ความลับของการประกอบพิธีฮัจญ์และการเยือนกะอ์บะฮ์
ความลับของการประกอบพิธีฮัจญ์และการเยือนกะอ์บะฮ์
การประกอบพิธีฮัจญ์และการเยือนกะอ์บะฮ์ เป็นการทำให้รำลึกถึงการย้อนกลับของมนุษย์ไปสู่สวรรค์ที่ถูกสัญญาไว้ เหมือนกับที่ในวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพในปรโลก) จะไปปรากฏตัวในสถานที่แห่งการสอบสวนและ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า....
ย้อนกลับสู่รากฐานที่มา
กะอ์บะฮ์ มีสัญลักษณ์ต่างๆ ของสวรรค์ จากริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ สามารถรับรู้ได้ว่า "ฮะญะรุลอัสวัด" (หินดำ) นั้นถูกส่งลงมาจากสวรรค์ และกะอ์บะฮ์ก็เป็นสถานที่ซึ่งกระโจมที่พักแห่งสวรรค์ถูกตั้งขึ้น ณ ที่นั่น และบริเวณพื้นที่ของฮะรัมคือเงาสะท้อนของเสากระโจมที่พักนั้น (1)
การประกอบพิธีฮัจญ์และการเยือนกะอ์บะฮ์ เป็นการทำให้รำลึกถึงการย้อนกลับของมนุษย์ไปสู่สวรรค์ที่ถูกสัญญาไว้ เหมือนกับที่ในวันกิยามะฮ์ (วันแห่งการฟื้นคืนชีพในปรโลก) จะไปปรากฏตัวในสถานที่แห่งการสอบสวนและ ณ เบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้า :
وَ لَقَدْ جِئْتُمُونا فُرادى كَما خَلَقْناكُمْ أَوَّلَ مَرَّة
"และแน่นอนพวกเจ้าต้องมายังเรา (ในวันกิยามะฮ์) โดยลำพัง (ไม่มีทรัพย์สินและบริวารติดตามมา) เช่นเดียวกับที่เราได้บังเกิดพวกเจ้าขึ้นมาในครั้งแรก" (2)
ในสภาพที่ไม่มีตำแหน่งและคุณลักษณะพิเศษใด ๆ เป็นผู้ที่นบนอบ อ่อนน้อมถ่อมตนและอยู่ในการรอคอยความเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า :
وُجُوهٌ يَوْمَئِذٍ ناضِرَةٌ إِلى رَبِّها ناظِرَةٌ
"ในวันนั้นหลายๆ ใบหน้าจะเบิกบาน" (3)
ในการเยือนกะอ์บะฮ์นั้น บรรดาฮุจญาจ (ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์) จากทุกทิศทางจะเข้ามาใกล้จุดหมายของตนมากยิ่งขึ้นในสภาพที่กล่าว "ลับบัยก์" (ตอบรับคำเชื้อเชิญของพระผู้เป็นเจ้า) และด้วยกับการไปถึงยังอาคารกะอ์บะฮ์ พวกเขาจะโผกระโจนเข้าไปหาพระองค์เสมือนดั่งผีเสื้อ ในสภาพที่ร่ำไห้และเวียนรอบอาคารนั้น
การสร้างที่พำนักอันสันติสุข (ดารุสสะลาม) และบ้านแห่งความปลอดภัย
ในทำนองเดียวกับที่สวรรค์นั้นคือ “ดารุสสะลาม” (ที่พำนักอันสันติสุข) และบรรดาผู้ที่เข้าสู่มันจะอยู่ในความสงบสุขและความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ :
ادْخُلُوها بِسَلامٍ آمِنِينَ
“พวกเจ้าจงเข้าไปในนั้นด้วยความสันติและปลอดภัย” (4)
กะอ์บะฮ์บ้านแห่งความปลอดภัย และบรรดาผู้ที่เข้าสู่มันจะอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย :
وَ مَنْ دَخَلَهُ كانَ آمِنا
“และผู้ใดที่เข้าสู่มัน เขาจะปลอดภัย” (5)
การปรากฏตัวของผู้บำเพ็ญฮัจญ์และอุมเราะฮ์เคียงข้างกะอ์บะฮ์ เป็นภาพสำแดงหนึ่งของการปรากฏตัวของบรรดามุวะฮ์ฮิดีน (ผู้ศรัทธามั่นในพระเจ้าองค์เดียว) ในดารุสสะลาม (ที่พำนักอันสันติสุข) ในสวรรค์
การเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งอิบาดะฮ์
มะอ์ริฟะฮ์ (การรู้จัก) การมีจิตมุ่งตรงและการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้านั้น คือบ่อเกิดของความสมบูรณ์ (กะมาลาต) ทั้งมวล และเป็นเป้าหมายแห่งการสร้างของพระองค์ :
وَ ما خَلَقْتُ الْجِنَّ وَ الْإِنْسَ الانس إِلاَّ لِيَعْبُدُونِ
“และข้ามิได้สร้างญินและมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อพวกเขาจะเคารพภักดีต่อข้า” (6)
และเช่นเดียวกันนี้ ในอีกโองการหนึ่งได้กล่าวว่า :
اعْبُدُوا رَبَّكُمُ الَّذِي خَلَقَكُمْ
“พวกเจ้าจงเคารพภักดีพระผู้อภิบาลของพวกเจ้า ผู้ซึ่งทรงสร้างพวกเจ้าขึ้นมา” (7)
และยังได้กล่าวอีกว่า :
اتَّقُوا اللَّهَ لَعَلَّكُمْ تُرْحَمُونَ
“พวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์ หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับความเมตตา” (8)
ดังนั้นอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้า) คือพื้นฐานนำไปสู่ตักวา (ความยำเกรงและความสำรวมตน) และสิ่งนั้นก็จะนำมาซึ่งความเมตตาและความใกล้ชิดต่อพระผู้เป็นเจ้า
ทุก ๆ การอิบาดะฮ์จะมีคุณลักษณะพิเศษต่างๆ อันเป็นเฉพาะ ที่จะช่วยทำให้มนุษย์เข้าสู่เส้นทางสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) และความใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า และพิธีฮัจญ์ซึ่งเป็นการอิบาดะฮ์ที่มีความครอบคลุมสมบูรณ์ที่สุด ดังนั้นจึงรวมเอาคุณลักษณะพิเศษของการอิบาดะฮ์อื่นๆ ไว้ในตัวเองด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) จึงได้กล่าวกับบุคคลหนึ่งที่ได้บริจาคทรัพย์สินเงินทองเพื่อหวังจะได้รับภาคผลเทียบเท่ากับการทำฮัจญ์ว่า :
فَلَوْ أَنَّ أَبا قبيسٍ لَكَ ذَهبةٌ حَمراءُ أَنْفَقْتَهُ في سبيلِ اللهِ، ما بَلَغْتَ ما يبلغُ الحاجُّ
“มาตรว่าภูเขาอะบูกุบัยซ์จะเป็นทองคำสีแดงของเจ้า โดยที่เจ้าจะบริจาคมันไปในทางของออัลลอฮ์ เจ้าก็จะไม่ได้รับในสิ่งที่ผู้ทำฮัจญ์ได้รับ” (9)
ฮัจญ์กับการขจัดความเผลอเรอ
การรู้จักตนเองคือพื้นฐานนำสู่การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า :
مَن عَرفَ نفسَه فقد عَرَفَ ربَّه
“ผู้ใดที่รู้จักตัวเอง แน่นอนยิ่งเขาก็จะรู้จักพระผู้อภิบาลของตน” (10)
ส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะพิเศษของฮัจญ์ คือ การเตรียมพื้นฐานในการรู้จักตัวเอง
ในการดำเนินชีวิตนั้น โดยปกติแล้วมนุษย์มักจะตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความจำเจในชีวิตประจำวันของตน จะข้ามผ่านสิ่งที่อยู่รอบตัวเองไปและเคยชินกับสิ่งเหล่านั้น จะหลงลืมจากความจริงและข้อเท็จจริงอื่นๆ ของชีวิตไป การหยุดพักของเขาจากสภาวะปกติในชีวิตประจำวันจะเปิดโอกาสให้เขาได้ครุ่นคิดเกี่ยวกับตนเอง ซึ่งจะทำให้หลุดพ้นออกจากสภาพของความเผลอเรอ
หากมิเช่นนั้นแล้ว :
وَ مِنَ النَّاسِ مَنْ يَتَّخِذُ مِنْ دُونِ اللَّهِ أَنْداداً
“และในหมู่มนุษย์นั้น มีผู้ที่ยึดถือบรรดาภาคี อื่นจากอัลลอฮ์” (11)
และหากมิเช่นนั้นแล้ว :
أَلْهاكُمُ التَّكاثُرُ حَتَّى زُرْتُمُ الْمَقابِرَ
“การสะสมทรัพย์เพื่ออวดอ้างตนได้ทำให้พวกเจ้าเพลิดเพลิน จนกระทั่งพวกเจ้าได้เข้าไปเยือนหลุมฝังศพ” (12)
“ฮัจญ์” คือ การตัดขาดจากการยึดติดต่าง ๆ ที่เคยชินและการเข้าสู่บรรยากาศใหม่ เพื่อว่าในสภาพเงื่อนไขดังกล่าวนี้มนุษย์จะพบตัวเอง และเมื่อนั้นเขาจะไปถึงยังพระผู้เป็นเจ้า
พิธีกรรมต่าง ๆ ของฮัจญ์เริ่มตั้งแต่การครองผ้าอิห์รอมไปจนถึงการตักซีรฅ(การตัดเล็บหรือตัดผม) และจากทุ่งอารอฟะฮ์ไปจนถึงญะมะรอต(สถานที่ขว้างปาเสาหิน) แต่ละขั้นตอนนั้น เจว็ดทั้งภายนอกและภายในจิตใจจะร่วงหล่น และการยึดติดต่าง ๆ จะถูกทำลายลง จนกระทั่งเขาจะได้ไปเยือนยังพระองค์
การเสริมสร้างจิตวิญญาณของการยอมตนและการเป็นบ่าว
ในการแสดงออกที่มีต่อพระบัญชาและความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้านั้น เป็นไปได้ที่คนเราจะมีสภาพต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ :
การดื้อดึงต่อคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้าและไม่พึงพอใจต่อพระประสงค์ของพระองค์
การยอมปฏิบัติตามบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า แต่หัวใจของเขาไม่ยอมจำนน
จะเชื่อฟังพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์ และยอมจำนนต่อพระองค์อย่างแท้จริง
สิ่งที่ถูกกำชับสั่งเสียจากพระผู้เป็นเจ้าและบรรดาศาสดาของพระองค์คือ สภาพที่สาม :
وَ لِكُلِّ أُمَّةٍ جَعَلْنا مَنْسَكاً لِيَذْكُرُوا اسْمَ اللَّهِ عَلى ما رَزَقَهُمْ مِنْ بَهِيمَةِ الانْعامِ فَإِلهُكُمْ إِلهٌ واحدٌ فَلَهُ أَسْلِمُوا وَ بَشِّرِ الْمُخْبِتِينَ
“และสำหรับทุก ๆ ประชาชาติเราได้กำหนดสถานที่ทำพิธีกรรม เพื่อพวกเขาจะได้กล่าวพระนามของอัลลอฮ์ ต่อสิ่งที่พระองค์ทรงประทานให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่พวกเขา อันได้แก่ สัตว์สี่เท้า (เช่น อูฐ วัว แพะ แกะ) ฉะนั้นพระเจ้าของพวกเจ้าคือพระเจ้าองค์เดียว ดังนั้นพวกเจ้าจงสวามิภักดิ์ต่อพระองค์เพียงเท่านั้น และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้จงรักภักดีเถิด” (13)
وَ مَنْ أَحْسَنُ دِيناً مِمَّنْ أَسْلَمَ وَجْهَهُ لِلَّهِ وَ هُوَ مُحْسِنٌ وَ اتَّبَعَ مِلَّةَ إِبْراهِيمَ حَنِيفاً وَ اتَّخَذَ اللَّهُ إِبْراهِيمَ خَلِيلاً
“และผู้ใดเล่าจะมีศาสนาที่ดียิ่งไปกว่าผู้ที่มอบใบหน้าของเขาให้แก่อัลลอฮ์ ในขณะที่เขาก็เป็นผู้กระทำดี และปฏิบัติตามแนวทางของอิบรอฮีม ผู้ใฝ่หาความจริง และอัลลอฮ์ได้ถือเอาอิบรอฮีมเป็นสหาย” (14)
พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงแนะนำท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ด้วยคุณลักษณะเช่นนี้ โดยตรัสว่า :
ما كانَ إِبْراهِيمُ يَهُودِيًّا وَ لا نَصْرانِيًّا وَ لكِنْ كانَ حَنِيفاً مُسْلِماً وَ ما كانَ مِنَ الْمُشْرِكِينَ
“อิบรอฮีมไม่เคยเป็นยิวและไม่เคยเป็นคริสต์ แต่ทว่าเขาเป็นผู้หันออกจากความเท็จสู่ความจริง เป็นผู้สวามิภักดิ์ และเขาก็ไม่เคยอยู่ในหมู่ผู้ตั้งภาคี (ต่ออัลลอฮ์)” (15)
และท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.) ก็ได้กำชับสั่งเสียลูก ๆ ของท่านให้มีคุณลักษณะนี้ :
وَ وَصَّى بِها إِبْراهِيمُ بَنِيهِ وَ يَعْقُوبُ يا بَنِيَّ إِنَّ اللَّهَ اصْطَفى لَكُمُ الدِّينَ فَلا تَمُوتُنَّ إِلاَّ وَ أَنْتُمْ مُسْلِمُونَ
“และอิบรอฮีมและยะอ์กูบได้สั่งเสียลูกของตนให้ปฏิบัติตามแนวทางนั้น โดยกล่าวว่า โอ้ลูก ๆ ของฉัน แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงเลือกศาสนาให้แก่พวกเจ้าแล้ว ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่าตายเป็นอันขาด นอกจากในขณะที่พวกเจ้าเป็นผู้สวามิภักดิ์ (ต่ออัลลฮ์) เท่านั้น” (16)
คำว่า “อิสลาม” (การสวามิภักดิ์) และ “ตัสลีม” (การยอมจำนน) ก็แสดงถึงความหมายนี้เช่นกัน
พิธีกรรมต่าง ๆ ของฮัจญ์นับจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงการสิ้นสุดของมันนั้น คือแบบแผนต่าง ๆ ในทางปฏิบัติ สำหรับการพัฒนาและการยกระดับการศรัทธาของผู้แสวงบุญไปสู่ระดับของการยอมจำนน (ตัสลีม) การบังคับจิตใจของตนสู่การปฏิบัติกิจการต่าง ๆ ที่สวนทางกับความเคยชินทั้งหลายของมนุษย์ (เช่น การปลดเปลื้องอาภรณ์และสวมใส่ผ้าสองชิ้นในการครองอิห์รอม และการหลีกห่างจากข้อห้ามทั้งหลายของการครองอิห์รอม) และการกระทำภารกิจต่าง ๆ ที่จิตใจของมนุษย์จะไม่ได้รับความสุขหรรษาและความเพลิดเพลินจากมัน ยิ่งไปกว่านั้นมนุษย์อาจจะไม่รู้ถึงความหมายและคุณค่าของมันด้วยซ้ำไป (เช่นการเดินสะแอและฮัรวะละฮ์ และการขว้างเสาหิน และอื่น ๆ) จะช่วยเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งการยอมจำนนให้เกิดขึ้นในตัวผู้บำเพ็ญฮัจญ์ ซึ่งจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในพฤติกรรมและจิตวิญญาณของบรรดาผู้บำเพ็ญฮัจญ์ได้ ภายหลังจากการบำเพ็ญฮัจญ์นั้น
“ตัสลีม” (การยอมจำนน) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้บรรลุสู่ความสมบูรณ์ (ตะกามุล) ตามขั้นตอนต่าง ๆ ของมัน – เป็นผลที่จะได้รับจากการอะมั้ล (การกระทำ) ทั้งหมดของของพิธีฮัจญ์ ซึ่งจะสามารถเห็นได้ในแต่ละพิธีกรรมฮัจญ์ เริ่มจากมีก๊อตไปจนถึงการคองอิห์รอม จากมุฮัรร่อมาต (ข้อห้ามต่าง ๆ) ของการครองอิห์รอมไปจนถึงวาญิบาต (ข้อบังคับ) ต่าง ๆ ของมัน จากเงื่อนไขต่าง ๆ ของการฏอวาฟไปจนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่จะทำให้มันเป็นโมฆะ จากมารยาทต่าง ๆ ของการฏอวาฟไปจนถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นมักโระห์ของมัน จากการเดินสะแอไปจนถึงการตักซีร จากทุ่งอะรอฟะฮ์ไปจนถึงมัชอะริลฮะรอม จากมัชอะริลฮะรอมไปจนถึงมินา การเชือดสัตว์กุรบาน และอื่น ๆ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนมีปรัชญาสำคัญอยู่ในตัวของมันเอง
แหล่งที่มา :
(1) มีรายงานจากท่านอิมามบากิร (อ.) ซึ่งกล่าวว่า:
أَنَّ اللَّهَ تَعَالَى أَوْحَى إِلَى جَبْرَئِيلَ: ... فَاهْبِطْ عَلَيْهِمَا بِخَيْمَةٍ مِنْ خِيَمِ الْجَنَّةِ فَإِنِّي قَدْ رَحِمْتُهُمَا لِبُكَائِهِمَا وَ وَحْشَتِهِمَا وَ وَحْدَتِهِمَا فَاضْرِبِ الْخَيْمَةَ عَلَى التُّرْعَةِ الَّتِي بَيْنَ جِبَالِ مَكَّةَ قَالَ
وَ التُّرْعَةُ مَكَانُ الْبَيْتِ وَ قَوَاعِدُهُ الَّتِي رَفَعَتْهَا الْمَلَائِكَةُ قَبْلَ آدَمَ ،
فَهَبَطَ جَبْرَئِيلُ عَلَى آدَمَ علیه السلام بِالْخَيْمَةِ عَلَى مِقْدَارِ مَكَانِ الْبَيْتِ وَ قَوَاعِدِهِ فَنَصَبَهَا.
قَالَ: وَ أَنْزَلَ جَبْرَئِيلُ علیه السلام آدَمَ مِنَ الصَّفَا ،
وَ أَنْزَلَ حَوَّاءَ مِنَ الْمَرْوَةِ ، وَ جَمَعَ بَيْنَهُمَا فِي الْخَيْمَةِ ... وَ أَوْحَى اللَّهُ تَعَالَى إِلَى جَبْرَئِيلَ علیه السلام بَعْدَ ذَلِكَ: اهْبِطْ عَلَى الْخَيْمَةِ بِسَبْعِينَ أَلْفَ مَلَكٍ يَحْرُسُونَهَا مِنْ مَرَدَةِ الشَّيْطَانِ ،
وَ يُؤْنِسُونَ آدَمَ ، وَ يَطُوفُونَ حَوْلَ الْخَيْمَةِ تَعْظِيماً لِلْبَيْتِ وَ الْخَيْمَةِ.
قَالَ: فَهَبَطَ بِالْمَلَائِكَةِ فَكَانُوا بِحَضْرَةِ الْخَيْمَةِ يَحْرُسُونَهَا مِنْ مَرَدَةِ الشَّيْطَانِ ،
وَ يَطُوفُونَ حَوْلَ أَرْكَانِ الْبَيْتِ وَ الْخَيْمَةِ كُلَّ يَوْمٍ وَ لَيْلَةٍ كَمَا كَانُوا يَطُوفُونَ فِي السَّمَاءِ حَوْلَ الْبَيْتِ الْمَعْمُورِ
“อัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงวิวรณ์ (วะห์ยู) ยังญิบรออีล (อ.) ว่า :
“....จงนำกระโจมที่พักจากสวรรค์ลงไปให้เขาทั้งสอง (อาดัมและเฮาวาอ์) เพราะแท้จริงข้าเมตตาสงสารเขาทั้งสอง เนื่องจากการร่ำไห้และความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายของเขาทั้งสอง แล้วเจ้าจงกางกระโจมที่พักนั้นลงในตุรอะฮ์ (พื้นที่เขียวขจี) ที่อยู่ในระหว่างหุบเขาของมักกะฮ์”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า :
“และตุรอะฮ์ (พื้นที่เขียวขจี) นั้นคือสถานที่ของบัยตุลลอฮ์และรากฐานของมัน ซึ่งมวลมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ได้ยกมันขึ้นก่อนอาดัม (อ.) แล้วญิบรออีล (อ.) ก็ได้นำกระโจมที่พักที่มีขนาดเท่ากับสถานที่ตั้งของบัยตุลลอฮ์และรากฐานของมันลงไปให้อาดัม (อ.) และได้กางมันขึ้น”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า :
“และญิบรออีล (อ.) ได้นำอาดัม (อ.) ลงมาจากภูเขาซอฟา และนำเฮาวาอ์ลงมาจากภูเขามัรวะฮ์ และรวมบุคคลทั้งสองเข้าไว้ในกระโจมที่พักนั้น... และต่อจากนั้นอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงวิวรณ์ (วะห์ยู) ไปยังญิบรออีล (อ.) ว่า : เจ้าจงนำมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) จำนวนเจ็ดหมื่นตนลงไปยังกระโจมที่พักนั้น เพื่อทำหน้าที่พิทักษ์รักษามันจากไพร่พลของมาร (ชัยฏอน) และจงสนิทสนมกับอาดัม และจงเวียนรอบกระโจมที่พักนั้น เพื่อเคารพให้เกียรติต่อบัยตุลลอฮ์และกระโจมที่พักนั้น”
ท่านอิมาม (อ.) กล่าวว่า : “ดังนั้นญิบรออีลจึงได้พามวลมะลาอิกะฮ์ (ทวยเทพ) ลงมาอยู่ที่กระโจมที่พักนั้น เพื่อพิทักษ์คุ้มครองมันจากไพร่พลของมาร (ชัยฏอน) และจะเวียนรอบรากฐาน (รุกน์) ของบัยตุลลอฮ์และกระโจมที่พักนั้นทุกวันและทุกคืน เช่นเดียวกับที่พวกเขาจะเวียนรอบบัยตุ้ลมะอ์มูรในฟากฟ้า” (อิละลุชชะรอญิอ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 421)
(2) อัลกุรอาน บทอัลอันอาม โองการที่ 94
(3) อัลกุรอาน บทอัลกิยามะฮ์ โองการที่ 23
(4) อัลกุรอาน บทอัลฮิจญ์ร์ โองการที่ 46
(5) อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 97
(6) อัลกุรอาน บทอัซซาริยาต โองการที่ 56
(7) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 21
(8) อัลกุรอาน บทอัลฮุจญะรอต โองการที่ 10
(9) ษะวาบุลอะอ์มาล, เชคซอดูก, หน้าที่ 48
(10) มิศบาฮุชชะรีอะฮ์, หน้าที่ 13
(11) อัลกุรอาน บทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 165
(12) อัลกุรอาน บทอัตตะกาษุร โองการที่ 2
(13) อัลกุรอาน บทอัลฮัจญ์ โองการที่ 34
(14) อัลกุรอาน บทอันนิซาอ์ โองการที่ 125
(15) อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 67
(16) อัลกุรอาน บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 132
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ