เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

มุบาฮะละฮ์ วันแห่งการพิสูจน์สัจธรรมของอิสลาม ตอนที่ 1

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

  มุบาฮะละฮ์ วันแห่งการพิสูจน์สัจธรรมของอิสลาม ตอนที่ 1


  ซุลฮิจญะฮ์เป็นเดือนที่ 12 ในปฏิทินอาหรับ มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือเรื่องมุบาฮะละฮ์ พระผู้เป็นเจ้า (ซบ.) ทรงตรัสว่า ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) หลังจากที่ได้มีความรู้มายังเจ้าแล้ว ก็จงกล่าวเถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราก็จะเรียกลูกๆ ของเรา และลูกของพวกท่าน และเรียกบรรดาผู้หญิงของเรา และบรรดาผู้หญิงของพวกท่านและตัวของพวกเรา และตัวของพวกท่านและเราก็จะวิงวอนกัน (ต่ออัลลอฮ์) ด้วยความนอบน้อม โดยที่เราจะขอให้ละอ์นัต ของอัลลอฮ์พึงประสบ แก่บรรดาผู้ที่พูดโกหก (อัลกุรอานบทอาลิ อิมรอน โองการที่ 61)

 

    หลังจากที่อิสลามได้มีความแข็งแกร่งขึ้นในนครมักกะฮ์ ในช่วงเวลาเดียวกับที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้ส่งสาส์นไปยังผู้นำของบรรดารัฐบาลต่างๆ ของโลกและศูนย์กลางต่างๆ ทางศาสนา ท่านก็ได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงบิชอปคริสต์ แห่งเมืองนัจญ์รอน และในจดหมายฉบับดังกล่าวท่านศาสดาได้เรียกร้องเชิญชวนชาวคริสต์ที่อาศัยอยู่ในเมืองนัจญ์รอนให้ยอมรับศาสนาอิสลาม

 

    คริสเตียนได้ตัดสินใจที่จะส่งคนกลุ่มหนึ่งเพื่อเป็นตัวแทนของตนไปยังนครมะดีนะฮ์ เพื่อทำการสนทนากับท่านศาสดา และทำการพิจารณาตรวจสอบคำพูดต่างๆ ของศาสดาแห่งอิสลาม  คณะผู้แทนชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนซึ่งประกอบด้วยกลุ่มบุคคลมากกว่าสิบคนที่เป็นผู้อาวุโสของพวกเขาได้มาถึงนครมะดีนะฮ์  คณะผู้แทนได้ทำการสนทนากับท่านศาสดาแห่งอิสลามในมัสยิดมะดีนะฮ์ แต่พวกเขาไม่ยอมรับคำเชิญชวนและหลักฐานต่างๆ ที่เป็นสัจธรรมของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้ยืนกรานในความถูกต้องของความเชื่อต่างๆ ของตนเอง ทั้งสองฝ่ายจึงได้ตัดสินใจที่จะยุติปัญหาโดยวิธีการมุบาฮะละฮ์ (วิงวอนต่ออัลลอฮ์ให้สาปแช่งและลงโทษฝ่ายที่มิได้อยู่บนสัจธรรม)

 

    ดังนั้นพวกเขาจึงได้ตกลงกันว่า วันรุ่งขึ้นทั้งหมดจะออกมาปรากฏตัวพร้อมเพียงกันนอกเมืองมะดีนะฮ์ ในบริเวณทะเลทรายเพื่อทำการมุบาฮะละฮ์กัน แต่เนื่องจากชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนได้เห็นความสัจจริงและความบริสุทธิ์ใจที่เต็มไปด้วยความกล้าหาญของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) และบรรดาผู้ร่วมทางของท่าน จึงเกิดความหวั่งเกรงและกลัวต่อโทษทัณฑ์ต่างๆ จากพระเจ้า และไม่พร้อมที่จะทำการมุบาฮะละฮ์ และขอประนีประนอมกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ)  และพวกเขาได้ขอต่อท่านที่จะคงสภาพอยู่บนศาสนาของตนพร้อมกับยอมที่จะจ่ายเครื่องบรรณาการ และท่านศาสดาก็ยอมรับข้อเสนอของพวกเขา

 

ความเป็นมุตะวาติร (1) ของฮะดีษมุบาฮะละฮ์ในแหล่งอ้างอิงของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์

 

    ฮะดีษมุบาฮะละฮ์ ได้ถูกรายงานไว้ในแหล่งอ้างอิงต่างๆ ทางด้านฮะดีษ ตัฟซีร ประวัติศาสตร์และกะลาม ทั้งในฝ่ายชีอะฮ์และฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ตัวอย่างเช่นในแหล่งอ้างอิงของฝ่ายชีอะฮ์ ได้แก่ : อัลอามาลี , เชคฏูซี , หน้าที่ 271 ; อัลอามาลี , เชคซอดูก , หน้าที่ 618 ; อุยูน อัคบาร อัรริฎอ (อ.) , เชคซอดูก , เล่มที่ 1 , หน้าที่ 85 ; บิฮารุ้ลอันวาร , อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี , เล่มที่ 21 , หน้าที่ 277 และ 354 และในแหล่งอ้างอิงเกี่ยวกับฮะดีษของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ก็ได้รายงานฮะดีษบทนี้ไว้ด้วยเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น : ซอเฮี๊ยะฮ์มุสลิม (ดู : ฮะดีษที่ 3) ; ซุนัน ติรมีซี (ดู : ฮะดีษที่ 3) ; มุสนัด อะห์มัด อิบนิฮัมบัล (ดู : ฮะดีษที่ 3) และอื่น ๆ และในแหล่งอ้างอิงทางด้านตัฟซีรของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ที่ได้รายงานฮะดีษนี้ไว้ ได้แก่ : ตัฟซีร อัฏฏอบารี , เล่มที่ 3, หน้าที่ 300 ; ตัฟซีรอบีฮาติม อัรรอซี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 667 ; ตัฟซีรบะห์รุลมุฮีด , เล่มที่ 2, หน้าที่ 502

 

   ดังนั้น ความเป็นมุตะวาติรของฮะดีษมุบาฮะละฮ์ในแหล่งอ้างอิงทางด้านฮะดีษของอะฮฺลิซซุนนะฮ์จึงเป็นที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น ฮากิม นัยซาบูรี หนึ่งในนักวิชาการอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ ได้กล่าวว่า :

 

وَ قَد تَواتَرتِ الأخبارُ فِى التَّفاسير عَن عَبدِ اللّهِ بنِ عَبّاسِ وَ غَيرِهِ أنَّ رَسولَ اللّهِ أخَذَ يَومَ المُباهَلَةِ بِيَدِ عَلىّ وَ حَسَنٍ وَ حُسَينٍ وَ جَعَلوا فاطِمَةَ وَراءَهُم، ثُمَّ قالَ : هؤُلاءِ أبناءُنا وَ أَنفُسُنا وَ نِساءُنا

 

“และแน่นอนยิ่ง มีคำรายงานต่างๆ ที่อยู่ในระดับมุตะวาติรในหนังสือตัฟซีรต่างๆ ที่รายงานมาจากอับดุลลอฮ์ อิบนิอับบาสและคนอื่นๆ ได้กล่าวว่า ในวันมุบาฮะละฮ์ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้จูงมือท่านอะลี ท่านฮะซันและท่านฮุเซน และได้ให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เดินตามหลังพวกเขา จากนั้นท่านได้กล่าวว่า : บุคคลเหล่านี้คือ ลูกๆ ของเรา ตัวตนของเราและบรรดาสตรีของเรา ....” (2)

 

   นอกจากนี้บรรดานักวิชาการอะฮ์ลิซซุนนะฮ์คนอื่น ๆ ได้กล่าวชัดว่าในโองการนี้ ท่านอิมามอะลีได้ถูกกล่าวถึงในนาม “ตัวตน” ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) :

 

 نَقَلَ رُواةُ السيَرِ و نَقَلَةُ الأثَرِ لَم يَختَلِفوا فيهِ : أنّ النبىَّ صلى الله عليه و آله أَخَذَ بِيَدِ الحَسَنِ وَ الحُسَينِ وَ عَلىٍّ وَ فاطِمَةَ رضى اللّه عنهم ، ثُمَّ دَعا النَّصارى الذين حاجّوهُ إلَى المُباهَلَة

 

“บรรดานักรายงานชีวประวัติและฮะดีษได้อ้างรายงานโดยไม่มีความขัดแย้งกันเลยในเรื่องนี้ว่า : ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านฮะซัน ท่านฮุเซน ท่านอะลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ร.ฎ.) ออกไป  ต่อจากนั้นท่านได้เรียกร้องเชิญชวนชาวคริสต์ที่ได้โต้เถียงกับท่านไปสู่การมุบาฮะละฮ์” (3)

 

   และแม้แต่อิบนุตัยมิยะฮ์ ผู้วางรากฐานแนวคิดซะละฟีและวะฮ์ฮาบีเอง ก็ยอมรับในเรื่องนี้ และเขาได้เขียนไว้เช่นนี้ว่า :

 

أمّا أخذُه صلى الله عليه و آله عليّا و فاطمةَ و الحسنَ و الحسينَ فى المباهلة فحديثٌ صحيح

 

"ส่วนการที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้นำท่านอะลี ฟาฏิมะฮ์ ฮะซันและฮุเซน ออกไปในการมุบาฮะละฮ์น้้น มันคือฮะดีษซอเฮียะห์" (4)

 

   ดังนั้นข้อเคลือบแคลงสงสัยในความถูกต้อง (ซอเฮี๊ยะฮ์) ของฮะดีษมุบาฮะละฮ์จากฝ่ายอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ (บางคน) หรือการบิดเบือนมัน จึงเกิดจากความไม่รู้และความดื้อรั้น หรือความเกลียดชังที่มีต่ออะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดา และไม่มีคุณค่าทางวิชาการแต่อย่างใด” (5)

 

มุบาฮะละฮ์ เครื่องแสดงถึงความสัจจริงของท่านศาสดาแห่งอิสลาม

 

   การมุบาฮะละฮ์ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กับคริสเตียนแห่งนัจญ์รอน เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสัจจริงของท่านศาสดาในสองด้าน ประการแรก เพียงแค่การเสนอให้มีการมุบาฮะละฮ์โดยท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยตัวของมันเองก็เป็นประจักษ์พยานถึงคำกล่าวอ้างนี้แล้ว เนื่องจากว่าบุคคลใดก็ตามตราบที่เขาไม่มีความเชื่อมั่นในความสัจจริงและความเป็นผู้อยู่ในสัจธรรมของตนเองแล้ว เขาย่อมไม่กล้าที่จะย่างก้าวเข้าสู่การกระทำนี้

 

   ผลของการมุบาฮะละฮ์ เป็นสิ่งที่หนักหน่วงและน่ากลัวมาก และอาจถึงขั้นนำไปสู่การสูญเสียและการถูกทำลายล้างของฝ่ายที่เป็นผู้มดเท็จ อีกประการหนึ่ง การที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้นำเอาบรรดาบุคคลผู้เป็นที่รักที่สุดและเป็นหน่อเนื้อเชื้อขัยใกล้ชิดที่สุดของตนเองออกไปพร้อมกับตนในสนามของการมุบาฮะละฮ์นั้น เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาอันแกร่งกล้าและความเชื่อมั่นสูงสุดของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ที่มีต่อความสัจจริงและความเป็นสัจธรรมของคำเรียกร้องเชิญชวนของตน โดยที่ท่านไม่เพียงแต่นำตัวเองเข้าสู่การเผชิญหน้ากับภยันตรายอันใหญ่หลวงแต่เพียงลำพัง ทว่ายังได้นำพาครอบครัวของตนเข้าสู่สิ่งดังกล่าวอย่างองอาจกล้าหาญอีกด้วย

 

มุบาฮะละฮ์ หลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.)

 

   บรรดานักอรรถาธิบายคัมภีร์อัลกุรอาน (มุฟัซซิรีน) และนักรายงานฮะดีษ (มุฮัดดิซีน) ทั้งฝ่ายชีอะฮ์และซุนนี ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า โองการมุบาฮะละฮ์ได้ถูกประทานลงมาในเรื่องของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)  และบรรดาบุคคลที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้นำออกไปพร้อมกับตนยังสถานที่นัดหมายนั้น มีเพียงหลานชายทั้งสองของท่านคือ ท่านฮะซันและท่านฮุเซน (อ.) และบุตรีของท่านคือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และบุตรเขยของท่านคือท่านอะลี (อ.) เท่านั้น

 

   ดังนั้นจุดประสงค์จากคำว่า  «اَبْنائَنا» (ลูกๆ ของเรา) ในโองการนี้จึงเป็นท่านฮะซัน (อ.) และท่านฮุเซน (อ.) และจุดประสงค์จากคำว่า  «نِساءَنا» จึงเป็นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และจุดประสงค์จากคำว่า  «اَنْفُسَنا» จึงเป็นท่านอะลี (อ.) เพียงเท่านั้น  โองการนี้ยังยังได้ชี้ให้เห็นถึงจุดที่ละเอียดอ่อนที่ว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) อยู่ในฐานะตัวตน (นัฟซ์) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)

 

การประทานอายะฮ์อัตตัฏฮีร ในวันมุบาฮะละฮ์

 

   วันที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) ได้ตัดสินใจทำการมุบาฮะละฮ์ ก่อนหน้านั้นท่านได้คลุมผ้าคลุมกาย (อะบา) ไว้บนไหล่ของตนและได้ให้ท่านอิมามอะลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อะลัยฮิมุสสะลาม) เข้าอยู่ภายใต้ผ้าคลุมกายนั้น และท่านได้กล่าวว่า :

 

اللَّهُمَ‏ هَؤُلَاءِ أَهْلُ‏ بَیْتِی‏ وَ خَاصَّتِی‏ فَأَذْهِبْ عَنْهُمُ الرِّجْسَ وَ طَهِّرْهُمْ تَطْهِیراً

 

"โอ้อัลลอฮ์ บุคคลเหล่านี้คืออะฮ์ลุลบัยต์ของข้าพระองค์ และเป็นบุคคลพิเศษของข้าพระองค์ ดังนั้นได้โปรดขจัดมนทินออกไปจากพวกเขาและโปรดทำให้พวกเขาสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริงด้วยเถิด" (6)

 

    ในช่วงเวลานั้นเองที่ญิบรออีลได้ลงมา และได้นำอายะฮ์อัตตัฏฮีรลงมาในเรื่องของบุคคลเหล่านี้ว่า :

 

إِنَّما یُریدُ اللَّهُ لِیُذْهِبَ عَنْکُمُ الرِّجْسَ أَهْلَ الْبَیْتِ وَ یُطَهِّرَکُمْ تَطْهیراً

 

"อันที่จริงอัลลอฮ์เพียงแต่ประสงค์ที่จะขจัดมนทินออกไปจากพวกเจ้า โอ้อะฮ์ลุลบัยต์ (ของศาสดา) เอ๋ย และทรง (ประสงค์) ที่จะทำให้พวกเจ้าสะอาดบริสุทธิ์อย่างแท้จริง" (7)

 

นัจญ์รอน แหล่งที่หมายของการมุบาฮะละฮ์

 

   เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ได้เกิดขึ้นระหว่างศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กับคริสเตียนแห่งนัจญ์รอนซึ่งอาศัยอยู่ในดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์และความเจริญรุ่งเรืองในประเทศซาอุดีอาระเบียในปัจจุบัน  คริสเตียนแห่งนัจญ์รอนเป็นชาวอาหรับที่มีความมั่งคั่งและความกระตือรือร้น และด้วยเหตุนี้เองเมืองนัจญ์รอนจึงถือได้ว่าเป็นฐานที่แข็งแกร่งของศาสนาคริสต์ เขตพื้นที่ส่วนที่น่าอยู่ที่สุดของเมืองนัจญ์รอนตั้งอยู่ในจุดพรมแดนระหว่างฮิญาซและเยเมนซึ่งประกอบไปด้วยเจ็ดสิบหมู่บ้าน  พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดเดียวที่เป็นที่อยู่อาศัยของชาวคริสเตียนแห่งฮิญาซ โดยที่ประชาชนได้หันเหออกจากการเคารพบูชารูปเจว็ด ด้วยเหตุผลบางประการได้หันมาเลื่อมใสต่อแนวทางของศาสดาอีซา (อ.)

 

   ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ได้เขียนสาส์นและส่งผู้แทนของตนเองไปยังอาณาจักรและประเทศต่างๆ จำนวนมากมายโดยมีเป้าหมายที่จะประกาศสาส์นแห่งพระเจ้าและเรียกร้องเชิญชวนชาวโลกทั้งหลายมาสู่สัจธรรมและการศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว  ทำนองเดียวกันนี้ท่านได้เขียนสาส์นฉบับหนึ่งส่งถึง “อบูฮาริษะฮ์” บิชอปแห่งนัจญ์รอน  และในสาส์นฉบับนี้ท่านได้เรียกร้องเชิญชวนประชาชนชาวเมืองนัจญ์รอนมาสู่ศาสนาอิสลาม

 

   รายละเอียดของสาส์นของศาสดา (ซ็อลฯ) ที่ส่งถึงบิชอปของคริสตชนแห่งเมืองนัจญ์รอนมีดังนี้ คือ :

 

بِسمِ إلهِ إبراهيمَ وَ إسحاقَ وَ يَعقوبَ ، مِن مُحَمَّدٍ النَّبِىِّ رَسولِ اللّهِ إلى اُسقُفِّ نَجرانَ وَ أَهلِ نَجرانَ : إن أسلَمتُم فَإِنّى أحمَدُ إلَيكُمُ اللّهَ إلهَ إبراهيمَ وَ إسحاقَ وَ يَعقوبَ . أمّا بَعدُ ، فَإِنّى أدعوكُم إلى عِبادَةِ اللّهِ مِن عِبادَةِ العِبادِ ، وَ أَدعوكُم إلى وِلايَةِ اللّهِ مِن وِلايَةِ العِبادِ ، فَإِن أبَيتُم فَالجِزيَةُ ، فَإِن أبَيتُم فَقَد آذَنتُكُم بِحَربٍ ، وَ السَّلامُ

   

  “ด้วยพระนามของพระเจ้าของอิบรอฮีม (อับราฮัม)  อิสหาก (อิสอั) และยะอ์กูบ (ยาโคบ) [นี่คือจดหมาย] จากมุฮัมมัด ผู้เป็นศาสดาและศาสนทูตของอัลลอฮ์ ที่ส่งถึงบิชอปแห่งนัจญ์รอนและชาวเมืองนัจญ์รอน : หากพวกท่านยอมรับอิสลาม ดังนั้นแท้จริงฉันจะสรรเสริญอัลลอฮ์ พระเจ้าของอิบรอฮีม อิสหากและยะอ์กูบร่วมเคียงกับพวกท่าน หลังจากนี้แท้จริงฉันขอเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านออกจากการเคารพภักดีปวงบ่าวมาสู่การเคารพภักดีอัลลอฮ์ และฉันขอเรียกร้องเชิญชวนพวกท่านออกจากการยอมรับอำนาจการปกครอง (วิลายะฮ์) ของปวงบ่าวมาสู่การยอมรับอำนาจปกครองของอัลลอฮ์ แต่หากพวกท่านปฏิเสธ ดังนั้นพวกท่านจะต้องจ่ายเครื่องบรรณาการ แต่ถ้าหากพวกท่านปฏิเสธ (ที่จะจ่ายเครื่องบรรณาการ แน่นอนยิ่ง ฉันจะประกาศสงครามกับพวกท่าน” (8)

 

การประชุมปรึกษาหารือกันของคริสเตียนแห่งนัจญ์รอน

 

    คณะผู้แทนของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ซึ่งเป็นผู้ถือสาส์นเชิญชวนสู่อิสลามของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ไปถึงยังเมืองนัจญ์รอนและได้มอบสาส์นดังกล่าวให้แก่บิชอปแห่งนัจญ์รอน และเขาได้จัดการประชุมปรึกษาหารือขึ้น หนึ่งในชาวคริสต์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดและมีความคิดอ่านที่รอบคอบได้กล่าวว่า : “เราได้ยินจากบรรดาผู้นำของเราอยู่เสมอว่า วันหนึ่งตำแหน่งศาสดาจะถูกถ่ายโอนจากลูกหลานของอิสหาก (อ.) ไปสู่ลูกหลานของอิสมาอีล (อ.) และไม่ใช่เรื่องห่างไกลที่มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ซึ่งเป็นลูกหลานของอิสมาอีล (อ.) จะเป็นศาสดาที่ถูกสัญญาไว้” ด้วยเหตุนี้เองที่ประชุมปรึกษาหารือจึงลงความเห็นว่า ให้ส่งคณะผู้แทนของเมืองนัจญ์รอนกลุ่มหนึ่งไปยังนครมะดีนะฮ์ เพื่อว่าจากการติดต่อสัมพันธ์กับศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) อย่างใกล้ชิด จะทำให้สามารถตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ในความเป็นศาสดาของท่านได้

 

   ในการสนทนากับคณะผู้แทนชาวนัจญ์รอนในนครมะดีนะฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้เรียกร้องเชิญชวนพวกเขามาสู่การเคารพภักดีพระเจ้าองค์เดียว  แต่พวกเขายืนกรานในคำกล่าวอ้างต่างๆ ของตน และถือว่าเหตุผลของความเป็นพระเจ้าของพระเยซูคริสต์ (อีซา) คือการประสูติโดยปราศจากบิดา

 

การพิสูจน์เหตุผลของอิสลามเกี่ยวกับกรณีที่ว่าพระเยซูคริสต์ (อีซา) ไม่ใช่พระเจ้า

 

   ในช่วงเวลานั้นเอง ญิบรออีล ได้นำโองการลงมายังท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า :

 

إِنَّ مَثَلَ عِيسَى عِندَ اللّهِ كَمَثَلِ آدَمَ خَلَقَهُ مِن تُرَابٍ ثِمَّ قَالَ لَهُ كُن فَيَكُونُ

 

“แท้จริงข้อเปรียบเทียบของอีซา ณ อัลลอฮ์นั้น เปรียบได้เช่นเดียวกับอาดัม พระองค์ทรงสร้างเขามาจากดิน หลังจากนั้นพระองค์ก็ทรงตรัสต่อเขาว่า จงเป็นเถิด แล้วเขาก็เป็นขึ้นมา”(9)

 

   ในโองการนี้พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงอธิบายถึงความคล้ายคลึงกันในการถือกำเนิดของศาสดาอีซา (อ.) กับ ศาสดาอาดัม (อ.) โดยชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงสร้างอาดัม (อ.) จากดินด้วยเดชานุภาพที่ไร้ขอบเขตจำกัดของพระองค์โดยไม่มีทั้งบิดาและมารดา และถ้าหากการไม่มีบิดาคือหลักฐานพิสูจน์ถึงความเป็นบุตรของพระเจ้าแล้ว ดังนั้นอาดัม (อ.) ย่อมคู่ควรต่อตำแหน่งนี้มากกว่าอีซา (อ.) เนื่องจากเขาไม่มีทั้งบิดาและมารดา ดังนั้นการประสูติของอีซา (อ.) โดยปราศจากบิดานั้น ไม่อาจเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงความเป็นพระเจ้าของเขาได้  แต่แม้จะมีการยกเหตุผลดังกล่าว พวกเขาก็ไม่ยอมรับ และพระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงบัญชาให้ศาสดาของพระองค์ทำการมุบาฮะละฮ์กับพวกเขา เพื่อทำให้สัจธรรมและความจริงเป็นที่ปรากฏชัดและทำให้ความมดเท็จถูกเปิดโปง

 

(อ่านต่อตอนที่ 2)

 

เชิงอรรถ

 

(1)- ฮะดีษมุตะวาติร คือ ฮะดีษที่มีผู้รายงานจำนวนมากในทุกชั้น และเป็นฮะดีษที่ถูกรายงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้รายงานในแต่ละชั้นได้รับการถ่ายทอดมาด้วยตัวเอง และเป็นไปไม่ได้ที่ผู้รายงานเหล่านั้นจะร่วมกันกล่าวเท็จ

 

(2)- มะอ์ริฟะตุ อุลูมิลฮะดีษ , หน้าที่ 50

 

(3)- อะห์กามุลกุรอาน , อัลญัศศ๊อด , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 290

 

(4)- มันฮาญุซซุนนะฮ์, เล่มที่ 7, หน้าที่ 123

 

(5)- ดู : ตัฟซีร อัลมีซาน , อัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอี , เล่มที่ 3, หน้าที่ 375

 

(6)- บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 35 , หน้าที่ 224 ; ชะวาฮิดุตตันซีล , ฮากิม อัซกานี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 56

 

(7)- อัลกุรอาน บทอัลอะห์ซาบ โองการที่ 33

 

(8)- ดะลาอิลุนนุบูวะฮ์ , บัยหะกี , เล่มที่  5 , หน้าที่ 385 ; ตัฟซีรอิบนิกะซีร , เล่มที่ 3 , หน้าที่ 43

 

(9)- อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 59

 

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม