เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสสาม ตอนที่ 4

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสสาม ตอนที่ 4

 

สำนักคิดอะชาอิเราะฮ์กับคุณูปการต่อโลกอิสลาม

 

ในช่วงการปกครองของคอลีฟะฮ์มะมูน คอลีฟะฮฺมุอ์ตะซิม บิลลาฮ์ และคอลีฟะฮ์วะษิก บิลลาฮ์แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ บทบาทด้านศาสนาเป็นโอกาศทองของสำนักคิดมุอ์ตุซีละฮ์ กล่าวคือบรรดาคอลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ยุคนั้นได้ให้การสนับสนุนสำนักคิดมุตะซีละฮ์อย่างออกหน้าออกตา และถือได้ว่าสำนักคิดมุตะซีละฮ์ มีความรุ่งเรืองมากที่สุด ทำให้ราชสำนักคอลีฟะฮ์นำเอาสำนักคิดมุอ์ตะซีละฮ์มาเป็นนิกายประจำราชสำนักคอลีฟะฮ์เลยทีเดียว  และถือว่าเป็นการก้าวหน้าทางด้านวิทยาการอิสลามและศาสตร์อิสลามไปอีกขั้นหนึ่ง

ต่อมาในช่วงหลังจากคอลีฟะฮ์ทั้งสาม อำนาจการปกครองตกไปอยู่ในมือของ คอลีฟะฮ์มุตะวักกิล บิลลาฮ์ ดังนั้นสภาพทางศาสนาและการเมืองได้ถูกเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ เมื่อคอลีฟะฮ์มุตะวักกิลขึ้นปกครอง เขามีความนิยมและชอบในสำนักคิดอะฮ์ลุลฮะดิษ (สำนักจารีตนิยม) ด้วยเหตุนั้น ทำให้สำนักคิดมุตะซีละฮ์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐเหมือนเช่นเคย อีกทั้งยังจำกัดบทบาทของนักเทววิทยาสำนักมุตะซีละฮ์อีกต่างหาก

คอลีฟะฮ์มุตะวักกิล อับบาซีย์ ได้สั่งห้ามถกเถียงทางวิชาการ และห้ามการมีเสวนาในเรื่องศาสนาซึ่งเคยมีมาในยุคคอลีฟะฮ์สมัยก่อนนั้น และเขาได้มีคำสั่งให้บรรดาอุละมาอ์ของสำนักอะฮ์ลุลฮะดิษเผยแพร่และได้สนับสนุนปราชญ์ในสำนักจารีตนิยมอย่างมาก กลับกันได้นิ่งเฉยกับสำนักคิดมุอ์ตะซีละห์ จนกระทั้งถูกนำไปสู่การถูกคว่ำบาตรและถูกต่อต้านอย่างหนัก ดังนั้นประชาชนที่อยู่ในสำนักคิดมุอ์ตะซีละห์เกิดระส่ำระส่ายจนต้องอพยพไปคนละทิศละทางและไม่มีพื้นที่ให้ยืนในสังคมอีกเลย

จนถึงในสมัยของ อิมามอบุลฮาซัน อัชอะรีย์ ซึ่งเขาเป็นอุละมาอ์ ปราชญ์คนสำคัญของสำนักคิดมุอ์ตะซีละฮ์ เป็นศิษย์เอกของ อบูอะลี ญับบาอีย์(ปราชญ์ชื่อดังแห่งสำนักมุตะซีละฮ์) ดังนั้นจากสถานการณ์ที่ตึงเครียดระหว่างมุอ์ตะซีละฮ์และอะฮ์ลุลฮะดิษ และความขัดแย้งที่มีมานานทำให้อิมามอบุลฮาซัน อัชอะรีย์ (เกิดปี 260 เสียชีวิตปี 324) เกิดกระแสความคิดที่ต้องการจะปฏิรูปสำนักคิดมุตะซีละฮ์และนำหลักความเชื่อและหลักคิดแบบสมัยใหม่มาเสนอทางออกต่อประชาชน โดยการประยุกต์ระหว่างสำนักคิดอะฮ์ลุลฮะดิษกับสำนักคิดมุอ์ตะซีละฮ์  และในที่สุดอิมามอัชอะรีย์ ได้ทำสำเร็จและประสบความสำเร็จเกินคาด จนทำให้ประชาชนจำนวนมากขานรับแนวคิดของเขา จึงเรียกผู้ที่ยึดถือปฏิบัติตามอิมามอบุลฮาซันอัชอะรีย์ว่า “สำนกคิดอัชอะรีย์”หลังจากนั้น ไม่นานอิมามอัชอะรีย์เขียนตำราขึ้นมาเล่มหนึ่งเกี่ยวกับหลักการศรัทธา ซึ่งสนับสนุนในหลักความเชื่อของอิมามอะหมัด อิบนิ ฮัมบัล ชื่อหนังสือคือ “อัล อิบานะฮ์” เป็นการกล่าวถึงการสนับสนุนแนวความคิดของสำนักคิดอะฮ์ลุลฮะดิษ และระยะผ่านไปไม่นานนักอิมามอัชอะรีย์ได้เขียนตำราขึ้นอีกเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับหลักความเชื่อ ชื่อว่า “อัล ลุมะฮ์” เป็นการแสดงทัศนะในเรื่องของหลักการศรัทธาที่ไม่เหมือนกับพวกอะฮ์ลุลฮะดีษ และไม่เหมือนกับพวกมุอ์ตะซีละฮโดยตรง แต่เป็นหลักความเชื่อที่อยู่ระหว่างกลางซึ่งได้ประยุกต์ระหว่างพวกอะฮ์ลุลฮะดิษและพวกมุอ์ตะซีละฮ์เข้าด้วยกัน เป็นการปฏิรูประหว่างสองสำนัก มาสู่ทางสายกลางที่น่าสนใจในขณะนั้น

ในยุคต่อมา ได้มีบรรดาอุละมาอ์และปราชญ์ผู้รู้จำนวนมากมายอยู่ในแนวทางของอะชาอิเราะฮ์และบรรดาผู้รู้นั้นต่างได้นำคำพูดของอิมามอัชอะรีย์หรือตำราของเขาออกเผยแพร่ ในที่สุดได้กลายเป็นสำนักคิดที่ยิ่งใหญ่ของอิสลาม และมีผู้ยึดถือปฏิบัติอยู่ในหลักการของเขาเป็นจำนวนมาก และมีต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

 

อิบนิคอลดูน ได้กล่าวว่า “เมื่ออิมามอัชอะรีย์จากโลกนี้ไป มีประชาชนมากมายต่างปฏิบัติตามและอยู่ในแนวทางของเขา และได้นำแนวคิดของเขามาเผยแพร่และนำมาตีความและอรรถธิบายกันอย่างกว้างขวางทีเดียว และอิมามอัชอะรีย์ได้สร้างลูกศิษย์ลูกหาไว้มากมาย เช่น อิบนิ มุจาฮิด และท่านอื่น ๆ และหลังจากสมัยของอิบนิ มุญาฮิด มีผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่อีกมากมายนำแนวคิดของอิมามอัชอะรีย์มาเผยแพร่ เช่น อิมามอบูบักร บาเกลลานีย์  เป็นผู้รู้ที่ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์ ซึ่งเขาเป็นผู้รับช่วงแนวทางของอิมามอัชอะรีย์มาเผยแพร่ และได้นำคำพูดของอิบนุ มุจาฮิดมาอรรถาธิบาย และยังได้นำเหตุผลทางปัญญามาอธิบายในหลักอะกีดะฮ์บางอย่างของสำนักอะชาอิเราะฮ์อีกด้วย”

หลักการศรัทธาของสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์

  เตาฮีด  :   มีความเชื่อว่าพระองค์อัลลอฮ์ทรงมีองค์เดียว ทรงเอกะ ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือนกับพระองค์ และพระองค์ไม่เหมือนกับสิ่งใด ดังที่อิมามอัชอะรีย์ได้กล่าวว่า “ถ้าหากว่าพระองค์เหมือนกับสรรพสิ่ง ดังนั้นกฎเกณฑ์ของพระองค์ก็เหมือนกับสรรพสิ่งเหล่านั้นซึ่งอยู่ในภาวะความเป็นภวันต์ใหม่”

ซีฟาต  :   มีความเชื่อว่าซีฟาตของพระองค์กับซาต(อาตมัน)ของพระองค์ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แตกแยกกัน กล่าวคือ ซีฟัตของพะรองค์เป็นสิ่งเดิมและซาตของพระองค์ก็เป็นสิ่งเดิม

  ซีฟัตกอบารียะฮ์  คือ มีความเชื่อว่า บรรดาซีฟัตได้กล่าวไว้ในอัล กุรอานหรือฮะดิษเช่นพระองค์มีเท้า มีมือ มีใบหน้า นั่งอยู่บนบังลังก์ และอื่นๆ  ถือว่าจำเป็นต้องมีความเชื่อและถือว่าเป็นจริงสำหรับพระเจ้า แต่เราไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร และบรรดาซีฟัตเหล่านั้นไม่เหมือนกับสรรพสิ่งที่พระองค์สร้างมา

เชื่อว่าพระองค์ทรงสร้างการงานและการกระทำของมนุษย์  และเชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้แสวงหาการงานที่พระองค์ทรงสร้าง  (ไม่ว่าดีหรือชั่ว) โดยที่พระเจ้าไม่ทรงบีบบังคับให้มนุษย์กระทำชั่ว

เชื่อว่าสามารถมองเห็นพระองค์อัลลอฮ์ได้ด้วยสายตาในโลกหน้าเท่านั้น ไม่ใช่ในโลกนี้ ดังที่อิมามอัชอะรีย์ได้กล่าวว่า “การที่มนุษย์มองเห็นอัลลอฮ์ในโลกหน้าไม่เป็นเหตุให้พระองค์ทรงเป็นวัตถุหรือเป็นสิ่งใหม่เลย”

 

อิมามฆอซซาลีกับบทบาททางเทววิทยาและปรัชญา

อิมามฆอซซาลี ถือว่าเป็นนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่งของโลกอิสลามและอยู่ในสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์ เป็นผู้สร้างตำนานด้านเทววิทยาและถือว่าเป็นนักเทววิทยาและนักปรัชญา อีกทั้งยังถือว่าเขานั้นเป็นนักซูฟีที่ลือชื่อท่านหนึ่งโลกอิสลาม อิมามฆอซซาลีได้ใช้ชีวิตอยู่ในช่วงเวลาและสมัยที่ในสังคมมุสลิมเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนแปลง  เรียกว่าเป็นยุคแห่งความสงสัย ไม่เชื่อถือใดๆของศาสตร์ต่างๆ และเขาได้ผ่านระยะเวลานั้นมาด้วยการนำเสนอทฤษฎีทางญาณวิทยา โดยเฉพาะญาณวิทยาแบบอิสลาม อีกทั้งได้โต้ตอบแนวคิดทางปรัชญาของนักปรัชญามุสลิมบางคน

อิม่ามฆอซซาลีได้ผ่านยุคแห่งการสงสัยและยุคแห่งการถกเถียงทางวิชาการมาอย่างชนิดที่เกือบเอาชวิตไม่รอด จนกระทั้งได้เข้าสู่ยุคแห่งความเชื่อมั่น ดังนั้นเขาได้นำเสนอทฤษฎีทางญาณวิทยาว่า อันดับแรกเราจะต้องรู้จัก คือความจริงของความรู้และแก่นแท้ขององค์ความรู้คืออะรไ?เสียก่อน แล้วค่อยมาจำแนกตามพื้นฐานของศาสตร์นั้น ว่าศาสตร์นั้นเป็นศาสตร์บริสุทธิ์หรือศาสตร์ประยุกต์ “

เขาได้กล่าวอีกว่า” องค์ความรู้ที่ให้ความชัดเจนและสร้างความเชื่อมั่นนั้น จะนำพาไปสู่การอวิชชาและสิ่งที่เราไม่รู้ได้อย่างกระจ่าง โดยที่จะไม่มีช่องว่างของความเคลือบแคลงและสงสัยเหลืออยู่เลย และจะไม่มีวันจะสร้างความผิดพลาดหรือเสียหายต่อองค์ความรู้นั้นเป็นอันขาด แม้กระทั้งจะใช้ปาฎิหาริย์ในการทำลายมัน ก็ไม่มีวันจะทำลายลงได้ เหมือนที่จะทำให้ก้อนหินกลายเป็นทองคำ และนั่นคือคุณค่าของความมั่นใจและการเชื่อมั่นจากองค์ความรู้แท้ เหมือนประโยคที่ว่า จำนวนสิบมากว่ากจำนวนสาม”

เขากล่าวต่ออีกว่า..” หลังจากการเพ่งพินิจในประเด็นดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่ามีเพียงหลักองค์ความรู้ที่มาจากสัญชาตญาณบริสุทธิ์(ฟิตเราะฮ์)เท่านั้น ”

เขากล่าวว่า แท้จริงความผิดพลาดและการเกิดความผิดพลาดในกระบวนการคิดและการเชื่อนั้น เกิดมาจากด้านผัสสะ และเนื่องจากไม่ได้ยึดมาตรฐานของมันตามกรอบที่มันจะเป็น และอิมามฆอซซาลีเชื่อว่า มีเพียงเหตุผลทางสติปัญญาที่เป็นหลักสากล สามารถให้ความมั่นใจและเชื่อมั่นได้เต็มร้อย  และเขาได้กล่าวว่า…”ดังที่กล่าวมานั้นว่า เมื่อเหตุผลเข้ามา ทำให้ความผิดพลาดด้านผัสสะถูกเปิดเผยขึ้น ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เหตุผลบางเหตุผลเป็นโมฆะก็ตาม เหมือนบางกรณีที่ได้นำเนื้อหาที่ประจักษ์มาจากการหลับฝัน แล้วเมื่อตื่นมาได้นำมาตีความตามความฝันนั้นที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง แล้วกล่าวว่า นั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าได้พบและประจักษ์เป็นของจริงที่ไม่ได้มาจากการหลับฝัน  และแท้จริงแล้วการสงสัยและการเกิดภาวะเคลือบแคลงจะเกิดขึ้นได้ทุกที่หละ”

ต่อมาเขาได้กล่าวอีกว่า..”แท้จริงด้วยทางนำแห่งพระเจ้า จะทำให้ปัญหาต่างๆปรากฏเห็นชัดมากยิ่งขึ้น และด้วยกับการยึดหลักตรรกะวิธี และการฝึกปฎิบัติจิต จนปรากฏภาวะปิติศานต์(รู้แจ้งแห่งจิต) นั่นแหละความจริงก็ไม่สามารถจะถูกปฎิเสธไปได้”

อิมามฆอซซาลีเชื่อว่า หนทางของการประจักษ์รู้และขั้นของญาณวิทยาที่เข็มแข็งที่สุด คือหนทางแห่งฌาณวิสัย หรืออัชฌัตติญาณ นั่นเป็นการเห็นแจ้งแห่งองค์ความรู้และเป็นการเข้าถึง  และเขาเชื่อว่า ความจริง(Thuth)และความเป็นจริง(Reality)นั้น จะเข้าถึงต้องผ่านการรู้จักและต้องผ่านกระบวนการแห่งญาณวิทยา ดังที่เขากล่าวว่า“จงรู้จักความเป็นจริงเสียก่อน แล้วจะรู้ว่าใครคือผู้สัจจริง”

อิมามฆอซซาลีเชื่อว่า หนทางในการรู้จักและการประจักษ์แจ้งนั้นไม่ได้ถูกปิดกั้นหรือเก็บไว้คนเฉพาะกลุ่ม แต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทุกคน  และเขาได้พยายามที่จะแจกแจงในการเข้าถึงความเป็นจริงหรือความจริงสูงสุดว่าต้องผ่านการรู้จักที่อยู่บนพื้นฐานของกรอบที่ถูกต้อง ดังนั้นเขาได้ชี้แนะกฏเกณท์และมาตรฐานการชี้วัดไว้ โดยแนะนำให้ใช้หลักตรรกวิทยา ดังที่อริสโตเติลได้กล่าวไว้ เป็นการพิสูจน์ความจริงแบบปรนัยและอัตนัย  นั่นคือใช้สื่อและเครื่องมือทั้งจากผัสสะ ประสาทสัมผัส และประสบการณ์ และเหตุผล

อิมามฆอซซาลีได้กล่าวถึงญาณวิทยาว่า แท้จริงเป็นเครื่องมือสำคัญในการเข้าถึงองค์ความรู้ และแท้จริงญาณวิทยาจะสร้างความเข้มแข็งให้กับเหตุผลทางปรัชญา เขาได้กล่าวว่า..

“ทัศนะของความประเสริฐความรู้ที่อยู่เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยกับหลักฐานที่มั่นคงของเหตุผลนั่นเอง และประเสริฐที่สุดขององค์ความรู้นั้นคือความรู้ที่เกี่ยวกับพระเจ้าและเกี่ยวกับทวยเทพแห่งพระเจ้าและคัมภีร์ของพระเจ้า และศาสนทูตของพระเจ้า และด้วยกับความรู้ดังกล่าวจะทำให้มนุษย์ไปสู่ความผาสุกและเกิดสันติสุขที่แท้จริง”

ปัญญาและเหตุผล

อิมามฆอซซาลีได้กล่าวถึงบทบาทของเหตุผลไว้หลายที่หลายวาระ บางวาระได้ประณามเหตุผลและถือว่าเหตุผลไม่ใช่ตัวชี้วัด บางครั้งได้กล่าวว่าเหตุผลคือหนทางในการเข้าถึงการรู้จัก สามารถจำแนกข้อเท็จจริง เข้าถึงความจริงและความเป็นจริงโดยตรง ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์หรือเครื่องมือใดๆ  บางครั้งกล่าวว่า ถึงแม้ว่าเหตุผลจะมีความหมายและมีคุณค่า แต่ก็จะต้องพึ่งพาหลักฐานทางศาสนามาสนับสนุนด้วย  บางครั้งกล่าวว่า เหตุผลก็เป็นเพียงการมโนภาพหนึ่งของจิต   เขาได้แบ่งเหตุผลได้ระดับและได้กล่าวถึงความประเสริฐของระดับเหตุผลว่า

“ไม่เป็นการสงสัยเลยว่า ศาสตร์ด้านเหตุผลถือว่าเป็นศาสตร์ที่ประเสริฐและบริสุทธิ์ และสามารถนำไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิตได้เลยทีเดียว    เหตุผลและปัญญาประเภทนี้แหละที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงและเข้าใจโลกและเอกภพ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผ่านใหลจากปฐมปัญญา(First Wisdom)   ส่วนหลักฐานที่ยืนยันว่าเหตุผลทางสติปัญญาประเสริฐกว่าใดๆนั้น เนื่องจากปัญญาจะนำพาไปสู่ความผาสุกทั้งโลกนี้และโลกหน้า เว้นเสียแต่ว่า เขาไม่ใช้ปัญญาเป็นประโยชน์ต่างหาก”

อิมามฆอซซาลีได้แบ่งประเภทปัญญาไว้ดังนี้

จงรู้เถิดว่า แท้จริงปัญญาแบ่งออกเป็นสัญชาตญาณ และตรรกะ  ส่วนปัญญาประเภทสัญชาตญาณคือศักยภาพและสมรรถภาพที่มีความเป็นไปได้ อยู่ในสภาพความพร้อมที่จะเข้าถึงญาณ ซึ๋งเหมือนที่มีอยู่ในทารกหรือวัยเด็ก เช่นมีสมรรถนะในการเรียนรู้ด้านฟิซิกค์เคมี  ส่วนปัญญาประเภทตรรกะคือ ระดับที่พร้อมจะใช้งานได้เลย  ส่วนปัญญาที่ดีเลิศคือปัญญาด้านในที่เกิดจากจิตใต้สำนึก ซึ่งดีกว่าปัญญาที่เกิดจากระบอบทางตรรกะที่เป็นภายนอก อิมามฆอซซาลีกล่าวว่า ศาสตร์ด้านศาสนาถ้าปราศจากเหตุผลแล้ว ก็จะไปไม่ถึงไหนเช่นกัน

กฏแห่งมูลเหตุและผลแห่งเหตุ

อีกปัญหาทางปรัชญาที่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของปรัชญาอิมามฆอซซาลีคือเรื่องของกฏแห่งมูลเหตุ ถ้ามองผิวเผินอาจจะสรุปว่าเขานั้นปฎิเสธในกฏแห่งมูลเหตุ  แต่ด้วยการวิเคราะห์ วิจักษ์ และวิธานอย่างถ่องแท้จะพบ ไม่เพียงแค่ว่าเขายอมรับในกฏนี้ เขายังเขียนถึงเนื้อหานี้และสนับสนุนเรื่องดังกล่าว เพียงแต่เขาได้แยกแยะว่าในโลกแห่งสสารในเอกภพนั้นกฏแห่งมูลเหตุนั้นไม่มี (เพราะทุกอย่างมาจากการกำหนดโดยพระเจ้า)  แต่ในการอุบัติของสิ่งต่างๆในโลกนี้ มีสื่อกลางหนึ่งระหว่างสรรพสิ่งกับพระเจ้า  และมูลเหตุทั้งหมดนั้นมาจากพระเจ้า

อิมามฆอซซาลีได้ตั้งกฏสากลไว้กฏหนึ่งคือ”ทุกๆสิ่งที่เป็นไปได้ ย่อมมีสาเหตุและมูลแห่งเหตุ”  ซึ่งเป็นหลักฐานว่า เขายอมรับในเรื่องกฏเหตุและผลหรือกฏแห่งมูลเหตุ  และบางครั้งฆอซซาลีก็ได้นำกฏแห่งมูลเหตุนี้มาพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า โดยใช้หลักตรรกะว่า “ทุกๆสิ่งเกิดใหม่ ย่อมมีมูลเหตุแห่งการเกิด   เอกภพเป็นสิ่งใหม่  ดังนั้นเอกภพยอ่มเกิดมีผู้ให้กำเนิด”  และเขาได้กล่าวอธิบายว่ากฏนี้เป็นกฏสากล จะไม่เคลือบแคลงหรือสงสัยใดๆ

ความเชื่อมั่น

อิมามฆอซซาลีได้นำคำนิยามของภาวะความเชื่อและความมั่นใจในเชิงปรัชญามากล่าวไว้ในบางบทของหนังสือปรัชญาของเขาเป็นการวิจักษ์ได้ว่าแท้จริงฆอซซาลีได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องของญาณวิทยาและปฎิเสธแนวคิดพวกสงสัยนิยม(agnosticism) หรือมีแนวคิดแบบพวกโซฟิสต์(Sophists)อีกทั้งต้องการจะบอกว่าจิตใต้สำนึกนั้นคือต้นต่อของการสร้างมาตรฐานและการวัดมาตรฐานของความรู้เขาได้กล่าวว่า..”ความรู้ประเภทความเชื่อและความมั่นใจคือองค์ความรู้ที่ประจักษ์ด้วยการพิสูจน์และเกิดภาวะความมั่นใจขึ้นด้วยข้อเท็จจริง”

อิมามฆอซซาลีได้แบ่งประเภทของความเชื่อและความมั่นใจว่า แท้จริงแล้วความมั่นใจนั้นมีระดับขั้นที่แตกต่างกันบางครั้งความมั่นใจที่ให้คุณค่าทางการพิสูจน์บางครั้งความมั่นใจที่เป็นความมั่นใจที่ตรงกับความจริงและความมั่นใจนั้นจะไม่ถูกทำลายไปได้และจะไม่มีความเคลือนแคลงเจือปนและอิมามฆอซซาลีเชื่อว่าภาวะความมั่นใจแท้ที่จริงแล้วคือการประจักษ์แจ้งที่ตรงกับความจริงนั่นเอง

 

บทความโดย  ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม