เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความลับแห่ง “ริฎวาน” ตอนที่ 7

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความลับแห่ง “ริฎวาน”
บุรุษไร้เงา มันสมองของฮิซบุลลอฮ์


ประวัติและเรื่องเล่าของขุนพลแห่งกองกำลังขบวนการต่อสู้อิสลาม ชะฮีด อิมาด มุฆนียาห์ ตอนที่ 7

 

(สงครามกลางเมืองเลบานอน)
การปรากฏตัวของกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ในเลบานอน  ก่อให้เกิดปัญหากับรัฐบาลเลบานอน เกิดการปะทะระหว่างกองกำลังติดอาวุธปาเลสไตน์และกองทัพเลบานอนเป็นระยะเวลาหนึ่ง   อีกด้านหนึ่งนักการเมืองและนักธุรกิจเลบานอนบางคน ก็มีความวิตกกังวลต่ออิทธิพลของ อิมามมูซา ศ็อดร์ ที่ได้รับความนิยมจากพี่น้องชีอะห์ ซุนนีและคริสต์เตียนอีกทั้งการขับเคลื่อนกองกำลังแห่งการปฏิวัติของท่าน และปัญหาต่างๆเหล่านี้ค่อยๆกลายเป็นปัจจัยไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองในเลบานอนในเวลาต่อมา
บรรดาผู้มีอำนาจทางการเมืองของชีอะห์ ซุนนี และคริสต์เตียน อีกทั้งบรรดาผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้ที่ถูกกดขี่ ซึ่ง อิมามมูซา ศ็อดร์ได้รวบรวมเป็นกลุ่มก้อนนั้นมีความเป็นเอกภาพและสามัคคีกันในการเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐ
ในปี ค.ศ.1974 พรรคของคริสต์เตียนได้ทำการซื้ออาวุธ และฝึกอบรมให้กับบรรดาเยาวชน  เช่นกันองค์กรและหน่วยงานต่างๆของปาเลสไตน์ก็ได้มีการติดอาวุธ ด้วยกับข้ออ้างการยืนหยัดต่อสู้กับอิสราเอล อีกทั้งกลุ่มพันธมิตรต่างๆในเลบานอน เช่น กลุ่มคอมนิสต์ กลุ่มชาตินิยม กลุ่มสังคมนิยม ก็ได้ติดอาวุธเช่นเดียวกัน
ในปี ค.ศ.1976 ได้เกิดสองเหตุการณ์สำคัญในเลบานอน เหตุการณ์แรกถือเป็นชนวนสู่สงครามกลางเมืองในเลบานอน  บรรดานักธุรกิจและนักลงทุนเลบานอนได้ก่อตั้งบริษัทแห่งหนึ่งภายใต้การดูแล ของ “กุเมล ชัมอูน” อดีตประธานาธิบดีเลบานอน ได้เข้าไปควบคุมการประมงในชายหาดเลบานอนเป็นของตนเอง
ด้วยการก่อตั้งบริษัทนี้ ทำให้ชาวประมงที่ยากจน ซึ่งทำการประกอบอาชีพหารายได้ด้วยอาชีพนี้ พบกับอุปสรรคปัญหา เพราะบริษัทนี้ไม่อนุญาตให้พวกเขาออกไปหาปลา  ชาวประมงในเมืองศ็อยดา ภายใต้การนำของ มะอ์รูฟ สะอัด ได้ทำการเดินประท้วง  ซึ่งมะอ์รูฟ สะอัด เป็นซุนนี แต่ชื่นชอบท่านอิมามมูซา ศ็อดร์  และจากการเข้าแทรกแซงของกองทัพภายใต้คำสั่งของรัฐบาล ทำให้กลายเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง ทหารได้ใช้อาวุธกราดยิงผู้ประท้วง กระทั่ง มะอฺรูฟ ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งการเสียชีวิตของ มะอฺรูฟ นั้น เป็นการจุดชนวนสู่สงครามกลางเมืองครั้งแรกในเลบานอน
เหตุการณ์ที่สองในปี ค.ศ.1976   เริ่มขึ้นด้วยการยิงกราดในพิธีแต่งงานที่จัดขึ้นในโบสถ์ ซึ่งในเวลานั้นหัวหน้าพรรคกะตาอิบ กำลังเยี่ยมชมโบสถ์ในพื้นที่ดังกล่าว การโดนลอบสังหารจนเสียชีวิต ทำให้เยาวชน “ฮิซบ์ ฟัลอันซาร์” โกรธแค้นเป็นอย่างมาก จึงได้จับอาวุธออกมาต่อสู้และกล่าวหาว่าชาวมุสลิมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในเหตุการณ์ลอบสังหารนั้น  พวกเขาได้กราดยิงเยาวชนมุสลิมชาวปาเลสไตน์ ทำให้เสียชีวิตจำนวนมาก
จากนั้น ชาวปาเลสไตน์ก็ได้จับอาวุธและเข้ามาในเขตพื้นที่ดังกล่าว  ชาวคริสต์ก็ออกมาเผชิญหน้ากับพวกเขา และสงครามกลางเมืองก็เริ่มรุนแรงขึ้นจากจุดนี้
 การปะทะกันในวันแรกๆ ก็จะใช้อาวุธชนิดเบา เช่น ปืนพกสั้น ปืนยาว  และเมื่อวันเวลาผ่านไป ก็เริ่มใช้อาวุธหนักขึ้น เช่น อาร์พีจี  ปืนครก รถถัง เว้นแต่ เฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินรบเท่านั้นที่ไม่ได้มีการนำมาใช้
ด้วยเหตุนี้ เลบานอนจึงได้กลายเป็นสองส่วนในทันที  
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น มีมือที่สามที่ต้องการแบ่งแยกเลบานอน ต้องการให้เลบานอนแตกเป็นเสี่ยงๆ เนื่องจากในเวลานั้น ไม่ได้มีประเด็นขัดแย้งเลยระหว่างคริสตชนและมุสลิม  มีชาวมุสลิมจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ของชาวคริสต์ และก็มีชาวคริสต์จำนวนไม่น้อยที่ได้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ของมุสลิม  แต่ทว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ทุกคนก็รู้สึกไม่มีความปลอดภัย
บุคคลแรกที่ได้เข้าขจัดปัญหาและทำลายแผนการสมรู้ร่วมคิดดังกล่าวก็คือ อิมาม มูซา ศ็อดร์   ท่านคัดค้านสงครามอย่างรุนแรง  เพราะท่านรู้ดีว่าเป้าหมายหนึ่งของสงครามครั้งนี้คือ การสกัดกั้นการขับเคลื่อนอันยิ่งใหญ่ของท่าน(เพื่อความปึกแผ่นของเลบานอน)   การขับเคลื่อนที่ได้เพียรพยายามมาเป็นเวลาหลายปี
หลังจากที่กองกำลังของกลุ่มแพนอาหรับในเลบานอนได้เข้าประจำการซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกชาวซีเรีย สงครามก็ได้ยุติลง แต่ทว่าปัจจัยพื้นฐานไปสู่สงครามยังคงอยู่
หลังจากที่ อิมาม มูซา ศ็อดร์ ถูกลักพาตัวไปในปี ค.ศ.1979  สถานการณ์ภายในเลบานอน กลับมามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น  แต่ทว่าหลังจากการปฏิวัติอิสลามอิหร่านประสบความสำเร็จในปี ค.ศ.1979 ความสมดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคได้สั่นคลอน และสงครามกลางเมืองในเลบานอนที่ปะทุมานานหลายปีก็ได้สิ้นสุดลง


ติดตามตอนที่ 8

บทความโดย ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม