การรวบรวมอัลกุรอานถูกระทำในยุคสมัยใด ?
การรวบรวมอัลกุรอานถูกระทำในยุคสมัยใด ?
การรวบรวมอัลกุรอานถูกระทำในยุคสมัยใด ? และชีอะห์เชื่ออย่างไรในเรื่องนี้
ตามประวัติศาสตร์การประทานอัลกุรอานลงมา จะเห็นว่าท่านศาสดา ศ. คือ ผู้ระบุสถานที่ของโองการต่างๆ ว่าสมควรอยู่ ณ ที่ใด มิใช่ความพอใจของศ่อฮาบะฮ์ ว่า จะให้โองการนั้น โองการนี้อยู่ที่ใดก็ได้ตามความพอใจ
หมายถึงทุกโองการที่ประทานลงมานั้น ท่านศาสดามุฮัมมัด ศ. จะเป็นผู้กำกับและออกคำสั่งว่าโองการนั้น หรือโองการนี้ควรจะอยู่ที่ใด
ฉะนั้น อัลกุรอานที่มีอยู่ในมือพวกเราทุกวันนี้มีการรวบรวมใน 3 ขั้นตอน ดังนี้
[1]- ขั้นตอนที่หนึ่ง จัดวางโองการ และซูเราะห์
ขั้นตอนของการจัดระเบียบ และการจัดวางโองการต่างๆ ไว้เคียงข้างกัน จึงทำให้เกิดบท (ซูเราะฮฺ) ต่างๆ ขั้นตอนนี้ถูกกระทำขึ้นในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด ศ. โดยคำสั่งของท่าน ซึ่งสถานที่แต่ของละโองการท่านศาสดาเป็นผู้กำหนด
[2]- ขั้นตอนที่สอง. การเก็บรวบรวมต้นฉบับที่บันทึกกันไว้
ขั้นที่สอง คือการรวมรวมต้นฉบับต่างๆ และจำนวนหน้า ที่ถูกบันทึกแยกกันไว้ โดยนำเอาต้นฉบับเหล่านั้นมารวมเป็นเล่มเดียวกัน ซึ่งขั้นตอนนี้ถูกกระทำขึ้นในสมัยของท่านอบูบักรฺ
[3]- ขั้นตอนที่สาม. การรวบรวมเป็นเล่ม
ขั้นตอนนี้ คือ การรวบรวมอัลกุรอานทั้งเล่ม โดยนำเอาต้นฉบับที่บันทึกไว้ในทีต่างๆ ซึ่งการนำเอาต้นฉบับเหล่านั้นมารวมกัน เพื่อป้องกันความผิดพลาด และความแตกต่างในการอ่าน ซึ่งขั้นตอนนี้ถูกรวบรวมในสมัยของท่านอุษมาน
ฉะนั้นจากที่กล่าวมาข้างต้น สามรถสรุปได้ว่า ภายหลังการวะฟาดและเสียชีวิตของท่านศาสดา ศ. การรวบรวมอัลกุรอาน ได้ถูกกระทำอย่างเป็นทางการ ซึ่งท่านอิมามอะลี อ. ในฐานะที่รู้จักอัลกุรอาน มากกว่าใครทั้งสิ้น ท่านได้เรียบเรียงต้นฉบับอัลกุราอนขึ้นมาแต่กลับถูกปฏิเสธจากสำนักคอลิฟะฮ์ โดยการนำของอบูบักร
ต่อมาท่านอบุบักร์ ค่อลิฟะฮ์ที่ 1 โดยความช่วยเหลือของท่าน “ซัยดฺ บิน ษาบิต” ประกอบกับอิสลาม ได้ขยายตัวกว้างราวทศวรรษที่ 30 ฮิจญฺเราะฮฺศักราช ประชาชนจำนวนมากมายได้หลั่งไหลเข้ารับอิสลาม และพวกเขาต้องการมีคัมภีร์ไว้ศึกษา จนเป็นสาเหตุทำให้ต้องมีคัมภีร์ไว้ศึกษาเพื่อเพิ่มพูนความรู้และวิชาการ จึงเป็นที่มาของการจัดทำกุรอานเป็นรูปเล่ม จากต้นฉบับที่เชื่อถือไว้ จากท้องที่ต่าง ๆ
การเสนอให้มีการอ่านและการรวมอัลกุรอาน เป็นเล่มเดียวกันเสนอโดย “ฮุดัยฟะฮฺ” ซึ่งท่านอุษมานก็มีความเห็นพร้องต้องกัน ถึงความจำเป็นดังกล่าว ด้วยเหตุนี้เอง ท่านค่อลิฟะฮ์ที่สาม จึงได้ขอคำปรึกษาหารือจากเหล่าศ่อฮาบะฮ์ ซึ่งทั้งหมดก็เห็นดีเห็นงามถึงความจำเป็นดังกล่าว แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะมีความยากลำบากเพียงใดก็ตาม
ท่านอุษมานได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นมากลุ่มหนึ่งจำนวน 4 คน ประกอบด้วย ท่านซัยดฺ บิน ษาบิต อับดุลลอฮฺ อิบนุ ซุบัยร์ สะอีด บิน อาศ และอับดุรเราะฮฺมาน บิน ฮาริษ แต่หลังจากนั้นกลุ่มดังกล่าวได้ขยายตัวเป็น 12 คน ซึ่งเคาะลิฟะฮฺ ได้มีคำสั่งแก่พวกเขาว่า เนื่องจากอัลกุรอาน ถูกประทานลงมาด้วยภาษากุเรช ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงเขียนด้วยภาษากุเรช
กลุ่มที่ประสงค์ต้องการทำให้อัลกุรอาน เป็นฉบับเดียวกันถูกจัดตั้งขึ้น เมื่อราวปีฮิจญฺเราะฮฺที่ 25 การดำเนินการครั้งแรกได้รับคำสั่งจากท่านอุษมาน ซึ่งท่านได้สั่งให้รวบรวมอัลกุรอาน จากต้นฉบับที่บันทึกไว้ตามหัวเมืองต่าง ๆ ในแคว้นอิสลามสมัยนั้น
ในขั้นตอนนี้ หลังจากอัลกุรอานได้ถูกรวบรวมเป็นฉบับเดียวกันแล้ว ก็ถูกส่งไปยังมะดีนะฮฺ หลังจากนั้นท่านค่อลิฟะฮ์ได้สั่งให้ทำลายต้นฉบับเดิมทิ้งเสีย หรือโยนไปต้มในน้ำเดือด ด้วยเหตุนี้นี้เองท่านอุษมานจึงได้รับฉายาว่า “ฮัรรอกุลมะซอฮิบ” หมายถึงผู้เผาต้นฉบับทิ้ง
ขั้นตอนสุดท้ายคือการจัดส่งต้นฉบับที่รวบรวมแล้ว ไปยังสถานที่และศูนย์กลางสำคัญ ขณะที่ส่งต้นฉบับไปยังหัวเมืองต่างๆ นั้น ท่านค่อลิหะฮ์ได้จัดส่งนักกอรีไปด้วย เพื่อให้เขาอ่านกุรอานให้ประชาชนได้รับฟัง
บรรดานักประวัติศาสตร์ได้นับจำนวน ต้นฉบับที่ถูกจัดทำขึ้น และถูกจัดส่งไปยังหัวเมืองต่างๆ ในครั้งนี้ แตกต่างกัน
فقال ابن داود أنها کانت ستة أرسلت إلى مکة، الکوفة، البصرة، الشام، البحرین، و الیمن، و بقیت نسخة منها فی المدینة، و أطلقوا على هذه النسخة اسم «الأم» أو «الإمام»،
“อิบนุ อบีดาวูด” กล่าวว่ามีจำนวน 6 เล่ม ซึ่งถูกส่งไปยังเมืองต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ มักกะฮฺ กูฟะฮฺ บัศเราะฮฺ ชาม บะฮฺเรน และเยเมน และถูกเก็บรักษาไว้ในมะดีนะฮฺ เล่มหนึ่ง ซึ่งเรียกต้นฉบับนั้นว่า “อัม” หรือ “อิมาม”
و قد أضاف الیعقوبی فی تاریخه نسختین إلى جانب النسخ المتقدمة أرسلت إلى مصر و الجزیرة، و إن النسخ التی أرسلت إلى تلک البلدان حفظت فی مراکزها، و استنسخت منها نسخ وزعت على الناس للاستفادة منها
علیم علوم القرآن، ترجمة التمهید فی علوم القرآن، محمد هادی معرفة، المترجم: أبو محمد وکیلی، ج1، ص425،
ท่านยะอฺกูบียฺ บันทึกไว้ในหนังสือของท่าน โดยเพิ่มต้นฉบับเข้าไปอีก 2 เล่ม ซึ่งถูกส่งไปยังอียิปต์ และอัลญะซีเราะฮฺ ส่วนต้นฉบับที่ถูกส่งไปยังเมืองต่างๆ นั้น ได้ถูกส่งไปยังศูนย์กลาง และถูกเก็บรักษาอยู่ที่นัน นอกจากนั้นยังมีต้นฉบับอื่นๆ อีกที่คัดลอกไปจากต้นฉบับดังกล่าว เพื่อให้ทั่วถึงและสะดวกสำหรับประชาชน
การเรียงตามต้นฉบับของอุษมาน ก็คือการเรียงดังกุรอานในปัจจุบัน ซึ่งเหมือนการเรียงอยู่ในต้นฉบับต่างๆ ของบรรดาศ่อฮาบะฮ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตรงกับต้นฉบับของ อบี บิน กะอับ ซึงในสมัยนั้นการเขียนลายมือ เป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีของชนอาหรับในยุคนั้น ฉะนั้น การจดบันทึกจึงปราศจาคสระและวรรยุกต์
ส่วน ผู้รู้ฝ่ายชีอะฮฺ มีความเชื่อว่าอัลกุรอานที่มีอยู่ในมือของเราในปัจจุบัน ก็คืออัลกุรอานสมบูรณ์และครบถ้วนแล้ว ซึ่งต้นฉบับของอุษมานก็คือ อัลกุรอานที่มีอยู่ในมือของเราเล่มปัจจุบัน ซึ่งปราศจากการแก้ไขเพิ่มเติม การสังคายนา และการแก้ไขเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น
แม้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันท่านอิมามอะลี อ. จะบันทึกอัลกุรอานไว้ด้วยตัวของท่านเอง โดยบันทึกไปตามการประทานลงมาอย่างเป็นระเบียบก็ตาม แต่ทว่าอัลกุรอานเล่มที่มีอยู่เดิมนี้ ก็ได้รับการรับรองและการยืนยันจากบรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ อ. ทุกท่าน
ชายคนหนึ่งอ่านและกล่าวเกี่ยวกับอัลกุรอาน ต่อหน้าท่านอิมามซอดิก อ. แต่ต่างไปจากที่ประชาชนอ่านและเข้าใจทั่วไป ท่านอิมามซอดิก อ. กล่าวว่า :
كُفَّ عَنْ هَذِهِ الْقِرَاءَةِ اقْرَأْ كَمَا يَقْرَأُ النَّاسُ
“เจ้าอย่าอ่านคำนี้เช่นนี้อีก แต่เจ้าจงอ่านเหมือนที่ผู้คนทั่วไปอ่าน”
ท่านอิมามอะลี อ. ได้แสดงเห็นชอบด้วยกับการที่จะรวบรวม ต้นฉบับอัลกุรอานไว้ในเล่มเดียวกัน
ท่านอิบนุอบีดาวูด รายงานจากท่านซูอิด บิน ฆ็อฟละฮฺว่า ท่านอิมามอะลี อ. กล่าวว่า :
لَاتَقُولُوا فِي عُثْمَانَ إلَّا خَيْراً، فَوَاللهِ مَا فَعَلَ الَّذِي فَعَلَ فِي الْمَصَاحِفِ إلَّا عَنْ مَلَا ءٍ مِنَّا
“ขอสาบานด้วยพระนามแห่งอัลลอฮฺว่า อุษมานมิได้กระทำสิ่งใดเกี่ยวกับอัลกุรอานเลย เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับคำปรึกษาหารือแล้ว”
อีกรายงานหนึ่งกล่าวว่า :
لو ولیت لفعلت فی المصاحف الذی فعل عثمان
“ถ้าหากการสั่งให้รวบรวมต้นฉบับ ต้นมาถึงฉัน ฉันก็คงต้องทำเฉกเช่นที่อุษมานได้กระทำ”
นี้คือความเชื่อของชีอะห์ที่มีต่ออัลกุรอาน และการรวบรวมอัลกุรอาน เราเชื่อว่าอัลกุรอานที่อยู่ในมือของเราวันนี้คืออัลกุรอานเล่มเดียวกันที่ถูกรวบรวมในยุคของท่านอุษมาน และเป็นอัลกุรอานที่ถูกประทานให้กับท่านนบีมุฮัมมัด ศ. โดยไม่มีส่วนใดที่มากหรือน้อยไปกว่านี้อีกแล้ว
บทความโดย เอกภาพ ชัยศิริ