การสนทนาเกี่ยวกับพระเจ้า
หมอ : เชิญท่านถามได้เลย
อิมาม : ท่านยอมรับไหมว่าตราบเท่าที่เมล็ดพันธ์ของต้นสมอยังไม่หยั่งลึกลงไปในดิน และความเป็นลูกสมอของมันยังไม่สูญสิ้นสลาย ต้นสมอจะไม่มีวันเจริญงอกงามขึ้นมาได้ ?
หมอ : ถูกต้องตามที่ท่านกล่าว
อิมาม : ภายหลังจากที่ลูกสมอได้เปลี่ยนสภาพเป็นต้นสมอ จนกระทั่งมันสามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลาร้อยปี ใครหรือที่ทำให้ต้นสมอนั้นสามารถดำรงอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ?
ไม่มีหนทางอื่นใดนอกจากท่านจะต้องยอมจำนนว่าเขาผู้นั้นคือ ผู้ทรงสรรสร้างต้นสมอนั่นเอง เพราะถ้าหากท่านกล่าวว่าในช่วงเวลานั้นไม่มีลูกสมออื่นใด ย่อมเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง
หมอ : เปล่าเลย ฉันไม่เชื่อว่าลูกสมอคือตัวที่ทำให้ต้นสมอเจริญงอกงามขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าว
อิมาม : ถ้าเช่นนั้น ท่านกำลังยอมรับว่าพระผู้เป็นเจ้าคือผู้ทรงสรรสร้างต้นสมอตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลาย หรือว่าท่านยังคงงุนงงสงสัยอยู่อีก ?
หมอ : ฉันกำลังงุนงงและสับสน
อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ทราบดีว่าสาเหตุที่หมอผู้นี้ยังลังเลและสับสนอยู่นั้น ก็เนื่องจากเขาไม่สามารถขจัดข้อกังขา “วิถีที่จะทำความรู้จักพระผู้เป็นเจ้า” นั่นเอง และสาเหตุจากการที่เขามีความเชื่อว่าวิถีที่จะทำความรู้จักกับสรรพสิ่งทั้งหลายได้นั้นจะต้องอาศัยสื่อจากประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง เขาจึงไม่ยอมรับการมีอยู่ของพระเจ้า แต่เนื่องจากท่านอิมามได้อธิบายในประเด็นดังกล่าวมาอย่างเพียงพอแล้ว ท่านจึงได้นำเสนอวิถีที่จะทำความรู้จักพระองค์ขึ้นมากล่าวกับเขาว่า :-
เราทั้งสองมีความเข้าใจที่กลับตาลปัตรกัน
ในขณะที่ท่านเชื่อว่า :-
“การที่จะสามารถทำความรู้จักสรรพสิ่งทั้งหลายได้นั้น สติปัญญาจะต้องพึ่งพาอาศัยสื่อจากประสาทสัมผัสทั้งห้า”
แต่ฉันกลับมีความเชื่อว่า :-
“ประสาทสัมผัสทั้งห้าต่างหากที่จะต้องพึ่งพาอาศัยสติปัญญาในการทำความรู้จักสรรพสิ่งทั้งมวล” ( ผู้ที่ปรารถนาจะแสวงหารายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาจากหนังสือ “ฟัลสะฟะตุนา” (ปรัชญาของเรา) จากบทประพันธ์ของท่านชะฮีด สัยยิดมุหัมมัด บากิรฺ ศ็อดรฺ หน้าที่ 27 ภายใต้หัวข้อ “ทัศนะเกี่ยวกับประสาทสัมผัส” และหน้าที่ 47 ภายใต้หัวข้อ “ตรรกะที่อนุมานจากประสบการณ์”)
หมอ : ตราบเท่าที่ยังไม่มีหลักฐานและข้อพิสูจน์ ฉันไม่อาจที่จะพบความกระจ่างในประเด็นดังกล่าวนี้ได้
อิมาม : ท่านเคยทราบใช่ไหมว่าบางครั้งประสาทบางส่วนหรือทุกส่วนจะหยุดการทำงาน และวิญญาณจะเข้ามาคอยควบคุมร่างกายของเราแทนที่ ?
หมอ : คำพูดดังกล่าวดูเหมือนว่าจะถือเป็นหลักฐานและคำตอบแล้วละ เพียงแต่ท่านจะช่วยขยายความให้ชัดเจนกว่านี้หน่อยได้ไหม ?
อิมาม : ท่านยอมรับไหมว่าภายหลังจากที่ประสาททุกส่วนได้หยุดการทำงานไปชั่วขณะหนึ่งนั้น แต่ทว่าวิญญาณยังคงอยู่กับเรือนร่างของเรา ?
หมอ : แน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อประสาทหยุดการทำงาน สติปัญญาก็ไม่อาจที่จะรับรู้สิ่งใด ๆ ได้อีกต่อไป
อิมาม : ท่านทราบดีใช่ไหมว่าทารกแรกคลอดจากครรภ์มารดาไม่สามารถที่จะอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าได้
หมอ : ถูกต้อง
อิมาม : เมื่อเป็นเช่นนั้น แล้วประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ชี้นำทารกน้อยให้ร่ำร้องเรียกหาเมื่อเขาหิวหรือกระหายนม ?
และประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ทำให้ทารกน้อยสามารถหัวเราะขึ้นมาได้ภายหลังจากที่เขาได้ดื่มนมจนอิ่มหนำสำราญแล้ว ?
ประสาทสัมผัสส่วนใดของนกที่กินเนื้อสัตว์เป็นอาหารหรือที่บงการหรือชี้นำให้มันรู้ว่าสัตว์ชนิดไหนที่เป็นเหยื่อของมัน เพื่อที่มันจะได้ร่อนลงไปหาเหยื่อของมันได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ?
และประสาทสัมผัสส่วนใดของนกที่กินเมล็ดพืชเป็นอาหารหรือที่ชี้นำให้มันร่อนลงไปหาเหยื่อเฉพาะที่เป็นเมล็ดพืชเท่านั้น ?
มาตรแม้นว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าคือสื่อที่ชี้นำให้นกทั้งสองชนิดสามารถจำแนกเหยื่อของมัน ทั้ง ๆ ที่นกทั้งสองต่างก็มีประสาทสัมผัสทั้งห้าที่ไม่แตกต่างกันแล้วไซร้ แล้วเหตุใดนกชนิดหนึ่งจึงบินร่อนลงไปหาเหยื่อที่เป็นเมล็ดพืช ในขณะที่นกอีกชนิดหนึ่งกลับร่อนไปหาเหยื่อที่เป็นเนื้อสัตว์เท่านั้น ?
ประสาทการรับรู้ที่ทำให้นกชนิดหนึ่งรู้ว่าเมล็ดพืชเท่านั้นที่เหมาะสมและคู่ควรกับระบบภายในกระเพาะลำไส้ของมัน ในขณะที่ประสาทการรับรู้ของนกอีกชนิดหนึ่งรู้ว่าเฉพาะเนื้อสัตว์เท่านั้นที่เหมาะสมกับระบบภายในร่างกายของมัน ดังนั้น นกทั้งสองชนิดนี้ใช้ประสาทสัมผัสส่วนใดในการเรียนรู้ถึงเหยื่อของมัน ?
ด้วยเหตุใดเมื่อลูกนกชนิดที่หากินอยู่ในน้ำถูกปล่อยให้ลงน้ำในครั้งแรก มันจึงสามารถว่ายน้ำได้โดยไม่สำลักหรือจมน้ำ ในขณะที่เมื่อปล่อยให้ฝูงนกที่หากินบนบกให้ลงน้ำ มันจะจมลงทันที ทั้ง ๆ ที่นกทั้งสองชนิดนี้มีประสาทสัมผัสทั้งห้าเช่นเดียวกัน ?
แล้วด้วยสาเหตุใดที่ประสาทสัมผัสทั้งห้าสามารถช่วยให้นกประเภทแรกสามารถหากินอยู่ในน้ำได้ แต่ไม่อาจจะช่วยให้นกประเภทที่สองทำเช่นนั้นได้ ? ....
ด้วยเหตุผลกลใดหรือที่เมื่อมดตัวเล็ก ๆ ตกลงไปในน้ำทั้ง ๆ ที่มันไม่เคยเรียนรู้การว่ายน้ำมาก่อน แต่มันกลับสามารถว่ายน้ำได้ ในขณะที่มนุษย์อายุ 50 ปีที่เต็มไปด้วยพละกำลังและมีความรอบรู้สารพัดอย่าง ถ้าไม่เคยผ่านการฝึกฝนการว่ายน้ำมาก่อน เขาจะต้องสำลักและจมน้ำ?
มาตรว่าเฉพาะประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้นที่สามารถใช้เป็นสื่อในการทำความรู้จักสรรพสิ่งที่มีอยู่บนโลกนี้แล้ว เหตุใดมนุษย์ที่พรั่งพร้อมไปด้วยสติปัญญา ประกอบไปด้วยประสาทสัมผัสที่สมบูรณ์ ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชนยาวนาน และอยู่ใต้เงื่อนไขเดียวกัน นั่นคือทั้งสองต่างไม่เคยเรียนรู้การว่ายน้ำมาก่อน แต่ทว่ามนุษย์กลับไม่มีความสามารถเฉกเช่นที่มดมีได้ ?
ตัวอย่างข้างต้นยังไม่เพียงพออีกหรือที่จะทำให้ท่านเข้าใจว่าทารกน้อยที่ร่ำร้องเรียกหานมเมื่อหิว วิหกน้อยที่จิกกินเมล็ดพืชเป็นอาหารเมื่อมันร่อนหาเหยื่อที่เป็นเมล็ดพืชเท่านั้น และลูกนกที่กินเนื้อเป็นอาหารเมื่อมันตามล่าหาเฉพาะเหยื่อที่เป็นเนื้อสัตว์ ว่ามันคือวิญญาณซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของสมอง ?
เมื่อหมอผู้นี้ไม่สามารถที่จะให้คำตอบใด ๆ ได้ เขาจึงกล่าวขึ้นว่า
“จะให้ฉันไม่ยอมรับได้อย่างไรว่าสติปัญญาที่ปราศจากประสาทสัมผัสจะสามารถสัมผัสและรับรู้ในสรรพสิ่งต่าง ๆ ได้ ?”
เมื่อท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) เห็นว่าหมอผู้นั้นต้องการที่จะพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าด้วยวิถีแห่งประสาทสัมผัส ท่านจึงได้สาธยายอย่างละเอียดลออเพื่อให้เขาได้ประจักษ์ว่าสติปัญญาสามารถทำความรู้จักพระองค์ด้วยการพิจารณาใคร่ครวญและสังเกตปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่บนโลกนี้โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า หลังจากนั้น ท่านได้อรรถาธิบายอีกด้วยว่าวิญญาณซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของสมองก็ยังสามารถที่จะใช้เป็นสื่อในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าได้เช่นเดียวกัน โดยท่านเริ่มจากการตั้งคำถามขึ้นว่า :-
“ท่านเคยฝันว่ากำลังรับประทานอาหารที่มีรสชาติเอร็ดอร่อย หรือขณะที่กำลังดื่มเครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานฉ่ำเย็นชื่นใจบ้างไหม ?”
หมอ : ครับ ฉันเคยฝันเช่นนั้นมาก่อน
อิมาม : แล้วเคยมีบ้างไหมที่ท่านฝันว่ากำลังหัวเราะหรือร้องไห้ หรือฝันว่าได้เดินทางท่องเที่ยวไปตามเมืองต่าง ๆ ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงท่านไม่เคยไปประสบพบพานมาก่อน หรืออาจจะเคยไปมาก่อนก็ตาม โดยที่ท่านสามารถบันทึกภาพแห่งความทรงจำเกี่ยวกับสาระสำคัญของเมืองนั้น ๆ ได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนอีกด้วย ?
หมอ : ใช่ครับ นับครั้งไม่ถ้วนเชียวล่ะ
อิมาม : แล้วท่านเคยฝันเห็นญาติพี่น้องของท่านที่ได้ล่วงลับไปแล้วในสภาพเช่นเดียวกับขณะที่เขายังมีชีวิตอยู่บ้างไหม ?
หมอ : ใช่ครับ นี่ก็นับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน
อิมาม : ในขณะที่ท่านนอนหลับ ประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ทำให้ท่านได้รับรู้รสชาติแห่งความเอร็ดอร่อยของอาหารและเครื่องดื่ม หรือทำให้ท่านได้พบเห็นสรรพสิ่งที่สวยสดงดงามในการท่องเที่ยว หรือทำให้ท่านหัวเราะและร้องไห้ หรือทำให้ท่านได้รู้จักกับผู้ตายและได้สนทนากับพวกเขา ?
หมอ : ฉันไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้ว่ามันคือประสาทสัมผัสส่วนใด เพราะว่าในขณะที่เรากำลังหลับใหลอยู่นั้น ประหนึ่งว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าได้ยุติภารกิจของมัน ซึ่งมีสภาพไม่ต่างจากคนที่ตายไปแล้ว กล่าวคือเราไม่อาจจะได้ยินหรือมองเห็นสิ่งใด ๆ ได้อย่างสิ้นเชิง
อิมาม : ภายหลังจากที่ท่านได้ตื่นขึ้นมา ท่านสามารถที่จะเล่าเรื่องราวแห่งความฝันนั้นได้ไหม ?
หมอ : แน่นอน ยิ่งไปกว่านั้น บางครั้งฉันยังฝันเห็นเหตุการณ์บางอย่างก่อนที่มันจะอุบัติขึ้นจริงเสียอีก ซึ่งในเวลาต่อมาเหตุการณ์นั้นก็ได้อุบัติขึ้นมาเหมือนกับที่ฉันได้ฝันเอาไว้อย่างไม่ผิดเพี้ยน
อิมาม : แล้วประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ทำให้ท่านสามารถจดจำและย้อนรำลึกถึงเรื่องราวแห่งความฝันได้อย่างถูกต้องแม่นยำภายหลังจากที่ท่านได้ตื่นขึ้นมา ?
หมอ : ประสาทสัมผัสไม่มีส่วนร่วมใด ๆ ในความฝันของเรา
อิมาม : ด้วยเหตุนี้ ท่านจะยังไม่ยอมรับอีกหรือว่าวิญญาณซึ่งเป็นศูนย์รวมของสมองนั่นเองที่เป็นสื่อกลางที่คอยควบคุมบัญชาการในขณะที่เรากำลังหลับ ?
หมอ : แต่สิ่งที่เราได้เห็นในความฝันนั้นมันเป็นแค่ภาพลวงตา (Mirage) เท่านั้น เมื่อเรามองเห็นภาพลวงตาจากสถานที่ที่ไกลลิบ ในครั้งแรกเราเข้าใจว่าจะต้องมีน้ำอยู่เบื้องหน้าอย่างแน่นอน แต่เมื่อเข้าไปใกล้ ๆ เรากลับไม่พบเห็นสิ่งใดเลย ในทำนองเดียวกัน ความฝันก็เป็นเฉกเช่นนี้แหละ
อิมาม : เป็นการถูกต้องและสอดคล้องกับความเป็นจริงแล้วหรือที่ท่านอุปมาอุปมัยความฝันกับภาพลวงตา ? ท่านไม่เคยฝันว่ากำลังรับประทานส้มที่มีรสเปรี้ยวจัด หรือทานขนมหวาน หรือฝันว่าท่านกำลังมีความสนุกสนานรื่นเริง หรือเต็มไปด้วยความเศร้าหมองบ้างหรืออย่างไร ?
หมอ : เพราะฉันไม่พบเห็นสิ่งใดเมื่อไปถึงสถานที่ที่เคยเป็นภาพลวงตา เช่นเดียวกับที่เมื่อฉันตื่นขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างในความฝันของฉันมันได้อันตรธานจนหมดสิ้น
อิมาม : ท่านจะยอมจำนนในข้อพิสูจน์ของฉันไหม ถ้าฉันจะกล่าวถึงสิ่งที่ท่านได้เคยประสบพบเห็นในความฝันซึ่งทำให้ท่านสุขสันต์พร้อมกับมีร่องรอยปรากฏอย่างชัดเจน ว่าเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับภาพลวงตาที่ปราศจากร่องรอยใด ๆ อย่างสิ้นเชิง ?
หมอ : แน่นอน
อิมาม : ท่านเคยฝันว่าได้ร่วมประเวณีกับสตรีที่ท่านรู้จัก หรือแม้กระทั่งกับสตรีที่ท่านไม่เคยรู้จักมาก่อนบ้างไหม ?
หมอ : ใช่ครับ นับครั้งไม่ถ้วน
อิมาม : ความสุขสมเมื่อท่านร่วมประเวณีในฝัน ไม่เทียบเท่ากับการร่วมประเวณีในขณะที่ตื่นหรืออย่างไร ? แล้วในขณะที่ท่านฝันว่ากำลังร่วมประเวณีนั้น อสุจิมิได้หลั่งออกมาเช่นเดียวกับขณะที่ตื่นหรืออย่างไร ?
นี่คือคำตอบที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าข้อโต้แย้งของท่านที่ว่าความฝันมิได้แตกต่างกับภาพลวงตานั้น เป็นสิ่งที่โมฆะ
หมอ : ประสาทสัมผัสของผู้ที่ฝันเปียก ก็คือประสาทสัมผัสส่วนเดียวกับขณะที่เขาตื่นนั่นเอง
อิมาม : คำพูดดังกล่าวเท่ากับเป็นการตอกย้ำทัศนะและความเชื่อของฉันนั่นเอง ทั้งนี้เนื่องจากท่านกำลังสารภาพออกมาโดยไม่รู้ตัวว่าภายหลังจากที่ประสาทสัมผัสทุกส่วนยุติการทำงานนั้น แต่ทว่าสมองยังคงทำงานและสามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ต่อไป ฉะนั้น ท่านจะยังปฏิเสธอีกหรือว่าสมองมิได้ยุติบทบาทของมันในขณะที่ประสาทส่วนต่าง ๆ ยุติการทำงานลง ?
หมอ : ฉันไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าท่านจะสามารถขจัดข้อข้องใจเกี่ยวกับการทำความรู้จักพระเจ้าได้ บัดนี้ คำอธิบายของท่านชัดเจนจนฉันไม่อาจจะโต้แย้งได้อีกแล้ว
อิมาม : ท่านจะอนุญาตให้ฉันตอกย้ำถึงสัจธรรมดังกล่าวในวันนี้ไหม ?
หมอ : แล้วแต่ท่านจะเห็นสมควรเถิด เพราะฉันไม่มีสิ่งใดที่จะหยิบยกขึ้นมาโต้แย้งท่านอีกแล้ว
อิมาม : ท่านเห็นด้วยไหมว่า ในการเริ่มต้นประกอบอาชีพการงาน ไม่ว่าจะด้านธุรกิจการค้าก็ดี อุตสาหกรรมก็ดี หรือวิศวกรผู้ออกแบบตึกรามบ้านช่องก็ดี สิ่งแรกที่ท่านจะต้องตระเตรียมก็คือ การคิดใคร่ครวญอย่างรอบคอบและวางแผนงานอย่างเป็นระบบ หลังจากนั้นจึงจะตัดสินใจเลือกสิ่งที่ท่านพิจารณาแล้วว่ามีความเป็นไปได้มากที่สุด และน่าจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ก่อนที่จะลงมือสู่ภาคปฏิบัติ ?
หมอ : ถูกต้องตามที่ท่านกล่าว
อิมาม : แล้วประสาทสัมผัสส่วนใดหรือที่ช่วยให้ท่านคิดใคร่ครวญในสิ่งดังกล่าว ?
หมอ : ไม่มี
อิมาม : ท่านไม่ทราบหรือว่าสมองของท่านคือสื่อที่ทำหน้าที่จำแนกแยกแยะความจริงเท็จให้แก่ท่าน ?
หมอ : เป็นความจริงตามที่ท่านกล่าว ขอท่านได้โปรดอธิบายเพิ่มเติมเพื่อขจัดข้อคลางแคลงสงสัยให้อันตรธานหายไปจากหัวใจของฉันอย่างสิ้นเชิงด้วยเถิด
ท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ได้สนทนาและสาธยายให้หมอชาวอินเดียผู้นี้จนหัวใจของเขาอิ่มเอิบไปด้วยสัจธรรมความจริง และแล้วในที่สุด หมอที่เคยปฏิเสธสัจธรรมความจริงผู้นี้ได้ยอมจำนนและกล่าวสารภาพออกมาอย่างเต็มภาคภูมิว่า :-
“ข้าฯ ขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮฺ
พระองค์คือผู้ทรงเอกะ
ไม่มีภาคีใด ๆ สำหรับพระองค์”
มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว
(บิหารุลอันวารฺ เล่ม 3 หน้า 152 - 193)
2. อิมามศอดิก (อ)กับอบูชากิรฺ
ประเด็นสนทนา
- การรู้จักพระเจ้า
- สาเหตุของการมีศาสนา
- ปรัชญาและวิทยาการ
ท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) มีสานุศิษย์ที่ให้ความสนใจศึกษาวิชาการต่าง ๆ จากท่านอย่างมากมาย ภายหลังจากบทเรียนได้ผ่านไปในแต่ละวัน ท่านจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีข้อข้องใจในเชิงวิชาการและปัญหาทั่วไปได้ซักถามอย่างเต็มที่ และท่านจะตอบทุก ๆ คำถามของพวกเขา
บ่อยครั้งที่ข้อซักถามและการสนทนาได้ยืดเยื้อยาวนานจนกระทั่งท่านไม่สามารถจะกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่บ้านได้ ด้วยเหตุนี้ ท่านจะไหว้วานให้สาวกของท่านไปซื้อขนมปังมาก้อนหนึ่ง ท่านจะรับประทานขนมปังเปล่า ๆ เพียงไม่กี่คำ หลังจากนั้น ท่านจะเริ่มสนทนาต่อไป
ท่านจะขอร้องมิให้สานุศิษย์หยิบยกประเด็นข้อโต้แย้งก่อนที่จะจบบทเรียนเสียก่อน แต่หลังจากนั้น ไม่ว่าพวกเขามีข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถซักถามได้อย่างเต็มที่
โดยปกติแล้ว บทเรียนจะสิ้นสุดยุติลงเมื่อเข้าเวลานมาซซุฮรฺ (บ่าย) หลังจากนมาซ ท่านจึงจะเดินทางกลับบ้านของท่าน
วันหนึ่ง ภายหลังจากนมาซได้เสร็จสิ้นลง มีชายคนหนึ่งชื่อ “อบูชากิรฺ” ได้เข้ามาหาท่านพร้อมกับกล่าวว่า :-
“ฉันมีข้อข้องใจที่จะซักถาม ท่านจะอนุญาตให้ฉันซักถามได้อย่างเต็มที่ไหม ?”
อิมาม : เชิญท่านตามสบายเถิด
การเชื่อในพระเจ้าเป็นเรื่องไร้สาระกระนั้นหรือ?!
อบูชากิรฺ : เหตุใดท่านจึงหลอกลวงสานุศิษย์และประชาชนทั้งหลายให้คล้อยตามตำนานและพงศาวดารที่เหลวไหลไร้สาระด้วยเล่า ?
อิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) ตำนาน – พงศาวดาร อะไรหรือ ?
อบูชากิรฺ : เรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้ามิใช่อื่นใดนอกจากเป็นเพียงตำนานและนิยายปรัมปราที่ท่านหยิบยกขึ้นมาเพื่อชี้นำให้ประชาชนคล้อยตามและยอมรับในสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเท่านั้น
ประสาทสัมผัส คือหนทางเดียวที่จะรู้จักสรรพสิ่งทั้งหลาย?
อบูชากิรฺยังได้กล่าวต่อไปว่า :“เฉพาะประสาทสัมผัสทั้งห้าเท่านั้นที่จะใช้พิสูจน์ถึงการมีอยู่จริงของสรรพสิ่งบนโลกนี้” เมื่อเราไม่สามารถจะใช้ประสาทสัมผัสดังกล่าวพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้า ฉะนั้น จึงสรุปได้อย่างง่ายดายว่า “ไม่มีพระเจ้า”
ท่านอาจจะแย้งขึ้นมาก็ได้ว่า “แม้ว่ามนุษย์จะไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้า แต่พวกเขายังมี “ประสาทสัมผัสภายใน” เพื่อใช้พิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระองค์
คำโต้แย้งเช่นนี้ก็ยังไม่ถูกต้องอยู่ดี ทั้งนี้เนื่องจาก “ประสาทสัมผัสภายใน” จะต้องอาศัยห้าประสาทสัมผัสภายนอกอยู่นั่นเอง ถ้าแน่จริง ไหนท่านลองจินตนาการอะไรก็ได้สักอย่างหนึ่งขึ้นมาในสมองของท่านโดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัสภายนอกซิ
เมื่อท่านจินตนาการถึงเพื่อนที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าท่าน ถ้ามิใช่เพราะประสาทตา ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะมองเห็นเขา หรือถ้ามิใช่เพราะประสาทหู ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะได้ยินเสียงของเขา หรือเมื่อท่านจับมือของเขา ท่านจะต้องอาศัยประสาทส่วนนั้นช่วยในการรับรู้ดังกล่าว มิฉะนั้น ท่านก็ไม่สามารถที่จะสัมผัสมือของเขาโดยอาศัยประสามสัมผัสภายในเพียงอย่างเดียวได้
ฉะนั้น ประสาทสัมผัสภายในจะต้องอาศัยประสาทสัมผัสทั้งห้าเสมอ และตราบใดที่ประสาทดังกล่าวไม่ทำงาน ท่านจะไม่สามารถรับรู้และสัมผัสสิ่งใดได้เลย ด้วยเหตุนี้เอง ถ้าหากท่านจะอ้างว่า “ฉันรู้จักพระเจ้าด้วยประสาทสัมผัสภายใน” จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะยอมรับได้
หรือถ้าท่านจะโต้แย้งว่า “ฉันรู้จักพระเจ้าโดยมิได้อาศัยทั้งประสาทสัมผัสภายนอกและภายใน แต่อาศัยสมองและสติปัญญาต่างหาก”
นี่ก็เป็นข้อโต้แย้งที่ไม่อาจจะยอมรับได้เช่นเดียวกัน เพราะสมองที่ปราศจากประสาทสัมผัสทั้งห้าย่อมไม่มีวันที่จะรับรู้และทำความรู้จักสิ่งใดได้ ถ้าแน่จริง ไหนท่านลองพิสูจน์สิ่งใดก็ได้โดยไม่ต้องอาศัยประสาทสัมผัส ถ้าท่านสามารถทำได้ เมื่อนั้น ฉันจึงจะยอมรับว่าสมองสามารถนำมาพิสูจน์ถึงการมีอยู่ของพระเจ้าได้จริง
พระเจ้าที่ท่านเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้เคารพสักการะนั้นมิใช่อื่นใด นอกจากเป็นสิ่งที่ท่านจินตนาการหรือคิดขึ้นมาเองทั้งสิ้น
ท่านได้จินตนาการสิ่งหนึ่งขึ้นมาให้อยู่ในรูปลักษณ์หนึ่งซึ่งเมื่อท่านสนทนา มโนภาพจะคอยหลอกท่านว่ามันเป็นผู้พูด ในทำนองเดียวกัน เมื่อท่านรับประทานอาหาร หรือเข้านอน มันจะคอยหลอกหลอนว่าเป็นผู้รับประทานหรือเข้านอน แต่เนื่องจากท่านมีเจตนาแฝงเร้นเพื่อที่จะรักษาฐานภาพ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และได้รับการเชื่อถือในวงสังคม ท่านจึงปิดบังอำพรางมิให้ผู้ใดล่วงรู้ แล้วหลอกพวกเขาว่าพระเจ้าเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะมองเห็นได้ตลอดกาล และพระองค์มิทรงประสูติ และไม่ทรงถูกประสูติ
เจว็ดของชาวฮินดู
พระเจ้าของท่านที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาก็ไม่ต่างไปจากเจว็ดที่ถูกปิดกั้นด้วยม่านของพวกฮินดูนั่นเอง ในประเทศอินเดีย มีรูปปั้นอยู่ตัวหนึ่งที่ถูกปกปิดด้วยผ้าม่านจากทางด้านหน้าของมัน ซึ่งไม่มีมนุษย์คนใดจะสามารถมองเห็นมันได้ บรรดาเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาศาสนสถานแห่งนี้จะพากันโฆษณาชวนเชื่อว่าเจว็ดดังกล่าวจะไม่ยินยอมให้มนุษย์คนใดได้เห็นมันโดยเด็ดขาด เพราะมันรู้ดีว่าใครก็ตามที่ได้เห็นมัน บุคคลผู้นั้นจะต้องมีอันเป็นไปและต้องตายในทันที !
กรณีข้างต้นมิได้มีความแตกต่างกับสิ่งที่ท่านกล่าวอ้างแต่อย่างใด ดังที่ท่านกล่าวว่าพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสรรสร้างโลกนี้ที่ไม่มีใครสามารถมองเห็นพระองค์ได้อย่างสิ้นเชิง และไม่มีใครสามารถได้ยินเสียงของพระองค์ นอกจากผู้เป็นศาสดาของพระองค์เท่านั้น
ฉันขอคัดค้านและโต้แย้งว่าไม่มีผู้ใดสร้างโลกนี้ขึ้นมา ทว่ามันได้บังเกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ท่านเชื่อว่ามีผู้ไปปลูกต้นหญ้าตามท้องทุ่งนากระนั้นหรือ ? ท่านเชื่อว่ามีผู้ให้กำเนิดมดแมลงและยุงกระนั้นหรือ ? หรือว่าสรรพสิ่งทั้งหลายล้วนบังเกิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ?
....ไม่มีวันที่ฉันจะหลงเชื่อและคล้อยตามนิทานปรัมปราที่เต็มไปด้วยสิ่งไร้สาระของท่านหรอก ไม่มีทางที่ฉันจะยอมรับในพระเจ้าที่ไม่อาจมองเห็นได้ของท่าน ฉันจะกราบไหว้บูชาเฉพาะพระเจ้าที่ฉันสามารถมองเห็นด้วยตา และได้ยินด้วยหูทั้งสองของฉันเท่านั้น ถ้าพระเจ้าไม่ทรงมีสุรเสียง อย่างน้อยที่สุดเราจะต้องสามารถสัมผัสพระองค์ได้ด้วยมือ เมื่อนั้นฉันจึงจะยอมจำนนในพระองค์
...เหตุใดท่านจึงหลอกลวงประชาชนให้หลงทางด้วยเทพนิยายไร้สาระ ? เหตุใดท่านจึงไม่ปล่อยให้พวกเขาเชื่อถือศรัทธาในสารัตถะความจริงแทนการคล้อยตามอย่างลม ๆ แล้ง ๆ ในเทพนิยายที่ไร้สาระด้วยเล่า ?
มนุษย์เราต่างหากคือผู้สร้างที่แท้จริง หาใช่พระเจ้าตามที่ท่านเข้าใจไม่ ฉันเป็นผู้บรรจงแกะสลักและสร้างพระเจ้าด้วยมือของฉันเอง แต่พระเจ้าของท่านมิใช่อื่นใด นอกจากมโนภาพที่คอยหลอนหลอกท่านเท่านั้น
ตลอดระยะเวลาที่อบูชากิรฺสนทนาอยู่นั้น อิมามมิได้ขัดจังหวะหรือโต้แย้งคำพูดของเขาแม้แต่ครั้งเดียว มีอยู่สองสามครั้งที่สานุศิษย์ของท่านที่ร่วมนั่งฟังอยู่ ณ สถานที่แห่งนั้นพยายามที่จะตอบโต้คำพูดของเขา ทว่าท่านอิมามได้ใช้สัญลักษณ์เตือนพวกเขามิให้แสดงปฏิกิริยาใด ๆ ออกมา
หลังจากที่อบูชากิรฺได้กล่าวจบลง ท่านอิมามยังคงนิ่งเงียบ ประหนึ่งว่าถ้าเขามีสิ่งใดที่จะกล่าวเพิ่มเติมแล้วละก้อ ท่านยังคงเปิดโอกาสให้เขาอยู่เสมอ
เวลาได้ผ่านพ้นไปชั่วขณะ ท่านอิมามจึงได้ถามขึ้นว่า ท่านยังมีสิ่งใดที่จะกล่าวอีกไหม ?
อบูชากิรฺ : คำพูดสุดท้ายของฉันก็คือ พระเจ้าที่ไม่สามารถมองเห็นดังที่ท่านนำมามอมเมาประชาชนนั้น ก็เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง เกียรติยศ ชื่อเสียง ทรัพย์ศฤงคาร และความสุขสบายส่วนตัวของท่านเท่านั้น นอกจากนี้ฉันก็ไม่มีอะไรจะกล่าวกับท่านอีกแล้ว
คำตอบของอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม)
ท่านอิมาม : (อลัยฮิสลาม) :- ต่อไปนี้ อนุญาตให้ฉันได้ตอบข้อโต้แย้งของท่านบ้าง และฉันจะขอเริ่มต้นจากประเด็นสุดท้ายก่อน
ตามที่ท่านกล่าวว่า สาเหตุที่ฉันเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ศรัทธาและเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้า เพียงเพื่อแสวงหาเกียรติยศชื่อเสียง ความมั่งคั่งร่ำรวย และความสุขสบายส่วนตัวนั้น มาตรว่าการดำเนินชีวิตของฉันมีสภาพเฉกเช่นผู้ปกครอง (เคาะลีฟะฮฺ) ในยุคปัจจุบันแล้วไซร้ ถือว่าข้อกล่าวหาของท่านเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทว่าในวันนี้ท่านก็ได้เห็นแล้วว่าอาหารที่ฉันรับประทานมื้อที่ผ่านมาว่ามีอะไรบ้าง นอกจากขนมปังเปล่าเพียงไม่กี่คำ และในค่ำคืนนี้ฉันขอเชื้อเชิญท่านไปยังบ้านของฉัน เพื่อท่านจะได้เป็นสักขีพยานอีกครั้งหนึ่งว่าอาหารค่ำของฉันมีอะไร และเครื่องใช้ภายในบ้านของฉันมีอะไรบ้าง ?
มาตรแม้นว่าฉันปรารถนาจะแสวงหาทรัพย์สินเงินทอง หรือเพื่อตักตวงความสุขในโลกนี้ตามที่ท่านกล่าวหาแล้วไซร้ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ฉันจะอาศัยวิถีทางแห่งการเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าเพื่อที่จะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ฉันสามารถที่จะแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยด้วยวิถีทางแห่งการประกอบอาชีพ เช่นเป็นนักเคมี ( เจตนารมณ์ในที่นี้ก็คือวิทยาการด้านเคมีที่ท่านอิมามศอดิก (อลัยฮิสลาม) มีความรอบรู้อย่างแท้จริงนั่นเอง )
หรือมิฉะนั้นฉันก็สามารถที่จะลงทุนประกอบกิจการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉันมีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในประเทศต่าง ๆ เหนือกว่าพ่อค้าวานิชทั้งหลาย ยิ่งไปกว่านั้น ฉันยังทราบดีว่าในแต่ละประเทศมีผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่สำคัญใดบ้าง และสมควรจะนำสินค้าใดไปจำหน่ายในประเทศเหล่านั้นเพื่อที่จะทำกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย