แบบอย่างที่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) พึงปฏิบัติตาม
แบบอย่างที่ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) พึงปฏิบัติตาม
พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสไว้ในอัลกุรอาน บทอัลมาอิดะฮ์ว่า :
إِنَّما وَلِيُّكُمُ اللَّهُ وَ رَسُولُهُ وَ الَّذِينَ آمَنُوا الَّذِينَ يُقِيمُونَ الصَّلاةَ وَ يُؤْتُونَ الزَّكاةَ وَ هُمْ راكِعُونَ
“แท้จริงผู้ปกครองของพวกเจ้านั้นคืออัลลอฮ์ และศาสนทูตของพระองค์ และบรรดาผู้ศรัทธาที่ดำรงการนมาซและจ่ายซะกาต (ทาน) ในขณะที่พวกเขาเป็นผู้โค้งคารวะ (รุกูอ์)” (1)
ตามทัศนะของบรรดานักวิชาการทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนนะฮ์มีความเห็นตรงกันว่า โองการนี้ถูกประทานลงมาในเรื่องของท่านอิมามอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.)
ผู้ต่อต้านท่านอิมามอะลี (อ.) บางคน พยายามที่จะบิดเบือนเกี่ยวกับสาเหตุของการประทานโองการนี้ อย่างเช่น จะให้ความหมายคำว่า “รุกูอ์” ว่า “ความนอบน้อม” ในหนังสือตัฟซีรนะมูเนะฮ์ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า : ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า คำว่า “รุกูอ์” ในโองการนี้ หมายถึง “การโค้งคารวะในการนมาซ” มิได้หมายถึง “ความนอบน้อม” เนื่องจากในความหมายที่รับรู้กันโดยทั่วไป (อุรฟ์) ของบทบัญญัติศาสนา (ชัรอ์) และในสำนวนของคัมภีร์อัลกุรอานนั้น เมื่อพูดถึงคำว่า “รุกูอ์” จะหมายถึงความหมายที่รับรู้กันโดยทั่วไปซึ่งนั่นก็คือ “การโค้งคารวะในนมาซ”
นอกจากสาเหตุของการประทานโองการ (ชะอ์นุนนุซูล) นี้ และริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ที่พูดถึงการบริจาคแหวนของท่านอิมามอะลี (อ.) ในขณะรุกูอ์แล้ว ประโยค “يُقِيمُونَ الصَّلاةَ” (พวกเขาดำรงนมาซ) ก็เป็นพยานหลักฐานในประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี และในคัมภีร์อัลกุรอานเราจะไม่พบเห็นแม้เพียงกรณีเดียวที่จะอธิบายลักษณะของการจ่ายซะกาต (ทาน) ด้วยคำว่า “ความนอบน้อม” (คุฎูอ์) แต่ทว่าจะอธิบายด้วยคุณลักษณะ “ความบริสุทธิ์ใจ” และ “การไม่ลำเลิกบุญคุณ” (2)
มุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) คือใคร?
คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า :
إِنَّمَا الْمُؤْمِنُونَ الَّذينَ آمَنُوا بِاللَّهِ وَ رَسُولِهِ ثُمَّ لَمْ يَرْتابُوا وَ جاهَدُوا بِأَمْوالِهِمْ وَ أَنْفُسِهِمْ في سَبيلِ اللَّهِ أُولئِكَ هُمُ الصَّادِقُون
"แท้จริงบรรดาศรัทธาชนนั้น คือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์และศาสนทูตของพระองค์ แล้วพวกเขาไม่เคลือบแคลงสงสัย และพวกเขาต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ด้วยทรัพย์สินของพวกเขาและชีวิตของพวกเขา ชนเหล่านั้นแหละคือบรรดาผู้สัตย์จริง" (3)
โองการนี้ได้อธิบายถึงคุณลักษณะของบรรดามุอ์มิน (ผู้ศรัทธา) บรรดาผู้ศรัทธาซึ่งท่านอมีรุลมุอ์มินีนอะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) เป็นหัวหน้าของพวกเขา
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับบุตรของลุงของท่านว่า :
يَا عَلِيُّ أَنْتَ يَعْسُوبُ الْمُؤْمِنِينَ
"โอ้อะลี! เจ้าคือหัวหน้าของบรรดาศรัทธาชน” (4)
ตามฮะดีษ (วจนะ) บทนี้ โองการอัลกุรอานข้างต้นได้วางภาระความรับผิดชอบที่หนักอึ้งลงบนบ่าของบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) และชาวชีอะฮ์ของท่านอิมามอะลี (อ.) มากกว่ามุสลิมคนอื่นๆ และจำเป็นจะต้องญิฮาดในทางของอัลลอฮ์ด้วยชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าญิฮาดนี้จะเป็นเรื่องของการทหาร (ญิฮาดเล็ก) ที่จำเป็นต้องใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทอง หรือไม่ว่าจะเป็นการญิฮาดด้วยชีวิต (ญิฮาดใหญ่) ซึ่งเราก็ต้องใช้จ่ายทรัพย์สินของตนไปในทางแห่งความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้าเช่นกัน เริ่มจากการ่ายคุมซ์และซะกาตที่เป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับ) ไปจนถึงการบริจาคทานที่เป็นมุสตะฮับ การช่วยเหลือคนยากจนขัดสนและอื่นๆ
การญิฮาดอักบัรด้วยทรัพยฺสินที่เราได้กล่าวถึงนี้ แน่นอนไม่ใช่เรื่องง่าย ชัยฏอน (มาร) มักจะล่อลวงและกระซิบกระซาบมนุษย์ตลอดเวลาว่า ถ้าเจ้าบริจาคออกไปแล้ว ลูกเมียของเจ้าจะเป็นอย่างไร ฯลฯ
ด้วยเหตุนี้ท่านอิมามซอดิก (อ.) จึงกล่าวว่า :
ما بَلا اللهُ بِشَیءٍ اَشدّ عَلیهِم مِن اِخراج الداراهمِ
"อัลลอฮ์มิได้ทรงทดสอบ (ปวงบ่าวของพระองค์) ด้วยสิ่งใดที่จะหนักหน่วงยิ่งต่อพวกเขามากไปกว่าการใช้จ่ายดิรฮัม (เงิน)” (5)
ดังนั้นหากใครก็ตามไม่ใส่ใจต่อแบบอย่างและวิถีชีวิตของบรรดามะอ์ซูม (อ.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านอิมามอะลี (อ.) ในประเด็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม และให้ความสนใจต่อคนยากจนขัดสน แม้ว่าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงประทานทรัพย์สินให้แก่เขามากมายก็ตาม บางทีเขาอาจจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ของความเป็นมุสลิมของตนได้ตามที่ควรจะเป็น
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า :
إِنَّ لِلَّهِ عِبَاداً يَخْتَصُّهُمُ اللَّهُ بِالنِّعَمِ لِمَنَافِعِ الْعِبَادِ فَيُقِرُّهَا فِي أَيْدِيهِمْ مَا بَذَلُوهَا فَإِذَا مَنَعُوهَا نَزَعَهَا مِنْهُمْ ثُمَّ حَوَّلَهَا إِلَى غَيْرِهِمْ
“แท้จริงปวงบ่าวกลุ่มหนึ่งของอัลลอฮ์ ที่อัลลอฮ์ทรงมอบเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ต่างๆ เป็นพิเศษแก่พวกเขา เพื่อให้ยังคุณประโยชน์แก่ปวงบ่าว (คนอื่นๆ ของพระองค์) โดยที่พระองค์จะยังคงมอบมันให้อยู่ในมือของพวกเขา ตราบที่พวกเขายังคงให้ (เสียสละ) มัน แต่เมื่อใดที่พวกเขาได้ยับยั้งจากการให้มัน พระองค์ก็จะทรงเอามันคืนไปจากพวกเขา แล้วพระองค์ก็จะทรงเปลี่ยนมือจากมันไปสู่ผู้อื่นจากพวกเขา” (6)
เชิงอรรถ :
(1) อัลกุรอานบทอัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 55
(2) ตัฟซีร นะมูเนะฮ์, เล่มที่ 4, หน้าที่ 423
(3) อัลกุรอานบทอัลฮุญุรอต โองการที่ 15
(4) ชัรห์ อุซูลุลกาฟี, เมาลา ซอและห์ อัลมาซันดะรอนี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 352
(5) อัลคิซ้อล, เชคซอดูก, เล่มที่ 1, หน้าที่ 80
(6) ชัรห์ อุซูลุลกาฟี, เมาลา ซอและห์ อัลมาซันดะรอนี, เล่มที่ 1, หน้าที่ 247
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ