สงครามตัวต่อตัวกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ(นัฟซุลอัมมาเราะฮ์)
สงครามตัวต่อตัวกับอารมณ์ใฝ่ต่ำ(นัฟซุลอัมมาเราะฮ์)
ในโองการต่างๆ ของคัมภีร์อัลกุรอานและคำพูดของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ได้กำชับและตอกย้ำในเรื่องของตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) ไว้อย่างมากมาย หากเราจะขอให้นักวิชาการศาสนา (อุละมาอ์) ที่มีชื่อเสียงทั้งหมดให้คำแนะนำและตักเตือนเรา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า หนึ่งในคำสั่งเสียต่างๆ ของท่านเหล่านั้นคือ ให้เราหลีกเลี่ยงข้อห้ามต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าและระวังรักษาคำสั่งใช้ต่างๆ ของพระองค์ ซึ่งนั่นก็คือ ตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) นั่นเอง
พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสร้างได้ทรงตรัสเกี่ยวกับเรื่องของตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) ไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานเช่นนี้ว่า :
وَلَوْ أَنَّ أَهْلَ الْقُرَی آمَنُواْ وَاتَّقَواْ لَفَتَحْنَا عَلَیْهِم بَرَکَاتٍ مِّنَ السَّمَاء وَالأَرْضِ وَلَـکِن کَذَّبُواْ فَأَخَذْنَاهُم بِمَا کَانُواْ یَکْسِبُونَ
“และหากผู้คนในเมืองและหมู่บ้านทั้งหลายมีศรัทธามั่นและยำเกรง (ต่อพระผู้เป็นเจ้า) แล้ว แน่นอนยิ่ง เราจะเปิดความจำเริญต่างๆ จากฟากฟ้าและแผ่นดินให้แก่พวกเขา แต่ทว่าพวกเขาปฏิเสธ (สัจธรรม) ดังนั้น เราจึงลงโทษพวกเขาเนื่องจากสิ่งที่พวกเขาได้เคยขวนขวาย” (1)
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องของตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) ไว้เช่นนี้ว่า :
عَلَيْكُمْ بِتَقْوَى اللَّهِ فَإِنَّهَا تَجْمَعُ الْخَيْرَ وَ لَا خَيْرَ غَيْرُهَا وَ يُدْرَكُ بِهَا مِنَ الْخَيْرِ مَا لَا يُدْرَكُ بِغَيْرِهَا مِنْ خَيْرِ الدُّنْيَا وَ الْآخِرَةِ
“ท่านทั้งหลายจงมีตักวาต่ออัลลอฮ์เถิด! เพราะแท้จริงมันรวมความดีงามทั้งมวลไว้ และไม่มีความดีงามใดๆ ในสิ่งอื่นจากมัน และด้วยสื่อของมัน (ตักวา) นี่เอง ที่มนุษย์จะได้รับความดีงาม โดยสื่ออื่นที่นอกเหนือจากมันแล้ว มนุษย์ไม่อาจจะได้รับความดีงามได้ทั้งในโลกนี้และในปรโลก” (2)
ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นเหมือนดั่งตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) ที่จะนำพามนุษย์ให้ไปถึงยังเป้าหมายและสิ่งที่มุ่งมาตรปรารถนาได้ ภายใต้ร่มเงาของตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) นี่เองที่มนุษย์สามารถบรรลุสู่จุดสูงสุดของความมีเกียรติ ความภาคภูมิใจในตนเองและความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิต ผู้ใดก็ตามที่ไม่หลีกเลี่ยงจากข้อห้ามต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้า และไม่ระวังรักษาคำสั่งใช้ต่างๆ ของพระองค์ แน่นอนยิ่ง เขาก็ไม่อาจที่จะได้รับความดีงามและความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิตของเขาได้เลย
เรื่องเล่าต่อไปนี้ คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของนักวิชาการศาสนาผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง ที่ด้วยกับการระวังรักษาตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) ทำให้เขาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก
นักศึกษาศาสนาหนุ่มซึ่งมีนามว่า “มุฮัมมัด บากิร” ในขณะที่กำลังนั่งง่วนอยู่กับการอ่านหนังสือในห้องส่วนตัวของเขาในสถาบันศึกษาศาสนา (เฮาซะฮ์ อิลมียะฮ์) ทันใดนั้นเองก็มีสตรีผู้หนึ่งที่มีรูปโฉมงดงาม มีใบหน้าประดุจดั่งจันทร์เพ็ญ ได้เข้ามาในห้องของเขา นางได้ปิดประตูและใช้นิ้วเป็นสัญลักษณ์ว่าให้นักศึกษาศาสนาหนุ่มผู้นี้ปิดปากเงียบ อย่าได้เอะอะโวยวายใดๆ หญิงสาวได้กล่าวว่า “ท่านมีอาหารเย็นอะไรกินบ้าง” นักศึกษาหนุ่มผู้นั้นได้สิ่งนำที่จัดเตรียมไว้สำหรับตนเองมาให้นาง และนางก็ได้กินมัน จากนั้นนางก็หลับลงในมุมหนึ่งของห้อง และมุฮัมมัด บากิร ก็ยังคงอ่านหนังสือของตนเองต่อไป
ในอีกด้านหนึ่ง หญิงสาวผู้นี้คือบุตรีของพระราชา เนื่องจากเกิดการพิพาทและขัดแย้งกันกับสตรีคนอื่นๆ นางจึงหนีออกมาจากฮาเร็ม พระราชาได้บัญชาให้ทหารออกตามหานางทั่วทุกมุมเมืองเพื่อนำตัวกลับมายังวัง แต่พวกเขาค้นหาอย่างไรก็ไม่พบธิดาของกษัตริย์ เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อหญิงสาวผู้นั้นตื่นนอนขึ้นมาและออกจากห้องของนักศึกษาหนุ่มผู้นั้น บรรดาทหารของพระราชาจึงได้พบเห็นนาง และหลังจากที่สอบถามนางว่าเมื่อคืนได้ไปนอนอยู่ที่ใด พวกเขาจึงนำตัวพระธิดาและมุฮัมมัด บากิร นักศึกษาศาสนาหนุ่มผู้นั้นไปพบพระราชา ใบหน้าของพระราชาแดงเป็นสีเลือดด้วยความโกรธจัด และได้ถามมุฮัมมัด บากิร ด้วยอารมณ์ที่โกรธกริ้วว่า “ทำไมเมื่อคืนเจ้าจึงไม่แจ้งข่าวแก่เราว่า ลูกสาวของเราอยู่ในห้องของเจ้า” มุฮัมมัด บากิร กล่าวว่า “พระธิดาได้ข่มขู่ข้าพระองค์ว่า ถ้าข้าพระองค์บอกใคร นางจะให้เพชฌฆาตจัดการกับข้าพระองค์” พระราชาออกคำสั่งให้ตรวจสอบว่า ชายหนุ่มผู้นี้ได้กระทำผิดใดๆ ต่อลูกสาวของตนหรือไม่
หลังจากการสืบสวนและพบว่า นักศึกษาหนุ่มผู้นี้มีความบริสุทธิ์และเป็นผู้มีตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า) พระองค์จึงตรัสถามมุฮัมมัด บากิรว่า “เจ้าสามารถต้านทานอารมณ์ฝาต่ำของเจ้าได้อย่างไร” มุฮัมมัด บากิร ได้ยกนิ้วมือทั้งสิบนิ้วของเขาให้พระราชาดู พระราชาเมื่อเห็นนิ้วมือทั้งสิบของเขาถูกไฟลวก จึงถามถึงสาเหตุของไฟที่ลวกนิ้วของเขา มุฮัมมัด บากิร ได้กล่าวตอบว่า “เมื่อนางนอนหลับ อารมณ์ใฝ่ต่ำได้กระซิบกระซาบต่อข้าพระองค์ ทุกครั้งที่อารมณ์ใฝ่ต่ำ (นัฟซุ้ลอัมมาเราะฮ์) ได้กระซิบกระซาบต่อข้าพระองค์ ข้าพระองค์ก็จะนำนิ้วมือหนึ่งของข้าพระองค์จิ้มไปที่เปลวไฟจากแสงเทียน เพื่อที่ข้าพระองค์จะได้ลิ้มรสของไฟนรก ตั้งแต่ช่วงเวลาพลบค่ำจนถึงยามเช้า ข้าพระองค์ได้ต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำด้วยวิธีดังกล่าวนี้ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้เป็นเจ้า ซาตาน (ชัยฏอน) ก็ไม่สามารถทำให้ข้าพระองค์เบี่ยงเบนออกจากแนวทางที่เที่ยงตรงได้ และไม่สามารถที่จะเผาไหม้ความศรัทธา (อีหม่าน) และสถานภาพของพระองค์ลงได้”
เมื่อกษัตริย์ชาฮ์อับบาส แห่งราชวงศ์ซอฟาวียะฮ์ ได้ยินเช่นนั้น จึงรู้สึกพอใจในตักวาและความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้าของเขา และออกคำสั่งให้สมรสธิดาผู้นี้ของตนให้กับ “มีรมุฮัมมัด บากิร” และได้ให้สมยานามแก่เขาว่า “มีรดามาด” (พระราชบุตรเขย) และจวบจนถึงปัจจุบันนี้บรรดานักวิชาการศาสนาและผู้ที่มีความรักในวิชาความรู้ยังคงกล่าวขานถึงท่านผู้นี้ด้วยความดีงามและการเชิดชูเกียรติ และยังคงใช้ประโยชน์จากวิชาความรู้ของท่านอย่างต่อเนื่อง นั่นคือตัวอย่างของการต่อสู้ (ญิฮาด) กับอารมณ์ใฝ่ต่ำ (นัฟซุลอัมมาเราะฮ์) ที่เป็นบ่อเกิดทำให้เราบรรลุความสำเร็จและความดีงามทั้งในชีวิตทางด้านวัตถุและชีวิตทางด้านจิตวิญาณ
ผู้ศรัทธาทุกคนจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนตนเอง และจะต้องต่อสู้กับอารมณ์ใฝ่ต่ำของตนให้ได้ทุกครั้งที่เกิดการกระซิบกระซาบทั้งจากด้านในของเราเอง หรือจากปัจจัยภายนอกที่จะชักนำเราไปสู่การกระทำที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนพระผู้เป็นเจ้า และทำให้เราออกห่างจากคุณลักษณะของตักวา (ความเป็นผู้ยำเกรงและสำรวมตนต่อพระผู้เป็นเจ้า)
แหล่งอ้างอิง :
(1) อัลกุรอานบทอัลอะอ์ร๊อฟ โองการที่ 96
(2) ตุหะฟุ้ลอุกูล, หน้าที่ 297
แปลเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ