ท่านอิมามซัจญาด (อ.) แบบอย่างของการควบคุมความโกรธ
ท่านอิมามซัจญาด (อ.) แบบอย่างของการควบคุมความโกรธ
ในวันหนึ่งขณะที่ท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) นั่งอยู่กับกลุ่มมิตรสหายและผู้ช่วยเหลือของท่าน ชายผู้หนึ่งได้เดินมายืนเบื้องหน้าท่าน และได้ใช้วาจาจาบจ้วง ด่าทอและประณามท่านอย่างรุนแรง ท่านอิมาม (อ.) นิ่งเงียบและไม่ได้แสดงการตอบโต้ชายผู้ขาดสติคนนั้นแต่อย่างใดทั้งสิ้น จนกระทั้งชายผู้มีวาจาสามหาวผู้นั้นได้พูดสิ่งที่เขาปรารถนาจะพูดต่อท่านอิมาม (อ.) จนหมดสิ้น แล้วเขาก็ออกไปจากที่ชุมนุมแห่งนั้น
จากนั้นท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวถึงกับผู้ที่อยู่ร่วมในที่ชุมนุมแห่งนั้นว่า "ฉันอยากให้พวกท่านทุกคนที่ร่วมทางไปกับฉัน เพื่อพวกท่านจะได้รับฟังว่า คำตอบของฉันที่มีต่อพฤติกรรมที่ไม่ดีของชายผู้นี้จะเป็นอย่างไร”
ผู้คนที่นั่งร่วมอยู่ในที่แห่งนั้นต่างพากันกล่าวว่า : "โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! เราทุกคนปรารถนาที่จะร่วมทางไปกับท่าน เพื่อเราจะได้พูดกับเขาในสิ่งที่จำเป็นและเพื่อสนับสนุนท่าน”
จากนั้นท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้สวมรองเท้าของท่านและออกเดินไปพร้อมกับบรรดามิตรสหายของท่าน และท่านได้แนะนำตักเตือนพวกเขาพร้อมกับอ่านโองการของคัมภีร์อัลกุรอานโองการนี้ว่า :
وَالْكَاظِمِينَ الْغَيْظَ وَالْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ ۗ وَاللَّهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ
“.... และบรรดาผู้ที่ระงับความโกรธและบรรดาผู้ให้อภัยต่อมนุษย์ และอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้ปฏิบัติดี” (1)
และด้วยคำพูดที่น่าประทับใจนี้ ทำให้บรรดาผู้ร่วมทางเข้าใจได้ว่าท่านอิมาม (อ.) จะแสดงออกต่อผู้ชายคนนั้นด้วยความดีงาม
เมื่อได้ไปถึงบ้านของชายคนนั้น ท่านอิมาม (อ.) ได้เรียกผู้ร่วมทางคนหนึ่งของท่านมาและกล่าวว่า : "จงบอกกับเขา (ชายผู้นั้น) ว่า อะลี บุตรของฮุเซนมาหา”
เมื่อชายผู้ใช้วาจาสามหาวผู้นั้นได้ยินว่าท่านอิมาม (อ.) มาหาเขาที่ประตูบ้าน เขากล่าวกับตัวเองว่า : "เขามาเพื่อที่จะตอบโต้การกระทำที่อุกอาจของฉันเป็นแน่"
แต่เมื่อชายผู้นั้นได้เปิดประตูและออกมาจากบ้าน ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวกับเขาว่า : "โอ้พี่น้องของฉันเอ๋ย! ท่านได้ไปหาฉันและได้กล่าวคำพูดต่างๆ พาดพิงถึงฉันว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าหากสิ่งที่ท่านพูดถึงฉันเป็นเรื่องจริงที่มีในตัวฉัน ฉันก็ขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้โปรดทางอภัยโทษให้ฉันด้วย
แต่ถ้าหากสิ่งที่ท่านพูดนั้นไม่ได้เป็นจริงในตัวฉันและเป็นการกล่าวให้ร้ายแล้ว ฉันก็ขอวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าทรงอภัยโทษให้ท่านด้วย”
เมื่อชายผู้นั้นได้เห็นมารยาทและการแสดงออกที่งดงามจากท่านอิมามซัยนุ้ลอาบิดีน (อ.) เขากอดจูบท่านอิมาม (อ.) และขอโทษท่านโดยกล่าวว่า : “โอ้นายของฉัน! สิ่งที่ข้าพเจ้าพูดถึงท่านนั้น คือการใส่ร้ายและข้าพเจ้าเองที่สมควรได้รับคำพูดเหล่านี้ ได้โปรดให้อภัยข้าพเจ้าด้วยเถิด” (2)
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่ง ท่านอิมามซัจญาด (อ.) ได้กล่าวว่า :
مَرَّ رَسولُ اللّه صلى الله عليه و آله بِقَومٍ يَرفَعونَ حَجَرا فَقالَ : ما هذا ؟
قالوا : نَعرِفُ بِذاكَ اَشَدَّنا وَ اَقوانا . فَقالَ صلى الله عليه و آله : اَلا اُخبِرُ كُم بِاَشَدِّكُم وَ اَقواكُم؟ قالوا: بَلى، يا رَسولَ اللّه. قالَ: اَشَدُّكُم وَ اَقواكُمُ الَّذى اِذا رَضىَ لَم يُدخِلهُ رِضاهُ فى اِثمٍ وَ لا باطِلٍ وَ اِذا سَخِط لَم يُخرِجهُ سَخَطُهُ مِن قَولِ الحَقِّ وَ اِذا قَدَرَ لَم يَتَعاطَ ما لَيسَ لَه بِحَقٍّ ؛
“ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เดินผ่านคนกลุ่มหนึ่งซึ่งพวกเขากำลังยกหิน (ก้อนใหญ่) กันอยู่ ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า : “นี่คืออะไร?”
พวกเขากล่าวว่า : "ด้วยการกระทำเช่นนี้เราจะได้รู้ว่าใครคือผู้ที่แข็งแกร่งและมีพละกำลังมากที่สุดในหมู่พวกเรา”
ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า : “จะให้ฉันบอกพวกท่านไหมว่าใครคือคนที่แข็งแกร่งและมีพละกำลังที่สุดในหมู่พวกท่าน?
พวกเขากล่าวว่า : “ครับ!
ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์!” ท่านกล่าวว่า : “คนที่แข็งแกร่งที่สุดและมีพละกำลังที่สุดในหมู่พวกท่านคือผู้ที่เมื่อเขาพึงพอใจ ความพึงพอใจของเขาจะไม่นำเขาเข้าสู่สิ่งที่เป็นบาปและสิ่งไร้สาระ และเมื่อใดก็ตามที่เขาโกรธความกริ้วโกรธของเขาก็จะไม่พาเขาออกจากคำพูดที่ถูกต้อง และเมื่อใดก็ตามที่เขามีอำนาจ ความมีอำนาจนั้นก็จะไม่ทำให้เขา(บังคับ) เอาสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิของเขา” (3)
เชิงอรรถ :
1.อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 134
2.อัลอิรชาด, เชคมุฟีด, หน้า 145; อะอ์ยานุชชีอะฮ์, เล่ม 1, หน้า 433
3.มะอานิลอัคบาร, หน้า 366
เรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ