เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ปัจจัยต่างๆ ที่จะทำลายความเข้มแข็งของครอบครัว ตอนที่ 3

5 ทัศนะต่างๆ 04.6 / 5

ปัจจัยต่างๆ ที่จะทำลายความเข้มแข็งของครอบครัว ตอนที่ 3

 


ปัจจัยที่ 2.อุปสรรคทางครอบครัวและวัฒนธรรม

     นอกเหนือจากปัจจัยส่วนตัวของบุคคลแล้ว ปัจจัยทางวัฒนธรรมและทางครอบครัวก็มีอยู่ในสังคมและในครอบครัวด้วยเช่นกัน ด้วยกับการอยู่ของปัจจัยเหล่านี้ ความสัมพันธ์ภายในของครอบครัวและสิ่งผลพวงของมัน ความเข้มแข็งและความมั่นคงของครอบครัวจะถูกดึงไปสู่ความอ่อนแอและความไม่มีเสถียรภาพ

ก.การคบหาสมาคมกับคนที่ไม่ดีและการรับแบบอย่างจากพวกเขา

     เป็นไปได้ที่สมาชิกแต่ละคนของครอบครัวอาจเป็นสมาชิกของกลุ่มเพื่อนฝูงและคนร่วมวัย กลุ่มเหล่านี้จะเป็นแบบอย่างที่ถูกยอมรับของตัวเขาทั้งในคำพูดและการกระทำ และโดยปกติแล้วคนเราเพื่อที่จะให้ตัวเองได้รับการยอมรับจากเพื่อนๆ และการติดต่อสัมพันธ์และการคบหาสมาคมกับพวกเขานั้นจำเป็นต้องยอมรับบรรทัดฐานและค่านิยมต่างๆ ตามที่บุคคลเหล่านั้นยอมรับ ตัวอย่างเช่นหากคนผู้หนึ่งผูกสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่ติดยาเสพติด หลังจากช่วงเวลาหนึ่งเขาก็จะรับอิทธิพลจากพฤติกรรมของบุคคลเหล่านั้น เนื่องจากบันทัศฐานของการถูกยอมรับของบุคคลในกลุ่มนั้นคือยอมรับวัฒนธรรมที่ปกคลุมอยู่เหนือกลุ่มคนดังกล่าว กระบวนการของการมีอิทธิพลของกลุ่มต่อบุคคลในการกระทำชั่วอื่นก็จะเป็นแบบเดียวกัน

      ดังนั้นบรรดาผู้นำศาสนา จึงได้ห้ามบรรดาผู้ปฏิบัติตามของตนไม่ให้คบหาสมาคมกับบุคคลที่เบี่ยงเบน คนชั่วและเพื่อนๆ ที่ไม่ดี ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ว่า :

مُجَالَسَةَ أَهْلِ الْهَوَى مَنْسَاةٌ لِلإيمَانِ ومَحْضَرَةٌ لِلشَّيْطَانِ

“การร่วมสมาคมกับคนที่ปฏิบัติตามอารมณ์ใคร่นั้น จะทำให้หลงลืมความศรัทธาและการเข้าร่วมของมาร” (32)

      ในครอบครัวก็เช่นกัน บางครั้งคู่สมรสเนื่องจากการคบหาสมาคมและการรับผลกระทบจากผู้คนที่อ่อนแอและไร้ศีลธรรมก็จะประสบกับความเสียหายต่างๆ ทางด้านจริยธรรมและความเชื่อและระดับของยึดมั่นในครอบครัวและการปฏิบัติตามความรับผิดชอบต่างๆ ของตนก็จะลดน้อยลงไป

ข.การแทรกแซงที่ไม่ถูกต้องของผู้คนรอบข้าง

     โดยธรรมชาติแล้ว พ่อแม่จะเป็นบุคคลแรกและสำคัญที่สุดในการวางรากฐานบุคลิกภาพและบันทัศฐานทางความคิดของลูกๆ และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดชะตากรรม แนวทางและวิถีชีวิตของพวกเขา และในตัวพวกเขานั้นมีศักยภาพและขีดความสามารถที่แฝงอยู่ซึ่งจะเป็นสื่อของความเจริญก้าวหน้าของลูกๆ ลูกๆ เองเพื่อที่จะพัฒนาการและยกระดับจิตวิญญาณของตนจำเป็นต้องอาศัยการชี้นำและคำแนะนำของครอบครัว

      แต่ถ้าหากครอบครัวยังคงดำเนินวิธีการนี้ไปในทุกขั้นตอนของชีวิตของลูกๆ แม้ในช่วงที่พวกเขาได้เริ่มต้นชีวิตคู่ของตนแล้วโดยไม่ระวังรักษาขอบเขตที่เหมาะที่ควรและไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของชีวิตของพวกเขา จะทำให้เกิดพื้นฐานความไม่ลงรอยกันขึ้นมาได้

      พ่อแม่บางคนเชื่อว่าเนื่องจากตนเองใช้ชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อนและเป็นผู้มีประสบการณ์ ดังนั้นลูกๆ ของพวกเขาก็จำเป็นจะต้องใช้ประสบการณ์ต่างๆ ของพวกเขาในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ ด้วยเหตุนี้เองพวกเขาจึงถือว่าตนเองมีสิทธิที่จะแทรกแซงในชีวิตของลูก ๆ  แน่นอนไม่สามารถที่จะปฏิเสธความจำเป็นตลอดเวลาของลูกๆ ต่อประสบการณ์และคำแนะนำของพ่อแม่ แต่ความห่วงใยเหล่านี้ก็เช่นกันหากมันมากเกินควร ไม่เพียงแต่ไม่สามารถจะแก้ไขอะไรในชีวิตของพวกเขาได้แล้ว ยังจะเป็นสาเหตุสร้างปัญหาต่างๆ ในความสัมพันธ์ทางครอบครัวของพวกเขาอีกด้วย

     อย่างไรก็ตาม บางครั้งคู่สมรสหนุ่มสาวก็มองว่าการให้คำปรึกษาและคำแนะนำจากบิดามารดาหรือคู่สมรสของตนเป็นการแทรกแซง หรือบางครั้งก็เห็นว่าด้วยเหตุผลของการพึ่งพาอาศัยครอบครัวก่อนการสมรสทำให้พวกเขาไม่มีความคิดที่เป็นอิสระในชีวิตคู่ของพวกเขา และสิ่งนี้เองที่สร้างพื้นฐานของการแทรกแซงของคนอื่นๆ ในชีวิตพวกเขา คู่สมรสหนุ่มสาวจำเป็นต้องรู้ว่าหลังจากการแต่งงานแล้วพวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบและบทบาทใหม่ ๆ ในการดำเนินชีวิตของพวกเขา และจำเป็นที่พวกเขาจะต้องลดการพึ่งพาครอบครัวของตนลง พวกเขาจะต้องไม่เปิดเผยอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ของครอบครัวใหม่ให้ผู้อื่นรับรู้ และจะต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของชีวิตคู่ของตน

ค.การขยายตัวของสื่อบันเทิงออนไลน์

      เทคโนโลยีใหม่ๆ นับจากช่วงเวลาที่มันได้เข้ามาสู่ชีวิตของมนุษย์พร้อมกับความบันเทิงออนไลน์จนถึงขณะนี้นั้นมันได้กลายเป็นวัฒนธรรมสากล แม้จะมีข้อดีและประโยชน์ต่างๆ มากมาย แต่ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาและความวิตกกังวลต่างๆ ขึ้นในครอบครัวทั้งหลาย สมาชิกทุกคนในครอบครัวสามารถที่จะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์อย่างง่ายดายได้หลายๆ ชั่วโมงทั้งกลางวันและกลางคืน และพวกเขาใช้เวลาของตนเองอยู่ในโลกของ “www” ทั้งหลาย  ในโลกออนไลน์เนื่องจากไม่มีสัญญาณต่างๆ ทางกายภาพ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีรูปร่างทางวัตถุ ไม่ต้องการสถานที่ ซ่อนเร้นและไม่มีใครสามารถควบคุมได้ ในบรรยากาศเข่นนี้สมาชิกของครอบครัวเผชิญกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่หลากหลาย อัตลักษณ์ใหม่ๆ และวัฒนธรรมที่แตกต่าง โดยที่ในหลาย ๆ กรณี ภาพที่ถูกวาดเกี่ยวกับครอบครัวในโลกออนไลน์นี้มีไม่สอดคล้องกันกับวัฒนธรรมและทัศนคติของเราที่มีต่อครอบครัวและหลักเกณฑ์ต่างๆ ของมันเลย

      ค่านิยมและหลักจริยธรรมที่ปกคลุมอยู่เหนือครอบครัวในโลกเทคโนโลยีสารสนเทศ (โลกไซเบอร์) นั้นมีความหมายที่แตกต่างกันกับในโลกแห่งความเป็นจริง ในความเป็นจริงแล้วอินเทอร์เน็ตจะสร้างวัฒนธรรมเฉพาะของตัวเองขึ้น ด้วยวิธีนี้ความคาดหวังต่างๆ ของคู่สมรสทั้งหลายและความต้องการต่างๆ ของพวกเขาจากการดำเนินชีวิต จากครอบครัวและคู่สมรสจะเปลี่ยนแปลงไปตามโลกไซเบอร์ ในขณะที่บางครั้งการมีอยู่ประเด็นเหล่านี้ไม่อาจเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริง

      การติดหรือพฤติกรรมการพึ่งพาต่ออินเทอร์เน็ตหรือเกมคอมพิวเตอร์เป็นปรากฏการณ์ที่ทำลายเวลาซึ่งมาพร้อมกับเภทภัยต่างๆ ทางด้านร่างกาย การเงิน ครอบครัว สังคมและจิตใจ และคนที่ติดมันจะประสบกับเสียหายมากมายในหน้าที่ต่างๆ ทางด้านตัวและสังคม  ในช่วงเวลานี้เองคนที่ติดมันจะให้เวลากับสมาชิกในครอบครัวน้อยลงและจะทุ่มเทเวลาอยู่ตามลำพังมากกว่ากับคอมพิวเตอร์มากกว่า

      สิ่งนี้จะส่งผลกระทบอย่างง่ายดายต่อความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว หมายถึง คู่สมรส พ่อแม่และลูกๆ เวลาของการใช้อินเทอร์เน็ตและห้องสนทนา (แชท) และการเข้าร่วมในเครือข่ายสังคมนั้นมากถึงขั้นที่ได้กลายเป็น "ชีวิตที่สอง" ของบรรดาผู้ชายและผู้หญิงอยู่ในห้องเหล่านี้ และกำลังคุกคามชีวิตแรกและชีวิตหลักของพวกเขา เนื่องจากชีวิตที่สอง (ในห้องแชท) นั้นส่วนมากของพลังความสามารถและเวลาของบุคคลจะถูกใช้ไปในเรื่องนี้ (33) และนั่นหมายถึงการติดต่อสื่อสารอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งของพื้นที่โลกอิเล็กทรอนิกส์และการปลีกตัวอยู่ตามลำพัง

ปัจจันที่ 3. ปัจจัยทางเศรษฐกิจ

     ไม่ต้องสงสัยเลยว่าปัญหาทางด้านเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดส่วนสำคัญของความขัดแย้งขึ้นในครอบครัว  อย่างไรก็ดีจะต้องไม่มองว่าทุกปัญหาทางด้านเศรษฐกิจนั้นเกิดจากความยากจนและ           ความขัดสน เนื่องจากในหลาย ๆ กรณีที่ความยากจนไม่ได้ทำให้ชีวิตประสบกับความทุกข์ยาก แต่ทว่าพฤติกรรมต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่ไม่ถูกต้องและการบริหารจัดการด้านการเงินที่ไม่เหมาะสมจะก่อให้เกิดความบกพร่องต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจของครอบครัวและหลังจากนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของสมาชิก อุปสรรคต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่มีต่อความเข้มแข็งของครอบครัวมีดังนี้ :

ก.ความอ่อนแอในการบริหารจัดการด้านการเงินของครอบครัว

      การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพในการจัดหาและการใช้แหล่งที่มาทางด้านการเงินในระยะสั้นและระยะยาว เป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุดในการบริหารจัดการทางการเงินสำหรับครอบครัว ครอบครัวจำนวนมากเนื่องจากขาดการบริหารจัดการที่ดีทางด้านเศรษฐกิจในการหาเข้ามาและการจ่ายออกไปทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงิน  ในขณะที่ผู้บริหารจัดการด้านเศรษฐกิจของครอบครัวนั้นสามารถที่จะลดปัญหาต่างๆ ทางด้านการเงินลงได้ด้วยกับการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง

      เช่นเดียวกับที่พ่อแม่เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและการบรรลุสู่ความสมบูรณ์ของครอบครัวจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการทางด้านอารมณ์ความรู้สึก ด้านจิตวิทยาและด้านสังคม ในการสร้างความสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่ายก็เช่นเดียวกันจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการ  ความสำคัญของเรื่องนี้มีถึงขั้นที่ว่าการบริหารจัดการที่เหมาะสมในส่วนนี้สามารถนำไปสู่การความแข็งแกร่งของรากฐานของครอบครัวและการลดความตึงเครียดและปัญหาต่างๆ ทางครอบครัว  แต่มีคำถามอยู่ว่าการบริหารจัดการด้านการเงินของครอบครัวนั้นควรอยู่ในความรับผิดชอบของใคร?  จำเป็นต้องกล่าวว่าการมีส่วนร่วมของสมาชิกในครอบครัวทั้งหมดในเรื่องนี้จะนำไปสู่ความสำเร็จของครอบครัวในกิจการต่างๆ ทางด้านการเงินและการลดปัญหาทางเศรษฐกิจ

      ส่วนหนึ่งของปัญหาทางเศรษฐกิจในครอบครัวเป็นเพราะสมาชิกไม่ได้จัดระบบค่าใช้จ่ายของตนบนพื้นฐานของรายได้ของครอบครัว ดังนั้นในการได้มาและการใช้จ่ายออกไปนี้ ไม่มีเรื่องของการเก็บออมหรือในสำนวนที่ว่า "สำหรับวันแห่งความยากลำบากและความทุกข์ยาก” เลย ด้วยกับเงื่อนไขเหล่านี้ ในปัญหาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน (เช่นการว่างงาน ความเจ็บป่วย ฯลฯ ) ครอบครัวจะประสบกับวิกฤติและปัญหาต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ

      ดังนั้นเศรษฐกิจของครอบครัวควรมีการวางแผนตามสิ่งที่มีอยู่และรายได้ต่างๆ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับความต้องการต่างๆ  พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอานเกี่ยวกับบรรดาผู้ฟุ่มเฟือยว่า :

"และจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย แท้จริงบรรดาผู้สุรุ่ยสุร่ายนั้นเป็นพวกพ้องของเหล่าชัยฏอน (มาร) และชัยฏอนนั้นเป็นผู้เนรคุณต่อพระผู้อภิบาลของมัน” (34)

       คุณลักษณะส่วนบุคคลบางอย่างก็อยู่ในพิสัยของพฤติกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมีผลกระทบอย่างมากในอ่อนแอของการบริหารจัดการทางด้านการเงินและเศรษฐกิจของครอบ ที่สำคัญที่สุดของมันได้แก่ :

ประการที่หนึ่ง : การแข่งขันในการบริโภค

      หนึ่งในอุปสรรคที่สำคัญของการบริหารจัดการที่ถูกต้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของครอบครัว คือ "การแข่งขัน" และการแสดงความเหนือกว่าในการบริโภค ปัจจุบันนี้สังคมของเรากำลังย่างก้าวอย่างรวดเร็วไปสู่การใช้ชีวิตที่หรูหราและการบริโภคนิยม พฤติกรรมเช่นนี้จะเพิ่มค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และส่วนใหญ่ของค่าใช้จ่ายที่มากมายในครัวเรือนนั้นเกิดจากการใช้ชีวิตที่หรูหราและการแข่งขัน

การแข่งขันเป็นลักษณะหนึ่งของพฤติกรรมมนุษย์ในแวดวงทางสังคม เมื่อพิจารณาถึงการแข่งขันที่แฝงอยู่ในสำนวนนี้สามารถกล่าวได้ว่า การแข่งขันในการใช้จ่ายเงิน หมายถึงการที่ผู้คนทั้งหลายจะแสดงพฤติกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายต่างๆ ของการแข่งขันซึ่งจะแสดงตนและโอ้อวดให้ผู้อื่นเห็นว่าตัวเองมีความเหนือกว่า ดังนั้นองค์ประกอบหลักของพฤติกรรมนี้ คือการสร้างภาพ การแข่งขัน ความรู้สึกน้อยหน้าและการตอบสนองความพึงพอใจของตนในรูปของวัตถุและภาพลักษณ์ภายนอก การแข่งขันนี้เป็นความพยายามที่จะทำตัวเหนือกว่าผู้อื่นและไม่ยอมน้อยหน้า และในทางจิตวิทยามันจะเกิดขึ้นเมื่อบันทัศฐานในการวัดคุณค่าต่างๆ ไม่มีอยู่ในตัวบุคคลผู้นั้น และสำหรับเขาแล้วสายตาคนอื่นเท่านั้นที่มีความสำคัญ กล่าวคือ บุคคลผู้นั้นจะประเมินคุณค่าของตัวเองจากสายตาของผู้อื่น และด้วยเหตุนี้เองภาพลักษณ์ภายนอกจะเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขา แต่ถ้าหากบันทัศฐานของคุณค่าเป็นสิ่งที่อยู่ภายในของแต่ละบุคคล เขาก็จะไม่ใส่ใจต่อสายตาของผู้อื่น และเขาสามารถที่จะใช้บันทัศฐานต่างๆ ทางด้านจริยธรรมและพฤติกรรมของตนที่เกิดขึ้นด้วยพัฒนาการความสมบูรณ์ของอารมณ์ความรู้สึกและความคิด

      บางครั้งการแข่งขันจะเป็นสาเหตุของการปลุกปั่นบุคคลทั้งหลายและการก่ออาชญากรรม บางครั้งก็จะนำไปสู่การกระซิบกระซาบและความผิดปกติต่างๆ ทางด้านพฤติกรรม ความก้าวร้าวและการหย่าร้าง เนื่องจากบรรดาบุคคลที่มองเห็นตัวเองว่าไร้ความสามารถในการแข่งขันกับผู้อื่นนั้นจะประสบกับปัญหาภาวะทางจิตได้ ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของพวกเขากับสมาชิกของครอบครัว เนื่องจากบุคคลผู้นั้นจะมองว่าคู่สมรสและสภาพทางการเงินที่ไม่ดีของตนนั้นคือสาเหตุของการไร้ความสามารถในการแข่งขันกับผู้อื่น

      อย่างไรก็ตาม บางทีวิธีที่ดีที่สุดในการลดการแข่งขันและการป้องกันครอบครัวทั้งหลายจากมีดโกรนที่คมกริบของการบริโภคนิยมในสังคม คือการเสริมสร้างพื้นฐานทางจริยธรรมในระดับต่างๆ ของสังคมและการลดการโฆษณาชวนเชื่อปัจจัยใช้สอยที่เป็นสิ่งฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็นทั้งหลายลง

ประการที่สอง : ความหรูหราและความฟุ่มเฟือย

      ความลุ่มหลงวัตถุและความหรูหราฟุ่มเฟือยเป็นหนึ่งในเภทภัยที่ร้ายแรงที่สุดของการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ผลพวงที่เป็นลบต่างๆ ของมันจะปรากฏอยู่ในครอบครัวและสังคม โดยการแผ่ขยายของปัจจัยสาธารณูปโภคต่างๆ และพื้นฐานการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ และหรูหราในยุคปัจจุบัน ทำให้ความฟุ่มเฟือยก็ขยายตัวตามไปด้วย ในความเป็นจริงแล้วการส่งเสริมความหลากหลายทางด้านภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในสังคมทำให้เกิดความรู้สึกถึงความจำเป็นในการบริโภคสินค้าต่างๆ ที่ฟุ่มเฟือยและมีประโยชน์น้อย การแผ่ขยายจิตวิญญาณของการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและแนวคิดบริโภคนิยม จิตวิญญาณดังกล่าวนี้บางครั้งจะเป็นสาเหตุนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในครอบครัวต่างๆ ที่ยากจนหรือระดับชั้นกลาง และจะนำสังคมไปสู่การแข่งขันและการเอาชนะโอ้อวดในด้านการบริโภคและความหรูหราฟุ่มเฟือย

      อิสลามคือศาสนาที่ธำรงความเป็นสายกลาง แต่ในขณะเดียวกันก็อนุญาตให้ใช้เครื่องประดับและสิ่งสวยงามของธรรมชาติรวมทั้งสื่อและปัจจัยต่างๆ ที่เหมาะสมได้ และยิ่งไปกว่านั้นยังได้กำชับในเรื่องนี้ด้วย ด้วยเหตุนี้เอง อัลกุรอานจึงกล่าวว่า

وَابْتَغِ فِيمَا آتَاكَ اللَّهُ الدَّارَ الآخِرَةَ وَلا تَنْسَ نَصِيبَكَ مِنَ الدُّنْيَا وَأَحْسِنْ كَمَا أَحْسَنَ اللَّهُ إِلَيْكَ وَلا تَبْغِ الْفَسَادَ فِي الأَرْضِ إِنَّ اللَّهَ لا يُحِبُّ الْمُفْسِدِينَ

“และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานแก่เจ้าเพื่อที่พำนักในปรโลก และจงอย่าลืมส่วนของเจ้าในโลกนี้ และจงทำความดี เสมือนกับที่อัลลอฮ์ได้ทรงทำดีแก่เจ้า และอย่าแสวงหาความเสียหายในแผ่นดิน แท้จริง อัลลอฮ์ไม่ทรงรักบรรดาผู้ผู้ก่อความเสียหาย” (35)

      วัฒนธรรมการบริโภคในศาสนาอิสลามวางอยู่บนหลักการต่างๆ อย่างเช่น ความพอเพียง หลีกเลี่ยงจากความฟุ่มเฟือยและการสุรุ่ยสุร่าย แต่รสนิยมในความหรูหราและการแข่งขันโอ้อวดกับผู้อื่น การซื้อปัจจัยต่างๆ ที่ไม่จำเป็นและกรณีอื่นๆ ที่คล้ายกันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของค่านิยมของประชาชน ในลักษณะที่ในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมสาธารณะ คุณค่าต่างๆ จะถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ตรงข้ามกับคุณค่า และลัทธิบริโภคนิยม ความฟุ่มเฟือยและความหรูหราได้ถูกแทนที่ความพอเพียงและการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย การหันหลังให้กับคุณค่าและสิ่งต่างๆ ทางด้านคุณธรรมและจริยธรรมนับเป็นส่วนหนึ่งจากผลพวงอันเลวร้ายของการนิยมความหรูหรา บรรดาบุคคลที่หลงใหลความร่ำรวยและความมั่งคั่งนั้น พวกเขาจะทุ่มเทความสามารถและความพยายามทั้งหมดของตนไปในการรวบรวมปัจจัยและสีสันต่างๆ ทางวัตถุ  ความหมายต่างๆ ของคำว่าคุณค่า อย่างเช่นความสมถะ ความยำเกรงพระเจ้า (ตักวา) การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย การทำทาน การเสียสละและครอบครัวจะไม่มีที่อยู่ในความนึกคิดของของพวกเขา

     คัมภีร์อัลกุรอานกล่าวว่า:

الَّذِينَ يَسْتَحِبُّونَ الْحَيَاةَ الدُّنْيَا عَلَى الْآخِرَةِ وَيَصُدُّونَ عَن سَبِيلِ اللَّهِ وَيَبْغُونَهَا عِوَجًا ۚ أُولَٰئِكَ فِي ضَلَالٍ بَعِيدٍ

“บรรดาผู้พอใจต่อชีวิตในโลกนี้เหนือปรโลก และปิดกั้นจากทางของอัลลอฮ์ และต้องการที่จะให้มันคดเคี้ยว พวกเหล่านั้นอยู่ในการหลงทางที่ห่างไกล” (36)

ประการที่สาม : ความต่ำทรามของผู้ชาย

      ด้วยการแบ่งสรรหน้าที่อย่างยุติธรรม อิสลามได้มอบความรับผิดชอบทางด้านเศรษฐกิจของครอบครัวให้กับผู้ชาย และพวกเขามีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูให้กับผู้หญิงและลูกๆ และพวกเขาได้รับการกำชับสั่งเสียว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตใจที่กว้างขวางในการจ่ายเงินค่าเลี้ยงดู  ค่าเลี้ยงดูนั้นประกอบด้วยอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและความจำเป็นต่างๆ ในการดำเนินชีวิตตามพื้นฐานสถานภาพและความต้องการของผู้หญิง  นอกเหนือจากในแง่ของสิทธิ (ตามศาสนบัญญัติ) ของประเด็นนี้แล้ว ในตัวบทต่างๆ ของอิสลามยังถือว่าการมีจิตใจเปิดกว้างและการสร้างความกว้างทางด้านปัจจัยดำรงชีพให้แก่ครอบครัวนั้นจะเป็นสื่อความพึงพอพระทัยของพระผู้เป็นเจ้า และโดยวิธีเช่นนี้เองที่ศาสนาได้ส่งเสริมบรรดาผู้ชายไปสู่การกระทำดังกล่าว

      ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า :

إِنَّ أَحَبَّكُمْ إِلَى اللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ أَحْسَنُكُمْ عَمَلًا وَ إِنَّ أَعْظَمَكُمْ عِنْدَ اللَّهِ عَمَلًا أَعْظَمُكُمْ فِيمَا عِنْدَ اللَّهِ رَغْبَةً وَ إِنَّ أَنْجَاكُمْ مِنْ عَذَابِ اللَّهِ أَشَدُّكُمْ خَشْيَةً لِلَّهِ وَ إِنَّ أَقْرَبَكُمْ مِنَ اللَّهِ أَوْسَعُكُمْ خُلُقاً وَ إِنَّ أَرْضَاكُمْ عِنْدَ اللَّهِ أَسْبَغُكُمْ عَلَى عِيَالِهِ وَ إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عَلَى اللَّهِ أَتْقَاكُمْ

“แท้จริงผู้เป็นที่รักที่สุดในหมู่พวกท่าน ณ อัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติเกรียงไกร คือผู้ที่มีการกระทำที่ดีที่สุด และแท้จริงผู้ที่มีการกระทำที่ดีที่สุด ณ อัลลอฮ์ ในหมู่พวกท่าน คือผู้ที่มีความมุ่งหวังในสิ่งที่มีอยู่ ณ อัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกท่าน และแท้จริงผู้ที่จะรอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกท่าน คือผู้ที่เกรงกลัวอัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกท่าน และแท้จริงผู้ที่ใกล้ชิดอัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกท่าน คือผู้ที่มีมารยาทกว้างขวางที่สุดในหมู่พวกท่าน และแท้จริงผู้ที่ได้รับความพึงพอพระทัย ณ อัลลอฮ์มากที่สุดในหมู่พวกท่านคือผู้ให้ความกว้างขวางในการดำรงชีพแก่ครอบครัวของตนเองมากที่สุดในหมู่พวกท่าน และแท้จริงผู้ที่มีเกียรติมากที่สุด ณ อัลลอฮ์ในหมู่พวกท่าน คือผู้ที่มีความยำเกรงที่สุดในหมู่พวกท่าน” (37)

     คนที่จะได้รับความรักจากอัลลอฮ์มากที่สุด คือคนที่สร้างความกว้างขวางและความสุขสบายแก่ครอบครัวของตน ในทางตรงกันข้าม การตระหนี่ของผู้ชายในเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจของครอบครัวนั้นถือเป็นเรื่องที่น่าตำหนิ นอกจากนี้บรรดาผู้ชายยังได้ถูกกำชับสั่งเสียในโอกาสพิเศษต่างๆ อย่างเช่น วันอีด (วันแห่งการเฉลิมฉลอง) ต่างๆ หรือการกลับจากการเดินทาง ที่พวกเขาจะมอบของกำนัลเป็นพิเศษแก่ครอบครัวของตน ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า :

إذا خرج أحدکم إلی سفر ثم قدم علی أهله، فلیهدهم ولیطرفهم و لو حجارة

“เมื่อคนใดจากพวกท่านได้ออกเดินทาง ในขณะที่กลับมายังครอบครัว ดังนั้นเขาจงนำของฝากมาให้ครอบครัวของเขา แม้จะเป็นเพียงก้อนหินก็ตาม” (38)

บทสรุป

     โดยรวมแล้วครอบครัวคือระบบที่สมาชิกทุกคนของมันมีสิทธิและอำนาจต่างๆ ที่แน่นอนชัดเจน และในขณะเดียวกันครอบครัวเป็นสถานที่ที่เหมาะสมมากที่สุดสำหรับการตอบสนองความต้องการต่างๆ ทางด้านวัตถุและจิตวิญญาณของมนุษย์และสามารถจัดเตรียมเวทีที่ดีที่สุดในการจัดเตรียมความปลอดภัยและความสงบสุขทางจิตใจของบุคคลทั้งหลาย  แน่นอนว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสได้รับการจัดระเบียบในบรรยากาศความสงบสุข ความเอื้ออาทร ตรรกะและความมีเหตุมีผล อย่างไรก็ตามในเส้นทางนี้อาจมีปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทางกฎหมายและวัฒนธรรมที่ก่อให้เกิดความท้าทายต่างๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส และจะทำให้ความสงบสุขและความเป็นอยู่ของครอบครัวตกอยู่ในอันตราย เพื่อจัดการกับปัญหานี้การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเหล่านี้และวิธีการในการป้องกันและการเยียวแก้ไขมันนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตร่วมกัน ในอีกด้านหนึ่งเราเชื่อมั่นว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้ก็โดยอาศัยการเน้นย้ำที่มีอยู่ในโองการต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้าและวจนะของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เพียงเท่านั้น

       ดูเหมือนว่าการเสริมสร้างคุณค่าต่างๆ ทางศาสนาและอิสลามเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดที่จะสามารถพร้อมกับการขจัดอุปสรรคต่างๆ จะช่วยสร้างและรักษาครอบครัวให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อย่างต่อเนื่องได้ แน่นอนถ้าหากการยุดมั่นต่อคุณค่าต่างๆ ของอิสลามได้กลายเป็นเรื่องด้านในจิตใจแล้ว อุปสรรคและปัญหาจำนวนมากที่อาจจะเป็นสาเหตุของความบกพร่องของครอบครัวก็จะถูกขจัดไปหรือเปลี่ยนแปลงไปได้ และในที่สุดโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและความเป็นไปได้ของความมั่นคงและความเข้มแข็งของมันก็จะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

      ในทางตรงกันข้าม การแยกตัวออกจากศาสนา การขาดความสนใจหรือละเลยต่อมันนั้นจะเหตุลบเลือนคุณค่าทางศีลธรรมจำนวนมากและทำทำลายเกียรติของสมาชิกลงไป และสิ่งนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดความสั่นคลอนและเป็นอันตรายต่อความสัมพันธ์ที่ดีงามในครอบครัวของสามีและภรรยา

      ประสิทธิผลของหลักการอิสลามในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและการที่จะพบเห็นผลลัพธ์ต่างๆ ที่น่าพอใจของมันในครอบครัวนั้น ขึ้นอยู่กับการวางรากฐานนี้ให้เกิดขึ้นในพฤติกรรมและการกระทำของสมาชิกในครอบครัว กระนั้นก็ตามการบรรลุเป้าหมายนี้ก็ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนอบรมภายในครอบครัวเหล่านี้เพื่อให้บุตรหลานของตนได้เรียนรู้ถึงหลักการและพื้นฐานที่ดีของการใช้ชีวิตและมีปฏิสัมพันธ์กับคู่สมรสในครอบครัวในอนาคตของพวกเขา

      ดั่งที่ได้กล่าวไปแล้ว สิ่งนี้ไม่ได้ถูกสรุปอยู่แค่เพียงการเรียนการสอนภาพรวมของอะห์กาม (ศาสนบัญญัติ) และหน้าที่ต่างๆ ของครอบครัวเท่านั้น ทว่าด้วยการให้ความความสำคัญคำสั่งใช้และข้อห้ามทั้งหมดของหลักการต่างๆ ของอิสลามและและการมีการอบรมขัดเกลาที่สมบูรณ์ตามแบบอิสลาม จะสามารถบรรลุสู่เป้าหมายนี้ได้ ตัวอย่างเช่น การศรัทธามั่นในชีวิตหลังความตายและการตรวจสอบบัญชีแห่งการกระทำ (อะมั้ล) และการให้ความสำคัญต่อสิทธิของผู้อื่น (รวมถึงคู่สมรส) จะมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว

     บ่อเกิดของปัญหาครอบครัวจำนวนมากนั้น คือพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่พึงประสงค์ อย่างเช่น การเหยียบย่ำสิทธิของอีกฝ่ายหนึ่ง การกดดันต่อผู้อื่นและการไม่ยอมรับความรับผิดชอบ ซึ่งความเชื่อในชีวิตหลังความตายจะมีประสิทธิภาพอย่างมากในการป้องกันไม่ให้สมาชิกกระทำในสิ่งเหล่านี้

     หลังจากครอบครัวแล้ว รัฐบาลก็สามารถที่จะวางรากฐานหลักการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของอิสลามที่สามารถจะช่วยในความสงบสุขของครอบครัวได้โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ในมือสำหรับการพูดคุยและการสร้างวัฒนธรรมในสังคม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าความสงบสุขของสังคมนั้นขึ้นอยู่กับความสงบสุขของครอบครัวทั้งหลายของสังคมนั้นๆ และความพยายามของบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐของทุกสังคมในแนวทางนี้คือการช่วยให้เกิดความอยู่รอดและความเข้มแข็งของสังคมนั้นๆ

     ด้วยความช่วยเหลือของคำสอนและนโยบายเหล่านี้ คู่สมรสภายใต้การสนองตอบความต้องการต่างๆ ทางร่างกายและจิตใจของกันและกันสามารถที่จะสร้างพื้นฐานความมีสุขภาพจิตที่ดีของคู่สมรสและความสงบสุขของครอบครัวซึ่งจะก่อให้เกิดความสงบสุขและความมีสุขภาพจิตที่ดีของตนเองได้ สิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งจากทักษะของการใช้ชีวิตร่วมกัน และนับได้ว่าเป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิผลมากที่สุดสำหรับการรับประโยชน์จากการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์และประสบความสำเร็จและการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

เชิงอรรถ :

32.นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุบะฮ์ที่ 84

33.ตักวียัต นิซอม คอเนะฮ์วอเดะฮ์ วะ ออซีบ ชะนอซีเย่ออน, รองหัวหน้าฝ่ายวิจัยกลุ่มจิตวิทยาของสถาบันอิมามโคมัยนี, เล่มที่ 2, หน้าที่ 201

34.อัลกุรอานบทบนีอิสรออีล โองการที่ 27

35.อัลกุรอานบทอัลกอศ๊อศ โองการที่ 77

36.อัลกุรอานบทอิบรอฮีม โองการที่ 3

37.บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 101, หน้าที่ 73

38.บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 73, หน้าที่ 283

 

เขียนโดย : อะอ์ซ็อม นูรี 

แปลโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม