เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การรับใช้บริการสังคมในอิสลาม

1 ทัศนะต่างๆ 05.0 / 5

 

การรับใช้บริการสังคมในอิสลาม


อีกประการหนึ่งจากคุณลักษณะอันสูงส่งของมนุษย์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาการและการขัดเกลาทางด้านจิตวิญญาณของบรรดาบุคคลที่มีคุณลักษณะนี้ นั่นก็คือ การให้และการรับใช้บริการเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การรับใช้บริการผู้อื่นคือวิถีทางอันเป็นสื่อที่จะนำพามนุษย์ไปยังพระผู้เป็นเจ้าและความสมบูรณ์ต่างๆ ทางด้านจิตวิญญาณ และในทำนองเดียวกัน ถือเป็นเคล็ดลับแห่งความสำเร็จในการดำเนินชีวิตทางโลกนี้
ในวัฒนธรรมและหลักคำสอนของคัมภีร์อัลกุรอาน ได้ชี้ถึงกรณีตัวอย่างในเรื่องของการรับใช้บริการและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไว้อย่างมากมาย ดังตัวอย่างเช่น อินฟาก (การใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองไปในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า) การทำดีต่อผู้อื่น (อิห์ซาน) การให้ความช่วยเหลือผู้อื่น การปกป้องบรรดาผู้อ่อนแอ ผู้ถูกกดขี่และผู้ถูกอธรรม การขจัดความต้องการของผู้อื่น การให้กู้ยืมและอื่นๆ ซึ่งจะขอชี้ให้เห็นบางส่วนจากกรณีเหล่านี้ไว้ในที่นี้
1. อินฟาก (การให้) แก่ผู้อื่น : พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า
 لن تنالوا البر حتی تنفقوا مما تحبون
“พวกเจ้าจะไม่บรรลุสู่ความมีคุณธรรมได้เลย จนกว่าพวกเจ้าจะให้ในสิ่งที่พวกเจ้ารัก”  ซูเราะฮ์อาลุอิมรอน : อายะฮ์ที่ 92
2. อิห์ซาน (การทำดีต่อผู้อื่น) : คัมภีร์อัลกุรอาน กล่าวว่า
«واحسنوا ان الله يحب المحسنين »
“พวกเจ้าจงปฏิบัติดี (ต่อผู้อื่น) เถิด แท้จริงอัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้ปฏิบัติดี” ซูเราะฮ์อัลบากอเราะฮ์ : อายะฮ์ที่ 195
3. การช่วยให้ผู้อื่น
«وتعاونوا علی البر والتقوي »
“และพวกเจ้าจงช่วยเหลือซึ่งกันและกันบนคุณธรรมและความยำเกรงเถิด”  ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ : อายะฮ์ที่ 2
การรับใช้บริการในริวายะฮ์ (คำรายงาน)
1. ท่านอิมามศอดิก (อ.) กล่าวว่า
ملعون ملعون من وهب الله له مالا فلم يتصدق منه شيئا
“ช่างห่างไกลจากความเมตตาของอัลลอฮ์ ช่างห่างไกลจากความเมตตาของอัลลอฮ์ บุคคลที่อัลลอฮ์ได้ทรงประทานทรัพย์สินเงินทองให้แก่เขา แต่เขากลับไม่บริจาคทานใดๆจากมันเลย”  มุนตะค็อบ มีซานุลฮิกมะฮ์, หน้า 512, ฮะดีษที่ 6238
3. ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า
السيد من تحمل اثقال اخوانه
“บุคคลที่เป็นนาย คือบุคคลที่จะช่วยแบกรับปัญหาความทุกข์ยากต่างๆ ของพี่น้อง (ร่วมศาสนา) ของตนเอง”ฆุร่อรุลฮิกัม, อับดุลวาฮิด อามาดี, ฮะดีษที่ 9621

การรับใช้บริการและการช่วยเหลือสังคมในวิถีชีวิตของอิมามฮุเซน บินอะลี (อ.)
ท่านอิมามฮูเซ็น (อ.) ยังชี้ให้เห็นถึงผลรางวัลและสิ่งตอบแทนที่ผู้รับใช้บริการแก่ประชาชนจะได้รับ โดยท่านกล่าวว่า
“ผู้ที่พยายามในการขจัดความต้องการของพี่น้องผู้ศรัทธาของเขา ประหนึ่งว่าเขาได้กระทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์เป็นระยะเวลาถึงเก้าพันปี โดยการถือศีลอดในยามกลางวันและยืนหยัด (ในการนมาซและอิบาดะฮ์ต่างๆ) ในยามค่ำคืน” บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 74, หน้า 315, ฮะดีษที่ 73
ชายชาวอันศอรผู้หนึ่งได้มาพบท่านอิมามฮุเซน(อ.) เขาต้องการที่จะขอความช่วยเหลือบางอย่างจากท่านอิมาม(อ.) แต่ยังไม่ทันที่จะกล่าวสิ่งใดท่านอิมามฮุเซน(อ.)ได้กล่าวขึ้นกับเขาว่า :
“โอ้สหายชาวอันศอรเอ๋ย จงรักษาเกียรติของท่านจากการขออย่างเปิดเผย (โดยตรง) แต่จงนำเสนอความต้องการของท่านในรูปของจดหมาย แล้วฉันจะปฏิบัติตามในสิ่งที่จะทำให้ท่านพึงพอใจ อินชาอัลลอฮ์ (หากพระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์)”
ชายผู้นั้นจึงเขียนจดหมายฉับหนึ่งส่งไปถึงท่านอิมามฮุเซน (อ.) ว่า
“โอ้ท่านอบาอับดิลลาฮ์ ข้าพเจ้า เป็นหนี้ชายผู้หนึ่งในจำนวนเงินห้าร้อยดีนาร์ (เหรียญทอง) และเจ้าหนี้ผู้นี้ยืนกรานที่จะให้ข้าพเจ้าจ่ายมันให้ได้ในตอนนี้ ท่านโปรดกรุณาพูดกับเขาให้ผัดผ่อนกำหนดเวลาที่ข้าพเจ้ามีความสะดวกมากกว่านี้ด้วยเถิด” เมื่อท่านอิมามฮุเซน (อ.) อ่านจดหมายดังกล่าว ท่านกลับไปยังบ้านของท่าน และหยิบถุงที่มีเงินอยู่หนึ่งพันดีนาร์ขึ้นมาและมอบให้แก่เขา จากนั้นท่านได้กล่าวว่า
"ห้าร้อยดีนาร์จงนำไปชดใช้หนี้สินของท่าน และอีกห้าร้อยดีนาร์ที่เหลือจงนำไปใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตของท่าน และ (คราใดก็ตามที่ท่านต้องการความช่วยเหลือ) ท่านจงขอความช่วยเหลือในความจำเป็นของตนเองต่อบุคคลเพียงสามกลุ่มเท่านั้น คือ คนมีศาสนา คนที่เป็นสุภาพชนและคนที่มีเกียรติ (มีชาติตระกูล) สำหรับ คนที่มีศาสนานั้นเพื่อที่จะรักษาศาสนาของตนไว้ เขาจะช่วยขจัดความต้องการของเจ้า และคนที่เป็นสุภาพชนเขาจะรู้สึกละอายตนในความเป็นสุภาพบุรุษของเขา (หากไม่ให้การช่วยเหลือท่าน) และคนที่มีเกียรติ (และมีชาติตระกูล) เขารู้ดีว่าการที่ท่านบากหน้าไปหาเขานั้นท่านได้สูญเสียเกียรติของตนเอง ด้วยเหตุนี้ด้วยกับการช่วยเหลือแก่ท่านเขาจะช่วยพิทักษ์เกียรติให้แก่ท่าน”   ตุฮะฟุลอุกูล, หน้า 430

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม