองที่มาจากอัลลอฮฺ และหมายถึงตำแหน่งที่ได้รับการสถาปนาหรือแต่งตั้งเฉกเช่นตำแหน่งนบูวะฮฺ (ตำแหน่งศาสดา) ซึ่งพระองค์ทรงประทานแก่ผู้ที่มีเกียรติคุณและฐานภาพสูงสุดในแต่ละยุคสมัย จะต่างกันก็เพียงศาสดาจะได้รับวิวรณ์จากพระองค์เพื่อวางรากฐานทางศาสนาและสำนักคิด ในขณะที่อิมามจะเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์และพิทักษ์อุดมการณ์เหล่านั้นให้ธำรงอยู่ต่อไป และเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะเจริญรอยตามการดำเนินชีวิตและแบบฉบับของพวกเขาในทุกมิติ ทั้งด้านจิตวิญญาณ ศีลธรรม จริยธรรม และการเมืองการปกครอง

ภายหลังจากการอสัญกรรมของศาสนทูตของอิสลาม (ศ) แล้ว ประชาชาติอิสลามก็เริ่มตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมและมีความรอบรู้เกี่ยวกับวิวรณ์ มีความสะอาดบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน และเป็นผู้สืบทอดเจตนารมณ์แห่งสุนนะฮฺของท่านศาสดาผู้สถาปนาชะรีอะฮฺ เพราะนอกจากภารกิจในการพิทักษ์สังคมให้รอดพ้นจากการหันเหออกจากทิศทางแห่งสัจธรรม ความรู้เท่าทันต่อสถานการณ์อย่างลึกซึ้งรอบด้านต่อภยันตรายต่างๆ ของปัจจัยและความผันผวนทางการเมืองและสังคม พวกเขายังจะต้องมีความรอบรู้เชี่ยวชาญในด้านการวินิจฉัยสารธรรมคำสอนทางศาสนาที่ครอบคลุมในทุก ๆ มิติ โดยอาศัยสารัตถะจากแหล่งกำเนิดของวิวรณ์เพื่อรับใช้ประชาชาติ ซึ่งจะเป็นผลให้กฎหมายของอัลลอฮฺธำรงคงอยู่ต่อไปภายใต้โครงสร้าง (ยังคงดำรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของตนไว้) และความยุติธรรมและดวงประทีปแห่งสัจธรรมและความยุติธรรมจะไม่ดับสลายไป

อิมามะฮฺและคิลาฟะฮฺคือตำแหน่งที่ไม่อาจจะแยกจากกันได้ เฉกเช่นที่ฐานภาพของผู้นำและผู้ปกครองของศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺที่ไม่สามารถจะแยกออกจากตำแหน่งนบูวะฮฺนั่นเอง เพราะแท้จริง จิตวิญญาณแห่งอิสลามกับการเมืองในอิสลามคือสองส่วนที่หล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทางประวัติศาสตร์กลับกลายเป็นว่าอำนาจทางการเมืองต้องถูกแบ่งแยกจากอิมามผู้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และมิติทางการเมืองของศาสนาได้ถูกแยกออกจากมิติในทางจิตวิญญาณด้วยเช่นกัน

ถ้าผู้นำประชาชาติอิสลามมิได้เป็นบุคคลที่มีสมบัติที่เหมาะสมและคู่ควร มีความยุติธรรม มีความสำรวมตน บริสุทธิ์จากความประพฤติเสื่อมทรามและไม่เหมาะสมทางศีลธรรม อีกทั้งคำพูดและการกระทำของเขามิได้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชนแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นเขายังกลับเป็นผู้ทำลายชะรีอะฮฺและหันส้นเท้าให้กับหลักการที่ธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมแล้ว นอกจากจะไม่มีช่องว่างและบรรยากาศที่พร้อมจะตอบรับความยุติธรรมแล้ว โอกาสที่จะพัฒนาให้ก้าวไปสู่คุณธรรมความสูงส่ง เกียรติยศ ความสำรวมตน ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้อย่างสิ้นเชิง และเป้าหมายของรัฐและการปกครองในระบบอิสลาม ซึ่งได้แก่การสร้างสรรค์และจรรโลงมนุษย์ให้ตระหนักถึงปฐมเหตุอันสูงส่ง และการสร้างบรรยากาศที่บริสุทธิ์ยุติธรรมที่พร้อมจะแผ่ขยายคุณธรรมทางจิตวิญญาณ และนำข้อกฎหมายของอัลลอฮฺมาประกาศใช้จะไม่มีวันบรรลุตามเจตนารมณ์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากพฤติกรรมทางศีลธรรม แบบแผนในทางปฏิบัติของผู้นำ ผู้ปกครองและรวมถึงบทบาทของรัฐ มีผลกระทบโดยตรงต่อสังคม และมีอิทธิพลอย่างล้ำลึก ดังที่ท่านอมีรุลมุอฺมินีน (อ) ถือว่าบทบาทและอิทธิพลดังกล่าว (มีซาน ตะอ์ษีรฺ) เหนือกว่าอิทธิพลและบทบาทของบิดาผู้ให้การอบรมสมาชิกในครอบครัวเสียอีก ท่านยังได้กล่าวอีกว่า “ประชาชนมีความคล้ายคลึงกับผู้นำในด้านจรรยามารยาทยิ่งกว่าบิดาของตน”(บิหารุลอันวารฺ เล่ม 17 หน้า 129)

เมื่อสารัตถะการปกครองมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับคุณสมบัติของผู้นำนี้เอง เพื่อที่จะไปสู่เป้าหมายของรัฐอิสลามจึงขึ้นอยู่กับผู้นำซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์เพียบพร้อมในทุกมิติ
นอกจากสังคมมนุษย์จะต้องขับเคลื่อนไปสู่ความสมบูรณ์ของตำแหน่งของผู้นำและผู้ปกครอง ซึ่งเป็นความจำเป็นทางพื้นฐานทางธรรมชาติดังที่สารธรรมคำสอนอิสลามถูกประทานลงมาเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นขั้นพื้นฐาน ทั้งทางด้านปัจเจกชนและสังคม ด้านวัตถุและจิตวิญญาณนี่เอง ดังนั้น สารธรรมคำสอนนั้นจะต้องสอดคล้องและสนองตอบความจำเป็นทางธรรมชาติของพวกเขาด้วย กล่าวคือตำแหน่งผู้นำที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์นั่นเอง

พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงประสงค์ให้สรรพสิ่งบนโลกนี้ได้ขับเคลื่อนไปสู่ความสมบูรณ์ ทรงประทานสติปัญญาให้เป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือขั้นพื้นฐานให้อยู่ในการเลือกสรรเพื่อให้พวกเขาก้าวข้ามเขตแดนแห่งความอ่อนแอและความบกพร่อง ไปสู่บ้านแห่งความสมบูรณ์ จะเป็นไปได้อย่างไรที่พระองค์จะให้การฝึกอบรมมนุษย์ที่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ โดยละเลยกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานทางธรรมชาติที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ และละเลยในสิ่งที่จะเทิดฐานะทางจิตวิญญาณของพวกเขาให้สูงส่ง ?

พระผู้อภิบาลผู้ทรงประทานความสมบูรณ์ทางสรีระแก่มนุษยชาติอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง จะเพิกเฉยต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่จะมีอิทธิพลต่อการเสริมสร้างจิตวิญญาณของพวกเขาให้สูงส่ง โดยละเลยต่อการประทานความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่นี้แก่พวกเขากระนั้นหรือ ?
หลังจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ (ศ) แล้ว ประชาติอิสลามไม่อาจไปสู่ความสูงส่งทั้งในทางโลกทัศน์และวัฒนธรรมอิสลาม นอกจากจะต้องอยู่ภายใต้ร่มธงแห่งทายาทผู้เป็นตัวแทนของท่านเท่านั้น และโครงสร้างแห่งคำสอนที่อิสลามได้กำหนดไว้ เพื่อพัฒนามนุษย์ให้ไปสู่ความสูงส่งและสมบูรณ์ เพื่อมิให้สายสัมพันธ์แห่งหลักการของอิมามะฮฺต้องสิ้นสุดลง โครงสร้างแห่งคำสอนนั้น จะไร้จิตวิญญาณและไม่สมบูรณ์และไม่สามารถจะปลดปล่อยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากความหายนะและเทิดฐานะพวกเขาให้สูงส่งได้

หลักคำสอนอิสลามได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า ตราบใดที่หลักการแห่งอิมามะฮฺต้องแยกออกจากอิสลามแล้ว จิตวิญญาณแห่งบทบัญญัติที่จะเสริมสร้างความมั่นคงและความสมบูรณ์ให้อิสลาม และสังคมแห่งการยอมจำนนต่อพระผู้เป็นเจ้าก็จะสูญสิ้นไปด้วย และเมื่อนั้น ภาพลักษณ์ที่คงเหลืออยู่ก็ไม่แตกต่างซากศพที่เคลื่อนที่ได้นั่นเอง

ท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ศ) ได้วจนะไว้ว่า :-
“ผู้ที่ตายโดยไม่รู้จักอิมาม (ในยุคสมัยของตน) เขาตายในสภาพญะฮิลียะฮฺ” (มุสนัดอะหฺมัด อิบนุหัมบัล หน้า 96)

ทั้งนี้เนื่องจากยุคสมัยญาฮิลียะฮฺนั้น ประชาชนต่างพากันกราบไหว้บูชาเจว็ด พวกเขาไม่มีทั้งหลักเตาฮีด (การยอมรับในเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า) และไม่มีทั้งนบูวะฮฺ (ศาสดา) ดังนั้น วจนะที่เต็มไปด้วยวิทยปัญญาดังกล่าวได้สำแดงให้ประจักษ์ว่าท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินชีวิตทางจิตวิญญาณของมนุษย์ว่าถ้ามิได้ดำเนินอยู่ภายใต้ผู้ปกครองที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมและสมบูรณ์แล้ว การดำเนินชีวิตของเขาก็มิได้แตกต่างจากชนในยุคญาฮิลียะฮฺแต่อย่างใด และความตายของเขาก็จะมีสภาพเช่นเดียวกับผู้คนในยุคสมัยนั้นนั่นเอง





แปลและเรียบเรียงโดย เชค อบูนัสรีน