รู้จักนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ตอนที่ 8
รู้จักนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ตอนที่ 8
นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์กับการเมืองการปกครอง
นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ ถือว่ามีความโดดเด่นในหลายๆมิติ มีเนื้อหาที่น่าสนใจหลายประเด็น มีเนื้อหาที่ทรงพลังและทรงอิทธิพลต่อนักคิดและนักปรัชญาในยุคต่อมาตราบจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นใครก็ตามได้อ่านคำสอนในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จะเห็นว่าอิมามอะลีนั้นมีมุมมองทางด้านสังคมและการเมืองการปกครองที่ละเอียดอ่อนมาก และอิมามอะลียังให้ความสำคัญต่อเรื่องการเมืองไม่น้อยกว่าเรื่องภาคอิบาดะฮ์อื่นๆ
นับจากวันแรกที่ท่านอิมามอะลีได้เข้าดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์ ท่านได้ประกาศต่อสาธารณชนว่า จะปกครองประชาชนด้วยความเป็นธรรมและความเที่ยงธรรม จะไม่มีความแตกต่างของเชื่อชาติ ไม่ว่าจะเป็นอาหรับหรือไม่ ท่านประกาศอีกว่า จะไม่มีการปฏิบัติต่อประชาชนให้แตกต่างกันในทางกฎหมาย ไม่ว่าในเรื่องนายกับบ่าว หรือระหว่างคนรวยกับคนจน
อิมามอะลีถือว่า คุณค่าของความเสมอภาคและความยุติธรรมในสังคมนั้นสูงส่งและสำคัญยิ่ง และการเมืองต้องคู่กับความยฺุติธรรม
อำนาจและเกียรติยศของผู้ใดก็ตาม ถ้าหากว่ามีไว้เพียงเพื่อประดับประดาตัวเองให้ดูมีสง่าราศี หรือเพื่อเสริมบารมี โดยไม่เอื้อประโยชน์ใดๆแก่สังคม อำนาจและเกียรติยศนั้นก็ไร้ค่า ควรจะยกเลิกและถอดออกไปจากสังคมนั้น เพราะการมีอยู่ของอำนาจและการปกครองนั้น มีแต่ทำให้ประชาชนและสังคมตกต่ำและความอัปยศ
อิมามอะลี(อ) ได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า ท่านนั้นมีความมั่นคงและเด็ดเดี่ยวในอุดมการณ์และจุดยืน นั่นก็คือการต่อสู้กับพวกอธรรมและสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคมและประชาชน
อิมามอะลี(อ)สำแดงให้เห็นถึงการมีหลักการของท่านในบทบาทการปกครอง จึงทำให้การใช้อำนาจและการปกครองของท่านเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม การตัดสินพิพากษาของท่านในหมุ่ประชาชน เป็นการตัดสินที่เที่ยงธรรมและยุติธรรมยิ่ง
อิมามอะลีได้กล่าวไว้ว่า
“หากฉันจะได้ครองอาณาจักรของโลกทั้งมวลนี้ โดยมีข้อแม้อยู่ว่าให้ฉันกลั่นแกล้งมดสักตัวหนึ่ง ที่มันกำลังนำเมล็ดพืชไปกินเป็นอาหาร(โดยการอธรรมต่อมด) ขอสาบานต่ออัลลอฮว่า ฉันจะไม่ทำเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด”
วันหนึ่งท่านอิบนุอับบาสได้เดินมาหาท่านอิมามอะลี ซึ่งในมือของเขามือรองเท้าเก่าๆและขาดมีรอยปะ ท่านอิมามอะลีถามอิบนุอับบาสว่า
”ราคาของรองเท้าในมือเจ้าเท่าไหร่หละ?”
เขาตอบว่า” ไม่มีราคาเลย”
อิมามอะลีกล่าวบทเทศนาธรรม(คุฎบะฮ์)ที่ ๓๓ ว่า
”คุณค่าของรองเท้าเก่าๆในมือเจ้าคู่นั้น มีค่ามากกว่าการเป็นผู้ปกครองและมีอำนาจรัฐเสียอีก เพราะว่า ข้านั้นไม่รู้ว่าจะบริหารให้เกิดความยุติธรรมได้สมบูรณ์หรือเปล่า? ไม่รู้ว่าจะมอบสิทธิของผู้ที่ควรจะได้รับได้ครบหรือไม่? และไม่รู้ว่าจะทำลายล้างความอธรรมและความเลวออกไปได้หมดหรือไม่?”
และบทเทศนาธรรม(คุฎบะฮ์)ที่๒๑๔ ว่า
“ สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการเคารพสิทธิต่อกันของมนษย์ นั่นคือสิทธิของการปกครองของผู้นำต่อผู้ตาม และสิทธิของประชาชนต่อองค์กรรัฐ และถือเป็นความจำเป็นต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงกำหนดให้สิทธิต่างๆนั้นเกิดขึ้นในสังคมมนุษยชาติ และด้วยกับสิทธิการปกครองด้วยรัฐนั้น เป็นที่มาของการมีระเบียบและบ้านเมืองอยู่เป็นระบบ และยังสร้างเกียรติยศให้กับศาสนา ประชาชนจะไม่ได้รับความสันติภาพและเกิดสันติสุขได้ นอกจากอยู่ภายใต้การปกครองอันชอบธรรมและผู้ปกครองที่เหมาะสม รัฐต่างๆจะไม่เกิดสันติภาพได้ นอกจากความร่วมมือและความเข้มแข็งของประชาชน และประชาชนต้องน้อบรับสิทธิของการปกครองนั้น (โดยอยู่ภายใต้หลักนิติรัฐ) และรัฐก็จะต้องดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างเป็นธรรม และเมื่อถึงเวลานั้น รัฐและการปกครองของอำนาจรัฐ จะเป็นที่ถูกยอมรับและศักสิทธิ์ และจะมีอำนาจการปกครองที่แท้จริง”
บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน