ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสลาม ตอนที่ 7

ความสำคัญกับการเข้าใจระหว่างสำนักคิดในอิสลาม ตอนที่ 7

 

สำนักคิดชีอะฮ์กับปรัชญาเทววิทยา 2

 

เทววิทยาสำนักคิดชีอะฮ์มีความเป็นเอกลักษณ์และถือว่ามีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ด้วยกับกระบวนการทางความคิดและหลักคิดที่ค่อนข้างจะแตกต่างกับสำนักคิดอื่นๆ กล่าวคือ สำนักคิดชีอะฮ์ในด้านหนึ่งได้นำบทอ้างอิงหรือหลักฐานอ้างอิงที่มาจากตัวบทจากอัลกุรอานและอัลฮะดีษและอีกด้านหนึ่งได้นำทฤษฎีหรือหลักคิดที่เป็นการผสมผสานกับทฤษฎีทางอภิปรัชญาและหลักตรรกศาสตร์เพื่อให้เห็นถึงข้ออ้างอิงที่เป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ และที่น่าสนใจอีกประเด็นคือแท้จริงสำนักคิดชีอะฮ์ยังได้นำหลักฮะดีษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสำนักคิดที่ชีอะฮ์มาแสดงเป็นหลักฐาน เนื่องจากข้อเท็จจริงสำหรับเรื่องนี้ในแง่มุมของวิชาด้านฮะดีษ ในโลกชีอะฮ์มีหลักการและมาตรฐานและเนื้อหาของตัวบทที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา ซึ่งยังรวมถึงกลุ่มประเภทอัลฮะดีษซึ่งมีการวิเคราะห์และการสังเคราะห์ โดยผ่านการกำหนดว่าด้วยหลักวิชาฮะดีษ นั่นหมายความว่า มีการวิเคราะห์และพิสูจน์ต่อประเด็นปัญหาเหล่านั้น กล่าวคือจะพิจารณาต่อบริบทต่างๆของการรายงานฮะดีษ เช่น หากพูดถึงปัญหากฏสภาวะการกำหนดและเสรีภาพของมนุษย์,เจตนารมณ์ของพระผู้เป็นเจ้า, พระนามและคุณลักษณะของพระองค์, วิญญาณ, มนุษย์, ชีวิตหลังความตาย, บัญชีสอบสวนพฤติกรรม, , การตรวจสอบในโลกหน้าและอื่นๆในประเด็นด้านเทววิทยา จะมีการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้นและจะนำมาอรรถาธิบายเพิ่มเติมไว้ และวิชาการด้านอัลฮะดีษในโลกชีอะฮ์ทุกปัญหาเหล่านี้ได้นำมาแจกแจงและพิสูจน์และพิเคราะห์ด้วยหลักฐาน กอรปกับได้มีการประเมินต่อสถานการณ์ทางการเมืองต่อบทฮะดีษเหล่านั้นเพื่อสืบค้นหาฮะดีษแท้  หรือนำมาเปรียบเทียบระหว่างฮะดีษต่างๆในหมวดเดียวกันจากตำราด้านฮะดีษที่ถูกยอมรับจากโลกของอะลิซซุนนะฮ์ เรียกว่า”ศิฮะฮุซซิตตะฮ์”(ตำราฮะดีษทั้งหก)กับหมวดต่างๆของฮะดีษในตำราอัลกาฟี ของท่านเชคกุลัยนี แล้วนำมาสังเคราะห์อีกรอบหนึ่งเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ทั้งเชิงปัญญาและเชิงเนื้อหา

นอกจากนี้ ยังมีบางตัวบทฮะดีษของสำนักชีอะฮ์ที่จัดอยู่ในประเภททางด้านเทววิทยา คือบทรายงานจากศาสดาและบรรดาอิมามที่ได้นำการใช้ความคิดเชิงเหตุผลทางปัญญา และการวิเคราะห์และวิจัยทางความคิดในการพิสูจน์และการโต้ตอบ  นี้คืออัตลักษณ์หนึ่งที่จะสร้างความเข้าใจต่อด้านวิชาเทววิทยาอิสลามที่ได้นำรูปแบบการวิพาษเชิงเหตุผลและใช้หลักสติปัญญาในศาสนาอิสลาม และสร้างความเข้าใจต่อนักบูรพาคดีและการเรียนรู้ด้านอิสลามศึกษาชาวตะวันตกและตะวันออกได้ระดับหนึ่ง เพราะว่ามีนักบูรพาคดีบางคน อาจจะด้วยความตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พวกเขาได้วิจารณ์ในเชิงลบต่อหลักคิดทางปรัชญาและการใช้สติปัญญาในกรอบของอิสลาม โดยที่พวกเขาอาจจะพวกเขาลืมไปว่า ครั้งแรกของการถกเถียงเชิงพิสูจน์เหตุผลทางปัญญาถูกนำเสนอโดยท่านศาสดามุฮัมมัดและต่อมาท่านอิมาม อาลี  บินอะบีตอลิบและบรรดาสาวกอันทรงเกียรติของศาสดาได้นำมาใช้เป็นหลักคิดจนเกิดผลบวกที่ส่งผลงดงามจนถึงทุกวันนี้

นักประวัติศาสตร์อิสลามได้สารภาพว่า วิธีการพิสูจน์เชิงเหตุและแบบวิธีการทางปรัชญาเป็นอัตลักษณ์เด่นของสำนักคิดชีอะฮ์มาตั้งแต่สมัยแรกๆแล้ว กล่าวคือกระบวนการคิดของสำนักชีอะฮ์ตั้งอยู่บนการพิสูจน์เชิงปัญญามาแต่เดิม แนวทางการใช้หลักคิดทางปรัชญาและสติปัญญาของสำนักชีอะฮ์มิใช่เพียงแตกต่างและไม่เหมือนกับแนวทางการคิดแบบท่านอิมามอะหมัด ฮัมบะลี  ซึ่งปฏิเสธการนำหลักคิดเชิงตรรกะและปรัชญามาใช้อย่างสิ้นเชิงต่อการพิสูจน์เชิงเหตุผลในหลักความเชื่อทางศาสนา และก็ยังมีความเหมือนอยู่แนวทางการคิดแบบสำนักคิดอะชาอิเราะฮ์ซึ่งได้ยอมรับมาตรการพื้นฐานของปัญญาในการพิสูจน์ด้านหลักเทววิทยา และถึงแม้สำนักคิดชีอะฮ์จะนิยมในด้านหลักปรัชญาของการพิสูจน์เนื้อหาทางเทววิทยา แต่ก็ยังแตกต่างกับวิธีการคิดเชิงเหตุผลนิยมแบบสำนักคิดมุอ์ตะซิละฮ์เช่นกัน เพราะว่าการคิดแบบสำนักมุอตะซิละฮ์ถึงแม้ว่าจะเป็นเชิงเหตุผลนิยมแต่ว่าจะเป็นรูปแบบของวิพาษวิธี ไม่ใช่เป็นเหตุผลเชิงปัญญาบริสุทธิ์

นักปรัชญาสำนักชีอะฮ์ พวกเขาได้สร้างความแข็งแกร่งต่อหลักความเชื่อขั้นพื้นฐานของอิสลาม ด้วยกับการชี้นำจากอัลกุรอานและบทฮะดีษศาสดา โดยผ่านการขยายความจากบรรดาผู้นำแห่งอะลุลบัยต์ศาสดา และผ่านมาถึงปราชญ์ผู้รู้ที่ตกผลึกทางปรัชญาโดยปราศจากการเปลี่ยนศาสตร์ปรัชญาให้เป็นเทววิทยาหรือเปลี่ยนเทววิทยาให้เป็นปรัชญา แต่ยังสร้างอัตลักษณ์ที่น่าสนใจคือการนำเอารูปของการพิสูจน์เชิงเหตุผลทางปัญญาให้เป็นเหตุผลเชิงวิพาษวิธี(แบบแนวทางกะลาม)แต่ได้ใช้หลักคิดทางทฤษฎีของปรัชญาอิสลามเข้ามาพิสูจน์อีกโสตหนึ่ง เพราะเหตุนี้เองถ้าเราต้องการจะนับนักวิชาการทางเทววิทยาสำนักชีอะฮ์  แท้จริงพวกเขาคือบุคคลที่มีกระบวนการพิสูจน์เหตุผลเชิงปัญญาเกี่ยวกับหลักความเชื่อของอิสลาม และเราต้องนับกลุ่มบุคคลที่เป็นนักรายงานฮะดีษเช่นเดียวกันกลุ่มนักปรัชญาสำนักชีอะฮ์รวมให้จัดเป็นกลุ่มนักวิชาการเทววิทยาด้วย เพราะว่า ดังที่เรากล่าวไปแล้ว สำนักชีอะฮ์ได้นำหลักฐานอ้างอิงทางเทววิทยาทั้งทางบทฮะดีษและทางหลักคิดปรัชญา และถือว่าสำนักชีอะฮ์ได้ยึดหลักฐานทั้งสองได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อเทววิทยาควบคู่กันมา

 

ในจำนวนสาวกของท่านอิม่ามศอดิก(อ)มีกลุ่มหนึ่งที่ท่านอิม่ามเองเรียกพวกเขาว่านักเทววิทยา(มุตะกัลลิมีน)อย่างเช่น ท่านฮิชาม บิน ฮิกัม ท่านฮิชามบิน ซาเล็ม  ท่านอิมรอน บินชะฮบัน อะบูญะฟัรอะฮ์วัล รู้จักในนาม “มุมินอัตต๊อก” และบุคคลอื่นๆ

ในหนังสือ อัลกาฟี มีรายงานถึงเรื่องราวของการถกเถียงตอบโต้ของบุคคลกลุ่มนี้กับคนต่างศาสนิกต่อหน้าท่านอิม่ามศอดิก(อ)  ทำให้อิม่ามศอดิก(อ)พอใจและยินดีกับวิธีการนำเสนอและโต้ตอบนั้น

สานุศิษย์ของอิมามศอดิก(อ)กลุ่มนี้ใช้ชีวิตช่วงแรกของศตวรรษที่สองปีฮิจเราะฮ์ พวกเขาเป็นผู้ได้รับการอบรมจากอิม่ามศอดิก(อ) และนั่นก็แสดงให้เห็นว่าบรรดาอะฮ์ลิลบัยต์(อ)ไม่ใช่แค่เพียงตัวท่านเองที่ใช้รูปแบบวิพาษวิธีและการถกเถียง วิจัย และวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาต่างๆทางเทววิทยาแต่ยังอบรมสั่งสอนบุคคลกลุ่มหนึ่งในสำนักของตัวเองให้มีความเชียวชาญสำหรับการถกเถียงโต้ตอบทางด้านหลักความเชื่อ และสร้างองค์ความรู้ด้านหลักการศรัทธาต่อประชาชน ท่าน ฮิชาม บินฮิกัม เป็นผู้ชำนาญการด้านเทววิทยาอิสลาม และท่านมิใช่เป็นนักนิติศาสตร์หรืนักอฮะดีษหรือเชี่ยวชาญด้านอัลกุรอานเพียงอย่างเดียว ในขณะที่อายุเริ่มเป็นวัยรุ่นเป็นคนหนุ่ม อิม่ามศอดิก(อ)ให้เกียรติเขามากกว่าสานุศิษย์ท่านอื่นๆและแสดงการยกย่องเขาเหนือคนอื่นๆ ทุกคนมีความเห็นตรงกันต่อการปฏิบัติลักษณะนี้ของอิม่ามศอดิก(อ)ว่า การยกย่องและให้เกียรติที่พิเศษเช่นนี้ก็เพราะด้วยความเป็นนักวิชาการและเป็นผู้มีความชำนาญการด้านเทววิทยาในการปกป้องศาสนาจากพวกต่างศาสนิกได้อย่างน่าภาคภูมิ

อิม่ามศอดิก(อ)กับการให้เกียรติต่อ ฮิชาม อิบนิฮะกัมในฐานะนักเทววิทยาเหนือกว่าปราชญ์ด้านนิติศาสตร์และด้านฮะดีษ ปรัชญาของเรื่องนี้คือความจริงต้องการจะยกระดับคุณค่าของการถกเถียงอย่างมีเหตุมีผลและการใช้หลักเทววิทยาประเด็นปัญหาทางด้านความเชื่อ และชี้ให้เห็นว่าศาสตร์ด้านเทววิทยามีความสำคัญไม่น้อยกว่านิติศาสตร์และวิชาการด้านฮะดีษ แน่นอนการปฏิบัติเช่นนี้ของท่านอิม่ามศอดิก(อ)มีผลอย่างมากต่อการส่งเสริมวิชาเทววิทยา โดยจะเห็นได้ จากการใช้เหตุผลทางปัญญาของสำนักชีอะฮ์นั้นนับตั้งแต่เริ่มแรกเป็นการใช้เหตุผลแบบเทววิทยาและแบบปรัชญา

ครั้งหนึ่งท่านอิม่ามศอดิก(อ)อยู่ร่วมในการชุมนุมเพื่อเสวนาและสนทนาปัญหาศาสนาที่คอลีฟะฮ์บะนีอับบาสได้จัดขึ้นโดยเชิญนักวิชาการด้านเทววิทยาสำนักต่างๆมาร่วมด้วย ท่านอิม่าม(อ)เสวนาโต้ตอบกับพวกเขา ข้อมูลและรูปแบบการเสวนาครั้งนั้นได้ถูกบันทึกใว้ในหนังสือของสำนักชีอะฮ์ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันถึงความสร้างสรรค์ของศาสตร์นี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าการสานเสวนาและแสดงเหตุผลด้วยการถกเถียงด้านหลักความเชื่อ ที่ไม่แสดงออกถึงความอคติและการแตกแยกระหว่างกันและกัน

บรรดานักบูรพาคดีและผู้ชำนาญการด้านอิสลามศึกษาของชาวตะวันตกและชาวตะวันออก เช่นเดียวกับที่พวกเขาแสดงจุดยืนโดยการนิ่งเงียบต่อความพยายามของท่านอิม่ามอะลี(อ)  พวกเขามิได้ให้ความสนใจต่อเหตุการณ์ทั้งหมดเหล่านั้นที่บรรดาอิมามแห่งอะลุลบัยต์ศาสดาให้การส่งเสริมฟื้นฟูการด้านการวิพาษวิธีในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ซึ่งในประเด็นปัญหาต่างๆด้านศาสนาที่บรรดาอิมาม(อ)ได้ใช้หลักเหตุผลทางปัญญาเกี่ยวกับหลักความเชื่อ กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าทึ่งและเป็นความมหัศจรรย์ยิ่ง แต่แปลกที่นักวิชาการนตะวันตกนั้นไม่สนใจ

ท่านฟัฎล์ บินซอซาน นีชอบูรี เป็นสานุศิษย์ท่านหนึ่งของอิม่ามริฎอ(อ)และศิษย์อิม่ามญะวาด(อ)อีกทั้งยังเป็นได้อยู่ร่วมสมัยของอิม่ามฮาดี(อ) หลุมฝังศพของเขาอยู่ที่เมืองนีชอบูร(ประเทศอิหร่าน)  ท่านเป็นผู้ชำนาญการด้านนิติศาสตร์อิสลาม เป็นนักรายงานฮะดีษ เป็นนักวิชาการด้านเทววิทยาอิสลามที่หาตัวเปรียบในยุคของเขา  เขาได้เขียนตำราและหนังสือเกี่ยวกับเทววิทยาจำนวนมากมายทีเดียว

มีนักการศาสนาตระกูลนูบัคต์หลายท่าน พวกเขาเป็นนักวิชาการด้านเทววิทยา เริ่มจากท่านฟัฎล์ บินอะบีซะฮล์ บินนูบัคต์ ซึ่งในสมัยคอลิฟะฮ์ฮารูนได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ชั้นสูงและเป็นบรรณารักษ์ของห้องสมุดที่มีชื่อเสียง “บัยตุ้ลฮิกมะฮ์” และเป็นนักแปลภาษาเปอร์เซีย-อาหรับที่เลื่องลือ ต่อมาท่านอิสฮาก บินอะบีซะฮล์บินนูบัคต์และลูกชายของเขา อิสมะอีลบินอิสฮากบินอะบีซะฮล์บินนูบัคต์ และลูกชายของเขาอีกท่านหนึ่งคือ อาลีบินอิสฮาก ภายหลังจากนั้นหลานชายของเขาคือท่านอะบูซ๊อล อิสมาอีลบินอะลี เขาถูกเรียกขานในแวดวงสำนักชีอะฮ์ว่าเชคุลมุตะกัลลิมีน(ประมุขแห่งนักเทววิทยา) ต่อมาท่านฮะซันบินมูซา นูบัคตี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่านอิสมาอีลบินอะลี และคนอื่นๆอีกมากมายหลายท่านจากตระกูลนี้ทั้งหมดเป็นนักวิชาการด้านเทววิทยาสำนักชีอะฮ์

อิบนุกุบบะฮ์ รอซี ในศตวรรษที่สามแห่งฮิจเราะฮ์และท่านอะบูอะลีบินมัสกุวียะฮ์นักปรัชญาและผู้ชำนาญการด้านการแพทย์ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เจ้าของหนังสือ “ตะอารอตุ้ลอะร้อก” เป็นอีกท่านหนึ่งที่เป็นนักเทววิทยาสำนักชีอะฮ์ในช่วงแรกของศตวรรษที่ห้าแห่งฮิจเราะฮ์

นักเทววิทยาสำนักชีอะฮ์มีจำนวนมากมาย เช่น คอญะฮ์ นะศีรุดดีน ตูซี ท่านยังเป็นทั้งนักปรัชญา นักคณิตศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง เจ้าของหนังสือ “ตัจรีดุลอะกออิด” และท่านอัลลามะฮ์ ฮิลลี้ เป็นทั้งนักนิติศาสตร์และเป็นหนึ่งจากผู้ที่มาขยายความหนังสือ “ตัจรีดุลอะกออิด” เป็นนักเทววิทยาที่โดดเด่นช่วงศตวรรษที่เจ็ดแห่งฮิจเราะฮ์

คอญะฮ์ นะศีรุดดีน ตูซี ท่านเป็นผู้รู้และนักปรัชญาผู้เชียวชาญ ท่านได้สร้างเนื้อหาวิชาการทางเทววิทยาที่เข็มแข้งที่สุด โดยการการเรียบเรียงหนังสือ “ตัจรีดุ้ลอะกออิด” หลังจากนั้นนักวิชาการเทววิทยาทุกคน-ทั้งชีอะฮ์และซุนนะฮ์- ได้ให้ความสนใจต่อเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ คอญะฮ์นะศีรุดดีน ตูซี ได้เปลี่ยนเทววิทยาจากแนวทางใช้พิสูจน์แบบวิพาษวิธี ให้เข้าใกล้แนวทางใช้พิสูจน์เชิงเหตุและปรัชญามากขึ้น ต่อมาภายหลังนั้น เทววิทยาอิสลามเกือบทุกสำนักได้ยกเลิกแนวทางแบบวิพาษวิธี  แต่เปลี่ยนมาใช้แนวทางการพิสูจน์เชิงเหตุและผลทางปรัชญามากขึ้น

นักปรัชญาสำนักชีอะฮ์ยุคหลังจากท่านคอญะฮ์ นะศีรุดดีน พวกเขาได้นำประเด็นปัญหาต่างๆที่สำคัญของเทววิทยามาถกในวิชาปรัชญาโดยใช้แนวทางของปรัชญาในการวิเคราะห์และพิสูจน์ปัญหาเหล่านั้นและเป็นแนวทางที่ได้รับผลสำเร็จเกินคาด และถือว่าปรัชญาเป็นศาสตร์ที่รับใช้เทววิทยา เช่นท่านฮะกีม ซับซะวารี  ส่วนนักเทววิทยาปัจจุบันของสำนักคิดชีอะฮ์ ได้แก่อายาตุลลอฮ์ มุรตะฎอ มุเฎาะฮารี     อายาตุลลอฮ์ มิศบาห์ ยัซดี และอื่นๆอีกจำนวนมาก ทั้งปราชญ์ที่อยู่ในอิรักและในอิหร่าน

 

บทความโดย  ดร.ประเสริฐ สุขศาสน์กวิน