เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

อิมามฮูเซน(อ)ในมุมมองของซัยยิดอาลีคาเมเนอี ตอนที่ 1

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

อิมามฮูเซน(อ)ในมุมมองของซัยยิดอาลีคาเมเนอี ตอนที่ 1

 

จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติและผลลัพท์ของการปฏิวัติ

 

ซัยยิด อาลี คาเมเนอี ได้พูดถึง

สมัยที่อิมามฮูเซน อะลัยฮิสสลาม มีชีวิต คือ ยุคที่อันตราย  และเครื่องมือที่จะใช้รับมือเผชิญหน้ากับภัยอันตรายอันนั้น อาฟาต-สิ่งที่สร้างความเสียหาย ภายใน และ ภายนอก ในอิสลาม มีสิ่งที่เป็นอันตรายหลายอย่าง ที่กำลังคุกคามศาสนาอิสลาม ซึ่งอิสลามเปรียบเสมือน สิ่งที่เรารักและหวงแหน

ก่อนนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ)ประกาศอิสลาม หรือช่วงแรกที่เริ่มประกาศอิสลาม อันเป็นดีนที่มาจากอัลลอฮ์ ตะอาลา แน่นอน อัลลอฮ์ได้ทรงสร้างเครื่องมือไว้อย่างสมบูรณ์แล้วสำหรับใช้เผชิญหน้ากับอันตรายเหล่านั้น

คำถามเครื่องมือสำหรับใช้ต่อสู้กับอันตรายที่กำลังคุกคามอิสลามอยู่ไหน


วะซีละฮ์-เครื่องมือนั้น 1.ถูกใส่ไว้ในตัวอิสลาม และ 2. ถูกใส่ไว้ในตัวของสังคม(มุสลิม)นี้

 

ทั้งสองเครื่องมือนี้เปรียบเสมือนเรือนร่างที่สมบูรณ์ อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้เตรียมไว้ให้เขาด้วย แสนยานุภาพในการต่อต้าน เหมือนเครื่องอุปกรณ์ที่สมบูรณ์ ที่สถาปนิกหรือช่างก่อสร้างได้นำมันมาเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมสิ่งต่างๆ ซึ่งต้องอยู่คู่กัน(คือคนใช้กับเครื่องมือ)


ดังนั้นศาสนาอิสลามที่เห็นกันอยู่นี้ ก็เหมือนสิ่งต่างๆที่เห็นกันอยู่ทั้งหมด มันถูกคุกคามด้วยอันตรายต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องมีเครื่องมือใช้เผชิญหน้ารับมือกับมัน แน่นอนอัลลอฮ์ ตะอาลา ได้สร้างเครื่องมือไว้ให้แล้วในอิสลาม นั่นคือตัวดีนอิสลาม แต่ อันตรายที่ว่านี้คืออะไร?

 

คำตอบคือ

มีอันตรายหลัก 2 อย่าง ที่มันกำลังคุกคามศาสนาอิสลามอยู่ คือ

 

1.อันตรายจากศัตรูภายนอก(ที่มุ่งทำลายอิสลาม)


2.ความเสื่อมจากภายใน (ทั้งปัจเจกบุคคลและสังคมมุสลิมที่อีหม่านและ อามั้ลได้เสื่อมถอยลง จนถึงขั้นทำลายอิสลามด้วยตัวของพวกเขาเอง)

 

ศัตรูภายนอก (العدوّ الخارجيّ) คือ

 

(ผู้ทำตัว อยู่นอกกรอบอิสลาม) เขามุ่งเป้าไปที่ระบบปกครองให้อยู่ในอุดมการณ์ของเขา ทั้งหลักความเชื่อและกฏเกณฑ์ต่างๆของเขา และทุกๆเรื่อง ด้วยอาวุธนานาชนิด

 

คำว่า คอริจ -ภายนอก หมายถึงอะไร?

 

ตรงนี้ไม่ได้หมายถึง ผู้ที่อยู่นอกบ้านเมือง หรือ นอกประเทศ แต่หมายถึง ผู้ทำตัวอยู่นอกกรอบ นอกระบบ แม้ว่าตัวเขาจะอยู่ในบ้านเมืองนั้นก็ตาม


บรรดาศัตรูเหล่านี้ถือว่าพวกเขาคือคนแปลกหน้าแปลกถิ่นที่อยู่นอกกรอบของบ้านเมือง และพวกเขาต่อต้านระบบปกครองของบ้านเมืองนั้น
ดังนั้นพวกเขาคือ พวกนอกกรอบ พวกแปลกถิ่น พวกต่างชาติ

 

พวกเขาเหล่านี้ใช้อาวุธเป็นเครื่องมือ อาวุธไฟ(จุดเพลิงแห่งความฟิตนะฮ์ขึ้น) สร้างอาวุธทางวัตถุนิยมด้วยสื่อเชิญชวนต่างๆและทรัพย์สินล่อใจ และใช้ทุกสิ่งที่อยู่ในมือของพวกเขา เพื่อจัดการกับระบบปกครอง ขจัดระบบนั้นให้สิ้นไป นี่คืออุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่มาจากศัตรู

 

(ที่กล่าวมาคือความหมายศัตรูภายนอก ทีนี้มาดูศัตรูภายในอิสลาม...)

 

ซัยยิด อาลี คาเมเนอี กล่าวว่า

ศัตรูภายใน(العدوّ الداخلي) ภัยคุกคามที่ 2 คือ


การคุกคามซึ่งเป็นการทำตัวให้อ่อนแอปวกเปียกภายใน คือผู้อยู่ในระบบ(ปกครองอิสลาม)

 

เขาไม่ใช่คนแปลกหน้า แต่เขาคือส่วนหนึ่งจากบ้านเมืองนั้นและอยู่ในนั้น


เป็นไปได้สำหรับผู้ที่อยู่ในระบบนั้น อาจเบื่อหน่ายเหนื่อยล้า(ในการนับถืออิสลาม)หรือผิดพลาดในการทำความเข้าใจเส้นทางที่ถูกต้อง


หรือ เป็นผลมาจาก เขาถูกความรู้สึกทางจิตใจครอบงำ

หรือเป็นผลมาจาก เขาไปให้ความสนใจต่อโลกวัตถุและยกย่องชื่นชมมัน


แล้วพวกเขาก็กลายมาเป็นภัยคุกคามจากภายในทันที

ซึ่งแน่นอน ภัยร้ายนี้ หรือ ศัตรูจากภายในนี้ อันตรายกว่า ภัยคุกคามอันแรก


ทั้งสองชนิดนี้คือศัตรูอิสลาม

 

ภัยคุกคามทั้งภายนอกและภัยคุกคามภายใน สองภัยนี้มีอยู่ในทุกระบบการปกครองไม่ว่าจะปกครองระบอบใดก็ตาม  

 

แน่นอน อิสลามได้กำหนดวิธีแก้ไขเยียวยาเพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทั้งสองอย่างนี้

 

(อิสลามได้วางระบบป้องกันเอาไว้อย่างแน่นหน้าแล้วนั่นคือ) การญิฮาด

 

(มุสลิมบางคนเข้าใจว่า ญิฮาดมีไว้สู้กับศัตรูภายนอกเท่านั้น นี่คือความเข้าใจผิด)

 

ญิฮาด ไม่ได้เจาะจงว่า ต้องสู้กับศัตรูภายนอก

 

อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า

 

يَا أَيُّهَا النَّبِيُّ جَاهِدِ الْكُفَّارَ وَالْمُنَافِقِينَ

 

โอ้นบีเอ๋ย จงญิฮาดกับพวกกุฟฟาร(ผู้ปฏิเสธ) และพวกมุนาฟิก(ผู้กลับกลอก)

 

ซูเราะฮ์ อัตเตาบะฮ์ อายัตที่ 73

 

อธิบาย กุรอาน มีคำสั่งว่า

 

จงญิฮาดกับพวกกุฟฟารและพวกมุนาฟิก

 

กุฟฟาร คือ กลุ่มทำที่ตัวชัดเจนว่า เขาปฏิเสธอัลลอฮ์ ปฏิเสธการศรัทธาอิสลาม

 

มุนาฟิก คือ กลุ่มทำที่ตัวภายนอกว่า ศรัทธาต่ออิสลาม แต่ภายในกลับตรงกันข้าม

 

ซัยยิด อาลี คาเมเนอี กล่าวว่า

 

มุนาฟิก คือ ศัตรูภายในระบบ(อิสลาม) ด้วยเหตนี้จึงจำเป็นต้อง ญิฮาด กับพวกมุนาฟิกนี้ทุกคน

 

ญิฮาดคือ การทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับศัตรู ที่ต้องการโจมตีระบอบ(อิสลาม)นี้ เนื่องจากศัตรูได้ปฏิเสธความเชื่อความศรัทธาและอุดมการณ์อิสลาม และศัตรูได้แสดงความเกลียดชังต่อระบอบ(อิสลาม)นี้

 

นอกจากนี้ เพื่อการเผชิญหน้าต่อการสร้างความแตกแยกจากภายใน จึงมีคำสอนทางอัคล๊ากที่สำคัญมาก ที่จะทำให้มนุษย์เข้าใจ ฮะกีกัตของดุนยา(สารัตถะความเป็นจริงของโลกนี้)

 

อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า

 

اعْلَمُوا أَنَّمَا الْحَيَاةُ الدُّنْيَا لَعِبٌ وَلَهْوٌ وَزِينَةٌ وَتَفَاخُرٌ بَيْنَكُمْ وَتَكَاثُرٌ فِي الْأَمْوَالِ وَالْأَوْلَادِ

 

จงรู้เถิดว่า แท้จริง((การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ มิใช่อื่นใด)) เว้นแต่

 

1.เป็นการละเล่นและการสนุกสนานร่าเริง(คือมีวันสิ้นสุดความสุขจอมปลอมนี้)

 

2.และเครื่องประดับ (ซึ่งมันมีวันฟะนา(การดับสูญ)

 

3.และความโอ้อวดระหว่างพวกเจ้า(อวดสวยอวดหล่อ,อวดตระกูล อวดยศฐา,อวดรวย,อวดพาวเวอร์)

 

4.และการแข่งขันกันสะสมในทรัพย์สินและลูกหลาน(นิสัยของพวกญาฮิลียัตคือแข่งรวยแข่งมีลูกหลานมากๆ แต่นิสัยของมุอ์มินคือแข่งมีอีหม่านแข่งเชื่อฟังอัลลอฮ์)

 

ซูเราะฮ์ อัลฮะดีด อายัตที่ 20

 

กล่าวคือ เครื่องตกแต่งเหล่านี้ ลักษณะเปลือกนอกของสิ่งเหล่านี้ และความสนุกเมามันทางโลกกับสิ่งเหล่านี้

 

หากมันคือสิ่งสำคัญสำหรับคุณ หากพวกคุณจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากมัน และหากชีวิตของพวกคุณต้องเชื่อมโยงเกี่ยวข้องอยู่กับมัน ก็ไม่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งนั้น

 

และคุณจำเป็นต้องทำให้มันเป็นสิ่งปลอดภัยต่อตัวของพวกคุณเอง แต่จงรู้ว่าการเริ่มขยับและเคลื่อนตัวเข้าไปหามัน ด้วยการหลับตาและลืมเป้าหมาย นั่นคือเรื่องที่อันตรายมาก

 

อิม่ามอะลี(อ)เป็นราชสีห์ในสนามแห่งการเผชิญหน้ากับศัตรู

 

และเมื่อใดที่อิมามจะพูด คนจะคิดว่าคำเทศนาครึ่งหนึ่งหรือคำสอนส่วนใหญ่ของท่านจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง


การญิฮาด การทำสงคราม และความกล้าหาญ


แต่เมื่อเราไปดูฮะดีษต่างๆและคำเทศนาต่างๆของอิม่ามอาลีในหนังสือนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์

 

เราพบว่า คำคุตบะฮ์และคำสอนต่างๆของท่านส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับเรื่อง ความสมถะ ความตักวา อัคลาก ศีลธรรม ปฏิเสธ(การลุ่มหลง)ดุนยา ให้มองดุนยาว่าต่ำต้อย

 

และการเชิดชูคุณค่าทางศีลธรรมและความเป็นมนุษย์อันสูงส่ง

 

ซัยยิดอาลีคาเมเนอี กล่าวว่า

กรณีเหตุการณ์ของอิม่ามฮูเซน อะลัยฮิสสลาม นั้นเป็นการควบรวมไว้ถึงสองส่วนนี้ด้วยกัน คือ

 

หนึ่ง – ญิฮาดกับศัตรู (ภายในและภายนอก)

 

สอง – ญิฮาดกับนัฟซู ซึ่งอิมามฮูเซนได้สำแดงให้ประจักษ์ไว้อย่างสูงส่งในวันอาชูรอ

 

กล่าวคือ

 

อัลเลาะฮ์ ตะอาลา ทรงรอบรู้ดีว่า เหตุการณ์นี้จะต้องเกิดขึ้น และจำเป็นต้องแสดง

 

الْمَثَلُ الْأَعْلَى

อัลมะษะลุล อะอ์ลา

 

บุคลิกภาพที่สูงส่งไร้ข้อตำหนิ เพื่อเป็นแบบอย่าง เพราะในบ้านเมืองต่างๆจะต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และผู้คนก้จะต้องตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น จึงต้องมีฮีโร่ เป็นแรงผลักดันให้พวกเขาได้ฝึกฝนในประเด็นนี้

 

แน่นอน นี่เป็นการยกตัวอย่างมาเพียงเล็กน้อยมาก เพื่อเปรียบเทียบให้เรามองเห็นภาพเหตุการณ์วันอาชูรอ คือตัวอธิบายให้เราเห็นถึง ขบวนการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ ถึง 2 สนามรบคู่กัน

 

1.สนามรบที่เผชิญหน้ากับศัตรูภายนอก(อธิบายแล้ว) หมายถึง

 

ตัวผู้ปกครองอาณาจักรอิสลามที่ทำตัวเป็นผู้ทำลายอิสลามเอง รวมทั้งพวกที่แสวงหาผลประโยชน์ทางโลก ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการปกครองในวันนั้น
พวกเขาคือผู้ที่ต้องการอำนาจอันนั้น ซึ่งท่านนบีมุฮัมมัด(ศ)ได้ใช้อำนาจนั้นเพื่อทำให้มนุษย์รอดปลอดภัย เพื่อให้ผู้คนเคลื่อนไหวไปสู่อิสลามและศาสดาของอัลลอฮ์

 

2.สนามรบภายใน หมายถึง สังคมมุสลิมสมัยนั้น ที่กำลังเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่สร้างความเสียหายในสังคมมุสลิม


ท่านระฮ์บัร กล่าวว่า


ประเด็นที่ 2 (ภายใน)นั้นสำคัญที่สุดในความคิดของผมคือ ช่วงเวลาหนึ่งได้ผ่านไปแล้ว

 

ยุคแห่งความยากลำบาก(ของผู้นับถืออิสลาม)ได้ผ่านไปแล้ว กองทัพมุสลิมได้พิชิตบ้านเมืองต่างๆไปแล้ว แล้วได้รับทรัพย์สินสงครามมามากมาย รัฐอิสลามก็ขยายอาณาเขตแผ่ไพศาลไปทั่ว

ศัตรูภายนอกจากที่นั่นที่นี่ถูกปราบปรามไปแล้ว ทรัยพ์สินก็หลั่งไหลเข้าสู่รัฐอิสลาม จนมุสลิมยุคนั้นบางส่วนกลายเป็นนายทุน และบางส่วนกลายเป็นชนชั้นสูง หลังจากที่อิสลามได้ถอนรากถอนโคนและปราบปรามชนชั้นสูงในยุคญาฮิลียัตไปแล้ว ชนชั้นสูงกลุ่มใหม่ก็ก่อตัวขึ้นในโลกอิสลาม

ณ.ตรงนี้ มีบุคคลกลุ่มหนึ่ง นับถืออิสลาม ดำรงชีวิตในนามอิสลาม เป็นลูกของซอฮาบะฮ์คนนั้น เป็นลูกของตาบิอีนคนนี้ คนนี้คนนั้นเป็นลูกของผู้ใกล้ชิดท่านนบีมุฮัมมัด(ศ)

คนกลุ่มนี้ได้นำพามีส่วนร่วมในการนำพฤติกรรมต่างๆที่ไม่เหมาะสมเข้ามาในอิสลาม

 

ตำราประวัติศาสตร์อิสลามได้บันทึกรายชื่อคนกลุ่มนี้ไว้

 

คนกลุ่มนี้ได้ทำให้มาฮัร-สินสอดลูกสาวของพวกเขา มีราคาแพงถึงทองคำบริสุทธิ์จำนวนหนึ่งล้านมิษกอล คือหนึ่งล้านดีนาร แทน มาฮัร-ซุนนะฮ์นบี
ซึ่งนบีมุฮัมมัด, อิม่ามอาลี และชาวมุสลิมยุคแรก ได้ทำมาฮัรไว้แค่ 480 ดิรฮัม

 

แล้วพวกเขาไหนล่ะที่ทำให้มาฮัรมีราคาสุดขนาดนั้น  ? พวกเขาคือลูกหลานของซอฮาบะฮ์เช่น มุศฮับ บุตรของอัซซูบัยร์ และคนอื่นๆ

 

เหตุการณ์แบบนี้ เริ่มเกิดขึ้น หลังจากนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ)จากไปได้ไม่นานนักในระยะแรก

ผู้บุกเบิกรุ่นแรกๆในศาสนาอิสลามคือ ซอฮาบะฮ์และตาบิอีน ผู้เคยเข้าร่วมในสงครามต่างๆกับท่านศาสดา(ศ)  
พวกเขาได้รับความสะดวกสบายกับสิทธิพิเศษ


ส่วนแบ่งจากทรัพย์สินสงครามและกองทุนบัยตุลมาล นี่คือหนึ่งในสิทธิพิเศษ

 

การแบ่งทรัพย์สินและรับเงินจากกองทุนบัยตุลมาลได้กลายเป็นหัวข้อที่ทำให้ความเสมอภาคกับผู้อื่นไม่ถูกต้อง และเป็นไปไม่ได้เช่นกัน นี่คือการสร้างอิฐก้อนแรก

 

(กล่าวคือ มีซอฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่งอ้างสิทธิในการรับส่วนแบ่งว่า ต้องแบ่งให้พวกเขา มากกว่า คนอื่น เพราะพวกเขาเป็นคนรุ่นแรกรุ่นบุกเบิก คนอื่นๆจะมารับเท่าพวกเขาไม่ได้)

 

พฤติกรรมแบบนี้ ได้ดึงพวกเขาไปสู่การเบี่ยงเบนออกจากสัจธรรมอิสลาม เริ่มต้นจากจุดเล็กนี้ เพิ่มขึ้นไปทีละก้าวๆอย่างรวดเร็ว

 

การเบี่ยงเบนต่างๆนี้ได้เริ่มตั้งแต่จุดเล็กๆนี้ ไปจนถึงยุคการปกครองของอุษมาน บินอัฟฟาน

 

สถานการณ์นี้ล่วงเลยมาถึงยุคคอลีฟะฮ์ที่สาม ถึงขนาดที่ซอฮาบะฮ์อาวุโสได้กลายเป็นนายทุนใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น ทั้งๆพวกเขาคือซอฮาบะฮ์ บรรดาซอฮาบะฮ์ที่มีสถานะสูงและเป็นที่รูกจักกันดี เช่น
ตอลหะฮ์ ซูบัยร์ สะอัด บินอบีวักกอศและคนอื่นๆเป็นต้น


บุคคลเหล่านี้คือบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียง แต่ละคนถูกบันทึกความภาคภูมิใจในสมรภูมิรบที่บะดัร อุฮุดและฮูนัยน์


พวกเขากลายเป็นหนึ่งในนายทุนรายใหญ่ในอิสลาม เมื่อคนหนึ่งคนใดของพวกเขาเสียชีวิต ก็ทิ้งมรดกเป็นอัญมณีและทองคำ และพวกเขาต้องการแบ่งมรดกให้ในหมู่ทายาทของเขา

 

เล่ากันว่า.....มรดกที่ทิ้งไว้นั้น คือทองคำท่อนใหญ่เหมือนซุง ต้องใช้ขวานตัดเป็นท่อนๆ แล้วแบ่งย่อยแบ่งกันเป็นแท่ง ซึ่งปกติทองคำจะชั่งวัดกันเป็นกรัมเป็นการัต

 

พวกคุณลองพิจารณาดูเองเถิดว่า พวกเขามีทองคำเท่าไหร่ถึงต้องใช้ขวานผ่า

 

เรื่องเหล่านี้ถูกกล่าวถึงในตำราประวัติศาสตร์อิสลาม และไม่ใช่ประเด็นที่ชาวชีอะฮ์พูดถึงในตำราของพวกเขา แต่มันเป็นความจริง ไม่ใช่ตำนาน


เมื่อเรากล่าวถึง การสร้างความเสียหายจากภายในอิสลาม นั่นหมายถึง เรากำลังพูดถึงบุคคลกลุ่มหนึ่ง ที่ปรากฏขึ้นในสังคมมุสลิม และพวกเขาค่อยๆ เริ่มแพร่เชื้อโรคทางอัคล๊ากของพวกเขาไปยังบุคคลอื่น
 
โรค ลุ่มหลงในดุนยาและกิเลสตัณหาชะฮ์วัตต่างๆ ซึ่งน่าเสียใจที่โรคร้ายนี้ได้สร้างความหายนะให้กับบุคคลที่เหลือในสังคมยุคนั้น

 

คำถามคือ

มีใครกล้าออกมาต่อต้าน ยาซีดบุตรมุอาวียะฮ์ และพวกอุมัยยะฮ์ ในยุคนั้นไหม

มีใครคิดจะเผชิญหน้ากับระบบอธรรมและสร้างความเสียหายของยาซีดในสมัยนั้นไหม


ในสถานการณ์เช่นนั้น เห็นมีแต่ อิมามฮูเซน(อ)และกลุ่มคนของท่านเท่านั้น ที่ได้ญิฮาดต่อสู้กับศัตรูอิสลามจากภายใน มันเป็นการเผชิญหน้ากับบุคคลที่มีจิตใจแสวงหาความสุขสบายทางดุนยาและสร้างความเสียหายให้กับผู้อื่น ที่แพร่กระจายไปในหมู่มุสลิมธรรมดาทั่วไป นี่คือเรื่องที่สำคัญยิ่ง

 

สรุปความจากกิตาบ

อินซาน บิอุมริ 250 ซะนะฮ์ หน้า 155 – 157  ซัยยิดอาลี คาเมเนอี

 

บทความโดย เชคญะวาด สว่างวรรณ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม