เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สาส์นของขบวนการอาชูรอ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สาส์นของขบวนการอาชูรอ

ขบวนการของนายแห่งการพลี ฮูเซน บิน อาลี (อ) บ้างเรียก”ขบวนการกัรบาลา” หรือ “ขบวนการอาชูรอ” ไม่ใช่ขบวนการที่ต่อสู้เพื่อเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องราวการต่อสู้ ลักษณะเดียวกันกับที่มิตรสหายผู้ยิ่งใหญ่ของพระเจ้าได้สำแดงในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน วิถีของพระเจ้า(ซุนนัตอิลาฮีย์) จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีสาส์นสำคัญอยู่ในขบวนการ เพราะวิถีของพระเจ้ายังคงทำงานขับเคลื่อนครอบคลุมทุกคน ทุกสมัย ทุกรุ่น และทุกรัฐนคร ก้าวข้ามขีดจำกัดของเวลา และสถานที

“ความเป็นวิถี”ของขบวนการอาชูรอ ได้สร้างปรากฎการณ์ทำให้ผู้เห็นด้วย และผู้เห็นต่าง หลั่งไหลกันมาเพื่อศึกษา”สิ่งที่เกิดขึ้นก่อนเหตุการณ์กัรบาลา” “สิ่งที่เกิดขึ้นในวันอาชูรอ” และ”สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์นั้น” ซึ่งหมายถึง วาทะ และการกระทำของผู้ปกครองตระกูลอามาวีย์ ก่อนการต่อสู้ของฮูเซน บุตร อาลี (อ) รวมถึงคำบัญชาการของพวกเขาในวันอาชูรอ และการเคลื่อนไหวของพวกเขาหลังเหตุอาชูรอ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นเรื่องที่ถูกนำมาศึกษา จนสามารถให้ความกระจ่างว่า ศัตรูของศาสนา ได้ดำเนินการอย่างไร เพื่อทำลายศาสนา และมิตรของศาสนาได้กระทำอย่างไรเพื่อปกป้องพิทักษ์ศาสนา

มีสาส์นมากมายบนโลกใบนี้ แต่สโลแกนของทุกสาส์น จะเหมาะสมและคู่ควรต่อการยึดมั่นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้สร้างสาส์น หากผู้สร้างสาส์น จำกัดสาส์นของตนไว้เพียงขอบเขตที่จำกัด กรอบของสาส์นก็จะอยู่แต่เพียงสถานที่นั้น แต่หากจุดกำเนิดของสาส์น มาจากดินแดนไพศาลที่ครอบคลุมคำว่า”การดำรงอยู่ของทุกชีวิต” สโลแกนของสาส์นนั้นก็จะมีขอบเขตไปเท่าจุดกำเนิดของมัน

ในตอนนี้มีคำถามขึ้นมาว่า เรื่องราวอาชูรอจำกัดเฉพาะมุสลิมชีอะฮหรือไม่? หรือชาวอะฮ์ลิซุนนะฮ ก็เป็นหนึ่งในผู้ที่สาส์นนี้กำลังสนทนาอยู่ด้วย ? ขอบเขตสาส์นของฮูเซน จำกัดแต่เพียงมุสลิมหรือไม่ ? หรือสาส์นเลือดฉบับนี้ มีมิติที่กว้างกว่านั้น ? ชาวคัมภีร์ทุกคน หรือ ผู้นับถือพระเจ้าองค์เดียวทุกคน คือหนึ่งในผู้ที่สาส์นฉบับนี้กำลังสนทนาด้วยหรือไม่ ? หรือสาส์นฉบับนี้ก้าวข้ามผ่านชายแดนแห่งเตาฮีด และสนทนากับมนุษย์ทุกคน ? สาส์นของท่านยังมีมิติแห่งความเป็นมนุษย์ นอกเหนือจากสีสันของพระเจ้าของท่านใช่หรือไม่ ?

คำตอบของคำถามเหล่านี้ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ เราสามารถเข้าถึงแก่นแท้ของฮูเซน บิน อาลี (อ) หากเรารู้จักท่านเพียงผู้นำ(อิมาม)คนหนึ่งของมุสลิมชีอะฮ์ การรู้จักเช่นนี้ ก็จะจำกัดขอบเขตของสาส์นแต่เพียงโลกของชีอะฮ์ หากรู้จักท่านเพียง วลี(ผู้ปกครอง)คนหนึ่งของมวลมุสลิม สาส์นของท่านจะจำกัดแต่เพียงที่ๆมุสลิมนั่งอยู่ หากจำกัดสาส์นของท่านเพียงแบบอย่างของผู้นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว แบบอย่างของท่านก็จะจำกัดแต่เพียงกลุ่มผู้นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียว แต่หากรู้จักฮูเซน(อ) ในฐานะ “มนุษย์ผู้สมบูรณ์” และ “ตัวแทนของพระเจ้าบนหน้าแผ่นดิน” ดินแดนที่สาส์นฉบับนี้จะไปถึง จะไม่มีขีดจำกัดอีกต่อไป ที่ใดก็ตามที่สโลแกนแห่งความเป็นมนุษย์อยู่ สาส์นของฮูเซน ก็จะปรากฎ ณ ที่แห่งนั้น ทั้งเปลของแผ่นดิน ทั้งการเคลื่อนของเวลาในประวัติศาสตร์อันยาวนาน ที่ใดก็ตามมีมนุษย์ พวกเขาคือคู่สนทนาของกัรบาลาฮูซัยนี

สาส์นของขบวนการฮูซัยนี เป็นสาส์นที่ไร้ขีดจำกัด คู่สนทนาดั้งเดิมของมัน คือ มนุษย์ และข้อสนับสนุนนั้น คือ วัจนะของศาสนฑูตผู้ทรงเกียรติที่กล่าวว่า (حسين مني و انا من حسين) “ฮูเซนมาจากฉัน และฉันมาจากฮูเซน” (บิฮาร43/261) แน่นอนว่า ฮูเซน บิน อาลี คือ หลานชายของศาสดามูฮัมมัด(ศ) ท่านมีหลานชาย และหลานสาวหลายคน แต่ไม่มีใครที่ท่านจะพูดถึงเหมือนกับที่พูดถึงฮูเซน ซึ่งความหมายของวัจนะนี้ ก็คือ”รากฐานของศาสนา ระบบศาสดา และสาส์นของฉัน จะถูกพิทักษ์รักษาด้วยการลุกขึ้นสู้ของฮูเซน เหตุนี้เองสาส์นของฮูเซน จึงมีความสัมพันธ์กับระบบศาสดา

สาส์นของขบวนการอาชูรอที่ปรากฎเด่นให้เห็นอย่างชัดเจนที่สุด คือ การแยกระหว่าง สัจธรรม กับ โมฆะ ความจริง กับ ความเท็จ ความดี กับ ความชั่ว เกียรติยศ กับ ความอัปยศ ความมืดบอด กับ ความสว่างไสว ปัญญา กับ ความเขลา และ ความตาย กับ การมีชีวิต

มนุษย์ทุกคนล้วนมีความสัมพันธ์กับคำและความหมายของคำเหล่านี้ หากพวกเขาสามารถแยกแยะมันได้ พวกเขาจะเคลื่อนไปถูกทาง แต่หากไม่แล้วพวกเขาจะประสบเคราะห์แห่งตรรกวิบัติในการกระทำของตน ทุกคนล้วนปราถนาที่จะเข้าใจว่าอะไรคือ สัจธรรม อะไรคือ โมฆะ เพื่อโอบกอดสัจธรรม และสร้างระยะห่างกับโมฆะ เช่นเดียวกันทุกคนล้วนต้องการรู้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ เพื่อจะได้เป็นผู้สัจจริง และออกห่างจากความเท็จ พวกเขายังปราถนาจะเข้าใจว่า อะไรคือ เกียรติยศ อะไรคือ ความอัปยศ เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติ ไม่ใช่ชีวิตแบบอัปยศ

รากของสิ่งเหล่านี้ คือ ชีวิต และ ความตาย และเช่นเดียวกัน ทุกคนล้วนต้องการเข้าใจว่า ชีวิตคืออะไร ความตายคืออะไร ? โดยผิวเผินแล้ว คำ และความหมายของสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต่างเข้าใจอยู่แล้ว และยังสามารถแยกแยะความหมายของมันได้อย่างง่ายดาย บางส่วนจึงเดาไปว่า คนเราไม่จำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ และยังเดาไปว่า “คน”สามารถแยกแยะสิ่งเหล่านี้ได้เพียงลำพัง ความคิดลักษณะนี้ปรากฎอยู่ในความคิดของผู้คนมากมาย บ้างก็เป็นผู้กดขี่ บ้างก็เป็นผู้ยอมรับการกดขี่

ผู้กดขี่พูดว่า “สัจธรรมอยู่กับข้า และคำพูดของข้า คือ ความจริง ข้ามีเกียรติยศ ข้ามีสติปัญญา ข้ามีชีวิต” ผู้ยอมรับการกดขี่ ก็อ้างเช่นนี้ และมนุษย์กลุ่มผู้ต่อต้านความอธรรมก็อ้างอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น การแยกแยะเรื่องแบบนี้ สำหรับคนมากมายไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การจะรู้ และแยกแยะได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยแหล่งอ้างอิงที่ดั้งเดิมที่ถูกต้อง คือ อัลกุรอ่าน และ อะฮลุลบัยต์ (อ)

อัลกุรอ่านได้เสนอในทำนองว่า บางคนในภายนอก คือ คนที่คุณคิดว่า เขาคือผู้มีสติปัญญา คือผู้มองเห็นไม่ไดัตาบอด คือผู้ฟังไม่ได้หูหนวก แต่ความเป็นจริงแล้ว พวกเขาโง่เขลา ตาบอด และหูหนวก บางคนคุณอาจคิดว่า เขาพูดความจริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เขาคือคนโกหก บางคนคุณอาจจะคิดว่า เขาถือสัจธรรม แต่ความจริง เขาถือโมฆะ และบางคนคุณคิดว่า เขามีชีวิต แต่ความเป็นจริงแล้ว เขาคือ คนตาย

ۖ لَهُمْ قُلُوبٌ لَا يَفْقَهُونَ بِهَا وَلَهُمْ أَعْيُنٌ لَا يُبْصِرُونَ بِهَا وَلَهُمْ آذَانٌ لَا يَسْمَعُونَ بِهَا

” โดยที่พวกเขามีหัวใจซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันทำความเข้าใจและพวกเขามีตา ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันมอง และพวกเขามีหู ซึ่งพวกเขาไม่ใช้มันฟังมัน”อะรอฟ :189

ในอีกภาคหนึ่ง อัลกุรอ่านเสนอว่า ผู้ที่หันหลังให้แนวทางของอิบรอฮีม คือ คนเขลา

(وَمَنْ يَرْغَبُ عَنْ مِلَّةِ إِبْرَاهِيمَ إِلَّا مَنْ سَفِهَ نَفْسَهُ)

“และใครเล่าที่จะไม่พึงปรารถนาในแนวทางของอิบรอฮีม นอกจากผู้ที่ทำให้ตัวเองโฉดเขลา”บากอเราะฮ์ : 130

ดังนั้นในมุมมองของอัลกุรอ่าน มนุษย์กลุ่มหนึ่งคือคนเขลา ที่ใช้ชีวิตแบบโง่เขลา แต่กลับคิดว่าตนฉลาดมีสติปัญญา หรือในบางบทอัลกุรอ่านก็นำเสนอเรื่องราวของ สัจธรรม-โมฆะ และความจริง-ความเท็จ เช่น

(وَهُمْ يَحْسَبُونَ أَنَّهُمْ يُحْسِنُونَ صُنْعًا)

“และพวกเขาคิดว่าแท้จริงพวกเขาปฏิบัติความดีแล้ว” อัลกะฮฟี : 104

คนเหล่านี้กำลังใฝ่หาสิ่งที่เลวทราม แต่พวกเขากลับคิดกันไปเองว่ากำลังแสวงหาสิ่งที่เป็นความดี สิ่งที่อัลกุรอ่านให้ข้อสรุปแก่เราคือ อันที่จริงแล้วพวกเขาคือคนตาย ที่คิดว่าตนมีชีวิต และคนที่คิดเดาไปว่า ชีวิตทั้งหมดของมนุษย์เริ่มจากเปลและสิ้นสุดลงที่หลุมฝังศพ และหลังจากนั้นไม่มีสิ่งใดอีก เหลือเพียงความว่างเปล่า ก็คือคนที่จำกัดกรอบของการมีชีวิตให้สิ้นสุดลงเพียงวัตถุ ในทางจิตวิญญาณ คนที่คิดเช่นนี้ คือคนตาย และเพราะเขาคือคนตาย เขาจึงไม่ได้ยิน มองไม่เห็น ไม่ใช่ผู้ถือสัจธรรม ไม่ใช่ผู้สัจจริง ไม่ใช่ผู้ทีมีเกียรติ เพราะ”ศพ”ไม่อาจใช้ประโยชน์ใดๆได้จากคุณลักษณะอันสมบูรณ์เหล่านี้ได้อีกต่อไป

ฮูเซน บิน อาลี (อ) จึงทำหน้าที่เหมือนกับบิดาผู้มีเกียรติ และครอบครัวผู้ทรงธรรมของท่าน นั่นคือ ตราบใดที่ท่านยังสามารถมอบความรู้ ความเข้าใจ ขัดเกลา และเตือนสติ ต่อปวงชนได้ ท่านจะชี้ธรรมและอธิบายความของสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้องให้กับพวกเขา แต่ในช่วงเวลาของท่าน มีผู้อ้างธรรมมากมายปรากฎตัว เหล่าผู้นำ แม่ทัพ นายกอง ของฝ่ายอามาวีย์ พูดสิ่งหนึ่ง ในขณะที่ครอบครัวของศาสดามูฮัมมัด(อะฮลุลบัยต์) พูดอีกสิ่งหนึ่ง เรื่องนี้คล้ายคลึงกับยุคสมัยของมูซา(อ) ที่ท่านศาสดามูซา และฮารูน พูดสิ่งหนึ่ง ส่วนฝ่ายฟาโรและสหายข้าทาส ก็พูดอีกแบบหนึ่ง ในอัลกุรอ่าน ฟาโร พูดกับประชาชนว่า

(إِنِّي أَخَافُ أَنْ يُبَدِّلَ دِينَكُمْ أَوْ أَنْ يُظْهِرَ فِي الْأَرْضِ الْفَسَادَ)
“แท้จริงฉันเกรงว่าเขาจะมาเปลี่ยนศาสนาของพวกท่าน หรือจะก่อการร้ายให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน” ฆอฟิร :26

คำพูดของมูซา(อ) และคำพูดของฟิรอูนหรือฟาโร ทั้งสองต่างก็มีฝ่ายที่สนับสนุน กลุ่มหนึ่งยอมรับในคำพูดของมูซา อีกกลุ่มให้น้ำหนักแก่คำพูดของฟิรอูน คำพูด การอ้างสิทธิของสองฝ่ายในลักษณะนีั มักปรากฎให้เห็นอยู่เสมอ ทั้งก่อนยุคมูซา ทั้งหลังยุคของเขา ทั้งยุคสมัยของฮูเซน บิน อาลี และหลังจากนั้น

เมื่อฮูเซน มองเห็นแล้วว่า ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ คำพูด และคำตักเตือน ไม่มีผลใดๆ เมื่อท่านมั่นใจแล้วว่า มีเพียงสีเลือดเท่านั้น ที่จะเปลี่ยนเปฺ็นแสงไฟ และทำให้สังคมตาสว่าง ท่านจึงสร้างขบวนการอาชูรอ และใช้ขบวนการอาชูรอ เป็นกุญแจสำคัญ โดยมอบกุญแจดอกนี้ให้กับประชาชน ในการเปิดสู่ประตูแห่งศาสนา และเมื่อพวกเขาได้รับกุญแจดอกนี้ พวกเขาใช้มันเปิดประตูสู่แก่นแท้ และขุมคลังแห่งความรู้ในวัฒนธรรมของศาสนา เมื่อนั้นเองพวกเขาจึงรู้ว่าอะไรคือ เกียรติยศที่แท้จริง และอะไรคือความอัปยศ อะไรคือเสรีภาพ

ะไรคือการกักขัง อะไรคือความมั่นคง อะไรคือความหายนะ อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ และสุดท้ายพวกเขาจึงได้รู้ว่า อะไรคือสัจธรรมที่แท้จริง อะไรคือโมฆะที่จอมปลอม ดังน้้น การรู้จักชีวิตกับความตายที่ถูกต้อง คือ เครื่องมือในการแยก ความจริงกับความเท็จ สัจธรรม กับ โมฆะ และความดีกับความชั่วทั้งมวล

ฮูเซน (อ) กล่าวแก่มิตรสหายผู้เคียงข้างท่านจนวาระสุดท้ายว่า คนอื่นเขามองว่าความตายคือจุดจบของขีดเส้นแห่งชีวิต แต่ฉันมองว่ามันคือต้นสะพาน คือ จุดเริ่มต้นของการเดินทางครั้งใหม่ “ความตาย คือต้นสะพาน และความดีงามทั้งปวงอยู่พ้นหลังสะพานนั้น” (บิฮาร 6/154) การข้ามฝ้าก ต้องมีสะพาน และความดีงามทั้งปวง อาทิ เกียรติ คุณธรรม ความสัจจริง ความสว่างไสว สัจธรรม ตลอดจนไปถึงชีวิตที่สมบูรณ์ อยู่เบื้องหน้าสะพานนี้ ดังนั้น ฮูเซน บิน อาลี จึงเลือกหนทางแห่งชะฮีด(การสละชีวิตตนเอง)เพื่อส่งต่อแก่นแท้ ทำให้มนุษย์มีชีวิต และปลุกให้มนุษย์ตื่นจากการหลับไหล…

เมื่อในโลกนี้ เหมือนราตรีไร้ซึ่งแสงไฟ..
เมื่อในดวงใจมันหายไปซึ่งคำตักเตือน…
เมื่อในท้องฟ้าสิ้นจันทรา และสิ้นดาวเดือน…
ต้องพลีกายให้เฉือน ให้สีเลือดนั้นเป็นแสงไฟ..

 

บทความโดย เชคมูฮัมหมัด เบเฮชตีย์
ที่มา เอบีนิวส์ทูเดย์

 

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม