รางวัลของการสร้างความสุขให้แก่ผู้ศรัทธา ในคำพูดของอิมามบากิร (อ.)
รางวัลของการสร้างความสุขให้แก่ผู้ศรัทธา ในคำพูดของอิมามบากิร (อ.)
อิบาดะฮ์ (การนมัสการและการเคารพภักดี) พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งนั้นไม่ได้หมายถึงการนมาซและการถือศีลอดเพียงเท่านั้น แต่ยังมีการกระทำ (อะมั้ล) อื่น ๆ อีกมากมายที่นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งจากการอิบาดะฮ์ที่เป็นที่รักยิ่งที่สุด ณ พระผู้เป็นเจ้า การทำให้ผู้อื่นได้รับความสุขนั้นมีขอบข่ายที่กว้างขวางและวิธีการที่หลากหลาย อย่างเช่น การแสดงอารมณ์ขัน การหยอกล้อ (ในขอบเขตที่พอเหมาะพอควร) ความปรารถนาดี การมีน้ำใจและเป็นสื่อทำให้ผู้อื่นได้รับความดีงามรวมทั้งการช่วยเหลือในการแก้ปัญหาและความทุกข์ยากต่างๆ
ในเรื่องนี้ท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) ได้แนะนำอิบาดะฮ์ที่เป็นที่รักยิ่ง ณ พระผู้เป็นเจ้าประการหนึ่งไว้ในฮะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งว่า :
تَبَسُّمُ الرَّجُلِ فِی وَجهِ أخِیهِ حَسَنَةٌ و صَرفُ القَذَی عَنهُ حَسَنَةٌ و ما عُبِدَ اللهُ بِشَیءٍ أحَبَّ إلی اللهِ مِن إدخالِ السُّرُورِ عَلَی المُؤمِنِ
"การยิ้มของคนผู้หนึ่งให้กับพี่น้องของเขานั้นคือความดี (ฮะซะนะฮ์) และการกำจัดหนามให้พ้นออกไปจากเขาคือความดี และอัลลอฮ์จะไม่ถูกเคารพภักดีด้วยสิ่งใดที่จะเป็นสิ่งที่รักที่สุด ณ พระองค์ยิ่งไปกว่าการสร้างความสุข (ความดีใจ) ให้กับผู้ศรัทธา" (1)
นอกจากนี้ท่านยังได้กล่าวไว้ในอีกวจนะหนึ่งว่า :
إِنَّ أَحَبَّ الْأَعْمَالِ إِلَى اللهِ عَزَّ وَ جَلَّ إِدْخَالُ السُّرُورِ عَلَى الْمُؤْمِنِ
"แท้จริงการกระทำ (อะมั้ล) ที่เป็นที่รักยิ่งที่สุด ณ อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร คือการสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับผู้ศรัทธา" (2)
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการปฏิบัติตามคำแนะนำของบรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) (วงค์วานผู้บริสุทธ์ของท่านศาสดา ซ็อลฯ) ในเรื่องต่างๆ นั้น คือวิธีที่ดีที่สุดและง่ายที่สุดที่จะทำให้ตัวเราเองมีคุณลักษณะใกล้เคียงกับพวกท่าน บรรดาอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ในฐานะที่เป็นผู้ชี้นำที่ดีที่สุดของมนุษยชาติ แน่นอนยิ่ง พวกท่านย่อมรู้ดีกว่าสิ่งใดที่จะเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์สำหรับผู้ปฏิบัติตามและผู้เป็นที่รักของตนทั้งในโลกนี้และปรโลก การกระทำเหล่านี้แม้จะเป็นสิ่งที่เล็กน้อยและเรียบง่าย แต่ผลรางวัลนั้นยิ่งใหญ่ที่เราควรจะให้ความสำคัญ เราจะต้องรับฟังและปฏิบัติตามคำแนะนำของบรรดาอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ แม้ในเรื่องที่เล็กน้อยและเป็นประเด็นปลีกย่อยที่สุดก็ตาม
แหล่งที่มา :
1.วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 11, หน้า 569
2.อัลกาฟี, เล่ม 2, หน้า 192
บทความ : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ
ขอขอบคุณเว็บไซต์ซอฮิบซะมาน