แบบฉบับของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในการดื่มและรับประทานอาหาร
แบบฉบับของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในการดื่มและรับประทานอาหาร
อิสลาม ยอมรับว่าการรับประทานอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตทางด้านร่างกายของมนุษย์ ที่จะต้องเจริญเติบโต ใช้กำลังงานและสร้างพลานามัยที่แข็งแรง แต่ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็มิได้เกิดมาเพียงเพื่อรับประทานอย่างเดียวเหมือนกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เท่านั้น แต่มนุษย์ยังต้องการมารยาทในการรับประทานและดื่ม ดังนั้น อิสลามจึงได้กำหนดมารยาทในการรับประทานและดื่มไว้ โดยท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ปฏิบัติเป็นแบบฉบับไว้
ท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อ.) กล่าวว่า“มีผู้นำอาหารมาให้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เนื่องจากท่านเห็นว่าอาหารนั้นยังร้อนอยู่ ท่านจึงกล่าวว่า จงวางมันไว้ให้เย็นก่อน ซึ่งความจำเริญ (ความดีงาม) ของมันจะมีมากกว่า พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงประทานอาหารร้อนให้แก่เรา” (1)
ท่านอิมามฮุเซน (อ.) กล่าวว่า : เมื่อใดก็ตามที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จะรับประทานอาหาร ท่านจะกล่าวว่า
اللّهُمَّ بَارِكْ لَنَا فِیهِ وَ ارْزُقنَا خَیْراً مِنْهُ
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! โปรดประทานความจำเริญแก่เหล่าข้าพระองค์ในอาหารนี้ และโปรดประทานสิ่งที่ดีงามกว่ามันเป็นปัจจัยดำรงชีพแก่เหล่าข้าพระองค์ด้วยเถิด”
และทุกครั้งที่ท่านจะดื่มนมท่านจะกล่าวว่า
اللَّهُم بارِكْ لَنَا فِیهِ وَ ارزُقنَا فِیه
“ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า! โปรดประทานความจำเริญแก่เหล่าข้าพระองค์ในนมนี้ และโปรดประทานปัจจัยดำรงชีพแก่เหล่าข้าพระองค์ในสิ่งนี้ด้วยเถิด” (2)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์นับจากช่วงเริ่มแรกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสดา จวบจนถึงวาระสุดท้ายแห่งอายุขัยของท่าน ท่านไม่เคยที่จะรับประทานอาหารในสภาพที่นั่งพิงสิ่งใดเลย และตลอดเวลาท่านจะรับประทานอาหารเหมือนทาสคนหนึ่งและนั่งเหมือนทาสคนหนึ่ง และท่านจะกระทำเช่นนี้เพื่อแสดงความนอบน้อมและถ่อมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า” (3)
นอกจากนี้ ท่านยังกล่าวอีกว่า “ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่ชอบที่จะรับประทานและดื่มและหยิบสิ่งใดด้วยมือซ้าย” (4)
ผู้รายงานได้กล่าวว่า : ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จะใช้มือขวาในการรับประทานอาหาร การดื่มและการทำวุฎูอ์ (5)
อะนัส ได้เล่าว่า “ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ไม่เคยพูดไม่ดี (บ่น) เกี่ยวกับอาหาร ถ้าหากท่านชอบอาหารนั้น ท่านก็จะรับประทานมัน แต่ท่านไม่ชอบท่านก็จะไม่รับประทาน” (6)
เชิงอรรถ :
[1] อุยูน อัคบาริรริฎอ เล่มที่ 2 หน้าที่ 40
[2] อุยูน อัคบาริรริฎอ เล่มที่ 2 หน้าที่ 39
[3] อัลกาฟี เล่มที่ 6 หน้าที่ 270-271
[4] มะการิมุลอัคลาก หน้าที่ 142
[5] อัลญามิอุซซอฆีร เล่มที่ 2 หน้าที่ 372
[6] มะการิมุลอัคลาก หน้าที่ 30
[7] มะฟาตีฮุ้ลหะยาต หน้าที่ 155-156-157
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ