เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

มุมมองชีวิตทางโลกในวจนะของท่านอิมามฮาดี (อ.)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

มุมมองชีวิตทางโลกในวจนะของท่านอิมามฮาดี (อ.)

 

การรู้จักตนเอง สภาพแวดล้อมและจุดหมายสุดท้ายของการดำเนินชีวิต คือหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์มีความกังวลมากที่สุด มุมมองหรือโลกทัศน์ที่มีต่อประเด็นเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ละคน คนที่มีความศรัทธาต่อพระเจ้าและเชื่อมั่นว่าพระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่ง เขาจะเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่ามีเป้าหมายและปรัชญา (ฮิกมะฮ์) ที่สูงส่งได้ถูกกำหนดไว้ในการสร้างนี้ เนื่องจากการที่เขามีความเชื่อมั่นว่าโลกแห่งการดำรงอยู่นี้มีเป้าหมาย ดังนั้นเขาจะไม่มองว่าชีวิตของตนเองว่างเปล่าและไร้เป้าหมายใดๆ เขาจะมีมุมมองเฉพาะต่อโลก เป็นมุมมองแบบผู้ที่ศรัทธามั่นในพระเจ้า และเขาจะไม่หลงลืมจากฮิกมะฮ์ (ปรัชญา) ของพระเจ้าในโลกนี้

 

      มนุษย์ยิ่งมีความศรัทธาและความเชื่อมั่นในพระเจ้ามากเท่าใด มุมมองของเขาที่มีต่อชีวิตทางโลกนี้ก็จะมีความเที่ยงแท้และถูกต้องมากเพียงนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้ที่มีความศรัทธา (อีหม่าน) มากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดนั้นคือบรรดามะอ์ซูม (อ.) ในเนื้อหาต่อไปนี้ เราจะมาพิจารณาถึงวจนะต่างๆ ของอิมาม (อ.) ท่านนี้ เกี่ยวกับการรู้จักโลกในบางวจนะของท่านอิมามฮาดี (อ.) ท่านได้อธิบายถึงโลกนี้ว่าเป็นเหมือนสถานที่ทำการค้า โดยกล่าวว่า :

 

الدُّنیا سوقٌ، رَبِحَ فیها قَومٌ وخَسِرَ آخَرونَ

“โลกนี้คือตลาดที่ชนกลุ่มหนึ่งได้รับผลกำไรในมัน และชนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับความขาดทุน” (1)    

 

     มนุษย์ทุกคนที่ถือกำเนิดขึ้นมา ในความเป็นจริงแล้วเขาได้ย่างก้าวเข้าสู่ตลาดหนึ่งแล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องอุตสาหะพยายามที่จะแสวงหาผลกำไรจากการดำเนินชีวิตให้ได้มากที่สุด การมองโลกด้วยมุมมองนี้จะเป็นสื่อทำให้มนุษย์ถือว่าตนเองมีเป้าหมายและมุ่งมั่นพยายามที่จะนำหน้าบุคคลอื่นๆ แน่นอนยิ่งว่า พ่อค้าทุกคนนั้นปรารถนาที่จะได้รับผลกำไรให้ได้มากที่สุด และจะต้องไม่ล้าหลังบุคคลอื่นๆ  ทุกคนรู้ดีว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้นั้นมีความจำเป็นต่อกรณีต่างๆ อันเป็นเฉพาะ และมนุษย์เพื่อที่จะได้รับมาซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอุตสาหะพยายาม


และในวจนะอีกบทหนึ่งท่านอิมามอะลี อัลฮาดี (อ.) พร้อมกับการชี้ถึงประเด็นข้างต้น ท่านได้ชี้ถึงสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตในปรโลกไว้ดังนี้ว่า :

 

اَلنّاسُ فِی الدُّنْیا بِالاَمْوالِ وَ فِی الآْخِرَةِ بِالاَعْمالِ

“มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยอาศัยทรัพย์สิน และจะมีชีวิตอยู่ในปรโลกโดยอาศัยการกระทำความดี (อะอ์มาล)” (2)   

 

     หมายความว่าการมีทรัพย์สินเงินทองและปัจจัยจำเป็นต่างๆ ทางด้านวัตถุเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตทางโลกนี้ และการมีอะมั้ลซอและห์ (การกระทำที่เป็นสิ่งดีงาม) ต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตในปรโลกเช่นเดียวกัน และทำนองเดียวกับที่มนุษย์เราจะคิดหาทางขจัดความต้องการต่างๆ ในชีวิตทางโลกนี้ของเขา ก็จำเป็นที่เขาจะต้องครุ่นคิดในการสนองตอบความต้องการต่างๆ สำหรับชีวิตในปรโลกของตนด้วยเช่นเดียวกัน และควรจะใช้โอกาสของชีวิตในโลกนี้เพื่อตระเตรียมเสบียงที่ดีงามสำหรับชีวิตปรโลกของตัวเองด้วย แต่ทว่าสิ่งใดที่มีความสำคัญกว่า ความพยายามเพื่อโลกนี้หรือว่าความพยายามเพื่อปรโลก?  

 

     แน่นอนยิ่งว่าเราสามารถเปลี่ยนการงานต่างๆ ทางโลกทั้งหมดให้เป็นอะมั้ลซอและห์ (การงานที่ดีงาม) ได้ด้วยเจตนา (เหนียต) เพื่อพระผู้เป็นเจ้า และเราจะส่งมันล่วงหน้าไปในฐานะเสบียงสำหรับชีวิตในปรโลก แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่จะคงทนถาวรกว่าและจะสนองตอบและขจัดความต้องการต่างๆ ของมนุษย์ได้ยาวนานมากว่า ย่อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า ท่านอิมามฮาดี (อ.) ด้วยการพิจารณาถึงประเด็นนี้ ท่านได้เน้นย้ำให้เรารำลึกถึงช่วงเวลาแรกหลังความตาย ซึ่งเป็นสภาพที่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีใครที่จะให้การช่วยเหลือแก่เขาได้ ท่านได้กล่าวว่า :

 

اُذکُرْ مَصرَعَكَ بینَ یَدَی أهلِكَ؛ ولا طَبیبَ یَمنَعُكَ، ولا حَبیبَ یَنفَعُكَ

“จงรำลึกถึงช่วงเวลาแห่งความตายของท่าน ณ เบื้องหน้าครอบครัวของท่าน โดยที่ไม่มีหมอคนใดจะยับยั้งท่าน (จากความตาย) ได้ และไม่มีเพื่อนคนใดจะยังคุณประโยชน์ต่อท่านได้” (3)    

 

      เมื่อมนุษย์รำลึกถึงช่วงเวลาเช่นนี้เขาก็จะเห็นถึงความสำคัญของการทำงานและความพยายามเพื่อชีวิตในปรโลก และจะเตรียมพร้อมตนสำหรับช่วงเวลาดังกล่าวและจะใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกนี้เพื่อปรโลกของตน มนุษย์ที่ตระหนักถึงความยากไร้และความต้องการแห่งปรโลกของตนนั้น เขาจะแสดงใบหน้าแห่งความอดทนของตนในการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยมุ่งหวังความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า และจะย่างก้าวเข้าสู่สนามของปัญหาต่างๆ เยี่ยงวีรบุรุษได้มากกว่าคนอื่น ๆ ท่านอิมามฮาดี (อ.) ยังได้กล่าวในเรื่องนี้อีกว่า :

 

إنَّ اللهَ جَعَلَ الدُّنیا دارَ بَلوی وَ الآخِرَةَ دارَ عُقبی وَ جَعَلَ بَلوَی الدُّنیَا لِثَوابَ الآخِرَةِ سَبَباً، وَ ثَوابَ الآخِرَةِ مِن بَلوَی الدُّنیا عِوَضاً

 

“แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้โลกนี้เป็นสถานที่แห่งการทดสอบ และทรงกำหนดให้ปรโลกเป็นสถานที่แห่งการตอบแทน และพระองค์ทรงกำหนดให้ความทุกข์ยากของโลกนี้เป็นสื่อสำหรับผลรางวัลแห่งปรโลก และผลรางวัลแห่งปรโลกนั้นคือสิ่งทดแทนจากความทุกข์ยากแห่งโลกนี้” (4)   

   

      โดยความคิดเช่นนี้นั่นเองที่จะทำให้ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) มีความสามารถอย่างสูงที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากต่างๆ และจะอดทนต่อความยากลำบากในโลกนี้เพื่อที่จะทำให้ตนมีค่าในปรโลก

 

ส่วนหนึ่งจากคำสอนของอิมามฮาดี (อ.)

 

خَيْرٌ مِنَ الْخَيْرِ فاعِلُهُ، وَاَجْمَلُ مِنَ الْجَميلِ قائِلُهُ، وَأرْجَحُ مِنَ الْعِلمِ حامِلُهُ، وَشَرٌّ مِنَ الشَّرِّ جالِبُهُ، وَاَهْوَلُ مِنَ الْهَوْلِ راكِبُهُ

 

“ที่ดียิ่งกว่าความดี คือผู้กระทำมัน และที่สวยงามยิ่งสิ่งสวยงามคือผู้ที่พูดถึงมัน และที่เหนือกว่าความรู้คือผู้ที่มีความรู้ และที่ชั่วร้ายยิ่งกว่าสิ่งชั่วร้ายคือผู้ที่นำความชั่วร้าย (มาสู่ตัวเอง) และที่น่ากลัวยิ่งกว่าความน่ากลัวคือผู้ที่กระทำมัน” [5]

 

اِنَّ الحَرامَ لا ینمى وَ اِن نَمى لا یبارَک لَهُ فیهِ وَ ما اَنفَقَهُ لَم یؤجَر عَلَیهِ وَ ما خَلَّـفَهُ کانَ زادَهُ اِلَى النّارِ

 

“แท้จริงทรัพย์สินต้องห้าม (ฮะรอม) นั้นจะไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มพูน และถ้าหากเพิ่มพูนก็จะไม่ก่อให้เกิดความจำเริญแก่เขา และสิ่งที่เขาได้บริจาคมันออกไปก็จะไม่ได้รับการตอบแทนรางวัล และถ้าหากเขาละทิ้งมันไว้เบื้องหลัง (เป็นมรดก) มันก็จะเป็นเสบียงของเขาไปสู่ไฟนรก” [6]

 

ألحِکمَةُ لاتَنجَعُ فِی الطِّباعِ الفاسِدَةِ

“วิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) จะไม่ยังคุณประโยชน์อันใดในคนที่มีอุปนิสัยใจคอที่ชั่วร้าย” [7]

 

أَلدُّنيا سُوقٌ رَبِحَ فيها قَوْمٌ وَ خَسِرَ آخَرُونَ؛

 

“โลกนี้เปรียบได้ดั่งสถานที่ทำการค้าขาย ที่คนกลุ่มหนึ่งจะได้รับผลกำไรและคนอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับความขาดทุน” [8]

 

اِيّاكَ وَالْحَسَدَ فَاِنَّهُ يَبينُ فيكَ وَلايَعْمَلُ فى عَدُوِّكَ؛

 

“จงระวังจากความอิจฉาริษยา เพราะแท้จริงความอิจฉาริษยานั้นจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในตัวท่าน และมันจะไม่ส่งผลใดๆ ในศัตรูของท่าน” [9]


เชิงอรรถ :

 

(1) ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 483 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 78, หน้าที่ 366, ฮะดีษที่ 6

(2) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 78, หน้าที่ 368, ฮะดีษที่ 3

(3) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 78, หน้าที่ 370, ฮะดีษที่ 64

(4) ตุหะฟุลอุกูล หน้าที่ 772

(5) บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370

(6) อัลกาฟี , เล่มที่ 5 , หน้าที่ 125

(7) บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370

(8) ตุหะฟุ้ลอุกูล , หน้าที่ 774

(9) บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370


บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม