เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ครอบครัว พลังขับเคลื่อน

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


ครอบครัว พลังขับเคลื่อนมุบาฮะละฮ์และอาชูรอ
มุบาฮะละฮ์และอาชูรอคือสองเหตุการณ์ในสองห้วงกาลเวลาในประวัติศาสตร์ที่แตกต่าง เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์นั้นเกิดขึ้นในวันที่ 23 ซุลฮิจญะฮ์ ปีฮศ. 8 ส่วนเหตุการณ์กัรบะลานั้นเกิดขึ้นในวันที่สิบ เดือนมุฮัรรอม ปีฮศ. 61 แต่ในความแตกต่างทางกาลเวลาและสถานที่นั้น ยังมีความคล้ายคลึงที่สำคัญแฝงอยู่มากมาย หนึ่งในความคล้ายคลึงที่สำคัญก็คือ ทั้งสองเหตุการณ์มี “ครอบครัว”เป็นองค์ประกอบหลัก เพราะท่านนบีได้พาครอบครัวไปทำการมุบาฮะละฮ์ (ขอการลงโทษจากอัลลอฮ์เกิดแก่ฝ่ายตรงข้าม) กับชาวคริสเตียนแห่งแคว้นนัญรอน ท่านอิมามฮุเซนก็ได้พาครอบครัวเดินทางร่วมไปกับท่านในเหตุการณ์กัรบะลา

เราจะมาพูดคุยกันเพื่อวิเคราะห์ประเด็นที่น่าสนใจดังกล่าวว่า “ครอบครัวมีบทบาทในเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์และอาชูรออย่างไร? ” ทั้งนี้ ข้อสรุปจากประเด็นดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมมนุษย์ในฐานะสารธรรมคำสอนที่ล้ำค่าแห่งอิสลามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความรักและความผูกพันย่อมนำมาซึ่งความหวงแหนและการเสียสละ โดยทั่วไปมนุษย์เราเมื่อมีความรักมักจะยอมเสียสละเพื่อปกป้องบุคคลหรือสิ่งของที่ตนรักเสมอ และเป็นที่ทราบดีว่าศูนย์รวมของความรักและความผูกพันที่สำคัญที่สุดคือ “สถาบันครอบครัว” สมาชิกในครอบครัวเป็นผู้ที่เรารักและผูกพันเป็นพิเศษ เราจึงยอมเสียสละเพื่อปกป้องพวกเขาจากภยันตรายต่างๆได้

ข้อเท็จจริงดังกล่าวมีให้เห็นทั่วไปเนื่องจากมีต้นกำเนิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่พระองค์ทรงสร้าง กระทั่งมีการเปรียบเปรยผู้ที่มีความรักใคร่กลมเกลียวกันเป็นพิเศษโดยเฉพาะในหมู่สมาชิกครอบครัวว่ารักใคร่จนสามารถตายแทนกันได้ กุรอานกล่าวถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นนี้มากมายในหลายเรื่องราว แม้กระทั่งสายสัมพันธ์ครอบครัวที่ส่งผลในแง่ลบ อย่างเช่นเรื่องราวของบุตรชายของท่านนบีนูฮ์ที่พยายามว่ายน้ำฝ่าคลื่นมหึมาเพื่อเอาตัวรอดโดยไม่ขอพึ่งอำนาจของพระองค์ ความผูกพันในครอบครัวทำให้ท่านนบีวอนขอชีวิตบุตรชายจากอัลลอฮ์ แต่พระองค์ทรงเตือนท่านไม่ให้ติดอยู่ในบ่วงความรักที่ไม่คำนึงถึงสถานภาพอีหม่านของบุตร เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าความผูกพันในครอบครัวของมนุษย์นั้นแน่นแฟ้นและมีความอานุภาพเพียงใด ที่เกือบจะทำให้นบีผู้สูงศักดิ์ท่านหนึ่งตกสู่สถานะความเป็น “ญาฮิล” ในทัศนะของพระองค์ (انّی اعظک ان تکون من الجاهلین) (ซูเราะฮ์ ฮูด /46)

ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ความรักและความผูกพันทำให้เราสามารถเสียสละทรัพย์สิน หรือแม้กระทั่งชีวิตเพื่อปกป้องสมาชิกครอบครัวที่เป็นที่รักยิ่งสำหรับเราได้ แต่ถ้าหากเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องเสียสละทรัพย์สินและชีวิตของเรา และยิ่งไปกว่านั้น หากต้องยอมเสียสละชีวิตของสมาชิกครอบครัวที่เรารักยิ่งชีพแล้วล่ะก็ เรายังพร้อมจะยอมเสียสละอยู่อีกหรือไม่ สถานการณ์นี้ถือเป็นสังเวียนต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างความรักขั้นสูงและการเสียสละ และไม่มีมนุษย์คนใดจะยอมเสียสละในสถานการณ์ดังกล่าวได้เลยนอกจากกรณีเดียว นั่นก็คือ “เขาจะต้องรักและหวงแหนบางสิ่งมากกว่าความรักอันมากมายที่มีต่อสมาชิกครอบครัวของตน” นี่คือทฤษฎี

แต่ถามว่าในภาคปฏิบัตินั้น มีผู้ใดอาจหาญพอที่จะกระทำการเช่นนี้ได้หรือไม่ ?

เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ และเหตุการณ์อาชูรอ ความคล้ายคลึงระหว่างวีรกรรมของตาและหลาน
ในประวัติศาสตร์อิสลามมีการเสียสละเช่นนี้มากมายในหลายยุคหลายสมัย แต่หากจะยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ครอบคลุมที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะกล่าวถึงสองเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ นั่นก็คือ เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ และเหตุการณ์อาชูรอ

เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์คือเหตุการณ์ที่ท่านนบีอรรถาธิบายคำสอนอิสลามให้บาทหลวงคริสเตียนเข้าใจ แต่บาทหลวงคริสเตียนยังคงปฏิเสธและยืนกรานว่าตนเองถูกต้องและเชื่อว่าบรรดามุสลิมต่างหากที่หลงผิด เมื่อการเจรจาพูดคุยไม่เป็นผล ต่างฝ่ายต่างแสดงความพร้อมที่จะทำการ “มุบาฮะละฮ์” (ขอดุอาให้พระองค์ลงทัณฑ์ผู้ที่หลงผิด) โดยนัดให้แต่ละฝ่ายนำพลพรรคของตนเองมาด้วย วันรุ่งขึ้น บาทหลวงคริสเตียนพร้อมด้วยเหล่าสาวกและศิษยานุศิษย์จำนวนมากเดินทางมาถึงที่นัดหมาย ทันใดนั้นเอง พวกเขาก็เห็นท่านนบีกำลังก้าวเดินมา แต่แทนที่ท่านนบีจะมาพร้อมกับบรรดาสหายและเศาะฮาบะฮ์เรือนหมื่นเรือนแสน ท่านกลับเลือกที่จะมากับสมาชิกครอบครัวของตนเองที่มีจำนวนเพียงสี่คนเท่านั้น

ภาพบุคคลห้าคนกำลังย่างก้าวอย่างองอาจและมั่นคงสู่ที่นัดหมายสร้างความประหลาดใจแก่บรรดาบาทหลวงเป็นอย่างยิ่ง พวกเขารู้ดีว่าการนัดหมายดังกล่าวไม่ไช่งานเลี้ยงสังสรรค์ที่ท่านนบีจะพาครอบครัวมาเพื่อหาความสุขใส่ตัว สถานที่ๆท่านนบีนำสมาชิกครอบครัวมานั้นคือสถานที่ๆเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินใหว หรือธรณีสูบ หรือภัยพิบัติอื่นๆเนื่องจากทำการมุบาฮะละฮ์ สิ่งที่ทำให้บาทหลวงเหล่านี้ฉงนใจก็คือ

ทำไมท่านนบีถึง “กล้า” ถึงขนาดที่พาสมาชิกครอบครัวซึ่งเป็น “กลุ่มบุคคลที่ท่านรักมากที่สุด” มายังที่นัดหมายได้ และในที่สุด บาทหลวงเหล่านั้นก็ได้ข้อสรุปว่ามุฮัมมัดรักและเชื่อมั่นในความถูกต้องของศาสนามากกว่าความรักที่มีต่อครอบครัวเสียอีก พวกเขาต่างหากที่พาศิษยานุศิษย์มามากมายเพื่อเสริมบารมี แต่ไม่มีใครกล้าที่จะนำสมาชิกครอบครัวของตนมาเสี่ยงในการมุบาฮะละฮ์ครั้งนี้แม้แต่คนเดียว เหล่าบาทหลวงจึงยอมเจรจาและขอเสียภาษีญิซยะฮ์แต่โดยดี

หนึ่งในสมาชิกครอบครัวท่านนบีที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยก็คือเด็กชายตัวน้อยผู้มีนามว่าฮุซัยน์ เด็กน้อยคนนี้ซึมซับความเสียสละของท่านนบีผู้เป็นตา และได้รับการอบรมในบ้านแห่งการเสียสละโดยท่านอิมามอลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เด็กน้อยคนนี้เติบโตมาพร้อมกับเตาฮีดและการเสียสละ จนกระทั่งได้สร้างวีรกรรมกัรบะลาในอีกห้าทศวรรษต่อมา ท่านไม่ยอมก้มหัวให้ความเลวและการกดขี่ของยะซีด และต่อสู้เพื่อพิสูจน์สัจธรรมกระทั่งถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด การเสียสละชีวิตของท่านเป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้การพลีชีพครั้งนี้กลายเป็น “ซิบฮิน อะซีม”

و فدیناه بذبح عظیم(อัศ-ศอฟฟาต / 107)

หรือการเชือดพลีที่ยิ่งใหญ่ที่กุรอานได้กล่าวถึงก็คือ การที่ท่านยอมเสียสละชีวิตของท่านพร้อมกับชีวิตของสมาชิกครอบครัวและคนที่ท่านรักเพื่อธำรงค์ไว้ซึ่งศาสนาขององค์อัลลอฮ์นั่นเอง วีรกรรมกัรบะลากลายเป็นแบบฉบับสำหรับนักต่อสู้ในยุคต่อมาจนถึงปัจจุบัน มหาตมะ คานธี ยอมรับว่าเรียนรู้การต่อสู้จากวีรกรรมกัรบะลา แม้กระทั่งชัยชนะของฮิซบุลลอฮ์แห่งเลบานอนก็ได้รับแบบฉบับจากกัรบะลาเช่นกัน

ความยิ่งใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร? หากไม่ไช่เพราะเหตุการณ์กัรบะลาได้รับการพิสูจน์ถึงความถูกต้องด้วยเลือดของท่านอิมามฮุเซน และเลือดของสมาชิกในครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่งของท่าน อีกทั้งรอยแซ่ที่ประทับบนหลังและรอยโซ่ตรวนที่ปรากฏที่ต้นคอของลูกหลานของท่าน หนามแหลมที่ทิ่มเท้าเด็กๆ และรอยฝ่ามือหยาบที่ตบตีเหล่าสตรีและเด็กผู้เป็นเครือญาติของท่าน มือสองข้างของน้องท่านที่ขาดวิ่นใกล้กับถุงน้ำ คอของทารกของท่านที่ถูกเฉือนด้วยธนูสามแฉกในอ้อมกอดของท่าน เรือนร่างของท่านและครอบครัวที่ถูกขว้างปาด้วยก้อนหิน ถูกยิงด้วยธนู ถูกปักด้วยคมหอก ถูกฟันด้วยคมดาบ ถูกเหยียบย่ำด้วยเกือกม้า ถูกเฉือนด้วยคมมีด และถูกบั่นด้วยคมกริช น้องสาวของท่านและเหล่าสตรีผู้เป็นลูกหลานของท่านที่ถูกกวาดต้อนในฐานะเชลยศึกอย่างน่าอนาถใจ

ฉะนั้น ดังที่สัจธรรมและความยิ่งใหญ่ของการมุบาฮะละฮ์พิสูจน์ได้จากการที่ท่านนบีกล้านำสมาชิกครอบครัวของท่านมา ณ สถานที่ๆเสี่ยงต่อการลงบะลาอ์จากพระองค์ สัจธรรมและความยิ่งใหญ่ของกัรบะลาก็พิสูจน์ได้จากการที่ท่านอิมามฮุเซนกล้านำสมาชิกครอบครัวของท่านร่วมเดินทางมายังกัรบะลาซึ่งเป็นแผ่นดินที่ๆได้รับขนานนามว่า “ดินแดนแห่งบะลา” (คำว่ากัรบะลาเป็นคำที่ผนวกคำว่ากัรบ์(ความยากเข็ญ) และคำว่าบะลาอ์(การทดสอบ) เข้าด้วยกัน)

การกระทำของท่านอิมามฮุเซนสอดคล้องกับถ้อยคำของท่านที่ว่า “แท้จริงฉันมิได้ออกจากมักกะฮ์มาเพื่อแสวงหาลาภยศชื่อเสียงหรือเพื่อก่อความเสียหายในสังคม แต่ฉันต้องการเพียงฟื้นฟูอุมมัตของท่านตาของฉัน และต้องการจะดำเนินตามแบบฉบับของท่านตาและบิดาของฉัน” แน่นอนว่าไม่มีกบฏคนใดในประวัติศาสตร์ที่จะก่อความวุ่นวายและแสวงหาอำนาจและอิทธิพลโดยมีเด็กและผู้หญิงเป็นกำลังพล

การที่ท่านพาสมาชิกในครอบครัวร่วมไปด้วยประกอบกับการที่ท่านกล่าวให้โอวาทแก่อุมมัตตลอดการเดินทางของท่านนั้น ชี้ให้เห็นถึงความจริงใจของท่านในการฟื้นฟูและปฏิรูปสังคมอิสลามที่ฟอนเฟะด้วยพฤติกรรมฉาวโฉ่ของยะซีด

และนี่คือความคล้ายคลึงระหว่างมุบาฮะละฮ์ของนบีผู้เป็นตา และวีรกรรมอาชูรอของอิมามฮุเซนผู้เป็นหลาน จะแตกต่างกันก็ตรงที่ว่า คริสเตียนแห่งนัญรอนยอมรับความกล้าหาญของท่านนบีและขอยุติการมุบาฮะละฮ์เพราะเกรงกลัวอะซาบที่จะเกิดขึ้นเนื่องจากดุอาของท่านนบี,ท่านอิมามอลี,ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ หรือแม้กระทั่งท่านอิมามฮะซันและอิมามฮุเซนที่ในขณะนั้นยังเป็นเด็ก

แต่มุสลิมที่ยืนเผชิญหน้ากับท่านอิมามฮุเซนในกัรบะลากลับแข่งขันกันห้ำหั่นหลานรักของท่านนบีเพื่อแสวงหาตำแหน่ง ทรัพย์สินเงินทอง หรือยิ่งไปกว่านั้น บางคนเชือดเฉือนท่านอิมามฮุเซนและครอบครัวของท่านเพื่อแสวงหาความพึงพอพระทัยจากอัลลอฮ์และผลบุญในวันอาคิเราะฮ์ !?!





บทความโดย มุญาฮิด ฮาริซี

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม