กุญแจสู่ขุมคลังของคำสอนแห่งพระผู้เป็นเจ้า
กุญแจสู่ขุมคลังของคำสอนแห่งพระผู้เป็นเจ้า
การอธิบายถึงบทบาทของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) นั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้แนะนำอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ว่าเป็นประตูและกุญแจไขสู่ขุมคลังของความรู้แห่งพระผู้เป็นเจ้า และในอีกสำนวนหนึ่งได้กล่าวถึงท่านเหล่านั้นในฐานะครูเพียงผู้เดียวที่จะแนะนำให้รู้จักบทบัญญัติต่างๆ ของศาสนา
ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) หลังจากกล่าวถึงหน้าที่บังคับ (วาญิบาต) ต่างๆ ทางศาสนาที่สำคัญที่สุด ได้แก่ การประกอบพิธีฮัจญ์ อุมเราะฮ์ การนมาซ การจ่ายซะกาต (ทานภาคบังคับ) การถือศีลอด และการยอมรับ “วิลายะฮ์” (อำนาจการปกครอง) ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) แล้ว ท่านได้เขียนว่า
وَ جَعَلَ لَكُمْ بَاباً تَسْتَفْتِحُونَ بِهِ أَبْوَابَ الْفَرَائِضِ وَ مِفْتَاحاً إِلَى سَبِیلِهِ
“และพระองค์ได้ทรงประทานประตูหนึ่งแก่พวกท่าน ที่พวกท่านจะเปิดมันไปสู่ประตูทั้งหลายของข้อกำหนดบังคับต่างๆ (ทางศาสนา) และประทานกุญแจหนึ่งที่จะไขไปสู่แนวทางของพระองค์”
จุดประสงค์ของคำว่า “ประตู” และ “กุญแจ” นั้น คืออะไร?
หากจุดประสงค์ของทั้งสองคำนี้เป็นสิ่งเดียวกัน (หมายถึงสื่อที่จะนำพาเข้าสู่วงกลมหนึ่งๆ) ซึ่งถูกกล่าวถึงในสองสำนวนคำพูด โดยอาศัยกรณีบ่งชี้ (กอรีนะฮ์) 2 ประการ เราสามารถกล่าวได้ว่า จุดประสงค์ของสิ่งดังกล่าวคืออะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ผู้บริสุทธิ์ คือกรณีบ่งชี้ประการแรกของส่วนถัดไปของริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทนี้นั่นเอง และกรณีบ่งชี้ประการที่สองคือ ฮะดีษ (วจนะ) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ที่ท่านกล่าวว่า
أَنَا مَدِینَةُ الْعِلْمِ وَ عَلِیٌّ بَابُهَا وَ هَلْ تُدْخَلُ الْمَدِینَةُ إِلَّا مِنْ بَابِهَا
“ฉันคือเมืองแห่งความรู้ และอะลีคือประตูของมัน และจะเข้าสู่เมืองได้ ก็โดยผ่านทางประตูของมันมิใช่หรือ” (1)
แต่หากมันหมายถึงสองสิ่งนี้แล้ว เนื่องจากเป็นประเด็นเรื่องของสื่อในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับศาสนา สามารถกล่าวได้ว่า จุดประสงค์ของคำว่า “ประตู” นั้นคือ “อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)” และจุดประสงค์ของคำว่า “กุญแจ” ก็คือ “สติปัญญา” ของมนุษย์เอง โดยอาศัยคำรายงานที่ผ่านมาข้างต้น และคำรายงานอีกบทหนึ่งจากท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ที่ท่านได้กล่าวว่า
إِنَّ لِلَّهِ عَلَى النَّاسِ حُجَّتَیْنِ حُجَّةً ظَاهِرَةً وَ حُجَّةً بَاطِنَةً فَأَمَّا الظَّاهِرَةُ فَالرُّسُلُ وَ الْأَنْبِیَاءُ وَ الْأَئِمَّةُ وَ أَمَّا الْبَاطِنَةُ فَالْعُقُول
“แท้จริงอัลลอฮ์ทรงมีหลักฐานข้อพิสูจน์สองประการเหนือมนุษย์ คือหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ภายนอกและหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ภายใน (ของตัวมนุษย์) สำหรับหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ภายนอกนั่นคือบรรดาศาสนทูต บรรดาศาสดาและบรรดาอิมาม ส่วนหลักฐานข้อพิสูจน์ที่อยู่ภายในนั่นก็คือสติปัญญา (ของมนุษย์เอง)” (2)
เนื่องจากหากขาดสติปัญญาแล้ว การเปิดประตูทางเข้า หมายถึง การทำความเข้าใจกับคำรายงาน (ริวายะฮ์) ต่างๆ ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ก็ไม่อาจจะเป็นไปได้ แต่อย่างไรก็ดี สติปัญญาที่ว่านี้จะต้องเป็นสติปัญญาตามคำพูดของท่านอะมีรุลมุอ์มินีน อะลี (อ.) คือจะต้องไม่ถูกครอบงำโดยอารมณ์ใฝ่ต่ำ (ฮะวานัฟซ์) แต่จะต้องเป็นเครื่องชี้นำอารมณ์ใฝ่ต่ำ
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้เช่นนี้ว่า
كَمْ مِنْ عَقْلٍ أَسِیرٍ تَحْتَ [عِنْدَ] هَوَى أَمِیرٍ
“ช่างมากมายเหลือเกิน สติปัญญาที่ถูกจองจำอยู่ใต้การชี้นำของอารมณ์ใฝ่ต่ำ” (3)
สติปัญญาที่ตกเป็นทาสและถูกครอบงำโดยอารมณ์ใฝ่ต่ำ มันจะคิดและตัดสินใจไปตามความต้องการของอารมณ์ใฝ่ต่ำ
ในส่วนถัดไปของเนื้อหาของจดหมาย ท่านอิมามฮะซัน อัสกะรีย์ (อ.) ได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญยิ่งของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในการสร้างความเข้าใจในศาสนาให้แก่ประชาชน โดยเขียนว่า
لَوْ لَا مُحَمَّدٌ ص وَ الْأَوْصِیَاءُ مِنْ وُلْدِهِ لَكُنْتُمْ حَیَارَى كَالْبَهَائِمِ لَا تَعْرِفُونَ فَرْضاً مِنَ الْفَرَائِضِ وَ هَلْ تُدْخَلُ مَدِینَةٌ إِلَّا مِنْ بَابِهَا
“หากไม่มี (ท่านศาสดา) มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาวะซีย์ (ผู้สืบทอด) จากลูกหลานของท่านแล้ว แน่นอนยิ่ง พวกท่านก็จะเป็นผู้มึนงงสับสน เหมือนกับสัตว์เดรัจฉาน โดยที่พวกท่านไม่รู้ถึงข้อกำหนดบังคับใดๆ เลย (จากพระผู้เป็นเจ้า) ดังนั้น จะเข้าเมืองได้ ก็ต้องผ่านประตูของมันเพียงเท่านั้นมิใช่หรือ”
แน่นอน หากไม่มีท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ในฐานะวะซีย์ (ตัวแทน) ของท่านศาสดา ที่จะนำพจนารถของพระผู้เป็นเจ้ามาสู่ประชาชน และทำหน้าที่อธิบายแจกแจงสิ่งดังกล่าวแล้ว จะไม่มีมนุษย์คนใดสามารถเข้าสู่ประตูแห่งวิทยาการของพระผู้เป็นเจ้า และรับรู้ถึงบทบัญญัติและคำสั่งต่างๆ ของพระองค์ได้เลยแม้แต่น้อย และพวกเขาจะต้องอยู่ในสภาพมึนงงสับสนเหมือนคนหลงทางที่ไม่สามารถจะนำพาตนเองเข้าสู่ทางนำของพระผู้เป็นเจ้า และไม่สามารถค้นพบความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิตของตนได้
ในช่วงท้ายของคำพูดข้างต้น เพื่อที่จะพิสูจน์ถึงเหตุผลของคำพูดที่สำคัญยิ่งนี้ ท่านอิมาม (อ.) ได้ยกอุทาหรณ์เปรียบเปรยระหว่างเมืองและประตูทางเข้าของมัน โดยกล่าวว่า : การที่มนุษย์จะสามารถเข้าสู่เมืองได้นั้น จะต้องผ่านเข้าทางประตูของมัน ทำนองเดียวกันนี้ มนุษย์ทั้งหลายจะสามารถเข้าสู่เมืองแห่งวิชาความรู้ คำสั่งสอนและบทบัญญัติของพระผู้เป็นเจ้าได้นั้น ก็จะต้องผ่านเข้าทางประตูแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)
คำตอบสำหรับคำถามที่สำคัญ
คำถาม : ความรู้ต่างๆ ที่ลัทธิศาสนาอื่นๆ จากอิสลามหรือแม้แต่แนวทาง (มัซฮับ) อื่นจากชีอะฮ์อิมามิยะฮ์ ถือว่าเป็นของตนและกล่าวอ้างว่า พวกเขาได้รับสิ่งเหล่านั้นมา โดยหนทางอื่นจากอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) นั้น จะสามารถอธิบายเหตุผลด้วยกับคำรายงาน (ริวายะฮ์) เหล่านี้ได้อย่างไร?
คำตอบ : สิ่งที่พวกเขากล่าวอ้างนั้น หากเป็นความรู้ต่างๆ ในเชิงของการใช้สติปัญญา (อักลีย์) ในการหาเหตุผลเพื่อรับรู้มันเพียงอย่างเดียว ก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกขอบข่ายเนื้อหาที่เรากำลังกล่าวถึง แต่ถ้าหากเป็นความรู้ในเชิงของคำรายงานและการถ่ายทอด (นักลีย์) ที่สติปัญญาไม่สามารถรับรู้ได้แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า พวกเขาคาดคิดว่าพวกเขาได้รับมาซึ่งสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงและเป็นสัจธรรม ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้วมันคือคำกล่าวอ้างที่มดเท็จ หรือหากมันตรงกับความจริง สิ่งนั้นก็คือข้อเท็จจริงที่บรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้กล่าวไว้
เมื่อพิจารณาถึงการผูกขาดอยู่เฉพาะที่อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ตามที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เน้นย้ำไว้นั้น เป็นที่ประจักษ์ว่า บรรดาผู้กล่าวอ้างเหล่านี้ได้นำพาตัวเองเข้าสู่เมืองแห่งความรู้ โดยผ่านหนทางอื่นๆ และได้นำเอาสมบัติ (ความรู้) ที่อยู่ในเมืองนั้นไปกับตน และเนื่องจากพวกเขายอมรับเองว่า ไม่ได้ผ่านเข้าทางประตู (อะฮ์ลุลบัยต์) ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่า พวกเขาได้เข้าฉกชิงไปจากขุมคลังโดยไม่ได้รับอนุญาต และมากล่าวอ้างความเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่ง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
أَنَا مَدِینَةُ الْجَنَّةِ وَ أَنْتَ بَابُهَا یَا عَلِیُّ، كَذَبَ مَنْ زَعَمَ أَنَّهُ یَدْخُلُهَا مِنْ غَیْرِ بَابِهَا
“โอ้อะลีเอ๋ย! ฉันคือเมืองแห่งสวรรค์และเจ้าคือประตูของมัน ผู้ใดที่คิดว่าเขาจะเข้าไปยังมันจากหนทางอื่นนั้น เขาได้กล่าวเท็จ” (4)
ในบางรายงาน ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า
أَنَا مَدِینَةُ الْعِلْمِ وَ أَنْتَ بَابُهَا یَا عَلِیُّ، كَذَبَ مَنْ زَعَمَ أَنَّهُ یَدْخُلُهَا مِنْ غَیْرِ بَابِهَا
“โอ้อะลีเอ๋ย! ฉันคือเมืองแห่งความรู้ และเจ้าคือประตูของมัน ผู้ใดที่คิดว่าเขาจะเข้าไปยังมันจากหนทางอื่นนั้น เขาได้กล่าวเท็จ”
(อัลละอาลีย์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 335)
ในคำรายงานนี้ชี้ให้เห็นว่า มีเพียงหนทางเดียวที่อนุญาตสำหรับการเข้าสู่เมืองนี้ นั่นคือ อะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) และหากใครที่ปรารถนาจะเข้าสู่มันโดยผ่านหนทางอื่น เขาก็สามารถกระทำได้ แต่ต้องผ่านหนทางที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือหากจะกล่าวให้เป็นการผูกขาดที่หนักแน่นไปกว่านั้น ก็คือ ไม่อนุญาตให้เข้าสู่เมืองนี้นอกจากจะต้องผ่านทางเข้าของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) เพียงเท่านั้น ไม่ว่าจะกรณีใดๆ
คำพูดที่สวยงามของมัรฮูมมุลลาซอและห์ มอซันดะรอนี (ผู้อธิบายอัลกาฟีย์)
มัรฮุมมุลลาซอและห์ มอซันดะรอนี ซึ่งดูเหมือนว่าท่านจะพิจารณาตามความหมายแรก โดยคำนึงถึงคำรายงานข้างต้นและคำรายงานอื่นๆ อย่างเช่น ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า فمن اراد المدینة فلیأت الباب “...ดังนั้นผู้ใดประสงค์จะเข้าสู่เมือง ก็จงเข้าทางประตูเถิด” (5)
ท่านได้เขียนไว้ในหนังสืออธิบาย “อุซูลุลกาฟีย์” ของท่านโดยกล่าวว่า
مراده أنّ من طلب العلم و الحكمة و أسرار الشریعة و التقرّب إلى اللّه فلیرجع إلى الأوصیاء و لیأت البیوت من أبوابها و لیتّق اللّه فانّ من أتاها من غیر بابها سمّی سارقا
“จุดประสงค์ของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จากคำรายงานนี้ก็คือ ผู้ใดก็ตามที่ต้องการแสวงหาความรู้ วิทยปัญญา ความลับต่างๆ ของบทบัญญัติ และการเข้าใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้นเขาจงย้อนกลับไปหาบรรดาวะซีย์ (ผู้สืบทอด) เหล่านี้ และจงเข้าบ้านต่างๆ ทางประตูของมัน และจงยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า เพราะแท้จริงผู้ใดก็ตามที่เข้าบ้านโดยไม่ผ่านทางประตูของมัน เขาจะถูกเรียกว่าขโมย” (6)
เชิงอรรถ :
[1] อัลอะมาลี, เชคซุดูก, หน้าที่ 345
[2] อัลกาฟีย์, เล่มที่ 1, หน้าที่ 16
[3] นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 211
[4] อัลอะมาลี, เชคซุดูก, หน้าที่ 309
[5] มุสตัดร็อก อัลฮากิม, เล่มที่ 3, หน้าที่ 126
[6] ชัรห์ อัลกาฟีย์, ซอและห์ มอซันดะรอนี, เล่มที่ 5, หน้าที่ 207
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ