ภาพลักษณ์ของนมาซ
ภาพลักษณ์ของนมาซ
ไม่ว่าจะเขียนหรืออธิบายด้วยปากเปล่าถึงนมาซมากเพียงใดก็ตาม ดูเหมือว่าเรายังมิได้พูดถึงสิทธิที่แท้จริงของนมาซเลย และเป็นไปได้อย่างไร แค่เพียงคำพูดหรือบทความเพียงสองสามประโยคจะสามารถอธิบายเป้าหมายที่แท้จริงของนมาซอันเป็นเสาหลักของศาสนา, ธงชัยของอิสลาม, ของกำนัลของบรรดาศาสดา (อ.) และเป็นมาตรฐานของการตอบรับอมั้ลอื่น ๆ ของมนุษย์ ให้เข้าใจได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ตรงนี้ต้องยอมรับว่ามนุษย์อาจอธิบายวัตถุประสงค์บางประการ และความหมายคร่าว ๆ ของนมาซได้แต่มิใช่ทั้งหมดอาทิเช่น
· นมาซคือกิจวัตรประจำวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น, เพราะเมื่อมนุษย์ตื่นขึ้นในตอนเช้า คำพูดแรกที่เป็นวาญิบสำหรับเขาคือ นมาซ และเมื่อพลบค่ำคำพูดสุดท้ายที่เป็นวาญิบก็เป็นนมาซอีกเช่นกัน ดังนั้นการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของมนุษย์ จึงเริ่มต้นด้วยการระลึกถึงพระองค์และเป็นไปเพื่อพระองค์
· จะอยู่ระหว่างเดินทางหรือพำนึกอยู่กับที่, อยู่บนพื้นดิน หรืออยู่ในอากาศ เป็นยาจก หรือเป็นเศรษฐีต้องทำนมาซเหมือนกันทุกคน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดและเป็นใครก็ตามต้องเคารพภักดีเฉพาะพระองค์เท่านั้นมิใช่สิ่งอื่น
· นมาซคือวิสัยทัศน์และอุดมคติของมุสลิมเพราะในนั้นได้อธิบายความเชื่อศรัทธา แนวความคิด, ความปรารถนาและแบบอย่างอันดีงามไว้
· นมาซให้การสนับสนุนที่มั่นคงต่อคุณค่าและเกียรติยศที่สูงส่ง ขณะเดียวกันนมาซปฏิเสธการทำลายและขายคุณค่าของตนเองและสังคม เพราะเมือวัสดุชั้นหนึ่งไม่ได้มาตรฐาน อาคารจะคงทนอยู่ได้อย่างไร
· อะซานนมาซคือภาพสะท้อนของความเป็นเอกะของพระผู้เป็นเจ้า และความเป็นเอกภาพของมุสลิม เมื่ออะซานได้ถูกประกาศขึ้นความต่างของสีผิว เชื้อชาติ และวรรณะได้ถูกสลัดทิ้งทันที เพราะอะซานได้เรียกให้ทุกคนมาสู่นมาซยืนอยู่ในแถวเดียวกันหลังอิมามที่มีความยุติธรรม
· อิมามญะมาอัตต้องเอาใจใส่คนที่อ่อนที่สุดของสังคม ซึ่งเป็นการเตือนสำทับว่าการตัดสินใจในกิจการของสังคมต้องไม่ลืมชนชั้นที่อ่อนแอ ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ยินเสียงเด็กร้องขณะที่ท่านทำนมาซอยู่ ท่านได้รีบทำจนเสร็จเพราะว่าหากมารดาของเด็กร่วมนมาซอยู่ด้วยจะได้รีบไปดูแลลูกของเธอ (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๘๘ หน้าที่ ๔๑/๙๓
· คำสั่งแรกที่พระองค์ไปบัญชาออกมาหลังจากการสร้างมนุษย์ คือ การสุญูด เพราะพระองค์ได้สั่งให้มวลมะลาอิกะฮฺ สุญูดท่านศาสดาอาดัม (อ.) ตรัสว่า “พวกเจ้าสุญูดอาดัมเถิด”
· สถานที่แรกของโลกที่โผล่ขึ้นจากน้ำหลังจากน้ำได้ถ่วมโลกและกลายเป็นสถานที่อิบาดะฮฺ คือ มักกะฮฺ
· ภารกิจแรกของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) หลังจากอพยพไปยังมะดีนะฮฺ คือ การสร้างมัสญิด
· นมาซเป็นอมั้ลที่ทำการเชิญชวนไปสู่ความดีและห้ามปรามความชั่วในเวลาเดียวกันทุกๆวันเราจึงได้ยินว่า “จงเร่งรีบสู่การนมาซ” “จงเร่งรับสู่การกระทำที่ดีที่สุด” อีกด้านหนึ่งนมาซเป็นอะมั้ลที่หักห้ามมนุษย์ออกจากความชั่วทั้งหลาย อัล-กุรอานกล่าวว่า “แท้จริงนมาซจะยับยั้งความชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย” (อัล-อังกะบูต/๔๖)
· นมาซเป็นการเคลื่อนไหวบนความปรารถนาแห่งความรู้จักพระผู้เป็นเจ้า การปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์และเพื่อพระองค์ ด้วยเหตุนี้ อัล-กุรอานจึงห้ามว่า “สูเจ้าอย่าปฏิบัตินมาซขณะมึนเมา” หรือ “เกียจคร้าน” (อัน-นิสาอฺ ๔๓/๑๔๒) เพราะต้องการให้มนุษย์มีสมาธิที่สุดขณะปฏิบัติ
· นมาซเป็นการประชาสัมพันธ์ เพราะบัญญัติของอิสลามกล่าวว่า ต้องมีการจัดนมาซญุมอะฮฺทุก ๆ สัปดาห์ ซึ่งเงื่อนไขหนึ่งของนมาซญุมอะฮฺ คือ ต้องกล่าวคุฏบะฮฺ (คำเทศนา) ก่อนนมาซ ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวว่า “คุฎบะฮฺนมาซญุมอะฮฺจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในทุก ๆ เรื่อง” (บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ ๔๙ หน้าที่ ๒๐๑)
· นมาซคือการดับตัวตนเพื่อไปพบกับพระผู้เป็นเจ้า อัล-กุรอานกล่าวว่า “ใครก็ตามได้ออกจากบ้านเรือนของตนโดยมุ่งอพยพไปสู่อัลลอฮฺและศาสนทูตของพระองค์ ต่อมาความตายได้มาสู่เขา แน่นอนรางวัลของเขาได้ถูกจัดเตรียมไว้แล้ว ณ อัลลอฮฺ” (อัน-นิสาอฺ/๑๐๐)
ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) กล่าวว่า “ความหมายหนึ่งของโองการ คือ การอพยพออกจากจิตของตนเพื่อไปพบกับอัลลอฮฺ (ซบ.) หมายถึง การออกห่างจากการถืออัตตาตัวตน เห็นแก่ตัวและการถือตนเป็นใหญ่ไปสู่การภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ความปรารถนาในพระองค์ และเพื่อพระองค์ซึ่งถือว่าเป็นการอพยพที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” (อัสรอรุส-เศาะลาฮฺ หน้าที่ ๑๒)
· นมาซอยู่ในฐานะของนามที่ยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ (ซบ.) ทว่ามันคือนามของพระองค์
· นมาซเป็นคำอธิบายถึงเกียรติยศของอัลลอฮฺ และความต่ำต้อยของมนุษย์
· นมาซเป็นธงชัยของอิสลาม หะดีษกล่าวว่า “ธงชัยของอิสลามคือ นมาซ (กันซุ้ลอุมาล หะดีษที่ ๑๘๘๗๐)
ธง คือสัญลักษณ์ของประเทศ นมาซ คือสัญลักษณ์ของความเป็นมุสลิม ธงชาติย่อมได้รับการเคารพเสมอ ถ้าหากใครดูถูกธงชาติ เท่ากับได้ดูถูกประชาชนของประเทศนั้น ดังนั้นการไม่สนใจต่อนมาซเท่ากับว่า มิได้สนใจคำสอนของศาสนาทั้งหมด ตราบใดที่ธงชาติยังชูอยู่บนยอดเสาแสดงว่าประเทศนั้นยังมีอำนาจทางการเมืองและการปกครองอยู่ นมาซก็เช่นกัน ตราบที่ยังมีผู้ปฏิบัตินั้นหมายถึงว่า อิสลามยังมีชีวิตอยู่