ศาสดามุฮัมมัดแบบฉบับแห่งมนุษย์ผู้เปี่ยมด้วยคุณงามความดี ตอนที่ 5
ศาสดามุฮัมมัดแบบฉบับแห่งมนุษย์ผู้เปี่ยมด้วยคุณงามความดี ตอนที่ 5
ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ)กับการเชิญชวนไปสู่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ครั้งแรก
ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ)ได้รับมอบหมายภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์โดยพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเดชานุภาพ มาตามลำดับ เช่นเดียวกับศาสนทูตแห่งพระผู้เป็นเจ้าท่านอื่นๆ ในยุคก่อนหน้านี้ ในการถ่ายทอดสารของพระผู้เป็นเจ้าไปยังมนุษยชาติและเชิญชวนพวกเขาไปสู่เอกานุภาพ ซึ่งเรียกว่า“เตาฮีด” แต่ความแตกต่างระหว่างท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) กับศาสนทูตก่อนนี้ ตามข้อเท็จจริงคือท่าน ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเดชานุภาพ บนโลกนี้และไม่มีศาสนทูตอื่นต่อจากท่าน แนวทางในการเชิญชวนประชาชนได้มีโองการมายังท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ว่า:
ادْعُ إِلَى سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ
وَجَادِلْهُمْ بِالَّتِي هِيَ أَحْسَنُ
“จงเชิญชวนไปสู่หนทางแห่งพระเจ้าของเจ้าด้วยสติปัญญาและคำสอนที่ดีและโต้แย้งกับพวกเขาด้วยวิธีที่ดีที่สุด”(บทอันนะฮ์ล์ โองการที่ ๑๒๕)
จากนั้น คำแรกสำหรับการเชิญชวนมนุษยชาติไปสู่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเดชานุภาพของเขา คือ :
(أيها الناس، قولوا لا إله إلا الله تفلحوا)
“พวกเจ้าจงกล่าวว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ต้องเคารพภักดีนอกจากพระองค์อัลลอฮ์ เพียงองค์เดียวเท่านั้น จึงจะถือว่าสำเร็จ”
ดังคำกล่าวที่ทรงคุณค่าว่า “ศาสนาทุกศาสนามีหลักของตนเพื่อให้มนุษย์หลุดพ้นจากบาป เช่น
สำหรับลัทธิโซโรแอสเตรียน การพ้นจากบาปของมนุษย์จะต้องยึดมั่นอยู่ในหลักของ “การคิดดี พูดดีและทำดี”
ในนิกายหรือศาสนาอื่นๆ เชื่อว่า “สันติสุข” ถูกกำหนดให้เป็นการพ้นจากบาปของมนุษย์ หมายถึง การพ้นจากบาปของมนุษย์จะผ่านทางสันติสุข” ส่วน “สันติสุข” คือการตระหนักว่าเราเข้าใจในสาเหตุแห่ง “ความทุกข์” และการเข้าใจสาเหตุแห่ง “ความทุกข์” เราต้องได้รับความสามารถในการจำแนกแหล่งที่มาของความทุกข์ความสามารถนั้นเรียกว่า “ปัญญา” และปัญญานั้นคือความรู้ที่ว่า ความทุกข์ทั้งหลายนั้นเกิดจากการเชื่อมโยงกัน และการเชื่อมโยงกันของตัวมันเองเกิดจากความกระหายและความปรารถนาในสิ่งที่ดีที่สุด ดังนั้น รากฐานของศาสนาและลัทธิต่างๆเหล่านั้นคือ มนุษย์มีความต้องการอยู่ตลอดเวลา เขาต้องการคู่ครองและทายาท ต้องการทรัพย์สิน ความมั่งคั่งและอำนาจซึ่งไม่มีที่สิ้นสุด ต่อมาเขาได้ค้นพบหลักนี้คือการเชื่อมโยงกันตามมาด้วยการแยกจากกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการแยกจากกันมีรูปแบบเดียวกับความทุกข์ ดังนั้น เพื่อให้มนุษย์สามารถกำจัดความทุกข์ออกไปได้ เขาต้องรู้จักจำแนกสาเหตุของมัน และพื้นฐานของนิกายดังกล่าวคือ มนุษย์จะปราศจากความต้องการในทุกสิ่งเพื่อให้บรรลุถึงสันติสุขชั่วนิรันดร์ และความหลุดพ้นนั้นเช่นเดียวกับเสรีภาพทางจิตวิญญาณ
หรือตัวอย่างในศาสนาคริสต์ที่ได้ถูกเผยแพร่ในปัจจุบันนี้ ปัจจัยหลักในการพ้นจากบาปของมนุษย์ที่ตกอยู่ในกิเลส ความรักและเสน่หาโดยนำมาจากนิกายนี้ คุณต้องแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เมตตาต่อท่านหรือผู้ที่ทำไม่ดีกับท่าน จากนั้นโลกจะเต็มไปด้วยความเมตตากรุณาและทุกคนก็จะปลอดภัย
หลักของนิกายทั้งหมดที่ได้กล่าวมาสามารถนำไปประยุกต์ใช้โดยมีเงื่อนไขว่า เขาจะต้องยึดถือหลักการให้เอกภาพ หากปราศจากการให้เอกภาพ “เตาฮีด” ความเห็นอกเห็นใจอาจจะเปลี่ยนเป็นความเสื่อมเสียและความอัปยศ และหากเราแสดงความเห็นอกเห็นใจต่อผู้กดขี่ข่มเหงและคนที่เป็นทาส มันก็จะกลายเป็นปรัชญาและความอ่อนน้อมถ่อมตนหรือเป็นไปได้ว่าความเห็นอกเห็นใจและความเมตตากรุณาจะเปลี่ยนเป็นความสัมพันธ์ทางอารมณ์ที่เข้าใจได้ยากระหว่างผู้คนบนพื้นฐานของความปรารถนา โดยไม่คำนึงถึงความสามารถและบุญกุศล ถ้าเราทุกคนรักซึ่งกันและกัน
และแสดงความเห็นอกเห็นใจกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นผู้กดขี่ข่มเหงหรือถูกกดขี่ข่มเหง ดีหรือเลว ด้อยกว่าหรือสูงส่งกว่า แล้วความเห็นอกเห็นใจจะถูกเปลี่ยนเป็นเพียงความสวยงามบนผลประโยชน์ของผู้ทำชั่วและความสูญเสียของผู้ทำดี บนพื้นฐานเดียวกัน
ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ)เชื่อว่า แนวคิดทั้งหมดเหล่านั้นอาจจะถูกต่อต้าน เว้นแต่ผู้คนทั้งหลายจะเข้าร่วมและยึดหลักการของ “เตาฮีด” หรือการให้เอกภาพต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) คือการกล่าวว่า“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) เพียงองค์เดียว” ดังนั้น การเชิญชวนไปสู่อิสลามครั้งแรกและครั้งสำคัญที่สุดของ ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) คือ เตาฮีด โดยการกล่าวว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) เพียงองค์เดียว” เนื่องจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรอาหรับนั้นเคารพบูชารูปปั้นและคุ้นเคยกับการเชื่อโชคลางเป็นระยะเวลานาน อย่างไม่ต้องคาดหวังใดๆ เลย
การเชิญชวนไปสู่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ไม่เป็นที่ยอมรับของพวกเขาอย่างแน่นอน ดังนั้น ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ทราบว่า อุดมการณ์และความคิดที่ดีเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับวัฒนธรรมที่หยั่งรากลึกทั้งหลาย ดังนั้น อันดับแรกจะต้องไม่มีการเชิญชวนไปสู่ศาสนาอิสลามอย่างเปิดเผยไปยังพวกเขา และเป็นระยะเวลาสามปีที่ท่านทำการเชิญชวนอย่างลับๆ และได้แอบเชิญชวนบุคคลเพียงไม่กี่คนไปสู่ศาสนาอิสลาม
หลังจากสามปีต่อมา ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ได้รับคำสั่งให้เชิญชวนผู้คนไปสู่ศาสนาอิสลามอย่างเปิดเผย และท่านได้เรียกผู้ที่ใกล้ชิดในครอบครัวมาเป็นแขกที่บ้านของท่านและเชิญชวนพวกเขาไปสู่ศาสนาอิสลาม จากนั้นวันหนึ่งในตอนเช้า ท่านได้ไปยังภูเขาศ่อฟา ในเมืองเมกกะและได้เชิญชวนให้ผู้คนมารายล้อมท่าน และท่านได้กล่าวกับพวกเขาว่า “ถ้าข้าพเจ้าบอกว่า มีศัตรูกำลังเข้ามาต่อสู้กับพวกท่านในเช้านี้หรือในเย็นนี้ พวกท่านจะเชื่อข้าพเจ้าไหม”
ทุกคนตอบว่า “เชื่อ เพราะพวกเขาไม่เคยได้ยินความเท็จจากท่าน”
จากนั้น ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ได้กล่าวต่อไปว่า “ข้าพเจ้าเป็นเช่นผู้เฝ้ายามที่พบเห็นศัตรูจากระยะไกล และได้รีบเข้ามาเตือนผู้คน ข้าพเจ้าเตือนพวกท่านให้ต่อสู้กับความเลวและสิ่งชั่วร้ายพร้อมกับเชื้อเชิญท่านไปสู่ความดี”
วัตถุประสงค์หลักเบื้องหลังการเชิญชวนไปสู่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)ของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ)
จุดประสงค์หลักเบื้องหลังการเชิญชวนไปสู่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ที่แพร่ขยายออกไปโดย ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ที่รวบรวมมามีดังนี้:
๑. “ข้าพเจ้าเป็นศาสนทูตของพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ผู้ทรงเดชานุภาพ พระองค์ทรงแต่งตั้งข้าพเจ้ามาเพื่อนำท่านไปสู่พระองค์ และประณามการบูชารูปปั้นต่างๆ”
๒. “ในภารกิจหลักของข้าพเจ้าคือการแสดงความเห็นอกเห็นใจไปยังครอบครัว (บิดาและมารดา) เป็นสำคัญยิ่ง”
๓. “ข้าพเจ้าถูกแต่งตั้งให้เป็นมนุษย์ที่ปราศจากการทำผิด ความชั่วและการกระทำที่ไม่ดี”
๔. “ในศาสนาของข้าพเจ้า การฆ่าทารกเนื่องจากกลัวความยากจนถือเป็นที่ต้องห้ามและถือเป็นความต่ำช้าอย่างสูงสุด”
๕. “ในศาสนาของข้าพเจ้า การสังหารภายใต้ความเท็จและความอยุติธรรมถือเป็นที่ต้องห้ามอย่างแน่นอน”
๖. “ศาสนาของข้าพเจ้ายึดถือความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน”
๗. “ภาษาและคำพูดที่ออกมาจากมนุษย์สะท้อนถึงจิตวิญญาณและศีลธรรมของเขา ดังนั้น เขาจะต้องใช้มันในแนวทางที่ถูกต้องและพวกเขาต้องแสดงความจริงออกมา แม้ว่าจะนำความสูญเสียมาสู่ผู้พูดก็ตาม”
๘. “มนุษย์เป็นอมตะ เมื่อเขาเสียชีวิต เขาเพียงแค่ถูกถ่ายโอนไปยังอีกโลกหนึ่ง ดังนั้น จงทำความดีเพื่อให้แน่ใจว่า ท่านจะมีความเจริญรุ่งเรืองนิรันดร์”
ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของดำรัสในคัมภีร์อัลกุรอานและตรรกะที่แข็งแกร่งเบื้องหลังท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักสำคัญ สามประการ ได้แก่
ก. “เคารพภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซบ.) เลิกบูชากราบไหว้รูปปั้น (เตาฮีด)”
ข. “สนับสนุนจุดประสงค์หลักของเนื้อหาที่สื่อสารออกไปของการให้เอกภาพต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)”
ค. “การพ้นจากบาปและความเจริญรุ่งเรืองอันเป็นนิรันดร์ของมนุษย์ หมายความว่า ร่างกายของมนุษย์จะสลายไปแต่จิตวิญญาณของเขาจะคงอยู่เพื่อความดี (การฟื้นคืนชีพ)”
มุมมองดังกล่าวดึงดูดผู้คนไปสู่มิติทางสังคมในการเชิญชวนแห่งพระผู้เป็นเจ้า แต่ ณ จุดเริ่มต้นมีเพียงไม่กี่คนที่ดำเนินตามท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ็อลฯ) บางคนเริ่มใคร่ครวญถึงการเชิญชวนของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ)แต่บางคนในหมู่ชนชั้นขุนนางยืนกรานต่อต้านท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) พวกที่ต่อต้านท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) อุทิศตนเพื่อคุณค่าแห่งโลกีย์และยินดีตามสิ่งที่ตนพึงใจ พวกเขาคิดว่าตนเองอยู่เหนือคนอื่นๆ และชนชั้นต่ำของสังคมนั้นไร้ค่า ดังนั้น พวกเขาจึงเริ่มต่อต้านท่านนบีมุฮัหมัด (ซ็อลฯ) ผู้ที่เปล่งเสียงออกมาเพื่อความยุติธรรมในการช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนและเป็นผู้ที่ถูกเรียกว่าผู้ยึดถือความยุติธรรม โดยกระจายความมั่งคั่งไปในหมู่ชนที่เชื่อในอภินิหารต่าง ๆ ทรมานและราวีสหายของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ)จนเสียชีวิต โดยไม่สนใจถึงระบบของสังคม
โดยหลังจากนั้นบางครั้งได้มีการทำสนธิสัญญาฉบับหนึ่งร่วมกันระหว่างบรรดาศัตรูของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) กับเผ่าที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมกกะ พวกเขาได้ขับไล่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ)และสหายของท่านออกไปยังหุบเขาที่มีความแห้งแล้ง ซึ่งรู้จักกันในนามของหุบเขาอะบูฏอเล็บเป็นระยะเวลาสามปี โดยสั่งห้ามทำการค้าขายใดๆ ห้ามคบหาสมาคมและแต่งงานกับพวกท่าน โดยสามารถอธิบายสภาวะที่ท่านและสหายของท่านถูกบีบบังคับ โดยยกเอาคำพูดของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า
“ข้าพเจ้ามีหินถ่วงอยู่ที่ท้องเสมอเพื่อปัดเป่าความเจ็บปวดจากความหิว และบางครั้งพวกเราได้แบ่งอินทผลัมเพียงหนึ่งผลให้กันกิน”จึงเหมาะสมแล้วที่จะกล่าวว่า ภายใต้ภาวะที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่มีอนาคตและไม่มีจุดจบในความทุกข์ทรมานของท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) และสหายของท่าน ซึ่งไม่สามารถจินตนาการได้และปราศจากซึ่งแสงแห่งความหวังใดๆ ดังนั้น สามปีแห่งการต่อต้านและต่อสู้กับศัตรูของอิสลาม ภายใต้ความหิวและสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายถือเป็นความยุติธรรม สำหรับความเชื่อในความศรัทธาของพวกท่านและความเชื่อในความถูกต้องของแนวทางที่พวกท่านรับมาเท่านั้น เมื่อศัตรูพบว่าการทรมานร่างกายและจิตใจไม่ส่งผลกระทบต่อความตั้งใจอันแรงกล้าของท่านนบีมุฮัมหมัด(ซ็อลฯ) พวกเขาจึงพยายามเกลี้ยกล่อมท่าน พวกเขาบอกกับลุงของท่าน คือ อะบูฏอเล็บ ให้พูดกับท่าน (ซ็อลฯ) ว่า “ถ้าท่านนบีละทิ้งการเชิญชวนไปสู่ศาสนาอิสลาม พวกเขาจะให้เงินตำแหน่งที่สูงส่ง และทองคำจำนวนมากตามที่ท่านต้องการ”
แต่ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ตอบว่า
“หากพวกเขานำดวงอาทิตย์ มาวางไว้ในมือขวาของฉัน และเอาดวงจันทร์ มาวางไว้ในมือซ้าย เพื่อที่จะให้ฉันทิ้งหน้าที่ในการประกาศศาสนา ฉันก็จะไม่ละทิ้งอย่างเด็ดขาด จนกว่าพระองค์อัลลอฮฺ จะทำให้บรรลุผล หรือไม่ก็จนกว่าชีวิตของฉันจะหาไม่”
แต่บรรดาศัตรูก็ยังคงยืนยันการกระทำของพวกบูชาเจว็ด สำส่อนและอยุติธรรม
และอีกประการหนึ่งคือ ท่านนบีมุฮัมหมัด (ซ็อลฯ) ได้เน้นย้ำเสมอว่า “ต้นกำเนิดของการสร้างโลกที่กว้างใหญ่และสวยงาม รวมถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งไม่จำกัดแค่เพียงก้อนหิน ไม้หรือวัตถุทางกายภาพที่มีขีดจำกัดอื่นๆ และพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) เป็นผู้สร้างทุกสรรสิ่ง และเราไม่สามารถมองเห็นพระองค์ได้ เพราะพระองค์ไม่ใช่วัตถุแต่พวกท่านสามารถที่จะเห็นพระองค์ด้วยจิตใต้สำนึก ด้วยปัญญาและด้วยส่วนลึกหัวใจของพวกท่านที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างท่านกับพระองค์”
เขียนโดย เชค มุฮ์ซิน ชะรีอัต