วิเคราะห์เรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี ตอนที่ 4

วิเคราะห์เรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี ตอนที่ 4

 

สภาพสังคมและการเมืองการปกครองในสมัยการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ยุคฆ็อยบัตซุฆรอ
สถานการณ์ความไม่สงบภายในรัฐ

ยุคที่พวกอับบาซียะฮ์ปกครองนั้นได้เกิดฟิตนะฮ์(ความวุ่นวาย, ความโกลาหลสับสน,สถานการณ์ความไม่สงบ) ความเสื่อมและความไม่ลงรอยกัน ซึ่งได้ครอบคลุมไปถึงอำนาจรัฐ
สาเหตุของฟิตนะฮ์ความไม่สงบ มีดังต่อไปนี้
1.  ความวุ่นวายในเมืองแบกแดด

ถึงแม้ว่าช่วงเวลานั้น เมืองแบกแดดไม่ได้เป็นเมืองหลวงและกาหลิบไม่ได้พำนักอยู่ในนั้นก็ตาม แต่ได้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวายหลายเหตุการณ์ด้วยกัน
ฟิตนะฮ์ครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 249

ปีนี้กำลังทหารและพวกชากิรียะฮ์(ที่กาหลิบมุตะวักกิลสร้างขึ้น)ในแบกแดด ประกาศต่อต้านอำนาจรัฐ มีประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าร่วมด้วย แต่สุดท้ายทหารฝ่ายรัฐเข้าปราบปรามได้สำเร็จ จับพวกกบฏเข้าคุก
สาเหตการก่อกบฏครั้งนี้คือ พวกพ้องของกาหลิบอัลมุตะวักกิลต้องการต่อต้านพวกเติร์กที่ลงมือสังหารกาหลิบอัลมุตะวักกิลแล้วยึดอำนาจการปกครอง
ฟิตนะฮ์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในปี ฮ.ศ. 252

มีทหารกลุ่มหนึ่งในแบกแดดประกาศตัวต่อต้านอำนาจรัฐ เพื่อเรียกร้องค่าจ้าง กบฏกลุ่มนี้ได้ยึดสพานแบกแดดเป็นฐานที่มั่น แล้วปล้นสะดมไปทั่วเมือง รวมทั้งจุดไฟเผาเมืองบางแห่งอีกด้วย

2. ความวุ่นวายในเมืองซะมัรรอ

ในเมืองซะมัรรอ มีกลุ่มกบฏประกาศตัวต่อต้านอำนาจรัฐ
ครั้งที่ 1 ปีฮ.ศ. 249 มีกบฏกลุ่มหนึ่งไม่ปรากฏชื่อ ได้บุกโจมตีเมืองนั้น แต่ทหารฝ่ายรัฐได้โจมตีพวกกบฏจนพ่ายแพ้และถูกจับไปขังคุก
ครั้งที่ 2 ปี ฮ.ศ. 251 ประชาชนได้รวมตัวกันประกาศต่อต้านอำนาจรัฐที่เมืองซะมัรรอ พวกเขาได้ปล้นทรัพย์สินเงินทองในตลา ด และฝ่ายเจ้าเมืองไม่สามารถปราบกบฏกลุ่มนี้ได้
3. การก่อความไม่สงบของพวกคอวาริจ

พวกคอวาริจญ์เริ่มมีบทบาทด้านนี้ ในปี ฮ.ศ 252 โดยการนำของ มุซาวิร บิน อับดุลฮะมีด บิน มุซาวิร ชาดี อัลบะญะลี อัลเมาซุลี พวกคอวาริจได้แข็งข้อต่อฝ่ายปกครองเป็นเวลามากกว่า 11 ปี นับตั้งแต่ปี ฮ.ศ 252จนถึง ฮ.ศ 263
4.  การก่อกบฏของซอฮิบซันญ์(พวกซันญ์ - صَاحِبِ الزَّنْجِ)

การก่อกบฏของพวกเซ็นญ์ ถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมากกว่ากบฏกลุ่มอื่น ในช่วงสมัยที่กาหลิบตั้งเมืองซะมัรรอเป็นราชธานี
แต่ในสมัยกาหลิบอัลมุฮ์ตะดีและกาหลิบอัลมุอ์ตะมิ๊ดได้ปราบพวกกบฏเซ็นญ์(พวกทาสผิวดำจากแอฟริกา)ได้อย่างราบคาบ
กล่าวกันว่า กบฏเซ็นญ์นั้นทำให้ตำแหน่งกาหลิบสั่นคลอน เพราะกบฏเซ็นญ์อันตรายร้ายแรงกว่าพวกเติร์ก
ที่เมืองบัศเราะฮ์ก็มีการก่อกบฏขึ้น และขยายวงกว้างไปถึงชานเมืองแบกแดด แผ่อิทธิพลออกไปเกือบจะทั่วพื้นที่ประเทศอิรัก  สถานการณ์วุ่นวายเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานเนื่องจากอำนาจกาหลิบของราชวงศ์อับบาซียะฮ์เสื่อมถอยลงนั่นเอง
การก่อกบฏของพวกเซ็นญ์(ทาสผิวดำ) ที่เมืองบัศเราะฮ์ปี ฮ.ศ 255 มีแกนนำชื่อ
อะลี บิน มุฮัมมัด จากบะนีอับดุลก็อยส์  
แต่นักวิชาการบางคนกล่าวว่า
เขาเป็นชาวเปอร์เซีย มีชื่อเดิมว่า เบะฮ์บู๊ด เกิดที่เมืองเรย์(เตหรานปัจจุบัน) เขาได้โกหกว่าเป็นลูกหลานของท่าน เซด บินอะลี บินฮูเซน(อ)
เพื่อจะให้ประชาชนหันมาอยู่เคียงข้างเขา ทั้งๆที่ความจริง อะฮ์ลุลบัยต์นบีต่างหากที่จะต้องเป็นผู้นำโดยแท้จริงของโลกมุสลิม อะฮ์ลุลบัยต์เท่านั้นที่จะเป็นหลักประกันในการได้รับชัยชนะ และเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติต่อต้านความอธรรมและความเท็จ
อิมามฮาซันอัสกะรี (อ)ได้มีคำกล่าวตอบโต้ คำแอบอ้างของพวกนี้ว่า
صاحب الزنج ليس منا أهل البيت
ซอฮิบซันญ์ไม่ได้เป็นพวกเรา อะฮ์ลุลบัยต์นบี
ซอฮิบซันญ์ได้สร้างความเสียหายแก่ประชาชนนานถึง 15 ปี จนเขาถูกสังหารในปีฮ.ศ 270
นอกจากเขาได้โกหกว่า เป็นผู้สืบเชื้อสายมาจากท่านอะลีแล้ว เขายังแอบอ้างว่า เป็นหัวหน้าพวกทาสชาวซะนูจญ์(ทาสผิวดำจากแอฟริกา)
และเขามาทำหน้าที่นี้เพื่อปลดปล่อยพวกทาสเหล่านั้นให้เป็นอิสระจากการถูกกดขี่ข่มเหง ถูกทารุณโดยพวกนายทาส และส่วนหนึ่งคือ การกดขี่ของรัฐบาล เขาได้เรียกชื่อตัวเองว่า “ซอฮิบซันญ์”  เพื่อชักจูงผู้คนให้มาเข้าร่วมกับขบวนการของเขา
ประกอบกับการเชิดชูคำขวัญเพื่ออิสรภาพของพวกซะนูจญ์ นับว่าเป็นพื้นฐานในการนำไปสู่เป้าหมายของเขาที่จะจัดตั้งอำนาจรัฐ ซึ่งหมายถึงการมีสิทธิครอบครองผลประโยชน์ต่างๆทั้งทรัพย์สินและบริวารข้าทาส
นักประวัติศาสตร์บางคนเชื่อว่า
ความเชื่อและแนวความคิดของซอฮิบซันญ์ มีรากเหง้ามาจากความคิดของพวกอัลอะซาริเกาะฮ์และพวกคอวาริจ และพวกเขาให้การสนับสนุนทัศนะนี้ด้วยข้อมูลหลักฐานต่างๆ
การประกาศเรียกร้องของเขา เริ่มต้นขึ้นระหว่างกลุ่มซะนูจญ์ที่เมืองบัศเราะฮ์ และเขาได้ประกาศเรียกร้องเพื่อตัวของเขาเอง ว่าเพื่อจะปลดปล่อยคนทั้งหลายให้พ้นจากการเป็นทาส ด้วยเหตุนี้เองจึงมีคนจำนวนหนึ่งให้การสนุบสนุนเขา
เขาได้ปราศัยและให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้เสรีภาพและแบ่งปันผลประโยชน์ ในเรื่องนี้ต่อหน้าบรรดาผู้ที่มาเข้าร่วมกับเขา เพื่อป้องกันตัวไม่ให้เกิดการครหาว่าโกหกหลอกลวง
มีคนหลายกลุ่มรวมตัวติดตามกันเข้ามาให้การสนับสนุนเขานับตั้งแต่ 50 คนจนถึง 500 คน ยิ่งกว่านั้นพวกที่เข้ามาเคียงข้างเขา ได้แก่พวกชาวนา ชาวบ้าน และมีพวกศัตรูของตระกูลอับบาซียะฮ์รวมอยู่ด้วย
การก่อฟิตนะฮ์ได้เริ่มขึ้น และลุกลามไปสู่วงกว้างด้วยแรงหนุนของพวกทาส ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เขาคิดที่จะยึดเมืองบัศเราะฮ์  
ชาวเมืองบัศเราะฮ์ได้ลุกขึ้นต่อสู้กับกลุ่มกบฏพวกทาสเป็นเวลาสามวัน แต่พวกกบฏได้ให้หลอกให้สัญญาว่าถ้าชาวเมืองยอมจำนน ก็จะได้รับความปลอดภัย
เมื่อชาวเมืองยอมวางอาวุธ พวกทาสได้เข้ามาเข่นฆ่าชาวเมืองตั้งแต่เช้า เหลือรอดชีวิตไม่กี่คน จากนั้นพวกกบฏได้จุดไฟเผามัสยิดกลางและสถานที่ต่างๆ
พวกกบฏได้ยึดทรัพย์สินของคนรวย ส่วนคนจนก็ถูกฆ่าทิ้ง
เหตุการณ์รุนแรงนี้ พวกกบฏได้ทำติดต่อกันหลายครั้ง ตามหัวเมืองต่างๆทั้งเมืองอาบาดาน เมืองอะฮ์วาซ เมืองอับละฮ์ และเมืองอะบิลคอศีบ
ฟิตนะฮ์ความวุ่นวายนี้ได้แพร่ไปทั่วเมืองอาบาดาน  เมืองอะฮ์วาซ และเมืองอื่นๆที่อยู่ระหว่างภูมิภาคแถบนั้น
ฝ่ายรัฐบาลได้ส่งแม่ทัพไปปราบพวกกบฏซอฮิบซันญ์หลายคน เช่น มูซา บิน บะฆอ แต่แม่ทัพทั้งหมดได้พ่ายแพ้ต่อพวกกบฏ ไม่มีใครสามารถรับมือกับพวกซอฮิบซันญ์ได้ นอกจาก
أبو أحمد الْمُوَفَّقِ طَلْحَةَ بْنِ الْمُتَوَكِّلِ
อบูอะหมัด อัลมุวัฟฟัก ต็อลหะฮ์ บุตรชายของ กาหลิบอัลมุตะวักกิล ด้วยการช่วยเหลือของ กาหลิบอัลมุอ์ตะดิ๊ด และ ลุอ์ลุอ์ ผู้รับใช้ของอะห์มัด บิน ตูลูน ซึ่งได้ละทิ้งนายของตัวเองไปอาศัยอยู่กับอัลมุวัฟฟัก
ชัยชนะของอัลมุวัฟฟักในครั้งนี้ ทำให้ตำแหน่งของเขาขยับสูงขึ้นและมีอิทธิพลมากขึ้น
จนกาหลิบอัลมุอ์ตะมิ๊ด พี่ชายของเขา ซึ่งเป็นกาหลิบแทบไม่มีความสำคัญเหลืออยู่เลย นอกจากชื่อ
อัลมุวัฟฟักอยู่อย่างมีอำนาจบารมีเชนนี้ จนเขาชีวิตในปี ฮ.ศ 278
บรรดานายทหารก็ได้มอบสัตยาบันแก่อบุลอับบาส หลานของอัลมุวัฟฟักขึ้นดำรงตำแหน่งกาหลิบและมีฉายานามว่า อัลมุอ์ตะดิ๊ด บิลลาฮ์
อำนาจและบารมีของอัลมุอ์ตะดิ๊ดนั้น สั่งสมมาตั้งแต่สมัยสู้รบกับพวกกบฏซอฮิบซันญ์
เขาเป็นผู้ที่ย้ายเมืองหลวงของกาหลิบไปยังเมืองแบกแดด และเป็นกาหลิบคนแรกของเมืองนั้น

บทความโดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ