เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิถีชีวิตแบบอิสลามในมุมมองของบุตรีของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

วิถีชีวิตแบบอิสลามในมุมมองของบุตรีของท่านศาสดา(ซ็อลฯ)

 

หนึ่งในคำสอนต่างๆ ซึ่งในสภาวะปัจจุบันนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นั่นก็คือการเรียนรู้ถึงรูปแบบที่ถูกต้องของการดำเนินชีวิตตามแบบแผนที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จและความผาสุกของศาสนาอิสลาม วิธีที่ดีที่สุดที่จะเข้าใจรูปแบบของการดำเนินชีวิตแบบอิสลาม คือการศึกษาเรียนรู้จากวจนะต่างๆ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และจากบรรดาอะฮ์ลิลบัยติ์ (อ.) ของท่าน ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรอบรู้และความเข้าใจต่อข้อเท็จจริงต่างๆ ของอิสลามมากกว่าใคร หนึ่งในบรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มากที่สุด นั้นก็คือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) บุตรีของท่านเอง

 

ความเสียสละและการพลีอุทิศตนในการดำเนินชีวิต

      

บางครั้งสามารถกล่าวได้ว่าหนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุดในในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตคู่ คือความเสียสละและการพลีอุทิศตน ในการดำเนินชีวิตของท่านหญิงของ ฟาฏิมะฮ์ อัซซะฮ์รอ (อ.) ก็เช่นกัน จะพบเห็นการเสียสละได้เป็นอย่างดี

    

ในเช้าวันหนึ่งท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “โอ้ฟาฏิมะฮ์ มีอาหารอะไรในบ้านให้ฉันกินบ้างไหม?” ท่านหญิงตอบว่า “ไม่มีเลย! ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งได้ทรงให้เกียรติบิดาของฉันด้วยการคัดเลือกท่านให้เป็นศาสดา และทรงให้เกียรติท่านด้วยการคัดเลือกท่านเป็นผู้สืบทอด สองวันแล้วที่ไม่มีอาหารที่เพียงพอในบ้าน และสิ่งที่ฉันได้ให้ท่านและลูกทั้งสองของฉันคือฮะซันและฮุเซนได้รับประทานในช่วงสองวันที่ผ่านมานั้น ก็คือสิ่งที่ฉันได้เสียสละมัน”

 

ดังนั้นท่านอิมามอะลี (อ.) จึงได้กล่าวว่า “โอ้ฟาฏิมะฮ์ ทำไมเธอไม่บอกฉัน เพื่อฉันจะได้ไปหาอาหารมาให้” ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) กล่าวว่า

 

یَا أبَا الحَسَن، إنّى لأسْتَحى مِنْ إلهى أنْ أکَلِّفَ نَفْسَكَ ما لا تَقْدِرُ عَلَیْهِ

 

“โอ้ท่านอะบัลฮะซัน แท้จริงฉันละอายใจต่อพระเจ้าของฉัน ที่จะมอบภาระให้ท่านในสิ่งที่ท่านไม่สามารถทำได้” [1]

 

 

การแสดงมารยาทที่ดีงามทั้งต่อมิตรและศัตรู

 

คำแนะนำสั่งเสียของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์อัซซะฮ์รอ (อ.) เกี่ยวกับการแสดงมารยาทที่ดี ซึ่งเราจะต้องแสดงมารยาทที่ดีต่อทุกคน ไม่ใช่เฉพาะต่อหมู่มิตรเพียงเท่านั้น โดยที่ท่านได้กล่าวว่า

 

بِشْرٌ فِي وَجْهِ الْمُؤْمِنِ يُوجِبُ لِصَاحِبِهِ الْجَنَّةَ- وَ بِشْرٌ فِي وَجْهِ الْمُعَانِدِ الْمُعَادِي يَقِي صَاحِبَهُ عَذَابَ النَّار

 

“การแสดงใบหน้าที่ยิ้มแย้มต่อผู้ศรัทธานั้น จะเป็นสาเหตุทำให้เจ้าของมันเข้าสู่สวรรค์ และการแสดงใบหน้าที่ยิ้มแย้มต่อคนดื้อด้านผู้เป็นศัตรูนั้น จะปกป้องเจ้าของมันจากการลงโทษของไฟนรก” [2]

 

 การสวมใส่อาภรณ์ที่เรียบง่าย

 

     

ท่านซัลมาน ฟาริซี ได้เล่าว่า : วันหนึ่งฉันได้เห็นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) คลุมศีรษะด้วยผ้าคลุมที่มีรอยเย็บปะและเรียบง่าย ฉันรู้สึกพิศวงและกล่าวขึ้นว่า “ช่างน่าประหลาดเสียนี่กระไร ที่บุตรีของกษัตริย์แห่งเปอร์เซียและจักรพรรดิแห่งโรมันนั้นจะนั่งอยู่บนบัลลังก์ทองคำและสวมใส่อาภรณ์ที่ถักทอจากเส้นใยทองคำ แต่ไฉนบุตรีของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์จึงไม่มีผ้าคลุมศีรษะที่มีราคาแพงและอาภรณ์สวมใส่ที่สวยงามบ้าง?” ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) กล่าวว่า

 

یا سَلمانُ! اِنَّ اللهَ ذَخَّرَ لَنا الثِیّابَ وَ الکَراسِیَّ لِیَومٍ آخِرٍ

“โอ้ท่านซัลมาน แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงจัดเตรียมอาภรณ์และบัลลังก์ไว้แก่เราในสวรรค์”

 

หลังจากนั้น ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้ไปพบบิดาของท่าน และเล่าถึงความประหลาดใจของซัลมานให้ท่านฟัง โดยกล่าวว่า “โอ้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ซัลมานประหลาดใจในความเรียบง่ายของเสื้อผ้าอาภรณ์ของข้าพเจ้า ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงแต่งตั้งท่านมาเป็นศาสดา เป็นเวลาห้าปีมาแล้วที่พื้นบ้านของเราได้ปูด้วยหนังแกะ (ที่หยาบกระด้าง) ซึ่งในช่วงวันทั้งหลายเราจะนั่งบนมันเพื่อเลี้ยงอูฐของเราให้กินหญ้า และในยามค่ำคืนทั้งหลายเราก็จะหลับนอนบนสิ่งนี้ และหมอนของเราก็คือหนังสัตว์ที่ถูกบรรจุไปด้วยเส้นใยของต้นอินทผลัม” [3]

 

การขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าในทุกสภาพการณ์

 

คนจำนวนมากที่อ้างตนว่ามีศาสนาและเป็นผู้ศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า แต่ในยามที่เผชิญกับความทุกข์ยากนั้นนอกจากจะไม่ขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยประโยชน์) ต่างๆ ที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่พวกเขาแล้ว ในทางตรงข้าม กลับพูดจาโอดครวญและพร่ำบ่นในสิ่งนั้น และในบางครั้งใช้คำพูดต่างๆ ที่ไม่คู่ควรต่อศาสนาและต่อพระผู้เป็นเจ้า และในทางตรงกันข้ามกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ ก็มีพฤติกรรมและการแสดงออกที่แสดงถึงความเป็นบ่าวที่ดีของพระผู้เป็นเจ้าที่ปรากฏอยู่ในการแสดงออกทางด้านการปฏิบัติตนและคำพูดของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์อัซซะฮ์รอ (อ.)

 

อัซมาอ์ บินติอุมัยซ์ ได้เล่าว่า : ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้มาเคาะประตูบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ พร้อมกับกล่าวว่า “ฮะซันและฮุเซนของฉันอยู่ที่ไหน?

    

  ”ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ตอบว่า “พวกเราตื่นเช้าขึ้นมาในสภาพที่ไม่มีสิ่งใดเลยในบ้านของเราที่จะช่วยขจัดความหิวโหยของเรา ท่านอะลีจึงพาทั้งสองคนออกไปจากบ้าน... และจะอย่างไรก็ตามเราจะขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าในทุกสภาพการณ์” [4]

 

มารยาทในการรับประทานอาหาร

 

มีรายงานจากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ซึ่งกล่าวว่า

 

فِي المَائدةِ اثْنَتَا عَشرَةَ خَصْلَةً يَجِبُ عَلَى كُلِّ مُسْلِمٍ أنْ يَعْرِفَهَ : أرْبَعٌ مِنْها فَرْضٌ ، وَ أرْبَعٌ سُنَّةٌ ، وأرْبَعٌ تأدِيبٌ . فَأمَّا الفَرْضُ : فَالمَعْرِفَةُ ، وَالرِّضَا ، وَالتَّسْمِيَةُ ، وَالشُّكْرُ . وَأمَّا السُّنَّةُ : فَالوُضُوءُ قَبْلَ الطَّعَامِ ، والجُلُوسُ عَلَى الجَانِبِ الأيْسَرِ ، والأكْلُ بِثَلاثِ أصَابِعَ . وَلَعْقُ الأصَابِعِ . وَأمّا التَّأدِيبُ : فَالأكْلُ مِمَّا يَلِيكَ ، وَتَصْغِيرُ اللُّقْمَةِ ، وَتَجْوِيدُ المَضْغِ ، وَقِلّةُ النّظَرِ فِي وُجُوهِ النّاسِ

 

“ในสำรับอาหารนั้นมีการกระทำอันดีงามอยู่ 12 ประการที่มุสลิมทุกคนจำเป็นต้องรับรู้มัน สี่ประการเป็นหน้าที่ และสี่ประการเป็นซุนนะฮ์ (แบบฉบับของท่านศาสดา) และอีกสี่ประการเป็นมารยาทที่ดีงาม

 

สำหรับ 4 ประการ ที่เป็นหน้าที่นั้นคือ

การทำความรู้จักพระผู้เป็นเจ้า (โดยที่เราจะรับรู้ว่าปัจจัยอำนวยสุขในชีวิตเหล่านี้มาจากพระองค์)
พึงพอใจในเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) ที่พระองค์ทรงประทานให้
เริ่มต้นการรับประทานอาหารด้วยการกล่าวว่า


 بسم الله الرَّحْمَنِ الرَّحِيمِ (บิสมิลลาฮิรเราะห์มานิรร่อฮีม)        

“ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตายิ่งผู้ทรงปรานีเสมอ”

 

การขอบคุณต่อพระองค์ เมื่อเสร็จสิ้นจากการรับประทานอาหารด้วยการกล่าวว่า


 الْحَمْدُ للّهِ رَبِّ الْعَالَمِينَ (อัลฮัมดุลิลลาฮิ ร็อบบิลอาละมีน)       

“มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์แด่อัลลอฮ์พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก”

 

สำหรับ 4 ประการ ที่เป็นซุนนะฮ์นั้นคือ

การทำวุฎูอ์ก่อนการรับประทานอาหาร
การนั่งทิ้งน้ำหนักตัวไปทางด้านซ้าย
การรับประทานอาหารในสภาพของการนั่ง
การรับประทานอาหารโดยใช้สามนิ้วมือ


และสำหรับ 4 ประการ ที่เป็นสัญลักษณ์ของความมีมารยาทนั้นคือ

การรับประทานอาหารที่อยู่เบื้องหน้าของตนเอง
การหยิบอาหารด้วยคำเล็กๆ
การเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
การมองดูใบหน้าของผู้อื่นให้น้อยลง [6]


การระมัดระวังตนจากเพศตรงข้าม

 

ชายตาบอดผู้หนึ่งภายหลังจากได้รับอนุญาตแล้ว เขาได้เข้ามาในบ้านของท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เห็นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ลุกยืนขึ้น ท่านกล่าวว่า “โอ้ลูกสาวของพ่อ ชายผู้นี้ตาบอด”

 

    

ท่านหญิงกล่าวตอบว่า

 

إِن لَم یكُن یرَانِی فَإِنِّی أَرَاهُ وَ هُوَ یشَمُّ الرِّیحَ

 

“แม้เขาจะมองไม่เห็นข้าพเจ้าก็ตาม แต่ข้าพเจ้ามองเห็นเขา และเขาสัมผัสกลิ่นกาย (ของข้าพเจ้า)”[7]

 

   

ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ภายหลังจากได้ยินคำพูดของบุตรีของตน ท่านจึงกล่าวว่า

“ฉันขอเป็นสักขีพยานว่า เจ้าเป็นส่วนหนึ่งจากร่างกายของฉัน” [8]

 

แหล่งอ้างอิง :

(1) ฟัรฮังก์ ซุคอนอน ฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ, มุฮัมมัด ดัชตี, หน้าที่ 9

(2) เล่มเดียวกัน, หน้าที่ 16 และ 17

(3) เล่มเดียวกัน, หน้าที่ 124 และ 125

(4) เล่มเดียวกัน, หน้าที่ 219 และ 220

(5) อะวาลิมุ้ลอุลูม, บะห์รอนี อิสฟะฮานี, หน้าที่ 920

(6) ฟัรฮังก์ ซุคอนอน ฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ, มุฮัมมัด ดัชตี, หน้าที่ 36

 (7) อัลญะอ์ฟะรียาต (อัลอัชอะซียาต), อิบนิอัชอัษ, หน้าที่ 95

 (8) ฟัรฮังก์ ซุคอนอน ฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ, มุฮัมมัด ดัชตี, หน้าที่ 62

 

เรียบเรียงโดย : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม