อิมามบากิร (อ.) อิมามท่านแรกที่เปิดเผยฮากีกัตของอัลกุรอาน
อิมามบากิร (อ.) อิมามท่านแรกที่เปิดเผยฮากีกัตของอัลกุรอาน
ก่อนอื่น ขอแสดงความเสียใจยังท่านอิมามประจำยุคสมัย อิมามมะฮ์ดี (อ) และบรรดาผู้ศรัทธาทุกท่าน เนื่องในวันคล้ายวันชะฮาดัตของท่านอิมามมูฮัมมัด อัล-บากิร(อ.)
ในช่วงปีที่ท่านอิมามบากิร(อ.)ดำรงตำแหน่งอิมาม เป็นช่วงที่บนีอุมัยยะฮ์ (ล.น) กำลังอ่อนแอในอำนาจ อิมามบากิร(อ.) จึงมีโอกาสนำเสนอความรู้ต่างๆและมีบทบาท ในฐานะอิมามท่านแรกที่เปิดเผยฮากีกัต (แก่นแท้) ต่างๆของอัลกุรอาน
บริบทนี้ ได้เกริ่นนำไปแล้ว [ในการบรรยาย]ว่า ในสมัยของท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) ไม่มีโอกาสที่จะอรรถธิบายอัลกรุอานได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากอัลกุรอานลงมาตลอด ๒๓ ปีแห่งการเผยแพร่และใน ๒๓ ปีนั้น เต็มไปด้วยภารกิจต่างๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการฮิจเราะฮ์ และภารกิจการดูแลสังคม
กอปรกับในสมัยของรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)เกิดสงครามมากถึง ๘๐ สงครามด้วยกัน และเกิดขึ้นในห้วงเวลา ๑๐ ปีด้วย ซึ่งไม่ใช่ช่วง ๒๐ กว่าปี ที่ท่านรอซูลลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)ทำการเผยแพร่ อีกทั้งฮะดีษที่ถูกต้องได้ถูกทำลายอย่างมากมาย เพราะสงครามทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)ได้อพยพมายังเมืองมะดีนะฮ์นั่นเอง
เมื่อเข้ายุคสมัยของท่านอิมามอะลี(อ.) และอิมามฮะซัน(อ.)ก็ไม่มีโอกาสเช่นกัน เพราะเป็นช่วงที่บนีอุมัยยะฮ์(ล.น) ได้โฆษณาชวนเชื่อบิดเบือนศาสนาไปถึงขั้นสูงสุดแล้ว
ต่อมา เข้าถึงสู่ยุคสมัยของท่านอิมามฮุเซน(อ.) คิดว่าคงไม่ต้องสาธยาย เพราะทุกท่านรู้อยู่เต็มอกว่า เกิดอะไรในยุคของท่าน และเมื่อมาถึงยุคของอิมามบากิร(อ.) ตามที่บอกไปแล้วว่า เป็นช่วงของโอกาส ที่พอเหมาะพอดีต่อการทำภารกิจ ในการวางรากฐานวิชาการแห่งอิสลามที่แท้จริงอันยิ่งใหญ่นี้
ท่านอิมามบากิร(อ)จึงเป็นคนแรกที่เปิดเผยฮากีกัตทั้งหมดของอัลกุรอาน ซึ่งแทบจะกล่าวได้ว่า อัลกุรอานทั้งหมดที่ได้กล่าวถึงอะฮ์ลุลบัยต์ ท่านอิมามบากิร(อ)คือ ผู้อรรถาธิบาย จนกระทั่งบรรดาอาเล็มอุลามาอ์ของเราท่านหนึ่ง ได้เขียนตัฟซีรเล่มหนึ่งขึ้นมา ชื่อ “ตัฟซีร ศอฟี”
คำว่า “ศอฟี” หมายถึง “สะอาดบริสุทธิ์” เป็นตัฟซีรที่ไม่ใช้ทัศนะตนเองในการตัฟซีร หมายความว่า เป็นการอธิบายกุรอาน ตามที่ท่านอิมาม(อ.)บอกเท่านั้น เช่น โองการนี้ท่านอิมามบากิร(อ.)ได้อธิบายและกล่าวแบบนี้ ท่านอิมามศอดิก(อ.)กล่าวเช่นนี้ ท่านอิมามริฎอ(อ.)อธิบายแบบนี้ ซึ่งชื่อของอิมามที่มีมากที่สุดในตัฟซีรเล่มนั้น ก็คือ ท่านอิมามบากิร(อ)
ดั่งในโองการที่ ๗๒ ซูเราะฮ์อัล อะฮ์ซาบ อัลลอฮ์(ซ.บ.)ทรงตรัสว่า
إِنَّا عَرَضْنَا الْأَمَانَةَ عَلَى السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ وَالْجِبَالِ فَأَبَيْنَ أَن يَحْمِلْنَهَا وَأَشْفَقْنَ مِنْهَا وَحَمَلَهَا الْإِنسَانُ إِنَّهُ كَانَ ظَلُومًا جَهُولًا
ความว่า “แท้จริงเราได้เสนออะมานะฮ์ แก่ชั้นฟ้าทั้งหลาย และแผ่นดิน และขุนเขาทั้งหลาย แต่พวกมันปฏิเสธจะแบกรับมันและกลัวต่อมัน (คือภาระอันหนักอึ้ง) และมนุษย์ได้แบกรับมัน แท้จริงเขา (มนุษย์) เป็นผู้อธรรมที่งมงายยิ่ง”
อะมานะฮ์นี้คืออะไร?
เราพบว่า ก่อนหน้านี้ยังไม่ได้ถูกเปิดเผย และหากเข้าใจว่าเป็นอะมานะฮ์ของอิสลาม ก็ไม่ผิด เป็นอะมานะฮ์ในการรับผิดชอบ การที่มนุษย์เสนอตัว ตรงนี้เพื่อมารับหน้าที่ทางศาสนาของพระองค์... แต่เมื่อถามท่านอิมามบากิร(อ.)แล้ว ท่านอิมามกล่าวว่า...
“ฉันคือความหมายที่แท้จริงของโองการนี้”
ท่านอิมามบากิร(อ.) กล่าวว่า "ฉันคืออะมานะฮ์ที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้นำเสนอให้กับมนุษย์”
หากจะแปลให้เข้าใจกันง่ายๆ จะไม่มีใครได้เกิดเป็นมนุษย์ ถ้าไม่มีใครไปรับผิดชอบ หรือเสนอหน้าว่า เราจะรับผิดชอบในเรื่องของอะฮ์ลุลบัยต์..... เราจะดูแลอะฮ์ลุลบัยต์...... เราจะปกป้องอะฮ์ลุลบัยต์(อ.)
นี่คือ กรณีตัวอย่าง การตัฟซีรของอิมามบากิร(อ.) ที่เป็นผู้เปิดเผยอัลกุรอานในอีกมิติหนึ่ง และขอยืนยันว่าอัลกุรอานในมิติเช่นนี้มีจำนวนมาก ที่ท่านอิมามบากิร(อ) คือ ผู้ริเริ่มกระบวนการทางความรู้อันนี้
ด้วยเหตุผลอันนี้เอง ที่ความรู้ของท่านเป็นที่ยอมรับ ทว่าประการสำคัญ เพราะท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)ได้ยืนยันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า บรรดาอิมามหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็นท่านอิมามญะอ์ฟัร(อ.) ท่านอิมามมูซา(อ.) ท่านอิมามริฏอ(อ.) จนถึงท่านอิมามฮะซัน อัลอัสการี(อ.) หรืออิมามมะฮ์ดี(อ.ญ.) ซึ่งฮะดีษทั้งหมด จะไปจบที่ท่านอิมามบากิร(อ.)และท่านอิมามญะอ์ฟัร(อ.) ถึงจะต่อไปถึงยังท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ)ได้ เพราะท่านอิมามบากิร(อ.) คือ ผู้เปิดฮะดีษ จำนวนนับแสนกว่าฮะดีษ ที่ท่านได้เก็บเอาไว้ในทรวงอกของท่าน
หลังจากนั้นบรรดาอะอิมมะฮ์ก็เริ่มมีโอกาสเปิดเผยฮากีกัตต่างๆและความหมายที่แท้จริงของแต่ละโองการ ซึ่งความหมายที่แท้จริงของอัลกุรอานนั้น บ่งชี้ว่า ท่านอิมามบากิร(อ) คือ ผู้ริเริ่ม จนกระทั่งถึงท่านอิมามญะอ์ฟัร อัศศอดิก(อ)ผู้เป็นบุตร จึงได้ทำให้ทุกอย่างนั้นสานต่ออย่างสมบูรณ์
ด้วยกับอานิสงส์นี้ ส่งผลทำให้ชีอะฮ์นั้นไปถึงจุดสูงสุดของความรู้ทางศาสนาและเป็นเจ้าแห่งสำนักคิดที่ยิ่งใหญ่ และด้วยเหตุผลนี้ มัศฮับของเราจึงถูกเรียกว่า “มัศฮับ ญะอ์ฟะรียะฮ์” มาจนถึงทุกวันนี้
ในการชี้ว่า ท่านอิมามศอดิก(อ.)ทำให้สมบูรณ์ได้ เพราะท่านอิมามบากิร(อ.)เป็นผู้วางรากฐาน ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอันสูงสุดและเป็นความภาคภูมิใจขนาดที่ว่าเฉพาะอุละมาอ์เท่านั้น ที่จะรู้ว่าความรู้ทั้งหมดไปจบที่ท่านอิมามญะอ์ฟัร ศอดิก(อ.) และท่านอิมามบากิร(อ.)
ธารธรรมโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลีมีน ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี