เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสสาม ตอนที่ 5

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสสาม ตอนที่ 5

 

สำนักคิดอะชาอิเราะฮ์กับปรัชญาเทววิทยา

 

ยุคเริ่มต้นและบุกเบิกของสำนักคิดอัชอะรียะฮฺ สามารถกล่าวได้ว่า ได้เริ่มตั้งแต่ช่วงอิมามอัชอะรีย์ได้ออกจากสำนักคิดมุตะซิละฮ  และในช่วงนั้นถือว่าเป็นช่วงที่ได้มีการต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและเป็นยุคที่ได้ยืนหยัดต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และถือว่าเป็นครั้งสำคัญของสำนักคิดอัชอะรีย์ เพราะได้ฝ่าฟันอุปสรรคและปัญหาต่างๆเป็นอย่างมากทีเดียว  กอรปกับมีอุลามาห์และนักปราชญ์ส่วนมากไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับท่าทีของอิมามอัชอะรีย์สักเท่าไหร่นัก และบรรดาผู้รู้เหล่านั้นยังดูท่าทีอิมาม อบุลฮะซัน อัชอะรีย์ แต่เมื่ออิมามอัชอะรียได้เขียนตำราเล่มหนึ่งชื่อ “อัลอิบานะฮ์” ทำให้ผู้รู้ในสำนักอะลุลฮะดีษไว้วางใจและเชื่อมั่นในตัวของอิมามอัชอะรีย์มากขึ้น  เพราะว่าทุกประการที่อิมามอัชอะรีย์ได้เขียนขึ้นมาในตำราเล่มนั้นคือการสนับสนุนแนวคิดของอิมามอะหมัด  อิบนิฮัมบัล(แนวทางอะฮ์ลุลฮะดีษ)

หลังจากที่อิมามอบุลฮะซัน อัชอะรีย์ได้เสียชีวิตลง  บรรดาลูกศิษย์ของเขาได้นำหลักการและแนวทางของอาจารย์มาเผยแพร่  แต่ทว่าก็ยังถูกต่อต้านบ้างและมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของอิมามอัชอะรีย์อยู่เพราะสิ่งที่นำมาเผยแพร่นั้นไม่ค่อยจะกระจ่างชัดในจุดยืนของอิมามอัชอะรีย์(ที่มีแนวโน้มว่าจะเอนเอียงมากับสำนักอะลุลฮะดีษ) ดังที่ถูกบันทึกไว้ว่า  ในช่วงสมัยของอิมามอะบุลกอซิม  กุชัยรี ศศวรรษที่ 5(แห่งฮิจเราะฮ์) ได้มีมุสลิมกลุ่มหนึ่งของสำนักฮะนาบิละฮ์ (อะลุลฮะดีษ)  ได้ฟะตะวาห์สาปแช่งและประฌามอิมามอัชอะรีย์ขึ้นในเมืองกุราซาน (อิหร่าน)  จนทำให้อุลามาห์ส่วนหนึ่งของผู้ที่นิยมในสำนักอัชอะรีย์รวมตัวกันเขียนสาส์นถึงประชาชนและโต้ตอบคำประณามนั้น ดังนี้..

“ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺผู้ทรงกรุณายิ่ง  และดังที่ผู้ดำเนินรอยตามฮะดีษ ทั้งหมดเห็นพ้องต่อกันว่าแท้จริงอิมามอะบุลฮะซัน  อัชอะรีย์คือหัวหน้าและผู้รู้ของชาวฮะดีษ  และมัซฮับของเขาก็คือมัซฮับฮะลุลฮะดีษ  เพราะอิมามอัชอะรีย์ได้นำแนวทางของอะลิซซุนนะฮมาเผยแพร่ในเรื่องของหลักศรัทธา ตามวิถีของมัซฮับของฮะลุลฮะดีษ   และเขายังได้ต่อสู้กับผู้หลงผิด และยังได้โต้ตอบกับผู้บิดเบือนทั้งหลาย ดังนั้นใครก็ตามได้กล่าวประณามหรือพูดสิ่งที่ไม่ดีต่อเขา แท้จริงเท่ากับเขาได้ประณามและพูดไม่ดีต่อชาวอะลิซุนซุนะฮทั้งหมด  และเราในนามอะลิซซุนนะฮจะขอลงนามเพื่อปกป้องอิมามอัชอะรีย์ “

การปกครองในช่วงแรก ๆ นั้นคือก่อนการปกครองของราชวงศ์ซิลยูกียะฮ (ค.ศ. 1040)  สำนักอัชอะรีย์ไม่เป็นที่ถูกยอมรับเท่าไหร่นัก  เพราะว่าก่อนหน้านั้นเป็นช่วงสมัยการปกครองของราชวงศ์อาลิบาวัย (321-447)  ซึ่งเป็นนักปกครองนิยมในเหตุผลและเป็นนักเหตุผลนิยม เช่นท่านอิบนิอะมีด และท่านศอฮิบ  อิบนิอิบาด (ทั้งสองเป็นเสนบดีของกษัตริย์)  ไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับแนวคิดของอิมามอัชอะรีย์ ดังนั้นสำนักอัชอะรีย์ไม่ได้รับการสนับสนุนจากอำนาจรัฐและยังถูกจับตามองอีกด้วย( แต่กลับกันสำนักมุตะซิละฮ)

สาเหตุหนึ่งที่สำนักอะลุลฮะดีษไม่ค่อยจะเห็นด้วยกับสำนักอัชอะรีในยุคต้นๆนั้น เนื่องมาจากความขัดแย้งภายในที่เกิดขึ้นระหว่างนักการศาสนาของสำนักฮะลุลฮะดีษและนักเทววิทยาของสำนักอัชอะรีย์  นั่นก็คือนักการศาสนาสำคัญอะลุลฮะดีษไม่ไว้ใจต่อแนวคิดของอิมามอัชอะรีย์ เนื่องจากนักเทววิทยาสำนักอัชอะรีย์ไม่ยอมปฏิบัติตามหลักการที่ถูกเขียนไว้ในตำรา  “อัลอิบานะฮ  อันอุศุลดิยานะฮ” จนทำให้เกิดกระแสต่อต้านและห้ามการเรียนการสอนของสำนักอะชาอิเราะฮฺ  ซึ่งเกิดขึ้นเมืองกุราซาน (อิหร่าน)  หลังจากนั้นใหลไปยังประเทศซีเรีย และเมือง ฮิยาซได้ถูกห้ามนำแนวคิดสำนักคิดอัชอะรีย์มาเผยแพร่  เหตุการณ์ได้รุนแรงขึ้นทุกขณะ  จนกระทั่งผู้ปกครองเมืองได้มีคำสั่งจับคุมนักการสาสนาคนสำคัญของสำนักคิดอัชอะรีย์ขึ้นคือ  ท่านอัลลามะฮ์กุชัยรี  ท่านอิมามอัลฮะรอมัย  และห้ามการชุมนุมใด ๆเด็ดขาด  ดังนันเมื่อคำสั่งมาถึง  หมายจับท่านอัลลามะฮ์กุชัยรีก็ถูกอ่านขึ้น ณ สาธารณชน ในที่สุดท่านกุรัยชียถูกจับและนำไปขังคุก ณ เมืองกันดัร” และอิมามมุลฮะระมัย  ถูกเนรเทศ  ดังนั้นเขาได้อพยพไปยังเมืองฮิยาซ  และใช้ชีวิตอยู่ ณ นครมะกะฮและนครมะดีนะฮ จนได้มีฉายาว่า “อิมามมุลฮะรอมัย”(อิมามแห่งสองฮะรอมศักสิทธิ์)

นักเทววิทยาคนสำคัญของสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์ในสมัยเริ่มแรกได้แก่

    อบูบักร บาเกลลานี (ตายปี ฮ.ศ. 403)
    อิบนิฟูรอ๊ก (ตายปี ฮ.ศ. 406)
    อบูอิสฮาก อิสฟารออินี (ตายปี ฮ.ศ. 417)
    อะบุลกอซิม กุชัยรี (ตายปี ฮ.ศ. 464)
    อิมามุลฮะรอมัย ยุวัยนี (ตาย ปี ฮ.ศ. 478)

สมัยรุ่งเรืองสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์

ช่วงที่สองของการวิวัฒนาการของสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์ เราขอเริ่มจากสมัยการปกครองของราชวงศ์ซิลญก

ราชวงศ์ซิลญูกเป็นผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ราชวงศ์หนึ่งของอิสลาม ได้เกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 5  แห่งฮิจเราะฮฺ ไปจบสิ้นในศตวรรษที่ 7 เป็นผู้ปกครองนิกายซุนนี (ค.ศ. ที่ 1039-1359)แต่ในช่วงแรก ๆ ของการปกครองราชวงศ์ซิลญูก สำนักอัชอะรีย์ไม่ได้รับการสนับสนุนแต่ยังถูกคว่ำบาตรอีกต่างหากอ เมื่อมาถึงสมัยการปกครองคนที่สองของราชวงศ์ซิลญก  และเสนบดี อยู่ในมือของนัซซอมมาลิก นั่นคือ สมัยเริ่มต้นของความรุ่งเรืองสำนักอัชอะรีย  กล่าวคือ เมื่อถึงสมัยของเสนาบดีนัซซอม มาลิก เขาได้มีคำสั่งให้สร้างโรงเรียนและสถาบันขึ้นครั้งแรก  ณ เมืองแบกแดดและเมืองนิชาบูร (อิหร่าน)  ชื่อว่า “มัดรอซะฮนัซซอมียะฮ”  และประกาศสั่งให้สอนศาสนาตามแนวทางสำนักอัชอะรีย์ ด้วยเหตุนี้สำนักอัชอะรียได้ถูกประกาศเป็นครั้งแรกให้เป็นมัซฮับเป็นทางการของอะลิซซุนนะฮ  และได้รุ่งเรืองไปทั่วทุกมุมเมืองและขยายกระแสการตอบรับอย่างรวดเร็วและกว้างขวางมาก  ได้มีตำรับตรามากมายถูกเขียนขึ้น.

นักประวัติศาสตร์ปรัชญาอิสลามได้กล่าวว่า“ปรัชญาของสำนักอัชอะรียะฮแพร่หลายจากอิรักเข้าไปในซิเรียและอิยิปต์ในราชวงศ์อัยยูบี (AYYUBID) และราชวงศ์มัมลูก (MAMLUK) จากอิรักแพร่ไปยังแอฟริกาตะวันตก  โดยอิบนิตุมัรต์  ผู้ก่อตั้งราชวงศ์อัลโมฮาด (ALMOHAD) “ .

หนังสือ History of Kalam กล่าวไว้ว่า“ปรัชญาเทววิทยาแบบสำนักคิดอัชอะรีย์ไม่ได้มีอิทธิพลมากมายนักจนกระทั่งเริ่มจากการก่อตั้งราชวงศ์ซิลญูกขึ้นแล้ว (หลังจาก ปี ค.ศ. 1040)  โดยเฉพาะหลังจากการจากมีการจัดตั้งวิทยาลัยนิซอมียะฮขึ้นในแบกแดด (ประมาณปี 1056)  เพื่อเป็นโรงเรียนสอนศาสนาวิทยาของกลุ่มนิกายซุนนีอย่างเป็นทางการ”

จากสมัยการปกครองราชวงศ์ซิลญูก  ทำให้สำนักอัชอะรียมีความรุ่งเรืองถึงขั้นสูงสุด ได้มีอุลามาห์คนสำคัญเกิดขึ้นมากมาย เช่น อิมามฆอซซาลี  (ตาย ปี 505)  เป็นลูกศิษย์ของอิมามุลฮะรอมัย และในสมัยนิซอมุลมาลิกได้ถูกแต่งตั้งจากนิซอมให้เป็นอาจารย์สอนในวิทยาลัยนิซอมิยะฮเมืองแบกแดด

อิมามฆอซซาลีถือว่าเป็นผู้นำสำนักคิดอัชอะรียมาเผยแพร่อีกท่านหนึ่งและกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่ชุบชีวิตแนวคิดอิมามอัชอะรียขึ้นมา  และเป็นอุลามาหที่ยิ่งใหญ่แห่งยุค  เขาได้นำแนวคิดของอิมามอัชอะรียมาอรรถาธิบายไว้ในหนังสือ “อัลอิกติศอลฟิลเอี๊ยะติกอ็ด” และยังได้โต้ตอบแนวคิดทางปรัชญาของอิบนิซินาและไม่ยอมรับการใช้เหตุผลทางปรัชญาในวิถีการของพิสูจน์หลักของการศรัทธา

หรืออีกคน คือ อับดุลกะรีม ชะริซตานีย  เจ้าของตำราชื่อดัง “อัมิลลุวัลนิฮัล”  เป็นนักเทววิทยาท่านหนึ่งในสำนักคิดอัชอะรีย และท่านอื่น ๆ ความรุ่งเรืองสำนักคิดอัชอะรียในช่วงนั้นถือว่าเป็นความสำเร็จสูงสุด  และได้รับให้การยอมรับไปทั่วทุกมุมโลก  มีตำรับตำราถูกเขียนขึ้นมากมาย และเมื่อมาถึงสมัยการปกครองราชวงศ์ซอลาฮุดดีน อัยยูบีย  ถือว่าเป็นอีกช่วงหนึ่งที่สำนักคิดอัชอะรียได้ขยายอำนาจและเจริญต่อไปอีก  เพราะว่าซอลาฮุดดีน อัยยูบียเป็นผู้คลั่งไคล้อิมามอัชอะรียเป็นอย่างมาก  ดังนั้นใครก็ตามที่ได้มีแนวคิดแตกต่างกับอิมามอัชอะรียจะถูกจับตามอง

เริ่มจากการปกครองของราชวงศ์ซิลญูกและได้ตั้งวิทยาลัยขึ้น ณ กรุงแบกแดด โดยมีอาจารย์อย่างอิมามฆอซซาลี  และนักศาสนวิทยา ดั่งท่าน ชะริซตานีย์  ทำให้สำนักอัชอะรีย์มีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก จนถึสมัของอิมามฟักรุดดีน รอซีหรืออิมามมุชักกิกีน  ความรุ่งเรืองของสำนักอัชอะรียฮได้มีมาต่อเนื่อง และได้มีแนวร่วมมากที่สุดก็ว่าได้  แต่ทว่าจากสมัยการปกครองของอิมามฟักรุดดีนอัรรอซี  รูปแบบทางเทววิทยาสำนักคิดอัชอะรียได้เริ่มเปลี่ยนแปลง  กล่าวคือ เนื่องจากท่านอิมามรอซี เป็นทั้งนักปรัชญาและนิยมในการใช้เหตุผลและเป็นนักเทววิทยาที่มีความชำนาญอย่างมาก  ทำให้รูปแบบอิลมุลกะลามของสำนักอัชอะรียมีการเปลี่ยนแปลไปในทิศทางที่สมบูรณ์มากขึ้นและมีกลิ่นอายแห่งปรัชญามากยิ่งขึ้นและนั่นเป็นที่น่าสนใจและน่าค้นหาในสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์จนถึงปัจจุบัน

          สิ่งที่เราจะนำเสนอต่อท่านผู้อ่าน  แค่บางหลักความเชื่อที่สำคัญผ่านหลักปรัชญาและถือว่าเป็นปรัชญาทางเทววิทยาของสำนักคิดอะชาอิเราะฮ  หนึ่งจากปัญหานั้น คือในเรื่องซิฟาตหรือพระคุณลักษณะเอกองค์อัลลอฮฺ ซ.บ.  ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ระหว่างสำนักคิดต่าง ๆ ได้มีความคิดเห็นแตกต่างกัน และเป็นความขัดแย้งที่มีมานานแล้ว

         

สำนักอัชอะรียะฮกับความเชือเรื่องซิฟาตพระองค์อัลลอฮฺ

ถ้าเราย้อนกลับไปดูตำราอิลมุลกะลามของสำนักคิดอัชอะรียะฮ  ไม่ว่าตำราของอิมามอัชอะรียเองหรือตำรานักเทววิทยาท่านอื่นอื่นๆ เช่น อิมามรอซี  อิมามตัฟตาซานีย  ท่านอีญี ฯลฯ  จะเห็นว่าสำนักอัชอะรียะฮมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในความเชื่อต่อเรื่องซิฟาตว่า…

“แท้จริงซิฟาตพระองค์อัลลอฮฺ (คือซิฟาตซาตียะฮ  เช่น ความรอบรู้  ความสามารถ มีชีวิต)   ทรงนิรันดร์เหมือนกับซาต (อาตมัน)  และซิฟาตนั้นอยู่นอกซาตไม่ได้เป็นอันเดียวกับซาต”

นี่คือหลักความเชื่อของสำนักอะชาอิเราะฮ์ต่อซิฟาตพระองค์อัลลอฮฺ ซ.บ.  ซึ่งนักเทววิทยาในสำนักอะชาอิเราะฮ์มีคำนิยามสั้นว่า “ลาอัยนะวะลาฆัยเราะฮ” (ทั้งไม่เป็นอย่างเดียวกับซาตและไม่เป็นอย่างอื่นกับซาต)

อิมามฟักรุดดีน รอซี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า…

“ซิฟาตความเป็นเอกะ (วะดะฮ)  เป็นอันเดียวกับซาตหรือว่าแยกจากซาต?  ถ้ากล่าวว่าเป็นอันเดียวกัน  ถือว่าเป็นไปไม่ได้เพราะว่าความเป็นหนึ่งคือซีฟาต และซิฟาตเป็นอันเดียว ดังนั้นสำหรับความเป็นหนึ่งก็ต้องมีซิฟาตของมันอีก  และซิฟานั้นก็มีความเป็นหนึ่ง จำเป็นต้องมีซิฟาตอีกไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แต่ถ้ากล่าวว่าไม่เป็นอันเดียวกับซาต  ถือว่าเป็นไปได้ด้วยเหตุผล….”

ท่านซะริสตารียได้กล่าวถึงอะกีดะฮของสำนักอัชอะรียไว้ว่า…

“อิมามอัชอะรียเชื่อว่าแท้จริงซิฟาต (ซาตีย) พระองค์อัลลอฮฺทรงมาแต่เดิม ทรงนิรันดร์  ไม่เป็นอันเดียวกับซาต  แต่มีขึ้นกับซาต  ไม่สามารถกล่าวว่าเป็นอันเดียวกับซาตและไม่สามารถกล่าวว่าไม่ใช่ซาต”.

 

อิมามฟักรุรอซีกับปรัชญาเทววิทยาสำนักอะชาอิเราะฮ์

อิมามฟักรุรอซีได้นำเรื่องของปรัชญาและญาณวิทยามากล่าวและนำมาพูดคุยอย่างกว้างขวางทีเดียว และเขาถือว่าแจ้จริงการประจักษ์รู้ด้วยจิตใต้สำนึกนั้นเป็นสิ่งที่อยู่จริงในตัวของมนุษย์ ถ้าใครปฎิเสธในเรื่องนี้ ถือว่าผู้นั้นมีความบกพร่องในสมองและปัญญาเลยทีเดียว

อิมามฟักรุรอซีได้นิยามความหมายของจิตใต้สำนึกไว้ว่า เป็นองค์ความรู้เบื้องต้นที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพียงแต่เกิดความสัมพันธ์ทางด้านกระบวนการคิด ก็สามารถปรากฏจินตภาพแห่งองค์ความรู้นั้นแล้ว

อิมามฟักรุรอซีเชื่อว่า จุดเริ่มต้นของการคิดและการรับรู้นั้นได้รับผลมาจากความรู้ด้านผัสสะเป็นอันดับแรกก่อน เขาได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า

“ความรู้ อาจจะประจักษ์แจ้งด้วยตัวของมันเองหรืออาจจะประจักษ์แจ้งด้วยกับเหตุปัจจัยอื่น และองค์ความรู้ที่ประจักษ์แจ้งด้วยกับเหตุปัจจัยอื่น ก็จะย้อนกับไปยังองค์ความรู้ทีเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ดังนั้นถ้าหากว่าองค์ความรู้ประเภทประจักษ์แจ้งโดยอัตโนมัติไม่ได้เกิดขึ้นมาแต่เริ่มแรกหรือไม่ได้กำเนิดมาพร้อมกับตัวของมนุษย์แล้วไซร้ ดังนั้นจำเป็นมนุษย์จะต้องแสวงหามัน จึงจะกำเนิดองค์ความรู้ขึ้นมาได้ และในที่สุดองค์ความรู้ประเภทประจักษ์แจ้งอัตโนมัติไม่มีตัวตน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องพึ่งพายังองค์ความรู้ที่ธำรงอยู่ดั้งเดิม  และอธิบายเสริมในที่นี้อีกเหตุผลหนึ่งคือว่า แท้จริงเมื่อเราเกิดองค์ความรู้ใดความรู้หนึ่งที่มาจากผัสสะ เพียงแต่เรานำความสัมพันธภาพระหว่างสองสิ่งนั้น ก็เพียงพอในการจะรับรู้และเข้าใจมัน”

อิมามฟักรุรอซีเชื่อแตกต่างกับนักปรัชญามุสลิมยุคก่อนๆ นั่นคือ เขาเชื่อว่า แท้จริงองค์ความรู้ในมิติทางจินตภาพ เกิดมาจากความรู้ด้านผัสสะเป็นเหตุปัจจัย ส่วนองค์ความรู้ด้านอาตมันและตัวตนนั้น เกิดจากเหตุปัจจัยของเหตุผลและสติปัญญา  และเขาเชื่อในสามัญสำนึกของมนุษย์เพียงการนึกถึงในเรื่องใดนั้นๆ ก็จะเกิดองค์ความรู้นั้นโดยอัตโนมัติ

อิมามฟักรุรอซีเชื่อว่า เพียงการเข้าถึงเหตุปัจจัยแห่งผู้กระทำ ก็จะประจักษ์ต่อการมีอยู่ของพระเจ้าแล้ว  และเขาถือว่าทุกกการจินตภาพนั้นต้องมีพื้นฐานของผัสสะมาก่อน แต่พึงสังเกตว่า แท้จริงความรู้ทางผัสสะไม่ได้หมายความว่าเพียงผัสสะภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงผัสสะทางจิตที่เกิดขึ้นในตัวของมนุษย์ด้วย

และจิตใต้สำนึกทุกอย่างจะปรากฏมาจากข้อเท็จจริง และข้อเท็จจริงก็จะตรงตามจิตใต้สำนึกได้สร้างมันขึ้นมา แต่ทว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าก็มีส่วนให้จิตใต้สำนึกอาจจะเกิดความแปรผันได้ และเขายอมรับว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าย่อมผิดพลาดได้ และด้วยการบัญชาและการกำหนดมิให้เกิดความผิดพลาด นั่นคือ สติปัญญา  และแท้จริงแล้วเหตุปัจจัยที่นำไปสู่ความจริงหรือความเป็นจริงคือสติปัญญาเพียงอย่างเดียว  อิมามฟักรุรอซีเชื่อว่า จิตใต้สำนึกเป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นเงาหรือตัวช่วย ซึ่งเขาเชื่อเหมือนกับนักปรัชญามุสลิมคนอื่นๆ

ประเภทต่างๆของการให้เหตุผล

อิมามฟักรุรอซีเหมือนกับนักปรัชญามุสลิมท่านอื่นๆ เชื่อว่า แท้จริงเหตุผลและสติปัญญาเป็นความจริงเรื่องหนึ่งของปรัชญา และเชื่อว่าแท้จริงเหตุผลนั้นมีหลายมิติและหลายรูปแบบ และเขาได้แบ่งประเภทของปัญญาและประเภทของเหตุผลไว้มากมาย

กฏแห่งมูลแห่งเหตุ และการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า

อิมามฟักรุรอซีได้ยอมรับหลักการว่าด้วยเหตุและผล และถือว่า กฏดังกล่าวเป็นเรื่องของสามัญสำนึกที่มีอยู่เกือบที่จะไม่ต้องพิสูจน์  ส่วนการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าสามารถนำกฎแห่งมูลเหตุ(อิลลียะฮ์)มาพิสูจน์ได้  แต่ก็เป็นเพียงการเสริมความเข้าใจและการเตือนให้ตระหนักรู้เท่านั้น เพราะว่าการมีอยู่ของพระเจ้าเป็นเรื่องของสามัญสำนึก มีอยู่ในตัวของมนุษย์ทุกคนอยู่แล้ว

 

บทความโดย  ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม