จริยวัตรของท่านศาสนทูตในคัมภีร์อัลกุรอาน ตอนที่ 2
จริยวัตรของท่านศาสนทูตในคัมภีร์อัลกุรอาน ตอนที่ 2
การดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายและการหลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุ
ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้วางกรอบกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของตนเองไว้บนพื้นฐานการให้ความสำคัญต่อคัมภีร์อัลกุรอาน เช่นเดียวกับประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอิบาดะฮ์ ดังที่มีรายงานจากท่านอิมามซอดิก (อ.) และท่านอิมามบากิร (อ.) เกี่ยวกับการไม่ยึดติดกับโลก (ดุนยา) และการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า : บรรดาขุมคลังของโลกนี้และกุญแจของมันได้ถูกเสนอให้แก่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และท่านได้รับสิทธิ์ที่จะเลือกเอาสิ่งเหล่านั้นได้อย่างอิสระโดยไม่ทำให้ฐานะตำแหน่งของท่านบกพร่องลงไปแต่อย่างใด แต่ทว่าท่านได้อธิบายให้เห็นถึงการเลือกเอาการมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายและปฏิเสธที่จะรับเอาสิ่งที่ถูกเสอนให้โดยกล่าวว่า “โลกนี้ (ดุนยา) คือสถานที่พำนักของผู้ที่ไม่มีที่พำนักใดสำหรับเขา และบุคคลที่ไร้สติปัญญาเท่านั้นที่จะสั่งสมเพื่อมัน”
ความไม่ใส่ใจและความหลุดพ้นจากการยึดติดต่อภาพลวงต่างๆ ของดุนยา เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ให้ความสำคัญต่อหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอานอย่างสมบูรณ์ ส่วนหนึ่งจากบรรดาโองการที่ชี้ให้เห็นถึงประเด็นนี้ก็คือโองการที่ว่า
وَلَا تُعْجِبْكَ أَمْوَالُهُمْ وَأَوْلَادُهُمْ إِنَّمَا يُرِيدُ اللَّهُ أَن يُعَذِّبَهُم بِهَا فِي الدُّنْيَا
“และจงอย่าให้ทรัพย์สมบัติของพวกเขาและลูกๆ ของพวกเขา เป็นที่พึงพอใจแก่เจ้า แท้จริงอัลลอฮ์ทรงประสงค์ที่จะลงโทษพวกเขาด้วยสิ่งเหล่านั้นในโลกนี้”
(อัลกุรอานบท อัตเตาบะฮ์ โองการที่ 85)
และในอีกโองการหนึ่งซึ่งกล่าวว่า
إِنَّمَا أَمْوَالُكُمْ وَأَوْلَادُكُمْ فِتْنَةٌ
“แท้จริงทรัพย์สมบัติและลูกๆ ของพวกเจ้านั้นเป็นสิ่งทดสอบ”
(อัลกุรอานบท อัตตะฆอบุน โองการที่ 15)
บรรดาผู้ขวนขวายสะสมทรัพย์สมบัติและเลี้ยงดูลูกๆ ของตนเองโดยไม่ระมัดระวังรักษากฎเกณฑ์ต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า พวกเขาจะประสบกับการทดสอบ (ฟิตนะฮ์) ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสต่อมารร้าย (ชัยฏอน) ว่า
وَأَجْلِبْ عَلَيْهِم بِخَيْلِكَ وَرَجِلِكَ وَشَارِكْهُمْ فِي الْأَمْوَالِ
“และเจ้าจงร่วมกับพวกเขาในทรัพย์สมบัติและลูกๆ เถิด”
(อัลกุรอานบท อัลอิซรออ์ โองการที่ 64)
และในอีกโองการหนึ่งอัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสต่อท่านศาสนทูตของพระองค์ว่า
وَلَا تَمُدَّنَّ عَيْنَيْكَ إِلَىٰ مَا مَتَّعْنَا بِهِ أَزْوَاجًا مِّنْهُمْ زَهْرَةَ الْحَيَاةِ الدُّنْيَا لِنَفْتِنَهُمْ فِيهِ
“และเจ้าจงอย่าทอดสายตาของเจ้าไปยังสิ่งที่เราได้มอบให้เป็นความสุขเพลิดเพลินแก่กลุ่มชนต่างๆ จากพวกเขา (พวกเนรคุณ) สิ่งนั้นเป็นเพียงดอกไม้ประดับแห่งชีวิตทางโลกนี้ เพื่อเราจะได้ทดสอบพวกเขาในเรื่องนี้”
(อัลกกุรอานบท ฎอฮา โองการที่131)
สีสรรและสิ่งอำนวยสุขแห่งดุนยาเป็นได้แค่เพียงดอกไม้ประดับและจะไม่ให้ผลแก่ผู้ใด โลกดุนยาเปรียบได้ดั่งอณาเขตที่มีอากาศหนาวจัดซึ่งดอกไม้จะไม่ให้ผลใดๆ และจากเหตุผลดังกล่าวนี้ ผู้ใดก็ตามที่ได้รับปัจจัยอำนวยสุขหรือฐานะตำแหน่งหนึ่งๆ สุดท้ายแล้วด้วยผลอันเป็นสาเหตุทางธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น ความป่วยไข้ ความแก่ชรา ความตาย หรือสาเหตุต่างๆ ทางด้านการเมืองและทางสังคม ทำให้เขาต้องสูญเสียมันไปให้แก่ผู้อื่น ด้วยการดำเนินชีวิตที่เรียบง่ายเท่านั้นที่เขาจะสามารถมุ่งเดินสู่เส้นทางอันเที่ยงตรงได้อย่างง่ายดาย จากจุดนี้เองท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า “พวกเราคือผู้ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย” ผู้ที่ใช่ชีวิตอย่างเรียบง่ายสามารถไปถึงยังเป้าหมายได้ดีกว่า และเป็นกลุ่มชนผู้รอดพ้น
เขียนโดย : รูยอคอน ซอเดฮ์
แปล : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ขอขอบคุณเว็บไซต์ islamicstudiesth