มุหัรรอม ตอนที่ 3

มุหัรรอม ตอนที่ 3 

การจัดพิธีมุหัรรอม เป็นปัญหาฟิกฮ์  คำถามคือเป็น  ซุนนะฮ์ หรือ บิดอะฮ์  ?

بِسْمِ اللّـــــهِ الرَّحْمَنِ الرَّحِيْمِ

ซุนนะฮฺ
ในทางภาษาศาสตร์หมายถึง แนวทางหรือวิธีการ ซุนนะฮฺมาจากคำว่า“ซันนะ- سَنَّ”  หมายถึงวิถีหรือแนวทาง

หะดีษที่อะฮ์ลุสซุนนะฮ์รายงาน

مَنْ سَنَّ فِى الإِسْلاَمِ سُنَّةً حَسَنَةً فَلَهُ أَجْرُهَا وَأَجْرُ مَنْ عَمِلَ بِهَا بَعْدَهُ مِنْ غَيْرِ أَنْ يَنْقُصَ مِنْ أُجُورِهِمْ شَىْءٌ وَمَنْ سَنَّ فِى الإِسْلاَمِ سُنَّةً سَيِّئَةً كَانَ عَلَيْهِ وِزْرُهَا وَوِزْرُ مَنْ عَمِلَ بِهَا مِنْ بَعْدِهِ مِنْ غَيْرِ أَنْ يَنْقُصَ مِنْ أَوْزَارِهِمْ شَىْءٌ

ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯกล่าวว่า :  
ผู้ใด ที่ได้ทำแบบอย่างที่ดีในอิสลาม แน่นอน เขาจะได้รับผลตอบแทนของมัน และผลตอบแทนของผู้ที่ได้ปฏิบัติด้วยกับมัน หลังจากเขา(เสียชีวิตไปแล้วก็ได้กับเขา) โดยไม่มีสิ่งใดลดลงไปเลย จากผลการตอบแทนของพวกเขา และผู้ใด ทีได้ทำแบบอย่างที่เลว ในอิสลาม แน่นอน บาปของมันก็ตกบนเขา และบาปของผู้ที่ปฏิบัติมัน หลังจากเขา(เสียชีวิตไปแล้วก็ตกบนเขา)โดยไม่มีสิ่งใดบกพร่องลงไปเลยจากบรรดาบาปของพวกเขา

ดูซอฮี๊ฮฺมุสลิม หะดีษที่ 1017           

หะดีษที่อะฮ์ลุบัยต์รายงาน

قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صلي الله عليه وآله :  مَنْ سَنَّ سُنَّةً حَسَنَةً فَلَهُ أَجْرُهَا وَ أَجْرُ مَنْ عَمِلَ بِهَا إِلَى يَوْمِ الْقِيَامَةِ مِنْ غَيْرِ أَنْ يُنْقَصَ مِنْ أُجُورِهِمْ شَيْ‏ءٌ

ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯกล่าวว่า :  
ผู้ใด ที่ได้ทำแบบอย่างที่ดี ดังนั้นสำหรับเขาจะได้รับผลตอบแทนของมัน และผลตอบแทนของผู้ที่ได้ปฏิบัติด้วยมันจนถึงวันกิยามะฮ์ โดยไม่มีสิ่งใดลดลงไปเลยจากผลการตอบแทนของพวกเขา

อัลกาฟี เชคกุลัยนี เล่ม 5 : 9-10 หะดีษที่ 1

นักวิชาการได้ให้นิยามซุนนะฮฺว่า
สิ่งใดก็ตามที่รายงานมาจากสิ่งที่ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ ได้พูด กระทำ หรือยอมรับในการกระทำนั้นๆ

ท่านรอซูลุลลอฮ์กับเรื่องราวของท่านอิม่ามฮูเซน

ตัวอย่างจากสิ่งเป็นคำพูด  ได้แก่หะดีษที่ท่านรอซูลกล่าวถึงการถูกสังหารของท่านฮูเซน

ตัวอย่างจากการกระทำของท่านรอซูล ได้แก่การที่ท่านนั่งโศกเศร้าร้องไห้ให้กับการถูกสังหารของท่านฮูเซน
ตัวอย่างจากการยอมรับของท่าน ได้แก่เมื่อท่านนิ่งเฉยเมื่อเห็นเศาะฮาบะฮฺคือท่านหญิงอุมมุสะละมะฮ์ร้องไห้เมื่อนางได้ยินท่านเล่าว่า ฮูเซนหลานชายจะถูกสังหาร การนิ่งเฉยในกรณีนี้ถือว่าเป็นการยอมรับ
จะทยอยนำเสนอหะดีษต่อไปอินชาอัลลอฮ์

คำว่าซุนนะฮฺยังถูกนิยามอีกว่าหมายถึงกฏเกณฑ์ทางศาสนาที่วางอยู่บนหลักฐานตามนิตินัยไม่ว่า อัลกุรอาน คำพูดของท่านนบี  รวมทั้งคำพูดและการกระทำของอะฮ์ลุลบัยต์  ด้วย

ตรงข้ามกับซุนนะฮฺคือบิดอะฮฺ(การอุตริกรรม)ในทางศาสนา ท่านนบีกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

عَلَيْكُمْ بِسُنَّتِيْ وَ سُنَّةِ الْخُلَفَاءِ الرَّاشِدِيْنَ الْمَهْدِيِّيْنَ بَعْدِيْ

พวกท่านจงยึดแบบอย่างของฉันและแบบอย่างของบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรมหลังจากฉัน

ซิลซิละตุซ-ซอฮีฮะฮ์ เล่ม 6 : 234  หะดีษที่ 26 ตรวจทานโดยเชคอัลบานี

โดยทั่วไปเราสามารถนิยามซุนนะฮ์ว่าเป็นสิ่งที่ท่านรอซูลได้พูด หรือได้กระทำเพื่อเป็นแบบอย่างชีวิตสำหรับพวกเรา

บิดอะฮ์
ในทางศาสนาหมายถึง อุตริกรรมอันเป็นสิ่งที่ท่านรอซูลุลลอฮ์และบรรดาอิม่ามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์มิได้กระทำไว้   ดังที่มีหะดีษรายงานว่า

قَالَ رَسُوْلُ الله صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ  : فَإِنَّ خَيْرَ الْحَدِيْثِ كِتَابُ الله وَخَيْرَ الْهَدْيِ هَدْيُ مُحَمَّدٍ وَشَرَّ الْأُمُوْرِ مُحْدَثَاتُهَا وَكُلُّ مُحْدَثَةٍ  بِدْعَةٌ وَكُلُّ بِدْعَةٍ ضَلاَلَةٌ
 
ท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลฯกล่าวว่า :
แท้จริงถ้อยคำที่ดีที่สุดคือ คัมภีร์ของอัลลอฮ์ แต่ทางนำที่ดีที่สุดคือ ทางนำของมุหัมมัด และบรรดาการงานที่ชั่วที่สุดคือ บรรดาสิ่งที่อุตริทำขึ้นมาใหม่(ไม่มีในบทบัญญัติ) และทุกสิ่งที่อุตริทำขึ้นมาใหม่นั้น เป็นบิดอะฮ์ และทุกๆ บิดอะฮ์นั้น หลงทาง

ซอฮีฮุลบุคอรี หะดีษที่ 6735 และซอฮี๊ฮฺมุสลิม หะดีษที่ 1435

พิธีมุหัรรอมมิได้เป็นงานกราบไหว้บูชาอิม่ามฮูเซน แต่เป็นงานยกย่องสัญลักษณ์ของอัลลอฮ์

อัลลอฮ์ตะอาลาทรงตรัสว่า

وَمَن يُعَظِّمْ شَعَائِرَ اللَّهِ فَإِنَّهَا مِن تَقْوَى الْقُلُوبِ
 
ผู้ใดยกย่องให้เกียรติสัญลักษณ์ต่างๆของอัลลอฮ์  แท้จริงสิ่งนั้น(การยกย่องต่อสัญลักษณ์ของอัลลอฮ์ ) จะทำให้หัวใจมีความยำเกรงมากขึ้น   

ซูเราะฮ์อัลฮัจญ์  : 32

สัญลักษณ์ شَعَائِرٌ แห่งการเคารพเชื่อฟังอัลลอฮ์มีมากมายเช่น ทำนมาซ ถือศีลอด ทำฮัจญ์ ขอดุอา อ่านกุรอ่าน และสิ่งอื่นๆที่ถูกนับว่าเป็นอิบาดะฮ์(การเคารพสักการะต่ออัลลอฮฺ)

قالَ أميرُ المُؤْمِنِيِْن (ع) : نَحْـنُ الشَّعائِرُ

ท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลัยฮิสสลามกล่าวว่า  : พวกเราคือสัญลักษณ์ ( หนึ่งของอัลลอฮ์ )

ดูมุสตัดเราะกุสะฟีนะตุลบิฮาร เล่ม 5 : 1 และ
ยะนาบีอุลมะวัดดะฮ์  โดยเชคก็อนดูซี  อัลฮานาฟี เล่ม 3 : 471

นักวิชาการในแนวทางอะฮ์ลุลบัยต์
ได้ให้ความสำคัญต่อมัจญ์ลิสอาชูรอเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือนมุหัรร็อมและซอฟัร

เพราะเป็นเดือนแห่งการฟื้นฟูอิสลามที่แท้จริงและชี้นำมุสลิมและผู้ที่มิใช่มุสลิม ให้รู้จักแยกความจริงออกจากความเท็จ

Javad Savangvan