หลักศรัทธาเกี่ยวกับอิมามะฮ์ในอิสลาม
2 ภารกิจ (บทบาท) ของท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ในการกำหนดชะตากรรมและอนาคตของอิสลาม ท่านศาสดาแห่งอิสลาม (ศ) มีความตระหนักดีว่าภายหลังจากท่านแล้ว พื้นฐานและโครงสร้างแห่งเอกภาพในหมู่ประชาชาติอิสลามจะต้องพังทลายลง พวกเขาจะต้องตกอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง แตกแยก และประหัตประหารกัน และอยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ที่เลวร้ายอย่างแน่นอน
ประชาคมอิสลามที่เพิ่งจะได้รับการสถาปนาขึ้นใหม่ในยุคสมัยนั้น ประกอบไปด้วยชาวมุฮาญิรีน จากบนีฮาชิม บนีอุมัยยะฮฺ และจากเผ่าอดีย์และตีมที่อพยพมาจากนครมักกะฮฺได้หล่อหลอมรวมกับชาวอันศอรฺแห่งนครมดีนะฮฺ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มชนจากเผ่าเอาสฺ และค็อซร็อจญ์ ซึ่งเมื่อผู้นำที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเฉกเช่นท่านศาสดาของอัลลอฮฺ (ศ) ได้อำลาจากไปแล้ว ความระส่ำระสายได้บังเกิดขึ้นกับพวกเขา ไม่มีกลุ่มชนใดในท่ามกลางพวกเขาที่จะมีโลกทัศน์และความคิดที่จะธำรงไว้เพื่ออิสลาม พวกเขาสาละวนและหมกมุ่นอยู่กับการแก่งแย่งผู้นำเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงผู้นำและระบบการปกครองที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่พวกเขากลับไปสู่ผู้นำและผู้ปกครองในระบบเผ่าพันธุ์แห่งยุคสมัยญาฮิลียะฮฺอีกครั้งหนึ่ง อุดมการณ์และเป้าหมายหลัก สัมพันธภาพอันมั่นคงและถือเป็นพื้นฐานสำคัญระหว่างพวกเขาได้ขาดสะบั้นลง ดังที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ได้เตือนสำทับให้ผู้ดำเนินรอยตามแบบฉบับของท่านได้ตระหนักถึงวิกฤตการณ์ที่พวกเขาจะต้องเผชิญในอนาคต ว่า :-
“ประชาชาติของฉันจะแตกแยกเป็น 73 พวก เพียงพวกเดียวเท่านั้นที่จะได้รับความปลอดภัย ส่วนที่เหลือจะต้องเข้าสู่ไฟนรก” (เศาะหี๊หฺอิบนุมาญะฮฺ บาบฟิตนฺ )
วิกฤตการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ที่ได้สร้างความสั่นสะเทือนและสั่นคลอนเสถียรภาพและเอกภาพของประชาชาติอิสลามภายหลังการอสัญกรรมของผู้สถาปนาอิสลามแห่งโลก (ศ) และเมล็ดพันธุ์แห่งความแตกแยกได้ถูกไถหว่านในท่ามกลางพวกเขา ก็คือความขัดแย้งเกี่ยวกับผู้นำที่จะทำหน้าที่ปกครองและสืบสานภารกิจและเจตนารมณ์ต่อจากท่านศาสดา (ศ) ซึ่งได้กลายไปสู่กรณีพิพาทและวิกฤตที่เลวร้าย และสั่นคลอนเสถียรภาพและเอกภาพของประชาชาติมุสลิม และได้ทำลายความเป็นปึกแผ่นของพวกเขาลง
เป็นที่แน่นอนว่าถ้าหากท่านศาสดา (ศ) ละเลยหรือมิได้ใส่ใจต่อภัยพิบัติอันน่าสะพรึงกลัวนี้มาก่อน และมิได้ตระเตรียมการใด ๆ เพื่อรองรับสุญญากาศแห่งการขาดไร้ผู้นำและปัจจัยสำคัญที่จะสั่นคลอนเสถียรภาพของประชาคมอิสลาม และมิได้วางรากฐานหรือกำหนดโครงสร้างใด ๆ ไว้เพื่อพิทักษ์และคุ้มครองประชาชาติให้รอดพ้นจากการหลงทางแล้ว เท่ากับท่านมิได้ตระเตรียมป้องกันวิกฤตอันใหญ่หลวงที่จะประสบกับระบบการปกครองและการบริหารประชาคมมุสลิม ?
ในขณะที่การให้ความสำคัญต่อภยันตรายอันใหญ่หลวงที่สามารถทำนายล่วงหน้า ถึงแม้ว่า (โดยไม่ต้องอาศัย) จุดกำเนินแห่งวิวรณ์และองค์ประกอบของความเร้นลับใด ๆ
เป็นไปได้หรือที่ศาสดาผู้ทรงเกียรติ (ศ) ผู้ไม่เคยมีความบกพร่องในการประกาศสาสน์ของพระผู้เป็นเจ้าแม้ประเด็นเล็กน้อย แต่กลับละเลยที่จะกำหนดชะตากรรมและอนาคตของประชาคมอิสลาม และให้การคุ้มครองสัจธรรมและพิทักษ์ผู้นำศาสนา และโลกมุสลิม และมิได้มอบหมายภารกิจอันศักดิ์สิทธิให้อยู่ในอำนาจของผู้มีคุณสมบัติเพียบพร้อมโดยมิได้แต่งตั้งกัปตันเพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนนาวาแห่งประชาชาติให้สามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมแห่งวิกฤตที่จะถาโถมพวกเขา ?
กลุ่มชนที่อ้างว่าท่านศาสดา (ศ) มิได้แต่งตั้งตัวแทนเพื่อสืบสานเจตนารมณ์การปกครองประชาชาติสืบต่อจากท่านอย่างเป็นทางการ โดยท่านมิได้ดำเนินการใด ๆ ในเรื่องนี้และปล่อยให้พวกเขาเผชิญหน้ากับวิกฤตอันใหญ่หลวง ที่จะติดตามมาภายหลังจากอสัญกรรมของท่าน............?
และเมื่อพิจารณาถึงการอสัญกรรมของท่านศาสดา (ศ) ที่มิได้เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน มิหนำซ้ำท่านยังได้แจ้งพวกเขาล่วงหน้าด้วยว่า อีกไม่นานท่านจะต้องอำลาจากโลกนี้ไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านยังได้ประกาศต่อหน้าพวกเขาในพิธีหัจญะตุลวิดาอฺ (หัจญ์แห่งการอำลา) ว่าในไม่ช้านี้ฉันจะต้องจากพวกท่านไป และในปีหน้าฉันจะไม่มีโอกาสได้มาพบกับพวกท่าน ณ สถานที่แห่งนี้อีกแล้ว
อิสลามที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ในการที่จะได้รับผลนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยเวลาและความต่อเนื่องและผู้ถือธงชัยเพื่อปฏิบัติภารกิจขุดรากถอนโคนที่เพื่อทำลายรากเหง้าญาฮิลียะฮฺในอดีต
อิสลามที่กำลังตกอยู่ในห้วงภยันตรายภายใต้การคุกคามถึงสองด้าน ทั้งภัยคุกคามภายในจากพวกมุนาฟิกีนที่อาศัยร่มธงอิสลามหลอมรวมเข้ากับมวลมุสลิมได้กระจัดกระจายทั่วรัฐอิสลาม และพวกเขาคอยจ้องหาโอกาสครั้งแล้วครั้งเล่าที่จะกำจัดท่านศาสดา (ศ) และแม้กระทั่งในปีที่ 9 แห่งฮิจญ์เราะฮฺศักราชที่ท่านศาสดา (ศ) ได้นำทัพไปยังสมรภูมิตะบู๊กนั้น ท่านยังไม่ไว้วางใจต่อกลุ่มดังกล่าว ท่าน (ศ) ได้แต่งตั้งอลีย์ (อ) ให้คอยควบคุมสถานการณ์ที่อาจจะอุบัติขึ้นอย่างไม่คาดฝันในนครมะดีนะฮฺแทนท่าน อีกด้านหนึ่งคือภัยคุมคามจากภายนอกรัฐอิสลาม กล่าวคือสองมหาอำนาจผู้อหังการในยุคนั้น ทั้งโรมและอิหร่านที่พร้อมจะบุกประชิดและโจมตีศูนย์กลางอิสลามด้วยกองทัพอันมหาศาลของพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
ด้วยปัจจัยและเงื่อนไขที่อันตรายเช่นนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านศาสดา (ศ) จะต้องพิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่สามารถสืบทอดเจตนารมณ์ในการพิทักษ์แนวทางของประชาชาตินี้ เพื่อให้การเรียกร้องเชิญชวนต่อสัจธรรมปลอดภัยต่อภยันตรายทั้งปวง
แม้แต่เคาะลีฟะฮฺคนแรกก็ยังตระหนักถึงผลร้ายที่จะติดตามมาในอนาคต ถ้าหากปราศจากผู้นำที่จะทำหน้าที่ปกครอง โดยเขาไม่ปล่อยให้ประชาชนต้องระหนจากการขาดผู้นำ เพราะในขณะที่กำลังล้มเจ็บหนักอยู่นั้น เขาได้ประกาศสั่งเสียต่อประชาชนว่า “ฉันได้มอบภารกิจให้อุมัรฺ อิบนุลค็อฎฎอบ ทำหน้าที่ผู้นำและปกครองพวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำพูดของเขา” ( ตารีคยะอฺกูบีย์ เล่ม 2 หน้า 126 - 127)
แม้แต่เคาะลีฟะฮฺก็ยังมีความตระหนักดีว่าภารกิจในการแต่งตั้งผู้นำนั้น เป็นภาระหน้าที่ของเขา และยังกำชับให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของเขาอย่างเคร่งครัดอีกด้วย
ภายหลังจากที่เคาะลีฟะฮฺที่สองได้ถูกลอบทำร้าย สิ่งที่เขามีความตระหนักเช่นเดียวกับเคาะลีฟะฮฺคนแรกก็คือจำเป็นจะต้องกำหนดผู้สืบทอดเจตนารมณ์ต่อจากเขาอย่างเร่งด่วน โดยได้บัญชาให้จัดตั้งเป็นคณะชูรอ จำนวน 6 คน เพราะในขณะนั้นเขารู้ดีว่าไม่อาจจะแต่งตั้งเคาะลีฟะฮฺสืบต่อจากเขาได้โดยตรง จึงจำเป็นต้องกำหนดตัวบุคคลเป็นคณะชูรอขึ้นมาดังกล่าว
ส่วนกรณีที่ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อลีย์ (อ) ได้ยอมรับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ เนื่องจากท่านตระหนักถึงฟิตนะฮฺและวิกฤตที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และการหันส้นเท้าของพวกเขากลับไปสู่ยุคญาฮิลิยะฮฺ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายและกลับไปสู่ความไม่สงบอีกครั้งหนึ่งอย่างแน่นอน
ดังนั้น เป็นไปได้อย่างไรที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) จะไม่ตระหนักถึงภยันตรายที่จะติดตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงสภาพการณ์ที่เพิ่งจะผ่านพ้นยุคสมัยญาฮิลียะฮฺได้ไม่นาน ที่ท่านมิได้กำหนดโครงสร้างและแบบแผนใด ๆ ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้แก่ประชาชาติภายหลังจากการอสัญกรรมของท่านแล้ว ?
ย่อมไม่มีข้ออ้างที่สมเหตุสมผลและกินกับสติปัญญาว่า ท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ศ) ไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญในปัญหาดังกล่าว ไม่อาจจะจินตนาการได้เลยว่าท่านมิได้ห่วงใยในอนาคตของประชาชาติอิสลามภายหลังการจากไปของท่าน เพราะตลอดระยะเวลาแห่งการปฏิบัติภารกิจในฐานะศาสนทูต จวบจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งอายุขัยของท่าน (ศ) ท่านมีแต่ความอนาทรและห่วงใยในอนาคตและชะตากรรมประชาติของท่านตลอดเวลา
ในวินาทีวิกฤตที่ทุกคนต่างตกอยู่ในความปริวิตกท่ามกลุ่มเหล่าเศาะหาบะฮฺที่ห้อมล้อมท่านอยู่ รวมทั้งอุมัรฺ อิบนุลค็อฏฏอบ ซึ่งอยู่ ณ สถานที่นั้นด้วย ท่านได้สั่งพวกเขาว่า “จงนำกระดาษและน้ำหมึกมาให้ฉัน ฉันจะบันทึกคำสั่งเสียเพื่อประกันมิให้พวกท่านต้องหลงทาง ภายหลังจากฉัน” (มุสนัดอะหฺมัด อิบนุหัมบัล เล่ม 1 หน้า 344 – เฏาะบะกอต อิบนุสะอฺดฺ เล่ม 2 หน้า 242 – เศาะหี๊หฺบุคอรีย์ เล่ม 1 หน้า 22 – ตารีคเฏาะบะรีย์ เล่ม 2 หน้า 426)
จากหะดีษที่มีสายรายงานถูกต้องและได้รับการยอมรับอย่างเป็นเอกฉันท์ในหมู่นักปราชญ์อิสลาม ย่อมถือเป็นประจักษ์พยานได้อย่างชัดเจนว่าท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ (ศ) ได้ใช้ความเพียรพยายามที่จะแนะนำและย้ำเตือนประชาชาติของท่านถึงความสำคัญของตำแหน่งผู้นำและผู้ปกครองภายหลังจากท่าน เพราะแม้กระทั่งในบั้นปลายชีวิต ท่านยังมีความห่วงใยและคำนึงถึงอนาคตของประชาชาติและภยันตรายที่จะบังเกิดขึ้นกับพวกเขา และเพื่อที่จะพิทักษ์ประชาชาติมิให้หลงออกจากวิถีทางที่เที่ยงธรรม เพราะท่านย่อมมีความเข้าใจและตระหนักถึงอนาคตของประชาชาติของท่านดีกว่าเศาะหาบะฮฺทั้งหมดอย่างแน่นอน
ข้อสังเกตและประเด็นสำคัญที่สมควรจะหยิบยกมาพิจารณาอีกประการหนึ่งก็คือ ศาสดาที่ได้รับวิวรณ์จากฟากฟ้าทุกคนล้วนได้แต่งตั้งเอาศิยาอ์ (ตัวแทน) เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ก่อนที่ศาสดาคนต่อไปจะถูกสถาปนาจากพระองค์ทั้งสิ้น เช่นศาสดาอาดัม อิบรอฮีม ยะอฺกูบ มูสา อีสา (อลัยฮิมุสลาม – ขอความสันติจากพระองค์จงประสบแด่พวกเขา) ดังหะดีษที่ได้กล่าวถึงชื่อของตัวแทนเหล่านั้นอย่างชัดเจน (อิษบาตุลวะศียะฮฺ มัสอูดีย์ – ตารีคยะอฺกูบีย์)
ท่านเราะสูลุลลอฮฺ (ศ) ได้วจนะว่า “ทุกศาสดามีวะศีย์ (ตัวแทน) หรือวาริษ (ทายาท) และอลีย์ (อ) คือวะศีย์และวาริษของฉัน”(ตารีคอิบนุอะสากิรฺ เล่ม 3 หน้า 5 – ริยาฎุนนัฎเราะฮฺ เล่ม 2 หน้า 178)
ตามบัญชาของคัมภีร์อัลกุรฺอาน ธรรมนูญของพระผู้เป็นเจ้าจะไม่มีวันถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขฉันใด ศาสนทูต (ศ) จะต้องปฏิบัติตามธรรมนูญที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างเคร่งครัดฉันนั้น ท่านจะต้องแนะนำและแต่งตั้งตัวแทนของท่านต่อประชาชาติอิสลาม และในทางปฏิบัติท่านก็ได้ดำเนินตามวิวรณ์ของพระผู้อภิบาลเพื่อให้สาสน์แห่งอิสลามได้ธำรงคงอยู่ชั่วนิจนิรันดร ด้วยการประกาศให้ประชาชาติตระหนักถึงหน้าที่ที่พวกเขาจะต้องดำเนินตาม ซึ่งหลักความเชื่อดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งคำสอนของคัมภีร์ของพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น มุสลิมทั้งสองสำนักต่างก็มีความเชื่อตรงกันว่าท่านศาสนทูตแห่งอิสลาม (ศ) ไม่เคยประกาศแต่งตั้งทั้งอบูบักรฺ และเคาะลีฟะฮฺผู้สืบต่อจากเขาอีกสองคนให้เป็นเคาะลีฟะฮฺและตัวแทนของท่านมาก่อน และไม่ปรากฏหลักฐานจากคัมภีร์อัลกุรฺอานและสุนนะฮฺแต่อย่างใด และเมื่อพิจารณาถึงการได้มาซึ่งตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของอบูบักรฺก็ย่อมเป็นที่ประจักษ์ได้อย่างชัดเจนว่ามิได้เป็นบทบัญญัติหรือหลักคำสอนของศาสนาแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงอุบัติเหตุทางการเมืองและประวัติศาสตร์เท่านั้น ดังนั้น มุสลิมย่อมมีสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือสำแดงทัศนะถึงอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ซึ่งถือเป็นหลักตรรกะวิทยาทั่วไป แต่เป็นที่น่าประหลาดใจที่โลกสุนนีย์กลับไม่เปิดโอกาสหรืออนุญาตให้มุสลิมวิพากษ์วิจารณ์การได้มาซึ่งตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของอบูบักรฺ และยังปิดกั้นความคิดอิสระที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับคัมภีร์และสุนนะฮฺในสิ่งดังกล่าวอีกด้วย ดังนั้น เราสามารถจะสรุปได้ว่าโลกสุนนีย์ย์มีความอ่อนไหวและจิตใจที่คับแคบเกี่ยวกับกรณีคิลาฟะฮฺเป็นอย่างมาก และแน่นอนว่าการปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกมีอิทธิพลหรืออำนาจเหนือเหตุผล โลกทัศน์และการแสวงหาความรู้ของมนุษย์นั้นจะเป็นการบั่นทอนและทำลายบรรทัดฐานแห่งสัจธรรมให้พังทลายลงไปอย่างไม่ต้องสงสัย
มีต่อ...