เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสสาม ตอนที่ 2

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสสาม ตอนที่ 2

 

ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอิลมุกะลาม(เทววิทยาอิสลาม)

อัล กุรอาน คือ หลักฐานที่ดีที่สุดของการนำมาพิสูจน์และสืบค้นหาความจริง ดังนั้นการนำหลักเหตุผลทางสติปัญญามาพิสูจน์ในเรื่องหลักการศรัทธาหรือความเชื่อ ถือว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้อง เพราะอัลกุรอานได้สนับสนุน กล่าวคือ ถ้าได้พิจารณาอัลกุรอานจะพบว่ามีหลายอายะฮ์ ที่พระองค์อัลลอฮ์ซ.บ.เรียกร้องให้มนุษย์ใช้เหตุผลทางปัญญาและเรียกร้องให้เพ่งพินิจพิจารณาและให้คิดไตร่ตรองต่องานรังสรรค์ของพระเจ้าหรือการเกิดขึ้นของเอกภพและอัลกุรอานยังได้ตำหนิการปฏิบัติตามบรรพบุรุษโดยขาดเหตุผล ดังที่พระองค์ได้กล่าวไว้ว่า…

“พวกท่านทั้งหลายไม่ใช้สติปัญญากระนั้นหรือ?”

“พวกท่านไม่พินิจพิจารณากระนั้นหรือ?”

“พวกท่านไม่ใตร่ตรองกระนั้นหรือ?”

อัลกุรอาน ได้เรียกร้องให้เชิญชวนประชาชนด้วยหลักสติปัญญาและเรียกร้องให้มีหลักสันติวิธี ให้หลีกเลี่ยงการถกเถียงแบบไร้เหตุผลหรือขาดเหตุผลที่จะนำไปสู่การทะเลาะและการชิงชังระหว่างกันและกัน

“เจ้าจงเรียกร้องสู่แนวทางพระผู้อภิบาลของเจ้า ด้วยวิทยปัญญาเถิด และด้วยการกล่าวตักเตือนในสิ่งที่ดี และจงปาฐกถากับพวกเขาด้วยวาจาที่งดงาม” (บทอัลนะฮลุ/125)

 

“จงกล่าวเถิด พวกเจ้าจงนำหลักฐานมาซิ หากพวกเจ้าเป็นผู้สัตย์จริง” (บทอัลนัมลุ/65)

 

และมีอายะฮมากมายที่ได้กล่าวถึงเรื่องหลักเอกานุภาพของพระเจ้า ซึ่งอยู่ในรูปของการพิสูจน์เชิงตรรกะวิธี (การพิสูจน์โดยใช้เหตุผลทางปัญญา)  ดังนี้

 

“มาตแม้นว่าในชั้นฟ้าและชั้นดินมีพระเจ้าอื่นอีกนอกจากอัลลอฮแล้วไซร้ แน่นอนทั้งสองจะต้องพินาศ”

อัลลามะฮตอบะตอบาอีย ได้กล่าวว่า “กุรอานได้อนุมัติในการใช้เหตุผลทางปัญญา และถือว่าการใช้เหตุผลทางปัญญา คือ ส่วนประกอบหนึ่งของศาสนา” (จากหนังสือชีอะฮ  ดัรอิสลาม หน้า 95)

อัล-ฮาดิษมีมากมายที่ได้กล่าวถึงการสนับสนุนให้ใช้หลักคิดทางปัญญาในเรื่องของศาสนา ดังนี้

“การคบคิดเพียงหนึ่งชั่วโมง ณ พระองค์อัลลอฮดีกว่าการอิบาดะฮถึงเจ็ดสิบปี”

“ไม่มีการอิบาดะฮที่จะประเสริฐไปกว่าการนมาซและการถือศีลอด นอกจากการใช้ความคิดในกิจการงานของพระองค์อัลลอฮ”

“ประเสริฐสุดของการอิบาดะฮ คือ การคิดไตร่ตรองในเรื่องของพระองค์อัลลอฮ และความเดชานุภาพของพระองค์”

อิลมุกะลาม ถือว่าเป็นวิชาแขนงหนึ่งของศาสตร์อิสลามได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของอัล กุรอาน และ ฮาดิษศาสดา(ศ) และถือว่าอิลมุกะลามมิได้มีวิธีการหรือรูปแบบใดเลยนอกจากได้รับประโยชน์มาจากอัลกุรอาน และถ้าได้พิจารณาชีวประวัติท่านศาสดามุฮัมมัด จะพบว่า ศาสดาเป็นผู้นำแบบฉบับและต้นแบบ ของการนำหลักการการพิสูจน์ในเรื่องของหลักการศรัทธาต่อพวกตั้งภาคีกับพระเจ้าและกับพวกยิว ชาวคริสตเตียน ด้วยเหตุผลทางปัญญา ดังมีประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ คือในช่วงการเผยแพร่อิสลามของท่านรอ ซูล (ศ) มีคำถามและข้อสงสัยมากมายจากพวกตั้งภาคี กราบไหว้รูปปั้น ดังนั้นหน้าที่หนึ่งของท่านรอซูล (ศ) ในตอนนั้น คือ การตอบคำถามและข้อสงสัย (เกี่ยวกับปัญหาในเรื่องหลักการศรัทธา) และในตรงนี้เราจะนำตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ในการถกปัญหาศาสนาของท่านรอซูลเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงกิบละฮ” ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลทางสติปัญญาในการโต้ตอบปัญหาหลักการศรัทธา(อุศูลุลดีน)

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงกิบละฮ์(การเปลี่ยนจากบัยตุลมักดิสมายังกะบะฮ์) ได้เกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ ของการอพยพของศาสดา กล่าวคือ อิสลามได้ถือว่ากิบละฮแรกของมุสลิมคือ บัยตุลมักดิส(ปเลสไตน์ปัจจุบัน) ต่อมาท่านรอซูลได้มีบัญชาจากพระเจ้าให้เปลี่ยนกิบละฮเดิมมาเป็นอัลกะบะฮ์ ณ นครมักกะฮ์ เมื่อท่านรอซูลได้รับสั่งให้มีการเปลี่ยนแปลงกิบละฮ์ บรรดาพวกยิวได้แสดงการคัดค้าน และกล่าวต่อท่านรอซูลว่า “การยกเลิกบทบัญญัติ (หลักชะรีอะฮ) เป็นไปไม่ได้ เพราะเท่ากับพระเจ้าไม่ทรงมีความรอบรู้” ท่านรอซูลได้กล่าวตอบพวกยิวว่า “การยกเลิกบทบัญญัติ” ได้เคยเกิดขึ้นและมีมาก่อนหน้านี้แล้ว (ดังที่กุรอานได้กล่าวไว้ถึงการยกเลิกบทบัญญัติบางประการของชาวยิว) ดังนั้นสิ่งที่ได้มาแล้วย่อมเป็นไปได้และเป็นจริง  ด้วยเหตุนี้การยกหเลิกบทบัญญัติบางประการ (ในสมัยของฉัน) ถือว่าเป็นไปได้และไม่ถือว่าพระเจ้าทรงไร้การรอบรู้” (  วรสารกัยฮาน ดันดีเชะ เล่มที่ 59  ปีที่ 1995           )

จากคำกล่าวหาที่ว่าอิลมุลกะลามเป็นศาสตร์ที่ทำให้ประชาชนหลงทางหรือเป็นวิธีการของพวกนอกรีต เป็นคำพูดที่ขาดหลักฐาน และถ้าหากว่าอิลมุลกะลามเป็นวิธีการทำให้ประชาชนหลงทางเพียงเหตุผลที่ว่า อิลมุลกะลามนำหลักการใช้เหตุผลทางปัญญามาพิสูจน์แล้วไซร้ ดังนั้นท่านรอซูล คือ บุคคลแรกที่ได้ทำให้ประชาชนหลงทาง (เพราะท่านรอซูลได้นำเหตุผลทางปัญญาในการโต้ตอบกับพวกยิว)

อัลลามะฮตอบะตอบาอีย์ ไกล่าวว่า “บทพิสูจน์ทางสติปัญญาหรือการให้เหตุผลทางปัญญามีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคน ซึ่งเป็นฟิตเราะฮ ที่พระองค์อัลลอฮมอบให้ เพื่อให้มนุษย์ค้นคว้าหาความจริงของสิ่งต่าง ๆ” (ชีอะฮ ดัรอิสลาม หน้า 95-96)

บทบาทของเทววิทยาอิสลาม

สำหรับอิลมุลกะลาม มีบทบาทและหน้าที่ 3 ประการที่สำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของมุตะกัลลิม  นั่นก็คือ

    ปกป้องศาสนาทางด้านหลักการศรัทธา
    อรรถาธิบายแก่นของหลักการศรัทธา
    โต้ตอบและไขปัญหาข้อสงสัยต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักความเชื่อ

อธิบายหัวข้อทั้ง 3 ดังนี้

    ปกป้องศาสนาทางด้านหลักการศรัทธา

มุตะกัลลิมหรือนักเทววิทยาอิสลามมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทางด้านศาสนา  คือ ปกป้องศาสนาจากการรุกรานทางแนวคิดที่บิดเบือน ไม่ว่ามาจากต่างศาสนา หรือต่างสำนักคิดด้วยกันก็ตาม ซึ่งหน้าที่ประการนี้ ก็คือ ปกป้องหลักความเชื่อที่ถูกต้องไม่ให้ถูกทำลาย ซึ่งสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ดังนี้ คือ

    มุตะกัลลิม ต้องนำหลักการทางด้านอุศูลุลดีนมาเปรียบเทียบ และแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างหลักความเชื่อที่ถูกต้องกับหลักความเชื่อที่บิดเบือน
    มุตะกัลลิม ต้องไม่นำหลักความเชื่อทางด้านวิชาการตามทัศนะของตนเองมาอรรถาธิบายในเรื่องอุศูลุลดีน เพื่อเป็นเหตุผลในการปกป้องศาสนา แต่มุตะกัลลิมต้องนำหลักการที่มาจาก อัล-กุรอาน อัล-ฮาดิษ และเหตุผลทางปัญญาที่ถูกต้องยอมรับมาเสนอในการปกป้องดีน นั่นก็คือ เป้าหมายการ “ฮิดายะฮ” นำทางนั่นเอง
    อรรถาธิบายแก่นของหลักศรัทธา(อุศูลุลดีน)

หน้าที่ประการที่ 2 ของมุตะกัลลิม คือ อรรถาธิบายแก่นของอุศูลุลดีนทุกเรื่อง สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

    สามารถอรรถาธิบายหลักความเชื่อทางด้านศาสนา โดยสอดคล้องกับอัลกุรอาน และอัลฮาดิษ และไม่ขัดกับเหตุผลทางปัญญา กล่าวคือ หลักการศรัทธาทุกอย่างไม่ว่าเรื่องเตาฮีด ซีฟัต นุบูวัต อิมามัต มะอาด (กิยามะฮ) ซึ่งไม่มีการขัดแย้งใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างเหตุผลทางกุรอาน (อัลนักลุ) และเหตุผลทางปัญญา (อัลอักลุ) ถ้าเราได้ย้อยกลับไปดูตำราด้านศาสตร์อิลมุลกะลาม ไม่ว่าสำนักคิดมุตะซีละฮ สำนักคิดอัชอะรีย์ สำนักคิดชีอะฮอิมามียะฮ ฯลฯ เราจะเห็นว่ามุตะกัลลิมเหล่านั้นได้อรรถาธิบายในเรื่องหลักการศรัทธาไว้อย่างสมบูรณ์ตามแนวทางของพวกเขา
    สามารถอรรถาธิบายปัญหาทางด้านหลักความเชื่อใหม่ ๆ (คือ นำเหตุผลหรือทฤษฎีของวิชาการต่าง ๆ มาสนับสนุน) กล่าวคือ จะเห็นได้ว่าปัญหาทางหลักความเชื่อในปัจจุบันได้มีมากขึ้นและเป็นปัญหาใหม่ ๆ เช่น ทฤษฎีของชาวล์ ดาวิลในเรื่องโครงสร้างของมนุษย์ว่ามาจากลิง หรือปัญหาในเรื่องเสรีภาพของมนุษย์ หรือปัญหาในเรื่องปรัชญาศาสนา ฯลฯ หน้าที่ของมุตะกัลลิมจะต้องอรรถาธิบายปัญหาใหม่ ๆ ทางด้านศาสนาเหล่านั้น ไม่ให้ขัดแย้งกัลอัลกุรอานและอัลฮาดิษ และจะต้องตีความปัญหาเหล่านั้นอยู่บนเหตุผลทางปัญญา หน้าที่นี้มุตะกัลลิมต้องมีความชำนาญและสันทัดในเหตุผลทางนักล (อัลกุรอาน ฮาดิษ) เหตุผลอักล (ทฤษฎีทางปรัชญา)
    ตอบปัญหาและไขข้อสงสัยต่าง ๆ ทางหลักความ

อีกหน้าที่หนึ่งของมุตะกัลลิมที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าสองหน้าที่ที่ได้กล่าวผ่านไป คือ การตอบปัญหาทางด้านอุศูลุลดีน ทุกเรื่องที่ต่างศาสนาหรือระหว่างสำนักคิดโดยอยู่บนพื้นฐานของหลักสันติวิธีและสร้างสรรค์  ไม่ว่าปัญหาเดิม ๆ ของหลักการศรัทธาในเรื่องเตาฮีด ซิฟาต อิมามัต หรือเรื่องใหม่ ๆ ที่ต่างศาสนาได้นำเข้ามา เช่น การปฏิเสธการมีพระเจ้าของทฤษฎีทางสำนักปรัชญาตะวันตก ปัญหาในเรื่องความดีความชั่ว เรื่องการกำเนิดเอกภพ ปัญหาสิทธิและเสรีภาพทางศาสนา ฯลฯ

 

ประโยชน์ของเทววิทยาอิสลาม(อิลมุลกะลาม)

เราได้รับรู้แล้วว่าส่วนสำคัญของอิสลามอยู่ที่เรื่องของหลักความเชื่อ หลักการศรัทธา  อิลมุลกะลาม เป็นศาสตร์ที่มาสร้างความชัดเจนและให้ความเชื่อมั่นที่ถูกต้องในเรื่องหลักการศรัทธา และยังสามารถนำเหตุผลต่าง ๆ ไปแสดงเปรียบเทียบแยกแยะระหว่างหลักความเชื่อที่ถูกต้องกับหลักความเชื่อที่ผิดได้อย่างชัดเจน และสามารถจะโต้ตอบต่อแนวคิดที่บิดเบือน และการมีความเข้าใจต่ออิลมุลกะลามเป็นที่มาของความมีอิหม่านที่เข้มแข็ง และทำให้มีความผาสุกทั้งโลกนี้ โดยมีใจที่สงบนิ่ง และมีความสุขในโลกหน้า โดยที่เป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะ คือ การงานทุกอย่างถูกตอบรับจากพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง

 

บทบาททางเทววิทยาของศาสดามุฮัมมัด (ศอลฯ)

ท่านรอซูล (ศ) คือ บุคคลแรกที่ได้นำสาสน์แห่งพระเจ้ามาเผยแพร่ และเรียกร้องประชาชาติไปสู่เตาฮีดของพระองค์อัลลอฮ ซ.บ. ท่านรอซูล (ศ) เป็นบุคคลที่มีบทบาทอันยิ่งใหญ่ในการเผยแพร่อิสลาม และถือว่าเป็นบุคคลแรกที่นำคำขวัญที่ว่า“ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์อัลลอฮ” มาประกาศให้ชาวอาหรับยุคมืดรับรู้

สภาพในช่วงแรก ๆ การประกาศศาสนาของท่านรอซูล (ศ) ได้มีเสียงต่อต้าน และเสียงคัดค้านจากพวกมุชริก พวกยิว พวกคริสต์ อย่างรุนแรง และได้กล่าวหาต่อศาสนาของท่านรอซูล ว่าเป็นศาสนาที่บิดเบือนและนำผู้คนไปสู่ความเลวร้าย

บทบาทอันสำคัญของท่านรอซูล (ศ) คือ การอรรถาธิบายและชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักความเชื่อของอิสลามต่อพวกอาหรับ ปัญหาทางอิลมุลกะลามที่เกิดขึ้นในช่วงแรก ๆ เช่น เรื่องหลักความเชื่อในเรื่องพระเจ้ามีองค์เดียวหรือมีหลายองค์ เพราะว่าพวกมุชริกได้ปฏิเสธการมีพระเจ้าองค์เดียว และเรื่องตำแหน่งการเป็นนบี เพราะว่าพวกยิวและพวกคริสต์ได้ปฏิเสธการเป็นนบีของท่าน (ศ) และปัญหาอื่น ๆ

แต่อย่างไรก็ตามท่านรอซูล (ศ) ได้นำหลักฐานและเหตุผลในการพิสูจน์เรื่องราวของหลักความเชื่อนั้นให้พวกมุชริก ในที่สุดชาวอาหรับเกือบทั้งหมดในคาบสมุทรอาหรับยอมรับดีนของมุฮัมมัด และเชื่อถือความเป็นเอกะของพระองค์อัลลอฮ

บทบาททางกะลามของท่านรอซูล (ศ) ได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ

    ในนครมะกะฮ ส่วนมากจะเป็นปัญหาในเรื่องเตาฮีด(หลักเอกะพระเจ้า) และเรื่อง ตำแหน่งการเป็นศาสดา

2          ในนครมะดีนะฮ จะเป็นปัญหาใหม่ ๆ ซึ่งคำถามมาจากมุสลิมเองที่มีความคลุมเคลือ และบางปัญหาก็มาจากพวกชาวคริสต์ และพวกชาวยิว

ในตรงนี้เราสามารถกล่าวถึงบทบาททางกะลามของท่านรอซูล (ศ) แบ่งออกเป็น 3 ลักษณะดังนี้

    การถกและตอบคำถาม ปัญหาในเรื่องหลักความเชื่อกับพวกมุชริก ยิว และชาวคริสเตียน
    การตอบคำถาม ปัญหาทางกะลามต่อบรรดามุสลิมเอง
    การสอนและอรรถาธิบายแก่นของอิลมุลกะลามต่อบรรดามุสลิม

อธิบายบทบาททางกะลามของท่านรอซูล (ศ) ทั้ง 3 ดังนี้

    การถกและตอบคำถามปัญหาในเรื่องหลักความเชื่อกับพวกมุชริก ยิว คริสต์

 

ในช่วงแรกที่ท่านรอซูล (ศ) ได้รับโองการจากพระผู้เป็นเจ้าให้ประกาศศาสนา สิ่งแรกที่ท่านรอซูลได้ประกาศต่อชาวอาหรับ คือ ให้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว (เตาฮีด) ซึ่งท่านได้กล่าวประโยคหนึ่งว่า “โอ้ชาวอาหรับจงรับเถิดว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใด นอกจากพระองค์อัลลอฮ แล้วพวกเจ้าจะได้รับชัยชนะ” แต่ทว่าชาวอาหรับซึ่งยึดติดอยู่กับศาสนาของบรรพบุรุษ เป็นผู้ที่บูชาเจว็ด และเชื่อในเรื่องพหุเทวา จึงไม่ยอมรับสิ่งที่ท่านรอซูลได้นำมาประกาศ บ้างก็กล่าวว่ามุฮัมมัดเป็นบ้าไปแล้ว บ้างก็ว่าศาสนาของมุฮัมมัดเป็นศาสนาที่บิดเบือน และอื่น ๆ

บทบาททางกะลามของท่านรอซูล ก็คือ ชี้แจงหลักความเชื่อที่ถูกต้องให้ชาวอาหรับ และได้โต้ตอบพวกมุชริกหลายต่อหลายครั้ง ดังที่อัล-กุรอานได้กล่าวเอาไว้ดังนี้

“มาตแม้นว่าในชั้นฟ้าและชั้นดินมีพระเจ้าอื่นอีก นอกจากพระองค์อัลลอฮแล้วไซร้ แน่นอนทั้งชั้นฟ้าและชั้นดินต้องพินาศ” (21/22)

 

อายะฮ ข้างต้นสามารถนำมาอยู่ในรูปของเหตุผลเชิงตรรกศาสตร์ในการพิสูจน์ในเรื่องเตาฮีดของพระเจ้า ได้ดังนี้

    ถ้าหากว่าในโลกนี้มีพระเจ้าหลายองค์ (มีมากกว่าหนึ่ง)
    แน่นอนโลกใบนี้ ทั้งชั้นฟ้าและชั้นดินต้องพินาศ
    แต่ทว่าเมื่อเรามองไปยังชั้นฟ้าและชั้นดิน จะเห็นว่ามีความเป็นระบบระเบียบ ดังนั้นแสดงว่าพระเจ้าย่อมมีองค์เดียว

และอีกอย่างอายะฮ์ ที่ท่านรอซูล ได้นำมาแสดงเหตุผลในการพิสูจน์ถึงความเป็นเตาฮีดของพระเจ้า ซึ่งในอัล-กุรอาน มีอยู่ซูเราะฮหนึ่งชื่อว่า “ซูเราะฮเตาฮีด” เป็นซูเราะฮเดียวที่ได้อรรถธิบายในเรื่องเตาฮีดของพระเจ้าสมบูรณ์ที่สุด คือ

“จงกล่าวเถิด โอ้มุฮัมมัด อัลลอฮทรงเอกะ อัลลอฮทรงเป็นที่พึ่ง พระองค์มิทรงให้กำเนิด และพระองค์ไม่ถูกำเนิด และไม่มีสิ่งใดเทียบเทียมกับพระองค์” (บทอัลอิกลาศ โองการที่1-4)

จากบทบาทของการเผยแพร่และการชี้แจงในเรื่องหลักเตาฮีดของพระเจ้า และการโต้ตอบของท่านรอซูล (ศ) ต่อพวกมุชริก ทำให้ชาวอาหรับเกือบทั้งหมด (ยกเว้นพวกอคติ) ได้ยอมจำนนท์ต่อเหตุผลและการพิสูจน์ในเรื่องเตาฮีด และเป็นเหตุให้พวกเขายอมรับอิสลามและอีกปัญหาหนึ่งที่พวกมุชริกได้ขัดแย้ง และไม่ยอมรับในเรื่องกะลาม คือ ปัญหาเรื่องวันตอบแทน และชีวิตโลกหน้า กล่าวคือ พวกมุชริกส่วนมากมีแนวคิดแบบวัตถุนิยม เชื่อว่ามนุษย์เมื่อตายแล้วทุกอย่างก็จบสิ้น ไม่มีการตอบแทน ไม่มีวันตัดสิน  ท่านรอซูล (ศ) ได้ทำหน้าที่ชี้แจงในปัญหานั้นและโต้ตอบกับพวกมุชริกด้วยเหตุผล และการพิสูจน์ที่เป็นไปได้ของการมีโลกหน้า ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ ไว้ดังนี้

“และบรรดากาเฟร ได้กล่าวว่า เอาไหมเราจะชี้แจงให้พวกท่านรู้ถึงชายคนหนึ่ง (คือ ท่านนบี) ซึ่งเขากล่าวแก่พวกเราว่า เมื่อร่างกายของพวกเราถูกฉีกขาด (เปื่อย) ไปหมดแล้ว พวกท่านจะกลับคืนมาใหม่อีกครั้ง” (34/36)

นี่คือเรื่องราวที่อัล-กุรอาน ได้กล่าวถึงบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาได้แสดงการคัดค้านในเรื่องโลกหน้าและวันฟื้นคืนชีพ ท่านรอซูล (ศ) ได้โต้ตอบและชี้แจงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของชีวิตโลกหน้า และวันฟื้นคืนชีพ ดังที่อัล-กุรอานได้กล่าว ดังนี้

“พวกเขาไม่รู้หรอกว่า อัลลอฮทรงบันดาลฟากฟ้าและแผ่นดิน และไม่ทรงเหน็จเหนื่อยที่จะบันดาลสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา พระองค์ย่อมเดชานุภาพที่จะชุบชีวิตแก่ผู้ตาย (อีกครั้ง) ความเป็นจริงแล้วพระองค์ทรงอนุภาพเหนือทุกสรรพสิ่ง” (46/33)

จากอายะฮนี้สามารถนำมาเป็นรูปแบบของการพิสูจน์ทางตรรกศาสตร์ ดังนี้

    พระเจ้าทรงเดชานุภาพ มีความสามารถไร้ขีดจำกัด ทุกอย่างที่พระองค์ทรงประสงค์ สิ่งนั้นย่อมเกิดขึ้น
    การเกิดการตายของมนุษย์ และการฟื้นคืนชีพอีกครั้ง เป็นความประสงค์ของพระเจ้า
    ทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงประสงค์ ย่อมเป็นไปได้ (เพราะว่าพระองค์มีความเดชานุภาพ)
    ดังนั้นวันฟื้นคืนชีพย่อมเป็นไปได้

นี่คือการพิสูจน์ในเรื่องวันฟื้นคืนชีพของท่านรอซูล (ศ) ต่อบรรดาพวกมุชริก ดังนั้นทำให้พวกเขายอมรับและมีความเชื่อในเรื่องชีวิตโลกหน้า

-การโต้ตอบท่านรอซูล (ศ) กับพวกคริสเตียน-

บรรดาพวกคริสเตียนที่อยู่ในเมืองมะดีนะฮฺ ได้กล่าวว่า ท่านนบีอีซา คือ บุตรของพระเจ้า และบางกลุ่มถึงกับกล่าวว่า พระเจ้าได้มาสิงต์สถิตอยู่ในร่างของท่านนบีอีซา (อ) การกล่าวเช่นนี้เท่ากับพระองค์อัลลอฮฺทรงมีเรือนร่าง มีสถานที่ และเป็นที่มาของความเป็นวัตถุของพระองค์

ท่านรอซูล (ศ) ได้นำหลักฐานและเหตุผลมาแสดงต่อพวกคริสเตียนดังนี้

    1. การกล่าวว่าศาสดาอีซาเป็นบุตรของพระเจ้า เท่ากับเชื่อว่าพระเจ้ามีบุตร เท่ากับว่าพระเจ้ามีเรือนร่างและเป็นธาตุวัตถุ
    ถ้าพระองค์เป็นธาตุวัตถุ เท่ากับพระองค์ต้องพึ่งพาสิ่งอื่น ต้องการสถานที่
    ถ้าพระองค์พึ่งพาสิ่งอื่น เท่ากับพระองค์ไม่มีความเพียงพอในอาตมันต์ของพระองค์ ไม่ได้เป็นองค์สัมบูรณ์ ดังนั้นการกล่าวเช่นนี้ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะพระองค์ทรงไม่พึ่งพาสิ่งใด แต่สิ่งอื่นต่างหากที่พึ่งพาพระองค์

และอัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ดังนี้

“พระองค์ไม่ให้กำเนิด และพระองค์ไม่ถูกกำเนิด (มาจากสิ่งใด)” (เตาฮีด/3-4)

 

    การโต้ตอบปัญหาทางเทววิทยาต่อบรรดามุสลิม

บทบาททางกะลามประการที่ 2 ของท่านรอซูล (ศ) คือ การตอบปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับหลักการศรัทธา กล่าวคือ หลังจากที่ท่านรอซูลได้อพยบมายังมะดีนะฮฺ มุสลิมได้เพิ่มขึ้นมากมาย และคำถามที่พวกเขาได้ถาม มีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

1)         คำถามเกี่ยวกับหลักความเชื่อเดิมของศาสนาพวกเขา

2)         คำถามใหม่ ๆ ในอิสลามที่พวกเขามีความสงสัย เช่น ในเรื่องตำแหน่งนบีองค์สุดท้าย ตำแหน่งอิมามภายหลังจากศาสดา ฯลฯ

 

    การสอนและอรรถาธิบายแก่นของหลักความเชื่อ (อุศูลุดดีน)

บทบาททางเทววิทยาของท่านรอซูล (ศ) ที่ถือว่าสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสอนในเรื่องหลักการศรัทธาต่อบรรดามุสลิม กล่าวคือ หลักความเชื่อทุกประการท่านรอซูลได้ทำการสอนต่อบรรดาสาวกของท่าน ไม่ว่าในเรื่องเตาฮีด ประเภทของเตาฮีด ซีฟาตของพระองค์อัลลอฮฺ ความยุติธรรมของพระองค์ กะฎอกะดัร ตำแหน่งนบูวัต หลักความเชื่อในรื่องกุรอาน มะลาอิกะฮ ตำแหน่งอิมามัต และเรื่องอะลัมบัรซัก ชีวิตหลังความตาย และชีวิตโลกหน้า ฯลฯ

 

บทความโดย ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม