เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิเคราะห์เรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี ตอนที่ 3

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

วิเคราะห์เรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี ตอนที่ 3


สภาพสังคมและการเมืองการปกครองในสมัยการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ยุคฆ็อยบัตซุฆรอของอิมามมะฮ์ดี
สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
1.  เนื้อหาที่สำคัญในการวิเคราะห์

การวิเคราะห์ถึงสภาพสังคมและการเมืองการปกครอง และแนวความคิดในสมัยอิม่ามมะฮ์ดี(อ)ฆ็อยบัตซุฆรอนั้นมีความสำคัญมาก
เพราะจะทำให้เรารับรู้เรื่องราวที่ดีที่สุดสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองในสมัยฆ็อยบัตซุฆรอ
เมื่อเรามีความเข้าใจสาเหตุและเบื้องหลังต่างๆของการฆ็อยบัตซุฆรอของอิมามมะฮ์ดี(อ)แล้ว ก็จะเข้าใจถึงจุดยืนอันลึกซึ้งของอิมามมะฮ์ดีย์ด้วย
2. สมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ์  

เมื่อพวกอับบาซียะฮ์โค่นอำนาจพวกอุมัยยะฮ์ได้สำเร็จ พวกเขาได้มีอำนาจปกครองอาณาจักรอิสลามนานถึง 5 ศตวรรษ เริ่มตั้งแต่ ฮ.ศ. 132  ถึง ฮ.ศ. 656  
รายชื่อกาหลิบแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์

1. อัซซัฟฟ่าห์  (ฮ.ศ.132/คศ.750)
2. อัลมันซูร   (ฮ.ศ.136/คศ.754)
3. อัลมะฮ์ดี   (ฮ.ศ.158/คศ.775)
4. อัลฮาดี   (ฮ.ศ.169/คศ.785)
5. ฮารูนรอชีด (ฮ.ศ.170/คศ.786)
6. อัลอามีน (ฮ.ศ.193/คศ.809)
7. อัลมะมูน (ฮ.ศ.198/คศ.813)
8. อัลมุอ์ตะซิม (ฮ.ศ.218/คศ.833)
9. อัลวาซิก  (ฮ.ศ.227/คศ.842)
10. อัลมุตะวักกิล(ฮ.ศ.232/คศ.847)
11. อัลมุนตะซิร(ฮ.ศ.247/คศ.861)
12. อัลมุสตะอีน(ฮ.ศ.248/คศ.862)
13. อัลมุอ์ตัซซุ (ฮ.ศ.252/คศ.866)
14. อัลมุฮ์ตะดี(ฮ.ศ.255/คศ.869)
15. อัลมุอ์ตะมิด(ฮ.ศ.256/คศ.870)
16. อัลมุอ์ตะดิ๊ด(ฮ.ศ.279/คศ.892)
17. อัลมุกตะฟี(ฮ.ศ.289/คศ.902)
18. อัลมุกตะดิร (ฮ.ศ.295/คศ.908)
19. อัลกอฮิร (ฮ.ศ.320/คศ.932)
20. อัรรอฎี (ฮ.ศ.322/คศ.934)
21. อัลมุตตะกี (ฮ.ศ.329/คศ.940)
22. อัลมุสตั๊กฟี (ฮ.ศ.333/คศ.944)  
23. อัลมุเตี๊ยะอ์ (ฮ.ศ.334/คศ.946)
24. อัตตอเอี๊ยะอ์ (ฮ.ศ.363/คศ.974)
25. อัลกอดิร (ฮ.ศ.381/คศ.991)
 26. อัลกออิม (ฮ.ศ.422/คศ.1031)
27. อัลมุกตะดี (ฮ.ศ.467/คศ.1075)
28. อัลมุสตัซฮิร (ฮ.ศ.487/คศ.1094)
29. อัลมุซตัรชิ๊ด (ฮ.ศ.512/คศ.1118)
30. อัรรอชิด (ฮ.ศ.529/คศ.1135)
31. อัลมุกตะฟี (ฮ.ศ.530/คศ.1136)
32. อัลมุสตันญิด(ฮ.ศ.555/คศ.1160)
33. อัลมุซตะเฎี๊ยะอ์ (ฮ.ศ.566/คศ.1170)
34. อันนาซิร (ฮ.ศ.575/คศ.1180)
35. อัซซอฮิร (ฮ.ศ.622/คศ.1225)
36. อัลมุสตันซิร (ฮ.ศ.623/คศ.1226)
37. อัลมุสตะอ์ซิม    
(ฮ.ศ.640-656 / คศ.1242-1258)
#อาณาจักรของราชวงศ์อับบาซียะฮ์แบ่งออกเป็น 4 ยุคสมัย
1.ยุคที่หนึ่ง ยุคที่แผ่อำนาจได้เต็มรูปแบบ คือ ฮ.ศ. 132  จนถึง ฮ.ศ. 232
2.ยุคที่สอง ยุคที่พวกเติร์ก เข้ามามีอำนาจ เมื่อ ฮ.ศ. 232 จนถึง ฮ.ศ. 334
3.ยุคที่สาม ยุควงศ์วานของบูวัยฮ์จากเปอร์เซีย เมื่อฮ.ศ. 334 ถึง ฮ.ศ. 447
4.ยุคที่สี่ ยุคที่ถูกยึดครองโดยทหารเติร์ก ตั้งแต่ ฮ.ศ. 447  จนถึง ฮ.ศ. 656
เราจะวิเคราะห์ยุคที่สอง
คือยุคของกาหลิบอัลมุตะวักกิล ตั้งแต่ปี ฮ.ศ 232 หรือ ยุคที่พวกเติร์กมีอิทธิพลและก่อนหน้ายุคนี้เล็กน้อย
คือช่วงเวลาที่พวกเติร์กมีอิทธิพลต่อตำแหน่งกาหลิบในสมัยของกาหลิบอัลมุอ์ตะซิม ปีฮ.ศ. 218 มีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจการปกครอง ย้ายราชธานีจากกรุงแบกแดดไปยังเมืองซะมัรรอ จนถึงช่วงแรกของการ ฆ็อยบัต ซุฆรอ คือ ปีฮ.ศ 260
3. สถานการณ์ทางสังคมการเมืองการปกครองและความคิดในยุคนี้

สามารถแบ่งลักษณะพิเศษของยุคนี้ได้ 3 ประเภท
ก.สภาพทางการเมืองการปกครอง
ข.สภาพทางสังคม
ค.สภาพทางความคิด
ก. #สภาพทางการเมือง

1.  ย้ายเมืองหลวงจากแบกแดดไปซะมัรรอ
เมืองซะมัรรอ หรือ ซุรร่อ มัน ร่ออา ถูกเลือกเป็นศูนย์กลางปกครองของกาหลิบในปีฮ.ศ. 220 โดยกาหลิบอัลมุอ์ตะซิม อับบาซี่ มีคำสั่งให้ก่อตั้งเมืองนี้ขึ้นในปีฮ.ศ. 221 ในปีเดียวกันได้ย้ายไปพำนักและตั้งเมืองนี้เป็นสถานที่พำนักของกาหลิบ
สาเหตุเบื้องหลังการย้ายราชธานีคือ กาหลิบอัลมุอ์ตะซิม เริ่มระแวงสงสัยบรรดาทหารของตน
อิบนุอะษีรเขียนไว้ว่า
ปี ฮ.ศ 220 กาหลิบอัลมุอ์ตะซิม มุ่งหน้าไปที่เมือง ซะมัรรอ และได้สร้างสถานที่พำนัก เนื่องจากคำพูดของอัลมุอ์ตะซิมเองที่ได้กล่าวว่า “ข้าหวั่นเกรงว่าพวกเขาจะทำสงคราม แล้วพวกเขาได้ฆ่าคนรับใช้ของข้าสองคน เมื่อข่าวนี้มาถึงข้า ข้าจะต้องมาอยู่เหนือพวกเขา
ข้ายังมีความสงสัยเกี่ยวกับพวกเขา และจะต้องติดตามพวกเขาไม่ว่าบนบกหรือในทะเล จนกว่าข้าจะมีอำนาจเหนือพวกเขา”
ตั้งแต่ปี ฮ.ศ. 220 เมืองซะมัรรอ ได้มีบทบาทแทนที่เมืองแบกแดด ในฐานะศูนย์อำนาจของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ และมีฐานะเป็นเมืองหลวงของกาหลิบเป็นเวลานานถึง 59 ปีต่อมา นั่นคือ จนถึง ฮ.ศ. 279 ทำให้เมืองนี้เจริญรุ่งเรือง
เมืองซะมัรรอ(ซะมาร่า) มีอาคารถูกก่อสร้างอย่างสวยงาม เป็นแนวกว้างออกไปถึงแปดฟัรซัค
แต่ในที่สุดกาหลิบแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ได้ย้ายราชธานีกลับมายังกรุงแบกแดดเช่นเดิม หลังจากสิ้นสมัยกาหลิบมุอ์ตะมิ๊ด ในปีฮ.ศ. 279
อาคารต่างๆในซะมัรรอได้พังเสียหายอย่างรวดเร็ว และเปลี่ยนสภาพเป็นซากปรักหักพัง
ยกเว้น
ฮะรัมสุสานของสองอิมาม คืออิมามอาลีฮาดี(อ)กับอิมามฮาซันอัสกะรี(อ) และสถานที่ฆ็อยบัตของอิมามมะฮ์ดี(อ)
เมืองซะมัรรอได้พังพินาศไม่มีอะไรเหลือ ยกเว้น ฮะรัมของอิมามอาลีฮาดีกับอิมามฮาซันอัสกะรี และสถานที่ประตูที่อิมามมะฮ์ดี(อ)เดินเข้าไปแล้วไม่กลับออกมาอีกเลย
และอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ไกลมาก เรียกว่า “กัรร็อค ซามัรรอ” และสถานที่อื่นๆนอกจากนี้ได้ผุพัง หลังจากที่ในหน้าแผ่นดินไม่เคยมีที่แห่งใดสวยงาม ยิ่งใหญ่ กว้างใหญ่ไพศาลไปกว่าเมืองซะมัรรอ
เมืองซะมัรรอเป็นเมืองหลวงของกาหลิบ 8 พระองค์ ตลอดช่วงเวลานับตั้งแต่ ฮ.ศ 220 – 279 ได้แก่
1. อัลมุอ์ตะซิม        ฮ.ศ 218 - 227
2. อัลวาซิก            ฮ.ศ 227 - 232
3. อัลมุตะวักกิล     ฮ.ศ 232 - 247
4. อัลมุนตะซิร       ฮ.ศ 247 - 248
5. อัลมุสตะอีน       ฮ.ศ 248 - 252
6. อัลมุอ์ตัซซุ        ฮ.ศ 252 - 255
7. อัลมุฮ์ตะดี        ฮ.ศ 255 – 256
8. อัลมุอ์ตะมิด      ฮ.ศ 256 – 279
ในปี ฮ.ศ 279  เมื่อกาหลิบอัลมุอ์ตะดิ๊ด ได้เข้ามาสืบอำนาจการปกครองต่อจากกาหลิบอัลมุอ์ตะมิ๊ด เขาได้ย้ายราชธานีกลับไปยังกรุงแบกแดดอีกครั้งหนึ่ง และไม่หวนกลับมายังเมืองซะมัรรออีกเลย
2. #ยุคที่พวกเติร์กมีอิทธิพลอำนาจปกครอง
เหตุการณ์สำคัญที่สุดของยุคนั้นคือ พวกเติร์กได้เข้ามาคุมอำนาจการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จโดยเฉพาะด้านการทหาร ทำให้พวกเติร์กสามารถควบคุมตระกูลอับบาซียะฮ์ยุคที่สองนี้ไว้ในอำนาจได้อย่างสิ้นเชิง
นางมาริดะฮ์ พระมารดาของกาหลิบอัลมุอ์ตะซิม ทาสีของชาวเตริ์ก มีบทบาทสำคัญในการทำให้พวกเตริ์กเข้ามามีอำนาจ เนื่องจากนางไม่เชื่อมั่นต่อด้านการทหาร และนางต้องการจะหลุดพ้นจากอำนาจของพวกเปอร์เซียที่บีบคั้นเข้ามา
ความกล้าหาญอย่างเด็ดเดี่ยว เป็นลักษณะเฉพาะประการหนึ่งของพวกเตริ์ก ทำให้พวกเติร์กมีโอกาสคุมอำนาจการเมืองการปกครอง ประกอบกับการที่ไม่มีกระแสต่อต้านจากบรรดากาหลิบ ผู้ซึ่งมีแต่ความละโมภต่อผลประโยชน์ทางโลก จนพวกเติร์กสามารถควบคุมอำนาจการปกครองด้วยวิธีที่รุนแรง
#มุฮัมมัด บินอะลี บิน ต่อบาต่อบา #ได้กล่าวว่า
استولى الاتراك منذ قتل المتوكل على المملكة ، و استضعفوا الخلفاء فكان الخليفة فى يدهم كالاسير، ان شاوا خلعوه ، و ان شاوا قتلوه
เมื่อกาหลิบอัลมุตะวักกิลถูกฆ่าตายแล้ว พวกเติร์กได้มีอำนาจปกครองอย่างสมบูรณ์ บรรดากาหลิบแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์อยู่ในสภาพที่อ่อนแอไร้อำนาจ และตกอยู่ในกำมือของพวกเติร์กเหมือนกับเชลย
พวกเติร์กสามารถปลดกาหลิบคนหนึ่งออกแล้วแต่งตั้งคนอื่นขึ้นเป็นกาหลิบแทนได้ตามต้องการ หรือพวกเขาจะฆ่าพวกอับบาซียะฮ์คนไหนก็ได้ตามที่พวกเขาต้องการ
ดู อัลฟัจญะรอ ฟิล อาดาบ อัซซุลตอนียะฮ์ หน้าที่ 181
3. #การปลดและแต่งตั้งกาหลิบหลายครั้งและอิทธิพลของสตรีในยุคนั้น
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้อำนาจทางการเมืองการปกครองของพวกอับบาซียะฮ์อ่อนแอลงคือ การปลดกาหลิบและแต่งตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าสำหรับบรรดากาหลิบและเจ้าหน้าที่ต่างๆโดยไม่ชอบธรรม
สิ่งหนึ่งซึ่งจะลืมเสียมิได้คือ สตรีและมารดาของบรรดากาหลิบเข้ามามีบทบาทในการถอดถอนและแต่งตั้งกาหลิบโดยไม่มีการซ่อนเร้นใดๆ นั่นคือ ภรรยาของกาหลิบอัลมุตะวักกิล และมารดาของกาหลิบอัลมุอ์ตัซซุ เมื่อครั้งปลดกาหลิบอัลมุสตะอีนออกจากตำแหน่ง แล้วให้อัลมุอ์ตัซซุหลานชายของนางขึ้นเป็นกาหลิบเอง
ยังมีเรื่องราวอีกมากมาย ที่สตรีเข้ามามีอิทธิพลต่ออำนาจการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ เหมือนซูสีไทเฮามีบทบาทปกครองราชวงศ์ชิง และท้าวศรีสุดาจันทร์มีบทบาทปกครองราชวงศ์สุพรรณภูมิแห่งกรุงศรีอยุธยา
4. #การกดขี่ข่มเหงของพวกเสนาบดีและเจ้าเมืองต่อประชาชน
เสนาบดีและเจ้าเมืองจำนวนมากในตระกูลอับบาซียะฮ์ ไม่รู้จักคำว่าพอ พวกเขาเป็นพวกซอเล่มในการดูหมิ่น เหยียดหยาม,กดขี่ทารุณ, ละเมิดสิทธิและปล้นทรัพย์สินของประชาชน และไม่แยแสต่อการทำความชั่วร้ายของพวกเขาด้วย ยกตัวอย่างเช่น
ในสมัยกาหลิบอัลมุนตะศิร อับบาซี เสียชีวิตเมื่อ ฮ.ศ 247 หรือ 248 เสนาบดีของเขาชื่อ อะห์มัด บิน คอศีบ ได้ควบม้าออกจากบ้านตัวเอง เพื่อมุ่งไปหาชายคนหนึ่งแล้วทำร้าย โดยเสนาบดีคนนั้นได้ใช้เท้าของตัวเองขณะที่อยู่บนพาหนะถีบเข้าที่ทรวงอก จนชายคนนั้นตาย
ในสมัยกาหลิบอัลวาษิก  ระหว่าง ฮ.ศ. 227 - 232 เสนาบดีของเขาชื่อ มุฮัมมัด บิน อับดุลมาลิก อัซซียาต ได้สร้างเตาใหญ่ แล้ววางตะปูลงไปในเตานั้น เพื่อทรมานพวกที่ฝ่าฝืนคำสั่งเขา แต่แล้วตัวเขาเองก็ถูกลงโทษในเตาใหญ่นั้นจนตาย
นี่คือสภาพความเลวร้ายในยุคที่พวกอับบาซียะฮ์ปกครองอาณาจักรอิสลามในสมัยนั้น ซึ่งไม่ต่างอะไรจากบรรดากษัตริย์ในประเทศมุสลิมยุคปัจจุบัน


บทความโดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม