เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อิมามญะวาด (อ) แบบอย่างสำหรับเยาวชน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 อิมามญะวาด (อ) แบบอย่างสำหรับเยาวชน

 


อิมามมุฮัมมัด อัลญะวาด ขึ้นดำรงตำแหน่งอิมาม ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 9 ปี ส่วนลุงของท่านคนหนึ่งชื่อ “อะลี บิน ญะอ์ฟัร” นั้นให้ความนับถือ ต่อท่านอิมามเป็นอย่างสูง ถึงแม้ว่าตนเองจะมีอายุมากกว่าก็ตาม


อิมามญะวาด(อ.) ประสูติเมื่อวันที่ 10 เดือนรอญับ ฮ.ศ.195 ที่เมืองมะดีนะฮฺ เมืองของท่านตาของท่าน ผู้เป็นศาสนทูตแห่งอัลลอฮฺ(ศ.) ท่านได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่โดยบิดาของท่าน คืออิมามอะลี บิน มูซา อัร-ริฎอ(อ.) ซึ่งมีสถานภาพอันสูงส่งเป็นผู้นำ (อิมามัต) เป็นตำแหน่งผู้นำประชาชาติในวิชาการอิสลาม บทบัญญัติและกฎหมายอิสลาม

 

มารดาของท่านคือ “ค็อยซะรอน” ผู้มีตระกูลมาจาก “ครอบครัวของ “มารียะฮ์ อัล กิบฏียะฮ์” ภรรยาคนหนึ่งของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ในอดีตกาล คนทั้งหลายเรียกขานท่านด้วยฉายานามต่างๆ แต่ที่นิยมเรียกกันอย่างแพร่หลายคื “อัตตะกี” และ “อัลญะวาด”

 

เมื่ออิมาม อัลญะวาด (อ.) มีอายุได้หกปี คอลีฟะฮ์มะอ์มูนจึงเชิญตัวอิมามอะลี อัรริฎอ (อ.) บิดาของท่านให้เดินทางไปยังเมืองมัรว์ ท่านได้ติดตามบิดาไปในขณะที่ยังเป็นเด็ก โดยเวียนรอบ อัล กะอ์บะฮ์ เพื่อเป็นการอำลา และนมาซที่มะกอมอิบรอฮีมเป็นครั้งสุดท้าย

 

ท่านรู้ดีแก่ใจในขณะนั้นว่า บิดาของท่านได้อำลาแผ่นดินของอัลวะห์ยูเป็นครั้งสุดท้าย และบิดาของท่านจะไม่มีโอกาสหวนกลับมาอีกทำให้ท่านมีความโศกเศร้าเป็นอย่างยิ่ง

 

อิมาม อะลี อัรริฎอนั้นได้สั่งเสียกับบรรดามิตรสหายของท่าน ในขณะที่ใกล้จะสิ้นชีวิตว่าให้อิมามอัลญะวาดบุตรชายของท่านเป็นผู้นำ ครั้งนั้นศ็อฟวาน บิน ยะห์ยา ได้ถามอิมามอะลี ริฎอเกี่ยวกับเรื่องตำแหน่งอิมาม ท่านจึงแนะนำว่าให้ปฏิบัติตามอิมาม อัลญะวาด บุตรชายของท่าน  ฝ่ายศ็อฟวาน กล่าวว่า “ได้โปรดเถิดท่าน อายุของท่านผู้นี้เพิ่งได้สามปีเท่านั้น ท่านจะแต่ตั้งเขาให้เป็นอิมามหรือ”

 

อิมาม อะลี อัรริฎอ ตอบว่า “เรื่องนี้ไม่มีอะไรเสียหายหรอก เพราะแม้แต่ท่านนบีอีซาเอง ก็ดำรงตำแหน่งเป็นข้อพิสูจน์ของ อัลลอฮ์ ในขณะที่ท่านมีอายุสามปีเช่นกัน”

 

อิมามมุฮัมมัด อัลญะวาด ขึ้นดำรงตำแหน่งอิมาม ในขณะที่ท่านมีอายุได้ 9 ปี ส่วนลุงของท่านคนหนึ่งชื่อ “อะลี บิน ญะอ์ฟัร” นั้นให้ความนับถือ ต่อท่านอิมามเป็นอย่างสูง ถึงแม้ว่าตนเองจะมีอายุมากกว่าก็ตาม

 

มีรายงานเล่าว่า วันหนึ่งเมื่ออิมาม มุฮัมมัด อัลญะวาด เดินทางมาถึง มัสยิด อะลี บิน ญะอฟัรลุงของท่านได้ลุกขึ้นจากที่นั่งของตนเอง เพื่อเป็นการให้เกียรติ

 

และจุมพิตมือของท่านอิมาม ส่วนอิมามก็ขอร้องว่าให้ท่านนั่งลงเสียก่อน แต่ท่านอะลีปฏิเสธไม่ยอมนั่งก่อนอิมามโดยกล่าวว่า “ท่านต้องการจะให้ฉันนั่งได้อย่างไร ในเมื่อท่านยังยืนอยู่”

 

อะลี บิน ญะอ์ฟัร ได้แสดงออกให้บรรดาผู้คนที่นึกจะตำหนิติเตียนท่านในเรื่องนี้ให้เห็น ด้วยการกล่าวตอบข้อสงสัยของพวกเขาว่า “แน่นอนอัลลอฮ์ทรงมอบหมายตำแหน่งอิมามให้กับเขาแล้ว ดังนั้นจึงถือว่าการให้ความเคารพเชื่อฟังเขาย่อมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกท่าน”

 

ท่านอิมาม(อ.) ประสูติขึ้นมาในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์ความขัดแย้งและสถานการณ์ทางการเมือง และเหตุการณ์ตึงเครียดระหว่างช่วงเวลาการปกครองของอามีน และมะอฺมูน คอลิฟะฮฺของวงศ์อับบาสิด บุตรชายสองคนของฮารูน รอชีด

 

สถานการณ์และเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้องวงศ์อับบาสิด ไม่เคยจบสิ้นลงโดยไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของอิมามริฎอ(อ.) ซึ่งดึงดูดความสนใจของชาวมุสลิมในมะดีนะฮฺ ทั้งผู้ที่เป็นนักวิชาการศาสนา, นักกฎหมาย, นักปกครอง และประชาชนทั่วไป แต่ทัศนะทางการเมืองของคอลีฟะฮฺมะอฺมูนมุ่งตรงมาที่ตัวท่าน ดังนั้น เขาจึงเรียกตัวท่านเข้าไปยังเมืองหลวงที่เขาปกครองอยู่ในปี ฮ.ศ.200 และแต่งตั้งให้ท่านเป็นรัชทายาท ซึ่งตำแหน่งคอลีฟะฮฺจะถูกถ่ายทอดมาให้ท่านหลังจากมะอฺมูนเสียชีวิต

 

อิมามริฎอ(อ.) จึงถูกบังคับให้ออกจากมะดีนะฮฺ เดินทางไปยังเมือง “เมิร์ฟ” (โคราซาน ในอิหร่าน) เพื่อรับคำเชิญของมะอฺมูนหลังจากปฏิเสธมาหลายครั้ง ก่อนเดินทาง ท่านพร้อมด้วยบุตรชายของท่าน คืออิมามมุฮัมมัด อัล-ญะวาด(อ.) ได้มุ่งหน้าไปยังเมืองมักกะฮฺ เพื่อเยือนอัล-กะอฺบะฮฺ และกล่าวอำลา อิมามริฎอ(อ.) ได้ทำฮัจญ์พร้อมกับอิมามญะวาด(อ.) บุตรชายของท่าน ซึ่งขณะนั้นอายุเพียงสี่ขวบเท่านั้น

 

ท่านอิมาม(อ.) ได้แสดงความรักและความยึดมั่นต่อบิดาของท่านด้วยการยืนกรานที่จะอยู่ภายใต้การดูแลของอ้อมแขนอันบริสุทธิ์ของท่าน ท่านเขียนคำอำลาต่ออัล-กะอฺบะฮฺว่า มันเป็นการยากลำบากที่ท่านจะต้องกลับบ้านที่มะดีนะฮฺตามลำพังโดยต้องแยกจากบิดาของท่าน ผู้ซึ่งจะไม่ได้กลับมาอีก

 

ช่วงเวลาของการล่ำลาหมดลงแล้ว และถึงเวลาต้องแยกจากกัน อิมามญะวาด(อ.) น้อย เดินทางกลับบ้านที่มะดีนะฮฺด้วยความถวิลหาความรักของลูกที่มีต่อพ่อ ฝ่ายบิดาของท่านก็ออกเดินทางไปเมืองเมิร์ฟ ในขณะที่หัวใจของท่านแยกกลับไปที่มะดีนะฮฺ ตามขบวนของอิมามญะวาด(อ.) บุตรชายสุดที่รักของท่าน

 

จดหมายของอิมามริฎอ(อ.) ถึงอิมามญะวาด(อ.) บุตรชายของท่าน

 

เมื่อมาถึงเมืองเมิร์ฟ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองหลวงของคอลีฟะฮฺวงศ์อับบาสิด อิมามริฎอ(อ.) ต้องพักอยู่ที่นั่นทั้งที่หัวใจยังคงผูกพันกับบุตรชาย นับตั้งแต่นั้น ท่าน(อ.) เริ่มต้นเขียนจดหมายติดต่อกัน มีทั้งคำสั่ง คำสอน คำแนะนำ และคำแสดงความเอาใจใส่ต่อท่าน นักประวัติศาสตร์บันทึกว่าอิมามริฎอ(อ.) เคยเรียกบุตรชายของท่านว่า อัล-ญะวาด(อ.) ด้วยการให้เกียรติและยกย่อง ในจดหมายที่โต้ตอบกัน และเรียกท่านว่า “อะบูญะอฺฟัร”

 

ถึงแม้ว่า อิมามมุฮัมมัด ญะวาด จะขึ้นดำรงตำแหน่งอิมาม ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ปรากฏว่าท่านเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพสง่างาม เข้มแข็ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ท่านได้รับความเคารพนับถือและยกย่อง

 

มีอยู่วันหนึ่ง เล่ากันว่า ขบวนของคอลีฟะฮ์มะอ์มูนเดินผ่านมาโดยมุ่งยังทิศทางที่พวกเด็กๆ ที่กำลังนั่งเล่นกันอยู่ และในจำนวนนั้น ก็มีท่านอิมามมุฮัมมัด อัล ญะวาดรวมอยู่ด้วย

 

เด็กเหล่านั้น ต่างวิ่งหนีกันจ้าละหวั่น ในขณะที่อิมามมุฮัมมัด ญะวาด ยังคงยืนอยู่กับที่ เหมือนไม่มีไรเกิดขึ้น

 

คอลีฟะฮ์มะอ์มูน หยุดขบวนแล้วจ้องมองมายังท่าน ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ แต่มิได้วิ่งหนีเหมือนกับคนอื่นๆ จึงถามด้วยความประหลาดใจว่า :

 

“ทำไมเจ้าจึงไม่วิ่งหนีไปพร้อมกับเด็กๆ เหล่านั้น ?”

 

อิมามมุฮัมมัด ญะวาด (อ.) กล่าวว่า “โอ้ อมีรุล มุอ์มินีน ถนนหนทางสายนี้มิได้คับแคบ จนฉันเองก็มิได้ทำอะไรผิดจนต้องกลัวการลงโทษ เพราะฉันเองเชื่อถือว่าท่านเป็นคนดีแท้จริงท่านจะไม่ลงโทษคนที่มิได้ทำอะไรผิด เพราะฉะนั้นฉันจึงยืนอยู่ตรงนี้ มิได้ไปไหน ?

 

คอลีฟะฮ์ มะอ์มูน ยิ่งบังเกิดความประหลาดใจมากยิ่งขึ้น เขาจึงถามว่า “แล้วเจ้าชื่ออะไร?”

 

ท่านตอบว่า “ข้าพเจ้าชื่อ มุฮัมมัด บิน อะลี อัร ริฏอ”

 

ดังนั้น คอลีฟะฮ์ มะอ์มูน จึงกล่าวขอพรให้กับบิดาของท่านแล้วเดินทางต่อไปเพื่อล่าสัตว์

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม