ชีวประวัติอิมาม ฮาซัน อัลอัสกะรีย์ (อ.)
ชีวประวัติอิมาม ฮาซัน อัล อัสกะรีย์ (อ.)
นาม : ฮาซัน
สมญานาม : อัล อัสกะรีย์
ฉายานาม : อบู มุฮัมมัด
นามบิดา : อิมาม อะลี อัล ฮาดีย์
นามมารดา : ซูซัน ฮะดีษะ
ประสูติ : ฮ.ศ. 231
พลีชีพ ชะฮาดะฮ์ : ฮ.ศ. 260
สถานฝังศพ : เมืองซามัรรอ ประเทศอิรัก
วันประสูติของท่านอิมาม
อิมามฮาซัน อัล อัสกะรีย์ เปรียบเสมือนดาวดวงที่สิบเอ็ดในท้องนภาแห่งตำแหน่งอิมามอันสูงสุด ท่านได้ประสูติ ที่เมืองมะดีนะฮ์ อัล มุเนาวะเราะฮ์ เมื่อวันที่ 8 เดือนรอบิอุษษานี ในปีฮ.ศ. ที่ 231 และพลีชีพเป็นชะฮีดที่เมืองซา่มัรรอ เมื่อวันที่ 8 เดือนรอบิอุลเอาวัล ฮ.ศ. 260
บิดาของท่านคือ อิมาม อะลี อัล ฮาดีย์ (อ.) มารดาคือ “ซูซัน” ท่านขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นอิมามในขณะที่อายุได้ 22 ปี การดำเนินชีวิตของท่านเต็มไปด้วยอุปสรรคนานับประการ อันเกิดมาจากแผนการร้ายต่างๆ ของบรรดาผู้ปกครอง
ท่านมีโอกาสใช้ชีวิตภายหลังจากสูญเสียบิดาไปแล้วเพียงหกปี เท่านั้น ซึ่งนั่นคือระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งอิมามของท่านนั่นเอง ในสมัยของท่านคอลีฟะฮ์อัล มุตัซ ได้ถูกลอบสังหาร โดยน้ำมือของบรรดาเหล่าทหาร แล้วก็ได้เชิญให้อัล มุฮ์ตะดีย์ ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่อัล มุฮ์ตะดีย์ ก็ถูกลอบสังหารไปอีกคนหนึ่ง หลังจาก นั้นอัล มุตะมัด จึงได้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮ์สืบแทน
สมญานามของอิมาม ฮาซัน อัล อัสกะรีย์ คือ อบู มุฮัมมัด ประชาชนทั้งหลายได้ให้ฉายานามแก่ท่านไว้มากมาย เช่น อัล ฮาดีย์, อัซ ซะกีย์, อัล นะกีย์และอัล คอลิศ แต่ฉายานามอันเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายที่สุดนั้นได้แก่อัล อัสการีย์ ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า ท่านอาศัยอยู่ในตำบลที่มีชื่อเรียกว่าอัล อัสกัร ขณะเดียวกันท่านยังเป็นที่รู้จักกันในฉายานามว่า บุตรของริฎอ อีกด้วยเช่นกัน
อะห์มัด บิน คอกอนได้กล่าวไว้ในเรื่องของอิมามอัสกะรีย์ ทั้งๆ ที่เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่เกลียดชังบรรดาอะห์ลุลบัยต์ (อ.) มาโดยตลอดดังความว่า
“ตลอดเวลาที่ข้าพเจ้าพำนักอยู่ในสะมัรรอฮ์ ข้าพเจ้าไม่เคยพบว่าจะมีบุตรหลานในตระกูลของอิมาม อะลี คนใดเสมอเหมือนท่านฮาซัน บิน อะลี บิน มุฮัมมัด บิน ริฎอ (อ.) และฉันไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยว่าจะมีใครเหมือนกับเขาได้อีก ในแง่ของความสงบเสงี่ยม ความสุขุม ความโอบอ้อมอารี ความมีจิตใจเผื่อแผ่และมีเกียรติ”
อับดุลลอฮ์ บิน คอกอน ซึ่งเป็นบิดาของอะฮ์มัด ได้กล่าวถึงอิมาม ฮาซัน อัล อัสกะรีย์ ไว้อีกว่า “ถ้าหากตำแหน่งคอลีฟะฮ์ หมดสิ้นไปจากคนในตระกูล อับบาซียะฮ์ ก็จะไม่มีใครในตระกูลบนีฮาชิมอีกแล้วที่จะเหมาะสมนอกจากเขา เนื่องจากเป็นเพราะเกียรติยศ ความมีใจอารีย์ สงบเสงี่ยมและการรักษาตัวเองอย่างดี ความสมถะ ความเคร่งครัดในการเคารพภักดี ตลอดทั้งจริยธรรมและมนุษย์สัมพันธ์ที่งดงามเป็นเลิศของเขา”
ได้เกิดเหตุการณ์วิกฤตแพร่ระบาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง อำนาจฝ่ายทหารอยู่เหนือกว่าฝ่ายปกครองและคอลีฟะฮ์ ยังผลให้ประชาชนเอือมระอาและเกิดความเคียดแค้นชิงชังของประชาชนขยายวงกว้างมากขึ้น คนในตระกูลของอิมาม อะลี ได้ก่อการปฏิวัติขึ้นในสถานที่ต่างๆ หลายแห่งดังเช่น “ฮาซัน บิน เซด จากตระกูลของอิมามอะลี” ได้ทำการปฏิวัติจนสำเร็จ และได้ครองเมือง “ฏอบัรซะตาน”
ที่เมืองบัศเราะฮ์ เกิดการปฏิวัติเพื่อโค่นล้มอำนาจรัฐด้วยเช่นกัน โดยมี “ขบวนการปฏิวัติอัซซันญ์” เป็นผู้นำ ซึ่งตัวบุคคลเป็นหัวหน้าก่อการแอบอ้างว่ามีเชื้อสายมาจากอะห์ลุลบัยต์ (อ.) คนกลุ่มนี้ได้เข่นฆ่าผู้คนอย่างเหี้ยมโหด โดยมีการสังหารบรรดาเด็กๆ และสตรีผู้บริสุทธิ์ นี่คือสิ่งที่ทำให้อิมาม อัล อัสการีย์สะเทือนใจเป็นอย่างยิ่ง ท่านได้ประกาศว่ากลุ่มก่อการปฏิวัตินั้น มิได้มาจากพวกเราที่เป็นอะห์ลุลบัยต์
ท่านอิมาม ฮาซัน อัลอัสกะรีย์ ต้องประสบกับปัญหานานัปการ และยังถูกจองจำหลายครั้งด้วยกัน คอลีฟะฮ์จัดส่งคนที่มีนิสัยโหดร้ายทารุณมาทำหน้าที่คุมตัวท่านที่ห้องขัง แต่น่าประหลาดใจอะไรเช่นนั้น เพราะคนเหล่านั้นมีความรู้สึกประทับใจกับจริยธรรมในตัวของอิมาม อัสการีย์และกลับตัวกลับใจ สู่นิสัยที่ดีตามธรรมชาติดั้งเดิมของตนเองอย่างแท้จริง เคยมีคอลีฟะฮ์คนหนึ่งจับอิมาม ฮาซัน อัสการีย์ โยนให้สิงโตกิน แต่บรรดาสัตว์ร้ายเหล่านั้นกลับแสดงอาการนบนอบซบลงแทบเท้า และเข้ามาคลอเคลียท่านอิมาม แทนที่จะแสดงความดุร้ายตามธรรมชาติของมัน
เคยมีนักปราชญ์ชาวคริสต์ มาสนทนาปราศรัยกับอิมามฮาซัน อัสกะรีย์ เขามีความประทับใจกับท่านเป็นอย่างยิ่ง ในที่สุดก็ได้ประกาศตนเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามต่อหน้าท่าน ได้มีผู้คนซักถามนักปราชญ์ท่านนี้เกี่ยวกับเหตุผลของการเข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม เขาได้ให้คำตอบว่า “ที่ข้าพเจ้าเข้ารับนับถือศาสนาอิสลามเพราะว่า ข้าพเจ้าได้พบเห็นคุณสมบัติในตัวของอิมามฮาซัน อัสการีย์ ที่มีส่วนละม้ายกับลักษณะต่างๆ ของท่านมะซีฮ์ (อ.) (ศาสดาเยซู)”
คำสั่งสอนของอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ มีเป็นจำนวนมาก ล้วนเป็นคำสอนเกี่ยวกับความยุติธรรม ความดีงามและการเสียสละเพื่อผู้อื่น ท่านเป็นคนที่เข้มงวด มีความระมัดระวังเป็นที่สุดในเรื่องของความอธรรมและการละเมิด ในเรื่องนี้จะเห็นได้จากการที่ท่านมีปฏิกิริยาตอบโต้กับผู้ปกครองเผด็จการในสมัยของท่าน
ความรู้ของอิมาม ฮาซัน อัลอัสกะรีย์ (อ.)
แนวทางแห่งหลักคำสอนของสายอะห์ลุลบัยต์ เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย และขบวนการเผยแพร่วิชาการได้รับความนิยมยกย่องที่สุดในสมัยของท่านอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ กล่าวคือ ได้มีศูนย์เผยแพร่วิชาการทางศาสนาทั้งในนครกูฟะฮ์ แบกแดดและฮิญาซ ขณะเดียวกันยังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเมืองกุม อันเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งทางด้านวิชาการและทางศาสนา อิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ เป็นเสมือนมหาสมุทรอันล้ำลึกแห่งวิชาความรู้ นักเรียน นักศึกษา ที่สนใจใฝ่หาวิชาความรู้จากท่านมีจำนวนมากถึง 18,000 คน
“มุฮัมมัด บิน มัสอูด อัช ชีรอซีย์” ผู้เป็นนักปราชญ์ของคอลีฟะฮ์ อัล มุตัซ เขียนบันทึกไว้ว่า ท่านอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์มีความรู้สูงมาก จนกระทั่งทำให้ท่านกินดีย์ ผู้เป็นบรมครูของท่าน “อัล ฆอรอบีย์” ถึงกับต้องเผาตำราของตนทิ้ง หลังจากที่เขาได้นำไปตรวจสอบกับของท่านอิมาม เนื่องจากว่าตำราของเขาเป็นตำราที่ไม่เคยสอดคล้องกับหลักการอิสลาม
ความลี้ลับ
ครั้งหนึ่งในสมัยของอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ ได้เกิดปัญหาความแห้งแล้งกันดารขึ้นในเมืองสะมัรรอฮ์ ดังนั้นคอลีฟะฮ์จึงสั่งการให้ประชาชนทำพิธีนมาซเพื่อขอฝน ประชาชนทั่วทั้งเมืองต่างมารวมตัวเพื่อทำนมาซขอฝน แต่แล้วก็ไม่ปรากฏวี่แววว่า จะมีเค้าฝนมาให้เห็นแต่อย่างใด
ครั้นถึงวันที่สี่ “บาดหลวง” และบรรดาท่านผู้รู้ทั้งทางศาสนายูดายและคริสเตียนได้ออกไปทำพิธีตามหลักการของพวกตน นักบวชในศาสนาคริสต์คนหนึ่งได้ยื่นมือขึ้นเพื่อวิงวอนของ ปรากฏว่าสายฝนได้เทลงมาอย่างท่วมท้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้ทำให้ประชาชนมีความรู้สึกคลางแคลงใจในศาสนาอิสลามที่ตนกำลังนับถืออยู่ เพราะพวกตนถือว่าอิสลามเป็นศาสนาที่เที่ยงแท้ที่สุด กระทั่งมีบางคนกล่าวว่า
“ถ้าหากศาสนาของพวกคริสเตียนเป็นศาสนาที่หลงผิด อัลลอฮ์ (ซบ.) จะไม่ทรงรับคำวิงวอนขอของพวกเขาดอก”
มีบรรดามุสลิมบางคนถึงกับคิดอยากจะเข้ารับนับถือศาสนาของพวกคริสเตียน
ส่วนอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ (อ.) ขณะนั้นถูกจองจำอยู่ในคุก ดังนั้น เจ้าหน้าที่คนหนึ่งของคอลีฟะฮ์ ได้นำเรื่องไปบอกเล่าแก่ท่านอิมามว่า “ประชาชนผู้นับถือศาสนาของศาสดามุฮัมมัด ผู้เป็นปู่ทวดของท่าน เริ่มสับสนแล้ว พวกเขาบางคนคิดสงสัยในเรื่องศาสนาของอัลลอฮ์”
ต่อมาบาดหลวงของศาสนาคริสต์ พร้อมกับพวกนักบวชในศาสนานั้นได้ออกมาที่ทะเลทราย และท่านอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ (อ.) ได้ออกมาด้วยเช่นกัน ตามคำขอร้องของคอลีฟะฮ์ อิมามได้พยายามตรวจตราพวกเขาอย่างถี่ถ้วนที่สุด จนท่านได้เห็นบาดหลวงคนหนึ่งยกมือขวาของตนชูขึ้น ท่านจึงสั่งให้คนของท่านจับมือของบาดหลวงผู้นั้นไว้ และให้ดูว่ามีอะไรอยู่ในฝ่ามือ ครั้นเมื่อจับมือของบาดหลวง จึงสัมผัสกับของที่อยู่ในมือ และพบว่านั่นคือ “กระดูกสีดำชิ้นหนึ่ง” อิมามฮาซัน อัสการีย์จึงตระหนักในทันที แล้วกล่าวกับบาดหลวงผู้นั้นว่า “พวกท่านจงทำพิธีขอฝน ณ บัดนี้เถิด”
แล้วบาดหลวงผู้นั้นก็ยกมือขึ้นเพื่อวิงวอนขอฝน ปรากฏว่าบนท้องฟ้าที่กำลังปรากฏเมฆฝนครึ้ม กลับกระจายตัวออกไปและดวงอาทิตย์กลับส่งแสงจ้าดังเดิม คอลีฟะฮ์จึงถามท่านอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ ว่ามีอะไรเป็นความลี้ลับอยู่ในเรื่องนี้ เป็นเพราะเหตุใด ที่บาดหลวงคนนั้นสามารถทำพิธีขอฝนได้สำเร็จในครั้งแรก ท่านอิมาม ฮาซัน (อ.) กล่าวตอบว่า “เนื่องจากบาดหลวงท่านนี้ เคยเดินผ่านสุสานของศาสดาท่านหนึ่ง และได้ขุดเอากระดูกชิ้นนี้มาจากหลุมศพของศาสดาท่านนั้น และเขาวิงวอนต่ออัลลอฮ์ให้การวอนขอของเขาเป็นที่ตอบรับ เพื่อเห็นแก่กระดูกชิ้นนี้ อัลลอฮ์ทรงตอบรับ หากผู้ใดก็ตามถือกระดูกชิ้นนี้ไว้ในมือของเขาและวิงวอนขอพระองค์ จะให้ฝนตกลงมาในทุกครา”
ภายหลังจากที่ได้ทดสอบกันแล้วต่อหน้าผู้คน ฉะนั้นในสิ่งที่อิมามพูดจึงเป็นการพิสูจน์ให้เห็นจริง ประชาชนจึงต่างยกย่องท่านอิมาม
วิธีการสอนของอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์
ลูกหลานคนหนึ่งของอิมาม ญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) ชื่อ ฮุเซน” พำนักอยู่ ณ เมืองกุม เป็นคนชอบดื่มสุรา วันหนึ่งเขาได้เดินทางไปหา “อะห์มัด บิน อิสหาก อัล อัซอะรีย์” ซึ่งเป็นตัวแทนคนหนึ่งของอิมามฮาซัน (อ.) แต่อะห์มัดไม่ยินยอมให้เข้าพบและไม่ยินดีต้อนรับ เพราะอะห์มัดรู้ถึงนิสัยและความประพฤติของฮูเซนคนนี้ดี “ฮูเซน” จงเดินทางกลับบ้านของตนด้วยความรู้สึกเสียใจที่ถูกลบหลู่ดูหมิ่นถึงเพียงนี้
บังเอิญในเวลาต่อมา อะห์มัด บิน อิสหาก ได้เดินทางไปทำพิธีฮัจญ์ เมื่อผ่านไปถึงเมืองมะดีนะฮ์ เขาต้องการที่จะได้มีโอกาสเข้าพบท่านอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ (อ.) จึงขออนุญาตเพื่อเข้าไปพบ แต่ท่านอิมามกลับไม่ยินยอมให้เขาเข้าเยี่ยมคำนับ อะห์มัดรู้สึกเสียใจอย่างที่สุด เขายืนเฝ้าอยู่หน้าประตูบ้านของอิมามโดยไม่ยอมไปไหน จนกระทั่งในที่สุดอิมามฮาซัน (อ.) จึงอนุญาตให้เขาเข้าพบ
อะห์มัด บิน อิสหาก ได้ถามท่านอิมาม ฮาซันว่า เป็นเพราะเหตุใดที่ไม่อนุญาตให้เขาเข้ามาพบ ท่านอิมาม ฮาซัน ได้ตอบเขาว่า
“ก็เพราะฉันต้องการจะปฏิบัติต่อท่าน ให้เหมือนกับที่ท่านได้ปฏิบัติต่อบุตรของลุงของฉัน และฉันหลบหน้าท่านเหมือนกับที่ท่านหลบหน้าเขา”
อะฮ์มัด บิน อิสหาก จึงกล่าวว่า “โอ้ นายของข้าพเจ้า แท้จริงที่ฉันกระทำเช่นนั้น ก็เพราะเขาเป็นคนดื่มสุรา และที่ฉันทำเป็นหลบหน้าเขาในเรื่องนั้น ก็เพราะว่าฉันต้องการจะเตือนสติเขา และให้เขากลับตัวเสีย”
อิมาม ฮาซัน อัลอัสกะรีย์ กล่าวแย้งว่า “ถึงแม้ท่านต้องการชี้นำ สั่งสอนเขา แต่ท่านก็กระทำผิดวิธีการ”
เมื่ออะฮ์มัดเดินทางกลับไปถึงเมืองกุม ได้มีประชาชนมาแสดงความยินดี และรับพรจากเขา ในฐานะที่เดินทางกลับจากบำเพ็ญฮัจญ์ ณ บัยตุลลอฮ์ ขณะนั้นอบูฮาซัน (ฮุเซน คนเดิม) ก็เข้ามาแสดงความยินดีกับเขาด้วย อะห์มัดจึงให้การต้อนรับและกอดเขาไว้อีก ทั้งยังได้เชิญเขาให้นั่งพูดคุยกันอีกด้วย อบูฮาซันรู้สึกแปลกใจมากที่เห็นกิริยาท่าทางของอะห์มัดเปลี่ยนไปเช่นนี้ เขาจึงถามถึงเหตุผล ว่าทำไมเมื่อวันก่อนจึงแสดงท่าทีต่อต้านเขา มาวันนี้กลับให้การต้อนรับเป็นอย่างดี อะห์มัดจึงนำเรื่องราวของตนที่เกิดขึ้นเมื่อตอนที่ต้องการจะเข้าเยี่ยมท่านอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ มาเล่าให้อบูฮาซันฟัง
อบูฮะซันก้มหน้าครุ่นคิดรำพึง เขาจึงตั้งปณิธานว่าจะกลับเนื้อกลับตัว และกล่าวอำลาอะห์มัดกลับไปยังบ้านเรือนของตน เมื่อถึงบ้านอบูฮาซัน ได้ทุบภาชนะเก็บสุราจนแหลกละเอียด ตั้งแต่นั้นมาเขาจะอยู่ประจำแต่ที่มัสยิดไม่ยอมห่างเหินไปไหนอีกเลย
สองตำนานของอิมาม ฮาซัน อัลอัสกะรีย์
เมื่อครั้งที่อิมามฮาซัน อัสกะรีย์ ถูกจองจำอยู่ในคุกได้มีผู้คุมคนหนึ่งชื่อ “ซอลิฮ์ บิน วะศีฟ” ได้แต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ดูแลท่านอิมามถึงสองคน ซึ่งล้วนเป็นมนุษย์ที่เลวที่สุดในบรรดาสิ่งถูกสร้างจากอัลลอฮ์ แต่แล้วเขาทั้งสองกลับเป็นคนที่เคร่งครัดในการทำอิบาดะฮ์ (การเคารพภักดี) และพากเพียรในการทำนมาซ นับว่าเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก
ต่อมา เขาจึงสั่งให้นำตัวผู้ดูแลทั้งสองคนมาหา แล้วถามว่า “พวกแกปฏิบัติตัวอย่างไรกับชายคนนั้น?” (หมายถึงอิมาม)
คนทั้งสองกล่าวตอบว่า “เราไม่มีอะไรจะพูดถึงสำหรับคนที่มีแต่การถือศีลอดตลอดเวลาในยามกลางวัน ทำนมาซตลอดเวลาในยามกลางคืน ไม่พูดไม่คุยและไม่วุ่นวายกับสิ่งอื่นใด นอกจากการทำอิบาดะฮ์”
พวกเติร์ก เข้ามามีบทบาทในการปกครอง และยังลบหลู่ตำแหน่งคอลีฟะฮ์ พวกเติอร์กเหล่านี้ได้เข่นฆ่าผู้คนตามใจชอบ บางครั้งจะจับตัวใครก็ได้ตามที่พวกมันต้องการ แล้วนำมาตรึงกับไม้กางเขน เมื่อถึงสมัยที่อัล มุตะมัดขึ้นดำรงตำแหน่ง ปรากฏว่าเขาเป็นทุกข์อย่างมาก เพราะไม่รู้ว่าจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้นานสักเท่าใด อาจสักสามเดือนหรือมากกว่านั้น เขาเป็นคนที่รู้จักถึงฐานภาพของอิมาม ฮาซัน อัลอัสกะรีย์ จึงขอร้องให้อิมามช่วยวิงวอนขอพรให้เขามีอายุยืน ท่านอิมามจึงวิงวอนขอพรให้เขา ผลปรากฏว่าเขาได้อยู่ในตำแหน่งคอลีฟะฮ์นานถึงยี่สิบกว่าปี ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งที่นานมากกว่าคอลีฟะฮ์คนใดทั้งสิ้น
นักปรัชญาในเมืองอิรัก
“อิสฮาก อัล กินดีย์” เป็นนักปรัชญาผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งของอิรักเป็นอาจารย์ของอบูนัซร์ ฟะรอบี นักปรัชญาผู้ยิ่งยงในสมัยของอิมาม ฮาซัน อัสการีย์ เขาเป็นคนแรกที่เรียบเรียงหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการบิดเบือนในการรวบรวมอัล กุรอาน (ตะห์รีฟ) ศิษย์คนหนึ่งของอัล กินดีย์ ได้เข้าพบอิมาม ฮาซัน อัสการีย์ (อ.) แล้วสนทนากันถึงเรื่องนี้ ท่านอิมามได้กล่าวกับเขาว่า “ในกลุ่มของพวกท่านไม่มีคนฉลาด เลยหรือ ที่จะทำหน้าที่ปกป้อง “อัล กินดีย์” ครูของพวกท่านมิให้กระทำการก้าวก่ายในเรื่องของอัล กุรอาน?”
ศิษย์คนดังกล่าวตอบว่า “ฉันไม่อยู่ในฐานะที่จะไปคัดค้านเขาได้”
อิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ (อ.) จึงกล่าวว่า “เจ้าจงบอกกับเขาเถิดว่ามีปัญหาข้อหนึ่งที่ฉันจะขอถามท่าน นั่นก็คือว่า “ถ้าหากคู่สนทนานำหลักฐานจากอัล กุรอานมาเสนอต่อท่าน จะเป็นไปได้ไหมว่า ความหมายของมันที่เขานำมากล่าว จะไม่เป็นความหมายเหมือนอย่างที่ท่านเชื่อถือ? แล้วเขาจะตอบว่าเป็นไปได้ เพราะว่าคนๆ หนึ่ง จะเข้าใจได้ตามที่เขาได้ยิน”
ครั้นเมื่อเขาให้คำตอบเช่นนี้แล้ว ท่านก็จงกล่าวว่า “แล้วท่านทราบไหมว่า บางทีถ้าหากยังมีแนวทางอื่น นอกเหนือจากแนวทางตามที่ท่านเชื่อถือ และมันอาจให้ความหมายที่มิใช่เช่นที่ท่านเชื่ออีกก็เป็นได้”
เมื่อลูกศิษย์ของอัล กินดีย์ ได้นำคำถามเหล่านี้ กลับไปถามอัล กินดีย์ ผู้เป็นครูของเขา อัล กินดีย์ กล่าวว่าจงตั้งคำถามใหม่ซิ แล้วศิษย์คนนั้นก็ตั้งคำถามใหม่ ทำให้เขาต้องเงียบงันพลางครุ่นคิด เขาเห็นว่าความหมายที่อยู่ในภาษานี้ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อน สำหรับการพิจารณา ดังนั้นความคิดเหล่านั้นได้ทำให้ความคิดของเขาที่เคยมีอยู่แต่เดิมเริ่มคลอนแคลน เขาถึงกับลุกขึ้นเดินไปหยิบตำราที่เขาเคยเขียนไว้และให้ความเชื่อถือมาเผาทิ้งทันที เพราะเห็นว่ามันขัดกับควมจริงของอิสลาม
สาส์นจากอิมาม อัสกะรีย์ ถึงสหาย
อิมามฮาซัน อัสกะรีย์ ได้เขียนจดหมายหลายฉบับ ส่งไปยังบรรดามิตรสหายของท่าน ส่วนหนึ่ง คือ สาส์นฉบับหนึ่ง ที่ส่งไปยัง “อะลี บิน ฮุเซน บิน บาบุวัยฮ์ แห่งเมืองกุม” ความว่า
ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณาปรานี ผู้ทรงเมตตาเสมอ
มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลแห่งสากลโลก รางวัลตอบแทนย่อมมีสำหรับบรรดาผู้สำรวมตน สวนสวรรคย่อมได้แก่บรรดาผู้ยึดมั่นในพระเจ้าองค์เดียว และไฟนรกย่อมได้แก่บรรดาผู้ปฏิเสธในพระเจ้า จะไม่มีศัตรูนอกจากบรรดาผู้อธรรม ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ์ ผู้ทรงสร้างที่ดีเลิศ ขอความจำเริญพึงมีแด่ศาสดามุฮัมมัด มนุษย์ที่ดีที่สุดของพระเจ้า และเชื้อสายของท่านผู้สะอาดบริสุทธิ์
ท่านจะต้องอดทน และต้องเตรียมรับมือกับการปลดปล่อย เพราะท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ว่า “การทำงานที่ดีเลิศ สำหรับประชาชาติของฉันคือ เตรียมรับมือกับการปลดปล่อย” พรรคพวก (ชีอะฮ์) ของเราจะไม่หมดสิ้นจากความเศร้าโศก จนกว่าบุตรชายของฉันจะมาปรากฏ เขาคือบุคคลที่ท่านศาสดาเคยแจ้งข่าวไว้ให้ทราบว่า “เขาจะเป็นผู้กระทำให้แผ่นดินเต็มไปด้วยความยุติธรรม ดังเช่นมันเคยดาษดื่นไปด้วยความอยุติธรรมที่เคยมีอยู่แต่ก่อน” โอ้ ท่านผู้อาวุโสของฉัน โอ้ อบูฮาซัน ท่านจงอดทน เพราะว่าแผ่นดินของอัลลอฮ์นั้นจะมีบ่าวของพระองค์ที่พระองค์ทรงประสงค์มารับมรดกการปกครองและรางวัลในขั้นสุดท้าย ย่อมเป็นของบรรดาผู้สำรวมตน และขอให้ความสันติสุข ความเมตตาของอัลลอฮ์และความจำเริญของพระองค์พึงมีแด่ท่าน และแด่บรรดาพรรคพวก (ชีอะฮ์) ของเราทั้งมวลและขอความจำเริญพึงประสพแด่มุฮัมมัด และวงศ์วานของท่าน (อ.) ด้วยเถิด”
การพลีชีพของ อิมาม ฮาซัน อัลอัสกะรีย์
เมื่อตอนที่อิมามฮาซัน อัลอัสกะรีย์ (อ.) มีอายุได้ 4 ปี เป็นช่วงเวลาที่อิมาม อัล ฮาดีย์ (อ.) ผู้เป็นบิดา ถูกเชิญตัวให้เดินทางไปยังเมืองซามัรรอ ท่านต้องเผชิญกับการถูกติดตามตัวอย่างแข็งขันจากฝ่ายปกครองในสมัยนั้น กล่าวคือท่านต้องได้รับการบีบคั้นอย่างมากมายจากคอลีฟะฮ์และยังถูกนำตัวไปกักขังอยู่ในที่จองจำหลายครั้ง จนกระทั่งพลีชีพไปเพราะถูกลอบวางยาพิษ เมื่อเดือนรอบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 260
ศพของท่านถูกนำไปฝังไว้ใกล้ๆ กับสุสานของผู้เป็นบิดา ซึ่งปรากฏอยู่เป็นสถานที่สำคัญ ตราบจนถึงทุกวันนี้ ณ เมืองซามัรรอฮ์
สาเหตุที่ท่านต้องถูกประกบตัวอย่างเข้มงวดกวดขันจากฝ่ายปกครอง ก็เพราะว่ามีการรายงานบอกเล่าเรื่องราวที่มาจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) หลายกระแสด้วยกันโดยยืนยันว่าอัล มะฮ์ดีย์ ซึ่งเป็นอิมามท่านที่สิบสองคือบุตรชายของอิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ ด้วยเหตุนี้บรรดาผู้ปกครองต่างหวาดหวั่นการมาปรากฏของอิมามอัล มะฮ์ดีย์ ซึ่งจะมาสถาปนาความยุติธรรมและความเที่ยงธรรมขึ้นบนแผ่นดิน แต่อิมาม ฮาซัน อัสกะรีย์ (อ.) สามารถซ่อนตัวบุตรชายผู้มีสิริมงคลของท่านได้สำเร็จ ถึงแม้ว่าจะต้องฝ่าฟันกับอุปสรรคมากสักปานใดก็ตาม แต่ปรากฏว่ามีบุคคลหนึ่งชื่อ “ญะอ์ฟัร กัซซาบ” ซึ่งเป็นน้องชายของอิมาม ฮาซันเอง พยายามฉกฉวยโอกาสด้วยการประกาศตนเองเป็นอิมาม และฝ่ายปกครองก็ส่งเสริมเขาให้กระทำเช่นนั้นด้วยอีกแรงหนึ่ง แต่ทว่าอัลลอฮ์ทรงลบบารมีของเขาเสียได้ เมื่ออิมาม อัล มะฮ์ดีย์ปรากฏออกมาอย่างฉับพลัน ซึ่งขณะนั้นท่านยังเป็นเด็กอยู่ ท่านได้ทำนมาซให้บิดาของท่านในขณะที่ญะอ์ฟัร กัซซาบ ได้ขึ้นไปยืนเป็นอิมามนำนมาซญะนาซะฮ์ให้อิมามอัสการีย์อยู่ก่อนแล้ว แต่อิมามมะฮ์ดีย์ได้ผลักเขาออกไป และขึ้นไปยืนเป็นอิมามแทน และในวาระนี้ที่ท่านเริ่มทำหน้าที่อิมามที่ 12 สืบต่อจากบิดาของท่าน เมื่อประชาชนส่วนมากเห็นเช่นนั้น ก็มีความเลื่อมใสศรัทธาในตำแหน่งอิมามของท่าน และแท้จริงท่าน คือ อิมามอัล มะฮ์ดีย์ (อ.)
ขอขอบคุณเว็บไซต์ อัชชีอะฮ์