เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การเฉลิมฉลองที่แท้จริง คืออะไร?

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การเฉลิมฉลองที่แท้จริง คืออะไร?

 

รู้ไหมว่าการเฉลิมฉลองที่แท้จริงของวันอีดนั้นเป็นของใคร?
แล้วรู้ไหมว่าอิดิ้ลฟิตริหรือฮารีรายอที่แท้จริงนั้นเป็นของใคร?

 

หนึ่งในวันที่สำคัญทางศาสนาอิสลามคือวันอีด "อิดิ้ลฟิตริ์"  วันอีดเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง เป็นวันแห่งการรื่นเริง ยินดี เป็นวันแห่งการรวมตัวกันของคนในครอบครัว รวมถึงญาติสนิทมิตรสหาย ถือเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวมุสลิม เป็นวันแห่งความสุขสดชื่น ยินดีปรีดา ซึ่งชาวมุสลิมจะสวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่อย่างสวยสดงดงาม  เป็นวันที่เหล่าเด็กๆรอคอยการแจกเงินซึ่งเป็นของขวัญจากผู้ใหญ่ และเป็นวันแห่งการนมาซอีดและการฟังคุฏบะฮ์พร้อมกันที่มัสยิด

 

วันที่ยิ่งใหญ่นี้เป็นวันถัดไปหลังจากที่เดือนรอมฎอนได้จบสิ้นลง  พระองค์ทรงให้วันนี้เป็น"อีด" สำหรับมวลมุสลิม ซึ่งคำว่า อีด มีรากศัพท์มาจากคำว่า เอาด์ หมายถึงการย้อนกลับ ซึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับความหมายเดิมในแง่ของการกลับสู่ความสะอาดบริสุทธิ์ในธรรมชาติดั่งเดิมของมนุษย์  หรือกลับสู่ความสะอาดบริสุทธิ์หลังจากการขออภัยโทษต่อพระองค์ในเดือนรอมฎอน มีบางรายงานที่กล่าวว่า "วันที่ไม่ทำบาปเลยในวันนั้น ถือว่าเป็นวันอีด "ฉะนั้นนัยยะของวันอีดจึงมีมากกว่าแค่การเฉลิมฉลอง

 

   หรือแม้กระทั่งในการเฉลิมฉลองเอง คำถามก็คือ จริงๆแล้วการเฉลิมฉลองนี้เป็นของใคร ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีการเฉลิมฉลอง การรื่นเริงยินดี และการมีความสุขนั้น เป็นผลจากการที่ได้ประสบกับความสำเร็จ หลังจากที่ได้เป็นแขกพิเศษผ่านงานเลี้ยงของพระผู้เป็นเจ้าในทุกค่ำคืนของเดือนรอมฎอน การใช้ช่วงเวลาในช่วงเดือนรอมฎอนในการทำอิบาดัต การอ่านกุรอาน การอ่านดุอาอ์  ทำสิ่งที่เป็นผลบุญ หรือแมักระทั่งไดัศึกษาเรียนรู้บทเรียนต่างๆทางศาสนา การปฏิบัติตนให้ละวางจากบาป และการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้พัฒนาไปอีกระดับขั้นจากปีที่ผ่านมา  ซึ่งใครก็ตามที่ใช้เวลาในช่วงเดือนรอมฎอนตักตวงอิหม่านเพื่อมุ่งไปสู่ความใกล้ชิดยังพระองค์ ถือว่าเขาคนนั้นคือผู้ที่ได้รับเสบียงทางจิตวิญญานติดตัวกลับออกมามากมาย  ถือเป็นการเสริมสร้างเกราะป้องกันการกระซิบกระซาบของชัยฏอนมารร้ายภายนอก และปกป้องตัวเองจากนัฟซูที่อยู่ภายในจิตใจ เปรียบเสมือนการฉีดวัคซีนชั้นยอด เพื่อที่จะกลับออกมาใช้ชีวิตในสังคมหลังเดือนรอมฎอนได้อย่างแข็งแรงขึ้นไปอีกขั้น

 

    หากจะกล่าวให้เห็นภาพคือ  วันอีดอิดิ้ลฟิตริ์  เปรียบเสมือนการเฉลิมฉลองแสดงความยินดีให้กับนิสิตนักศึกษาที่เรียนจบหลักสูตรในระดับขั้นนึง หรือการเฉลิมฉลองในวันรับปริญญา


หลังจากที่ผ่านบทเรียนและบททดสอบมาอย่างมากมายในช่วงเดือนรอมฎอน คนที่ได้ตักตวงและปรับปรุงตนเองให้พัฒนาไปอีกระดับขั้นจากปีก่อนหน้า คือผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ฉะนั้นในความเป็นจริงแล้ว วันอีดจึงมิใช่เป็นการเฉลิมฉลองอย่างแท้จริงของทุกคน  ชาวมุสลิมทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการเฉลิมฉลองนี้ได้ แต่คนที่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง และเป็นเจ้าของงาน เป็นพระเอก และนางเอกในการเฉลิมฉลองที่แท้จริงคือคนที่เขาสอบผ่าน  คนที่เขาได้รับใบประกาศณียบัตรจากอะมั้ลในเดือนรอมฎอน  บางคนในเดือนรอมฎอนปีนี้อาจจะยังติด ร. อยู่ ยังทำบททดสอบได้ไม่ครบ พยายามทำให้สำเร็จแต่อาจเผลอ อาจหลุดไปบ้าง บางคนอาจต้องรอถึงวันอารอฟะฮ์ในการแก้  ร. สำหรับการอิบาดัตและการขออภัยโทษในครั้งต่อไป  ส่วนคนที่ไม่ประสบความสำเร็จในปีนี้ ก็สามารถเข้าร่วมงานสังสรรค์และงานฉลองนี้ได้ แต่ก็เป็นได้เพียงแค่คนที่ไปร่วมแสดงความยินดีกับคนที่เขาจบการศึกษาในงานรับปริญญา คือไปร่วมงานเฉลิมฉลองแต่ไม่ใช่ตัวหลักของงาน

 

    เดือนรอมฎอนคือเดือนแห่งความเป็นสิริมงคล คือเดือนแห่งความประเสริฐ คือเดือนแห่งการขออภัยโทษ และคือเดือนแห่งการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเอง หากเราไม่ได้ใช้ประโยชน์อันใดในการตักตวงเพิ่มพูนอิหม่านของเราจากโอกาสอันแสนดียิ่งนี้ หรือเพิ่มพูนความใกล้ชิดต่อพระองค์ในช่วงเวลาแห่งความจำเริญนี้ วันอีดในทุกๆปี เราก็จะได้เป็นเพียงแค่แขกที่ไปร่วมแสดงความยินดีกับคนที่เขาประสบความสำเร็จ แค่ได้แต่งตัวสวยงามออกจากบ้านในฐานะผู้ร่วมงาน แต่มิใช่องค์ประกอบหลักของงาน เราอาจจะสนุกรื่นเริงไปด้วย แต่ไม่ได้อะไรติดตัวกลับออกมาเลย ปีนี้กับปีที่แล้วเราก็ยังอยู่ในสถานะเดิมๆ ปล่อยให้ชีวิตก้าวผ่านเดือนรอมฎอนกับวันอีดไปแบบไร้ความหมาย เราต้องการยืนมองคนอื่นเดินเข้าสู่ความใกล้ชิดยังพระองค์ ในขณะที่เรายังยืนอยู่ที่ท้ายซอยกระนั้นหรือ? เราไม่ต้องการเดินออกมาพบกับแสงสว่างที่พระองค์ทรงชี้ทางให้ ทั้งๆที่เราได้รับโอกาสและความเมตตาจากพระองค์อย่างเท่าเทียมกันกระนั้นหรือ?

 

***ด้วยความหวังจากความเมตตาอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระองค์ ขออำนวยพรให้เราทุกท่านได้เป็นผู้ที่สอบผ่านในเดือนนี้ อีกทั้งทำหน้าที่แขกอย่างสมบูรณ์ในงานเลี้ยงอันทรงเกียรตินี้ด้วยเถิด...

 

บทความโดย เชคกอซิม อัสกะรี

ขอขอบคุณ จิตรา อินทร์เพ็ญ ในการเรียบเรียง

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม