ยุทธการสยบชัยฏอน

ยุทธการสยบชัยฏอน
 

أعوذ بالله من الشيطان الرجيم
ข้าพระองค์ขอให้อัลลอฮ์ช่วยคุ้มครองให้พ้นจากการล่อลวงของชัยฏอนผู้ถูกสาปแช่ง

          ความอาฆาตแค้นและความเป็นศัตรูที่ชัยฏอนมีต่อมนุษย์  เป็นสิ่งที่กล่าวตอกย้ำไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน
อย่างชัดเจน  เป็นคำสาบานที่จ้องจองล้างจองผลาญมนุษย์  เป้าหมายก็เพื่อนำพาออกจากหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ฉะนั้นจึงยากที่มนุษย์จะรอดพ้นจากเงื้อมมือของชัยฏอน แต่ทว่าในคัมภีร์อัลกุรอานก็ชี้ทางรอดให้กับมนุษย์ไว้เช่นกัน โดยที่ชัยฏอนมิอาจเข้ามาโจมตีมนุษย์ได้ และในท้ายที่สุดชัยฏอนก็จะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  ยุทธการสยบชัยฏอนนี้ได้รับข้อชี้นำจากคัมภีร์อัลกุรอานดังนี้คือ

1. ต้องรำลึกถึงพระองค์ " ซิกรุลลอฮ์ "
หัวใจสำคัญของเรื่องนี้คือการรำลึกถึงอัลลอฮ์(ซ.บ.) เพราะเมื่อใดก็ตามที่เรามีอัลลอฮ์(ซ.บ.)อยู่ในหัวใจ ชัยฏอนจะไม่สามารถเข้าใกล้เราได้  เพราะเป้าหมายที่แท้จริงของชัยฏอนคือมันจะทำให้เราหลงลืมพระองค์ และการรำลึกที่กล่าวถึงนี้มิใช่แค่เพียงการรำลึกโดยการกล่าวพระนามผ่านริมฝีปากเพียงเท่านั้น ไม่ใช่แค่การนั่งนับตัชเบี๊ยะห์ให้ครบจำนวนครั้ง แต่ควรรำลึกด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์เป็นการรำลึกที่ต้องผ่านมาจากหัวใจ การทำด้วยความเคยชินทุกวันแต่มิได้มีพระองค์อยู่ในหัวใจ มิอาจป้องกันชัยฏอนได้  สิ่งที่ควรทำก็คือให้รำลึกถึงพระองค์ทุกห้วงเวลาและสำนึกด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ เน้นปริมาณที่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพเพื่อให้เรารอดพ้นจากมัน

2.การมีความยำเกรง " ตักวา "
      ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการสยบชัยฏอนความหมายโดยทั่วไปคือความกลัว การยำเกรง แต่แท้จริงแล้วหมายถึงความระมัดระวัง ในที่นี้คือการระมัดระวังตนมิให้กระทำในสิ่งที่ต้องห้ามทางศาสนาพร้อมกับการเชื่อฟังและภักดีต่ออัลลอฮ์(ซ.บ.) เปรียบดังเช่นคนที่กำลังขับรถต้องมีสติและมีความระมัดระวังอยู่เสมอต้องมีสมาธิอย่าประมาท ตักวาก็เหมือนกับวัคซีนที่มีไว้เพื่อป้องกันโรคภัยต่างๆ หากเรามีวัคซีนเราก็จะมีภูมิคุ้มกันโรคที่อยู่รอบตัวเรา  ทุกครั้งที่เราออกนอกบ้านเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะออกไปรับเชื้อโรคกลับมาบ้านเมื่อไหร่?ตอนไหน? การมีภูมิคุ้มกันที่ดีจะช่วยป้องกันเราได้อีกทางหนึ่ง

3.การขอความคุ้มครองจากพระองค์ " อิสติอาซะฮ์ "
การกล่าว " أعوذ بالله من الشيطان الرجيم อาอูซุ บิลลาฮ์ มินัช ชัยฏอนิร รอญีม " คือตัวบทที่มีเนื้อหามุ่งเน้นในเรื่องการคุ้มครองจากพระองค์จากสิ่งชั่วร้ายต่างๆหนังที่มีการใช้ตะอ์วีชเป็นเหมือนเครื่องรางที่ชาวอาหรับนิยมเขียนใส่ผ้าและผูกไว้ที่แขนเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย ทุกครั้งที่เราออกนอกพื้นที่จะเดินทางไปไหนก็ขอให้อ่านเพื่อขอความคุ้มครองจากพระองค์ เหมือนเป็นการทำประกันอุบัติเหตุเพื่อให้มีกรมธรรม์คุ้มครองในการเดินทางเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้เดินทางอีกชั้นหนึ่ง หรือจะกล่าวง่ายๆก็คือให้เราทำประกันกับพระองค์เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองเราจากชัยฏอนมารร้าย

4.การมอบความไว้วางใจต่อพระองค์ "ตะวะกัลอะอัลลอฮ์ "  เมื่อเรารำลึกถึงพระองค์แล้ว มีความยำเกรงต่อพระองค์แล้ว มีการระมัดระวังแล้ว และขอความคุ้มครองจากพระองค์แล้ว หากยังเกิดช่องโหว่ใดๆขึ้นก็ให้มอบหมายยังพระองค์  ในชีวิตมนุษย์เป็นไปได้ที่แม้เราจะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดแล้ว แต่อาจจะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นทำให้งานนั้นยังไม่สำเร็จลุล่วงก็ขออย่าได้ถอดใจ ต่อจากนี้ให้มอบหมายมอบความไว้วางใจต่ออัลลอฮ์ผู้ทรงเมตตายิ่ง หากเรามีความศรัทธาด้วยใจบริสุทธิ์ย่างแท้จริง พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งบ่าวของพระองค์อย่างแน่นอน อีกทั้งชัยฏอนยังไม่สามารถมีอิทธิพลต่อผู้ที่ศรัทธาไม่มีอิทธิพลต่อคนที่มอบหมายยังพระองค์

5.การสำนึกผิด " เตาบะอ์ "
หากจะเปรียบการใช้ชีวิตของมนุษย์แต่ละคนเกี่ยวเนื่องกับการเดินทางไปสู่การเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง ก็เปรียบเสมือนอยู่ในสมรภูมิรบที่ต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา และการต่อสู้นี้คือการต่อสู้กับจิตใจตนเองและการยุแหย่จากชัยฏอน และในทุกสงครามย่อมมีทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะซึ่งในสงครามนั้นจะมีมนุษย์อยู่ 3 ประเภทคือ 1.มนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ - ชนะตลอดกาลตัวอย่างคือ บรรดานบี  อิมาม  ผู้ติดตามมะซูม(อ.)อย่างใกล้ชิด  2.มนุษย์ขี้ขลาดแค่ศัตรูเงื้อดาบก็ยอมแพ้ เป็นมนุษย์ที่กลัวความยากลำบากไม่สนใจอะไรทั้งนั้น อยากไปในสถานที่ดีๆแต่พอมองแผนที่ว่ามันยากลำบากและต้องใช้เวลาก็เลยยอมแพ้ไม่เดินทางต่อ 3.มนุษย์ที่สู้แล้วสู้อีกสู้ยังไงก็ไม่ชนะสักที คือทั้งชีวิตที่ผ่านมาล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด มนุษย์ประเภทนี้อัลลอฮ์(ซ.บ.)จะชื่นชม เนื่องจากเป็นผู้ที่ยังคิดต่อสู้ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แม้ชัยฏอนจะคอยจ้องหาจังหวะโจมตีอยู่ตลอด แต่มนุษย์กลุ่มนี้ก็มีหมัดเด็ดคือการเตาบะอ์กลับตัวกลับใจ และการเตาบะอ์นี้ก็แสดงให้เห็นว่าแม้คนที่เคยผิดพลาดในท้ายที่สุดก็ยังมีอัลลอฮ์อยู่ในหัวใจ  แต่การเตาบะอ์นี้มิใช่ว่าทอดเวลาทำเมื่อไหร่ก็ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือท่านโฮรในสมรภูมิกัรบาลาที่ย้ายเข้ามาอยู่กับท่านอิมามฮุเซน(อ.)

สรุปในท้ายที่สุด การมีอัลลอฮ์(ซ.บ.)อยู่ในหัวใจเสมอคืออาวุธที่ทำให้เราสามารถสยบแผนการร้ายของชัยฏอนได้