คุณลักษณะของผู้ที่จะทำงานรับใช้ต่อศาสนาอิสลามในทัศนะของอิมามคอเมเนอี

    คุณลักษณะของผู้ที่จะทำงานรับใช้ต่อศาสนาอิสลามในทัศนะของอิมามคอเมเนอี

 

การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง (บะซีเราะฮ์) และการยืนหยัดอดทน ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะของชนชั้นนำที่ทำงานรับใช้อิสลามพึงจะต้องมี


       ท่านอิมามคอเมเนอีได้กล่าวว่า : “ผู้ใดก็ตามที่ไม่มีความเข้าใจที่ลึกซึ้ง(บะซีเราะฮ์) แม้ว่าเขาจะมีอีหม่าน (ความศรัทธา) ที่แรงกล้าก็ตาม เขาก็จะถูกหลอกลวงได้ และเมื่อเขาถูกหลอกลวงเสียแล้ว อีหม่าน(ความศรัทธา)ดังกล่าวนี้ก็จะไม่ถูกใช้ไปในทิศทางของเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้เองท่านอมีรุลมุอ์มินีน(อ.)จึงได้กล่าวในสงครามซิฟฟีนว่า : “จะไม่มีผู้ใดถือธง (แห่งภารกิจ) นี้ได้ นอกจากผู้ที่มีความเจ้าใจที่ลึกซึ้งและผู้ที่มีความอดทน” ไม่มีใครจะแบกรับภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ได้ นอกจากบุคคลที่จะต้องมีคุณลักษณะสองประการ : ประการแรก คือ บะซีเราะฮ์(ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) และประการที่สอง คือ ซ็อบร์ (ความอดทนและการยืนหยัด) : บะซีเราะฮ์ดีนี (ความเข้าใจที่ลึกซึ้งในศาสนา) และอิสติกอมะฮ์อีมานี (ความยืนหยัดอดทนในความศรัทธา)” (คำปราศรัยในปี ค.ศ. 1995)

       กล่าวโดยรวมแล้ว คำว่า "บะซีเราะฮ์" นั้น หมายถึง การมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งและครอบคลุมในทุกด้านของปัญหาและกิจการงานต่าง ๆ จะต้องไม่ถูกหลอกลวงด้วยรูปลักษณ์ภายนอกของปัญหาและกิจการนั้น ๆ และจะต้องมองถึงผลสุดท้ายของภารกิจการงานและปัญหาก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ ว่ามีผลกระทบโดยรวมต่อสังคมชีอะฮ์หรือไม่ นี่คือความหมายโดยรวมของคำว่า "บะซีเราะฮ์” เมื่อบะซีเราะฮ์ (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง) ถูกนำไปใช้งานในด้านต่าง ๆ มันจะนำทางและชี้นำมนุษย์ ในกรณีนั้น ๆ ไปสู่สิ่งที่ถูกต้อง ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ถือว่า เคล็ดลับของความสำเร็จในทุก ๆ กิจการงานนั้น คือการมี "บะซีเราะฮ์" (ความเข้าใจที่ลึกซึ้ง)

        ในสงครามซิฟฟีน ประชาชนกลุ่มหนึ่งจากกองทัพของท่านอมีรุลมุอ์มินีน(อ.) ได้ปฏิเสธที่จะทำสงครามกับมุสลิมด้วยกัน เป็นเรื่องหนักหน่วงอย่างมากสำหรับพวกเขาที่จะทำสงครามกับชาวมุสลิมด้วยกันเอง เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าบุคคลเหล่านั้นก็ทำนมาซ อ่านคัมภีร์อัลกุรอานและเรียกร้องสู่สัจธรรม ด้วยเหตุนี้เอง ท่านอิมาม (อ.) จึงได้กล่าวว่า

وَ قَدْ فُتِحَ بَابُ الْحَرْبِ بَيْنَكُمْ وَ بَيْنَ أَهْلِ الْقِبْلَةِ وَ لَا يَحْمِلُ هَذَا الْعَلَمَ إِلَّا أَهْلُ الْبَصَرِ وَ الصَّبْرِ وَ الْعِلْمِ بِمَوَاضِعِ الْحَقِّ

“ประตูแห่งสงครามได้ถูกเปิดแล้วระหว่างพวกท่านและระหว่างชาวกิบละฮ์ด้วยกัน และจะไม่มีผู้ใดถือธง (และแบกรับภารกิจ) นี้ได้ นอกจากผู้ที่มีความเจ้าใจที่ลึกซึ้ง มีความอดทนและมีความรู้ถึงตำแหน่งที่ตั้งของสัจธรรมเพียงเท่านั้น”

(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ , คุฏบะฮ์ที่ 173 , หน้าที่ 248)

    การปกป้องและสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อสัจธรรม

        ในบางกระแสหรือบางเหตุการณ์ต่าง ๆ ทางสังคม บรรยากาศเป็นไปในลักษณะที่สัจธรรมและความเท็จหรือความถูกต้องและความหลงผิดไม่มีความชัดเจน และแต่ละฝ่ายก็ไม่สามารถที่จะกล่าวอ้างความเป็นสัจธรรมและความถูกต้องได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ ในกรณีเช่นนี้ คือจุดของฟิตนะฮ์ (วิกฤตที่เลวร้าย) ที่จะต้องหลีกเลี่ยง ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

كُنْ فِي الْفِتْنَةِ كَابْنِ اللَّبُونِ لَا ظَهْرٌ فَيُرْكَبَ وَ لَا ضَرْعٌ فَيُحْلَبَ

“ในท่ามกลางฟิตนะฮ์ (วิกฤตความขัดแย้ง) จงทำตัวเหมือนดังลูกอูฐที่ไม่มีทั้งหลังที่จะให้ขี่และเต้านมที่จะให้ดื่มกิน”

(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, กะลิมะตุ้ลกิศ๊อรที่ 1)

      หรืออีกลักษณะหนึ่ง ก็คือว่าสัจธรรมและความถูกต้องนั้นมีความชัดเจน แต่ทว่ามีการแสดงท่าทีและการใช้ประโยชน์ในทางไม่ชอบในชื่อต่าง ๆ ของศาสนาที่เกิดขึ้นโดยฝีมือของฝ่ายศัตรู ที่ทำให้บรรยากาศเต็มไปด้วยความแปดเปื้อนและทำให้ประชาชนเกิดความคลุมเครือสับสน

      ในสภาพการณ์เช่นนี้ แนวทางที่ดีที่สุดคือการนำเสนอบันทัศฐานต่าง ๆ ของสัจธรรมและความถูกต้อง เพื่อให้ประชาชนเกิดความรู้และความเข้าใจที่ชัดเจนต่อสิ่งดังกล่าว เมื่อบันทัศฐานของสัจธรรมและความถูกต้องได้ถูกรู้จักแล้ว บรรดาผู้ที่อยู่ในฝ่ายสัจธรรมก็จะถูกรู้จักได้เช่นกัน อันดับแรกต้องแยกแยะและรับรู้ความถูกต้องให้ได้เสียก่อนแล้วจึงเลือกปกป้องและให้การสนับสนุน อย่าได้มองที่ตัวบุคคล ในสงครามญะมั้ล (สงครามอูฐ) ในระหว่างการทำศึกสงครามนั้น มีชายผู้หนึ่งที่อยู่ในฝ่ายของท่านอิมามอะลี (อ.) เอง ได้มาพบท่าน และถามว่า

أيمكن أن يجتمع الزبير وطلحة وعائشة على باطل؟

"เป็นไปได้หรือที่ซุบัยร์ ฏ็อลฮะฮ์และอาอิชะฮ์จะรวมตัวกันในความหลงผิด?

        ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตอบเขาว่า

إنّك لملبوس عليك ، إنّ الحق والباطل لا يعرفان بأقدار الرجال ، اعرف الحق تعرف أهله ، واعرف الباطل تعرف أهله

"เจ้ากำลังสับสนไปแล้ว แท้จริงสัจธรรมและความเท็จนั้นไม่อาจรู้จักได้ด้วยกับสถานภาพของบุคคล (หรือจำนวนคน) เจ้าจงรู้จักสัจธรรมเสียก่อน แล้วเจ้าจะรู้ว่าใครคือผู้อยู่กับสัจธรรม และจงรู้จักความเท็จเสียก่อน แล้วเจ้าจะรู้ว่าใครคือผู้ที่อยู่กับความเท็จ"

(นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 122)

       ในกรณีเหล่านี้บรรดาชนชั้นนำมีหน้าที่จะต้องให้ความกระจ่างแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อแยกแยะและทำความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อสิ่งที่จะเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคม และในกรณีที่สัจธรรมและความถูกต้องเป็นสิ่งที่ชัดเจนนั้น ชนชั้นนำของสังคมจะต้องเลือกฝ่ายและแสดงการสนับสนุนออกมาอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน

    การรู้จักเวลาและการดำเนินการในช่วงเวลาที่เหมาะสม

       ท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ในการวิเคราะห์ที่ลุ่มลึกของท่านเกี่ยวกับเหตุการณ์อาชูรอ ได้ย้ำถึงประเด็นสำคัญนี้ที่ว่า ถ้าหากชาวกูฟะฮ์ ในการช่วยเหลือท่านอิมามฮุเซน (อ.) พวกเขาดำเนินการอย่างทันท่วงที ในช่วงเวลาที่เหมาะสมของมัน โดยไม่เพิกเฉย บางทีเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่แสนขมขื่นภายหลังจากนั้น อาจจะไม่เกิดขึ้น ท่านกล่าวว่า : " ... มีบรรดาบุคคลที่เป็นชนชั้นนำที่พวกเขาไม่ได้ออกไปยังกัรบะลา พวกเขาไม่สามารถ พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จที่จะออกไป แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องเข้าร่วมในกลุ่มเตาวาบีน แล้วจะมีประโยชน์อะไร?! เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) ได้ถูกสังหารลงแล้ว เมื่อสูญเสียบุตรชายของท่านศาสดาไปแล้ว เมื่อโศกนาฏกรรมได้เกิดขึ้นแล้ว เมื่อประวัติศาสตร์ได้เริ่มต้นการขับเคลื่อนไปสู่ทิศทางของหุบเหวแล้ว มันจะมีประโยชน์อะไร?! ด้วยเหตุนี้เอง ในประวัติศาสตร์ จำนวนของกลุ่มเตาวาบีนนั้นมีมากกว่าจำนวนของบรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลาหลายเท่า บรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลาทั้งหมดได้ถูกสังหารลงภายในวันเดียว กลุ่มเตาวาบีนทั้งหมดก็ถูกสังหารลงภายในวันเดียวเช่นกัน แต่ผลที่บรรดากลุ่มเตาวาบีนได้ละทิ้งไว้ในประวัติศาสตร์นั้น ไม่ได้หนึ่งส่วนพันของผลที่บรรดาชะฮีดแห่งกัรบะลาได้ละทิ้งไว้! เนื่องจากว่าพวกเขาไม่ได้ออกมาในเวลาที่เหมาะสมของมัน ไม่ได้ปฏิบัติภารกิจในช่วงเวลาของมัน พวกเขาได้ตัดสินใจล่าช้าและจำแนกแยกแยะได้ล่าช้า" (คำปราศรัยในท่ามกลางผู้บัญชาการกองทัพ 27 มุฮัมมัด ร่อซูลุลลอฮ์ , ในปี ค.ศ. 1995 )

       ดังนั้นการรู้จักช่วงเวลาที่ที่เหมาะสม การแยกแยะช่วงเวลาได้อย่างถูกต้อง การลงสนามได้อย่างทันท่วงทีและการต่อสู้ (ญิฮาด) ในทางของพระผู้เป็นเจ้านั้น คือส่วนหนึ่งจากคุณลักษณะเฉพาะของชนชั้นนำผู้มีศรัทธาและเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องสัจธรรม

       ในสภาวะปัจจุบันที่โลกกำลังพบกับทางตันและสิ้นหวังจากระบอบการปกครองทั้งหลาย ดังที่เรากำลังพบเห็นจากข่าวสารต่าง ๆ แม้แต่เหตุการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ ตามสำนวนคำพูดของท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเอี ที่กล่าวว่า : "มนุษยชาติได้ข้ามผ่านสำนักคิดและอุดมการณ์­ต่างๆ ทางด้านวัตถุนิยมไปแล้ว วันนี้ไม่ว่าจะเป็นลัทธิมาร์กซิสต์ก็ไม่มีแรงดึงดูดใจอีกแล้ว และไม่ว่าจะเป็นลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยของตะวันตกก็ไม่มีแรงดึงดูดใจอีกแล้ว พวกเธอก็ได้เห็นแล้วว่าในอู่ของลัทธิเสรีนิยมประชาธิปไตยของตะวันตก ในอเมริกาและในยุโรปเองนั้นกำลังเกิดอะไรขึ้น พวกเขากำลังยอมรับสารภาพของการพ่ายแพ้" (คำปราศรัยในการพบปะกับผู้เข้าร่วมในการประชุมนานาชาติ "เยาวชนกับการตื้นตัวของอิสลาม" ในปี ค.ศ. 2011)

      ท่านอิมามโคมัยนี (ร.ฮ.) ก็ได้กล่าวว่า : "วันนี้โลกกำลังหิวกระหายวัฒนธรรม (คำสอน) ของอิสลามอันบริสุทธิ์ของ (ท่านศาสดา) มุฮัมมัด" (ซ่อฮีเฟเย่ นูร , เล่มที่ 20 , หน้าที่ 232)

      เราจะเห็นได้จากสถิติตัวเลขของคนเข้ารับอิสลามในยุโรปและในอเมริกาเป็นจำนวนเรือนแสนในแต่ละปี สิ่งนี้บรรดาชนชั้นนำของสังคมต่าง ๆ ของมุสลิมจะต้องคิดใคร่ครวญและใช้โอกาสและช่วงเวลาอันเหมาะสมนี้ในการทำงานเพื่อรับใช้และเผยแพร่หลักคำสอนอันบริสุทธิ์ของอิสลาม

    ความไม่ลุ่มหลงวัตถุและไม่ความหวั่นกลัวต่อชีวิตและสถานะความเป็นอยู่

       การลุ่มหลงวัตถุ คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนเราเบี่ยงเบนและหันเหออกจากสัจธรรม และการหันไปสนับสนุนความเท็จ ท่านอิมามฮุเซน (อ.) ในสุนทรพจน์ที่ได้กล่าวกับกองทัพของฝ่ายศัตรู ในแผ่นดินกัรบะลา ในการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ประชาชนชาวกูฟะฮ์และแม้แต่บรรดาชนชั้นนำ (ค่อวาศ) ที่ได้แปรผันไปให้การสนับสนุนต่อยะซีด และยืนเผชิญหน้ากับท่านอิมาม (อ.) นั้น ท่านกล่าวว่า

إنَّ الناسَ عَبيدُ الدُّنيا و الدِّينُ لَعقٌ على ألسِنَتِهِم يَحوطُونَهُ ما دَرَّت مَعائشُهُم ، فإذا مُحِّصُوا بالبلاءِ قَلَّ الدَّيّانُونَ

"แท้จริงมนุษย์ คือทาสของโลกนี้ (วัตถุ) และศาสนานั้น เป็นเพียงการ การกระดกลิ้นของพวกเขาเท่านั้น พวกเขาจะห้อมล้อมมันตราบที่ปัจจัยดำรงชีพของพวกเขายังพรั่งพรู แต่เมื่อใดที่พวกเขาถูกทดสอบด้วยความทุกข์ยาก ผู้ที่อยู่กับศาสนาจะเหลือเพียงน้อยนิด"

(ตุหะฟุลอุกูล , หน้าที่ 245)

        ตามสำนวนคำพูดของท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ท่านกล่าวว่า : "เมื่อชนชั้นนำที่อยู่ฝ่ายสัจธรรม หรือส่วนใหญ่ของพวกเขาที่อยู่ในสังคมหนึ่ง ๆ เปลี่ยนแปลงสภาพไป โดยที่ชีวิตทางวัตถุของพวกเขาเท่านั้นที่มีความสำคัญสำหรับพวกเขา เมื่อพวกเขาพร้อมที่จะยอมรับอำนาจการปกครองที่หลงผิด อันเกิดจากความกลัวในชีวิต กลัวต่อการลดพร่องของทรัพย์สินเงินทอง กลัวต่อการถูกตัดจากตำแหน่งชื่อเสียง กลัวจากการถูกเกลียดชังและกลัวจากการถูกโดดเดี่ยว ไม่ยอมที่จะยืนเผชิญหน้ากับความเท็จและไม่ยอมที่จะสนับสนุนสัจธรรม และไม่ยอมที่จะให้ชีวิตของตนเองตกอยู่ในอันตราย เมื่อนั้นเองที่ความสูญเสียอันใหญ่หลวงจึงได้เริ่มต้นขึ้นในโลกอิสลาม ด้วยกับการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุเซน (อ.) การปกครองของบนีอุมัยยะฮ์และลูกหลานของมัรวาน และติดตามมาด้วยบนีอับบาสและท้ายที่สุดก็มาถึงบรรดาผู้ปกครองราชวงศ์ต่าง ๆ ในโลกอิสลามจนถึงปัจจุบันนี้" (คำปราศรัยในการเข้าพบของสภาวัฒนธรรมการเผยแพร่อิสลาม ในปี ค.ศ. 2009)

       ตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน เราสามารถพบเห็นตัวอย่างต่าง ๆ ของชนชั้นนำจำนวนมาก แม้พวกเขาจะรู้จักสัจธรรมเป็นอย่างดี แต่เนื่องจากความลุ่มหลงในวัตถุและความกลัวสถานะความเป็นอยู่และชีวิตของตนเองจะตกอยู่ในอันตราย พวกเขาจึงไม่พร้อมที่จะสนับสนุนและปกป้องสัจธรรม ในทางตรงกันข้ามเลือกที่จะยืนอยู่ในฝ่ายที่หลงผิด ตัวอย่างเช่น อุมัร อิบนิซะอัด (บินอะบีวักก๊อส) เนื่องจากข้อเสนอเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ปกครองเมืองเรย์ ที่ทำให้เขาพร้อมรับการเป็นนำกองออกไปต่อสู้กับท่านอิมามฮุเซน (อ.) และชุร็อยห์ กอฎี เนื่องจากเงินและทรัพย์สมบัติทางโลกนี้ ที่ทำให้เขาออกคำฟัตวาแก่ประชาชนให้ออกไปทำสงครามกับท่านอิมามฮุเซน (อ.) ด้วยคำกล่าวอ้างที่ว่าท่านอิมามฮุเซน (อ.) เป็นผู้ก่อกบฏต่อผู้ปกครองของอิสลาม หรืออัมร์ อิบนิอาศ เนื่องจากอำนาจปกครองอียิปต์และส่วยภาษีต่าง ๆ ของมัน ทำให้เขามาอยู่เคียงข้างมุอาวิยะฮ์ และยังมีตัวอย่างอื่น ๆ อีกจำนวนนับสิบตัวอย่าง


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ