เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การประทานกุรอานกับการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 การประทานกุรอานกับการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ)


 อัลกุรอาน กล่าวว่า :

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنْزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ

“เดือนรอมฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา” (บทอัลบะเกาะเราะฮ์โองการที่ 185)

 

إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةٍ مُبَارَكَةٍ

“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ” (บทดุคอน โองการที่ 3)

 

إِنَّا أَنْزَلْنَاهُ فِي لَيْلَةِ الْقَدْرِ

“แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดร์” (บทก็อดร์ โองการที่ 1)

 

     

มุสลิมทั้งหลายรู้ดีว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตเมื่อท่านอายุ 40 ปี (ประมาณ ปี ค.ศ. 610 หรือ 611) ในเมืองมักกะฮ์ และก็รู้ว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งในถ้ำฮิรออ์ โดยอัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ทรงประทาน โองการช่วงต้นของซูเราะฮ์ (บท) อะลักลงมาด้วย สองประเด็นดังกล่าวเป็นสิ่งที่มุสลิมทั้งหลายให้การยอมรับ แต่มีประเด็นที่มีการขัดแย้งกันอย่างรุนแรงคือ การแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เกิดขึ้นเมื่อใด ซึ่งประเด็นนี้เองเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องการประทานกุรอานลงมาในครั้งแรกด้วย

     

มีทัศนะมากมาย เกี่ยวกับเรื่องการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) :

ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 27 เดือนรอญับ
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 17 เดือนรอมฎอน
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 18 เดือนรอมฎอน
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 24 เดือนรอมฎอน
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 12 เดือนรอบิอุลเอาวัล
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งคืนวันที่ 15 เดือนชะอ์บาน
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 8 เดือนรอบิอุลเอาวัล
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งวันที่ 3 เดือนรอบิอุลเอาวัล
     

ส่วนชีอะฮ์เชื่อว่าท่านศาสดา(ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งในวันที่ 27 เดือนรอญับ โดยยึดหลักฐานจากรายงานฮะดีษมากมายที่รายงานมาจากบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ โดยเชื่อว่าบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดา(ซ็อลฯ) ย่อมรู้ดีกว่าผู้อื่นในเรื่องของการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อย่างแน่นอน ซึ่งบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ได้รายงานฮะดีษเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างมากมาย ซึ่งเราจะขอนำเสนอดังนี้

 

มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) ว่า : ท่านศาสดาถูกแต่งตั้งในวันที่ 27 เดือนรอญับ ใครก็ตามที่ถือศีลอดในวันนี้จะได้รับผลบุญเท่ากับผู้ที่ถือศีลอด 60 เดือน
มีรายงานจากท่านอิมาม มูซากาซิม (อ.) ว่า : อัลลอฮ์ได้ทรงแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ผู้เป็นความเมตตาแก่ชาวโลก ในวันที่ 27 เดือนรอญับ ใครก็ตามที่ถือศีลอดในวันนี้ อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงตอบแทนรางวัลให้เขาเท่ากับเขาถือศีลอด 60 เดือน


ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า : อย่าได้ทิ้งการถือศีลอดในวันที่ 27 เดือนรอญับเป็นอันขาด เพราะวันนี้เป็นวันที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้ง ซึ่งผู้ที่ถือศีลอดในวันนี้จะได้รับผลบุญเท่ากับคนถือศีลอด 60 เดือน


    

และยังมีรายงานฮะดีษอีกมากมายที่มีเนื้อหาในลักษณะดังกล่าว

    

นักวิชาการฝ่ายอะฮ์ลิซุนนะฮ์เชื่อว่าการแต่งตั้งท่านศาสดาเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน โดยยึดหลักฐานจากโองการอัลกุรอาน ในซูเราะฮ์(บท)บะเกาะเราะฮ์ ซูเราะฮ์ (บท) ดุคอน และซูเราะฮ์ (บท) ก็อดร์ พวกเขากล่าวว่า : ในอัลกุรอานไม่ได้เอ่ยถึงเดือนรอญับ หรือการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ในเดือนนี้เลย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดจากโองการในอัลกุรอานคือ อัลกุรอานถูกประทานลงมาในเดือนรอมฎอน เช่น ในโองการที่ 185 ซูเราะฮ์ (บท) บะเกาะเราะฮ์ กล่าวว่า : เดือนรอมฎอนนั้น เป็นเดือนที่อัลกุรอานได้ถูกประทานลงมา

    

หรือโองการที่ 3 ของซูเราะฮ์ (บท) ดุคอน ที่ตรัสว่า : แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอันจำเริญ (คืนลัยละตุลก็อดร์ )

    

หรือโองการที่ 1 ของซูเราะฮ์ (บท) ก็อดร์ ที่กล่าวว่า : แท้จริงเราได้ประทานอัลกุรอานลงมาในคืนอัลก็อดร์ (คืนลัยละตุลก็อดร์)

    

และแน่นอนการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มาพร้อมกับการประทานกุรอาน ดังนั้นเดือนรอมฎอนก็คือเดือนที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งนั่นเอง

 

จากคำอธิบายข้างต้นมี 2 ประเด็นที่เป็นยังข้อสงสัยอยู่ก็คือ :

     

ประเด็นแรก : โองการทั้งสามโองการที่ถูกหยิบยกมาข้างต้นกล่าวถึงเวลาของการประทานอัลกุรอานเท่านั้น ไม่ได้กล่าวถึงสถานที่ของการประทานอัลกุรอานแต่อย่างใดเลย ในขณะที่มุสลิมทั้งหลายเชื่อและเป็นที่ยอมรับกันว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ถูกแต่งตั้งโดยมีทูตจากอัลลอฮ์ (ซบ.) มาหาท่านที่ถ้ำฮิรออ์ ซึ่งทั้ง 3 โองการนี้ไม่ได้กล่าวถึงสถานที่ดังกล่าวเลย

     

ประเด็นที่สอง : ในโองการที่ 185 ของซูเราะฮ์ (บท) บะเกาะเราะฮ์ และโองการที่ 1 ของซูเราะฮ์ (บท) ก็อดร์ บ่งบอกถึงการประทานทั้งหมดของอัลกุรอานในคราวเดียวซึ่งถูกประทานมาในเดือนรอมฎอน ซึ่งในโองการที่ 3 ซูเราะฮ์ (บท) ดุคอน กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนกว่า โดยได้กล่าวว่า : “ฮามีม ขอสาบานต่อคัมภีร์อันชัดแจ้ง แท้จริงเราได้ประทานมัน (กุรอาน) ลงมาในคืนอันจำเริญ” ซึ่งในโองการนี้คำว่า انزلناه (เราได้ประทานมันลงมา) สรรพนามคำว่า ه (มัน) ซึ่งเป็นสรรพนามของบุรุษที่สาม ในที่นี้ย้อนกลับไปหาคำว่า “กิตาบ” (คัมภีร์) ก็เท่ากับว่าโองการนี้บ่งบอกว่า ทั้งหมดของอัลกุรอานถูกประทานลงมาในคราวเดียวในคืนลัยละตุลก็อดร์ แต่ทว่าเป็นที่ทราบกันดีว่าการประทานกุรอานครั้งแรกที่เป็นการบ่งบอกถึงการที่ท่านศาสดาถูกแต่งตั้งในถ้ำฮิรออ์นั้น ถูกประทานลงมาเพียง 5 โองการเท่านั้น

      

ดังนั้นเราจะกล่าวไม่ได้ว่า โองการข้างต้นทั้งสามโองการนั้น เป็นโองการที่เกี่ยวกับการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

     

นักวิชาการร่วมสมัยท่านหนึ่ง ได้นำเสนอทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยกล่าวว่า : “ ตามรายงานฮะดีษบ่งชี้ว่าการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เกิดขึ้นในเดือนรอญับ แต่การประทานกุรอานครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนรอมฏอน 3 ปีหลังจากนั้น ซึ่งในช่วงระยะเวลา 3 ปีนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทำการเผยแพร่อย่างลับๆ จนกระทั่ง โองการที่ 94 ซูเราะฮ์ (บท) ฮิจร์ จึงได้ถูกประทานลงมา

 

فَاصْدَعْ بِمَا تُؤْمَرُ وَأَعْرِضْ عَنِ الْمُشْرِكِينَ

“ดังนั้น จงประกาศอย่างเปิดเผยในสิ่งที่เจ้าถูกบัญชา และจงผินหลังให้พวกมุชริกีน”

 

     

จากนั้นเองโองการต่างๆ ของอัลกุรอานก็ถูกประทานลงมาเป็นลำดับตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนอีกด้านหนึ่งมีรายงานฮะดีษที่บ่งชี้ว่าการประทานกุรอานทั้งหมดใช้เวลา 20 ปีด้วยกัน จากคำอธิบายนี้เราสามารถสรุปได้ว่า การประทานกุรอานเริ่มต้นหลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แล้ว 3 ปี ซึ่งการประทานกุรอานเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน”

     

จากคำกล่าวข้างต้นพอจะสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้

ระหว่างการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กับการประทานอัลกุรอานไม่ได้เกี่ยวข้องกัน
ห้าโองการแรกของซูเราะฮ์ (บท) อัลอะลัก ที่ถูกประทานในถ้ำฮิรออ์ เป็นการบอกข่าวดีและบ่งชี้ถึงการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นการประทานอัลกุรอาน
อัลกุรอานเริ่มต้นถูกประทานในฐานะกุรอานในเดือนรอมฎอน หลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) แล้วเป็นเวลา 3 ปี
ระยะเวลาในการประทานอัลกุรอานทั้งหมด 20 ปีด้วยกัน


ความหมายของการประทานกุรอานในเดือนรอมฎอน คือการเริ่มต้นประทานในเดือนนี้ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ต่างๆ ในช่วงชีวิตของการเผยแพร่ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
      

หากพิจารณาจากผลงานของนักวิชาการท่านนี้จะเห็นว่า เขาได้ยึดหลักฐานจากรายงานฮะดีษสองกลุ่มด้วยกัน

       

กลุ่มแรก : เป็นกลุ่มรายงานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงการเชิญชวนแบบลับๆ ของท่านศาสดาในมักกะฮ์ในช่วง 3 ปีแรกของการแต่งตั้ง ก่อนการประทานโองการที่สั่งให้ท่านเผยแพร่อิสลามอย่างเปิดเผย

      

กลุ่มที่สอง : เป็นรายงานที่กล่าวถึงระยะเวลาในการประทานอัลกุรอานให้กับท่านศาสดา ที่กล่าวว่าระยะเวลาทั้งหมดเพียง 20 ปี ไม่ใช่ 23 ปี

    

จากหลักฐานและคำกล่าวของท่านอายาตุลลอฮ์ ฮาดีย์มะริฟัต มีข้อสงสัยอยู่หลายประการดังนี้

รายงานที่กล่าวถึงเรื่องการเผยแพร่อย่างลับในช่วง 3 ปีแรกของการแต่งตั้งที่รายงานจาก อะลี บินอิบรอฮีม กุมมี รายงานจาก ยะอ์กูบีย์ รายงานจาก มุฮัมมัด บินอิสฮาก และคำกล่าวของท่านอิมามศอดิก (อ.) รายงานต่างๆ เหล่านั้นกล่าวถึงการเผยแพร่อย่างลับๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เท่านั้น ไม่ได้กล่าวกถึงการประทานอัลอัลกุรอานหรือการไม่ประทานอัลกุรอานในช่วงเวลานั้นแต่อย่างใด และในทางกลับกันก็เป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานั้นมีการประทานอัลกุรอานมาด้วย เพราะจะเป็นไปได้อย่างไรที่ในระยะเวลาตั้ง 3 ปีมีการประทานอัลกุรอานเพียงแค่ 5 โองการในถ้ำฮิรออ์เท่านั้น


มีรายงานว่าการประทานกุรอานอย่างต่อเนื่องเกิดขึ้นหลังจากการประทานโองการที่ 94 ซูเราะฮ์ (บท) ฮิจร์ ซึ่งหากพิจารณาแล้วโองการนี้อยู่ในซูเราะฮ์ (บท) ฮิจร์ ซึ่งเป็นบทที่ประทานลงมาที่มักกะฮ์ ซึ่งจากการเรียงลำดับการประทานอัลกุรอานของนักวิชาการท่านนั้น โดยอ้างหลักฐานจากรายงานฮะดีษของ อิบนิอับบาส และญาบิร บินเซด กล่าวว่า ซูเราะฮ์ (บท) ฮิจร์เป็นบทลำดับที่ 54 ของอัลกุรอาน


    

หากพิจารณาตามการเรียงลำดับของนักวิชาการท่านนั้น จะต้องยอมรับว่าก่อนโองการที่ 94 ของซูเราะฮ์ (บท) ฮิจร์ อัลกุรอานประทานมาแล้ว 53 ซูเราะฮ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในช่วงของการเผยแพร่อย่างลับๆ ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็มีการประทานอัลกุรอานลงมาในช่วงเวลานั้นด้วย

และหากพิจาณาอย่างละเอียดจะพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ต้องการการชี้แนะจากอัลลอฮ์ (ซบ.) ในช่วงแรกของการถูกแต่งตั้งให้เป็นศาสดามากกว่าเวลาอื่น โดยจะสังเกตได้จากจำนวนโองการที่ประทานในเมืองมักกะฮ์ ซึ่งถือเป็นช่วงแรกของการถูกแต่งตั้ง มีจำนวนมากกว่าโองการที่ถูกประทานในเมืองมะดีนะฮ์
มีรายงานมากมายที่กล่าวว่า ระยะเวลาการประทานกุรอานทั้งหมด 23 ปี
รายงานฮะดีษที่นักวิชาการคนดังกล่าวได้อ้างถึง เกี่ยวกับเรื่องระยะเวลาของการประทานอัลกุรอานว่าทั้งหมดใช้เวลา 20 เท่านั้น ซึ่งถ้าหากพิจารณาให้ดีแล้วรายงานฮะดีษดังกล่าวนั้นขัดกับทัศนะของตัวเอง
     

ในรายงานกล่าวว่า “ฮัฟซ์ บินฆิยาซ” กล่าวว่า : ฉันได้เรียนถามท่านอิมามศอดิกว่า “ทำไมกุรอานกล่าวว่า “เดือนรอมฏอนเป็นเดือนที่อัลกุรอานถูกประทานลงมา” ในขณะที่ในช่วง 20 ปี กุรอานถูกประทานลงมาตลอดเวลา”

     

ท่านอิมาม กล่าวว่า “การประทานอัลกุรอานที่กล่าวถึงในโองการนี้นั้น เป็นการประทานทั้งหมดของกุรอานมาในบัยตุลมะอ์มูร และหลังจากนั้นเป็นระยะเวลา 20 ปี ได้ประทานตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในรายงานฮะดีษนี้เป็นฮะดีษที่ถูกนำมาพิสูจน์และกล่าวถึงเรื่องการประทานกุรอานมาในบัยตุลมะอ์มูร (คือสถานที่หนึ่งที่อัลกุรอานถูกพักไว้ ก่อนที่จะประทานลงมาให้กับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งมีรายงานว่าเป็นสถานที่ที่อยู่ ณ ชั้นฟ้าชั้นที่ 4) แต่กลับถูกนำมาใช้เป็นหลักฐานในเรื่องระยะเวลาของการประทานกุรอาน และในขณะเดียวกัน ในฮะดีษนี้กล่าวถึงการประทานทั้งหมดของอัลกุรอาน ไม่ได้บอกว่าอัลกุรอานถูกเริ่มต้นประทานในเดือนรอมฎอน”

     

จากคำกล่าวทั้งหมดนี้สรุปได้ว่า การแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ผู้เป็นความเมตตาแห่งสากลโลก และการประทานอัลกุรอานที่ถือเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตของมนุษย์นั้นเกิดขึ้นในวันที่ 27 เดือนรอญับ


ขอขอบคุณเว็บไซต์อิสลามิคสทาดี้ยส์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม