เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทความ วิเคราะห์สภาพสังคมทางการเมืองของกูฟะฮ์และเหตุหนุนนำสู่การเกิดโศกนาฏกรรมอาชูรอ ตอนที่ 8

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทความ วิเคราะห์สภาพสังคมทางการเมืองของกูฟะฮ์และเหตุหนุนนำสู่การเกิดโศกนาฏกรรมอาชูรอ ตอนที่ 8


إِنَّ اللّهَ لاَ يُغَيِّرُ مَا بِقَوْمٍ حَتَّى يُغَيِّرُواْ مَا بِأَنْفُسِهِمْ

“แท้จริงอัลลอฮ์จะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงกลุ่มชนใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงตัวของพวกเขาเอง”

อธิบายหัวข้อเกี่ยวกับการวิเคราะห์ด้านสังคมและการเมืองของกูฟะฮ์และเหตุปัจจัยต่างๆ ที่นำสู่โศกนาฏกรรมแห่งอาชูรอ ตามคำกล่าวของอิมามสัจญาด (อ.) ที่ได้แบ่งผู้คนในสังคมออกเป็น 6 จำพวกได้แก่: สิงโต หมาป่า สุนัขจิ้งจอก สุนัข สุกรและแกะ เนื้อหาที่จำเป็นต้องอธิบายต่อจาก คือ สภาพและบรรยากาศของเมืองกูฟะฮ์ในยุคนั้นเป็นอย่างไร?

เดิมทีเมืองกูฟะฮ์ เป็นเมืองค่ายทหารซึ่งสร้างขึ้นในสมัยคอลีฟะฮ์ที่สอง สมัยที่อิหร่านถูกพิชิตโดยคำสั่งของ อุมัร บินคอฏฏ็อบ เนื่องจากเป็นหัวเมืองที่ชาวอาหรับและเปอร์เซียพลุกพล่าน และเป็นเมืองที่ต้องมีการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน จึงเริ่มสร้างค่ายทหารขึ้นในละแวกบัศเราะฮ์ ซึ่งตั้งชื่อเมืองนี้ว่า “กูฟะฮ์” แต่คำกล่าวนี้ไม่ได้หมายความว่าเมืองกูฟะฮ์ไม่เคยมีมาก่อนอิสลาม บางริวายะฮ์ได้กล่าวว่า บริเวณกูฟะฮ์นั้นมีผู้คนอาศัยอยู่เดิมแต่ต่อมาถูกทำลายไป ตามรายงานหนึ่ง ท่านศาสดานูห์ (อ.) ได้สร้างเรือในเมืองกูฟะฮ์ และกลุ่มชนของศาสดานูห์(อ.) ได้สร้างรูปปั้นต่างๆ ขึ้นในเมืองกูฟะฮ์ เดิมทีเมืองนี้มีชื่อว่า “ซูริสตาน” Suristan เมืองกูฟะฮ์ได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ในยุคอิสลาม เป็นพื้นที่เคยเป็นค่ายทหารของบรรดามุสลิมในการพิชิตหัวเมืองต่างๆ  ในปี ฮ.ศ ที่ 15,17 หรือ 19 อุมัร บิน ค็อฏฏอบ ได้สั่งให้ สะอ์ด บิน อะบี วักกอส เปลี่ยนให้เป็นที่อาศัยของบรรดามุสลิม ตามหลักฐานนี้ เมืองกูฟะฮ์ตั้งอยู่ระหว่างทิศตะวันตกของแม่น้ำยูเฟรทิสและตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองฮีเราะฮ์ ซึ่งห่างออกไปประมาณสิบกิโลเมตรทางทิศเหนือคือเมืองนุคอยละฮ์และห่างออกไปอีกประมาณสี่สสิบกว่ากิโลเมตรทางทิศเหนือเฉียงใต้คือเมืองกัรบะลา โดย สะอ์ด บิน อะบีวักกอส ได้เริ่มสร้างมัสญิดกูฟะฮ์และจวน (ดารุลอิมาเราะฮ์)ขึ้นที่เนินเมืองกูฟะฮ์

เนื่องจากการพิชิตหัวเมืองต่างๆ ในยุคของอุมัรจึงทำให้เมืองกูฟะฮ์กลายเป็นค่ายทหารระหว่างเมืองมะดีนะฮ์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอิสลามและสมรภูมิรบต่างๆ

จำนวนประชากร

เมืองกูฟะฮ์ เหมือนกับเมืองมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ หรือแม้แต่ดามัสกัส เป็นเมืองที่ไม่มีเพียงแต่มีชนเผ่าและชาวอาหรับเท่านั้น ทว่ามีผู้คนจากพื้นที่หลากหลายอาศัยอยู่ ช่วงต้นของการสร้างเมืองกูฟะฮ์มีผู้คนจากพื้นที่ห่างไกลอาศัยอยู่ประมาณหมื่นห้าถึงสองหมื่นคน  อุมัร อิบนิ ค็อฏฏอบ สั่งให้แบ่งผู้คนในเมืองกูฟะฮ์ออกเป็นเจ็ดกลุ่ม การแบ่งเช่นนี้ถูกเปลี่ยนแปลงในยุคอิมามอะลี (อ.) ต่อมาก็มีการเปลี่ยนแปลงในปี ฮ.ศ. 50 ยุคการปกครองของ ซิยาด บิน อะบีฮิ ผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองกูฟะฮ์ส่วนใหญ่จะเป็นชนเผ่าอาหรับที่อิสลามได้แผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นชาวเยเมน และชนเผ่าเยเมนส่วนใหญ่โดยเฉพาะเผ่าฮัมดานเป็นชีอะฮ์  ตามแหล่งอ้างอิงของอิสลามในช่วงต้นของการตั้งเมืองกูฟะฮ์ เผ่าฏอยถือเป็นเผ่าหนึ่งที่เข้มแข็งที่สุดที่ให้การสนับสนุนอิมามอะลี (อ.) ในสงครามญะมัลและศิฟฟีน ตระกูลอัชอะรีเป็นชีอะฮ์ของอิมามอะลี (อ.) ซึ่งเป็นชาวเยเมน เป็นเผ่าหนึ่งที่อพยพมายังเมืองกูฟะฮ์ และเนื่องจาก ฮัจญาจ บิน ยูซุฟ เข้มงวดกับชีอะฮ์อย่างหนักจึงอพยพจากกูฟะฮ์ไปยังเมืองกุม ในเวลาต่อมาพวกเขาใช้เมืองกุมเป็นศูนย์กลางในการตั้งรกรากเป็นถิ่นฐานที่พักอาศัยและได้เผยแพร่ชีอะฮ์ในอิหร่าน

ดารุลอิมาเราะฮ์แห่งเมืองกูฟะฮ์

เมื่อเมืองกูฟะฮ์ถูกสร้างขึ้นโดยคำสั่งของ สะอ์ด บิน อะบีวักกอส ก็ได้สร้างจวนขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมัสญิดกูฟะฮ์ ซึ่งเรียกกันว่า “จวนฏอมาร” (ที่สูง) และเป็นที่พักอาศัยของสะอ์ดและต่อมาเป็นที่พักอาศัยของบรรดาเจ้าเมืองกูฟะฮ์ จวนนี้เรียกกันว่า “ดารุลอิมาเราะฮ์” ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญขึ้น เช่น เรื่องราวของท่านมุสลิม บิน อะกีล ที่ อุบัยดิ้ลลาฮ์ อิบนิ ซิยาด สั่งให้โยนท่านลงมา กองคาราวานเชลยแห่งกัรบะลาและศรีษะของอิมามฮุเซน (อ.) ถูกพาเข้ามายัง อุบัยดิ้ลลาฮ์ อิบนิ ซิยาด ณ. จวนแห่งนี้ ท่านหญิงซัยหนับ (ส.) และอิมามสัจญาด ได้ตอบโต้กับอุบัยดิ้ลลาฮ์ ณ. ที่แห่งนี้ และจวนแห่งนี้ต่อมาเป็นที่พักของ มุคตาร ษะกอฟี อีกด้วย ศรีษะของผู้ที่ร่วมสังหารในเหตุการณ์อาชูรอถูกนำมาถวายแก่มุคตาร ณ. ที่นี่

ในปี ฮ.ศ. 71 อับดุลมะลิก บิน มัรวาน ได้สั่งให้ทำลายดารุลอิมาเราะฮ์ ถือเป็นยุคตกต่ำและถูกลดความสำคัญ ตามแหล่งอ้างอิงประวัติศาสตร์ ในยุคต้นของการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ สัฟฟาห์และมันศูร ได้เรียกท่านอิมามซอดิก (อ.) เดินทางมายังอิรัก และได้พักอาศัยอยู่ในเมืองกูฟะฮ์ระยะหนึ่ง ในช่วงเวลานี้อิมามซอดิก (อ.) ได้สอนและอธิบายวิทยาการต่างๆ ของอิสลามและตอบโต้กับแนวคิดเลยเถิด (ฆุลาต)

กูฟะฮ์ในยุคนี้เริ่มไม่ค่อยมีความสำคัญทั้งทางด้านการเมือง ทางทหารและเศรษฐกิจ ในสมัยอับบาซีที่สองเนื่องจากอำนาจทางการเมืองของบะนีอับบาสอ่อนแอลง เมืองกูฟะฮ์ถูกโจมตีจากเผ่าเร่ร่อนและการปล้นสะดมของชาวอาหรับ โดยเฉพาะเผ่ากอรอมิเฏาะฮ์ และเผ่าชัมร์ คอฟาญะฮ์ จนได้รับความเสียหายอย่างหนักและถูกทำลายไปในที่สุด

ศูนย์กลางการปกครองของอิสลาม

เนื่องจากเมืองกูฟะฮ์มีสภาพอากาศและน้ำที่ดี อยู่ใกล้แม่น้ำยูเฟรทิส (ฟุรอต) อีกทั้งสภาพทางด้านเศรษฐกิจที่ดีเนื่องจากมีรายได้จากทรัพย์สินสงครามที่พิชิตจากหัวเมืองต่างๆ  จึงดึงดูดให้ชนเผ่าต่างๆ และผู้คนจากดินแดนต่างๆ ของอิสลามอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่กูฟะฮ์ มีการอพยพกันเข้ามามากขึ้นโดยเฉพาะในปีฮิจเราะฮ์ที่ 36 เป็นปีที่อิมามอะลี (อ.) ได้ตั้งให้เมืองกูฟะฮ์เป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองของอิสลาม จะเห็นได้ว่ากองกำลังทหารของกูฟะฮ์ในสงครามศิฟฟีนมีมากถึงหกหมื่นห้าพันคน นักค้นคว้าบางท่านได้รวมครอบครัวและผู้ที่ไม่เข้าร่วมสงครามแล้วถือว่าประชากรทั้งหมดมีถึง หนึ่งแสนห้าหมื่นคนเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามยังมีบางรายงานทางประวัติศาสตร์อีกว่าจำนวนกองกำลังทหารของอิมามอะลี (อ.) ในสงครามศิฟฟีนมีถึงเก้าหมื่นคน

หลังจากที่กองกำลังญะมัลได้เคลื่อนทัพสู่เมืองบัศเราะฮ์ ในปีฮิจเราะฮ์ที่ 36 อิมามอะลี (อ.) ได้เคลื่อนกำลังพลที่เป็นนักรบแห่งเมืองมะดีนะฮ์จำนวนหนึ่งพันคนมุ่งหน้ายังอิรัก ชาวเมืองกูฟะฮ์หนึ่งหมื่นหรือหมื่นสองพันคนได้สมทบเข้าร่วมทำสงครามกับกลุ่มผู้ทำลายสนธิสัญญา หลังจากที่อิมามอะลี (อ.) มีชัยเหนือกองกำลังญะมัลแล้วก็เคลื่อนทัพกลับเมืองกูฟะฮ์และตั้งให้เมืองกูฟะฮ์เป็นศูนย์กลางการปกครองนับแต่นั้นมา

นักค้นคว้าบางท่านถือว่าการที่อิมามอะลี (อ.)เลือกเมืองกูฟะฮ์เป็นศูนย์กลางการปกครองก็เนื่องจากศักยภาพของเมืองกูฟะฮ์ในการเผชิญกับการรุกราน มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับเมืองมะดีนะฮ์และฮิญาซและเนื่องจากชาวกูฟะฮ์มีความจงรักภักดีต่ออิมามอะลี (อ.) มากกว่านั่นเอง

เมืองกูฟะฮ์ในริวายะฮ์ต่างๆ

จากแหล่งอ้างอิงทางด้านฮะดีษ มีริวายะฮ์มากมายที่กล่าวถึงความสำคัญของเมืองกูฟะฮ์ เช่น อิมามอะลี (อ)ถือว่าเมืองมักกะฮ์คือบ้าน (ฮะรัม)ของอัลลอฮ์ มะดีนะฮ์คือบ้านของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ็อลฯ) และเมืองกูฟะฮ์คือบ้านของท่าน และท่านกล่าวไว้อีกว่าไม่มีการกดขี่ใดเกิดขึ้นในเมืองกูฟะฮ์นอกจากอัลลอฮ์ (ซบ.) จะกำจัดมันออกไป

มีรายงานจากอิมามฮะซัน อัสการี (อ.) ว่า:รอยเท้าในเมืองกูฟะฮ์เป็นที่รักยิ่งกว่ารอยเท้าในเมืองมะดีนะฮ์

ยังมีรายงานอีกบางส่วนที่กล่าวถึงสถานภาพของเมืองกูฟะฮ์หลังจากการมาปรากฏของอิมามมะฮ์ดี (อ.) ว่า เมืองนี้จะเป็นศูนย์กลางการปกครองของอิมามท่านที่สิบสองของชีอะฮ์ (มัจลิซี, บิฮารุลอันวาร, ปีฮ.ศ. 1403 เล่ม 53 หน้า 11)

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม