หน้าที่บุตรที่มีต่อบิดามารดา
หน้าที่ของบุตรที่มีต่อบิดามารดา
บิดามารดา คือบุพการีและอยู่ในฐานะของสื่อที่มีส่วนในการสร้างบุตรและเป็นครูคนแรกที่ ให้การอบรมสั่งสอนกริยามารยาทแก่บุตร บิดามารดาจึงมีบุญคุณอย่างล้นเหลือแก่บุตรและธิดาของตน ซึ่งเป็นบุญคุณที่มิอาจทดแทนได้อย่างหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงได้กำชับไว้อย่างหนักแน่นว่า บุตรทุกคนมีหน้าที่ต้องให้เกียรติเคารพยกย่องและปฏิบัติตามบิดามารดาอย่างเคร่งครัด ถึงขนาดที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้กล่าวถึงการให้เกียรติต่อบิดามารดา หลังจากการกล่าวถึงการเคารพสักการะต่อพระองค์โดยทันที นั่นย่อมแสดงว่า บิดามารดานั้นอยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งอันแท้จริง อัล-กุรอานกล่าวว่า
ูوَقَضَى رَبُّكَ أَلاَّ تَعْبُدُواْ إِلاَّ إِيَّاهُ وَبِالْوَالِدَيْنِ إِحْسَانًا
“พระผู้อภิบาลของเจ้าได้มีบัญชาว่า เจ้าจงอย่าเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากอัลลอฮฺ และจงทำดีกับบิดามารดาทั้งสองท่าน” (ซูเราะฮ บะนีอิสรออีล : ๒๓)
มีรายงานจำนวนมากมายที่กล่าวถึงบาปใหญ่หลังจากการตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ คือ การประพฤติที่ไม่ดีกับบิดามารดา อัล-กุรอานได้กล่าวอีกว่า
ูإِمَّا يَبْلُغَنَّ عِندَكَ الْكِبَرَ أَحَدُهُمَا أَوْ كِلاَهُمَا فَلاَ تَقُللَّهُمَآ أُفٍّ
“และถ้าหากคนหนึ่งจากทั้งสองหรือทั้งสองท่าน ได้ถึงวัยชราภาพเจ้าก็จงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองด้วยคำพูดที่ไม่ดี “อุฟ” เจ้าจงอย่าขู่ตะคอกแก่ทั้งสอง จงพูดกับทั้งสองท่านด้วยคำพูดที่อ่อนโยน นอบน้อมและอ่อนหวาน” (ซูเราะฮ บะนีอิสรออีล : ๒๓)
สิทธิของบิดามารดา
ฐานันดรของบิดามารดาที่มีต่อบุตรและครอบครัวนั้น เปรียบเป็นต้นไม้ก็คือรากแก้วที่ทำหน้าที่ยึดลำต้นมิให้ล้มทลาย และเป็นที่มาของกิ่งก้านและดอกใบ บิดามารดาคือผู้ที่สร้างฐานอันมั่นคงแก่บุตรและเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่แท้จริงให้กับครอบครัวและเป็นเสาหลักที่สำคัญของสังคม
การประพฤติไม่ดีหรือแสดงมารยาทที่ต่ำทรามหรือทำการกลั่นแกล้งท่านทั้งสอง ย่อมแสดงออกถึงความเป็นคนอกตัญญูไม่รู้จักบุญคุณของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุญคุณของบิดามารดาที่ไม่มีวันตอบแทนได้หมดสิ้น การแสดงกริยาไม่ดีกับบิดามารดา ประหนึ่งได้สลัดความเป็นมนุษย์ออกไปจากตนจนหมดสิ้น เป็นการทำลายคุณค่าของความเป็นคนและสังคมให้พินาศย่อยยับ เพราะบรรดาเยาวชนคือทรัพยากรที่ดีได้อย่างไรซึ่งต้นเหตุมาจากการที่พวกเขา ประพฤติไม่ดีกับบิดามารดา จนทำให้ท่านทั้งสองเหนื่อยล้าและหมดกำลังใจที่จะสั่งสอน แต่โดยปรกติแล้วไม่มีบิดามารดาท่านใดบนโลกนี้ที่ไม่มีความปรารถนาดีกับบุตรของตน บิดามารดาทุกท่านปรารถนาจะเห็นบุตรและธิดาของตนมีความก้าวหน้า มีการพัฒนาเป็นผู้มีหน้ามีตาในสังคม เป็นทรัพยากรบุคคลที่ดีและมีอนาคตที่สูงส่งและก้าวไกล
โดยธรรมชาติของผู้เป็นบิดามารดา สามารถอดทนต่อความประพฤติที่ไม่ดีของบุตรได้เสมอ มีความเจ็บปวดแทนและความห่วงใยพวกเขาตลอดเวลา แม้ว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวหรือเป็นผู้ใหญ่ไปแล้วก็ตาม
จึงเห็นได้ว่าไม่มีพลังแห่งความรักใดที่จะยิ่งใหญ่เกินไปกว่าพลังแห่งความรักของบิดามารดาที่มีต่อบุตร สิทธิของท่านทั้งสองที่มีต่อบุตรจึงมากมายเสียเหลือเกิน แม้ว่าท่านทั้งสองจะจากไปแล้วก็ตาม
หน้าที่ของบุตรที่มีต่อบิดามารดา
มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเป็นของตนเองมากน้อยเป็นไปตามลำดับ แต่มิได้หมายถึงว่าเขามีสิทธิเสรีภาพเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยผู้หนึ่งผู้ใดจะมายุ่งกับเขาไม่ได้อีก ในอีกความหมายก็คือ ทุกคนมีสิทธิแต่อยู่ภายใต้กรอบและเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้
มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ชั่วคราว และมีอายุไขอันสั้น หลังจากนั้นเขาก็จะต้องพรากจากโลกนี้ไป ด้วยเหตุนี้พระผู้เป็นเจ้าจึงได้จัดวางระบบการเจริญพันธุ์และระบบสืบวงศ์ตระกูลไว้ในหมู่ประชาติ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มนุษย์สูญพันธ์ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างระบบความสัมพันธ์อันดีงามในสังคมจากบรรพชนมาสู่ลูกหลาน
โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วย่อมมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า บุตรและธิดาคือส่วนหนึ่งของเขา การคงอยู่ของบุตรคือการคงอยู่ในฐานะตัวแทนของเขา มนุษย์จึงได้เพียรพยายามทุกอย่างเพื่อสร้างอนาคตและฐานะภาพอันมั่นคงทั้งทางโลกและทางธรรมเพื่อบุตรของตน เพราะเขารู้ดีว่าชื่อเสียงและเกียรติยศของตนจะสูญสิ้นไปก็ต่อเมื่อบุตรและธิดาได้สร้างความเสื่อมเสียภายหลังจากนั้น ในขณะที่ผู้เป็นบิดามารดาไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น ท่านทั้งสองปรารถนาให้ชื่อเสียงและวงศ์ตระกูลดำรงสืบต่อไป ฉะนั้นสาเหตุสำคัญทีจะทำให้ความหวังเป็นจริง มันจึงขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนของบิดามารดาที่มีต่อบุตรซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง ขณะเดียวกันก็เป็นสิทธิของบุตรที่พึงจะได้รับสิ่งเหล่านี้จากบิดามารดา อาทิเช่น
๑. บิดามารดาต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของกริยามารยาท และความประพฤติ ซึ่งสิ่งนี้ต้องแสดงออกด้วยความจริงใจมิใช่ภาพลวงตา เพื่อจะได้มั่นใจได้ว่าตนไม่ได้สร้างแนวทางที่เฉไฉให้กับบุตร บิดามารดาต้องออกห่างจากการกระทำที่ไม่ดีอย่างสิ้นเชิง เช่น ต้องไม่โกหก ด่าทอ พูดคำหยาบคาย นินทาและว่าร้ายผู้อื่น บิดามารดาต้องสรรสร้างแต่สิ่งที่ดีงามต่อหน้าบุตร เพื่อจะได้ให้เขาจดจำและลอกเลียนแบบ เช่น มีความตั้งใจและจริงจังต่อการงาน มีความอดทนอดกลั้น มีความยุติธรรม มีความเมตตาปรานีและรู้จักโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น บิดามารดาต้องออกห่างจากสิ่งที่ไร้สาระ มารยาทที่ต่ำทรามและความเห็นแก่ตัว
๒. บิดามารดาต้องดูแลรักษาความสะอาดด้านสุขภาพพลานามัยของบุตรตลอดเวลา เพื่อจะได้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สติปัญญาที่เฉลียวฉลาดพร้อมที่จะทำการศึกษาหาความรู้ต่อไป และต้องจัดหาปัจจัยยังชีพที่พอเพียงแก่พวกเขา
๓. เมื่อบุตรเข้าสู่วัยที่ต้องเรียนรู้อย่างเต็มที่ ผู้ปกครองต้องส่งบุตรเข้าโรงเรียนแลฝากฝังแก่ครูที่ดีมีคุณภาพ เพราะคำพูดและการสอนของครูนั้น มีอิทธิพลและมีผลกับเด็กอย่างมาก ถ้าเป็นคำพูดที่ดี คำพูดเหล่านั้นก็จะฝังอยู่ในจิตใจของเด็กตลอดไปและเป็นบรรทัดฐานสำหรับเด็กที่จะจำไปปฏิบัติและขัดเกลากริยามารยาทของเขาในวันข้างหน้า เพราะวัยนี้คือวัยของการจดจำ ถ้าเขาจดจำสิ่งที่ดีและอยู่กับคนดี เขาก็ย่อมเป็นคนดี แต่ถ้าไม่เช่นนั้นเขาก็คือมารร้ายของสังคมในอนาคต จึงเป็นหน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องสอดส่องดูแลและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
๔. เมื่อบุตรเข้าสู่วัยของการเป็นวัยรุ่นซึ่งต้องพบปะกับผู้คนมากขึ้นเป็น หน้าที่ของผู้ปกครองที่จะต้องพาเขาไปสู่สังคมที่มีบรรยากาศของคุณธรรมความดี คอยให้คำแนะนำคำปรึกษาและปลูกฝังความคิดที่ดีแก่เขา สอนให้เขารู้จักการใช้เหตุผลและการจำแนกแยกแยะว่าสิ่งใดควรไม่ควร
๕. เป็นหน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่บุตร ทั้งหลักความศรัทธา (อุศูลุดดีน) หลักการปฏิบัติ (ฟุรุอุดดีน) และสอนให้เขารู้จักการอ่านอัล-กุรอาน
ขอขอบคุณเว็บไซต์อัชชีอะฮ์