เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

รักลูกให้ถูกทาง

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ประมวลวจนะของอิมามมูซา อัลกาซิมเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลาน
ต่อไปนี้เป็นวจนะของอิมามมูซา อัลกาซิมเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูบุตรหลานให้เป็นผู้ศรัทธาที่เปี่ยมด้วยศักยภาพในอนาคต

ไม่แยกพ่อลูกจากกัน อิมามมูซา อัลกาซิม กล่าวว่า"ท่านนบีเคยเตือนไม่ให้กั้นกลางระหว่างพ่อกับลูก"

ลูกๆโดยเฉพาะลูกชาย มักจะมีความรู้สึกผูกพันและซึมซับเกียรติยศต่างๆที่พ่อของเขามี ดังนั้น หากบุคคลใดพาลูกๆไปงานสำคัญในสังคม การแยกลูกออกจากพ่อแม่ย่อมจะทำให้เด็กๆรู้สึกเหมือนถูกตัดขาดจากเกียรติยศและฐานะภาพของพ่อ ฉะนั้น จึงควรให้เด็กๆนั่งใกล้ๆผู้ปกครองเสมอ

ไม่ผิดสัญญาที่ให้ไว้กับลูกๆ อิมามมูซา อัลกาซิม กล่าวว่า"เมื่อสัญญาอะไรกับลูกๆของท่านก็ควรทำตามสัญญา เพราะเด็กๆมักเชื่อสนิทใจว่าท่านเปรียบดั่งผู้ให้ริซกีแก่พวกเขา และอัลลอฮ์ไม่ทรงกริ้วโกรธในเรื่องใดยิ่งไปกว่าปัญหาที่เกิดกับสตรีและเด็กๆ"

โลกทัศน์ของเด็กเป็นโลกทัศน์ที่ใสสะอาด เขามองพ่อและแม่ในฐานะผู้สนองความต้องการทุกประเภทของเขา แน่นอนว่าเด็กๆย่อมไม่พร้อมที่จะประสบกับท่าทีบิดพริ้วผิดสัญญาของพ่อแม่อย่างเด็ดขาด เพราะสิ่งนี้จะสร้างคราบนิสัยอันไม่พึงประสงค์ในเบื้องลึกของหัวใจของเด็กๆ อันยากที่จะชำระให้ใสสะอาดดังเดิมได้ และหากคราบในใจของเด็กๆกลายเป็นพฤติกรรมฉ้อฉลในอนาคต ผลเสียที่จะเกิดต่อสังคมโดยรวมย่อมเป็นภัยคุกคามอันใหญ่หลวง

กำชับเรื่องละหมาดในวัยเจ็ดขวบ อิมามมูซา อัลกาซิม กล่าวว่า"เมื่อลูกๆของท่านเติบโตถึงอายุเจ็ดปี จงเริ่มสั่งให้พวกเขาละหมาด"

สอดคล้องกับฮะดีษที่ว่า เด็กๆจะเป็นนายถึงอายุเจ็ดขวบ และจะเป็นบ่าวอีกเจ็ดปี และหลักจากนั้นควรจะเป็นผู้ช่วย เด็กๆมีอิสระและควรได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษจนกระทั่งอายุเจ็ดขวบ (แต่ทั้งนี้ก็มิได้หมายความว่าจะปล่อยให้เด็กๆทำอะไรตามใจชอบได้ทุกอย่าง แน่นอนว่าจำเป็นต้องอบรมตักเตือน เพียงแต่ไม่ควรให้เป็นไปในรูปของการออกคำสั่งหรือบังคับ) เจ็ดปีที่สอง เป็นวัยที่เด็กๆเริ่มรู้จักผิดชอบชั่วดีพอสมควรแล้ว ควรสอนสั่งโดยเน้นเป็นพิเศษ หากเด็กๆไม่ปฏิบัตินมาซ ก็ควรต้องสั่งและกำชับอย่างเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น และเมื่อเขาผ่านเจ็ดปีที่สองไปแล้ว หนุ่มสาววัยนี้ย่อมถือว่าตนเองมีเกียรติและควรได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ฉะนั้น การอบรมสั่งสอนจึงควรหลีกเลี่ยงการออกคำสั่งหรือบังคับ แต่ควรอบรมเขาด้วยการให้เขามีหน้าที่ช่วยเหลือในการตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ

แยกที่นอนของลูกๆ อิมามมูซา อัลกาซิม กล่าวว่า"เมื่อลูกๆของท่านเติบโตถึงอายุสิบปี จงแยกที่นอนของพวกเขาออกจากกัน"

บางครั้งพ่อแม่ซึ่งเลี้ยงดูลูกๆตั้งแต่วัยแบเบาะมักจะลืมคำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงทางกายและจิตใจของลูก แต่ความเป็นจริงก็คือ ลูกๆของเราก็เป็นมนุษย์ที่มีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงในสภาวะทางกายภาพและความคิด ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติวิสัยตามระบบการสร้างสรรของอัลลอฮ์ (ซ.บ) เด็กๆในวัยประมาณสิบปีนั้น แม้จะยังไม่ถึงวัยบรรลุนิติภาวะ (บาลิฆ) แต่ก็เริ่มรับรู้ถึงความรู้สึกทางเพศได้ในระดับหนึ่งแล้ว ฉะนั้น การแยกที่นอนโดยเฉพาะระหว่างลูกชาย-ลูกสาวย่อมเป็นหนึ่งในกระบวนการอบรมเลี้ยงดูบุตรให้มีประสิทธิภาพตามครรลองอิสลาม

การซุกซนเป็นธรรมชาติของเด็กๆ อิมามมูซา อัลกาซิม กล่าวว่า"เป็นการดีที่เด็กๆจะซุกซน เพื่อจะเป็นผู้มีความอดทนเมื่อเติบใหญ่... และไม่เหมาะสมที่เด็กจะอยู่ในสภาวะอื่นนอกจากนี้"

ความอยากรู้อยากเห็นเป็นสัญชาตญาณสำคัญของเด็กๆ ซึ่งจะแสดงออกในรูปของความซุกซนตามประสาเด็กๆ หากความซุกซนของลูกๆมิได้ก่อความเสียหายหรือรบกวนผู้อื่น ก็ควรที่จะอะลุ่มอล่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกกว้างอย่างเต็มที่ เพราะสิ่งเหล่านี้จะสั่งสมเป็นประสบการณ์ให้เขามีความอดทนอดกลั้นเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆในอนาคตได้เป็นอย่างดี ในทางกลับกัน หากเด็กคนใดเรียบร้อยผิดปกติ อย่านิ่งนอนใจและภาคภูมิใจว่าเขาเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายเพียงเท่านั้น เพราะสภาวะดังกล่าวไม่ไช่สภาวะที่เหมาะสมของเด็กๆทั่วไปแต่อย่างใด

มอบความเท่าเทียมในความรัก อิมามมูซา อัลกาซิม รายงานจากบรรพบุรุษของท่านว่า มีชายคนหนึ่งนั่งเบื้องหน้าท่านนบี โดยเขาได้หอมแก้มลูกคนหนึ่ง แต่มิได้หอมแก้มลูกคนอื่นๆของเขา ท่านนบีจึงได้ทักท้วงด้วยความไม่พอใจว่า "ทำไมเธอจึงไม่ปฏิบัติต่อลูกๆให้เท่าเทียมกันเล่า?"

บางครั้งพฤติกรรมเล็กๆน้อยๆที่พ่อแม่อาจมองข้าม หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเด็กๆแล้ว สิ่งเหล่านี้อาจกระทบกระเทือนความรู้สึกของเด็กๆโดยที่พ่อแม่ไม่รู้ตัว ความรักและความเอาใจใส่ของพ่อแม่ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีความเปรียบต่างระหว่างพี่น้องด้วยแล้วล่ะก็ อาจกลายเป็นปมด้อยในจิตใจเด็กๆและเป็นต้นเหตุของความอิจฉาริษยาระหว่างพี่น้องได้

แต่ในบางกรณี การปฏิบัติที่แตกต่างกันอาจใช้เป็นวิธีหนึ่งในการตัรบียะฮ์ (อบรมสั่งสอน) ลูกๆ ดังเช่นในกรณีที่ลูกบางคนมีความประพฤติดีเป็นพิเศษ ในกรณีนี้ การกล่าวชมเชยหรือให้รางวัลย่อมจะถือเป็นการส่งเสริมให้ลูกๆเห็นความสำคัญของการประพฤติดี เป็นต้น
หากจำเป็นต้องปฏิบัติต่อลูกๆแตกต่างกัน ต้องระมัดระวังดังต่อไปนี้

1. ต้องระวังอย่าให้ลูกๆเข้าใจว่าเราไม่ยุติธรรมและเลือกปฎิบัติ
2. เหตุผลที่เราปฎิบัติต่อลูกบางคนต่างจากคนอื่นๆต้องชัดเจน
3. หากเป็นไปได้ ควรแจ้งลูกๆให้ทราบถึงเหตุผลที่ให้เกียรติลูกบางคนเป็นพิเศษ


สิทธิของลูกๆ อิมามมูซา อัลกาซิม กล่าวว่า"ชายคนหนึ่งได้ถามท่านนบีว่า โอ้ รอซูลุลลอฮ์ ลูกของฉันมีสิทธิเหนือฉันหรือไม่? ท่านนบีตอบว่า สิทธิของลูกก็คือ ต้องตั้งชื่อที่เหมาะสมแก่เขา ต้องสอนสั่งจรรยามารยาทแก่เขา และต้องเพียรพยายามให้เขาได้อยู่ในสถานภาพที่ดี (ในสังคม)"

ในมุมมองของอิสลาม การมอบความรักและเอาใจใส่ลูกเริ่มตั้งแต่ก่อนเขาถือกำเนิดและควรดำเนินต่อเนื่องแม้กระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การตั้งชื่อที่หลายๆคนอาจมองข้ามความสำคัญนั้น ถือเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนไม่น้อย เพราะชื่อย่อมเป็นสิ่งที่จะอยู่คู่บุคลิกภาพของเขาตลอดไป และนอกจากอบรมบ่มนิสัยลูกๆให้เป็นคนดีของพระเจ้าและเป็นคนดีของสังคมแล้ว การช่วยเหลือและส่งเสริมให้เขาได้อยู่ในสถานภาพที่เหมาะสมในสังคมก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะศักยภาพของคนดีย่อมเผยให้เห็นชัดเจนต่อเมื่อเขาได้อยู่ในสถานภาพที่เหมาะสมเท่านั้น (สถานภาพที่เหมาะสมมิได้หมายถึงความร่ำรวยเสมอไป แต่คือสถานะที่มีเกียรติและได้รับการยอมรับในสังคมผู้ศรัทธา)

เดินทางร่วมกัน อลี อิบนิ ญะฟัร (น้องของอิมามมูซา กาซิม) กล่าวว่า "ฉันได้มีโอกาสเดินทางร่วมกับท่านมูซาสี่ครั้ง ท่านเดินทางไปแสวงบุญในพิธีฮัจย์พร้อมครอบครัวของท่าน การเดินทางเหล่านี้บางครั้งก็กินเวลาถึง 26 วัน บางครั้ง 24 วัน และบางครั้งก็ 21 วัน"

มีฮะดีษกล่าวว่า หากต้องการจะรู้จักใครสักคน จงตรวจสอบเขาในระหว่างการเดินทางร่วมกัน หากพ่อแม่ต้องการจะรู้จักนิสัยใจคอของลูกๆอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อประโยชน์ในการอบรมเลี้ยงดู การเดินทางร่วมกันของคนในครอบครัวเป็นวิธีที่สำคัญและได้ผลมากที่สุดวิธีหนึ่ง นอกจากนี้ ลูกๆยังได้เรียนรู้สิ่งต่างๆจากผู้ปกครองอย่างใกล้ชิดและตราตรึงในจิตวิญญาณของพวกเขามากยิ่งขึ้นอีกด้วย






ฮะดีษจากเว็บไซต์ Tebyan.net

โดย อิบนุ อิลยาส

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม