บทเรียนความลี้ลับของนมาซ ตอนที่ 3
บทเรียนความลี้ลับของนมาซ ตอนที่ 3
ผู้ละทิ้งนมาซ คือผู้ขาดทุนที่ย่อยยับที่สุด
ก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวถึงความแตกต่างระหว่างนมาซที่โบยบินสู่ฟากฟ้า และนมาซทางกายภาพ ที่เราจะต้องฝึกฝนและพัฒนากันต่อไป เพื่อให้เราได้ใกล้ชิดยังพระองค์ เพื่อให้นมาซของเราเป็นที่พึงพอใจและถูกตอบรับ ในบทเรียนนี้ จะกล่าวถึงประเด็นของผู้ที่ละทิ้งนมาซ ใครก็ตามที่ละทิ้งนมาซ บุคคลผู้นั้นเป็นบุคคลที่ขาดทุนอย่างย่อยยับ ขาดทุนทั้งโลกนี้และโลกหน้า เป็นบุคคลที่สูญเสียขุมทรัพย์อันมหาศาลในมือไปอย่างน่าเสียดาย หมายถึง การสูญเสียโอกาสในการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ สูญเสียโอกาสในการใกล้ชิดต่อพระองค์ และสูญเสียโอกาสที่จะสูงส่งกว่ามวลมลาอิกะฮ์ การละทิ้งนมาซเปรียบเสมือนการละทิ้งพระผู้เป็นเจ้า และการละทิ้งพระผู้เป็นเจ้า ถือเป็นผู้ปฏิเสธ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ปฏิญาณตนว่า เป็นมุสลิม อยาตุลลอฮ์อะลี คอเมเนอี ผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดของอิหร่าน ได้กล่าวว่า “ร่างของฉันสั่นสะท้านทุกครั้งเมื่อนึกถึงคำกล่าวของท่านอิมามซอดิก(อ.)ที่ได้กล่าวว่า “การขาดนมาซแม้แต่เพียงเวลาเดียว แม้จะหาทองทั้งโลกมาทดแทนก็ยังมิสามารถทดแทนได้”
ความเลวร้ายของการละทิ้งนมาซ ส่งผลให้ในวันกิยามัต ผู้ที่ละทิ้งการนมาซจะถูกส่งลงนรก ไฟนรกจะแผดเผา มีคำถามว่าและด้วยเหตุใด การละทิ้งนมาซจึงต้องถูกลงโทษอย่างหนักในนรก คำตอบคือ เพราะการละทิ้งนมาซโดยตั้งใจ เท่ากับผู้นั้นเป็นผู้ปฏิเสธ เป็นกาเฟร เพราะบุคคลผู้นั้นได้ทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติ ไม่เชื่อในคำสั่งของอัลลอฮ์ ซ้ำร้ายการละทิ้งนมาซยังเปรียบเสมือนการละทิ้งตัวตน คือลืมว่าเราเป็นใคร มีหน้าที่อะไร และความเลวร้ายของการละทิ้งตัวตน การใช้ชีวิตล่องลอยไร้ทิศทาง ก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจแต่ไร้ค่า ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะในเมื่อเรายังไม่เชื่อในสิ่งที่เราเป็น เรายังไม่เคารพในตัวตนของเรา การคาดหวังที่จะให้ผู้อื่นยอมรับและตอบแทนเราด้วยสิ่งที่เราต้องการมันจึงไม่มีทางเป็นไปได้เลย
ดังเช่น ในคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงการนมาซว่า "การดำรงนมาซ คือการรำลึกถึงพระองค์" และถ้าหากพวกเรารำลึกถึงพระองค์ พระองค์ก็จะรำลึกถึงเรา อีกทั้งยังมีคำเตือนว่า จงอย่าทำตัวเหมือนพวกที่หลงลืมพระองค์ การลืมพระองค์คือการลืมตัวตนของตัวเอง เมื่อคนเราหลงลืมตัวเอง ชีวิตก็ไม่เหลือค่าอะไร ในคัมภีร์อัลกุรอานกล่าวย้ำว่า "พึงทราบเถิด การรำลึกถึงพระองค์จะทำให้หัวใจสงบมั่น" หมายความว่า นมาซมีเพื่อรำลึกถึงพระองค์ แล้วการรำลึกถึงพระองค์ก็จะเกิดความสงบมั่นในหัวใจ ดังนั้นนมาซจะทำให้เกิดความสงบมั่นในหัวใจ เมื่อพิจารณาดูถึงความหมายดังกล่าว ในความหมายกลับกันก็คือ หากผู้ใดก็ตามยังมีความสับสนในชีวิต จิตใจยังวิตกกังวล ก็เท่ากับว่าเขายังไม่เข้าถึงแก่นแท้ของนมาซ เพราะนมาซจะทำให้เขาไม่วิตกจริต ไม่ต้องกังวลต่อสิ่งใด ศรัทธามั่นในความเมตตาของพระองค์ที่ทรงรับรู้และมองดูเราอยู่เสมอ พระองค์ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยความเมตตามิเคยทอดทิ้งบ่าวของพระองค์
ซูเราะฮ์ ฏอฮา : 14 , 123 - 127
ซูเราะฮ์ อัร-เราะอ์ดุ : 28
ซูเราะฮ์ อัล-กะห์ฟิ : 28
มีการเปรียบเปรยถึงการทำซินา หรือการผิดประเวณี กับ การละทิ้งนมาซ ว่าสิ่งใดเลวร้ายมากกว่ากัน คำตอบ คือ การละทิ้งนมาซ เพราะการละทิ้งนมาซจะนำพาไปสู่การปฏิเสธพระเจ้า ซึ่งประเด็นนี้เอง เคยมีผู้ถามท่านอิมามซอดิก(อ) ว่าทำไมการละทิ้งนมาซถึงเลวร้ายกว่าการผิดประเวณี และยังนำพาไปสู่การปฏิเสธศรัทธา ท่านอิมามได้ชี้แจงว่า ในการผิดประเวณี แม้จะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ แต่ผู้ที่กระทำลงไปเพราะได้รับความสุขจากการกระทำนั้น แต่การละทิ้งนมาซมันมีความสุขอะไรอยู่ในนั้นเล่า -ซึ่งผู้ศรัทธาทุกคนรับรู้กันดีอยู่แล้ว ว่าการผิดประเวณีเป็นบาป ซึ่งมันเป็นความการเสพสุขเพียงชั่วครู่ เป็นความสุขจอมปลอมที่เกิดขึ้นโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ แต่การละทิ้งนมาซโดยความตั้งใจ คือ การทิ้งพระเจ้า ทิ้งตัวตนของเรา เราเป็นคนโยนความเป็นตัวเราทิ้งไปอย่างไม่ใยดี เพราะขนาดเรารู้ว่าในทุกๆวัน เราต้องทำอะไรแต่ก็ยังไม่ทำ มันจึงแตกต่างจากเรื่องของการขาดความยับยั้งชั่งใจและความสนุกเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ความสุขของการเผลอใจไปกับสิ่งยั่วยุต่างๆที่เข้ามาใกล้ตัวเรา แต่ความสุขบนความตั้งใจที่จะทอดทิ้งพระผู้เป็นเจ้า ทอดทิ้งคำสั่งของพระองค์ ไม่น่าจะเรียกว่าเป็นความสุข ใช้คำว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ยังมิได้เลย สรุปการละทิ้งนมาซก็คือการมองข้ามคำสั่งของพระองค์ ไม่สนใจที่จะรำลึกถึงพระองค์ สิ่งที่เลวร้ายยิ่งสำหรับผู้ที่เป็นบ่าวก็คือ ไม่เห็นพระองค์อยู่ในสายตาของเขา...
โปรดติดตามตอนต่อไป
เรียบเรียงโดย จิตรา อินทร์เพ็ญ
บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี