ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสสาม ตอนที่ 6

ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสสาม ตอนที่ 6

 

สำนักคิดชีอะฮ์กับปรัชญาเทววิทยา 

คำสอนของอิสลาม  มีพื้นฐานมาจากอัลกุรอานโดยการถ่ายถอดจากท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ) ดังนั้นในอัลกุรอานได้สอนให้มนุษย์มีแนวคิดอย่างถูกต้อง ซึ่งเรียกว่า”แนวคิดทางศาสนา” หมายถึง วิธีคิด เกี่ยวกับปัญหาที่มีอยู่ในธรรมชาติของศาสนา เพื่อจะแก้โจทย์ทางศาสนาได้อย่างถูกต้อง      และสำนักคิดชีอะฮ มีวิธีคิดแนวที่เป็นเอกลักษณ์และมีอัตลักษณ์ของตัวเอง ไม่ว่าในเรื่องเทววิทยา  ปรัชญา หรือด้านนิติศาสตร์อิสลาม โดยเฉพาะในเรื่องอภิปรัชญา เช่นปัญหาเรื่องพระเจ้า พระคุณลักษณะและชีวิตโลกหน้า และประเด็นปัญหาอื่นๆทางเทววิทยาที่น่าสนใจอยู่ทีเดียว

สำนักคิดชีอะฮถือว่าเป็นสำนักที่ยิ่งใหญ่ของโลกอิสลามอีกสำนักหนึ่ง มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานและได้ก่อสร้างอัตลักษณ์ของตัวเอง และได้ผลิตปราชญ์ นักวิชาการและนักการศาสนาเกิดขึ้นอย่างมากมายและมีมาต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สำนักคิดชีอะฮมีความโดดเด่น ในศาสตร์ต่างๆของอิสลามหลายสาขา ไม่ว่าสาขาวิชานิติศาสตร์อิสลาม(ฟิกฮ์) สาขาวิชาประวัติศาสตร์ สาขาวิชาตัฟซีร วิชาฮะดีษ วิชาปรัชญา และเทววิทยา และอื่นๆฯลฯ  และสำนักคิดชีอะฮ์ได้นำเสนอแนวคิดทางศาสนาอยู่ภายใต้สามวิธีซึ่งเป็นโครงสร้างใหญ่ดังนี้

                

       วิธีการที่หนึ่ง ส่วนที่เป็นภายนอกทางศาสนา

การนำเสนอแนวคิดภายใต้กรอบของหลักชะรีอะฮ์ หลักศาสนบัญญัติ ผ่านการกลั่นกรองมาจากอัลกุรอานแลซุนนะฮ์ศาสดาและวิถีชีวิตของลูกหลานศาสดา(อะลุลบัยต์) เป็นเรื่องหลักปฏิบัติทางศาสนกิจ เช่นการนมาซ การถือศิลอด ภายใต้กฎเกณท์ของคำสั่งใช้(วายิบ) หรือบางครั้งได้อยู่ภายใต้บริบทคำสั่งห้าม(อารอม) เช่นการห้ามดื่มสุรา ห้ามฆ่าผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่เข้าใจกันทุกคน ไม่คลุมเครือ หรือจะใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย เป็นพื้นฐานของศาสนา และเป็นเรื่องทั่วไป เป็นส่วนภายนอกของศาสนา ทุกคนสามารถเข้าใจไม่มีข้อสงสัยหรือจะตีความหมายเป็นอย่างอื่นได้ และเป็นที่ชัดเจนว่าแหล่งที่มาของส่วนแรกนี้ พื้นฐานมาจากอัลกุรอาน ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนไว้ทุกสำนักคิดและฮะดีษของท่านศาสดา ถือว่าเป็นข้ออธิบายหรือคำจำกัดความให้กับอัลกุรอาน ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงหลักฐานเรื่องนี้ว่า

              “เราได้ประทานคำเตือน(อัลกุรอาน)แก่เจ้า เพื่อเจ้าจะได้อธิบายแก่ประชาติ ในสิ่งที่ถูกบัญญัติแก่พวกเขา”(บทอัลนะฮ์ลิ/ ๔๔)

สำนักชีอะฮเชื่อว่าวิธีคิดภายนอกสามารถจะยึดตามคำสอนที่มาจากทายาทศาสดา(อะลุลบัยต์ )เป็นลูกหลานท่านศาสดาได้ด้วย จากหลักฐานการการกำชับของท่านศาสดามุฮัมมัดเองให้ยึดมั่นต่อลูกหลานของท่าน

“แท้จริงฉันได้ละทิ้งสิ่งสำคัญสองประการในหมู่พวกท่าน ถ้าได้ยึดมันทั้งสองแล้วจะไม่หลงทางอย่างเด็ดขาด คือคัมภีร์อัลกุรอานและอะลุลบัยต์ของฉัน”

โดยถือว่าลูกหลานท่านศาสดา(ศ)เป็นหลักฐานอ้างอิงหนึ่งในวิชาการศาสนาด้านต่างๆและหลักปฏิบัติ  ดังนั้นคำพูด การกระทำ หรือการนิ่งเฉย เรียกว่า ซุนนะฮอะลุลบัยต์ สามารถเชื่อถือได้ ที่ได้รับการรายงานโดยตรงหรือผ่านนักรายงานที่เชื่อถือได้(ศอฮี้)

 

วิธีที่สอง  วิธีการใช้สติปัญญาและปรัชญา

การเพ่งพินิจด้วยปัญญาในเนื้อหาของศาสนา ถือว่าเป็นวิธีคิดค่อนข้างจะสูงและล้ำลึก เพราะว่าเป็นกระบวนการคิดในเชิงปรัชญาและเทววิทยา แต่ทั้งสองมีความแตกต่างกันอยู่ตรงที่ว่าการคิดเชิงปรัชญา เป็นการค้นหาความจริงแท้ของสิ่งต่างๆทั้งที่เป็นวัตถุและอวัตถุ เป็นการสืบค้นหาแก่นของสรรพสิ่ง และไม่ได้เฉพาะเจาะจงต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่กระบวนการคิดเชิงเทววิทยานั้น เป็นการเพ่งพินิจด้านศาสนศาสตร์ เป็นการคิดทางด้านความเชื่อ เช่นพระเจ้ามีอยู่จริง ทรงมีพระคุณลักษณะที่สมบูรณ์ เป็นพระผู้สร้าง หรือเรื่องตำแหน่งศาสดา ความเชื่อชีวิตโลกหน้าและอื่นๆ   สำนักคิดชีอะฮ์เชื่อว่า แท้จริงหลักฐานอัลกุรอานได้สนับสนุนการพิสูจน์และการคิดพิจรณาและการใช้สติปัญญาและให้การสนับสนุนการคิดเชิงตรรกะและปรัชญา และยังถือว่าการใช้สติปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนา

ข้อพิสูจน์ต่างๆทางปัญญา สามารถแบ่งออกได้ ๒ ลักษณะดังนี้คือ

๑)วิธีการพิสูจน์ คือการยืนยันที่องค์ประกอบเบื้องต้นของมันมีความเป็นจริง และมีอยู่จริง แต่ต้องการจะนำมาพิสูจน์สิ่งอื่น โดยการพิสูจน์ที่นำหลักตรรกะมาเสนอ เช่น กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนต้องตาย  นายดำเป็นมนุษย์ ดังนั้นนายดำต้องตาย ซึ่งการพิสูจน์นี้ได้ผ่านวิธีคิดที่อยู่ในเชิงตรรกศาสตร์และปรัชญา

๒)วิภาษวิธี เป็นการอ้างเหตุผลที่มีองค์ประกอบทั้งหมด หรือบางส่วนของมันเป็นที่ถูกยอมรับหรือเป็นที่ถูกรู้จัก เช่นการที่ผู้รู้หรือนักปราชญ์ทางศาสนาได้นำมาอ้างมัน หรือหลักเหตุผลที่เป็นหลักการเป็นที่ยอมรับ

อัลกุรอานได้นำเสนอทั้งสองวิธี นั่นก็คือในการคิดอิสระเกี่ยวกับเรื่องจักรวาลหรือเอกภพหรือสรรพสิ่งบนโลก เช่น ท้องฟ้า ระบบสริยะ หมู่ดวงดาว กลางวันกลางคืนฯลฯ เป็นการนำเสนอการคิดที่เป็นอิสระ นั่นก็คือเป็นการสอนให้มนุษย์ใช้ความคิดเชิงปรัชญาและตรรกะนั้นเอง

ส่วนในวิธีที่สองที่เรียกว่า วิภาษวิธีนั้น เป็นการนำเหตุผลในเชิงหลักฐาน ซึ่งทั่วไปจะนำมาใช้ในศาสตร์แห่งเทววทิยาหรืออิลมุลกะลาม โดยเน้นว่าต้องเป็นเหตุผลที่ดีที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการแสดงออกของความจริง ไม่ใช่การล้อเลียน ดังกุรอานได้กล่าวไว้ว่า..

     “เจ้าจงเรียกร้องไปสู่แนวทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยวิทยญาณและคำตักเตือนที่ดี และจงวิภาษกับพวกเขาโดยใช้วิธีที่ดีที่สุด”(บทอัลนะอ์ลุ/๑๒๕)

อัลลามะฮฎอบะฎอบาอีได้กล่าวไว้ในหนังสือ”ชีอะฮในอิสลาม”ว่า

  “สำหรับวิชาเทววิทยา เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า นับตั้งแต่วันที่สำนักคิดชีอะฮ์ มีอัตลักษณ์แยกออกจากสำนักคิดซุนนีซึ่งเป็นนิกายกลุ่มใหญ่ของอิสลามนั้น ทำให้สำนักคิดชีอะฮ์มีการจัดตั้งกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดและวิสัยทัศน์เดียวกันขึ้นมา  ซึ่งชีอะฮเป็นฝ่ายเริ่มในการหาข้อมูลเชิงวิชาการมากขึ้น สร้างรูปแบบและระบบ และเมื่อเวลาผ่านไปได้มีความก้าวหน้าจนนำไปสู่การกำเนิดวิชาการด้านเทววิทยาหรืออิลมุลกะลามนั้น จนในฮิจเราะฮศตวรรษที่ ๒ ย่างเข้าสู่ศตวรรษที่ ๓(ฮิจเราะฮ์) มีการขยายตัวของสำนักมุตะซีละฮ(สำนักเหตุผลนิยมในอิสลาม) และการปรากฏเกิดของนักวิชาการและผู้รู้ที่เป็นชีอะฮ ซึ่งเป็นศิษย์ของอะลุลบัยต์แห่งศาสดา เช่น ฮิชาม อิบนิฮะกัม เป็นศิษย์ของอิมามยะฟัร ศอดิก  เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทววิทยา ขณะที่ฝ่ายอะลิซซุนนะฮมีนักเทววิทยาที่เชี่ยวชาญและชำนาญเกิดขึ้นในสำนักมุตะซีละฮและอะชาอิเราะฮ แต่ทว่าทั้งนี้ทั้งนั้นแล้วถ้าสืบไปแล้วก็ไปสิ้นสุดที่ อิมามอะลี บินอะลีฎอลิบนั่นเอง”

ท่านอัลลามะฮฎะบาฎอบาอีย์ได้กล่าวต่ออีกว่า…”ส่วนสำหรับวิชาด้านปรัชญา ผู้ที่มีความคุ้นเคยกับคำพูดกับผลงานของสาวกท่านศาสดา ย่อมเข้าใจดีว่าในจำนวนบรรดาสาวกนั้น ผู้ที่มีความเป็นปราชญ์และมีความรู้มากที่สุดหนีไม่พ้นคืออิมามอะลี บินอะบีฎอลิบ ซึ่งมีผลงานด้านปรัชญาและอภิปรัชญาอย่างล้ำลึก ได้อธิบายเกี่ยวกับพระเจ้าไว้อย่างดึงดูดใจและแฝงเร้นด้วยปรัชญาอันสูงส่ง”

ชีอะฮมีบทบาทสำคัญยิ่งในการวางรากฐานแนวคิดด้านปรัชญาอิสลามไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เพราะว่าได้ถูกกำชับและให้การสนับสนุนต่อศาสตร์ด้านปรัชญา ด้วยกับคำเทศนาของพวกท่าน(อ) ส่งผลให้สำนักชีอะอมีความโดดเด่นในเรื่องนี้มาช้านาน และชีอะฮถือว่ามีบทบาทในการผลักดันให้วิชาการด้านนี้มีการพัฒนาเติบโต และได้รับการเผยแพร่ไปตามลำดับ และนักปรัชญาสำนักชีอะฮได้เกิดขึ้นหลายท่าน เช่น คอญะฮ นะซีรุดดีน ตูซีย์ ท่านมีร ดามอด และท่านมุลลา ซ็อดรอ และหลังจากนั้นปรัชญาได้รับการประยุกต์และทำการค้นคว้าจนพัฒนาสู่จุดสูงสุดอีกครั้ง ด้วยการนำของท่านมุลลา ซ็อดรอ ซึ่งได้นำปรัชญาแนวเหตุผลนิยม(มัชชาอียะฮ)มาประยุกต์กับปรัชญาแนวฌาน(อิชรอกียะฮ) ทำให้เกิดความสมบูรณ์ขั้นสูงสุดในชื่อ”สำนักปรัชญาปรีชาญานอันสูงสุ่ง”(ฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ)

ความคิดแห่งอภิปรัชญาและเทวปรัชญา ซึ่งภาษาอะหรับเรียกว่า”ฟัลซะฟะฮ ฮิลาฮีย์” เป็นศาสตร์แห่งการสืบค้นหาความจริงสูงสุด ซึ่งการค้นคว้าปัญหาและเนื้อหาของศาสตร์นี้ สำนักชีอะฮได้มีความเอาจริงเอาจัง จนทำให้ไขปริศนาต่างๆที่นักปรัชญารุ่นก่อนๆแก้โจทย์นั้นไม่ได้ เช่นในผลงานทางด้านวิชาการของท่าน คอญะฮนะศีรุดดีน ตูซีย์ ท่านมุลลาซ็อดรอ

ดังนั้นความคิดทางปรัชญาและการให้เหตุผลในเชิงตรรกของสำนักชีอะฮ ถือว่าเป็นขุมสมบัติอันมีค่าทางวิชาการด้านต่างๆ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากผุ้นำ(อิมาม)อันเป็นทายาทท่านศาสดา(ศ)ผู้มีความบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แนวความคิดนี้  ยังคงอยู่ในหมู่ชีอะฮและมีอิทธิพลต่อโลกมุสลิมจนถึงปัจจุบัน.

นักปราชญ์สายชีอะฮมีมากมายและเป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกอิสลาม  ได้แก่

๑) มุฮัมมัด บิน ยะกูบ กุลัยนีย์ หรือรู้จักในนาม”ษิกอตุลอิสลาม”(ผู้สัจจริงแห่งอิสลาม) เจ้าของตำราชื่อดัง”อัลกาฟีย์” เสียชีวิตปีฮ.ศ.ที่ ๓๒๙ ท่านเป็นนักปราชญ์ชีอะฮที่มีความโด่งดังมาก ซึ่งได้รวบรวมสายรายงานวจนะต่างๆของท่านศาสดามุฮัมมัดและบรรดาอิมาม โดยคัดลอกแยกออกเป็นหมวดๆ เรียงตามลำดับความสำคัญ ทั้งรายงานที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับหลักการศรัทธา และที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับฟิกฮ์(นิติศาสตร์) มีฮะดีษทั้งสิ้น ๑๖๑๙๙ ฮะดีษ เป็นตำราระดับแนวหน้าและตำราอ้างอิงสำคัญของชีอะฮ และมีชื่อเสียงที่สุด และจัดอยู่ในตำราหนึ่งตำราอ้างอิงทั้ง ๔คือ อุซุลุลกาฟี ของเชคกุลัยนี  มัลลายะดุรุลฟากีย์ ของท่านเชคซอดูก  อัต-ตะซีบ และอิสติบซอร ของเชคตูซีย์

๒) เชคศอดูก ผู้มีความโดดเด่นทั้งด้านนิติศาสตร์และด้านเทววิทยา

๓)เชคตูซี ผู้มีความชำนาญการด้านนิติศาสตร์เป็นอย่างมาก

๔)เชคมุฟีดผู้ชำนาญการด้านเทววิทยาและนิติศาสตร์อิสลาม

๕)ซัยยิดมุรตะฎอ

๖.ซัยยิดรอฎี

๗.ญะฟัร บินฮะซัน บินยะฮ์ยา ฮิลลี้ รู้จักในนาม”มุฮักกิกฮิลลี้”(เสียชีวิตปีฮ.ศ.ที่ ๖๗๖) ท่านมีความชำนาญเชี่ยวชาญด้านฟิกฮ์เป็นพิเศษ ซึ่งจัดว่าเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งในหมู่ปราชณ์ชีอะฮ ตำราชื่อดังของท่านคือ”ชะรอเอี๊ยะยุลอิสลาม ฟีมะซาอิริลฮะล้าน วัลฮะรอม”หรือรู้จักในนาม”อัชชะรอเอี๊ยะ” ซึ่งเป็นตำราที่ใช้ศึกษาในหมู่นักวิชาการยุคหลังของชีอะฮมานากเกือบ๗๐๐ปี

๗.ชะฮีด เอ้าวัล คือชัมซุดดีน มุฮัมมัด บิน มักกีย์ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดของท่านคือ”ลุมอะตุล ดะมิชกียะฮ”

อัลลามะฮฎะบะฎอบาอีย์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า…..”ท่านคอญะฮนะซีรุดดีน ตูซีย์(อีกท่านหนึ่ง) เสียชีวิตปีฮ.ศ.๖๗๒ เป็นปราชญ์ชีอะฮท่านแรกที่ได้เรียบเรียงและปรับปรุงวิชาการด้านเทววิทยาให้เป็นวิชาการรูปแบบแห่งปรัชญา ผลงานชิ้นเยี่ยมยอดของท่านคือ”ตัจรีดุลเอี๊ยะติก็อด” มีอายุเกินกว่าเจ็ดศตวรรษ ความน่าเชื่อถือตำรานี้ได้ถูกเก็บไว้ในหมู่นักปราชญ์มาตลอด ทั้งนักปราชญ์ฝ่ายซุนนีย์และฝ่ายชีอะฮได้เขียนหนังสือขึ้นมาใหม่เพื่ออรรถาธิบายตำราของท่านนั้น

ท่านศ็อดรุดดีน มุฮัมมัด ชีรอซี หรือมุลลาศ็อดรอ เสียชีวิตปีฮ.ศ.ที่ ๑๐๕๐ เป็นนักปรัชญาที่รวบรวมกฏเกณท์ที่สมบูรณ์และสเถียร เข้าสู่การอภิปรายถกเถียงปัญหาทางปรัชญาครั้งแรก ท่านได้บริหารจัดการและจัดระบบวิชาปรัชญาอิสลาม และได้ประสานปรัชญาเข้ากับวะฮยู อันทำให้เกิดการพัฒนาที่สำคัญบางประการติดตามมา ท่านได้ให้วิธีการใหม่ในการพิจรณาถกเถียงและแก้ปัญหานับร้อยปัญหาทางปรัชญา โดยผ่านปรัชญาสำนักอริสโตเติล ท่านทำให้ผลการวิเคราะห์และสรุปปัญหาทางรหัสยะเป็นไปได้ ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นปัญหาที่อยู่เหนือเหตุผลและเกินกว่าที่จะเข้าใจ โดยผ่านแนวความคิดทางปรัชญาของท่าน และสิ่งที่ท่านได้ทำคือ ทำให้ปรัชญาเป็นเรื่องง่ายต่อการศึกษา ปัญหาทางปรัชญาที่ไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่ได้รับคำคอบ ท่านได้แก้ไขจนหมดสิ้น ท่านทำให้ความสับสนระหว่างความรู้ภายนอกทางศาสนากับภายในของศาสนามีความกระจ่างขึ้น   ด้วยเหตุนี้ความชัดเจนทางศาสนาภายนอก หรัสยะและปรัชญาจึงเกิดความสมบูรณ์และดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน และตำราชื่อดังทางศาสตร์ปรัชญาของท่านคือ”อัลฮิกมะตุลมุตะอาลียะฮ”หรือรู้จักในนาม อัซฟัร อัลอัรบะอะฮ”(อ้างอิงจากหนังสือชีอะฮในอิสลามหน้า ๑๑๘)

วิธีที่สาม ญานหยั่งรู้หรือประจักษ์แจ้งแห่งจิต

วิธีคิดที่สาม เป็นวิธีคิดค่อนข้างจะละเอียดอ่อนมาก เพราะเป็นรูปแบบแห่งวิธีคิดใช้ญาณการหยั่งรู้ เพื่อการค้นพบความจริงแท้ และการนำไปสู่ความหยั่งรู้ที่แท้จริงต่อพระองค์อัลลอฮซ.บ. เป็นวิธีคิดแบบรหัสยะนัยนิยมของอิสลาม

อัลลามะฮฎะบะฎอบาอีย์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า….”ความน่าสนใจและพลังแห่งการดึงดูดของแนวทางรหัสยะ(ฌาณวิทยา) ทำให้คนที่รู้จักในพระเจ้า มีความสนใจต่อโลกแห่งความสูงส่ง และจิตใจของเขาจะบรรจุไว้ซึ่งความรักที่มีต่ออัลลอฮเท่านั้น โดยปล่อยวางจากทุกสิ่ง พวกเขาจะออกห่างจากสิ่งที่เป็นโมฆะธรรม และนำตัวเขาเข้าสู่การภัคดีและการสรรเสริญต่อพระองค์ (แนวทางฌาณวิทยา) เป็นวิธีคิดและนำหลักปฏิบัติธรรมสู่การเป็นบ่าวที่แท้จริงต่อพระผู้เป็นเจ้า และทำลายกิเลสธัญหา ความต้องการ และยังได้ยกระดับจิตใจของตนเองให้หลุดพ้นจากโลกแห่งวัตถุ ไม่หลุ่มหลงต่อสิ่งใด ดังนั้นนักรหัสยะนัย(อาริฟ) หมายถึงบุคคลที่เคารพภัคดีต่อพระเจ้า ผ่านความรู้และเพราะความรักต่อพระองค์ ไม่ใช่การปฏิบัติเพื่อรางวัลตอบแทน หรือหวาดกลัวต่อบทลงโทษ เป็นผู้มีความสัมผัสพิเศษที่เข้าถึงรหัสยภาวะ จิตของพวกเขาเกิดความรู้แจ่มแจ้งชัดเจน โดยไม่ต้องอาศัยการอ้างเหตุผล”(อ้างอิงจากหนังสือชีอะฮในอิสลาม หน้า๑๒๐)

สำนักคิดชีอะฮถือว่าการเข้าถึงรหัสยะนัยหรือความเป็นอิรฟาน(การประจักษ์แจ้งทางจิต)นั้นเป็นสิ่งที่ศาสนาสนับสนุน และการรู้แจ้งเห็นจริงแห่งจิตวิญญาณนั้นเป็นวิธีคิดหนึ่งของโลกทัศน์อิสลาม และแนวทางแห่งอิรฟานเป็นแนวทางของศาสนาอิสลามและยังถือว่าเป็นหัวใจของศาสนา เพราะเป็นที่มาของการภัคดีที่แท้จริงและการเข้าถึงพระเจ้าอย่างถูกต้องและมั่นคง เป็นการเข้าถึงแบบภายในของศาสนาเป็นกรอบในของหลักการทางศาสนา โดยผ่านกระบวนการแห่งการขัดเคลาจิตใจจนที่สุด จึงสามารถบรรลุความเป็นนักรหัสยะที่แท้จริง

ในโลกอิสลามผู้ที่นำวิถีทางแห่งรหัสยนัย(ตะซัววุฟ)มาคือ ท่านศาสดามุฮัมมัด ซึ่งท่านนั้นเป็นนักรหัสยะนัยที่มีระดับขั้นสูงสุดกว่าใครๆ โดยการปฏิบัติของท่านและวิธีนี้ถูกถ่ายทอดต่อสาวกของท่าน ซึ่งผู้ที่รับมรดกแห่งความเป็นนักระหัสยะได้ดีเยี่ยมและสมบูรณ์คือท่านอิมามอะลี บินอะบีตอลิบ ซึ่งในตำราแห่งประวัติศาสตร์ได้จารึกและบันทึกถึงเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดว่า ท่านอะลี บินอะบีตอลิบ ได้อธิบายเกี่ยวกับแก่นแท้ของแนวทางระหัสยะและระดับขั้นของชีวิตด้านในที่ทรงคุณค่า ต่อมาสานุศิษย์ของท่านได้ยึดมั่นในแนวทางนี้มา เช่นท่านซัลมาน ฟัรซี ท่านอบูซัร ฆัฟฟารีย์ ท่านกุเมล บินซิยาด ท่านมัยซัม ตัมมัรและท่านอื่นๆอีกจำนวนมาก ซึ่งนักซูฟีหรือนักรหัสยะยุคหลังไม่ว่าในสำนักซุนนีหรือสำนักชีอะฮได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าบรรดานักซูฟีเหล่านั้นเป็นสายโซ่ที่สืบทอดมาจากท่านอิมามอะลี บินอะบีตอลิบ

ท่านอัลลามะฮฎะบะฎอบาอีย์ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า….”บรรดาครูทางจิตวิญญาณของนักรหัสยะ เป็นสายโซ่ที่มีมาอย่างต่อเนื่องสืบทอดมาจากครูคนก่อนของพวกเขา จนสืบไปถึงท่านอิมามอะลี ผลของวิสัยทัศน์และการสถาปณาของพวกเขาที่ได้สืบทอดมาถึงยุคเรา ได้นำเอาความจริงและแนวคิดนั้นและความสูงส่งทางจิตวิญญาณ ที่พบในวจนะของท่านอิมามอะลีและอิมามท่านอื่นๆจากลูกหลานของท่านศาสดา(ศ) ซึ่งเป็นอิมามของสำนักชีอะฮ และนักซูฟีเชื่อว่าความสมบูรณ์ของมนุษย์ ได้รับการกล่าวถึงตามแนวทางชีอะฮ ซึ่งได้มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยมในตัวของบรรดาอิมาม และรัศมีแห่งความสมบูรณ์นี้ได้ฉายแสง จับต้องอยู่บนตัวของผู้ที่ได้เจริญรอยตามพวกท่าน(อ)”

 

ดังนั้นบุคคลที่ได้รับความหยั่งรู้หรืออยู่ในแนวทางของญาณวิทยา พวกเขาจะมิได้มีเจตตนาอื่นใดนอกจากเพื่อรำลึกต่อพระเจ้า ไม่มีความปรารถนาแอบแฝง และพวกเขาจะมีจิตใจที่สะอาด สายตาของพวกเขาจะมองเห็นโลกแห่งรหัสยะที่แท้จริง และมีความใกล้ชิดต่อพระเจ้าอย่างสมบูรณ์  ด้วยเหตุนี้หนทางแห่งซูฟีหรือหนทางแห่งอิรฟานเป็นหนทางที่ดีเลศ และเป็นวิธีคิดหนึ่งของศาสนา โดยที่นำทางมนุษย์ผู้ที่อยู่ในแนวทางนี้ไปสู่”การประจักษ์แจ้งในตนเอง”และนำไปสู่การรู้จักพระเจ้าที่แท้จริง ดังวจนะของท่านศาสดา(ศ)ที่ว่า…

    “ใครก็ตามรู้จักตัวเขาดี เขาย่อมรู้จักพระเจ้า”

  “ใครก็ตามที่รักพระเจ้าของเขาอย่างดี เท่ากับเขาได้รู้จักตัวเองดีที่สุด”

 

บทความโดย  ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน