ชีวประวัติศาสดาแห่งอิสลาม ตอนที่ 1
ชีวประวัติศาสดาแห่งอิสลาม ตอนที่ 1
เมื่อประมาณ ๑๔๐๐ ปีที่แล้ว ตรงกับวันที่ ๑๗ เราะบีอุลเอาวัล (๒๕ เมษายน ค.ศ.๕๗๐)
หรือบางรายงาน วันที่ ๑๒ ได้มีเด็กน้อยคนหนึ่งประสูติขึ้นมา ณ เมืองมักกะฮฺ
บิดาของท่านนามว่า อับดุลลอฮฺ บุตรอับดุลมุฏ็อลลิบ หลังจากที่เดินทางกลับจากเมืองชาม (ซีเรียปัจจุบัน) ท่านได้เสียชีวิต ณ เมืองมะดีนะฮฺ(หรือยัซริบในอดีต) โดยที่ไม่ได้เห็นใบหน้าของเด็กน้อยที่เพิ่งจะลืมตาดูโลกได้ไม่กี่วัน
มารดาของท่านศาสดามุฮัมมัดคือ ท่านหญิง อามีนะฮฺ บุตรีของ อับดุลมะนาฟ ตามธรรมเนียมของตระกูลใหญ่ในแคว้นอาหรับสมัยก่อน เมื่อคลอดบุตรออกมาจะนำบุตรไปฝากไว้กับญาติผู้ใหญ่ ซึ่งท่านหญิงอามีนะฮฺได้นำท่านมุฮัมมัดบุตรชายสุดที่รักไปฝากกับท่านหญิง ฮะลีมะฮฺ ซึ่งเป็นแม่นมของท่านศาสดาเพื่อให้นางพาท่านศาสดาไปเลี้ยงดูนอกเมืองห่างไกลจากความวุ่นวาย และความสกปรกของคนในเมือง
ท่านหญิงฮะลีมะฮฺ เป็นหญิงที่มีความสะอาดบริสุทธิ์ นางได้ให้ความรักและความเอ็นดูท่านศาสดามากเนื่องจากท่านมาจากตระกูลใหญ่ และเป็นตระกูลที่กำเนิดความดีงามทั้งหลาย นางไม่เคยให้ท่านศาสดาคลาดจากสายตาและเต้านมของนางแม้แต่เล็กน้อย ไม่มีแม่นมคนใดล่วงรู้มาก่อนว่าเด็กกำพร้าบิดาคนนี้ในวันข้างหน้าจะกลายเป็นศาสดาผู้มีความยิ่งใหญ่ และเป็นแหล่งเมตตาธรรมแก่ประชาโลกชื่อเสียงของท่านจะได้รับการสรรเสริญเยินยอตลอดชั่วกาลนาน ผู้ประกาศเวลานมาซ (มุอัซซิน) และบรรดามุสลิมจำนวนพันล้านกว่าคนจะกล่าวสรรเสริญนามของท่านทุกเวลานมาซ ในที่สุดท่านได้กลายเป็นเกียรติยศที่ยิ่งใหญ่สำหรับชาวโลกทั้งหลาย
ท่านหญิงฮะลีมะฮฺ ได้นำท่านศาสดาส่งกลับคืนมารดาของท่านอีกครั้ง ณ นครมักกะฮฺ ตามคำอ้อนวอนของท่านหญิงอามีนะฮฺ เมื่อท่านย่างเข้าสู่วัย ๕ ขวบ หลังจากนั้น ๒ ปี ท่านหญิงอามีนะฮฺได้พาท่านศาสดาเดินทางไปมะดีนะฮฺเพื่อเยี่ยมครอบครัวและหลุมฝังศพของท่านอับดุลลอฮฺผู้เป็นสามี ต่อมาหลังจากนั้น ๑ เดือนท่านหญิงได้พาท่านศาสดาเดินทางกลับมักกะฮฺอีกครั้ง แต่ทว่าไม่ทันถึงมักกะฮฺท่านหญิงอามีนะฮฺได้เสียชีวิตระหว่างทาง ณ สถานที่นามว่า อับวาอฺ ซึ่งท่านศาสดาได้กำพร้าบิดามารดาตั้งแต่วัย ๖ ขวบ ซึ่งการกำพร้าบิดาและมารดาได้ส่งผลต่อจิตใจของท่านศาสดาเป็นอย่างมาก
หลังจากนั้นสตรีอีกท่านหนึ่งนามว่า อุมมุอัยมัน ได้เป็นผู้ชุบเลี้ยงท่านศาสดาและพาท่านกลับมายังมักกะฮฺ ซึ่งเป็นพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าที่ให้ชีวิตของท่านศาสดากำพร้าบิดามารดาตั้งแต่เยาว์วัย เพื่อว่าท่านจะได้สัมผัสกับความขมขื่นในชีวิตตั้งแต่แรกเริ่มอันเป็นการทดสอบประการหนึ่ง เพื่อว่าในวันข้างหน้าท่านจะได้สัมผัสกับความทุกข์ยากที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์
นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาท่านได้รับการชุบเลี้ยงโดยท่านอับดุลมุฏ็อลลิบ ผู้เป็นปู่ของท่าน ท่านอับดุลมุฏ็อลลิบ ได้ให้ความรักและความเอ็นดูหลานรักผู้มีรัศมีแห่งความยิ่งใหญ่เปล่งประกายที่หน้าผากมาโดยตลอด หลังจากนั้น ๒ ปี ท่านอับดุลมุฏ็อลลิบได้อำลาจากโลกไป แต่ก่อนหน้านั้นท่านได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยหลานรักของท่านอย่างยิ่งว่าจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร ในที่สุดท่านได้ฝากหลานรักคนนี้ไว้กับบุตรชายอีกคนหนึ่งของท่านคือ ท่านอบูฏอลิบ ผู้มีศักดิ์เป็นลุงและเป็นบิดาของท่านอิมามอะลีให้เป็นผู้ชุบเลี้ยงท่านศาสดาต่อจากท่าน
ท่านอบูฏอลิบได้เลี้ยงดูหลานรักของท่านด้วยความรักและเอ็นดูจนสิ้นอายุขัยของท่าน (๔๐ ปีเศษ) ท่านได้ปกป้องหลานรักของท่านด้วยชีวิตแม้ในยามที่คับขันที่สุด เมื่อชาวกุเรชร่วมมือกันเพื่อกำจัดท่านศาสดา ท่านอบูฏอลิบได้ออกมาปกป้องหลานของท่านอย่างไม่เกรงกลัวผู้ใดจนผู้คนเหล่านั้นต้องถอยห่างออกไป ด้วยศักดิ์ศรีของอบูฏอลิบขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่จึงไม่คอยมีชาวกุเรชคนใดกล้ารังแกท่านศาสดา
ชีวิตในวัยหนุ่มของท่านศาสดา
การเป็นนักคิดได้ปรากฏทางใบหน้าของท่านศาสดามาตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยหนุ่ม ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน ท่านอบูฏอลิบรักหลานคนนี้มากจนถึงขนาดที่ว่าไม่ยอมห่างไปจากหลานแม้แต่เล็กน้อยก็ตาม ท่านปรารถนาจะอยู่กับหลานตลอดเวลา ท่านคอยโอบกอดหลานรักอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ความกำพร้าสร้างความรันทดใจแก่ท่าน
เมื่ออย่างเข้าสู่วัย ๑๒ ขวบ ท่านอบูฏอลิบได้นำท่านศาสดาเดินทางไปทำการค้ายังต่างแดน (เมืองชาม) และในสถานที่ดังกล่าวมีนามว่า บัซรียฺ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีเรียปัจจุบัน ท่านศาสดาได้พบกับนักบุญชาวคริสตร์คนหนึ่งนามว่า บุฮัยรอ เมื่อนักบุญได้พบกับท่านศาสดาในวัย ๑๑- ๑๒ ขวบ ท่านได้เห็นสัญลักษณ์การเป็นศาสดาตามที่ได้อ่านจากคัมภีร์ของตนปรากฏบนท่านศาสดา ทำให้เขามั่นใจว่าเด็กคนนี้คือ พระศาสดาองค์สุดท้ายตามที่คัมภีร์ได้กล่าวไว้ แต่เพื่อความมั่นใจท่านได้เชิญท่านศาสดาเข้ามาใกล้ ๆ และได้กล่าวว่า
"ฉันต้องการถามอะไรบางอย่างจากท่านจะได้ไหม แต่ก่อนตอบคำถามขอให้ท่านสาบานต่อเทวรูปลาตและอุซซา (ชื่อเทวรูปที่ชาวมักกะฮฺให้การเคารพบูชา) เสียก่อน"
ท่านมุฮัมมัด: สิ่งที่ฉันไม่ค่อยยินดีมากเท่าไหร่นักก็ลาตกับอุซซานี้แหละ
บุฮัยรอ : ถ้าอย่างนั้น ขอให้ท่านสาบานต่อเทพเจ้าองค์เดียวว่าจะพูดความจริง
ท่านมุฮัมมัด : ฉันไม่เคยพูดโกหกขอให้ท่านถามมาเถิด
บุฮัยรอ : ท่านชอบอะไรมากที่สุด
ท่านมุฮัมมัด : ฉันชอบอยู่คนเดียว
บุฮัยรอ : ท่านชอบมองอะไรมากที่สุด
ท่านมุฮัมมัด : ท้องฟ้าและดวงดาวที่อยู่ในท้องฟ้า
บุฮัยรอ : ท่านคิดถึงสิ่งใด
ท่านมุฮัมมัดนิ่งเงียบ ขณะที่บุฮัยรอเฝ้าสังเกตที่หน้าผากของท่านพร้อมกับพูดว่า "เวลาอะไร และคิดอะไรขณะที่ท่านจะนอน"
ท่านมุฮัมมัด : เวลาที่สายตาทั้งสองจับจ้องที่ท้องฟ้า มองดูหมู่ดวงดาวที่ล่องลอยอยู่ เหมือนกับว่ามันอยู่รายรอบฉัน และฉันอยู่ท่ามกลางพวกมัน
บุฮัยรอ : ท่านเคยนอนฝันบ้างหรือไม่
ท่านมุฮัมมัด : เคย แต่ไม่ว่าฉันฝันเห็นอะไร พอตื่นขึ้นมาฉันก็จะได้พบสิ่งนั้นเสมอ
บุฮัยรอ : ท่านฝันเห็นอะไรบ้าง
ท่านมุฮัมมัดไม่ตอบได้แต่นิ่งเงียบ บุฮัยรอก็เงียบด้วย
บุฮัยรอ : ฉันขอดูหัวไหล่ทั้งสองของท่านหน่อยได้ไหม
ท่านมุฮัมมัด : เชิญเข้ามาดูซิ
บุฮัยรอขยับเข้ามาใกล้ ๆ ท่าน และเปิดเสื้อที่ปิดหัวไหล่ทั้งสองของท่านออกจึงได้เห็นรอยคล้ำ เขาได้จ้องมองและพูดกับตัวเองว่า "ใช่แล้ว"
อบูฎอลิบ : ท่านพูดอะไรหรือ
บุฮัยรอ : ท่านจงบอกฉันซิว่าเด็กหนุ่มคนนี้เป็นอะไรกับท่าน
เนื่องจากว่าอบูฏอลิบรักท่านมุฮัมมัดเหมือนกับลูกจึงพูดว่า "ลูกของฉันเอง"
บุฮัยรอ : ไม่ใช่ เขาไม่ใช่บุตรของท่าน บิดาของเขาต้องเสียชีวิตแล้วแน่นอน
อบูฎอลิบ : ท่านพูดถูกแล้วเขาเป็นลูกของน้องชายฉัน ซึ่งเขาได้เสียชีวิตไปนานแล้ว
บุฮัยรอ : ท่านจงฟังให้ดีนะ เด็กหนุ่มคนนี้เป็นผู้มีบุญบารมี เขาจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในในวันข้างหน้า ถ้าในสิ่งที่ฉันเห็น และคนอื่นได้เห็นเหมือนกับฉันและรู้จักเขา เขาต้องถูกสังหารแน่นอน ฉะนั้น ท่านต้องดูแลและระมัดระวังเขาให้ดี และปกป้องเขาให้รอดพ้นจากศัตรู
อบูฎอลิบ : เขาเป็นใครกันหรือ
บุฮัยรอ : ดวงตาทั้งสองของเขา ได้ปรากฏสัญลักษณ์ของการเป็นศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ ส่วนด้านหลังของเขามีรัศมีบ่งบอกถึงสิ่งนั้นอยู่
ท่านศาสดาได้เริ่มต้นชีวิตในวัยเด็กอย่างสวยงาม ต่างไปจากเด็กหนุ่มในวัยเดียวกันที่ตกเป็นทาสของอารมณ์และความโสมมทั้งหลาย ท่านศาสดาได้เริ่มชีวิตในวัยหนุ่มด้วยความสะอาดปราศจากมลทินทั้งหลาย ท่านเป็นนักคิด นักบริหาร เป็นผู้มีเกียรติยศ และมีความสูงส่ง เป็นผู้มีความสัจจริง และมีความซื่อสัตย์ชนิดที่ไม่มีใครเหมือน ความซื่อตรง และความอดทนที่มีอยู่ในตัวของท่านได้ปรากฏออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนทางการกระทำและคำพูด ชีวิตของท่านศาสดาไม่เคยเปอะเปื้อนกับความสกปรกโสมมของชาวมักกะฮฺแม้แต่นิดเดียว จนเป็นที่อัศจรรย์ใจของผู้คนทั่วไป จนกระทั้งท่านได้รับฉายานามอย่างสวยหรูที่ผู้คนได้มอบให้ว่า มุฮัมมัดอามีน หมายถึงผู้มีความซื่อสัตย์
ใบหน้าของท่านศาสดาได้ส่องประกายรัศมีแห่งผู้มีอำนาจ บารมี ความกล้าหาญ และความจริงใจมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ท่านได้เข้าร่วมสงครามระหว่างชนเผ่ากุเรชกับเผ่าฮะวาซัน ท่านได้ปกป้องลูกธนูที่พุ่งตรงมายังลุงของท่านลูกแล้วลูกเล่า ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความกล้าหาญที่มีอยู่ในจิตใจของท่าน
ซึ่งต่อมาได้เป็นที่ประจักษ์ชัดมากยิ่งขึ้นในสงครามต่าง ๆ ที่เกิดภายหลังจากท่านได้เป็นศาสดา ท่านอิมามอะลี (อ.) ซึ่งรู้จักกันในนามของผู้มีความกล้าหาญมากที่สุดได้กล่าวเกี่ยวกับศาสดาว่า เมื่อใดก็ตามที่เราพบกับความยากลำบากในสงคราม พวกเราจะไปหลบภัย ณ ศาสดา ซึ่งในหมู่พวกเราไม่มีใครอยู่ใกล้กับศัตรูมากไปกว่าท่านศาสดา ขณะเดียวกันท่านศาดาจะหลีกเลี่ยงการวิวาทที่ไร้สาระเสมอตั้งแต่เด็ก
ซาอุดิอารเบียในวันนั้นเป็นศูนย์กลางแห่งการบูชารูปปั้นต่าง ๆ ประชาชนและชนเผ่าต่าง ๆ ได้สร้างเทวรูปจากไม้แกะสลัก หรือก้อนหิน หรือใช้ผลอินทผลัมปั้นเป็นเทวรูปเพื่อทำการเคารพสักการะ ชีวิตของท่านต้องเผชิญกับความโสโครกเหล่านั้น และต้องใช้ชิวิตอยู่ท่ามกลางความป่าเถื่อน แต่ชีวิตของท่านศาสดากับไม่เปอะเปื้อนกับความโสมมเหล่านั้นแม้แต่นิดเดียว ท่านไม่เคยทำความผิดบาป ไม่แตะต้องกับอบายมุขทั้งหลาย และไม่เคยเคารพสักการะรูปปั้นแม้แต่ครั้งเดียว
วันหนึ่งท่านอบูฏอลิบได้กล่าวกับท่านอับบาซผู้เป็นลุงที่มีอายุน้อยที่สุดว่า ฉันไม่เคยได้ยินมุฮัมมัดพูดโกหกแม้แต่ครั้งเดียว
สิ่งนี้นับเป็นความมหัศจรรย์ของโลกมนุษย์อย่างยิ่ง ขณะที่สังคมส่วนใหญ่ไม่มีความละอาย ทั้งบุรุษและสตรีต่างมกมุ่นอยู่กับการทำความผิด และถือว่าการทำความผิดเป็นเกียรติยศสำหรับตน เหล่าบรรดาสตรีได้ก่อบาปกรรมอย่างเปิดเผยชนิดที่ไม่มีความละอายหลงเหลืออยู่ต่อไป แต่มุฮัมมัดกับไม่แตะต้องและสะอาดจากสิ่งเหล่านี้อย่างสิ้นเชิง แม้แต่ศัตรูของมุฮัมมัดก็ไม่สามารถหาความผิดของเขาได้แม้เพียงเล็กน้อย ฉะนั้น ไม่ว่าใครก็ตามถ้าได้ศึกษาประวัติของท่านศาสดาตั้งแต่เยาว์วัย จนถึงวัยหนุ่ม และวัยชราจน กระทั่งอำลาจากโลกไป แน่นอนเขาต้องสรรเสริญในคุณงามความดีและจิตวิญญาณที่สูงส่งของท่านศาสดาอย่างแน่นอน
โปรดติดตามตอนต่อไป
ขอขอบคุณเว็บไซต์ทีวีชีอะฮ์