เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เดือนรอมฎอน เดือนแห่งการเตาบะฮ์ การสำนึกผิดกลับตัว กลับใจ

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เดือนรอมฎอน เดือนแห่งการเตาบะฮ์ การสำนึกผิดกลับตัว กลับใจ

 

ท่านนบีมุฮัมมัด(ศ)กล่าวว่า

كُلُّ ابْنِ آدَمَ خَطَّاءٌ وَخَيْرُ الخَطَّائِينَ التَّوَّابُونَ

ลูกหลานอาดัม หรือมนุษย์ทุกคนล้วนมีความผิด และผู้ทำความผิดที่ดีที่สุดคือ ผิดแล้ว ก็เตาบะฮ์ตัว สำนึกผิด กลับเนื้อกลับตัว ขอลุแก่โทษต่ออัลลอฮ์

ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ)กล่าวว่า

لَلَّهُ أَشَدُّ فَرَحًا بِتَوْبَةِ عَبْدِهِ حِينَ يَتُوبُ إِلَيْهِ

สำหรับอัลลอฮ์ พระองค์จะดีใจที่สุดกับการสำนึกผิดของบ่าวของพระองค์ ขณะที่บ่าวของพระองค์ได้เตาบัตสำนึกผิดยังพระองค์

#เพราะฉะนั้นช่วงเวลาดีที่สุดในการเตาบัตตัวคือชะฮ์รุรอมฎอน

เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการเตาบะฮ์ อัลลอฮ์ตะอาลาทรงให้อภัยโทษแก่ปวงบ่าวมากมาย
การทำอิบาดะฮ์ด้วยความบริสุทธิ์ใจในเดือนรอมฎอนถูกระบุว่า จะได้รับการอภัยโทษ

#ท่านนบีมุฮัมมัด(ศ)กล่าวว่า

مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

#ผู้ใดถือศีลอดในเดือนรอมฎอน โดยมีศรัทธามั่นและหวังในความโปรดปรานจากอัลลอฮ์  เขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปของเขาที่ผ่านมา

وَمَنْ قَامَ لَيْلَةَ الْقَدْرِ إِيمَانًا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ

#และผู้ใดที่ทำการกิยาม  (ทำอามั้ลอิบาดะฮ์เช่น ละหมาด ดุอา อ่านกุรอ่าน อิสติฆฟาร) ในคืนลัยละตุลก็อดร์ โดยมีศรัทธามั่นและหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮ์ เขาจะได้รับการอภัยโทษในบาปของเขาที่ผ่านมา

#การเตาบะฮ์จากบาปนั้นมีสองประเภท  คือ

1.บาปที่เป็นสิทธิของอัลลอฮ์(ฮักกุลเลาะฮ์)  
2.บาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์ (ฮักกุลอาดัม)

1.#บาปที่เป็นสิทธิของอัลลอฮ์(ฮักกุลเลาะฮ์)  เช่น ทิ้งละหมาด  ทิ้งการถือศีลอด ไม่ออกซะกาต ไม่คลุมฮิญาบ  ดื่มสุรา  ทำซีนา กินดอกเบี้ย เป็นต้น
 
2.#บาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์ (ฮักกุลอาดัม) เช่น เนรคุณพ่อแม่ ยักยอกทรัพย์สินผู้อื่น  นินทาให้ร้ายผู้อื่น  เป็นต้น

#เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลลอฮ์ มี 3 ข้อ

1. ต้องเลิกจากบาปที่เขาได้กระทำ คือเลิกจากบาปเพื่ออัลลอฮ์  

2. โศกเศร้าเสียใจต่อการกระทำบาปนั้น

3. ตั้งใจอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่กลับไปทำบาปนั้นอีก

หากขาด1 จาก 3 เงื่อนไขนี้  การเตาบะฮ์ถือว่าใช้ไม่ได้และไม่สมบูรณ์

#เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของมนุษย์

เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์มี  4 ข้อ
ข้อ 1-3 นั้น  เป็นเงื่อนไขเดียวกับการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลลอฮ์

ส่วนข้อที่ 4.  คือ  ผู้เตาบะฮ์ต้องคืนสิทธิของผู้อื่นที่เขาละเมิดมาหรือต้องขอมะอัฟเขา  

#เรื่องสิทธิของมนุษย์(ฮักกุลอาดัม) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท

1.สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน  เช่น

ขอยืมผู้อื่น ,ยักยอกผู้อื่น ,ขโมยทรัพย์สินผู้อื่น ผู้ละเมิดจำเป็นต้องคืนทรัพย์สินนั้นแก่เจ้าของ จนสุดความสามารถ
หากเขาไม่สามารถจะชดใช้คืนได้ เพราะขัดสนยากจนก็ให้เขาขอฮะล้าลจากเจ้าของทรัพย์นั้น  

2.สิทธิเกี่ยวกับชีวิต  เช่น  

ไปทำร้ายผู้อื่น หรือไปฆ่าผู้อื่นตาย ซึ่งทายาทผู้ถูกทำร้ายหรือทายาทผู้ตายสามารถกิศ็อศกลับ หรือประนีประนอมและอภัยให้แก่ผู้ละเมิด
หากผู้ละเมิดสิทธิสามารถดำเนินการกิศ็อศได้  ก็จงยินยอมให้กิศ็อศ  หรือขอประนีประนอมและขออภัยจากคู่กรณี  

3.สิทธิเกี่ยวกับเกียรติยศ  เช่น

นินทาให้ร้ายผู้อื่น  พูดจาโกหกให้คนอื่นฟัง ด่าทอผู้อื่น เป็นต้น  จำเป็นที่ท่านจะต้องไปขอมะอัฟคู่กรณี
 
4.สิทธิในเรื่องของศาสนา  เช่น
 
พูดตัดสินมุสลิมคนหนึ่งว่าเขาบิดอะฮ์ ดอลาละฮ์ ทำชิรีก เป็นกาเฟร  
หากใครเคยทำไปตัดสินผู้อื่นแบบนั้น ท่านต้องไปขอฮะล้าลกับเจ้าตัว หากมีความสามารถที่จะกระทำได้  
สรุป คือ  สิ่งใดที่ท่านสามารถขอมะอัฟหรือทำให้คู่กรณียินยอมที่จะอภัยให้   ท่านต้องทำ  
แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้  ให้ท่านหวนกลับไปยังอัลเลาะฮ์ด้วยความรู้สึกว่า ตนเองเป็นบ่าวที่ต่ำต้อยและวิงวอนให้พระองค์ทรงทำให้คู่กรณียินยอมที่จะอภัยท่านในวันกิยามะฮ์

ยา อัลลอฮ์ ในเดือนแห่งการเตาบะฮ์นี้ ในเรื่องฮักกุลเลาะฮ์เราขอวิงวอนต่อพระองค์โปรดยกโทษให้เราด้วยเถิด และในเรื่องฮัลกุลอาดัมโปรดทำให้เจ้าของสิทธิฮะลาลยกให้กับเราด้วยเถิด

บทความโดย เชคญะวาด สว่างวรรณ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม